- แป้ง-ศิริพร บุญมาก เริ่มทำกิจกรรมนอกห้องเรียนมาตั้งแต่ชั้น ปวช. 1 และเกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเธอมากมาย
- ในการทำกิจกรรมบางครั้งมีโอกาสผิดแผนได้ จึงต้องมีหลายวิธีการที่แตกต่างออกไปเพื่อให้งานเสร็จลุล่วง แป้งสรุปว่า ความแตกต่างสร้างความเปลี่ยนแปลง ความเปลี่ยนแปลงสร้างการเรียนรู้
- ความมั่นใจในการทำงาน ทำกิจกรรม รวมทั้งการเลือกเส้นทางชีวิตเอง สะท้อนการมีกระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mindset) ที่เชื่อในการพัฒนาของสมองในการเรียนรู้ เชื่อในการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง และแก้ปัญหาอย่างกล้าหาญและมีวุฒิภาวะ
จากบทความ ‘เด็กจะโต ต้องออกจากห้องเรียน’ ครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา มีเด็กสาวคนหนึ่งที่ครูเรเอ่ยถึงคือ แป้ง-ศิริพร บุญมาก อดีตนักศึกษาชั้น ปวส. วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ซึ่งตอนนี้เรียนจบและได้งานทำเรียบร้อยแล้ว
ทำไมเรื่องของแป้งถึงน่าสนใจ?
แป้งเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่สนใจและทำกิจกรรมนอกห้องเรียน และนั่นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิตเธอ
เช่นเดียวกับเด็กคนอื่นๆ ที่เริ่มจากการก้มหน้าก้มตาเรียนอย่างเดียว กิจกรรมไม่เคยยุ่งเพราะคิดว่าไม่ใช่เรื่องของตัวเอง แต่พอได้เข้ามาเป็นน้องใหม่ในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี และได้เจอครูเร…
“ตอนแรกครูเรชวนทำโครงการเพื่อชุมชน รู้สึกว่าเราทำต่อได้ ก็ชวนเพื่อนในห้องมาทำ เริ่มกล้าคิด กล้าพูด รับมอบหมายงานจากครูเร ทำให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น มีความเป็นผู้นำขึ้นนิดหนึ่ง”
โครงการที่แป้งทำกับเพื่อนๆ ในวิทยาลัยคือ ‘โครงการทำน้ำหมักจุลินทรีย์จากเศษขยะเสียของโรงอาหารและน้ำเน่าจากคอกหมูในวิทยาลัย’ เพื่อให้ได้น้ำหมักไปใช้ประโยชน์ และลดกลิ่นไม่พึงประสงค์ในวิทยาลัย แป้งย้อนเล่าให้ฟังว่า
“ตอนแรกยังไม่ได้คิดว่าจะทำอะไร คิดแค่ว่าจะทำอะไรที่พัฒนาตัวเองโดยออกไปทำร่วมกับคนข้างนอกไม่ใช่แค่ในวิทยาลัย ตอนนั้นครูเรก็จุดประเด็นชวนคิดขึ้นมา แล้วก็ได้เรื่องนี้ ช่วงนั้นมันมีปัญหาพอดีก็เลยเริ่ม”
จากเด็กใจร้อนและไม่เคยฟังใคร
แป้งเล่าให้ฟังว่าก่อนหน้าแป้งนี้เป็นคนใจร้อนและเคยมีเรื่องทะเลาะกันเพราะไม่รับฟังเพื่อน
“ตอนเด็กๆ อารมณ์ร้อน เมื่อต้องทำงานกลุ่ม เวลาที่สมาชิกในกลุ่มต้องลงความเห็นกัน ถ้าใครไม่แสดงความคิดเห็น การดำเนินงานก็ต้องเป็นไปตามความเห็นของตัวเอง สุดท้ายแล้วใครจะมาโต้เถียง หรือบอกว่าไม่เอาไม่ได้ เพราะเราคุยกันแล้วว่าความคิดของเราโอเค ก็ต้องโอเคตลอด ไม่ค่อยฟังความคิดเห็นของคนอื่นเพิ่มเติม จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องทะเลาะกับเพื่อน”
แป้งบอกว่าการดูเพื่อนๆ ว่าทำงานอะไรได้ดีแล้วมอบหมายหน้าที่ที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ เป็นสิ่งที่ยากที่สุด
“เวลาแบ่งหน้าที่กันทำ บางคนไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไรจริงๆ การมองคนให้ออกมันยาก นึกว่าเขาชอบจดบันทึกแต่จริงๆ อาจจะไม่ชอบก็ได้ มันยากตรงที่ว่าแรกๆ ทำได้ ไปกลางๆ ท้ายๆ เขาจะรู้สึกไม่ใช่ตัวเขา การทำงานต่อจึงเป็นเรื่องยาก”
ทดลองเป็นผู้นำ
“มองให้ลึกขึ้น มองว่าบทบาทหน้าที่ในทีมไม่ตายตัว คนคนหนึ่งอาจะทำได้หลายหน้าที่ อย่างคนที่ทำหน้าที่หัวหน้า ก็สามารถทำอย่างอื่นได้เช่น จดบันทึก คุมการเงิน และบางครั้งก็ต้องเป็นผู้ตาม ให้คนอื่นเป็นผู้นำบ้าง ”
