Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Character building
12 June 2018

ออกนอกห้องเรียน ไปตามติดชีวิตหอยแครง

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • ออกจากห้องเรียนไปศึกษาระบบนิเวศหอยแครง ตั้งแต่วงจรชีวิตของหอยแครงถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมชุมชน ผู้คนที่หาอยู่หากินกับมัน
  • สิ่งที่เจอไม่ใช่แค่ข้อมูลวัฏจักรชีวิตหอยแครง แต่คือปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) ซึ่งเกิดจากปัญหาของมนุษย์ที่ร้อยโยงกับสิ่งแวดล้อมอย่างแยกไม่ออก
  • การเรียนนอกห้องไม่ได้ทำให้การเรียนในห้องมีปัญหา กลับสร้างสมดุลการเรียนรู้ การบริหารเวลาและบริหารความอดทน
ภาพ: วีรวรรณ ดวงแข และ พัชรี ชาติเผือก

“ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนถาวรานุกูล ผมยังไม่รู้ตัวเองว่าอยากเรียนต่อคณะอะไร เลยอยากลองหากิจกรรมหลายๆ อย่างทำเพื่อดูว่าจริงๆ แล้วตัวเองชอบอะไรกันแน่ ผมไม่ได้เป็นคนปฏิเสธกิจกรรม แต่ไม่ได้กระตือรือร้นสรรหา พอเพื่อนมาชวนไปทำโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก ผมเลยตอบตกลงเพราะเป็นเรื่องแปลกใหม่ที่ไม่เคยได้ยินและไม่เคยทำมาก่อน” เด็กผู้ชายคนหนึ่งเล่าถึงความอยากรู้อยากลองของเขา

และโครงการที่ว่าก็คือการไปหา ‘หอยแครง’

จากเด็กต่างจังหวัดขี้อายไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ชีวิตแต่ละวันมีแค่บ้านกับโรงเรียน ใช้เวลาส่วนใหญ่หน้าจอคอมพิวเตอร์ในห้องนอน แต่ละวันนอนดึกหรือบางวันไม่นอนเลย เช้ามาก็ไปโรงเรียนตามปกติ นัท-เอกนรินทร์ เลิศนันทวัฒน์ บอกว่า ชีวิตเขาเปลี่ยนไปหลังจากที่ได้รู้จักหอยแครงนั่นแหละ

ก่อนไปถึงเรื่องหอยแครงจริงๆ นัทอธิบายว่า โครงการที่เขาทำมีแนวคิดอยากเสริมสร้างพลังพลเมืองให้เด็กและเยาวชน เลยสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านชุมชนท้องถิ่น เพราะมีความเชื่อว่าประสบการณ์นอกห้องเรียนจะช่วยพัฒนาทักษะหลากหลายด้านให้คนคนหนึ่งได้ เช่น ทักษะการทำงานที่ต้องวางแผน คิด และวิเคราะห์ ทักษะชีวิตที่ต้องเอาตัวรอดให้ได้ และทักษะความรู้ที่ได้ระหว่างการทำงาน หรือแม้แต่การนำความรู้ในห้องเรียนมาร่วมแก้ปัญหาชุมชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา โครงการที่ว่านี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดสมุทรสงคราม สนับสนุนโดย มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

“เคยสงสัยไหมว่าทำไมหอยแครงถึงมีราคาแพง?” นัทถามกลับเข้ามาถึงเรื่องหอยแครง

“หอยแครงแพง…เพราะการเลี้ยงหอยแครงมีความเสี่ยงสูง” นัทตอบแบบนี้ซึ่งก็ฟังดูน่าคิด

แพลงก์ตอนบลูม ศัตรูของหอยแครง

โครงการที่นัทและเพื่อนทำคือ โครงการศึกษาระบบนิเวศของหอยแครง ศึกษาวงจรชีวิตของหอยแครงและระบบนิเวศที่เหมาะสมในการเพาะเลี้ยงหอยแครง ตลอดจนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน พื้นที่ทำโครงการอยู่ที่ ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม นัทเล่าอย่างคล่องแคล่วว่า ตำบลคลองโคน ประกอบด้วย 7 หมู่บ้าน พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบชายฝั่งทะเล มีป่าชายเลนที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วยป่าแสมและโกงกางเป็นพืชหลัก ชาวบ้านส่วนใหญ่ทำอาชีพประมงเพราะอยู่ติดแหล่งน้ำ การเลี้ยงสัตว์น้ำในแต่ละแหล่งต้องดูตามความเหมาะสมของสภาพน้ำ เพราะบางพื้นที่เป็นน้ำเค็ม บางพื้นที่เป็นน้ำกร่อย

