- คนที่มีอาการนี้มักเจอวงจร (imposter cycle) ที่เริ่มจากการที่คุณได้รับงานบางอย่างมา คุณจะรู้เริ่มรู้สึกวิตกกังวล เครียด สับสนในตัวเอง ซึ่งก็จะมีสองทางเลือก คือ ผัดวันประกันพรุ่ง กับ ตั้งใจเตรียมตัวมากเกินความจำเป็น
- ความรู้สึกเก่งไม่พอนี้เป็นความรู้สึกที่คนกว่า 70% เจออย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต คุณไม่ได้กำลังเจอสิ่งนี้เพียงลำพัง เพราะฉะนั้นอย่าเก็บมันความรู้สึกนี้ไว้คนเดียว
- หนึ่งในวิธีรับมือ คือ การถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้ฉันไม่เก่ง ฉันล้มเหลว แล้วจะเป็นอย่างไร คุณจะรักตัวเองได้ไหม คุณจะใจเย็นกับตัวเองได้ไหม บางครั้งมันอาจเป็นเพียงแค่การที่คุณยอมรับว่าคุณก็มีด้านที่ไม่เก่ง แต่ก็มีด้านที่เก่งเช่นกัน มันไม่ใช่อะไรที่เก่งหรือไม่เก่งเลย
อาจมีบางจังหวะในชีวิตที่คุณกำลังรู้สึก ‘เก่งไม่พอ’ หรือ ‘ตัวเองดีไม่พอ’ ผมไม่แน่ใจว่าเสียงนั้นมาจากคำพูดของคนอื่น หรือว่ามาจากเสียงที่คุณบอกตัวเอง แต่หากเสียงนั้นเริ่มก่อให้เกิดความรู้สึกสงสัย กังวล หรือกลัวจนเริ่มกวนใจ นั่นอาจเป็นสัญญาณของอาการที่รู้สึกว่า ตัวเองเก่งไม่พอ (imposter syndrome) ซึ่งมักเป็นคนที่คนอื่นมองว่าเก่ง มีความสามารถ แต่ลึกๆ ข้างในเขากลับรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้เก่งจริง เหมือนความสำเร็จไม่ได้บ่งบอกถึงความสามารถ ยิ่งไปกว่านั้นคือเกิดความกลัว และวิตกกังวลว่าคนอื่นจะรู้ว่าตัวเองไม่ได้เก่ง คู่ควรพอที่จะได้ทำสิ่งต่างๆ หรือประสบความสำเร็จ
คนที่มีอาการนี้มักเจอวงจร (imposter cycle) ที่เริ่มจากการที่คุณได้รับงานบางอย่างมา คุณจะรู้เริ่มรู้สึกวิตกกังวล เครียด สับสนในตัวเอง ซึ่งก็จะมีสองทางเลือกคือ
1) คุณผัดวันประกันพรุ่ง เพราะอารมณ์ที่ท่วมท้นคอยกวนใจจนคุณอยากหนี (สิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับการผัดวันประกันพรุ่งคือมันไม่ใช่เรื่องของการจัดการเวลา แต่คือการหลีกหนีความรู้สึกเครียด วิตกกังวลที่เกิดขึ้นในตัวเอง)
2) คุณตั้งใจเตรียมตัวมากเกินความจำเป็น (over-preparation) เมื่อทำงานได้สำเร็จคุณก็อาจรู้สึกผ่อนคลาย ดีใจอยู่สักครู่หนึ่ง ด้วยผลงานที่ดีอาจมีเพื่อนร่วมงาน คนรอบข้างเดินเข้ามาชมคุณ
สิ่งที่คุณจะรู้สึกทันทีคือ งานนี้ไม่ได้สำเร็จเพราะความสามารถของคุณ คุณไม่ได้เก่งขนาดนั้น มันอาจสำเร็จเพราะความโชคดี อาจสำเร็จเพราะคุณพยายามอย่างหนักมาก เหมือนกับว่าคุณมองไม่เห็นว่าความพยายามนั้นมันสื่อถึงตัวตนหรือความสามารถของคุณ แล้ววงจรของการคิดว่าตัวเองไม่เก่ง (imposter cycle) ก็วนเวียนไปไม่มีสิ้นสุด
ได้รับงาน – กังวล/ เครียด/ สงสัยตัวเอง – ทำงานหนัก/ ผัดวันประกันพรุ่ง – สำเร็จ – กังวล/ เครียด/ สงสัยตัวเอง
