Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Myth/Life/Crisis
9 July 2021

ยักษ์นนทก: โกรธเพราะปล่อยให้คนอื่นล้ำเส้น (และ/หรือถูกสะกิดแผล?)

เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • ในชาติก่อนที่นนทกจะเป็นทศกัณฑ์ นนทกเป็นยักษ์มีหน้าที่ล้างเท้าให้แก่เทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวร เขาทำหน้าที่ของตนด้วยความสุจริต กระนั้นบรรดาเทวดาที่เขาล้างเท้าให้กลับไม่ได้ให้เกียรติอะไรเขานัก เขาคับแค้นและไปเข้าเฝ้าพระอิศวรเพื่อขอนิ้วเพชร ซึ่งเมื่อชี้ไปยังผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องมอดม้วยมรณา
  • บทความชิ้นนี้ ภัทรารัตน์ หยิบเรื่องราวของยักษ์นนทก มาชวนทำความเข้าใจความโกรธของเราว่าเป็นแบบไหน ความโกรธของบางคนปรากฏร่างเป็นสิ่งที่ชีวิตเขาขาดไป เช่น ใครคนหนึ่ง เมื่อถูกล้ำเส้นก็จะรู้สึกมีก้อนหินสีดำขรุขระวางอยู่บนอก แต่นั่นก็คือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องมี เพราะมันก็เหมือนรั้วหนามสำหรับกั้นอาณาเขตไม่ให้ผู้มาดร้ายเข้ามาคุกคามได้นั่นเอง
  • อีกกรณี คือ ความโกรธของคนลักษณะหนึ่งที่เมื่อมีคนล้ำเส้นก็มักพยายามวางเฉยหรือแสดงท่าทีว่า ‘ไม่เป็นไร’ (แต่จริงๆ เป็น) ทำให้บางจังหวะเมื่อถูกรุกพื้นที่มากเข้าย่อมสามารถจะระเบิดความโกรธออกมาดุจพลังภูเขาไฟคล้ายนนทก

1.

ในห้วงยามที่ความโกรธกำลังระเบิดออกนั้น ใครคนหนึ่งรู้สึกเหมือนตนเป็นยักษ์นนทกผู้เคยเจียมตัวลงให้ผู้อื่น ทว่าถูกเหยียบข่มรังแกจนต้องขอแผลงฤทธิ์กระทำคนอื่นบ้าง ราวกับว่าความโกรธกำลังทำให้คนที่ดูไร้อำนาจปราศจากทางสู้ กลับมาเห็นว่าตัวเองก็เป็นคนสำคัญผู้ควรค่าแก่การให้เกียรติดั่งที่ผู้อื่นได้รับจากเขาเหมือนกัน อีกทั้งเมื่อโกรธ เขาดูจะมีพลังมากพอในการปกป้องตัวเองจากการถูกกระทำ

อย่างไรก็ตาม ในการตระหนักรู้ถึงความโกรธและเรื่องราวภายใต้ความโกรธนั้น ใครคนหนึ่งสามารถหลุดไปอีกขั้น กล่าวคือ เขามีศักยภาพที่จะปกป้องตัวเองจากการยืมมือคนอื่นมากระทำตัวเองด้วย

จากยักษ์นนทกที่ยอมให้ผู้อื่นล้ำเส้น สู่ยักษ์ทรงฤทธิ์สังหารหมู่

ในชาติก่อนที่นนทกจะเป็นทศกัณฑ์ ยักษ์ทรงพลานุภาพผู้มีสิบหน้าและมือยี่สิบซ้ายขวานั้น นนทกเป็นยักษ์มีหน้าที่ล้างเท้าให้แก่เทวดาที่มาเข้าเฝ้าพระอิศวร โดยประจำการอยู่ตรงเชิงบันไดเขาไกรลาส เขาทำหน้าที่ของตนด้วยความสุจริต กระนั้นบรรดาเทวดาที่เขาล้างเท้าให้กลับไม่ได้ให้เกียรติอะไรเขานัก บ้างก็ถอนผมเขาไปเรื่อยหรือบ้างก็ตบหัว กระทั่งในที่สุดเขากลายเป็นยักษ์หัวโล้นโกร๋นเกลี้ยง เขาคับแค้นและไปเข้าเฝ้าพระอิศวรเพื่อขอนิ้วเพชร ซึ่งเมื่อชี้ไปยังผู้ใด ผู้นั้นก็ต้องมอดม้วยมรณา 