แต่ที่ไม่เคยรู้มาก่อนเลย คือ หอยแครงเป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งที่สร้างรายได้โดยรวมจำนวนมหาศาลให้ชุมชน ชุมชนที่อยู่ติดคลองแถบนี้นิยมเลี้ยงหอยแครงเพราะเป็นที่ต้องการของตลาด

จากประสบการณ์ทำโครงการกับชุมชน สิ่งที่ทำให้นัทอึ้งมากที่สุด คือ

ความรู้รอบของชาวบ้านที่ประกอบอาชีพประมง โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงเลี้ยงหอยแครง ที่อาจไม่ได้เรียนสูงจบปริญญา แต่รู้และเข้าใจในสิ่งที่ตัวเองทำตั้งแต่ต้นจนจบ เมื่อเจอปัญหาก็ไม่ได้ตีโพยตีพาย แต่พยายามสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาก่อนเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง

ปัญหาที่พูดถึงนี้คือปัญหาแพลงก์ตอนบลูม (Plankton Bloom) และปัญหาน้ำเสียที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในการเลี้ยงหอยแครงของชาวประมง

“ชาวบ้านไม่ได้รู้จักสภาพแวดล้อมแค่ในขอบเขตที่ตัวเองเลี้ยงหอยอยู่ แต่รู้จักสภาพภูมิประเทศตลอดลำน้ำเพราะเมื่อเกิดปัญหาเรื่องน้ำ พวกเขาลงมือสำรวจลำน้ำด้วยตัวเอง ทำให้รู้ว่าต้นน้ำมาจากไหน ระหว่างทางมีบริษัท ฟาร์มหรือโรงงานอะไรบ้างที่ปล่อยน้ำเสียและเป็นสาเหตุทำให้สภาพน้ำในคลองโคนไม่เอื้อต่อการเลี้ยงหอยแครงเหมือนแต่ก่อน”

กว่า 5 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับอุปสรรคเรื่องนี้มาตลอด แพลงก์ตอนบลูม เป็นปรากฏการณ์ที่น้ำในแหล่งน้ำเปลี่ยนเป็นสีเขียว มีสาเหตุจากการสะสมของปุ๋ยเคมีและของเสียที่มีธาตุอาหารสูงในน้ำ ทำให้แพลงก์ตอนซึ่งเป็นพืชน้ำเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว ยิ่งในช่วงหน้าฝนที่น้ำจืดจากการชะล้างตั้งแต่ต้นน้ำไหลลงสู่ทะเลในปริมาณมาก ยิ่งทำให้เกิดแพลงตอนก์บลูมได้ง่าย เรียกได้ว่าคลองโคนเป็นพื้นที่ปลายน้ำ เป็นทางผ่านรองรับน้ำซึ่งไหลมาจากทางตอนเหนือก่อนออกปากน้ำแม่กลอง

ความเลวร้ายที่สะสมมาในลำน้ำทั้งหมดจึงส่งผลกระทบต่อชาวประมงเลี้ยงหอยแครงอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ เว้นเสียแต่ว่าปัญหาจะได้รับการแก้ไขมาตลอดเส้นทางน้ำ ความหนาแน่นของแพลงก์ตอนทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง หอยแครงเป็นสัตว์น้ำที่ไม่สามารถเคลื่อนที่ได้เอง หากอาศัยอยู่ในน้ำที่เกิดแพลงก์ตอนบลูมหรือน้ำเสียมีโอกาสตายได้ทั้งหมด

“หอยแครงที่เลี้ยง 100 เปอร์เซ็นต์ มีโอกาสรอดเพียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น บางครั้งเพิ่งปล่อยหอยลงไปเลี้ยง แต่ต้องเจอกับสภาพน้ำที่ไม่เหมาะสมซึ่งไหลมาจากต้นน้ำ ชาวประมงก็ต้องรีบเก็บหอยขึ้นขายทั้งที่ยังไม่โตเต็มที่ พวกเขาต้องยอมรับผลกระทบจากรายได้ที่หดหายไป เพราะขายหอยได้ในราคาไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย” นัทอธิบาย