คนเหล่านี้มักมีความคาดหวังที่สูงลิ่ว เขาจะอยากประสบความสำเร็จ อยากทำให้ได้ดี แต่เมื่อได้สิ่งเหล่านั้นเขากลับไม่ได้รู้สึกดี ความสำเร็จกลับเป็นสิ่งที่ทำให้เขายิ่งสงสัยในตัวเองยิ่งขึ้นว่าเขาดีพอเหรอ หรือกลัวคนอื่นจะรู้ว่าเขาไม่ได้ทำได้เก่ง กลัวว่าคนที่เก่งกว่าจะมาเห็นว่าสิ่งที่เขาทำได้มันก็ไม่ได้เก่งอะไร
คนเหล่านี้กลัวความล้มเหลวมาก ความล้มเหลวเหมือนเป็นสิ่งที่เขาไม่อยากเผชิญทำให้คนที่มีอาการคิดว่าตัวเองเก่งไม่พอมักจะมีลักษณะของคนที่รักความสมบูรณ์แบบ (perfectionist) ร่วมด้วย บางคนก็ทำงานหนักไม่ยอมหยุดแม้งานจะเสร็จ บางคนก็ตำหนิและกดดันตัวเองให้งานออกมาดี บางคนก็ลงรายละเอียดงานเยอะเกินไป บางคนก็ก็ผัดวันประกันพรุ่ง เพราะความเครียดและกดดัน
งานวิจัยพบว่าคนกลุ่มนี้มักมีภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ไม่เห็นคุณในตัวเอง และมีปัญหาเครียดที่ออกมาทางร่างกาย
แม้จะมีการศึกษาเรื่องนี้ในจิตวิทยาอย่างแพร่หลาย แต่อาการนี้ไม่ใช่โรคทางจิตเวชแต่อย่างใด หากเพียงเป็นอาการของคนทั่วไปที่สามารถเจอได้บ่อยในผู้หญิง แต่ก็เกิดขึ้นกับผู้ชายได้เช่นกัน อ่านถึงจุดนี้คุณอาจกำลังรู้สึกหงุดหงิดตัวเอง รู้สึกละอายใจที่ตัวเองเป็นแบบนี้ ผมอยากบอกว่า “คุณไม่ได้กำลังเผชิญสิ่งนี้คนเดียว”
ความรู้สึกเก่งไม่พอนี้เป็นความรู้สึกที่คนกว่า 70% เจออย่างน้อยหนึ่งครั้งในชีวิต คุณไม่ได้กำลังเจอสิ่งนี้เพียงลำพัง คุณไม่ได้โดดเดี่ยว คนที่มีอาการนี้มักรู้สึกละอายใจในตัวเอง (shame) กลัวถูกจับได้ว่าไม่เก่งจริง เพราะฉะนั้นอีกสิ่งที่สำคัญคือ อย่าเก็บความรู้สึกนี้ไว้คนเดียว
คนที่มีอาการนี้มักอยู่ในครอบครัวที่ไม่ได้ยืนยันคุณค่าของเขา เวลาที่เขาทำอะไรได้สำเร็จแทนที่จะมีคำชมเล็กๆ น้อยๆ ว่าเขาเก่งนะ ดีมากเลย เพื่อเป็นกำลังใจให้ กลับนิ่งเฉยหรือไม่ได้มีความรู้สึกดีใจด้วย สิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนๆ หนึ่งที่จะรับรู้คุณค่าของตัวเอง
การที่คนหนึ่งจะรับรู้ว่าตัวเองมีคุณค่าไหมเกิดจากการที่พ่อแม่หรือคนที่สำคัญในชีวิตเขาให้คำชม ฉลองกับความสำเร็จเล็กๆ น้อยๆ มันจะเป็นเหมือนต้นแบบที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่า “ฉันก็เก่งเหมือนกันนะ”
แต่ถ้าไม่มีคำชมเขาก็อาจเรียนรู้ว่า มันก็แค่ความสำเร็จที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับความสามารถของฉัน
วิธีรับมือกับอาการที่รู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอ 101
- เฉลิมฉลอง หรือฝึกรู้สึกขอบคุณกับความพยายามของคุณ อย่าปล่อยให้มันเป็นเพียงสิ่งทีเกิดขึ้นแล้วหายไป ใช้เวลาอยู่กับความสำเร็จนั้นหน่อย ฝึกแบบนี้บ่อยๆ จะสามารถเอาความรู้สึกนี้ไปใช้ให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นมาได้ในช่วงที่เกิดความสงสัยในตัวเอง
- เวลาที่มีคนฟัง อย่าเพียงแค่เปิดหูรับฟังด้วยข้อมูล หรือคำพูดของเขา แต่ให้เปิดความรู้สึกตัวออกมาเพื่อสัมผัสคำชมนั้นจริงๆ เพื่อให้ ‘รู้สึก’ ไปกับสิ่งที่เขาพูดชื่นชม