เมื่อได้นิ้วเพชรมาแล้ว นนทกก็เริ่มแก้แค้นเอาคืน เมื่อเขาถูกจับหัวสัพยอกอย่างเคย เขา ‘กริ้วโกรธร้องประกาศตวาดมา อนิจจาข่มเห่งเล่นทุกวัน’ เลยเถิดไปถึงการเข่นฆ่าเทวดา ครุฑ นาค ตายเกลื่อนกลาด…   

2.

โกรธเพราะถูกสะกิดแผลเก่า? หรือปะทุเพราะ ‘ไม่เป็นไร’ จนเหลืออด? 

ความโกรธสำแดงร่างออกมาได้หลากลักษณะและมีที่มาที่ไปมากมาย หลายกรณีก็เป็นการถูกสะกิดแผล ในลักษณะที่คนอื่นไม่ได้ตั้งใจทำอะไรให้เรา แต่ว่าสิ่งที่เขาพูดกับเราดันไปกระทบ ‘แผลเก่า‘ อันเชื่อมโยงกับความทรงจำที่เราเคยถูกกระทำหรือเคยถูกด้อยค่า ซึ่งทำให้ใครคนหนึ่งเจ็บปวดมากกระทั่งอาจออกอาการรุนแรงเฉกเช่นนนทกตอนขุ่นคลั่ง 

แต่อีกกรณีซึ่งจะเน้นในที่นี้ก็คือ ความโกรธของคนลักษณะหนึ่งที่เมื่อมีคนล้ำเส้นก็มักพยายามวางเฉยหรือแสดงท่าทีว่า ‘ไม่เป็นไร’ (แต่จริงๆ เป็น) ทำให้บางจังหวะเมื่อถูกรุกพื้นที่มากเข้าย่อมสามารถจะระเบิดความโกรธออกมาดุจพลังภูเขาไฟ คล้ายนนทกที่ปล่อยให้เทวดาเล่นหัวไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้กั้นขอบเขต (set boundaries) อะไร กระทั่งวันหนึ่งเมื่อกลายเป็นยักษ์หัวล้านซึ่งได้สั่งสมความคับข้องไว้มากได้ที่แล้ว ถึงเพิ่งไปขอนิ้วเพชรจากพระอิศวร มาออกอาละวาดเป็นเรื่องใหญ่โต (ในวรรณคดีน่าเห็นใจที่นนทกอยู่ในโครงสร้างสังคมอันมีความต่างศักดิ์หลายเลเยอร์ แต่ที่จริงเขาก็สามารถตามเกมความเหลื่อมล้ำโดยขอร้องให้คนศักดิ์สูงยิ่งอย่างพระอิศวรช่วยได้ตั้งแต่เขาถูกล้ำเส้นเคสแรกๆ ก่อนเรื่องจะบานปลาย อย่างไรก็ตาม ยังไม่ขอถกเรื่องโครงสร้างสังคมอันอยุติธรรมในที่นี้)    