ปรับตัว…เปิดใจ

“เมื่อก่อนเจอหน้าคนไม่รู้จัก ผมไม่รู้จะทำยังไงกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เลยเลือกเงียบไม่พูดกับใคร แต่พอทำโครงการการพูดคุยกับชาวบ้านเป็นสิ่งสำคัญ ผมใช้วิธีสังเกตและเรียนรู้จากเพื่อนเพราะเขาเคยทำโครงการมาตั้งแต่ปีก่อน ดูว่าเขาทำยังไง ถามหรือพูดคุยยังไงแล้วฝึกพูดฝึกทำตามเขา เวลาลงพื้นที่จริงก็ทดลองทำตามที่ฝึกมา ทำไปหลายๆ ครั้งเราก็ทำได้ดีขึ้น จากเมื่อก่อนผมคิดอยู่ในหัว แต่ไม่สามารถเรียบเรียงเพื่อแสดงความคิดเห็นออกไปได้ ตอนนี้ความประหม่า ความกระอักกระอ่วนหายไปหมดแล้ว ผมมีความกล้าแสดงออกและสื่อสารสิ่งที่คิดออกไปได้”

ดูเหมือนว่า การปรับตัวและเปิดใจ เป็นทักษะสำคัญที่ต้องนำมาใช้ในชั่วโมงนี้ ซึ่งนอกจากปรับเพื่อพัฒนาทักษะในตัวเองแล้ว ยังต้องปรับเพื่อให้ทำงานเข้ากับคนอื่นในทีมได้ด้วย จึงต้องเลยเถิดไปถึงการปรับเวลานอน

“จากที่นอนดึกหรือไม่นอนเลย ผมทำแบบนั้นไม่ได้แล้ว หากยังใช้ชีวิตแบบเดิม แล้วต้องลงชุมชนไปเจอลมฝนแดด จะยิ่งเพลียหนักหรืออาจไม่สบาย ผมเลยต้องนอนให้เป็นเวลา ตื่นให้เป็นเวลา ถ้าวันรุ่งขึ้นมีงานผมก็จะนอนเร็วขึ้น” นัทเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวเขาหลังได้ร่วมโครงการภายในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 1 ปี

ต้องอินเบอร์ไหน ทำไมถึงยอมปรับตัวขนาดนี้?

นัทบอกว่า ความอินนั้นก็ใช่ แต่ความรับผิดชอบต้องมาก่อน เพราะไม่อยากเป็นตัวถ่วงในทีม

“เราเลือกเองว่าจะเข้ามาร่วมโครงการ มันจึงเป็นหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ เลยพยายามทำให้ได้ ก็ต้องยอมปรับตัวเอง ก่อนลงชุมชนเราไม่รู้หรอกว่าจะเจออะไรบ้าง การเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ได้ฟังเรื่องเล่าได้รู้เรื่องราวผ่านประสบการณ์ของคนในชุมชน ทำให้ได้รู้จักชุมชนมากขึ้น ไปหลายๆ ครั้งความรู้จักก็เปลี่ยนเป็นความคุ้นเคยและสนิทสนม ความอินก็ตามมาทีหลัง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับชุมชน จะรู้สึกเหมือนตัวเองเป็นส่วนหนึ่งในนั้น แล้วอยากมีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหา ผมคิดว่าถ้าเราไม่รู้จริงเราก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่นี่เราได้ลงไปทำงานกับชุมชนจริง เราได้เห็นได้รู้ข้อมูลด้วยตัวเอง เลยพูดออกมาได้อย่างมั่นใจ กล้าพูดกล้าสื่อสารข้อเท็จจริงและสิ่งที่คิดออกมาอย่างเต็มที่ ผมได้ความรู้ใหม่ทุกครั้งที่มีโอกาสลงพื้นที่ชุมชน” นัทเล่า

ยิ่งเมื่อลงมือทำจึงรู้ข้อจำกัดและเงื่อนไขในการทำงาน นัทเล่าว่า พวกเขาได้บทเรียนจากการไม่เตรียมความพร้อม ไม่ได้ประชุมวางแผนการทำงานก่อนลงพื้นที่ครั้งแรก ด้วยข้อจำกัดของเวลาทำให้การทำงานครั้งนั้นต้องสะดุด บทเรียนนั้นทำให้พวกเขาเรียนรู้ว่า วิธีการทำงานเพื่อให้ประหยัดเวลาต้องมีการวางแผนว่า การลงพื้นที่แต่ละครั้งมีจุดมุ่งหมายอะไร ต้องเข้าไปพูดคุยกับใคร แล้วต้องทำอะไรบ้าง เพื่อจะได้ไม่หลงประเด็น ไม่เสียเวลา และได้ข้อมูลอย่างถูกต้องครบถ้วน

นอกจากนี้ ประสบการณ์นอกห้องเรียนยังสร้างคุณลักษณะที่ดีให้กับการเรียนในห้องเรียนได้ด้วย นัทสังเกตเห็นว่าตัวเองมีความขยันและมุมานะกับการเรียนมากกว่าแต่ก่อน

