- สรุปวิธีสร้างความสัมพันธ์ 3 รูปแบบ: ครูกับศิษย์ ครูกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ และครูกับพ่อแม่ ให้คุณครูนำไปใช้เพื่อสร้าง Growth Mindset ให้กับเด็กๆ
- บทบาทของครูมีมากกว่าสอนหนังสือ เพราะในกระบวนการเปลี่ยนแปลง Mindset อย่างองค์รวมจำเป็นต้อง ‘โค้ช’ ไปถึงพ่อแม่ด้วย
- อย่ามองข้ามการสนทนาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนครูฉันมิตร เพราะความสัมพันธ์เป็นรากฐานสำคัญต่อการสร้าง Growth Mindset
- หมดเวลาสำหรับการพัฒนาเด็กๆ แบบ ‘ตัวใครตัวมัน’ แล้ว เพราะพื้นที่การเรียนรู้ของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน
การสร้าง Growth Mindset หรือการเปลี่ยนเด็กให้เชื่อในศักยภาพของตนเอง จะทำได้นอกจากชี้ให้เขารู้ว่าพลังที่เขามี ทำอะไรได้บ้างแล้วนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ต้องแน่นแฟ้นมากพอที่จะเข้าไปเขย่าศรัทธาความเชื่อในพลังการเปลี่ยนแปลงตนเองให้กระจ่างชัดได้
แอนนี บร็อค (Annie Brock) และ ฮีเธอร์ ฮันด์ลีย์ (Heather Hundley) สองครูผู้ร่วมกันเขียนหนังสือ ‘The Growth Mindset Coach’ บอกว่าบทบาทของครู นอกจากมีหน้าที่เปลี่ยน mindset ลูกศิษย์ให้คิดแบบเติบโตผ่านการบ่มเพาะบรรยากาศการเรียนรู้ในห้องเรียน ยังมีขอบเขตไกลเกินกว่านั้น การมีพื้นที่เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนครู (Professional Learning Community) และการเชื่อมโยงความสัมพันธ์กับพ่อแม่เด็กๆ ที่บ้าน ก็ถือเป็นอีกแรงเสริมหนึ่งที่ผลักดันการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ของเด็กๆ ให้เป็นไปอย่างยั่งยืนได้จริง
บทความนี้สรุปวิธีสร้างความสัมพันธ์ 3 รูปแบบ: ครูกับศิษย์ ครูกับเพื่อนร่วมวิชาชีพ และครูกับพ่อแม่ ให้คุณครูนำไปใช้กันได้แบบไม่กั๊ก
สร้างพื้นที่เปี่ยมรักในห้องเรียน
ครูสามารถสำรวจตนเองด้วยแบบประเมินที่วัดแนวโน้มความเป็น Growth / Fixed Mindset ของการสร้างสัมพันธ์กับนักเรียนตามตัวอย่างคำถามนี้
ด้วย 5 วิธีผูกสัมพันธ์กับเด็กๆ ในชั้นเรียน ต่อไปนี้ เราเชื่อว่าครูจะสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ของพวกเขาได้ดีขึ้น
1. ครูศรัทธาในความสามารถของพวกเขา
หัวใจของ Growth Mindset คือความเชื่อมั่นว่าเราสามารถทำได้ด้วยความพยายาม ขยันและอดทน แต่ถ้าในชั้นเรียนเด็กไม่รู้สึกว่าครูเชื่อมั่นในตัวเขา คงเป็นเรื่องยากที่เขาจะเชื่อในตัวเองเช่นกัน ครูจำเป็นต้องแสดงออกว่าเชื่อมั่นจากใจจริงและพร้อมจะสนับสนุนเคียงข้างเขา เช่น เอ่ยชมเมื่อเห็นเขาพยายามและไม่ปล่อยผ่านข้อผิดพลาดหรือซ้ำเติม แต่ให้คำแนะนำไปปรับปรุงแก้ไข
บนเวที TED Talk เพียร์สัน (Pierson) เผยเคล็ดลับในการปลุกความเชื่อมั่นของเด็กๆ ว่า ในช่วงโฮมรูมเธอจะให้ชั้นเรียนกล่าวคำปลุกใจทุกวันว่า
“ฉันเป็นคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่ฉันมาที่นี่เพื่อจะเป็นคนที่ดีขึ้นเก่งขึ้น ฉันมีศักยภาพและเข้มแข็ง ฉันคู่ควรกับการศึกษาที่นี่ตอนนี้ ฉันมีหน้าที่ มีคนที่อยากให้เขาภูมิใจและมีเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง”
เธอเชื่อว่าถ้าเด็กๆ พูดกับตัวเองแบบนี้ทุกวัน มันจะซึมซาบเข้าเป็นส่วนหนึ่งของเขา และอีกทางหนึ่งเธอต้องการแสดงให้เด็กๆ รู้ด้วยว่าเธอเชื่อมั่นในตัวพวกเขาเป็นที่สุด
2. ครูมีอัธยาศัยดีและเป็นกันเองมากพอที่เด็กๆ เข้าถึงได้
ครูที่วางตัวห่างเหินเข้าถึงยาก เสมือนมีกระดาษแปะกลางหน้าผากว่า “ไปเล่นกันตรงโน้น อย่ายุ่งกับฉัน” นักเรียนจะไม่กล้าเข้าหา
ถ้าทำได้ ครูลองเข้าหานักเรียน ถามไถ่เรื่องที่พวกเขากำลังสนใจหรือข้อมูลความเป็นอยู่ทั่วไป เช่น บ้านอยู่แถวไหน ครอบครัวทำอะไร อยู่กันกี่คน บางคนพ่อแม่หย่าร้าง อาศัยอยู่กับยาย หรือบางคนไม่สบายมีโรคประจำตัว การถามสารทุกข์สุกดิบหรือแม้แต่แบ่งปันข้อมูลของตัวเองที่ให้ประโยชน์กับเด็กๆ เช่น ประสบการณ์ตอนทำงานพิเศษช่วงวัยรุ่นหรือการวางแผนออมเงิน ช่วยให้ครูสามารถสร้างความสนิทสนมใกล้ชิดและไว้วางใจได้
3. ครูให้เสียงสะท้อนที่สร้างพลัง
ความสัมพันธ์มีบทบาทสำคัญในการให้คำแนะนำหรือชี้ข้อปรับปรุงให้เด็กๆ รู้ เพราะฟีดแบ็คที่ครูหวังดีอาจไปกระตุ้นให้เด็กๆ ต่อต้านได้ถ้ายังสนิทกันไม่มากพอ ถ้าครูกับศิษย์ไว้วางใจกันในระดับหนึ่งและเขารู้ว่าครูให้คำแนะนำด้วยความเชื่อมั่นในพลังความสามารถของพวกเขา ไม่ได้ตัดสินว่าเขาอ่อนด้อยหรือโง่กว่าคนอื่น เมื่อนั้นเสียงสะท้อนจากครูจึงจะมีพลังในการเปลี่ยนแปลง
ถ้ายังไม่สนิทกันมากพอ ครูอาจต้องใช้วิธีพูดคุยให้คำแนะนำกับศิษย์แบบตัวต่อตัวเพื่อจะได้สร้างความสนิทไปในตัว หรือเปิดช่วงสนทนารายสัปดาห์ในชั้นเรียนให้ทุกคนอัพเดตแบ่งปันกันว่าใครมีปัญหาตรงไหนเรื่องใดบ้างและเพื่อนๆ หรือครูสามารถช่วยเหลือได้อย่างไร
4. ครูสนใจความพยายามมากกว่าผลคะแนน
เปลี่ยนจากสอบเพื่อวัดเกรด มาสร้าง ‘ตัวชี้วัดความพยายาม’ แทน ‘ตัวชี้วัดระดับความสามารถ’ จัดการเรียนการสอนที่โฟกัสการเรียนรู้โดยให้เด็กๆ มีประสบการณ์ผ่านงานยากๆ ให้ผิดพลาดเพื่อแก้ไขเรียนรู้ ครูช่วยตั้งเป้าหมายและกระตุ้นความเชื่อมั่นพยายามเพื่อให้พัฒนาจากเกรดที่แล้วมา
