Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Adolescent BrainCharacter building
19 July 2022

สมองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้าใจผู้อื่นผ่านออนไลน์ สร้างภูมิคุ้มกันเด็กด้วยการจัดการเวลาหน้าจอ

เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • เมื่อธรรมชาติของสมองไม่ได้ทำงานสนับสนุนให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่นในโลกออนไลน์ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่ส่วนหนึ่งในโลกออนไลน์เต็มไปด้วยการล่วงละเมิดและหมิ่นประมาท โดยเฉพาะการใช้คำพูดหรือข้อความที่สามารถทำร้ายจิตใจผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย
  • การรู้เท่าทันข้อดีข้อเสียของโลกเสมือนจริงนี้ จะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของตัวเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น วางแนวทางที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
  • นอกจากการจำกัดเวลาหน้าจอเด็กๆ แล้ว ยังมีการพัฒนาหลักสูตรความรู้เท่าทันสื่อในโรงเรียน ที่ช่วยสร้างทักษะด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลบนโลกออนไลน์ ชวนตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปและความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนตัดสินใจเชื่อ แสดงความคิดเห็นหรือนำไปแชร์ต่อ

การปฏิเสธวิทยาการและเทคโนโลยีไปเลยนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ง่าย ทางออกหนึ่งของปัญหานี้ คือ การบริหารจัดการเวลา การสร้างความรู้ความเข้าใจจนเกิดความรู้เท่าทัน และความเข้าใจธรรมชาติของสังคมทั้งในโลกแห่งความจริงและโลกเสมือนจริง

มาลองค้นหาวลีขึ้นต้นประโยคเหล่านี้ในกูเกิ้ลด้วยกัน

“I hate…” (ฉันเกลียด…)

“I am worried…” (ฉันกังวล…)

เจย์ เชตตี้ (Jay Shetty) นักเขียนและนักสร้างแรงบันดาลใจชาวอังกฤษเชื้อสายอินเดีย กล่าวถึงเรื่องนี้บนเวทีเสวนาครั้งหนึ่ง เขาเล่าว่าคำค้นหาที่ปรากฎขึ้นมาเป็นสองลำดับแรกบนกูเกิ้ล หากพิมพ์ว่า “I hate” คือ “I hate my life.” (ฉันเกลียดชีวิตตัวเอง) และ “I hate my job.” (ฉันเกลียดงานของฉัน)

ส่วนเมื่อลองพิมพ์ว่า “I am worried” สิ่งที่ปรากฏขึ้น คือ “I am worried about my future.” (ฉันกังวลเกี่ยวกับชีวิตของฉัน) และลำดับต่อมา คือ “I am worried about my mental health” (ฉันกังวลเกี่ยวกับสุขภาพจิตของฉัน)

เชตตี้ ชวนค้นหาต่อด้วยวลีคำถามที่ว่า “Will I” (ฉันจะ…..ไหม?)

“Will I always be depressed forever?” (ฉันจะซึมเศร้าไปตลอดชีวิตไหม?)

“Will I always be sad?” (ฉันจะเศร้าไปตลอดไหม?)

ข้อมูลจากคำค้นหาเหล่านี้บอกอะไรกับเราได้บ้าง? แล้วแต่ละคนรู้สึกอย่างไรกันบ้างเมื่อได้รับรู้ข้อมูลนี้? 

ความเชื่อมโยงระหว่างโซเชียลมีเดียกับภาวะซึมเศร้า

ในโลกดิจิทัลที่มีการประมาณการณ์ผู้ใช้งานกว่า 4 พันล้านคนทั่วโลกบนเครือข่ายโซเชียลมีเดียต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟสบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ติ๊กต็อก ฯลฯ ผลการวิจัยจากผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตชี้ให้เห็นว่า คนที่จำกัดการใช้เวลาบนโลกออนไลน์มักมี ‘ความสุข’ มากกว่าคนที่เกาะติดอยู่บนหน้าจอและใช้ชีวิตอยู่บนโซเชียลมีเดียอย่างไร้ขีดจำกัด เนื่องจากการใช้เวลาในโลกออนไลน์มากเกินไป มีโอกาสทำให้ผู้ใช้งานเสพเนื้อหาที่เป็นสิ่งเร้าเชิงลบ เช่น ข่าวสารหรือข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม การเปรียบเทียบทางสังคมและการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ 