คนรักสงบที่อาจไม่สงบจริง

มีคนบุคลิกภาพหนึ่งที่ไม่ค่อยจะรู้ตัวว่าโกรธหรือไม่ให้พื้นที่ตัวเองได้แสดงความโกรธตามสมควรออกมาเท่าใดนัก ดูภายนอกเขารักความสงบสันติ เขาขี้เกียจจะขัดแย้งกับใครแม้เมื่อถูกล้ำเส้นหรือถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่ต้องการ แต่ถึงแม้ไม่ได้ปฏิเสธลุกขึ้นต้านใครตรงๆ ทว่าหลายโอกาสเขาก็จะแสดงความก้าวร้าวแบบ passive aggressive เช่น ตั้งใจที่จะไม่ตัดสินใจฟันธง หรือทำอะไรช้าๆ ยกตัวอย่าง หากเขาถูกบีบคั้นให้ไปงานเลี้ยงในเวลาส่วนตัวซึ่งเขาก็ไม่ได้อยากไป เขาอาจตกลงแบบขอไปทีเพราะไม่อยากขัดแย้ง แต่เมื่อถึงเวลาต้องไป เขากลับทำอะไรช้าๆ และมาไม่ถึงรถสักที และเมื่อถูกเร่งเขาก็จะแสดงอาการหงุดหงิดดื้อรั้น กระทั่งเมื่อไปถึงที่หมายเขาก็อาจทำหน้าเฉยชาหรือบูดบึ้งในงานเลี้ยง ซึ่งที่จริงแล้ว มันก็คือ ความโกรธที่รั่วไหลออกมา ไม่ว่าเขาจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม 

ในวัยเด็ก คนที่มีลักษณะเช่นนี้ได้รับสาร (อาจไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใหญ่พูด แต่เป็นสิ่งที่เขาสรุปเอาตามความเข้าใจของตัวเอง) ว่าความคิด ความปรารถนาของเขา จะไม่ถูกได้ยินหรือให้ค่า ดังนั้น แทนที่เขาจะต่อสู้เพื่อสิ่งที่ตัวเองต้องการ เขาจึงหลับใหลต่อสิ่งที่สำคัญสำหรับตัวเอง และปล่อยหรือพยายามช่วยให้คนอื่นลุความต้องการ เขาแยกจากตัวเองเพียงเพราะกลัวว่าจะต้องพลัดพรากจากคนอื่น เขาพยายามให้พื้นที่ทุกคนเพราะลึกๆ เขาก็รู้ว่ามันเป็นอย่างไรเวลาไม่ถูกได้ยิน หรือเมื่อถูกมองข้ามไป

เมื่อเขาให้สิ่งต่างๆ ตามที่คนอื่นต้องการแล้ว เขาก็หวังลึกๆ ด้วยว่าคนพวกนั้นจะไม่มาเจ้ากี้เจ้าการอีก เขาจะได้ดำเนินชีวิตไปอย่าง สงบสุข แต่วิธีมองข้ามตัวเองของเขากลับทำให้เขามีแนวโน้มที่จะ สูญเสียตัวเองหรือพื้นที่ของตัวเองให้แก่ผู้อื่นไปเรื่อยๆ ย่อมจะนำมาซึ่งความรู้สึกด้านลบอย่างเช่นความโกรธ ซึ่งหากเขาไม่กล้าสัมผัสหรือกดมันไว้ ความโกรธนั้นก็อาจแสดงออกเป็นอาการเจ็บป่วยทางกายและใจได้อีกด้วย

อารมณ์อันท่วมท้นที่ถูกอัดเก็บไว้ ในที่สุดสามารถระเบิดออกมา ซึ่งอาจเป็นวันที่ไม่มีใครได้ทันตั้งตัว และอาจร้ายแรงประหนึ่งเหตุการณ์ของนนทกผู้เคืองแค้นก็เป็นได้

แต่เราจะสัมผัสกับความโกรธอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างไรบ้างล่ะ?  

3.

สีสัน รูปร่าง และกระแสเสียงของความโกรธ

ความโกรธของเรามีรูปร่างเป็นแบบไหน มีสีสันแบบใด? ความโกรธของบางคนปรากฏร่างเป็นสิ่งที่ชีวิตเขาขาดไป เช่น ใครคนหนึ่ง เมื่อถูกล้ำเส้นก็จะรู้สึกมีก้อนหินสีดำขรุขระวางอยู่บนอก แต่นั่นก็คือสิ่งที่เขาจำเป็นต้องมี เพราะมันก็เหมือนรั้วหนามสำหรับกั้นอาณาเขตไม่ให้ผู้มาดร้ายเข้ามาคุกคามเขาได้นั่นเอง

นอกจากนี้ ลองมองความโกรธเป็นอีกร่างแยกออกจากตัวเราและพูดคุยกับมันดูสิ เขาบอกเราว่าอะไรบ้าง? บางคนก็ได้ยินเสียงว่าเขาต้องการปกป้องเรานะ เขารู้สึกว่าเรารุกล้ำเกินไปแล้ว ซึ่งแสดงว่าความโกรธไม่ได้เป็นวายร้ายเสมอไป บางทีเขาก็ตั้งใจมาเป็นผู้พิทักษ์ให้เราเท่านั้นเอง  

4.