5. นักเรียนควรรู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ใกล้ครู
ครูที่เดินเข้าห้องมาแล้วนักเรียนเงียบกริบหรือเดินผ่านกลุ่มไหนเป็นอันวงแตก เพราะในสายตาเด็กๆ เขาไม่รู้สึกปลอดภัยกับครู แจคเคอลีน เซลเลอร์ (Jacqueline Zeller) อดีตคุณครูและนักวิจัยประจำ Harvard Graduate School of Education ชี้ว่า “เด็กที่รู้สึกปลอดภัยในห้องเรียนจะเรียนรู้ได้ดีกว่า” ความรู้สึกปลอดภัยนี้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อครูแคร์ความรู้สึกเขาไม่ว่าจะทำผิดพลาดเช่นไร พร้อมจะปกป้อง รับฟัง และจับมือให้เขาลุกขึ้นแก้ไขบทเรียนนั้น โดยไม่ประจานความผิดเพื่อไม่ให้คนอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่าง
อยากเชิญชวนให้ครูทุกคนลองตั้งเป้าหมายกระชับความสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นรายสัปดาห์ด้วยหลัก SMART: Specific, Measurable, Attainable, Realistic, Timely หรือ เป้าหมายชัด-วัดความคืบหน้าได้-ทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมาย-มีใครหรือข้อมูลใดซัพพอร์ตได้-ทำภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น เป้าหมายคือทุกวันตลอดสัปดาห์นี้ ฉันจะคุยกับนักเรียนคนละ 2 นาที ให้ครบทุกคนเรื่องสัพเพเหระนอกห้องเรียนของเขา เราจะได้สนิทกันมากขึ้น
หรือถ้ายังนึกไอเดียเจ๋งๆ ไว้สร้างสัมพันธ์กับเด็กๆ ไม่ออก เรามีกิจกรรมหลากหลายแบบที่ครูสามารถนำไปใช้ในห้องเรียนมาแบ่งปันดังนี้
- Finding Common Ground เป็นกิจกรรมที่เหมาะสำหรับเล่นในช่วงเปิดปีการศึกษาเพื่อ break the ice วิธีคือเริ่มด้วยครูบอกสิ่งที่ชื่นชอบและทุกคนที่เหลือในห้องที่ชอบเหมือนกันยกมือ ไล่เรียงไปแต่ละคนจนครบ (เลือกหัวข้อสนุกๆ ที่เป็นเรื่องนอกโรงเรียน เช่น กีฬา แนวเพลง ดาราคนโปรด ละคร หรือนักร้อง)
- Lunch Buddies นัดกินมื้อเที่ยงกับนักเรียนตัวต่อตัวโดยสุ่มจับสลากหรือเวียนตามเลขที่
- Two-Minute Check-ins หาโอกาสเหมาะๆ สัก 2 นาทีช่วงก่อนเข้าเรียน หลังเลิกเรียนหรือพักเบรกเข้าไปถามไถ่สารทุกข์สุกดิบนักเรียน (โดยเฉพาะคนที่มีปัญหา) ในเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการเรียน
- Just Say Yes ผ่อนปรนและ ‘say yes’ เมื่อนักเรียนขออนุญาตทำอะไรที่มาจากไอเดียแหวกแนวสร้างสรรค์หรือต้องการโดดเด่นไม่ซ้ำใคร เช่น ขอใช้ปากกาสีเขียวในการสเก็ตช์ภาพแทนดินสอ หรือแต่งตัวชุดจัดเต็มมารายงานหน้าห้อง
- ทักทายหน้าประตูทุกเช้า ถึงเป็นวิธีที่ไม่แปลกใหม่แต่ใช้ได้ผลตลอด!
