- หนังสือเล่มนี้ตอบคำถามว่า ทำไมเด็กแต่ละวัยจึงมีพฤติกรรมแตกต่าง ภายใต้เงื่อนไขของการพัฒนาสมองที่ไม่เหมือนกันตั้งแต่ทารก วัยรุ่น ไปจนถึงเด็กที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรม
- จากประโยคที่ว่า “หากอยากประสบความสำเร็จ ต้องตามหา passion ให้เจอ” แต่กลับไม่มีใครบอกเลยว่า ความหลงใหลที่ว่า ต้องมาพร้อม ‘ความอดทน มานะ พยายาม ไม่ท้อถอย’ ด้วยจึงจะสำเร็จ
- การเลี้ยงลูกให้ยิ่งใหญ่จึงไม่ใช่แค่การพัฒนาสมองให้มีความรู้ แต่ต้องเป็นสมองที่สามารถเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต ได้รับการฝึกฝนจนมีความอดทนและเชื่อในความพยายาม
ถ้าจะมีลูกสักคน จะเลี้ยงลูกให้ได้ดีได้อย่างไร ในสภาพสังคมเช่นทุกวันนี้?
เป็นคำถามที่ไม่จำกัดวงการอยู่แค่คู่ที่ผ่านการแต่งงาน เตรียมจะแต่งงาน หรือวางแผน/อยากจะมีลูก แม้แต่ ‘คี่‘ ที่ครองความโสดอย่างเหนียวแน่นก็ยังอาจย้อนถามตัวเองอยู่บ่อยๆ
เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ เป็นหนังสือที่ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ถอดความและตีความมาจากหนังสือ Raise Great Kids: How to Help Them Thrive in School And Life ซึ่งเป็นหนังสือชุดรวบรวมบทความน่าสนใจจากนิตยสาร Scientific American Mind
เนื้อหาในเล่มนำผลงานวิจัยสมัยใหม่ด้านการทำงานของสมอง และจิตวิทยาการเรียนรู้ มาอธิบายหักล้างความเชื่อเดิมบางอย่าง พร้อมยืนยันแนวทางใหม่ที่จะช่วยพัฒนาสมองของเด็กอย่างรอบด้าน ไม่เฉพาะเพียงความรู้ แต่รวมถึงทักษะชีวิต ทักษะวิชาชีพ และทักษะการควบคุมตนเอง ให้มีความรู้สึกนึกคิดที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมที่ตนเองอาศัยอยู่ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญต่อการใช้ชีวิตในศตวรรษที่ 21
ความน่าสนใจของหนังสือเล่มนี้ อยู่ที่ ความหลากหลาย เป็นหนังสือที่เหมาะกับคนทุกเพศวัยไม่เฉพาะแค่พ่อแม่ เนื่องจากแก่นสาระของเนื้อหาทำให้ผู้อ่านเข้าใจธรรมชาติของสมองที่พัฒนาขึ้นในแต่ละช่วงวัยภายใต้เงื่อนไขที่แตกต่างกัน ตั้งแต่วัยทารก ในบทที่ 1 ซึ่งนำเสนอมุมมองใหม่ว่าเด็กทารกเป็นเหมือนนักคิดนักวิทยาศาสตร์ที่รับรู้ได้มากกว่าที่ผู้ใหญ่คิด
เนื่องจากมีความยืดหยุ่นของสมองส่วนหน้า (prefrontal cortex) เอื้อต่อการเรียนรู้ วิธีเลี้ยงเด็กที่มีความผิดปกติทางพฤติกรรม เช่น เรื่องของเด็กออทิสติก, เด็กใบ้เฉพาะกิจที่ช่างคุยกับพ่อแม่แต่ไม่ยอมพูดเมื่อไปโรงเรียน ไปจนถึงเรื่องของวัยรุ่น เช่น การฝึกทักษะสมองและการปรับตัวท่ามกลางภาวะที่ต้องการการยอมรับจากตัวเอง เพื่อน และพ่อแม่ แล้วทิ้งท้ายด้วยแนวทางพัฒนาสมองซึ่งสอดคล้องกับสภาพสังคมยุคปัจจุบันที่มีทั้งเทคโนโลยีและชุดความรู้ใหม่ๆ เช่น เรื่อง Growth Mindset เป็นต้น ด้านหนึ่งทำให้พ่อแม่และครูเข้าใจเด็กจากมุมมองที่เขาเป็น เข้าใจบทบาทตนเองในการปูพื้นฐานให้เด็กเป็นคนสมองดี โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกถึงการโดนบีบคั้น หรือโดนบังคับจนเกินไป