“มันสอนเราเองว่าถ้าไม่รับฟังจะอยู่ไม่ได้ ถ้าไม่ฟังคนอื่นก็ไม่มีใครอยู่ด้วย” นี่คือสิ่งที่การทำงานกับเพื่อนๆ สอนแป้ง
แป้งยังบอกอีกว่า จากการทำโครงงานทำให้แป้งมีความมั่นใจในการทำกิจกรรมมากขึ้น
“หนูว่าหนูมีทุนความคิดที่รู้สึกว่าตัวเองทำได้ในหลายเรื่องแต่ไม่กล้าพูด เช่น คนอื่นทำแล้ว เราไม่ทำดีกว่า เด็กมัธยมมักเป็นแบบนี้ ถ้ามีคนกล้าพูด อีกสิบคนที่เหลือถึงรู้ก็จะไม่พูด มีคนพูดแล้วเอาความคิดเขาแล้วกัน ก็ตามนั้น” ส่วนหนึ่งจึงเป็นที่มาของความมั่นใจ เพราะในโครงการไม่มีผู้นำทำกิจกรรม หน้าที่นั้นจึงตกอยู่กับแป้ง
“เพราะตรงนั้นไม่มีผู้นำ ด้วยบทบาทที่จำเป็นเลยลองเป็นผู้นำคนอื่นดูบ้าง พอไม่มีใครเป็นแล้วรู้สึกว่างานไปต่อไม่ได้ เราทำเองก็ได้”
สอนอย่าง ‘ไม่สอน’
แป้งเล่าให้ฟังว่าครูเรสนับสนุนเรื่องอาหาร อุปกรณ์ ช่วยดูเรื่องการเขียนโครงการ รวมทั้งการ ‘ไม่สอน’ คือปล่อยให้ทำเองเรียนรู้เอง แป้งบอกว่าตรงนี้คือจุดต่างจากครูที่สอนในชั้นเรียน เพราะแผนที่เตรียมไว้ เมื่อนำไปปฏิบัติจริงมีโอกาสผิดพลาดได้ตลอดเวลา
“ครูคนอื่นเขาจะให้ลงล็อค 1 2 3 4 5 แต่ถ้าผิดแผนมันจะไม่ 1 2 3 4 5 แต่ไปถึง 10 ได้เหมือนกัน อาจจะเดินสลับกันไปบ้าง เพราะมันไม่ใช่แบบตามบล็อคเป๊ะๆ ไม่งั้นจะไม่รู้ว่าได้อะไรที่ต่างและแหวกแนวไปบ้าง ความแตกต่างมันสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างการเรียนรู้ได้ในเวลาเดียวกัน” แป้งเล่าบทเรียนที่ได้รับจากการทำกิจกรรม
วาดเป้าหมายชีวิต
เมื่อทำกิจกรรมหลายๆ อย่างจบไปแล้ว แป้งเห็นความสำคัญของการทำงาน และคิดว่าต้องสร้างอะไรนอกเหนือจากการเรียนให้ได้ และคิดเผื่อไปถึงชุมชนที่บ้านด้วย ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจเรื่องนี้เลย
“เวลาย้อนกลับมามองรู้สึกว่าต้องสร้างอะไรไว้ที่ไม่ใช่แค่การเรียนอย่างเดียว ตอนทำกิจกรรมกับชุมชน ก็รู้สึกว่าเราได้ระดับหนึ่ง เราก็เก่งนะทำได้ แต่เราก็อยากรู้ว่าทำอะไรได้มากกว่านี้ อยากทำให้ที่บ้านโอเคกว่านี้”
“ทุกวันนี้ ความรู้บางอย่างเราก็ไม่ได้ใช้ ถ้าเรียนปริญญาตรีไปด้วยทำงานไปด้วยอาจได้อะไรมากขึ้น ดีกว่าเรียนอย่างเดียวสี่ปี การเข้าใจว่ารู้ไปเพื่ออะไร มันดีตรงที่รู้แล้วว่าจะไปยังไงต่อ”
การเรียนนอกห้องเรียนสำคัญกว่าการเรียนในชั้นเรียน
“ในห้องเรียนทำให้เรามีดาวติดไว้ว่าเรารู้เรื่องนี้ๆ แต่นอกห้องคือการใช้ชีวิตจริง เพื่อนหนูสอบได้คะแนนไม่ดีทั้งๆ ที่เคยสอบได้ดีตลอดก็รู้สึกแย่ เราเลยลองเปลี่ยนวิธีคิดว่า เราต้องมั่นใจก่อนว่าเราทำได้ เชื่อมั่นในตัวเองก่อน จากนั้นถ้าไปสอบแล้วคะแนนได้น้อย เราก็ต้องยอมรับและอ่านหนังสือหนักกว่าเดิม แต่ถ้าคะแนนออกมาเป็นที่น่าพอใจ เราก็จะภาคภูมิใจว่าเรา ‘ทำได้’ จริงๆ”
ฟังเรื่องราวของแป้งที่มีความรู้สึกว่า ‘เอาอยู่’ ในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำกิจกรรม หรือการทำงานไปเรียนไป
นั่นเพราะแป้งอาจไม่รู้ตัวก็ได้ว่ามีสิ่งที่เรียกว่า Growth Mindset หรือกระบวนทัศน์พัฒนา อยู่ในตัวเอง
Growth Mindset คือ กรอบความคิดที่เชื่อว่าทุกคนพัฒนาความสามารถของสมองในการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ เชื่อในความหมั่นฝึกฝนอย่างต่อเนื่องมากพอ กล้าหาญที่จะแก้ปัญหาและมีวุฒิภาวะ
“หนูทำได้” จึงดังขึ้นหลายครั้งตลอดการสนทนา แป้งบอกว่า หากเกิดปัญหาอะไรเธอก็จะหาวิธีแก้โดยไม่รีรอ เป็นเพราะผลจากการทำกิจกรรมที่ผ่านการฝึกฝนและทำซ้ำอย่างต่อเนื่องมาตลอดตั้งแต่เริ่มเข้ามาเรียนในวิทยาลัยนั่นเอง
เรียกว่า คิดว่า ‘ทำได้’ เพราะ ‘ได้ทำ’ จริงๆ