- กิจกรรม Get to Know You ล้อมวงแนะนำตัวพร้อมตั้งกติกาสนุกๆ เช่น ใบ้ตัวอักษรภาษาอังกฤษตัวแรกของชื่อด้วยท่าทาง
- ใช้สัญญาณมือหรือคำพูดที่เป็นรหัส ครูกับนักเรียนตกลงกันแต่เนิ่นๆ ช่วงเปิดเรียน เช่นถ้าครูปรบมือ 3 ครั้ง หมายความว่าทั้งห้องที่กำลังจ้อกแจ้กจอแจต้องอยู่ในความเงียบพร้อมฟังเรื่องสำคัญ
- ตั้งกฎประจำชั้น เช่นในชั้นเรียนจะไม่ตะโกนหรือพูดเสียงดังใส่กันด้วยอารมณ์ ชั้นเรียนจะเริ่มตรงเวลาและปล่อยตรงเวลาเป๊ะทุกครั้ง กฎเหล่านี้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวกันซึ่งครูเองต้องเคารพและทำตามอย่างเคร่งครัดด้วย
นอกจากกิจกรรมสร้างสัมพันธ์ที่นำไปปรับใช้ บรรยากาศในห้องเรียนก็ควรเป็นไปอย่างอบอุ่นส่งเสริมความเชื่อมั่นในการเรียนรู้ ในThe Growth Mindset Coach เปรียบเทียบบรรยากาศห้องเรียนเอาไว้ 3 แบบ
บอกอยู่กลายๆ ว่าทางสายกลางแบบสร้างสรรค์นั่นแหละดีที่สุด ไม่หย่อนยานหรือเคร่งเครียดกับกฎระเบียบจนเจ้ากี้เจ้าการมากเกินไป ต้องให้ผู้เรียนพบกับสิ่งท้าทายศักยภาพและสร้างข้อผิดพลาดเสียบ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งบทเรียน
Connect กับพ่อแม่ของเด็ก
แน่นอนว่าแต่ละบ้านเอาใจใส่เลี้ยงดูลูกๆ ไม่เหมือนกัน บางบ้านไม่ได้ให้น้ำหนักกับผลการเรียนมากไปกว่าเห็นลูกเล่นสนุกทำกิจกรรมอย่างมีความสุข ต่างจากหลายบ้านที่ยึดผลการเรียนเป็นตัวแปรสำคัญของอนาคต ชนิดปล่อยผ่านไม่ได้เลยสักเทอม ปัญหาสำหรับครูหลายคนจึงไม่ใช่แค่สงสัยว่าควรสื่อสารพัฒนาการของศิษย์ ‘อย่างไร’ ให้ผู้ใหญ่ที่บ้านทราบ แต่อยู่ที่ว่า ‘แค่ไหน’ จึงจะพอดีด้วย
งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเมื่อปี 2014 โดย แมทธิว เอ. คราฟต์ (Matthew A. Kraft) กับ รอดด์ โรเจอร์ส (Rodd Rogers) ศึกษาการส่งข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อรายงานผลการเรียนของเด็กที่เก็บหน่วยกิตไม่ครบและอาจเรียนไม่จบเป็นรายสัปดาห์ให้พ่อแม่ 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกเป็นข้อความที่รายงานถึงพัฒนาการเชิงบวกของเด็ก ส่วนอีกกลุ่มส่งข้อความชี้จุดที่นักเรียนควรแก้ไขพัฒนาเพื่อให้ได้คะแนนดีมากกว่านี้ ผลออกมาว่าการส่งข้อความรายงานพ่อแม่ช่วยกระตุ้นให้เด็กๆ สามารถเก็บหน่วยกิตตามกำหนดได้เพิ่มขึ้น 6.5 เปอร์เซ็นต์ ลดโอกาสเด็กเรียนไม่จบได้ถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ยิ่งในกลุ่มที่พ่อแม่ได้รับรายงานให้แก้ไขข้อบกพร่องเด็กมีพัฒนาการและสามารถเก็บหน่วยกิตได้เพิ่มขึ้นมากกว่าเดิมถึง 9 เปอร์เซ็นต์
รายงานนี้กำลังบอกเราว่า
- การสื่อสารให้ผู้ใหญ่ที่บ้านทราบถึงพัฒนาการของเด็กๆ ไม่จำเป็นต้องยืดยาวหรือจัดประชุมเป็นเรื่องเป็นราวเสมอไป อย่างในวิจัยนี้ ส่งข้อความมือถือสั้นๆ ให้ผู้ปกครองสัปดาห์ละครั้งเท่านั้น ผลลัพธ์ก็เป็นที่น่าพอใจแล้ว
