- หากเราเป็นคนหนึ่งที่มักรู้สึกผิดแม้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย หรือรู้สึกผิดแทบทุกคราที่ได้ยินการก่นว่าขึ้นลอยๆ ซึ่งคลับคล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนตำหนิมาจนฝังหัว อาจมีคนบอกว่าเรารู้สึกผิดไปเอง เรื่องราวมันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ซึ่งทำให้เราต้องรู้สึกผิดซ้อนเข้าไปอีก กล่าวคือ รู้สึกผิดที่ตัวเองรู้สึกผิด!
- ปัจจัยส่วนหนึ่งอาจมาจากการเลี้ยงดูตอนเด็ก เด็กบางคนโตมากับผู้ดูแล หรือพ่อแม่ที่คุ้นชินกับการตำหนิ ไม่ว่าเขาจะพยายามทำตัวเป็นประโยชน์เพียงใดก็ตาม ก็จะยังถูกตำหนิไปเรื่อยอยู่ดี หนำซ้ำเด็กนั้นก็อาจได้ฟังคำลดทอนคุณค่าและความเชื่อมั่นจากข้อความทำนองนี้บ่อยๆ อีกด้วย เช่น “คนอย่างเธอไม่มีทางได้อะไรดีกว่านี้หรอก นอกเสียจากจะต้องพึ่งพาฉัน” “คนอื่นไม่ต้อนรับเธอหรอก ดีเท่าไหร่แล้วที่คนอย่างฉันช่วยเหลือ”
- ไม่ว่าผู้ที่เคยดูแลเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม ตัวละครอย่างมิสสิสโจในเรื่อง Great Expectations เป็นเพียงตัวเทียบเพื่อให้เห็นว่าผู้ดูแลเองก็มีความทุกข์ของเขา และมันก็อาจเป็นเรื่องยากที่เขาจะทำงานกับความเจ็บปวดในวัยของเขาตอนนี้ แต่เราเองสามารถตั้งใจที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์โศกในส่วนของเราได้ เพราะเราเองในวัยผู้ใหญ่ย่อมเลือกที่จะก้าวข้ามโปรแกรมทางจิตจากวัยเด็กของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย
อ่านบทความตอนที่ 1 ได้ที่นี่
Great Expectations เป็นนวนิยายของ ชาร์ลส์ ดิกเคนส์ (Charles Dickens) นักเขียนอังกฤษเลื่องชื่อแห่งยุควิกตอเรียน ในช่วงปีที่ดิกเคนส์เริ่มเขียนงานดังกล่าว แนวคิดเรื่องอิทธิพลจากธรรมชาติ (nature) ของมนุษย์และการเลี้ยงดู (nurture) ต่อพัฒนาการของมนุษย์กำลังเป็นประเด็นถกเถียงใหญ่โตของสาธารณะ พิพ (Pipp) ตัวละครเอกของเรื่อง Great Expectations แสดงให้เราเห็นผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดู ที่ทำให้เด็กชายพิพรู้สึกผิดอยู่แทบตลอดเวลา ซึ่งสามารถทำให้ชีวิตผู้ใหญ่คนหนึ่งเป็นผืนผ้าที่ถักทอขึ้นด้วยความรู้สึกผิดอันซับซ้อน ทว่าตราบใดที่เรายังสามารถสัมผัสความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง ก็ยังหวังได้ว่าเราจะสามารถบรรเทาหรือเพิกเฉยต่อความรู้สึกผิด ในส่วนที่ไม่ได้ทำอะไรผิดได้
1.
พิพเป็นเด็กกำพร้า พ่อแม่และพี่น้องห้าคนในครอบครัวของเขาเสียชีวิตไปแล้ว และพี่สาวของพิพ หรือที่เขาเรียกว่า มิสซิสโจ ได้นำเขามาเลี้ยงไว้ที่บ้านในพื้นที่หนองบึง ณ ชนบทของเมืองเคนท์
บ้านหลังดังกล่าวตั้งอยู่ใกล้สุสานและท่าเรือบรรทุกนักโทษ
วันหนึ่ง ในขณะที่พิพนั่งมองหลุมศพของพ่อแม่และพี่น้องที่ตายไป ณ สุสานใกล้บ้าน นักโทษหลบหนีชื่อ แมกวิช ก็จู่โจมเด็กชายพร้อมทั้งบอกให้ไปเอาอาหารกลับมาให้ในเช้าวันรุ่งขึ้น พิพเลือกจะช่วยนักโทษคนนี้ด้วยความกรุณา แต่นั่นยิ่งทำให้เด็กชายรู้สึก ‘มีความผิด’ เขาเดินฝ่าหมอกแห่งรุ่งอรุณในวันถัดมาเพื่อนำอาหารที่ขโมยจากบ้านไปให้นักโทษ ด้วยความรู้สึกเหมือนทุกอย่างอันปรากฏขึ้นจากมวลหมอกนั้นวิ่งพุ่งมาที่เขา
ไม่เพียงแต่พิพต้องเผชิญกับความรู้สึกผิดที่มักผุดขึ้นมาในชีวิตตลอดการเติบโตขึ้นมา แต่เขายังต้องเผชิญกับความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ ด้วย
ในบ้านที่พิพอาศัยอยู่ในวัยเด็กนั้น แม้จะมีคุณโจ สามีผู้อ่อนโยนและเปี่ยมคุณธรรมของมิสซิสโจอยู่ด้วย แต่มิสซิสโจก็ตบตีทำร้ายพิพและสามีของเธอ จะมีก็เพียงข้อยกเว้นกับคนนอกบ้าน ซึ่งมิสซิสโจจะมีท่าทีสุภาพตราบเท่าที่เธอได้รับการเยินยอและเป็นใจกลางของการสนทนา มิสซิสโจเคยถึงขนาดคัดค้านการศึกษาของสามีเพราะเธอกลัวว่าหากสามีเลื่อนสถานะขึ้นแล้ว เธอจะถูกทอดทิ้ง
มิสซิสโจทำให้พิพในวัยเด็กรู้สึกผิดกับแทบทุกอย่างที่เขาทำ แม้แต่ ‘แค่มีชีวิต’ ทั้งที่คนอื่นในครอบครัวตาย ก็ผิดแล้ว ในขณะเดียวกันเธอเตือนอยู่เสมอว่าเขาโชคดีเพียงใดที่เธอใจดีเลี้ยงดูเขา เมื่อพิพในวัยทารกไม่สบาย มิสซิสโจพรรณนาอาการป่วยไข้ของทารกน้อยอย่างไร้สงสารราวกับการป่วยเป็นอาชญากรรม มีอยู่ครั้งหนึ่ง พิพถามคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องคุกเรือแถวบ้าน มิสซิสโจกลับตอบตัดรำคาญว่า เธอไม่ได้เลี้ยงเขามาด้วยมือของเธอเพื่อให้เขามารบกวนคนอื่น และยังบอกอีกว่านักโทษในนั้นกระทำสิ่งเลวร้ายต่างๆ และคนพวกนั้นก็เริ่มต้นด้วยการถามคำถาม (เหมือนพิพ) นี่แหละ!
อย่างไรก็ตามภายหลังพิพก็ได้ก้าวพ้นไปจากมิสซิซโจ วันหนึ่งเขาได้รับทุนจากบุคคลนิรนามให้ไปชุบชีวิตใหม่กลายเป็นสุภาพบุรุษชั้นสูงในมหานครลอนดอนดั่งที่เขาอยากถีบตัวขึ้นพ้นจากภูมิหลังที่รู้สึกไม่ดีพอ ชายหนุ่มหลงเพ้อพกว่าหญิงชนชั้นสูงคนหนึ่งเป็นผู้ให้ทุนเพื่อพลิกชีวิตของเด็กชนบทอย่างเขา ทว่าสุดท้ายเขาก็พบความจริงว่านักโทษ แมกวิช ต่างหากที่เป็นผู้อุปการะเขาตลอดมา
นักโทษเป็นภาพแทนของคน ‘มีความผิด’ ซึ่งเป็นความรู้สึกเก่าก่อนที่พิพไม่เคยหนีพ้น “ส่วนหนึ่งของเมล็ดพันธุ์ของเขาก็คือ ‘นักโทษ’ ” เมื่อทราบความจริงว่าอดีตนักโทษส่งเขาไปลอนดอน พิพผู้มักเห็นแต่ข้อบกพร่องของตัวเองก็รู้สึกสั่นคลอน
กระนั้น พิพก็เรียนรู้ที่จะก้าวข้ามความกระอักกระอ่วนใจต่างๆ และกลับไปสัมผัสความดีงามที่มีตามธรรมชาติของตนเอง ภายหลังเขาดูแลเมกวิชตราบจนลมหายใจสุดท้ายเสมือนเป็นพ่ออีกคน แม้นว่าแมกวิชจะเป็นนักโทษ แต่บัดนี้เขาเห็นแมกวิชเป็นเพียงชายที่รักและเกื้อกูลเขาอย่างแน่วแน่ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไม่ต่างจากคุณโจ ซึ่งแม้เป็นเพียงช่างตีเหล็กที่ภายนอกดูหยาบกร้าน ทว่าก็เป็นเหมือนพ่อและเพื่อนแท้ผู้คอยดูแลพิพในยามยากและพร้อมให้อภัยเสมอ
2.
“นักโทษ” ต้องทัณฑ์ ที่คอยตอบสนองคำตำหนิและความเกรี้ยวกราดของผู้อื่น
หากเราเป็นใครคนหนึ่งที่มักรู้สึกผิดแม้ไม่ได้ทำผิดอะไรเลย หรือรู้สึกผิดแทบทุกคราที่ได้ยินการก่นว่าขึ้นลอยๆ ซึ่งคลับคล้ายกับที่ตัวเองเคยโดนตำหนิมาจนฝังหัว อาจมีคนบอกว่าเรารู้สึกผิดไปเอง เรื่องราวมันไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย ซึ่งทำให้เราต้องรู้สึกผิดซ้อนเข้าไปอีก กล่าวคือ รู้สึกผิดที่ตัวเองรู้สึกผิด! หรืออาจมีคนถามว่า ใครสอนให้เราต้องพุ่งพรวดเข้าไปรับผิดชอบความรู้สึกไม่พอใจ โดยเฉพาะที่พ่นออกมาลอยๆ ของคนอื่นเช่นนี้
แล้วใครล่ะที่สอนเรา? เด็กบางคนมีผู้ดูแล หรือพ่อแม่ที่คุ้นชินกับการตำหนิ ไม่ว่าเด็กคนนั้นจะพยายามทำตัวเป็นประโยชน์เพียงใดก็ตาม ก็จะยังถูกตำหนิไปเรื่อยอยู่ดี หนำซ้ำเด็กนั้นก็อาจได้ฟังคำลดทอนคุณค่าและความเชื่อมั่นจากข้อความทำนองนี้บ่อยๆ อีกด้วย เช่น “คนอย่างเธอไม่มีทางได้อะไรดีกว่านี้หรอก นอกเสียจากจะต้องพึ่งพาฉัน” “คนอื่นไม่ต้อนรับเธอหรอก ดีเท่าไหร่แล้วที่คนอย่างฉันช่วยเหลือ” ฯลฯ คลับคล้ายกับที่มิสซิสโจพูดกับพิพ
สามารถทำให้เด็กคนหนึ่งมีสัญญาเตือนภัยที่เปิดอยู่ตลอด และเมื่อโตมาเขาก็สามารถพยากรณ์ ‘ความผิด’ ของตนเองได้ล่วงหน้า ประหนึ่งว่าสายตาทุกคู่กำลังพุ่งชำแรกผ่านมวลหมอกมาจ้องจับผิดเขา เขาอธิบายการกระทำของตนเองโดยอัตโนมัติ หรือรีบแก้ตัวแม้ก่อนที่จะมีใครตำหนิวิจารณ์ (ซึ่งในบ้านของเขา เขาก็มักจะถูกตำหนิอย่างที่คาดการณ์ไว้จริงๆ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า) หรือคอยตั้งรอตอบสนองความไม่พอใจของใครสักคนเพราะว่ามันคือความรอดเดียวในวัยเด็ก และเขาก็คอยทำเช่นนั้นอย่างเดียวดายและแปลกแยกภายในราวกับเป็นนักโทษขังเดี่ยว เขากลายเป็นผู้ใหญ่ที่วิตกกังวลว่าจะทำให้ใครไม่พอใจ และลึกๆ ก็รู้สึกว่าตัวเองมีตำหนิ คล้ายพิพที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองดีพอ
3.
ถ้าย่อหน้าข้างต้นบอกเล่าอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเรา ลองถามตัวเองไหมว่า เราเคยมีผู้ดูแลที่มีระดับความรุนแรงเข้มข้นพอกันกับมิสซิสโจหรือไม่? แต่อีกกรณีเราอาจจะแค่เคยมีผู้ดูแลที่มีบุคลิกช่างติซึ่งที่จริงเขาปราศจากเจตนาร้าย เพียงแค่ผู้ดูแลเองเคยได้รับสารในวัยเด็กว่าเขาต้องไร้ที่ติ ฯลฯ กระนั้น ไม่ว่าผู้ที่เคยดูแลเราจะเป็นแบบไหนก็ตาม นี่ก็เป็นเพียงการวาดภาพเพื่อให้พอจะเห็นว่าผู้ดูแลเองก็มีความทุกข์ของเขา ไม่ใช่เพื่อกล่าวโทษว่าเขาทำให้เราเป็นคนที่มักรู้สึกผิดมา ตลอดชีวิต เพราะในบางเวลาผู้ดูแลช่างติก็อาจเป็นผู้ใหญ่ใจดีแบบคุณโจอยู่บ้าง และที่สำคัญ เราเองในวัยผู้ใหญ่ย่อมเลือกที่จะก้าวข้ามโปรแกรมทางจิตจากวัยเด็กของตัวเองได้ไม่มากก็น้อย เฉกเช่นที่พิพใน Great Expectations ก็ก้าวข้ามข้ามวิธีคิดส่วนหนึ่งของตัวเองไปได้
หากว่าคุณเคยมีผู้ดูแลที่คล้ายกับมิสซิสโจ
มีการวิเคราะห์กันมากว่า มิสซิสโจมีอาการต่างๆ ของคนเป็นโรคหลงตัวเอง (narcissistic personality disorder- NPD) ทั้งนี้ ดร. Elsa F. Ronningstam นักจิตวิทยาคลินิกซึ่งรักษาคนที่เป็นโรคหลงตัวเองมาเกินกว่า 20 ปี กล่าวถึงอาการของโรคหลงตัวเอง เช่น เห็นตัวเองสำคัญเกินจริง คิดว่าตัวเองเหนือกว่าคนอื่นและเห็นว่าคนอื่นด้อยค่า หิวแสง เกรี้ยวกราดในเรื่องไม่สมเหตุผล และเมื่อฉุนเฉียวก็จะเริ่มก้าวร้าวและเป็นเผด็จการ เขาไม่อาจเข้าใจความลำบากของผู้อื่นในลักษณะของการร่วมรู้สึกได้
แต่ถ้าลองสังเกตกันจริงๆ คนทั่วไปที่ไม่ได้ถูกวินิจฉัยว่าเป็น NPD รวมถึงคนธรรมดาทั่วไปอย่างเราๆ บางเวลาก็แสดงลักษณะต่างๆ ดังกล่าวเช่นกัน เรามั่นใจได้เพียงไหนว่า เวลาที่เราพูดถึง ‘คนอื่น’ ที่มีลักษณะต่างๆ ที่สอดคล้องกับอาการหลงตัวเอง เราเองจะไม่ได้แสดงลักษณะเหล่านั้นบ้างเป็นครั้งคราว? ลักษณะที่เราปฏิเสธว่าไม่ได้มีอยู่ในตนเองนั้น อาจทอดเงามืดติดตามเรามาได้เสมอ
ทั้งนี้ ไม่ได้บอกว่าการเห็นว่าผู้ดูแลแสดงพฤติกรรมแบบ NPD เป็นแค่การฉายภาพไปที่คนอื่น (projection) ทุกกรณี และไม่ได้บอกว่ามันก้าวข้ามง่าย คนที่ตั้งใจจะก้าวข้ามจึงน่านับถือหัวใจอย่างมาก แต่ถ้าเราเคยมีผู้ดูแลคล้ายมิสซิสโจที่มักพูดให้เรารู้สึกผิดและด้อยค่า อาจลองมองในมุมนี้ว่าหลายครั้งคำพูดโหดร้ายก็เป็นแค่วิธีรับมือ (coping) กับความตึงเครียดของคนที่พูด ซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวเรา อีกทั้งเขาก็อาจไม่รู้แล้วด้วยซ้ำว่าแรงขับต้นขั้วที่ทำให้เขาทุกข์จนต้องพูดใส่เราแบบนั้นคืออะไร
ผู้ดูแลที่เป็นเช่นนั้นอาจเคยมีหัวใจที่แตกสลายมาก่อนและมันก็ยากที่เขาจะทำงานกับความเจ็บปวดในวัยของเขาตอนนี้ แต่เราเองสามารถตั้งใจที่จะก้าวพ้นจากความทุกข์โศกในส่วนของเราได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่ามันชอบธรรมที่เขาจะทำอะไรกับเราก็ได้ กรณีที่มีพฤติการณ์อื่นๆ อันเกี่ยวกับความปลอดภัยร่วมอยู่ด้วย ก็มีหลายคนใจเด็ดพาตัวเองออกมาจากสิ่งแวดล้อมลักษณะนั้นก่อน จากนั้นก็หาทางเยียวยาตนเองกระทั่งจิตใจมั่นคง แล้วถึงพิจารณาชั่งน้ำหนักเรื่องการย้อนกลับไปดูแลผู้ที่เคยดูแลในภายหลัง