นอกจากนี้การศึกษายังระบุด้วยว่าโซเชียลมีเดียสามารถกระตุ้นอารมณ์เชิงลบของผู้ใช้งาน ส่งผลกระทบให้ผู้เสพข้อมูลรู้สึกต้อยต่ำ ด้อยค่า และไม่พอใจในตนเอง ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดโรคซึมเศร้าหรือทำให้อาการของโรคซึมเศร้านั้นแย่ลง

“ปรากฎการณ์นี้กำลังสะท้อนให้เราเห็นว่าสิ่งเร้า ปัจจัยภายนอกและความวุ่นวายต่างๆ ที่เจอในชีวิต ทำให้เราห่างไกลและขาดการเชื่อมโยงกับตัวเอง มองไม่เห็นคุณค่าและเป้าหมายในชีวิตของตัวเอง” เชตตี้ กล่าว

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก ปี 2020 รายงานเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า พบประเด็นที่น่าสนใจ 4 ประการ พร้อมระบุผลจากการวิเคราะห์ว่าการใช้สื่อออนไลน์เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคซึมเศร้า เห็นได้จากอัตราความซึมเศร้าที่เพิ่มขึ้นสอดรับไปกับการมีส่วนร่วมในโซเชียลมีเดียที่เพิ่มขึ้น

  • ผู้คนจำนวน 264 ล้านคนทั่วโลกกำลังทุกข์ทรมานจากภาวะซึมเศร้า ซึ่งมีที่มาจากความรู้สึกไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง การมีสมาธิบกพร่อง และการนอนหลับไม่สนิท รวมถึงอาการที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ  
  • วัยรุ่นอายุระหว่าง 13-18 ปี มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
  • อัตราความเสี่ยงของการเป็นโรคซึมเศร้าในวัยรุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 52 จากสถิติระหว่างปี 2005 – 2017 
  • อาการของโรคซึมเศร้าเชื่อมโยงกับปัญหาร้ายแรงอื่นๆ เช่น ความล้มเหลวทางการศึกษา การตั้งครรภ์โดยขาดการวางแผน ความสัมพันธ์ที่ไม่มีคุณภาพ และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อการใช้สารเสพติดและการฆ่าตัวตาย

สมองไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เข้าใจผู้อื่นผ่านหน้าจอ

ก่อนการเข้ามาของอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ลูกจะเข้ากับเพื่อนได้หรือเปล่า ลูกจะโดนแกล้งไหม หรือลูกจะเรียนรู้เรื่องไหม? สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นความกังวลพื้นฐานสำหรับพ่อแม่เมื่อต้องส่งลูกไปโรงเรียน แต่ในโลกยุคดิจิทัลการกลั่นแกล้งรังแกทางไซเบอร์ (Cyber Bullying) หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘การบูลลี่’ นั้น ไม่จำเป็นต้องเกิดซึ่งหน้าหรือตัวต่อตัวอีกต่อไป เพราะข้อความต่างๆ ทั้งที่เป็นความจริงและไม่เป็นความจริง สามารถถูกนำมาเผยแพร่เพื่อเย้ยหยันหรือสร้างความอับอายให้กับคนๆ หนึ่ง ซ้ำยังสามารถเปิดพื้นที่ให้เพื่อนฝูงและคนแปลกหน้าเข้ามารุมแสดงความคิดเห็นเชิงลบทางหน้าจอได้อย่างอิสระและยังไม่มีมาตรการที่ดีพอเข้ามาจัดการอย่างรัดกุมได้

แดเนียล โกลแมน (Daniel Goleman) นักเขียน นักจิตวิทยา และนักข่าวสายวิทยาศาสตร์ ผู้มีผลงานที่มีชื่อเสียงด้านสมองและพฤติกรรมศาสตร์ นิยามคำว่า ‘cyber-disinhibition’ ขึ้นมา เพื่ออธิบายว่าวิธีการที่เราปฏิบัติกับผู้อื่นออนไลน์นั้นไม่สอดคล้องกับวิธีการที่เราปฏิบัติกับผู้อื่นในชีวิตจริง ทั้งนี้ เนื่องจากระบบทางสังคมในสมองของมนุษย์พึ่งพิงเชื่อมโยงอยู่กับการตอบสนองที่เกิดขึ้นซึ่งหน้าในทันที แต่การสื่อสารในโลกออนไลน์ขาดปฏิสัมพันธ์ในส่วนนี้ พูดง่ายๆ คือว่า ธรรมชาติไม่ได้สร้างมนุษย์ให้ปฏิสัมพันธ์กันผ่านข้อความบนหน้าจอด้วยวิธีการต่างๆ ที่เกิดขึ้นอยู่ในโลกดิจิทัล