“กระบวนการเรียนรู้จากการทำงานกับชุมชนทำให้มีความรับผิดชอบมากกว่าเดิม เราเลยรับผิดชอบได้ทั้งงานในห้องเรียนและนอกห้องเรียน โดยไม่รู้สึกว่ามันหนักหนาเกินไป เหมือนเราได้รู้จากประสบการณ์ตรงแล้วว่า การออกไปทำงานข้างนอกหนักกว่าการเรียนในห้องเรียน

พอออกไปทำงานข้างนอกกับชุมชนได้ ตอนกลับมาเรียนในโรงเรียนผมกลับรู้สึกสบายขึ้น ไม่คิดว่ายาก ไม่กดดัน ไม่ท้อแท้ และมีความมุ่งมั่นที่จะทำงานที่อาจารย์มอบหมายด้วยความเต็มใจ

จากเมื่อก่อนรู้สึกตลอดว่างานเยอะ ยาก ไม่อยากทำ บ่นว่าอาจารย์ว่าจะให้ทำไปทำไม ตอนนี้เปลี่ยนความคิดไปเลย กลับรู้สึกว่างานในโรงเรียนไม่ได้ยาก และไม่ได้เยอะขนาดที่เราทำไม่ได้ กลายเป็นว่าผลการเรียนในห้องเรียนเพิ่มขึ้นทั้งที่มีภาระมีกิจกรรมให้ต้องรับผิดชอบมากกว่าเดิม ผมว่าถ้าเราไม่มีความรับผิดชอบ บริหารจัดการชีวิตไม่เป็น ชีวิตมันก็จะพังไปหมด”

คว้าฝันสำเร็จจากการเรียนรู้นอกห้อง

ปัจจุบัน นัทเป็นนักศึกษาน้องใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้นราว 1 ปีก่อน จากที่ยังไม่มีความมั่นใจว่าตนเองถนัดอะไรและอยากเรียนอะไร ประสบการณ์การเรียนรู้นอกห้องเรียนจากการสืบค้นเรื่องราวของหอยแครง ที่ไม่น่าจะเชื่อมโยงกับความชื่นชอบด้านคอมพิวเตอร์ได้เลย ยังทำให้นัทค้นพบและรู้จักตัวเองชัดขึ้นว่าเขาถนัดและชื่นชอบงานด้านคอมพิวเตอร์มากกว่างานด้านอื่น ในโครงการเขามีโอกาสได้ทำสื่อที่ต้องนำความรู้ เทคนิคและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ นั่นทำให้นัทมีความมั่นใจและมุ่งมั่นจนสามารถสอบเข้าคณะที่ต้องการได้สำเร็จ

“อยากให้น้องๆ ในชุมชนมีโอกาสเรียนรู้แบบที่ผมได้รับ ไม่ต้องถึงขนาดทำงานเพื่อชุมชนก็ได้ แต่อยากให้เด็กและเยาวชนในจังหวัดได้เรียนรู้วิถีชีวิตของกันและกัน ผมเชื่อว่าเด็กหลายๆ คนเป็นอย่างที่ผมเคยเป็น ไม่รู้ว่าชุมชนตัวเองและชุมชนข้างเคียงมีอะไรบ้าง หากมีการบอกเล่าแลกเปลี่ยนกันระหว่างชุมชน จะสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจ เด็กจะเกิดความรักและหวงแหนชุมชนของตัวเองมากขึ้น ในอนาคตไม่ว่าพวกเขาออกไปทำอะไร เขาจะไม่ทำสิ่งที่ทำลายชุมชนของตัวเอง ไม่ทำให้สิ่งที่มีคุณค่าซึ่งมีอยู่ก่อนแล้วหายไป กลับกันเขาจะทำแต่สิ่งที่ดีๆ ใส่เข้าไปในชุมชน” นัททิ้งท้าย

Tags:

วัยรุ่นactive citizenproject based learningคาแรกเตอร์(character building)อาชีพ

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Related Posts

  • Grit
    ‘เสียงซอของคำไทด์’ พรแสวงที่ไม่หยุดแค่พรสวรรค์

    เรื่อง

  • Character building
    กฎข้อที่ 1 ของการเป็นคนกล้า คือการเผชิญหน้ากับความกลัว

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    ผ้าทอโซดละเว ให้ผ้าทอชีวิตและชุมชนขึ้นมาอีกครั้ง

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    จากวัยรุ่นขี้กลัว มาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ

    เรื่อง The Potential

  • Character building
    ชีวิตนอกกำแพง และ ‘โอกาส’ เพื่อฟื้นคุณค่าตัวเองกลับคืน

    เรื่อง The Potential

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel