- เคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าตั้งแต่เมื่อไรที่ ‘การต่อว่าด่าทอผู้อื่น’ กลายมาเป็นวัฒนธรรมใหม่ในสังคมเรา ทำไมคนเราถึงดุด่าว่ากล่าวกันง่ายดายขึ้นทุกวัน?
- แรกเริ่มเดิมที เราอาจพบการต่อว่ากันมักจะเกิดขึ้นบนสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสื่อที่ไม่เปิดเผยตัวตน เรามักเข้าใจว่าเหตุที่ผู้คนกล้าใช้ถ้อยคำรุนแรงในการแสดงความรู้สึกนึกคิดบนสื่อโซเชียล เป็นเพราะบางโซเชียลไม่มีการระบุตัวตน เมื่อไม่มีการบ่งบอกว่าตัวตนจริงๆ ของผู้ใช้เป็นใคร คนก็จะมีความกล้าที่จะพูดความคิดเห็นซึ่งหากพูดในโลกความจริงอาจก่อให้เกิดปัญหาหรือความขัดแย้งได้
- แต่ในปัจจุบัน แม้แต่สื่อสังคมออนไลน์ที่มีการระบุตัวตนหรือกระทั่งในโลกความจริง ผู้คนก็ยังเลือกแสดงออกความเกลียดชังด้วยถ้อยคำรุนแรงกันเป็นวงกว้าง และดูจะกลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญสำหรับสังคมเราทั้งไทยและเทศไปแล้ว
- ดังนั้น การซ่อนตัวตนไว้ใต้บัญชีสื่อโซเชียลเพื่อใช้แสดงความคิดเห็นด้านลบจึงอาจไม่ใช่คำตอบของปัญหานี้ แล้วสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร ลองนั่งเงียบๆ แล้วสำรวจความรู้สึกตัวเองกันว่าทำไมเราถึงเริ่มด่าทอผู้อื่นเมื่อเราไม่สบายใจ ผิดหวัง หรือเจ็บปวด
ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จักกับสิ่งที่เรียกว่า Emotional Projection กันก่อน
Emotional Project คือกลไกป้องกันทางอารมณ์ประเภทหนึ่งในทางจิตวิทยา โดยกลไกนี้จะทำงานด้วยการที่ ‘อัตตา’ (Ego) หรือการยึดมั่นในตัวเอง ปฏิเสธแรงกระตุ้นซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมด้วยการเอาความไม่ถูกต้องนี้ไปให้ผู้อื่น เพื่อให้เรายังมีอัตตายกตนต่อไปได้ พูดให้ง่ายก็คือ ไม่ยอมรับผิดแล้วโบ้ยให้คนอื่นเพื่อที่จะได้ไม่ต้องกลายเป็นคนผิดและไม่ต้องเสียหน้านั่นเอง
ตามปกติธรรมชาติของมนุษย์ Emotional Projection มักพบในเด็กๆ และเมื่อเติบโตขึ้นจะค่อยๆ หายไป แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อดูบริบทสังคมปัจจุบันแล้ว ในผู้ใหญ่ก็มีพฤติกรรมเหล่านี้อยู่ไม่น้อยเลยเหมือนกัน ตัวอย่างเช่น คนที่ทำงานไม่ดีจนถูกตำหนิจะโทษว่าเจ้านายไม่ดี ไม่ยุติธรรม หรือคนที่ไปจีบใครแล้วเขาไม่เลือกจะอ้างว่าอีกฝ่ายเป็นคนไม่ดี นิสัยแย่ เลิกชอบเอง เป็นต้น
หากเราพบว่า เราพยายามตำหนิคนอื่นสำหรับความรู้สึกด้านลบของตัวเองเพื่อไม่ให้รู้สึกแย่กับตัวเองและพฤติกรรมของตัวเอง นั่นอาจหมายความว่าเรากำลังใช้กลไกป้องกันตัวเองนี้อยู่
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว หลายคนอาจจะยังไม่รู้สึกว่ามันเสียหายตรงไหน หรือเกี่ยวข้องอะไรกับวัฒนธรรมการด่าทอที่กำลังกล่าวถึงอยู่ แต่เราอยากจะบอกว่าการใช้กลไกป้องกันตัวเองแบบนี้เป็นสาเหตุหลักของการเกิดวัฒนธรรมหัวร้อนในสังคมที่เรากำลังเผชิญอยู่
ปัจจุบัน คนเรามีความรับผิดชอบกับอารมณ์ด้านลบของตัวเองต่ำถึงขนาดที่ว่าไม่รู้ว่าการกระทำหรือพฤติกรรมของตัวเองจะไปสร้างความเดือดร้อนให้ใครบ้างหรือเปล่า ถ้อยคำที่รุนแรงเพียงไม่กี่คำจะสร้างบาดแผลในใจให้คนอื่นไปจนตลอดชีวิตของเขาเลยหรือไม่ การแสดงความเกลียดชังเพียงชั่วครู่ชั่วคราวจะทำให้คนที่โดนเขาฝังใจจนไม่กล้าเปิดใจให้ใครไหม
และนอกจากมีผลกับคนอื่นแล้ว การไม่รับผิดชอบความรู้สึกตัวเองยังส่งผลต่อสุขภาพจิตของเราเองด้วย เพราะว่าเราจะเริ่มมองว่าบนโลกนี้ไม่มีใครที่ดีพอจะอยู่ในชีวิตของเรา ผู้คนมักทำให้เราผิดหวัง โลกของเราเริ่มเต็มไปด้วยคนที่เราโยนความผิดไปให้
คำถามคือแล้วทำไมเราต้องไปผิดหวังกับคนอื่น ในเมื่อตัวเราเองยังทำตามที่คาดหวังไว้ไม่ได้ทั้งหมด
ในขณะที่หลายครั้ง บางเรื่องก็แทบจะไม่ใช่เรื่องของเราด้วยซ้ำ ทำไมถึงต้องเอาใจลงไปผิดหวังเจ็บปวดกับเรื่องของคนอื่น ทำไมการที่เราเจ็บปวดเราเสียใจต้องเป็นคนอื่นที่ต้องมารับผิดชอบความรู้สึกของเรา
ในโลกแห่งความวุ่นวาย เป็นเรื่องปกติมากที่เราจะไม่อยากรู้สึกแย่กับตัวเองหรือไม่อยากรู้สึกว่าทุกอย่างเป็นความผิดของเรา Emotional Projection จึงเป็นกลไกป้องกันที่มนุษย์ใช้ตั้งแต่ยังเด็กไม่รู้ความ และเมื่อโตขึ้น บางคนอาจจะเลิกใช้กลไกนี้ หรือบางคนก็ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ากำลังใช้กลไกนี้อยู่ แต่ในตอนที่ไม่รู้ตัวนี่เอง จิตใจของเราก็จะกำลังมองหาคนอื่นเพื่อที่จะต่อว่าด่าทอ
จะเป็นการดีกว่าไหมถ้าเราจะสามารถใช้ชีวิตแบบสงบๆ ไม่ไปเดือดร้อน ไปเกลียดชังด่าทอใครตามคนอื่นๆ เขาทำกัน
แนวทางการจัดการกับความรู้สึกตัวเอง
- ยอมรับว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนคนอื่นได้จริงๆ
ในความสัมพันธ์ของมนุษย์ทุกรูปแบบ ท้ายที่สุดแล้ว ตัวของใครก็ของมัน คนเราเกิดมาร้อยพ่อพันแม่ จะให้มาถูกใจได้ดั่งใจเราทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เมื่อเราผิดหวังหรือเกลียดชัง ยอมรับอารมณ์เหล่านั้นและรับผิดชอบมันโดยการพยายามใช้เวลาจดจ่อกับความรู้สึกนั้นหรือคนคนนั้นให้น้อยลง หันไปสนใจอย่างอื่นที่จรรโลงใจแทนดีกว่า การยอมรับแบบนี้จะทำให้เราไม่โทษคนอื่น และไม่โทษตัวเองสำหรับเรื่องที่เกิดขึ้น และทำให้ไม่มีใครฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องขัดแย้งกัน
- แทนสรรพนาม ‘ฉัน’ ในประโยค
แทนที่จะพูดว่า ‘เธอ’ ทำให้ฉันผิดหวัง ‘เธอ’ ทำให้ฉันเสียใจ ลองแทนสรรพนามตัวเองเข้าไปในประโยคเหล่านั้นดู เช่น ‘ฉัน’ ผิดเองที่คาดหวังกับเธอ (โปรดไม่ประชดประชันแดกดันผู้อื่นหรือตัวเอง) ลองคิดว่า แต่นั่นก็เป็นเรื่องของเธอ ชีวิตของเธอ ฉันไม่ควรรู้สึกไม่ดี ให้ตัวเราเป็นคนยอมรับความผิดพลาดความไม่ถูกใจบ้าง ยอมรับความรู้สึกด้านลบตัวเอง และรับผิดชอบมัน เราจะได้โทษคนอื่นน้อยลงและสามารถจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ทันทีโดยไม่ต้องรอปรับความเข้าใจในความไม่ถูกใจเราที่อาจเป็นตัวตนของเขาเอง
- พยายามคิดหลายมุม
นี่อาจจะเป็นข้อที่ยากที่สุดเพราะเมื่อเวลาเกิดเรื่องขึ้น แน่นอนว่าเราต้องรู้สึกไม่ดีไปก่อนแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ลองพยายามนั่งเงียบๆ ใช้ความคิดว่าเราให้ความยุติธรรมกับการกระทำที่ไม่ได้ดั่งใจของอีกคนหรือยัง เราไปพยายามควบคุมพฤติกรรม ความรู้สึกของคนอื่นอยู่หรือเปล่า เขาสมควรได้รับโทษสำหรับอารมณ์เชิงลบของเราไหม ใจเย็นๆ ค่อยๆ คิด อย่ารีบหัวร้อนพ่นคำด่าออกไปก่อน
- รับผิดชอบความรู้สึกคนอื่น(บ้างนิดหน่อย)
ถ้าจะบอกว่ามีแต่คนทำให้เราผิดหวัง ไม่มีใครไว้ใจได้ ก็อาจจะดูเป็นการเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางไปสักหน่อย คนเราผิดพลาดได้เสมอ และเราเองก็อาจจะไปเป็นเรื่องไม่ได้ดั่งใจในชีวิตคนอื่นเหมือนกัน ดังนั้น หากมีเรื่องที่ดูแล้วน่าจะขัดแย้งไปจนถึงการทะเลาะกัน พยายามนิ่งคิดสักครู่ว่าเป็นความผิดของเราจริงๆ ไหม ถ้าจริงให้ขอโทษ อย่าเบี่ยงเบนด้วยการหยิบยกข้ออ้างข้อแก้ตัวขึ้นมา หรือหากเป็นคนใจร้อนสักหน่อย รู้ว่าผิดจริงแต่ยังขอโทษไม่ได้ ก็ไม่เป็นไรที่จะเลี่ยงสถานการณ์ตึงเครียดไปก่อนเพื่อสงบสติอารมณ์ แต่อย่าลืมรับผิดชอบความรู้สึกเขาด้วย
รับผิดชอบความรู้สึกคนอื่นบ้างเป็นเรื่องดี แต่อย่าให้มากเกินไปจนเราเสียศูนย์
- หมั่นสังเกตและดูแลจิตใจตัวเอง
Emotional Projection มักเป็นกลไกในการเผชิญปัญหาที่เราจะใช้เมื่อเรารู้สึกตึงเครียด หรือมีอารมณ์เชิงลบเยอะ รวมถึงมีความยึดมั่นถือมั่นในตัวเองเยอะ ลองสังเกตว่าเรามีอัตตายึดติดกับตัวเองมากน้อยแค่ไหน ปรับใจให้เราไม่พยายามเห็นแก่ตัวเองเพียงอย่างเดียว และหมั่นดูแลจิตใจตัวเองด้วยการหากิจกรรมคลายเครียด หาเวลาว่างสำหรับงานอดิเรก หรือวางแผนไปทำอะไรสนุกๆ ให้ชีวิต
- ถอยออกมาจากคนอันตราย
คนอันตราย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโจรผู้ร้ายผู้ชายแบดบอยอย่างใด แต่หมายถึงคนที่ทำให้เราเกิดความรู้สึกเชิงลบบ่อยๆ คนที่ไม่เคยคิดว่ากำลังทำอะไรผิด คนที่ไม่คิดจะเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้น เพราะเขาเหล่านี้จะโทษเราอยู่เสมอว่าเราเป็นต้นเหตุ เป็นคนที่ทำให้เขาเศร้า เสียใจ ผิดหวัง น้อยใจ จำไว้ว่าคนแบบนี้คือคนที่เราจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงความคิด ให้เขาคิดเป็นอย่างอื่นได้ และในท้ายที่สุดแล้วจะกลายเป็นตัวเราเองที่เสียสุขภาพจิต แม้ว่าเราจะรับผิดชอบอารมณ์ของตัวเองมากขึ้นแล้วก็ตาม
คนบางกลุ่มอาจมี Emotional Projection สูงได้ หากเขามีความผิดปกติทางบุคลิกภาพบางอย่าง เช่น borderline, histrionic, โรคจิต และพวกหลงตัวเอง ดังนั้น หากพบเจอคนอันตรายแบบนี้ ให้หยุดพักความสัมพันธ์หรือเว้นระยะห่างออกมา เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของเราเอง
เราไม่จำเป็นต้องเป็นคนใจร้ายไปพ่นพูดถ้อยคำรุนแรงแสดงความเกลียดชังตามอย่างที่คนอื่นทำ วัฒนธรรมด่าทอต่อว่าคนอื่นรวมถึงคนที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อนไม่ใช่เรื่องที่ควรปรับตัวเข้าหา ลองกลับมานั่งทบทวนว่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นหลายๆ เรื่องที่เราอาจอินจนลงไปร่วมวงด่าร่วมวงว่า มันร้ายแรงถึงขนาดต้องพ่นถ้อยคำใจร้ายขนาดนั้นใส่กันเลยหรือเปล่า
การพูดคำไม่ดีสิ่งไม่ดีควรคิดให้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการใช้สื่อโซเชียลที่เมื่อพิมพ์อะไรออกไปแล้ว ในอนาคตก็เป็นหลักฐานกลับมามัดตัวเราได้ เพราะอะไรที่ขึ้นชื่อว่า ไม่ดี แล้ว ทำออกมาก็ย่อมไม่เกิดผลดีกับใคร ผลกระทบที่ตามมาจะดีร้ายแค่ไหนไม่มีใครรู้ แต่อย่างหนึ่งที่เรารู้และทำได้คือการจัดการความรู้สึกตัวเอง
ความรู้สึกของเราเกิดขึ้นเองได้ ก็ต้องจัดการเองได้ อย่าผลักมันให้ไปเป็นเรื่องของคนอื่น
การรับผิดชอบความรู้สึกตัวเองไม่ใช่การยอมแพ้ การไม่ต่อสู้เพื่อตัวเอง แต่คือการเข้าใจการจัดการที่ดีที่จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในโลกวุ่นวายนี้ได้อย่างมีความสุข
อ้างอิง