- ครูบอกจุดที่นักเรียนควรแก้ไขดีกว่าแค่ชื่นชม และจะให้ผลดีที่สุด ควรรายงานทั้งส่วนดีและให้คำชี้แนะไปพร้อมกันเลยว่าควรพัฒนาเพิ่มเติมตรงไหน และพ่อแม่มีส่วนร่วมได้อย่างไรบ้าง เช่น
“น้องข้าวแกงเป็นตัวของตัวเองและมีมนุษยสัมพันธ์เข้าขั้นยอดเยี่ยม คิดสร้างสรรค์และมีอารมณ์ขัน ในสัปดาห์นี้น้องกำลังพยายามทำความเข้าใจเรื่องบัญญัติไตรยางค์ ถึงจะยังไม่ค่อยแตกฉานแต่มีความพยายามดีมาก คุณพ่อคุณแม่อาจช่วยเสริมความรู้ด้วยการพาเขาไปจ่ายตลาดแล้วให้ช่วยคิดเงินบ่อยๆ ค่ะ”
อย่างนี้แล้ว บทบาทของครูมีมากกว่าสอนหนังสือ เพราะในกระบวนการเปลี่ยนแปลง Mindset อย่างองค์รวมจำเป็นต้อง ‘โค้ช’ ไปถึงพ่อแม่ด้วย แครอล ดเวค (Carol Dweck) นักจิตวิทยาการเรียนรู้ผู้เขียน Mindset บอกว่า “ถ้าพ่อแม่อยากให้ของขวัญล้ำค่ากับลูก จงสอนให้เขารักความท้าทาย ตื่นเต้นกับความผิดพลาด สนุกสนานที่ได้พยายามและตั้งหน้าตั้งตาเรียนรู้ต่อไปไม่รู้จบ”
อย่างไรก็ตาม การส่งข้อความทางโทรศัพท์อาจเป็นแค่น้ำจิ้มเล็กๆ ในยุคสมัยที่มีช่องทางโซเชียลอีกเป็นพะเรอเวียนที่ครูสามารถใช้ให้เป็นประโยชน์ ลองอัพรูปบรรยากาศห้องเรียนลง IG หรือ Facebook และติด Hashtag #ป.4/2ห้องครูวารี ลงคลิปกิจกรรมเสริมทักษะลง YouTube เป็นระยะๆ หรือที่สะดวกและแพร่หลายสุดน่าจะเป็นการตั้งกลุ่ม Line ไว้คอยส่งข่าวสารกิจกรรมในโรงเรียนหรืออัพเดตแลกเปลี่ยนตารางกิจกรรมกันระหว่างคุณครูกับพ่อแม่
ถักทอสัมพันธ์ที่สนับสนุนเกื้อกูลกันระหว่างเพื่อนครู
การสนทนาพาทีกับเพื่อนครูฉันมิตรเป็นรากฐานของความสัมพันธ์อันมีค่ายิ่งในสถาบันหรือองค์กรการศึกษา ยิ่งกับการสร้าง Growth Mindset ด้วยแล้ว นั่นหมายถึงบุคลากรในโรงเรียนเองก็ต้องเปิดกว้างและพร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เพราะเด็กๆ จะไม่มีทางขยับขยายความคิดให้เติบโตได้ด้วยแนวทางการเรียนรู้ซ้ำเก่าไม่เปลี่ยนแปลง
การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ ที่ต่างฝ่ายต่างนำมาใช้ในการเข้าถึงใจลูกศิษย์หรือวิธีสอนที่แปรเนื้อหาวิชายากๆ ให้เป็นเรื่องย่อยง่ายสำหรับเด็กจะช่วยยกวัฒนธรรมองค์กรให้เอื้อกับการหลอมรวมการเรียนรู้ของทั้งครูและนักเรียนให้เป็นหนึ่งเดียวกัน
อีกเช่นเคย เรามีวิธีสร้างสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนครูหรือชุมชนการเรียนรู้ทั้งในและนอกโรงเรียนมาแชร์กัน
- Mentoring น้อมรับคำวิจารณ์หรือข้อเสนอแนะจากครูคนอื่นอย่างเปิดกว้างและแบ่งปันความคิดเห็นของเราอย่างจริงใจด้วยเช่นกัน
