- ลู่วิ่งแห่งความสุข (Hedonic Treadmill) เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่กล่าวว่า ไม่ว่าคนเราจะมีความสุขจนเอ่อล้นหรือมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส ความรู้สึกเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะไม่คงอยู่อย่างถาวร โดยจะลดลงเรื่อยๆ จนกลับมาอยู่ในจุดตั้งต้นที่เป็นกลาง (Neutral Set Point)
- Hedonic หรือ Hedonism คือแนวคิดที่มุ่งแสวงหาความพึงพอใจจากการทำกิจกรรมสร้างสุขและการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมสร้างทุกข์ (สุขนิยม) เช่น การกินอาหารอร่อยๆ การหาความสุขทางเพศ
- ความสุขจากกิจกรรมภายนอกจึงเป็นความรู้สึกเพียงชั่วคราว แม้จะวิ่งไล่ไขว่คว้ามากแค่ไหนก็เหมือนไปไม่ถึงสักที บทความนี้จึงชวนหาวิธีออกจากลู่วิ่งเพื่อสร้างความสุขอย่างยั่งยืน
การไขว่คว้าหาความสุขและการหลีกหนีความทุกข์ดูเหมือนจะเป็นสัจธรรมของโลกใบนี้ หลายๆ ครั้งเราเลือกทำกิจกรรมที่สร้างสุขมากกว่ากิจกรรมที่สร้างทุกข์ หลายๆ ครั้งเราเลือกที่จะทำทุกอย่างเพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ หลายๆ ครั้งเราเลือกเส้นทางที่นำพาเราไปสู่ความสุขอันสูงสุด แต่ในหลายๆ ครั้งเมื่อได้ความสุขที่ต้องการมาแล้ว เรากลับรู้สึกสุขน้อยลงเรื่อยๆ จนกลายเป็นรู้สึกชาชิน การทำกิจกรรมสร้างสุขเดิมๆ ไม่อาจก่อให้เกิดความสุขได้อีกต่อไป
ทั้งหมดนี้ดูเหมือนว่าเรากำลังวิ่งไปหาความสุข แต่เมื่อไปถึงจุดนั้นแล้วเรากลับรู้สึกสุขน้อยลงจนกลายเป็นรู้สึกไม่มีความสุข ในทางจิตวิทยาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า ‘ลู่วิ่งแห่งความสุข’ ซึ่งเป็นลู่วิ่งที่เราไม่สามารถคงอยู่ในความสุขได้อย่างถาวร
‘ลู่วิ่งแห่งความสุข’ คืออะไร
ลู่วิ่งแห่งความสุข (Hedonic Treadmill) เป็นทฤษฎีทางจิตวิทยาที่กล่าวว่า ไม่ว่าคนเราจะมีความสุขจนเอ่อล้นหรือมีความทุกข์อย่างแสนสาหัส ความรู้สึกเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะไม่คงอยู่อย่างถาวร โดยจะลดลงเรื่อยๆ จนกลับมาอยู่ในจุดตั้งต้นที่เป็นกลาง (Neutral Set Point) ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่สุขไม่ทุกข์ เป็นความรู้สึกที่เป็นกลาง
กราฟแสดงระดับความสุขเมื่อเวลาผ่านไป
หากพิจารณาจากรูปคำของ Hedonic Treadmill จะแบ่งได้เป็น ‘Hedonic’ และ ‘Treadmill’
- Hedonic หรือ Hedonism คือแนวคิดที่มุ่งแสวงหาความพึงพอใจจากการทำกิจกรรมสร้างสุขและการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมสร้างทุกข์ (สุขนิยม) เช่น การกินอาหารอร่อยๆ การหาความสุขทางเพศ
- Treadmill คือลู่วิ่งไฟฟ้าที่ใช้สำหรับการออกกำลังกาย โดยสายพานของลู่วิ่งจะเลื่อนไปด้านหลัง ทำให้เราต้องวิ่งต้านไปด้านหน้า มิฉะนั้นเราจะตกจากลู่วิ่ง