- อย่าเอาคุณค่าของตัวเองไปฝากที่งานทั้งหมด คุณค่าของคุณมีมากกว่านั้น ผมนึกถึงคำว่า การยอมรับอย่างไร้เงื่อนไข ถ้าคนรักของคุณกำลังเผชิญหน้ากับความรู้สึกแย่นี้คุณจะบอกเขาว่าอย่างไร ให้ลองเอาคำนั้นมาบอกตัวเอง และให้การยอมรับตัวเองอย่างไร้เงื่อนไขดูบ้าง
- ถามตัวเองว่า ถ้าวันนี้ฉันไม่เก่ง ฉันล้มเหลว แล้วจะเป็นอย่างไร คุณจะรักตัวเองได้ไหม คุณจะใจเย็นกับตัวเองได้ไหม บางครั้งมันอาจเป็นเพียงแค่การที่คุณยอมรับว่าคุณก็มีด้านที่ไม่เก่ง แต่ก็มีด้านที่เก่งเช่นกัน มันไม่ใช่อะไรที่เก่งหรือไม่เก่งเลย (all-or-nothing thinking)
- มองว่าความล้มเหลว ความผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ไม่มีใครเก่งได้ตลอด ไม่มีใครสมบูรณ์แบบได้เสมอ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนพิเศษที่คนอื่นมองว่าเก่ง หรือมีคนยอมรับตลอดก็ได้ แต่สิ่งสำคัญมากกว่าสายตาคนอื่นคือ ถ้าวันนี้คนอื่นไม่ยอมรับคุณ คุณจะรักและยอมรับตัวเองไหม และถ้าเป็นไปได้ลองทำความเข้าใจความกลัวความล้มเหลวว่ามันมีที่จากอะไร อะไรทำให้คุณรู้สึกไม่ปลอดภัยกับความล้มเหลว แล้วถ้าล้มเหลวความรู้สึกคุณจะเป็นอย่างไร
- เล่าความรู้สึกกลัวและกังวลว่าตัวเองไม่เก่ง กลัวคนอื่นรู้ว่าตัวเองเก่งไม่พอให้คนอื่นฟังบ้าง อย่าปล่อยให้ความละอายใจทำให้คุณจมอยู่กับปัญหาเพียงคนเดียว ถ้าเป็นไปได้ให้หาคนที่เขามีความเข้าอกเข้าใจ (empathy) คุณจะได้รู้สึกว่ามีคนเข้าใจ และอยู่ข้างๆ ในหุบเหวแห่งความกลัวและกังวลนั้น
ถึงแม้อาการรู้สึกว่าตัวเองเก่งไม่พอจะไม่ใช่อาการทางจิตเวช แต่ก็เป็นอาการที่ไม่ควรละเลย เพราะหากปล่อยไว้นานก็อาจส่งผลต่อปัญหาสุขภาพจิตได้ อยากเป็นกำลังใจให้นะครับ มันคงเหนื่อยไม่ใช่น้อยเลยกับการที่ต้องพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้ได้ดี แต่กลับไม่สามารถรู้สึกอิ่มเอมกับความสำเร็จได้ แม้กระทั่งการต้องพยายามหนีความล้มเหลว ความรู้สึกเก่งไม่พอ แต่เหมือนยิ่งหนีกลับยิ่งรู้สึกสงสัยในตัวเองมากกว่าเดิมซะงั้น
สิ่งที่ผมชอบพูดเวลาเขียนบทความสุขภาพจิตเสมอเลยคือ อยากให้ใจดีกับตัวเอง ค่อยเป็นค่อยไป มันใช้เวลาในการทำความเข้าใจและสังเกตความรู้สึกตัวเองเสมอ แต่คุณจะเจอตัวเองที่มีความสุขมากขึ้น ตัวคุณที่อนุญาตให้ตัวเองไม่เก่ง อนุญาตให้ตัวเองล้มเหลว อนุญาตให้ตัวเองดื่มด่ำกับความสำเร็จ
คำพูดหนึ่งที่ผมคิดว่าคนที่มีอาการเหล่านี้ต้องการอยู่ลึกๆ คือ
“ไม่ต้องเก่ง ฉันก็รักเธออยู่ดี”
อ้างอิง
Bravata, D. M., Madhusudhan, D. K., Boroff, M., & Cokley, K. O. (2020). Commentary: Prevalence, predictors, and treatment of imposter syndrome: A systematic review. Journal of Mental Health & Clinical Psychology, 4(3).
Sakulku, J. (2011). The impostor phenomenon. The Journal of Behavioral Science, 6(1), 75-97.