อีกทั้งยังทำให้ตระหนักได้ว่า พฤติกรรมของคนรอบตัว รวมทั้งสภาพแวดล้อมรอบตัวส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กโดยตรง ยกตัวอย่างบทหนึ่งเรื่องการหย่าร้างจะมีผลร้ายต่อเด็กหรือไม่? งานวิจัยสะท้อนข้อมูลในมุมกลับ สรุปได้ว่าการหย่าร้างอาจมีผลร้ายต่อเด็กในช่วงแรก แต่ส่วนใหญ่แล้วในระยะยาวเด็กจากครอบครัวหย่าร้างจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ปรับตัวได้ดี หากหลังการหย่าร้างพ่อแม่สามารถยุติความขัดแย้งลงได้ ทั้งนี้ สิ่งที่น่ากังวลและส่งผลกระทบโดยตรงมากกว่ากลับเป็นบทบาทของพ่อ ที่นำเสนอในบทต่อมาว่า นักวิจัยมีข้อมูลที่ผ่านการทดสอบแล้วว่า เด็กผู้หญิงที่ขาดพ่อจะมีพฤติกรรมทางเพศที่เสี่ยงต่อการตั้งครรภ์ เนื่องจากปมจิตใต้สำนึกที่คิดว่าผู้ชายอยู่ไม่นานจึงต้องการมีความสัมพันธ์อย่างรีบเร่ง ความเข้าใจต่างๆ เหล่านี้ไม่ได้กล่าวขึ้นมาลอยๆ แต่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองประกอบอย่างชัดเจน เป็นงานวิจัยที่ผ่านการสำรวจและทดลองมาแล้วด้วยวิธีการและวิทยาการสมัยใหม่ อีกด้านหนึ่งหากเด็กได้อ่าน เขาจะเข้าใจตัวเอง คนรอบข้างและคนที่อบรมเลี้ยงดูเขามากขึ้นด้วย
หนังสือเล่มนี้จึงเป็น ‘ตัวเชื่อมความสัมพันธ์’ ที่ช่วยเชื่อมต่อเด็กและผู้ใหญ่เข้าหากัน มากกว่าแค่ตำราเลี้ยงลูกทั่วๆ ไป
อีกมุมหนึ่ง หนังสือเล่มนี้เหมือนเป็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ ทำให้ผู้ปกครองใจชื้นและมั่นใจขึ้นมาได้เปลาะหนึ่งว่า “สมองที่ดีของลูกสร้างได้” เพราะสมองดีไม่ได้มาจากพันธุกรรมเพียงอย่างเดียว แต่มาจากการเลี้ยงดูปูพื้นฐานสมองอย่างถูกต้อง รวมทั้งการฝึกพัฒนาทักษะต่างๆ อย่างถูกวิธีและต่อเนื่อง แน่นอนว่าเด็กแต่ละคนเติบโตขึ้นมาบนต้นทุนหรือพื้นฐานครอบครัวที่แตกต่างกันออกไป แต่ผลลัพธ์จากงานวิจัยทางสมองสะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า การอบรมเลี้ยงดูตั้งแต่วัยเยาว์ช่วยกระตุ้นพัฒนาการทำให้เด็ก “สมองดี” ในด้านที่เขาถนัดได้
สิ่งนี้เชื่อมโยงมาสู่เรื่อง ความหลงใหล หรือที่ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางว่า passion ในหนังสือใช้คำว่า “พลังความชอบระดับหลงใหล” ปรากฏการณ์นี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่า เรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในสังคมข้อมูลที่ขาดวิ่น และไม่เคยมองชีวิตอย่างรอบด้าน
ท่ามกลางกระแสสังคมที่ประโคมบอกว่า “หากอยากประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างรวดเร็วต้องตามหา passion ให้เจอ”
แต่ไม่มีใครบอกเลยว่า ความหลงใหลที่ว่า ต้องมาพร้อม “ความอดทนมานะพยายามไม่ท้อถอย” (perseverance) ด้วยจึงจะสำเร็จ
ความมุมานะ (grit) ที่ประกอบด้วย พลังความชอบระดับหลงใหล (passion) และ ความอดทนมานะพยายามไม่ท้อถอย (perseverance) ต่างหากที่เป็นกุญแจสำคัญของความสำเร็จระยะยาวในชีวิต แล้วความหลงใหลที่ว่าก็ไม่ใช่แค่เรื่องพรสวรรค์ที่ฟ้าลิขิต แต่เราค้นพบและสร้างมันขึ้นมาได้จากการลงมือทำอะไรบางอย่างด้วยตัวเองซ้ำๆ อย่างมีคุณภาพและมากพอ ประสบการณ์จะเป็นตัวช่วยคัดกรองสิ่งที่เราให้คุณค่า ซึ่งตรงกับความเชื่อและพลังภายในของตัวเอง (intrinsic motivation)
ทั้งหมดเชื่อมโยงวงจรกลับมาสู่การเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้เด็กพัฒนาสมองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นอย่างครบมิติ การเลี้ยงลูกให้ยิ่งใหญ่จึงไม่ใช่แค่การพัฒนาสมองให้มีความรู้ แต่ต้องเป็นสมองที่มีความสามารถในการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นสมองที่ได้รับการฝึกฝนจนมีความอดทนและเชื่อในความพยายาม หรือที่เรียกว่ามี กระบวนทัศน์พัฒนา (Growth Mindset) เป็นสมองที่ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเอง แต่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และสามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้โดยปราศจากอุปสรรค