- แฟชั่นทำงานกับ “ข้างใน” ของเรา เป็นเครื่องมือที่ช่วยเพิ่ม self-esteem ได้ทางหนึ่ง นั่นคือ จากการที่เรารู้สึกเชื่อมโยง เป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่ทันสมัย การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกมีค่าขึ้นมาได้ แต่วิธีการเช่นนี้เป็นการใช้สิ่งภายนอก ที่ไม่ใช่ “ใจ” มาสร้างความเป็นตัวเรา ซึ่งอาจไม่คงทนและไม่ดีต่อสุขภาพใจของเรา
- “เราชอบแบบไหน เราเป็นใคร เรามีวิถีชีวิตแบบไหน เสื้อผ้าแบบไหนเหมาะกับเรา เราจะเอาไปใช้งานอะไร กระบวนการแบบนี้ทำให้เรารู้จักตัวเอง แล้วคนที่รู้จักตัวเองเยอะๆ เขาจะมีแนวโน้มที่จะมองเห็นคุณค่าของตัวเองอยู่แล้ว”
- ที่จริงแล้ว “เทรนด์” หรือ “แฟชั่น” ไม่ใช่ผู้ร้าย… การที่คนหรือสังคมหยิบเอาแฟชั่นไปใช้ตัดสินคนอื่นต่างหากที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง
ภาพ : ปริสุทธิ์
“วันนี้จะใส่ชุดอะไร” คำถามธรรมดาๆ ที่อยู่ในหัวหลายคนก่อนจะออกไปไหน
ระหว่างที่จะตอบ… หากเราเริ่มกังวลว่า ใส่เสื้อตัวนี้แล้วจะสวยไหม หรือทำไมไม่มีเสื้อผ้าให้ใส่ (ทั้งที่มีอยู่เต็มตู้!) หรือแม้กระทั่งหยิบชุดขึ้นมาอย่างไม่ลังเลเพราะเป็นคอลเลกชั่นล่าสุดของแบรนด์ดัง ขณะนั้นเราอาจไม่รู้ตัวว่า เสื้อผ้าและแฟชั่นกำลังทำงานบางอย่างกับ “self-esteem” ของเราเข้าแล้ว
self-esteem คือ การนับถือตัวเอง หรือการรับรู้คุณค่าของตนเอง เป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงนี้ที่คนเป็น “โรคซึมเศร้า” กันมากขึ้น หรือกระทั่งอาการทางใจอื่นๆ ที่กระทบต่อการใช้ชีวิตในทุกๆ วัน… ตามทฤษฎีแล้ว ผู้ที่มี self-esteem สูงจะมีทัศนคติที่เคารพตนเอง มีแนวโน้มที่จะจัดการกับอารมณ์หรือสถานการณ์ที่ตัวเองเผชิญได้ด้วยการไม่ลดทอนคุณค่าตนเอง ในทางกลับกันผู้ที่มี self-esteem ต่ำ มักจะมองตัวเองในด้านลบ และไม่เชื่อว่าตัวเองจะจัดการกับปัญหาต่างๆ ในชีวิตได้ดีรวมไปถึงขาดความกระตือรือร้นในการทำสิ่งต่างๆ ด้วย
ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยศิลปะการเคลื่อนไหว คือคนหนึ่งที่พูดเรื่อง self-esteem ผ่านพอดแคสต์ R U OK และสื่ออื่นๆ อยู่บ่อยๆ เธอเคยกล่าวไว้ในวงสนทนาที่จัดโดย Fashion Revolution Thailand อย่างน่าสนใจว่า
มีบางคนใช้แฟชั่นเพื่อแก้ปัญหาความไม่มั่นคงในใจและเพื่อที่จะเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นควรจะถามตัวเองว่า การยอมรับที่เราอยากได้คือจากภายนอกหรือภายในกันแน่
The Potential จึงได้ชวนเธอมาคุยต่อในเรื่องนี้ โดยจะพาไปสำรวจมุมมองของเธอว่า แฟชั่นจะทำงานอย่างไรได้บ้างต่อ self-esteem และเราจะทำอย่างไรหากการทำงานนั้นไม่ได้เกิดผลดีต่อสุขภาพใจของเรา
