- จักร เคยเป็นคนหนึ่งที่ก้าวพลาด อดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน แต่เขากลับมารู้จักตัวคุณค่าของตัวเองอีกครั้งผ่านโอกาสจากคนที่เข้าใจ
- ทำความเข้าใจกับสมองวัยรุ่น ว่าเพราะอะไรพวกเขาถึงเริ่มมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ก้าวร้าวและเริ่มมีโลกของตัวเอง
ทุกคนต่างทราบกันดีว่า ‘เด็ก’ เมื่อก้าวเข้าสู่ ‘วัยรุ่น’ มักมีแรงจูงใจเข้าไปหาพฤติกรรมความเสี่ยงหลากหลายรูปแบบ ส่วนหนึ่งมาจากกลไกในสมองอันสุดวิเศษของมนุษย์ที่มีผลต่อการพัฒนาด้านความคิด การตัดสินใจ รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพต่างๆ ที่มีผลต่อการกระทำและความประพฤติ ทั้งในทางที่ดีและไม่ดี หากพ่อแม่ผู้ปกครองได้สร้างแรงกดดันเชิงบวกไปใช้ในการเลี้ยงดูบุตรหลาน เชื่อว่าความกังวลใจในการดูแลเด็กวัยทีนคงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป
ทำไม ‘วัยโจ๋’ จึงมักก้าวร้าว?
น่าเป็นห่วงที่เด็กยุคใหม่ต้องใช้ชีวิตในสังคมที่มีความซับซ้อนมากขึ้น อีกทั้งต้องแบกรับภาระในการจัดการชีวิตของตนเอง โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นที่ต้องจัดการทั้งเรื่องเรียน อารมณ์ หรือแม้แต่การดำเนินชีวิตที่สุ่มเสี่ยงไปสู่การมีพฤติกรรมเชิงลบ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต่างเกิดความกังวลในตัวลูกหลานที่เริ่มเข้าสู่วัยรุ่น เพราะบางคนไม่เชื่อฟัง ชอบเถียงพ่อแม่ บางคนติดเพื่อน ติดการพนัน ติดยาเสพติด และบางคนก็ตกเป็นเหยื่อจากการกระทำผิดกฎหมาย ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อตนเองและสังคม
พฤติกรรมความก้าวร้าวที่วัยรุ่นแสดงออกมานั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากกลไกทางสมอง โดยเฉพาะวัยรุ่นตอนต้นในช่วงอายุ 11-14 ปี เป็นช่วงที่สมองยังได้รับการพัฒนาไม่เต็มที่ จึงขาดการยับยั้งชั่งใจและการใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ ซึ่งต่างจากคนวัยรุ่นตอนปลาย อายุ 18-24 ปี ที่สำคัญปฏิสัมพันธ์จากเพื่อนและคนรอบข้างก็ส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็กอย่างมาก ดังนั้น พ่อแม่ผู้ปกครองจึงจำเป็นที่ต้องเรียนรู้การสร้างแรงกดดันเชิงบวก เพื่อสนับสนุนให้ลูกหลานกลายเป็นคนที่มีศักยภาพของสังคม
คุณค่าที่คืนกลับมา ผ่านการพัฒนาทักษะสานตะกร้า
‘จักร’ เด็กหนุ่มวัย 18 ปี เคยเป็นอดีตเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา จากโครงการ ‘สานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน’ ที่ดำเนินงานโดยสงขลาฟอรั่ม สนับสนุนโดยมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เล่าให้ฟังว่า เขาเป็นคนหนึ่งที่มีประสบการณ์ก้าวพลาดมาแล้ว แต่เป็นความโชคดีที่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว ทำให้เขามีโอกาสทำเรื่องดีๆ มีคุณค่าต่อสังคมอีกครั้ง
“จุดเริ่มต้นของการก้าวพลาด เป็นเพราะผมเดินเข้าไปอยู่ในกลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมที่เกเร ติดยา เที่ยวเตร่ไปวันๆ ออกจากบ้าน 6 โมงเย็น กลับก็ตีสี่ตีห้า พ่อแม่ต้องคอยโทรตามตลอดเวลา ผมยอมรับเลยว่า ตอนนั้นรู้สึกว่าเราเป็นคนสำคัญ ได้รับการยอมรับจากเพื่อน เป็นเหมือนผู้นำ มีเพื่อนคอยตามเอาอกเอาใจ ยกย่อง ทำให้เรายิ่งรู้สึกฮึกเหิม จึงไม่ได้ห่วงอนาคตตัวเองเท่าไหร่ เพราะไม่ได้คิดอะไรมาก คิดแค่ว่ามีชีวิตอยู่กับเพื่อนแบบนี้ก็มีความสุขแล้ว จนนำไปสู่การถูกจับกุมข้อหาค้ายา และต้องเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ”