สมองของมนุษย์ถูกออกแบบมาสำหรับการตอบโต้แบบเห็นหน้ากัน ศูนย์รวบรวมอารมณ์ในส่วนย่อยของเปลือกสมอง (subcortex) จะทำงานอย่างรวดเร็วโดยที่เราไม่รู้ตัว เพื่อรับข้อมูลที่หลากหลายจากผู้คนและสภาพแวดล้อมรอบตัวแล้วส่งแรงกระตุ้นที่นำไปสู่การตอบสนองของแต่ละบุคคลว่าจะทำหรือพูดอะไรออกไป ขณะที่วงจรส่วนหน้าของสมองกลีบหน้าผาก (prefrontal cortex) ทำหน้าที่ช่วยประสานให้การปฏิสัมพันธ์ในวงจรเหล่านี้เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งโดยการยับยั้งแรงกระตุ้นทางอารมณ์ที่จะผลักดันให้เกิดการตอบสนองด้วยพฤติกรรมในทิศทางที่ไม่เหมาะสม 

อย่างไรก็ตาม กระบวนการตอบโต้และสื่อสารที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ ทำให้วงจรสมองขาดการถูกกระตุ้นแบบ ‘ซึ่งหน้า’ และไม่ได้รับการส่งสัญญาณที่จำเป็นต่อการสร้างความเข้าใจ หรือ ความรู้สึกร่วมว่าผู้อื่นรู้สึกอย่างไร (Emotional Empathy) แต่จะพึ่งพาความเข้าใจว่า ผู้อื่นคิดต่อเรื่องนั้นๆ อย่างไร (Cognitive Empathy) มากขึ้น นั่นหมายความว่าเราจะสัมผัสอารมณ์ความรู้สึกจากการตอบสนองของผู้อื่นได้เพียงเล็กน้อย หรืออาจไม่สามารถสัมผัสและเข้าใจความรู้สึกหรือความคิดของผู้อื่นจริงๆ ได้เลยผ่านข้อความที่ปรากฎขึ้น

เมื่อธรรมชาติของสมองไม่ได้ทำงานสนับสนุนให้เราเข้าอกเข้าใจผู้อื่นในโลกออนไลน์ได้ จึงไม่น่าแปลกใจที่พื้นที่ส่วนหนึ่งในโลกออนไลน์เหล่านี้เต็มไปด้วยการล่วงละเมิดและหมิ่นประมาท โดยเฉพาะการใช้คำพูดหรือข้อความที่สามารถทำร้ายจิตใจผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย

จำกัดเวลาและหันมารู้เท่าทันความเป็นไปในโซเชียล 

ถึงแม้อีกด้านหนึ่งในวงวิชาการยังมีการตั้งคำถามและถกเถียงกันว่า การใช้โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า หรืออาการของโรคซึมเศร้าเป็นแรงขับให้เกิดการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อชดเชยความต้องการบางอย่าง อย่างไรก็ตาม การรู้เท่าทันข้อดีข้อเสียของโลกเสมือนจริงนี้ จะช่วยให้ผู้ปกครองเข้าใจความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมที่แสดงออกของตัวเองและเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น เมื่อผู้ใหญ่มีความเข้าใจก็จะช่วยวางแนวทางที่เหมาะสมให้กับเด็กๆ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและป้องกันผลเสียที่อาจเกิดขึ้นได้

ตามทฤษฎีการใช้อินเทอร์เน็ตเพื่อการชดเชย (Theory of Compensatory Internet) มองว่า กิจกรรมออนไลน์เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกเชิงลบ หรือเติมเต็มความต้องการทางจิตใจที่ไม่ได้รับการตอบสนองจากสังคม เช่น ผู้ป่วยที่ทรมานจากโรคซึมเศร้าหันไปพึ่งพาเครือข่ายสังคมออนไลน์ เพื่อสร้างตัวตนและการตรวจสอบทางสังคมจากยอดไลก์และยอดผู้ติดตาม เช่นเดียวกับโมเดลปัญญาสังคม (Sociocognitive model) เกี่ยวกับการเสพติดการใช้งานในโลกอินเทอร์เน็ตที่มองสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่สร้างแรงจูงใจและตอบสนองทางจิตใจของผู้ใช้ แต่ก็เป็นอันตรายต่อผู้ที่ขาดทักษะการกำกับตนเอง (self-regulation)

พ่อแม่ควรจำกัดเวลาเด็กๆ ในโลกออนไลน์แค่ไหน มากแค่ไหนถึงจะพอ?