เหรียญสองด้านของแฟชั่นต่อ self-esteem
“การที่คนเราจะมี self-esteem ขึ้นมา ก่อนที่เขาจะรู้คุณค่า เคารพตัวเอง สิ่งเหล่านั้นบางคนก็อาจจะเกิดได้จากข้างใน เกิดจากการเลี้ยงดู แต่บางคนเขาก็เกิดการรับรู้เมื่อเขามีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก” ดุจดาวเกริ่นก่อนจะอธิบายไปถึงเรื่องแฟชั่นกับ self-esteem ในมุมมองของเธอ โดยโลกภายนอกที่เธอหมายถึงก็เช่นการได้รับคำสรรเสริญจากคนอื่น เสียงปรบมือ การเป็นที่รู้จักของคนอื่น การที่คนอื่นให้เกียรติ…
แน่นอนว่า แฟชั่นคือโลกภายนอก ด้วยการเสริมเติมแต่งเสื้อผ้าหรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้สวยงาม แฟชั่นจึงเป็นเรื่องของสุนทรียะ เป็นศิลปะประเภทหนึ่ง และในความเป็นแฟชั่น ยังมีการหมุนเปลี่ยนแบบหรือเทรนด์ไปเรื่อยๆ ยิ่งในส่วนของ fast fashion ที่จะมาไวไปไวตามฤดูกาล แฟชั่นจึงเป็นเรื่องของกระแสด้วย คุณลักษณะเหล่านี้เองที่แฟชั่นได้ทำงานกับ “ข้างใน” ของเรา
อันดับแรก ดุจดาวเห็นว่า จริงๆ แล้วแฟชั่นคือเครื่องมือที่ช่วยเพิ่ม self-esteem ได้ทางหนึ่ง
“เมื่อมีเทรนด์ออกมา มันคือกระแสของสังคมที่ถูกให้ค่าว่า ถ้าใครไปในทิศทางแห่งกระแสนี้ คุณก็จะอยู่ในสปอตไลท์ด้วย คุณเป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่มันกำลังเกิดขึ้น การที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งมันก็ทำให้เรารู้สึกมีค่าขึ้นมาได้ ในที่นี้ก็คือ จากการที่เรารู้สึกเชื่อมโยง เป็นส่วนหนึ่งของกระแสที่ทันสมัย มันทำให้เกิด self-esteem อยู่แล้ว”
แฟชั่นในที่นี้ ดุจดาวบอกด้วยว่า ไม่ใช่แค่เสื้อผ้าหน้าผม แต่ยังหมายถึงไลฟ์สไตล์ของคน หรือยังรวมไปถึงการตามกระแสความคิดเห็นต่างๆ ได้ด้วย เช่น การตามเทรนด์ทวิตเตอร์ สิ่งเหล่านี้ได้เกี่ยวพันอยู่กับการแสดงออกและ self-esteem ของเรา ถ้าเราแสดงออกไปว่าเราตามทันอยู่ ก็อาจจะทำให้เรารู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมด้วย
อันดับที่สอง ในทางกลับกัน แฟชั่นก็อาจจะไม่ดีต่อ self-esteem ของเราได้เช่นกัน ถ้าเรา “พึ่งพา” แฟชั่นมากเกินไป
“มันจะมีข้อเสียก็ต่อเมื่อเราอินกับแฟชั่น สนุกกับแฟชั่นแล้วมันไปเบียดเบียนมิติอื่นๆ ในชีวิต เอาจริงๆ ดาวก็ไม่ได้คิดว่า การตามแฟชั่นมันผิดตรงไหน ถ้ามันเป็นความสุข กระเป๋าตังค์ก็เป็นของใครของมัน ถ้ามองในแง่ปัจเจกแทบจะเป็นสิทธิของแต่ละคนเลย แต่ถามว่าการที่เราจะต้องอยู่ในวงแฟชั่น ตามแฟชั่น เพื่อให้สิ่งนั้นมันสร้าง self-esteem ดาวคิดว่ามันไม่จำเป็นต้องทำขนาดนั้น เพราะ self-esteem มันเกิดได้โดยที่ไม่ต้องตามกระแสแฟชั่นก็ได้”