ลองพูดกับตัวเองสิว่า “ฉันต้องการให้คนอื่นจูงจมูก” “ฉันต้องการใช้ชีวิตแบบหลอมรวมกับคุณค่าทุกอย่างของคนอื่น คนอื่นต้องการอะไร ฉันก็ต้องการแบบนั้นหมดแหละ” ฟังแล้วรู้สึก “ป่วย” ไหม? 

ในชีวิตส่วนตัว เราไม่ใช่ยักษ์นนทกและไม่ได้มีหน้าที่รับใช้เชื่อฟังใครจนไร้ขอบเขตถึงขนาดต้องเบียดเบียนตัวเองและไม่เคารพพื้นที่ของตัวเอง ดังนั้น วันหนึ่งเราต้องตื่นมาสัมผัสกับสัญชาติญาณความรู้สึกที่แท้จริง และรับผิดชอบทางเลือกที่จะใช้ไปชีวิตตามทางของเรา(ที่ไม่ได้ไปทำร้ายคนอื่น) ไม่ว่าคนอื่นจะชอบมันหรือไม่ก็ตาม และบางกรณีเราก็อาจต้องยอมพลัดพรากบ้าง กับคนที่เขารับไม่ได้และตัดขาดจากเราเพียงเพราะเรากล้าแสดงจุดยืนของตัวอย่างแน่นหนัก 

แล้วลองดูสิว่าความโกรธที่รั่วซึมออกมาในชีวิตประจำวันลดลงไปบ้างไหม?

อ้างอิง
กลอนบทละครรามเกียรติ์ ตอน นารายณ์ปรานนทก 
คำอธิบายเกี่ยวกับคนที่ใช้ลักษณ์ 9 เยอะ อธิบายตามศาสตร์นพลักษณ์ โดย ดร.ทอม ลาฮู

Tags:

จิตวิทยาการจัดการอารมณ์ความโกรธวรรณคดี

Author:

illustrator

ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา

ชอบอยู่กับต้นไม้ใบไม้ต่างๆ ผืนน้ำ เที่ยวไปในโบราณสถาน และเรียบเรียงสิ่งที่อยู่ในเงามืด เราเองยังต้องเรียนรู้และขัดเกลาอะไรอีกมาก รู้สึกขอบคุณที่ให้โอกาสเราได้ฟังเรื่องราวของทุกคนนะ (Line ID: patrasuwan)

Illustrator:

illustrator

กรองพร ทององอาจ

Graphic Designer & Illustrator Instagram: @monkrongpin

Related Posts

  • How to enjoy life
    การทำร้ายร่างกายตัวเอง (self-injury) ที่ไม่ใช่แค่การกดดัน ตำหนิตัวเอง

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Myth/Life/Crisis
    การต่อรองและปฏิกิริยาตอบโต้ลำดับขั้นทางสังคมในความสัมพันธ์

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Myth/Life/Crisis
    กุลา: ด้อยค่าคนที่ตนอิจฉาในขณะที่เลียนแบบไปด้วย

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Relationship
    HURTING YOURSELF = HURTING YOUR KID แม่เจ็บ ลูกยิ่งเจ็บ

    เรื่อง The Potential ภาพ SHHHH

  • EF (executive function)
    ไม่พอใจก็แค่ใส่หูฟังแล้วเปิดเพลงดังๆ ‘การจัดการอารมณ์’ ที่ท้าทายแต่ทำได้ในวัยรุ่น

    เรื่อง

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel