- สิทธารถะ (Siddharatha) เป็นนิยายเล่มที่ 9 ของแฮร์มันน์ เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมัน โดยก่อรูปขึ้นในช่วงที่แฮร์มันน์ตกผลึกทางแนวคิดอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะแนวคิดที่อิงอยู่กับปรัชญาตะวันออก
- หนังสือเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวการค้นหาสัจธรรมของชายหนุ่มชื่อ สิทธารถะ ที่มีคำแปลชื่อรวมกันได้ว่า ผู้เสาะแสวงหาความหมายแห่งชีวิต โดยมีฉากหลังเป็นดินแดนชมพูทวีปในยุคร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า
- ไม่ว่าสัจธรรมที่สิทธารถะค้นพบ จะเป็นความจริงสูงสุดที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์หรือไม่ แต่เรื่องราวของเขา บอกให้เราได้รู้ว่า การเรียนรู้ ไม่ได้มีแค่ในตำราคำสอน หากแต่มีอยู่ในทุกที่รอบๆ ตัวเรา
เคยมีบางคนกล่าวไว้ว่า หนังสือบางเล่ม อาจเปลี่ยนชีวิตคนๆ หนึ่งได้
แน่นอนว่า ความเปลี่ยนแปลงในชีวิตคนๆ หนึ่ง ไม่ว่าจะในทางที่ดีขึ้น หรือในทางที่แย่ลง มาจากหลายองค์ประกอบหลายตัวแปร ที่ไม่ได้มีเพียงแค่หนังสือเล่มเดียว แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อมาเสมอก็คือ หนังสือบางเล่มสามารถเปลี่ยนทัศนคติในการมองโลกของเราได้
หนึ่งในหนังสือที่มีอิทธิพลต่อทัศนคติและการมองโลกของใครหลายๆ คน ก็คือ วรรณกรรมเรื่อง สิทธารถะ จากผลงานเขียนของนักประพันธ์รางวัลโนเบลผู้มีนามว่า แฮร์มันน์ เฮสเส
ร่องรอยปรัชญาตะวันออก
สิทธารถะ (Siddharatha) เป็นนิยายเล่มที่ 9 ของแฮร์มันน์ เฮสเส นักเขียนชาวเยอรมัน ที่ในบ้านเรารู้จักกันในชื่อ เฮอร์มาน หรือเฮอร์มัน เฮสเส โดยหนังสือเล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 1922 ก่อนจะแปลเป็นภาษาอังกฤษและตีพิมพ์ในสหรัฐ เมื่อปี 1951 และได้รับความนิยมอย่างสูงจนเปรียบเหมือนคัมภีร์ชีวิตของเหล่าบุปผาชนในช่วงทศวรรษ 1960
ในช่วงทศวรรษ 1960 ถือเป็นห้วงเวลาแห่งการแสวงหาของคนหนุ่มสาวในยุคนั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เรียกตัวเองว่า ‘ฮิปปี้’ หรือ ‘บุปผาชน’ ซึ่งเบื่อหน่ายกับกรอบกฎเกณฑ์สังคม รวมถึงระบอบทุนนิยม พวกเขาพยายามเสาะแสวงหาแนวทางแห่งความหลุดพ้น ผ่านทางยาเสพติด เซ็กส์ ดนตรี และปรัชญา โดยเฉพาะปรัชญาตะวันออก
สิทธารถะ ก่อรูปขึ้นในช่วงที่แฮร์มันน์ เฮสเส ตกผลึกทางแนวคิดอย่างเต็มตัว โดยเฉพาะแนวคิดที่อิงอยู่กับปรัชญาตะวันออก ทั้งพุทธ พราหมณ์ และอาจรวมถึงลัทธิเต๋า ซึ่งในช่วงก่อนหน้านั้น งานเขียนส่วนใหญ่ของเฮสเส เน้นไปที่ปัญหาโครงสร้างทางสังคม ทั้งปัญหาครอบครัว และระบอบการศึกษา ผ่านทางการเล่าเรื่องด้วยภาษางดงาม สละสลวย ราวกับบทกวี
ปัญหาที่รุมเร้าชีวิตของเฮสเสในช่วงนั้น ทั้งปัญหาสุขภาพ (เฮสเสมีอาการป่วยด้วยโรคซึมเศร้า) ปัญหาครอบครัว และการถูกต่อต้านจากเพื่อนร่วมชาติ โทษฐานที่ไม่สนับสนุนแนวทางชาตินิยมนาซี ทำให้เขาหันหน้าเข้าสู่ปรัชญาตะวันออก เฮสเสได้เรียนรู้และศึกษาปรัชญาแนวคิดต่างๆ ทั้งพราหมณ์ พุทธ และเต๋า ก่อนจะก่อกำเนิดงานเขียนที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของเขาอีกเล่มหนึ่ง
หนังสือเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวการค้นหาสัจธรรมของชายหนุ่มชื่อ สิทธารถะ ซึ่งชื่อดังกล่าวเป็นคำสมาสของคำภาษาสันสกฤต 2 คำ คือ สิทธา ที่แปลว่า ‘ผู้ค้นพบ’ กับคำว่า อัตถะ ที่แปลว่า ‘ความหมายหรือประโยชน์แห่งชีวิต’ รวมกันแล้ว แปลได้ว่า ผู้เสาะแสวงหาความหมายแห่งชีวิต โดยมีฉากหลังเป็นดินแดนชมพูทวีปในยุคร่วมสมัยกับพระพุทธเจ้า หรืออดีตเจ้าชายสิทธัตถะ ซึ่งหากเป็นภาษาสันสกฤต จะเขียนว่า ‘สิทธารถะ’ เหมือนกัน
การเลือกใช้ชื่อ สิทธารถะ ที่เป็นชื่อเดียวกับพระพุทธองค์ น่าเป็นความตั้งใจของเฮสเสที่จะให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกเปรียบเทียบเรื่องราวของสิทธารถะ กับเจ้าชายสิทธารถะ (หรือสิทธัตถะ) เพราะเราจะรู้สึกได้ว่า การเดินเรื่องในหนังสือเล่มนี้ มีความละม้ายคล้ายคลึงกับเรื่องราวในพุทธประวัติ ตั้งแต่ ชีวิตที่สมบูรณ์เพียบพร้อมในวัยหนุ่ม การสละทิ้งครอบครัวเพื่อออกบวชแสวงหาหนทางแห่งความพ้นทุกข์ การบำเพ็ญทุกรกิริยา และการค้นพบสัจธรรมแห่งชีวิต
แต่จะว่าไปแล้ว เส้นเรื่องแบบนี้ ไม่ได้มีแต่ในพุทธประวัติและนิยายสิทธารถะ ประวัติของพระมหาวีระ ศาสดาของศาสนาเชน ซึ่งเกิดขึ้นร่วมสมัยในยุคพุทธกาล ก็มีเรื่องราวละม้ายคล้ายคลึงกัน ตั้งแต่ชาติกำเนิดสูงส่ง ชีวิตที่เพียบพร้อมสมบูรณ์พูนสุข ก่อนจะตัดสินจะละทิ้งครอบครัวและชีวิตทางโลกย์ ก้าวเข้าสู่เส้นทางของนักบวช ก่อนจะค้นพบสัจธรรมคำสอนที่กลายเป็นศาสนา
และถึงที่สุดแล้ว การเล่าเรื่องราวของเหล่าศาสดาผู้นำความคิดในยุครุ่งเรืองของปรัชญาอินเดีย ล้วนได้รับอิทธิพลจากแนวคิดอาศรมสี่ หรือช่วงชีวิตทั้งสี่ ตามความเชื่อของศาสนาฮินดู อันประกอบด้วย พรหมจรรย์ (ผู้เรียน) คฤหัสถ์ (ผู้ครองเรือน) วานปรัสถ์ (ผู้เกษียณ) สันยาสี (ผู้ละทิ้งโลก)
ดังนั้น จึงอาจกล่าวได้ว่า ทุกศาสนา หรือทุกสำนักปรัชญา ที่ก่อกำเนิดขึ้นในดินแดนชมพูทวีป ไม่ว่าจะในยุคพุทธกาลหรือเก่าแก่เนิ่นนานกว่านั้น ล้วนมีความเกี่ยวพัน และส่งอิทธิพลต่อกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธ และเชน
อย่างไรก็ดี แม้ว่าการดำเนินเรื่องราวอาจจะคล้ายคลึงกัน (ไม่ว่าจะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม) แต่สาระหรือแก่น ซึ่งในที่นี้ หมายถึงสัจธรรมที่แต่ละองค์ศาสดา หรือกระทั่งตัวสิทธารถะในนิยายได้ค้นพบ กลับมีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ขณะที่แนวทางการหลุดพ้นทุกข์ที่พระพุทธเจ้าค้นพบ คือ การเดินสายกลาง การละวาง ไม่ยึดติด ทั้งสุขและทุกข์ หนทางแห่งการมุ่งสู่สัจธรรมสูงสุดของพระมหาวีระ กลับเน้นไปที่การบำเพ็ญตบะอย่างสุดโต่ง เพราะเชื่อว่า การทรมานร่างกายเป็นวิธีการทำลายกรรมที่ตกค้างมาแต่ชาติภพเก่าก่อน
แล้วอะไร คือ ความจริงสูงสุดที่สิทธารถะ (หรืออีกนัยหนึ่ง แฮร์มันน์ เฮสเส) ค้นพบ?
สัจธรรม คือ ประสบการณ์เฉพาะตัว
“ไม่มีผู้ใดที่จะบรรลุได้เพียงด้วยการฟังคำสั่งสอน ไม่มีผู้ใดดอก… คำสั่งสอนแห่งการบรรลุของพระพุทธเจ้ามีเนื้อหามากมาย… แต่มีสิ่งหนึ่งที่คำสอนอันใสกระจ่างน่าบูชานี้มิได้มีอยู่ นั่นก็คือความลี้ลับ ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงประสบพบมาด้วยพระองค์เองแต่เพียงผู้เดียว”
ประโยคข้างบน คือ สิ่งที่สิทธารถะพูดกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และเป็นแก่นหลักในการค้นหาสัจธรรม ทั้งของตัวเอกในหนังสือ และของเฮสเส ผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ด้วย
สิ่งที่สิทธารถะกล่าว สะท้อนความคิดของเฮสเสว่า จุดหมายปลายทาง ไม่สำคัญเท่าการเดินทาง และ สัจธรรม อาจไม่สำคัญเท่าการค้นพบสัจธรรม
เพื่อให้เข้าใจแนวคิดดังกล่าว เราอาจลองเปรียบเทียบกับการเดินขึ้นยอดเขาสูงสักลูก สมมติว่าเป็นยอดเขาภูกระดึงก็แล้วกัน คนที่เดินขึ้นสู่ยอดภูกระดึงแล้ว อาจบรรยายรายละเอียดบนยอดภู รวมถึงความเหนื่อยยากที่พบเจอระหว่างเส้นทางได้ละเอียดยิบ แต่คนที่ฟังก็ไม่สามารถรับรู้ถึงประสบการณ์โดยตรงนั้นได้ ไม่ว่าจะเป็นความเมื่อยล้าที่ปลีน่อง ตะคริวขึ้นที่ต้นขา หรือความรู้สึกหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเมื่อก้าวไปถึงจุดหมายปลายทาง
สิทธารถะ เชื่อว่า ประสบการณ์ที่นำไปสู่การตรัสรู้ของพระพุทธองค์ ไม่ใช่สิ่งที่เหล่าสานุศิษย์หรือสาวก สามารถเรียนได้จากถ้อยคำ หากแต่จะต้องผ่านพบประสบด้วยตัวเองเท่านั้น
ว่ามาถึงตรงนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านศาสนาพุทธอาจแย้งว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่เคยบอกว่า การบรรลุธรรม สามารถทำได้ด้วยการเรียน แต่ต้องอาศัยการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ดังเช่นที่พระองค์เคยตรัสว่า “ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ” ซึ่งแปลว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ผู้บรรลุจะพึงรู้ได้เฉพาะตัว
ใช่ครับ ทุกสัจธรรม หรือทุกองค์ความรู้ จำเป็นต้องอาศัยการปฏิบัติจึงจะเข้าใจถ่องแท้ ไม่ใช่แค่อาศัยการเรียนรู้จากหนังสือ หรือฟังจากคำเทศนาของครูอาจารย์ แต่ต้องบอกว่า สิ่งที่สิทธารถะกำลังกล่าวถึง ไม่ใช่แค่การลงมือปฏิบัติตามคำสอนเท่านั้น หากยังรวมถึงประสบการณ์ระหว่างทาง ที่นำไปสู่การค้นพบสัจธรรมนั้นด้วย
ตามความคิดของสิทธารถะ การเดินสายกลาง ด้วยการปฏิบัติมรรคแปด ตามคำสอนของพระพุทธเจ้า ย่อมนำไปสู่การพ้นทุกข์ได้ในที่สุด แต่ไม่สามารถทำให้ผู้ปฏิบัติ เข้าถึงประสบการณ์เช่นเดียวกับพระพุทธองค์ทรงได้รับ ตั้งแต่ความรู้สึกเบื่อหน่ายความสุขทางโลกย์ ความรู้สึกหวาดกลัว-ชิงชังความทุกข์ ความทรมานจากการบำเพ็ญทุกรกิริยา จนถึงความปิติสุขเมื่อตรัสรู้
ด้วยเหตุนี้ แม้ว่าสิทธารถะจะยอมรับว่า อริยสัจ 4 ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ สัจธรรมที่เที่ยงแท้ และสามารถนำไปสู่หนทางแห่งการพ้นทุกข์ได้ แต่เขาตัดสินใจที่จะไม่ปวารณาตัวเป็นสาวกของพระองค์ หากแต่เลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตทางโลกย์ เพราะเชื่อมั่นว่า ตนเองจำเป็นต้องผ่านพบประสบการณ์ต่างๆ นานา ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า ความทุกข์คืออะไร ความรักคืออะไร ความสูญเสียคืออะไร เพื่อที่จะนำพาตัวเองไปสู่หนทางหลุดพ้นจากวัฏสงสาร
สิทธารถะ ได้พบความรักและความสุขทางกามจากกมลา หญิงคณิกาผู้เลอโฉม, ได้เรียนรู้เรื่องการทำธุรกิจ และความละโมบในทรัพย์สินจากกามะสวามี นายวานิชผู้มั่งคั่ง, ได้รู้จักความพลัดพรากเมื่อหญิงคนรักจากไป, ได้รู้ซึ้งถึงความทุกข์ทรมานจากการไม่ได้รับความรักตอบจากลูกชาย
สิ่งเหล่านี้ ทำให้สิทธารถะ เข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงการเวียนว่ายตายเกิดในวัฏสงสาร
และสิ่งเหล่านี้เอง ทำให้สิทธารถะ ได้เรียนรู้ว่า สัจธรรม ไม่ได้มีอยู่แต่ในตำราคำสอน หากแต่มีอยู่ในทุกที่ ทั้งในชีวิตผู้คน หรือแม้กระทั่งในสายน้ำ
ในตอนท้ายของเรื่อง สิทธารถะ ผู้ผ่านพบรูปแบบต่างๆ ของชีวิต ตั้งแต่พราหมณ์ นักพรต ปุถุชน พ่อค้า นักพนัน กลายเป็นชายแจวเรือข้ามฟาก เรียนรู้สัจธรรมจากสายน้ำ เขาได้พบเจอกับโควินทะ สหายเก่าแต่เยาว์วัย ผู้เป็นเหมือนขั้วตรงข้าม ของสิทธารถะ
ขณะที่สิทธารถะ เลือกค้นหาสัจธรรม ด้วยการเรียนรู้จากประสบการณ์ตัวเอง โควินทะ เลือกที่จะเป็นภิกษุตามรอยศาสดาพระพุทธองค์
การกลับมาพบกันในช่วงบั้นปลายของชีวิต โควินทะ ได้ถามสิทธารถะถึงสิ่งที่เขาค้นพบ สิทธารถะตอบกลับไปว่า
“ท่านมัวแต่มุ่งเสาะหาอยู่ จึงมิได้พบเห็น” และยังกล่าวอีกว่า
“การเสาะแสวงหานั้น คือการมีจุดมุ่งหมาย แต่การได้ค้นพบนั้น คือความเป็นอิสระเสรี เปิดกว้าง ปราศจากเป้าหมายจุดประสงค์ใดๆ”
ไม่ว่าสัจธรรมที่สิทธารถะค้นพบ จะเป็นความจริงสูงสุดที่นำไปสู่การหลุดพ้นจากความทุกข์หรือไม่ แต่เรื่องราวของเขา บอกให้เราได้รู้ว่า การเรียนรู้ (ไม่ว่าจะในเรื่องสัจธรรม หรือความรู้เรื่องใดๆ ก็ตาม) ไม่ได้มีแค่ในตำราคำสอน หากแต่มีอยู่ในทุกที่รอบๆ ตัวเรา
บางครั้ง แค่หยุดวิ่งไล่ตามหา แล้วเปิดใจรับรู้สิ่งรอบตัว เราอาจค้นพบสิ่งที่พยายามเสาะแสวงหามาทั้งชีวิตก็ได้
[หมายเหตุ : ข้อความตัวเอนในบทความชิ้นนี้ คัดลอกจากหนังสือ สิทธารถะ ฉบับจัดพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ อ่าน 101 แปลจากต้นฉบับภาษาเยอรมันโดย สีมน] |