- ทำไมผู้คนที่สร้างความเดือดร้อนไม่เป็นไปตามจารีตสังคมจึงมียอดผู้ติดตามบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้น พฤติกรรมติดตามคนที่เกลียดนี้มีชื่อเรียกว่า hate-following
- พฤติกรรม hate-following นั้นอาจเกิดจากความไม่พอใจในการใช้ชีวิตของตนเองได้อีกด้วย โดยพฤติกรรมนี้มักเกิดจากความอิจฉาริษยา และมักแสดงออกในรูปแบบการแสวงหาความชอบธรรม
- การแสดงความเกลียดชังต่อผู้คนบนโลกออนไลน์ ไม่เพียงแค่ต้องการแก้เบื่อ สร้างความมั่นใจ มนุษย์เรายังต้องการหาความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการแสดงตัวว่าเป็น ‘คนดี’ ด้วย
พฤติกรรม hate-following เป็นงานอดิเรกสมัยใหม่ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวของการนินทาและเทคโนโลยี
การติดตามผู้คนที่เราชื่นชอบ ไม่ว่าจะเป็น ศิลปิน ดารา นักร้อง นักเขียน และอีกมากมายนั้นเป็นเรื่องที่เราเข้าใจและยอมรับกันได้ เพราะเราชื่นชอบ เราจึงติดตาม แต่ในทางกลับกัน ผู้คนที่สร้างความเดือดร้อนไม่เป็นไปตามจารีตสังคมเองก็มียอดผู้ติดตามบนโลกออนไลน์เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน อาจมากกว่าคนที่เราชื่นชอบด้วยหากมีความผิดแผกมาก เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น
Pam Rutledge นักจิตวิทยาผู้ก่อตั้ง Media Psychology Research Center กล่าวว่า “โดยพื้นฐานแล้ว มนุษย์เราทุกคนถูกกำหนดด้วยพฤติกรรมหรือสัญชาตญาณให้มีความสนใจกับสิ่งที่คนรอบตัวเป็น การติดตามสังคมหรือการเปรียบเทียบทางสังคม ถือเป็นเรื่องปกติ” แต่การหมกมุ่นอยู่กับชีวิตของคนอื่นกลายเป็นอุปสรรคต่อการมีความสุขกับชีวิตของตัวเองไม่ถือเป็นเรื่องปกติ อาจถึงเวลาที่เราจะต้องทบทวนพฤติกรรมการใช้สื่อโซเชียลอีกครั้งว่าทำไมเราถึงใช้ไปกับสิ่งที่บั่นทอนจิตใจเราหรือผู้อื่นด้วย
ความเบื่อหน่ายและความไม่พอใจในชีวิต
ชีวิตประจำวันของใครหลายๆ คน อาจไม่สนุกสนาน ซ้ำซาก และจำเจ ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เราเกิดความรู้สึกเบื่อและต้องการหาอะไรมาสร้างความบันเทิง สร้างสีสันเล็กๆ น้อยๆ ให้กับชีวิต อาจดูเหมือนขัดกับสัญชาตญาณ แต่ Rutledge สนับสนุนประเด็นความคิดนี้ เธอกล่าวว่าการดูสิ่งที่เรารู้ว่าจะทำให้เราไม่พอใจในโลกออนไลน์นั้นเป็นเรื่องปกติธรรมดาที่จะขจัดความเบื่อหน่าย
นอกจากความเบื่อหน่ายแล้ว พฤติกรรม hate-following นั้นอาจเกิดจากความไม่พอใจในการใช้ชีวิตของตนเองได้อีกด้วย โดยพฤติกรรมนี้มักเกิดจากความอิจฉาริษยา และมักแสดงออกในรูปแบบการแสวงหาความชอบธรรม เรารู้ว่าข้อดีอย่างหนึ่งเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียคือการเชื่อมต่อกับคนที่เราห่วงใย ทำให้เรารู้สึกได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น แต่จากข้อมูลของนักจิตวิทยา Erin Vogel พบว่าโซเชียลมีเดียยังสามารถลวงให้เรารู้สึกเหมือนมีความสัมพันธ์ที่แท้จริงกับคนที่เราติดตาม แม้ว่าไม่เคยพบพวกเขามาก่อนได้เช่นเดียวกัน
Vogel เชื่อว่าโซเชียลมีเดียเอื้อให้การเปรียบเทียบตัวเรากับผู้อื่นเป็นเรื่องง่าย อย่างไรก็ตาม การเปรียบเทียบเหล่านี้อาจเป็นอันตรายได้
เรามักจะสนใจคนที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะเราอยากรู้ว่าเขาไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ในขณะเดียวกัน เราก็สร้างความมั่นใจให้ตัวเองเป็นระยะๆ ด้วยการเข้าไปสอดส่องคนที่แย่กว่าเราผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย
Rutledge เสริมว่าเมื่อการเปรียบเทียบกับคนที่ด้อยกว่าเหล่านี้ออกมาแล้วดีสำหรับเรา ทำให้มั่นใจในตัวเองมากขึ้น เราก็ยิ่งรู้สึกสนุกกับเรื่องราวของคนที่ถูกเปรียบและรู้สึกเหนือกว่ามากขึ้นเท่านั้น
นอกจากนี้ การแสดงความเกลียดชังต่อผู้คนบนโลกออนไลน์ยังเป็นอีกพฤติกรรมใน hate-following ที่ผู้คนในยุคปัจจุบันมักจะทำกัน ไม่เพียงแค่ต้องการแก้เบื่อ สร้างความมั่นใจ มนุษย์เรายังต้องการหาความชอบธรรมให้ตัวเองด้วยการแสดงตัวว่าเป็น ‘คนดี’ ด้วย
ในชีวิตจริงเราอาจเป็นแค่มนุษย์ตัวเล็กๆ ที่ไม่ได้มีผลอะไรกับโลกใบนี้มากนัก แต่ในโลกออนไลน์ เราสามารถเป็นใครก็ได้ที่เราต้องการ นี่คือเหตุผลที่พฤติกรรม hate-following นั้นน่าดึงดูดมาก
โซเชียลมีเดียเปิดโอกาสให้คนธรรมดาได้แบ่งปันความคิด ได้ปลดปล่อยแนวความคิดด้านลบที่ทำไม่ได้ในชีวิตจริง พูด พ่น หรือแสดงความเห็นที่รุนแรงก้าวร้าว ไม่เหมาะสมได้ตามต้องการ โดยไม่กังวลว่าใครจะคิดอย่างไร และไม่ต้องออกแรงเพื่อปกป้องตัวเอง เพราะบนโลกออนไลน์เราอาจเป็นผู้มีอำนาจที่มีผู้ติดตามมาก และจะไม่มีใครตามหาตัวตนจริงๆ ของเราเจอ หรือสามารถยุติการมีส่วนร่วมได้ง่ายๆ ด้วยการปิดแอป
เราจึงมักใช้เวลาบนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่ไปกับการติดตามและไตร่ตรองถึงคุณสมบัติที่เราไม่ชอบในคนอื่น (แม้ว่าในความเป็นจริงแล้ว คุณสมบัติเหล่านั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวตนในโลกออนไลน์ของพวกเขา) เรากำหนดมาตรฐานสำหรับตัวเราเองและดำเนินชีวิตตามนั้น
“การมองดูคนที่เราไม่ชอบ หรือไม่เคารพและพยายามทำความเข้าใจความแตกต่างนั้น ช่วยให้เราสามารถเสริมเอกลักษณ์และเพิ่มคุณค่าของเราเองได้”
Rutledge กล่าว “ถ้ามองใครแล้วรู้สึกว่าเกลียดคนนี้จริงๆ เพราะคนนี้เผยตัวตนในแบบที่เราไม่ชอบ หรือคนนี้หยาบคาย ทำให้เรารู้สึกพึงพอใจโดยคิดว่าฉันไม่ได้เป็นแบบนั้นได้ด้วยเช่นกัน”
เมื่อไรที่ควรกด Unfollow
สถิติเผยให้เห็นว่าพวกเราส่วนใหญ่ hate-following เพื่อความบันเทิง รองศาสตราจารย์ Peggy Kern จากศูนย์จิตวิทยาเชิงบวกแห่งมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นชี้ว่าเราอาจเสพติดพฤติกรรมนี้ได้ โดยกล่าวว่า “แม้ว่าเราจะได้รับการตอบสนองทางอารมณ์เชิงลบ แต่เราก็ยังจะทำมันต่อไป”
แม้ว่า hate-following จะดึงดูดใจให้เราต้องคอยไปสอดส่องศัตรู รู้จักกับคนที่ไม่ชอบ แต่ Vogel เตือนว่าอย่าปฏิบัติกับโซเชียลมีเดียเหมือนเป็นช่องทางตรงเข้าสู่ชีวิตของคนอื่น โดยเฉพาะคนที่คุณไม่รู้จักเลย เช่น คนดังหรืออินฟลูเอนเซอร์ที่คุณเกลียด เราอาจลืมไปว่าบุคคลสาธารณะที่แบ่งปันชีวิตของพวกเขาซึ่งได้รับการดูแลอย่างดีนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวตนในโลกออนไลน์เท่านั้น ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมด
Rutledge กล่าวว่าผู้คนต้องซาบซึ้งในความแตกต่างระหว่างอารมณ์เชิงบวกและเชิงลบให้มากขึ้น ตราบใดที่ยังรู้สึกดีกับมันและได้มุมมองจากสิ่งเหล่านี้ในด้านความบันเทิง (โดยไม่ทำร้ายน้ำใจผู้อื่น) ก็ยังถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไรก็ตามที่เราเริ่มรู้สึกก้าวร้าว และเริ่มมีปัญหาด้านการควบคุมจิตใจและอารมณ์ เธอแนะนำว่าให้ลองดูต้นสายปลายเหตุ แล้วลองหากิจกรรมใหม่ๆ ที่จะทำให้คุณรู้สึกดีขึ้น
Vogel เห็นด้วยว่าการสอบถามตนเองเป็นสิ่งสำคัญในการประเมินว่าเราจำเป็นหยุดพฤติกรรม hate-following ไหม เราควรถามตัวเองว่าได้อะไรจากการ hate-following ตามผู้อื่นในโซเชียล มันช่วยต่อสู้หรือเติมเต็มความไม่มั่นคงของตัวเองหรือไม่
หากโพสต์ต่างๆ ของคนที่ติดตามทำให้เรารู้สึกภาคภูมิใจในตนเองด้วยการตัดสินคนอื่นว่า “อย่างน้อยฉันก็ไม่เหมือนคนนั้น” ซึ่งไม่ใช่เหตุผลที่สร้างสรรค์ในการติดตามคนที่เราไม่ชอบ และหาก hate-following กำลังรบกวนความสนุกออนไลน์ หรือทำให้ต้องใช้พื้นที่สมองมากเกินไป ก็ถึงเวลาที่จะกดปุ่มเลิกติดตาม ยุติพฤติกรรมที่ไม่ดีนี้
“ในตอนแรกอาจรู้สึกแปลกที่ไม่เห็นโพสต์ของพวกเขา” Vogel กล่าว “แต่คุณอาจพบว่าคุณสนุกกับเวลาของคุณบนโซเชียลมีเดียมากขึ้นเมื่อคุณติดตามเฉพาะคนที่เพิ่มคุณค่าให้กับชีวิตของคุณ”
พฤติกรรม hate-following ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเรามีคุณค่ามากขึ้น สิ่งที่เราทำบนโลกออนไลน์ไม่ได้มีผลออะไรกับชีวิตจริง
ในช่วงหนึ่ง เราอาจหลงทางและมองหาพื้นที่ที่จะทำให้เรามีตัวตนมีคุณค่า โดยไม่รู้เลยว่าการเข้าไปสอดส่องชีวิตของผู้อื่นเพื่อมาเปรียบเทียบกับตัวเอง หรือเพื่อหาความชอบธรรมจะทำให้คนเหล่านั้นได้รับบาดแผลทางจิตใจอย่างไร การตามกระแสสังคมที่ขาดการพิจารณาไตร่ตรองไม่ได้ทำให้โลกนี้ดีขึ้น เราควรเข้าใจและจัดการกับอารมณ์ความรู้สึกของเราให้ดี ไม่เอาคุณค่าของตัวเองไปแขวนอยู่กับคนอื่น โดยเฉพาะคนไม่ดีหรือคนที่เราไม่ชอบ เอาใจใส่ตัวเองให้ดี รักษาหัวใจของตนเองให้แข็งแรงแล้วโลกใบนี้จะน่าอยู่ขึ้นเอง
อ้างอิง
The Curious Psychology of Hate-Following People Online