เมื่อนำทั้งสองคำมารวมกันจะได้ความหมายของ Hedonic Treadmill คือ ลู่วิ่งที่เราต้องแสวงหาความพึงพอใจการทำกิจกรรมสร้างสุขและการหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมสร้างทุกข์ อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่บนลู่วิ่งลักษณะนี้ เราจะไม่สามารถหยุดวิ่งได้แม้จะบรรลุไปถึงความสุขนั้นแล้ว เราต้องวิ่งต่อไปเพื่อไม่ให้เราตกลู่วิ่ง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราถึงไม่สามารถคงอยู่ในความสุขนั้นได้ตลอดไป
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบกับลู่วิ่งยังชวนให้ตั้งคำถามว่า ‘การบรรลุถึงความสุขในลักษณะนี้เป็นความสุขที่แท้จริงหรือไม่’ หากเราบอกว่าวันนี้วิ่งบนลู่วิ่งได้ 5 กิโลเมตร แต่ในความจริงเรายังคงอยู่ที่เดิม แล้วเราวิ่งไปไกลถึง 5 กิโลเมตรจริงหรือไม่ การบรรลุไปถึงความสุขแบบ Hedonism แท้จริงแล้วก็ไม่ต่างจากเราวิ่งอยู่กับที่ จึงทำให้เกิดคำถามว่านี่เป็นความสุขที่แท้จริงแล้วหรือ
การศึกษา ‘ลู่วิ่งแห่งความสุข’ และการทดลองเชิงประจักษ์
Hedonic Treadmill เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นมาโดยนักจิตวิทยา Philip Brickman และ Donald T. Campbell (1971) ในความเรียงชื่อ Hedonic Relativism and Planning the Good Society หลังจากนั้น Brickman และคณะ (1978) ได้มีการตีพิมพ์ผลการทดลองเชิงประจักษ์ถึงแนวคิดนี้โดยใช้ชื่อว่า Lottery Winners and Accident Victims: Is Happiness Relative?
การทดลองนี้เป็นการศึกษาความสุขในระยะยาวของคน 2 กลุ่ม คือ ‘กลุ่มคนที่ถูกลอตเตอรี่รางวัลที่หนึ่ง’ กับ ‘กลุ่มคนที่ประสบอุบัติเหตุจนเป็นอัมพาต’ โดยคนทั่วไปอาจตั้งสมมุติฐานว่าคนที่ถูกลอตเตอรี่จะมีความสุขมากกว่าคนที่ประสบอุบัติเหตุ อย่างไรก็ตาม ผลการทดลองไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อผ่านไปในระยะยาว ไม่มีกลุ่มไหนสุขหรือทุกข์ไปมากกว่ากัน กลุ่มคนที่ถูกลอตเตอรี่เมื่อเวลาผ่านไป ระดับความสุขจะลดลงกลับมากเท่ากับตอนก่อนที่จะถูกลอตเตอรี่ ซึ่งคล้ายคลึงกับกลุ่มคนที่ประสบอุบัติเหตุ แม้ในตอนแรกจะประสบกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระดับความสุขก็จะกลับมาเท่ากับตอนก่อนที่จะประสบอุบัติเหตุ
ผลการทดลองจึงสรุปได้ว่า ไม่ว่าคนเราจะพบกับความสุขหรือความทุกข์มากเพียงใด แต่เมื่อเวลาผ่านไป ความรู้สึกเหล่านั้นจะเริ่มเบาบางลงจนกลายเป็นความรู้สึกที่เป็นกลาง (เป็นความรู้สึกก่อนที่เราจะประสบกับความสุขหรือความทุกข์นั้น)
‘ลู่วิ่ง’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
จุดตั้งต้น (Set Point) ไม่ได้เป็นกลางเสมอไป
จากที่กล่าวไปในข้างต้นว่า ‘เมื่อเวลาผ่านไป ความสุขและความทุกข์จะลดลงเรื่อยๆ จนกลับมาอยู่ในจุดตั้งต้นที่เป็นกลาง ซึ่งเป็นสภาวะที่ไม่สุขไม่ทุกข์’ ไม่ได้เป็นจริงในทุกคน เพราะจากการทบทวนข้อมูลในงานศึกษาเกี่ยวกับลู่วิ่งแห่งความสุขที่ผ่านมาโดย Ed Diener และคณะ (2006) พบว่าประมาณ 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่างรายงานผลคะแนนอารมณ์ที่สมดุลเหนือจุดที่เป็นกลาง
หมายความว่า เมื่อความสุขหรือความทุกข์ของคนส่วนใหญ่ลดลงจนถึงจุดตั้งต้นแล้ว คนส่วนใหญ่อาจมีความรู้สึกเชิงบวกเล็กน้อย ซึ่งไม่ได้เป็นความรู้สึกที่เป็นกลางโดยสมบูรณ์
อนุมานได้ว่าเมื่อคนเราผ่านเหตุการณ์ที่สร้างสุขหรือทุกข์มาแล้ว ความรู้สึกเหล่านั้นจะลดลงจนถึงจุดตั้งต้น แต่ความรู้สึกที่จุดตั้งต้นนี้ไม่ได้หมายความว่าจะไร้ซึ่งอารมณ์ใดๆ บางคนอาจมีความรู้สึกสุขเล็กน้อยที่ได้ผ่านเหตุการณ์นั้นมา เป็นเหมือนการได้เรียนรู้บทเรียนชีวิตบทหนึ่ง
ทำไมจุดตั้งต้นของแต่ละคนถึงต่างกัน
จากการศึกษาจุดตั้งต้นความสุข (Happiness Set-Point) เพิ่มเติมโดย Sonja Lyubomirsky และคณะ (2011) พบว่า 50% ของจุดตั้งต้นถูกกำหนดโดยพันธุกรรม ในขณะที่ 10% ได้รับอิทธิพลจากเหตุแวดล้อม เช่น เราเกิดที่ไหนและใครเป็นผู้เลี้ยงดู จึงทำให้เหลือเพียง 40% ซึ่งเป็นส่วนที่เราควบคุมได้
แม้ว่าจุดตั้งต้นครึ่งหนึ่งจะถูกกำหนดโดยพันธุกรรม แต่เกือบอีกครึ่งหนึ่งก็เป็นส่วนที่เราควบคุมได้ ดังนั้นแล้วการจะเปลี่ยนแปลงระดับความสุขจึงไม่ใช่เรื่องของโชคชะตาฟ้าลิขิต แต่เป็นสิ่งที่เราสามารถลงมือเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งสอดคล้องกับคำพูดของบิดาแห่งจิตวิทยาเชิงบวก Martin Seligman ที่กล่าวว่า “ข่าวดีมากๆ คือมีปัจจัยแวดล้อมภายในจำนวนมาก…ที่อยู่ภายใต้การควบคุมในอำนาจจิตใจ หากคุณตัดสินใจที่จะเปลี่ยนแปลงเหตุแวดล้อมภายในเหล่านั้น (ซึ่งต้องใช้ความพยายามอย่างแท้จริง) ระดับความสุขของคุณมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นได้อย่างยาวนาน”
เราจะออกจาก ‘ลู่วิ่ง’ ได้อย่างไร
เราทราบว่าจุดตั้งต้นความสุขสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงปัจจัยแวดล้อมภายในที่อยู่ภายใต้การควบคุมในอำนาจจิตใจ โดยปัจจัยแวดล้อมภายในที่สำคัญคือ ‘สติ’ (Mindfulness)
‘สติ’ เป็นสภาวะของการตระหนักรู้และการใส่ใจต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เรากำลังประสบในปัจจุบัน หากอิงจากแนวคิดของพุทธศาสนา สติในที่นี้หมายรวมไปถึงการตระหนักรู้อย่างชัดเจนถึงภายนอกและภายในตัวเอง ซึ่งครอบคลุมไปถึงการตระหนักรู้อารมณ์ ความคิด ความรู้สึกต่อสิ่งแวดล้อมโดยปราศจากการปรุงแต่ง กล่าวคือ ไม่นำความเชื่อหรือประสบการณ์ในอดีตมาใช้ในการตัดสินสิ่งที่เรากำลังประสบในปัจจุบัน การกระทำเช่นนี้จะช่วยทำให้เราเข้าใจถึงความเป็นไปของสิ่งต่างๆ ได้ตามความเป็นจริง
การมีสติจะช่วยทำให้เรามีความสุขขึ้นได้อย่างไร
จากการศึกษาการเจริญสติหรือการฝึกฝนสติของนักประสาทจิตวิทยา Rick Hason (2012) พบว่า การเจริญสติทำให้เซลล์สมองและวงจรเชื่อมต่อในสมองทำงานดีขึ้น มีการหลั่งสารสื่อประสาท ‘เซโรโทนิน’ ซึ่งทำให้เกิดความผ่อนคลาย นอนหลับง่าย และไม่มีอาการซึมเศร้า นอกจากนี้การเจริญสติยังทำให้ ‘ระบบประสาทพาราซิมพาเทติก’ ทำงานเด่นขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกายผ่อนคลาย เช่น หัวใจเต้นช้าลง ความดันโลหิตลดลง (เปรียบเสมือนกับระบบเบรกของร่างกาย)
เห็นได้ว่าการมีสติช่วยให้ร่างกายของเราผ่อนคลาย ไม่เกิดความเร่งรีบ ทำให้เรามีโอกาสคิดไตร่ตรองถึงการกระทำของเราและสิ่งเร้าที่เข้ามากระทบ และทำให้เราไม่หลงระเริงไปกับการวิ่งไล่ตามหาความสุขจากสิ่งต่างๆ ซึ่งขัดกับแนวคิดของ Hedonism ที่ว่าความสุขเกิดจากการแสวงหากิจกรรมภายนอก การฉุกคิดว่าไม่ควรแสวงหาความสุขจากกิจกรรมภายนอกมากจนเกินไปถือว่าเป็นก้าวแรกของการหลุดพ้นจาก ‘ลู่วิ่ง’ แห่งนี้
ก้าวต่อไปคือการเจริญเมตตาภาวนา
เมื่อเราตระหนักได้ว่าไม่ควรแสวงหาความสุขจากกิจกรรมภายนอกมากเกินไป แล้วเราจะแสวงหาความสุขจากที่ใด คำตอบในเรื่องนี้อาจเหมือนกับกำปั้นทุบดิน คือ ‘การแสวงหาความสุขจากภายใน’ ซึ่งหมายถึงการสร้างอารมณ์เชิงบวกขึ้นมาภายในตัวเองด้วย ‘การเจริญเมตตาภาวนา’ (Loving-Kindness Meditation)
‘เมตตาภาวนา’ หมายถึง การแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา การส่งความสุข ส่งความปรารถนาดีให้ผู้อื่น เป็นความรักที่ไม่เจือด้วยราคะ แสวงหาการทำประโยชน์แก่ผู้อื่น ดังนั้นแล้ว ‘การเจริญเมตตาภาวนา’ คือ การฝึกฝนการแผ่จิตออกไปด้วยเมตตา
การเจริญเมตตาภาวนาได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าช่วยทำให้เราอยู่เหนือผลจากลู่วิ่งแห่งความสุข โดย Fredrickson และคณะ (2008) ได้ศึกษาและพบว่า การเจริญเมตตาภาวนาช่วยทำให้เกิดอารมณ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอารมณ์เชิงบวกเป็นตัวแปรส่งผ่านในการเพิ่มความรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายในชีวิต การเพิ่มความรู้สึกถึงการสนับสนุนทางสังคม และการลดอาการเจ็บป่วย จึงกล่าวได้ว่าการเจริญเมตตาภาวนาทำให้มีความพึงพอใจในชีวิตเพิ่มขึ้นและมีอาการซึมเศร้าน้อยลง
อย่างไรก็ดี เมตตาภาวนาไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ยาก ไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิเสมอไป เพียงแค่เรามีความปรารถนาดีต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ไม่เบียดเบียนหรือสร้างความเดือดร้อนให้กัน ให้ความช่วยเหลือผู้ที่ตกทุกข์ได้ยาก มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน เท่านี้ก็ถือว่าเป็นเมตตาภาวนาอย่างหนึ่งแล้ว
พวกเรายังคงเป็นปุถุชนคนธรรมดา การมีความสุขและความทุกข์เป็นเรื่องปกติ แต่การยึดติดในความรู้สึกเหล่านั้นจะนำพามาซึ่งความทุกข์
เราทุกคนล้วนอยู่บน ‘ลู่วิ่งแห่งความสุข’ ที่ซึ่งความสุขและความทุกข์เป็นสิ่งชั่วคราว การพยายามออกจากลู่วิ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะกลายเป็นคนที่ตายด้านหรือไร้ความรู้สึก แต่จะทำให้เราเข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงไม่ใช่การแสวงหาจากภายนอก ความสุขจากภายในต่างหากที่เป็นความสุขที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง
อ้างอิง
การเจริญเมตตาภาวนาของผู้ปฏิบัติธรรม: ศึกษากรณีชุมชนวัดโคกสว่าง อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม
Hedonic Adaptation: Why You Are Not Happier