- PLC Groups สร้างหรือเข้าร่วมชุมชนการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ (Professional Learning Community) กับผู้คนซึ่งทำงานด้านการศึกษาหลากหลายสาขาเพื่อเชื่อมโยงถึงแหล่งข้อมูลการเรียนรู้และโอกาสแลกเปลี่ยนวิทยายุทธ์เพื่อสร้าง Growth Mindset ให้เติบใหญ่ขยายเป็นวงกว้างในสังคมและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงร่วมกัน
- Committees หมั่นเข้าร่วมประชุมครู อย่าคิดว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อเพราะที่นั่นเราจะมีโอกาสได้พูดคุยหารือกับครูที่มีเป้าหมายและความคิดเหมือนกันกับเรา
- PBL Planning ออกแบบและวางแผนการจัดการเรียนรู้ร่วมกันเป็นทีม โดยหลอมการเรียนรู้ในระดับชั้นเดียวกันให้มีหลากหลายมิติวิชา หรือนำนักเรียนหลายระดับชั้นหรือต่างหลักสูตรมาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อผสานทักษะที่แตกต่างและฝึกการทำงานร่วมกันทั้งนักเรียนและตัวผู้สอนเอง
- Cooperative Teaching สอนร่วมกับครูท่านอื่นเพื่อสร้างบรรยากาศใหม่ๆในห้องเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เทคนิคการสอนซึ่งกันและกัน โดยอาจกำหนดเป็นช่วงเวลาหนึ่งเทอมหรือระยะเวลาสั้นๆ
- Book Clubs เลือกหนังสือที่เปิดมุมมองความคิดทางการศึกษาใหม่ๆ ให้ครูทุกคนในโรงเรียนได้อ่านแล้วมานั่งล้อมวงวิพากษ์ประเด็นความคิดความรู้สึกที่ได้จากหนังสือร่วมกัน นอกจากจะก่อให้เกิดบทสนทนาที่เป็นโอกาสให้เรียนรู้ร่วมกันยังเสริมเพิ่มพลังมิตรภาพระหว่างเพื่อนครูไปพร้อมกันด้วย
- Interpersonal Relationships อย่าปิดตัวเองด้วยการไม่ make friends กับครูคนไหนเลยที่โรงเรียน และหัวข้อสนทนากับเพื่อนครูก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องในโรงเรียนเสมอไป สัมพันธภาพในโรงเรียนไม่จำเป็นต้องเป็นวิชาการจ๋า แต่คือการสร้างความสัมพันธ์ที่สามารถสนับสนุนเกื้อกูลกันฉันมิตร
- Interest Inventories เริ่มปีการศึกษาด้วยการสำรวจความสนใจของครูในโรงเรียนแบบเปิดเพื่อให้ครูแต่ละคนทราบข้อมูลของกันและกันในเบื้องต้น นี่อาจเป็นการจุดประกายให้ครูที่มีความชอบเหมือนกันแต่ยังไม่เคยทำงานร่วมกันได้พัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปได้
หมดเวลาสำหรับการพัฒนาเด็กๆ แบบ ‘ตัวใครตัวมัน’ แล้ว เพราะพื้นที่การเรียนรู้ของเขาไม่ได้จำกัดอยู่แค่ในห้องเรียน โครงข่ายความสัมพันธ์ของครูจำเป็นต้องแผ่กิ่งก้านให้ครอบคลุมทั่วถึงครอบครัวที่บ้านและเป็นปึกแผ่นในองค์กร เพื่อสร้างกลไกการเปลี่ยนแปลงให้ไปในทิศทางเดียวกัน
พึงระลึกเสมอว่า “ตัวฉัน นักเรียน และบุคลากรทุกคนคือสมาชิกคนสำคัญของชุมชนการเรียนรู้แห่งนี้” ใครเลยจะรู้ว่าพลังสร้างสรรค์การเรียนรู้และพัฒนาตนเองของเด็กๆ ซึ่งสามารถพลิกฟื้นการศึกษาให้ก้าวไปข้างหน้า แท้จริงแล้วอยู่ในมิตรภาพและสายสัมพันธ์ที่มีครูเป็นผู้ถักทอนี่เอง