ทั้งนี้ self-esteem ของเราได้ผูกร้อยอยู่กับ self-confidence (ความมั่นใจในตัวเอง) หรือแม้กระทั่ง self-image (ภาพลักษณ์ของตนเอง) สิ่งเหล่านี้ส่งผลต่อกันได้ เช่น หากเรามี self-esteem ต่ำ self-confidence เราอาจจะต่ำลงไปด้วย และก็มีผลต่อการแสดงออกภายนอกของเรา (แต่ก็ไม่ได้เป็นรูปแบบนี้เสมอไป)
“การรับรู้ตัวเองของเราบางทีไม่ได้ตรงอย่างที่เป็น เพราะว่าบางคนไม่เคยชอบอะไรในตัวเองเลย แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาไม่มีอะไรดีเลย มันก็เป็นแค่วิธีที่เขาเห็นตัวเอง วิธีที่เขาเลือกมองตัวเองทำให้เขาเป็นแบบนั้น มันเป็นงานทำงานส่วนตัว มันจะเป็นไปได้จริงๆ เหรอที่ในตัวเราจะไม่มีอะไรดีเลย ซึ่งหลายคนเชื่อแบบนั้น เพราะฉะนั้นคนเขาก็จะไปหาอะไรที่ดี ที่คนเขาการันตีแล้วว่าดีมากมาใส่ให้รู้สึกว่า อ๊ะ ฉันไม่มีอะไรดีเลย แต่ว่าฉันใส่เสื้อตัวนี้ซึ่งตอนนี้เป็นสิ่งที่กำลังมาและใครๆ ก็บอกว่าแบรนด์นี้กำลังมา เวลาที่ฉันใส่ ฉันก็น่าจะมีอะไรดีขึ้นมาบ้าง บางทีมันก็สามารถทำตามฟังก์ชั่นนี้ได้เหมือนกัน” ดุจดาวขยายความ
Self-esteem ที่ได้มาชั่วคราว
การเพิ่ม self-esteem ด้วยแฟชั่นดังที่ได้กล่าวไว้นั้นคือการใช้สิ่งภายนอก (ที่ไม่ใช่ “ใจ”) มาสร้างความเป็นตัวเรา ซึ่งจุดนี้เองที่ดุจดาวมองว่าเป็นวิธีการที่อาจจะไม่คงทนถาวรและไม่ดีต่อสุขภาพใจของเรา
“การที่เราได้รวบรวมสิ่งนั้นที่เราเห็นว่าเวิร์ค ว่าสวย ก็ทำงานกับใจข้างในได้เหมือนกัน มันสามารถ boost (เพิ่ม) ขึ้นมาได้ แต่การที่ boost ขึ้นมาจากข้างนอกแบบนั้น self-esteem ที่ถูกผลักให้ฟูจะอยู่ชั่วคราวมากเลย เพราะมันพึ่งพา booster (ตัวเร่ง) ที่มาจากข้างนอก”
ที่ชั่วคราวก็เพราะว่า self-esteem แบบนี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจาก “ข้างใน” ด้วยการรับรู้คุณค่าจากสิ่งที่เราเป็นจริงๆ
ดุจดาวยกตัวอย่างว่า การพึ่งพาสิ่งภายนอกเพื่อให้ตัวเราเองรู้สึกว่ามีคุณค่าก็เหมือนกับการที่เราไปแสดงโชว์บนเวทีแล้วมีคนปรบมือให้มากมาย ทำให้เรารู้สึกได้ ณ จุดนั้น แต่เมื่อการแสดงจบลง เสียงปรบมือก็หายไป เวลานั้นความรู้สึกของเราก็จะไม่เท่าเดิมแล้ว
“ดาวรู้สึกกว่าการที่เอาเรื่องของเทรนด์มาใช้แบบนี้ เป็นมุมมองส่วนตัว มันโหดมากเลย มันทำงานกับ self-esteem ของคน คือดาวเจอประสบการณ์ตรง ตอนที่ดาวยังเป็นวัยรุ่น ทุกครั้งที่ดาวตัดผมแล้วดาวเปิดแมกกาซีน ดาวจะรู้สึกว่าทำไมเราดีไม่พอเลย ไอ้นี่ก็ยังไม่มี เสื้อผ้าแบบนี้เราก็ยังไม่มี ผมเราก็ไม่ได้ทรงแบบนี้ เล็บก็ไม่ได้สวยเท่าเขา ผิวก็ไม่ดีเท่าเขา โห… ทั้งเล่มเปิดมาทำให้เราคิดว่า เราต้องดีกว่านี้ แล้วที่เป็นอยู่ยังดีไม่พอ”
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า ด้านหนึ่งแฟชั่นก็อาจจะเพิ่ม self-esteem ให้เราได้ ซึ่งในการทำงานรูปแบบเดียวกัน ดุจดาวเห็นว่า การที่คนคนหนึ่งวิ่งตาม fast fashion อยู่เสมอก็อาจจะช่วยเพิ่ม self-esteem ได้เหมือนกัน แต่สำหรับเธอ บางทีการที่ไม่ต้องตาม fast fashion แล้วก็เลือกเฉพาะสิ่งที่เราชอบจริงๆ น่าจะช่วยสะท้อนกลับให้เรารู้จักตัวเองได้ดีกว่า
“เราชอบแบบไหน เราเป็นใคร เรามีวิถีชีวิตแบบไหน เสื้อผ้าแบบไหนเหมาะกับเรา เราจะเอาไปใช้งานอะไร กระบวนการแบบนี้ทำให้เรารู้จักตัวเอง แล้วคนที่รู้จักตัวเองเยอะๆ เขาจะมีแนวโน้มที่จะมองเห็นคุณค่าของตัวเองอยู่แล้ว
บางทีคนเราอยู่ในจุดที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง เพราะว่าไปมองหาในคนอื่นว่าคนอื่นเห็นค่าเรามั้ย แต่สำหรับคนที่มี self-esteem สูงๆ หลายคนเขาสร้างจากการที่เขามองเข้าไปข้างในตัวเอง เพื่อที่จะมองหา self-esteem ตัวเองว่า ฉันเป็นใคร ฉันชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ไม่ต้องการอะไร อะไรเหมาะกับฉัน คุณค่าฉันคืออะไร พอเขารู้อันนี้เสร็จปุ๊บ เขาก็จะแค่ทำในสิ่งที่ตอบสนองต่อความต้องการ ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งพาเทรนด์หรือกระแสที่จะมาบอกว่าเขาต้องทำอะไร เพราะฉะนั้นสิ่งที่เขาแสดงออก สิ่งที่เขาสวมใส่หรือวิถีชีวิตที่เขาเลือกใช้ก็แสดงออกให้เห็นว่านี่คือเขา”
แฟชั่น การตัดสิน และ self-esteem
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ในด้านหนึ่งมีคนสนุกกับแฟชั่นเพื่อสุนทรียะส่วนตัว แต่ในอีกด้านหนึ่งยังปรากฏว่า เสื้อผ้าหน้าผม รวมไปถึงความทันต่อกระแสกลับถูกใช้เป็นเครื่องมือหรือเป็นมาตรวัดในการตัดสินคนด้วย
“การตัดสิน” ที่หมายถึงการเอาความเห็นของตัวเราไปทาบวัดสิ่งที่คนอื่นแสดงออกมา
“เวลาเราพูดว่า ‘ตัดสิน’ คือการไปให้ความคิดเห็นต่อสิ่งที่คนอื่นเขาเลือกทำหรือว่าเลือกใช้ซึ่งทั้งหมดนี้มันไม่ได้ based (ขึ้นอยู่กับ) ตัวเขาเลย มัน based จากตัวเราที่เป็นความคิดเห็นของเราว่าแบบนั้นดี แบบนั้นไม่ดี แบบนั้นดูไม่แมนเลย ทำแบบนั้นทำไม” ดุจดาวขยายความและว่าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนกลายเป็นเรื่องปกติของสังคมไปแล้ว…
“แบบที่เจอกันแล้วทักว่า ผมทรงอะไรของมึงวะเนี่ย การทักกันแบบนี้เป็นเรื่องธรรมชาติของคนบ้านเรามากเลยนะ เราได้ยินกันบ่อยมาก แต่จริงๆ มันโหดมาก มันกระแทกลงไปที่ตัวตนอีกคนหนึ่ง”