เมื่อโดนตำรวจจับและเข้ามาอยู่ในศูนย์ฝึกฯ สักพัก จักรได้พบเพื่อนเยาวชนที่กระทำผิดกลุ่มหนึ่งที่ตั้งหน้าตั้งตานั่งสานตะกร้า ซึ่งบางคนได้กินขนม บางคนได้ออกไปข้างนอก โดยต่างจากเพื่อนอีกหลายคนที่อยู่ในนั้น ที่ได้แต่นั่งๆ นอนๆ เมื่อเห็นเช่นนั้น เขาจึงอยากได้รับโอกาสแบบนั้นบ้าง จักรไม่รอช้า เดินเข้าหาครูประชิด ตรงจิต หรือ ครูเขี้ยว เจ้าหน้าที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 9 จังหวัดสงขลา เพื่อขอเข้าร่วมโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน
“ตอนแรกที่อยากสานตะกร้า ผมคิดแค่ว่าทำอย่างไรที่จะได้รับสิทธิพิเศษออกไปข้างนอกเหมือนเพื่อนกลุ่มนี้บ้าง จึงเดินเข้าไปขอครูเขี้ยวเข้ากลุ่ม และเมื่อเห็นเพื่อนทำก็อยากทำได้อย่างเขาบ้าง ช่วงแรกยังสานไม่เป็น แต่ก็ได้เพื่อนๆ ที่เขาทำเป็นอยู่แล้วสอนให้
“พอเริ่มมีกิจกรรมให้เราได้ทำบ่อยๆ เริ่มได้ออกมาทำกิจกรรมที่มีประโยชน์ต่อสังคม ได้รับโอกาสให้ออกไปสอนงานข้างนอก ผมก็เริ่มพยายามตั้งใจฝึกฝีมือมากขึ้น จากจุดนี้เองทำให้ผมนึกถึงชีวิตนอกกำแพงมากกว่า ว่าถ้าเราออกไปแล้วเราจะทำอะไร มันเปลี่ยนวิธีคิดของเราไปเลย จากที่เป็นคนคิดเรื่องไร้สาระไปวันๆ ก็กลับมาคิดถึงอนาคตของตัวเองมากขึ้น…” จักรเล่า
“ตั้งแต่ออกมา ผมรู้จัก ‘ปฏิเสธ’ เป็น เพื่อนแก๊งเก่าชวนเราให้ไปนั่งกินกับเขา ผมก็ไปนะ…แต่เมื่อไหร่ที่เขาเอายามาเล่นกัน ผมจะปฏิเสธและหันหลังให้เขาทันที เพราะผมรู้แล้วว่าการที่เราเข้าไปอยู่ในศูนย์ฝึกฯ เป็นเรื่องที่แย่ เป็นสิ่งที่โชคร้ายของชีวิต ดังนั้น โครงการนี้ได้ให้ผมพิสูจน์ตัวเองอีกครั้ง
“โดยเฉพาะครูเขี้ยวที่ไว้ใจ พร้อมเปิดโอกาสให้ผมได้แสดงฝีมือการเป็นวิทยากรถ่ายทอดความรู้ให้กับกลุ่มแม่บ้าน ตำบลสะบ้าย้อย จังหวัดสงขลา และกลุ่มเยาวชนจากศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี ที่สำคัญผมได้ทักษะการสานตะกร้านี้ติดตัวมาเป็นอาชีพอีกด้วย” เขาบอก
ครูเขี้ยว ในฐานะครูที่ปรึกษาโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน กล่าวว่า “ที่ผ่านมาผมให้เด็กได้ลงมือสานตะกร้าด้วยตัวเอง ให้เขาคิดเอง ทำเอง หากใครทำไม่ได้ รุ่นพี่ก็มีหน้าที่สอนรุ่นน้อง ปล่อยให้จัดการกันเอง ทั้งออกแบบลวดลาย รูปแบบ ดูแลอุปกรณ์กันเอง
“เราทำหน้าที่เป็นเพียงผู้อำนวยความสะดวกและสนับสนุนด้านการเรียนรู้ให้เด็ก เช่น พาเขาออกไปเรียนรู้ด้านนอก ไม่ว่าจะเป็นการร่วมกิจกรรมกับสงขลาฟอรั่ม หรือแม้แต่มอบหมายให้เขาเป็นวิทยากรสอนกลุ่มแม่บ้าน และเพื่อนเยาวชนจากศูนย์ฝึกฯ เขต 8 จังหวัดสุราษฎร์ธานี”
“จากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องมา 4 ปี เด็กที่ผ่านโครงการสานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน ยังไม่เคยมีใครกลับเข้ามาที่ศูนย์ฝึกฯ อีกเลย ผมคิดว่าน่าจะเกิดจากระบบความคิดของเด็กที่สามารถแยกแยะจากประสบการณ์ชีวิต เขาสามารถที่จะคิดเองได้ แยกแยะได้ว่าอะไรถูกหรือผิด รวมถึงความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ
“เช่น จักร เพราะเขาก็เหมือนเด็กทั่วไปที่พูดเล่นไร้สาระไปวันๆ แต่เมื่อเขาเข้ามาอยู่ในโครงการฯ ได้ฝึกฝน ได้รับผิดชอบต่อหน้าที่ที่เรามอบหมายให้เขาทำ ก็ได้เห็นความเปลี่ยนแปลง คือมีวิธีการคิดที่เป็นระบบ พูดก็มีน้ำหนักและน่าเชื่อถือ และสามารถนำประสบการณ์ที่ได้จากการทำโครงการไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไป” ครูเขี้ยวทิ้งท้าย
‘วัยรุ่น’ คือ วัยแห่งการเปลี่ยนแปลง หากรู้จัก เข้าใจเด็กวัยทีน สิ่งเลวร้ายก็จะไกลจากครอบครัวไทย ปัญหาเหล่านี้ไม่ยากเกินกว่าจะรับมือ หากพ่อแม่ผู้ปกครองต่างเข้าใจว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อลูกหลาน เพราะเมื่อสมองของวัยรุ่นยังพัฒนาไม่เต็มที่ก็อาจเกิดความเสี่ยงได้ แต่ถ้าผู้ใหญ่เปิดโอกาสให้เด็กได้รับความท้าทายเชิงบวก หรือชักชวนให้เขาได้ลองทำเรื่องดีๆ และประสบความสำเร็จ เขาก็จะมีภูมิคุ้มกันที่ดีและสามารถที่จะดำรงชีวิตเป็นคนคุณภาพในสังคมต่อไป