เรื่องทำนองดังกล่าวมักคลุกเคล้าอยู่กับค่านิยมทางวัฒนธรรมเช่น หลากหลายนิยามของคำว่า ‘กตัญญู’ อีกทั้งยังมีประเด็นความรู้สึก ‘มีค่า’ อย่างการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่ไม่รู้สึกมีค่าพอที่สถานที่อื่นจะต้อนรับ ฯลฯ ซึ่งรายละเอียดสถานการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกันเลยและละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง จึงขอละไว้ในที่นี้
ผู้ดูแล ได้รับสารในวัยเด็กว่าเขาต้องไร้ที่ติจึงจะได้รับการยอมรับ
อีกกรณีที่พบคือ ผู้ใหญ่ช่างติบางคนเจตนาดีมาก เพียงแต่เขาได้รับข้อความตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก (Childhood Message ดังกล่าวไม่เป็นจำเป็นต้องเป็นสิ่งที่คนอื่นบอก แต่เป็นสิ่งที่เด็กคนนั้น ‘ได้ยิน’ และติดอยู่ในใจ) ว่ามันไม่โอเคที่จะทำผิดพลาดหรือไม่สมบูรณ์แบบ หรือไม่ทำให้ ‘ถูกต้อง’ ภายในครั้งแรก เขาจะได้รับการยอมรับก็ต่อเมื่อทำตามกฎอย่างไร้ที่ติแล้วเท่านั้น เขากลัวว่าจะชั่วร้ายหรือมีข้อบกพร่อง ชีวิตเขาจึงมีแรงขับที่เต็มไปด้วยคำว่าต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ และคอยมองหาสิ่ง ‘ผิดพลาด’ ข้อบกพร่องที่เขาเห็นว่าเรามีอยู่มากมายนั้น เกิดจากการที่เขาเฆี่ยนตีตัวเองมากกว่านั้นไปอีก
ความรู้สึกบกพร่องและ ‘ต้อง’ ที่ผู้ใหญ่ลักษณะนี้บอกกับเราไม่ได้ไร้ประโยชน์เสียทีเดียว มันสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เรามีวินัย พยายามทำสิ่งที่ถูกต้องและมีแรงขับในการพัฒนาตัวเอง แต่ส่วนที่มากเกินไปจนเป็นโทษ เราอาจทำได้เพียงเป็นเสียงที่ขอบคุณและบอกผู้ใหญ่คนนั้นว่า เขาดีอยู่แล้วในแบบที่เขาเป็น แม้จะไม่สมบูรณแบบก็ตาม
4.
กลับมาตระหนักรู้สัญญาณเตือนภัยที่ไม่จริง และเลิกเป็นนักโทษความรู้สึกผิด
ผู้รู้สึกผิดพร่ำเพรื่อแม้ไม่ได้ทำอะไรผิด อีกทั้งตอบสนองทุกความเกรี้ยวกราดของผู้อื่น ถึงจุดหนึ่งก็ย่อมจะเหนื่อยล้าเต็มทน วันหนึ่งเขาจะเห็นเสียงเพรียกต่างๆ มันอาจเป็นความป่วยไข้ มันอาจเป็นอุบัติเหตุ มันอาจเป็นความฝันซ้ำๆ และอะไรอีกมากมาย แต่ไม่ว่าจะปรากฏขึ้นเป็นอะไร มันคือ ‘สัญญาณ’ ที่บอกให้เรากลับมาถามตัวเองว่าเราต้องกระโจนเข้าไปรับผิดชอบ ทุก การระเบิดอารมณ์ไม่พอใจของผู้อื่นเมื่อผู้อื่นไม่ได้ในสิ่งที่คาดหวัง หรือไม่? เราต้องตอบสนองเขาเพราะเรา ‘มีความผิด’ (จริงหรือ?) และต้อง ‘รับผิด’ ชอบ หรือหลายๆ กรณี เขาต่างหากที่ต้องรับผิดชอบความรู้สึกของเขาเอง?
ลองถอยมามองภาพใหญ่แบบวิญญูชนที่ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในเหตุการณ์ หรือหาคนแบบนั้นมาสะท้อนเรื่องราวดูก็ได้ เราอาจเห็นสัญญาณเตือนภัย (ความรู้สึกผิด) ที่เป็นเท็จและมั่วซั่วได้ชัดเจนขึ้น
และบางทีการไม่ตอบสนองทุกความรู้สึกผิดที่ถูกถ่ายเทมา ไม่เพียงเป็นการเติบโตของเรา แต่เป็นการให้โอกาสอีกฝ่ายเติบโตด้วยเหมือนกัน
อาจลำบากใจหน่อย แต่มีครั้งแรกได้นะ