เพราะในชีวิตประจำวัน จะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามเราได้ยอมให้แฟชั่นของเสื้อผ้า ไลฟ์สไตล์ มาบ่งบอกถึงความทันสมัย รสนิยม สถานะทางสังคม ฐานะ เพศ ฯลฯ ของเราด้วย
“บางคนก็จะตัดสินที่คุณค่า บางคนก็จะมองว่าถ้าแต่งตัวตามแฟชั่น ก็แปลว่าเขาอิน เขาดูดี เขารู้ เขาเก่ง เขาน่าชื่นชมอะไรแบบนี้ เวลาที่เกิดอะไรขึ้นตามเทรนด์ เขาทันสมัย เขาได้รับการยกย่องสรรเสริญ ส่วนใครที่แต่งตัวไม่ได้ตรงกับเทรนด์หรืออาจจะ against (ต่อต้าน) ก็อาจจะทำให้ดูว่า ไม่ได้ใส่ใจในตัวเอง ไม่ได้รับความเชื่อถือ” ดุจดาวอธิบาย
ทั้งนี้เธอตั้งข้อสังเกตไว้ด้วยว่า
ที่จริงแล้ว “เทรนด์” หรือ “แฟชั่น” ไม่ใช่ผู้ร้าย… การที่คนหรือสังคมหยิบเอาแฟชั่นไปใช้ตัดสินคนอื่นต่างหากที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง
ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์เสื้อผ้าหรือกระแสอื่นๆ การที่บอกว่าเราต้องอยู่ในกระแส เราควรจะต้องดูดีแบบนี้ คำต่างๆ ทำนองนี้จะมีผลต่อใจของบางคน ทำให้เขารู้สึกแย่ถ้าไม่ได้อยู่กับสิ่งเหล่านั้น
“ตอนเขามีแคมเปญต่างๆ อย่าง #BlackLivesMatter ที่เป็นกระแส เรารู้สึกว่าถ้าเรายังตกขอบ เรายังเอาท์ (ไม่ทัน) อยู่ เราค่อนข้างแย่ ดาวเห็นด้วยว่าบางทีเทรนด์ทวิตเตอร์ หรือแฮชแท็กอะไรพวกนี้ บางทีคนก็ใช้สิ่งนี้มาตัดสินคนอื่นเหมือนกัน” เธอยกตัวอย่างรูปแบบอื่นๆ ของกระแสที่คนเอามาใช้ตัดสินและโจมตีกันทั้งที่บริบทของชีวิตแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน
ความนิยม ค่านิยม ความทันสมัย (และอื่นๆ) นี้ก็กำลังทำงานกับ self-esteem ของเรา ซึ่งผู้ที่จะไม่หวั่นไหวไปตามเสียงคนอื่นที่คอยใช้สิ่งเหล่านี้ตัดสินคนก็คือผู้ที่มีความนับถือตัวเองหรือมี self-esteem สูงนั่นเอง
“คนเขาจะพูดอะไรก็ได้แหละ คนเขาอยากพูด อยู่ที่คนรับสารเองด้วย คือเราต้องให้น้ำหนักกับเขามากแค่ไหน ที่จะให้เขามาบอกว่า เฮ้ย เราเอาท์… เฮ้ย เราดีไม่พอ… เราดีแล้วนะถ้าเรามีอันนี้ ดาวรู้สึกว่าเราให้อำนาจเขาเยอะไปหน่อยมั้ย ถ้าเราจะเชื่อเขาไปหมด หรือเราไปตื่นเต้นว่าเราต้องมีอย่างที่เขาว่า”
สำรวจตัวเองเพื่อเช็ค self-esteem
เมื่อ self-esteem อยู่ที่การรับรู้ของเรา ฉะนั้นหากเรารู้ตัวอยู่เสมอว่าเรามีคุณค่า เราก็ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาสิ่งของหรือเสียงของคนอื่น แต่หากการซื้อเสื้อผ้าหรือการตามเทรนด์เป็นวิธีการคลายเครียดของบางคนแล้ว ตราบใดที่วิธีการพวกนี้ยังดีต่อใจของคนคนนั้น ดุจดาวก็เห็นว่าเป็นสิทธิของคนนั้นที่จะทำ
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่า แฟชั่นกำลังมีพลังด้านลบต่อ self-esteem ของเรา?
คำตอบจากดุจดาวก็คือ การสังเกตตัวเอง
“เราลองย้อนกลับมาดูตัวเองว่า ทุกวันนี้เราซื้อเสื้อผ้าใหม่ๆ เพราะอะไร เพราะว่ามันจำเป็น เพราะว่าเราอยากใส่ เราชอบแบบนี้ หรือจริงๆ ลึกๆ เราเห็นเพื่อนคนนั้นใส่แล้วรู้สึกว่าไม่มีไม่ได้ อยากจะมีบ้าง หรือแบบใครๆ เขาก็ใส่กัน คำว่าใครๆ เขาก็ใส่กัน ทำให้ถ้าเราไม่ได้อยู่ตรงนั้น เราไม่เจ๋งเลย เราก็เลยต้องมีบ้างหรือเปล่า”
เธอยกตัวอย่างการสำรวจใจตัวเองเพิ่มเติมเพื่อให้เราเข้าใจตัวเองมากขึ้น เช่น เมื่อเราซื้อของ ลองดูว่าเมื่อเราอยากได้อะไรมา เราไตร่ตรองมากแค่ไหน เราควบคุมตัวเองได้หรือหยุดกดสั่งซื้อไม่ได้เลย หรือเมื่อเราเลือกเสื้อผ้าแล้วไม่มั่นใจว่าใส่แล้วจะเป็นอย่างไร ลองถามตัวเองเช่นว่า
ทำไมเราถึงแคร์คนรอบข้างขนาดนั้น? ทำไมเราต้องอยากจะดูดีต่อหน้าทุกคน? แล้วถ้าเขาพูดไม่ดีเกี่ยวกับเรา แล้วมันมีผลต่อเรายังไง? เรากำลังขาด self-esteem หรือเราแค่กลัวเขาจะทำร้ายใจเรา?
อย่างไรก็ตาม สุดท้ายการสำรวจตัวเองก็อยู่ที่การเห็นว่าตัวเองมีความสุขกับเสื้อผ้า สิ่งของต่างๆ ที่ซื้อมาอยู่หรือไม่
“ถ้าตัวเองแฮปปี้ เป็นสุข ดาวก็ไม่มีสิทธิ หรือใครก็ไม่มีสิทธิจะมาบอกให้เขาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้” ดุจดาวบอก และเธอเน้นย้ำว่า ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องไม่ลืมว่า คนที่ชื่นชอบแฟชั่นเป็นชีวิตจิตใจก็ไม่ได้หมายความว่า คนคนนั้นจะมี self-esteem ต่ำ เพราะหากเราคิดเช่นนั้น เราก็จะกลายเป็นอีกคนที่ใช้ “แฟชั่น” ไปตัดสินคน
และแน่นอน เมื่อเราจะเปิดตู้หาเสื้อผ้าสักชุด… สิ่งที่เธอสนับสนุนให้ทำก็คือ หยิบตัวที่เราอยากใส่!
“อยากใส่อะไรวันนี้ แล้วใครจะพูดอะไรมั้ยก็ช่างเขา เวลาเราเริ่มกังวลว่าคนอื่นเขาจะคิดยังไงกับอันนี้ เราก็บอกตัวเองว่า เรื่องของเขา ไม่ใช่ปัญหาของเรา ไม่เกี่ยวกับเรา เราก็จะใส่ในแบบที่เราใส่ ให้มั่นใจว่า เราใส่แล้วเราชอบแบบนี้”