สถาบันจิตเวชเด็กและวัยรุ่นอเมริกัน (American Academy of Child and Adolescent Psychiatry) ได้ให้แนวทางการจัดการเวลาหน้าจอสำหรับเด็กๆ ไว้ ดังนี้

  • สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี จำกัดเวลาหน้าจอที่ไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาไว้ที่ประมาณ 1 ชั่วโมงต่อวัน และ 3 ชั่วโมงในวันหยุดสุดสัปดาห์
  • สำหรับเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไป ส่งเสริมอุปนิสัยที่ดีด้วยการจัดสมดุลในการใช้ชีวิต จากการวางข้อตกลงร่วมกันในครอบครัว เช่น ไม่ใช้มือถือขณะร่วมโต๊ะอาหารหรือขณะใช้เวลาร่วมกับครอบครัว แน่นนอนว่าเพื่อเป็นตัวอย่างที่ดีผู้ปกครองจำเป็นต้องปฏิบัติตามข้อตกลงเช่นเดียวกัน 
  • ผู้ปกครองเรียนรู้การใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยจัดการ เช่น แอพควบคุม/จำกัดเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดียในมือถือ
  • ผู้ปกครองหลีกเลี่ยงการใช้มือถือ หรือการใช้ภาพเคลื่อนไหวบนหน้าจอหลอกล่อเด็ก 
  • ปิดหน้าจอ แล้วนำเครื่องมือสื่อสารออกจากห้องก่อนนอน 30-60 นาที

ผลจากการศึกษา พบว่า การจำกัดเวลาการใช้งานโซเชียลมีเดียช่วยลดผลกระทบด้านสุขภาพจิตทั้งในวัยเด็ก วัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ได้ งานวิจัยชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นผลลัพธ์จากการจำกัดเวลาการใช้โซเชียลมีเดียเหลือ 30 นาทีต่อวันที่ช่วยบรรเทาความรู้สึกเหงาและซึมเศร้าได้ภายใน 3 สัปดาห์ 

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งพบว่าการงดเล่นโซเชียลมีเดียหนึ่งสัปดาห์ช่วยลดระดับความเครียดในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตอยู่แล้วได้ 

นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาหลักสูตรความรู้เท่าทันสื่อ (Media Literacy) ในโรงเรียน ที่ช่วยสร้างทักษะด้านการตรวจสอบ วิเคราะห์ และแยกแยะข้อมูลต่างๆ บนโลกออนไลน์ให้กับผู้เรียน ชวนผู้เรียนตั้งคำถามถึงที่มาที่ไปและความน่าเชื่อถือของข้อมูลก่อนตัดสินใจเชื่อ แสดงความคิดเห็นหรือนำไปแชร์ต่อ 

ทั้งนี้ เชื่อว่าหากสามารถสร้างภูมิคุ้มกันให้เด็กๆ รู้เท่าทันการใช้งานโซเชียลมีเดียและโลกออนไลน์ตั้งแต่ยังเล็ก แล้วให้อิสระพวกเขาได้เล่นและเรียนรู้จากสิ่งที่สัมผัสได้จริงรอบตัว จะช่วยถนอมความเป็นเด็กสดใส ร่าเริงและช่างสงสัย คำค้นหาต่างๆ ที่เชตตี้กล่าวถึงไว้ในตอนต้นน่าจะมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง

https://thepotential.org/knowledge/media-literacy/

อ้างอิง

https://www.frontiersin.org/articles/10.3389/fpsyt.2021.641934/full

https://www.verywellmind.com/social-media-and-depression-5085354

https://www.kornferry.com/insights/this-week-in-leadership/emotional-intelligence-empathy-digital-age

https://www.aacap.org/AACAP/Families_and_Youth/Facts_for_Families/FFF-Guide/Children-And-Watching-TV-054.aspx

Tags:

ความเข้าอกเข้าใจ(empathy)โซเชียลมีเดียการจัดการเวลา

Author:

illustrator

วิภาวี เธียรลีลา

นักเขียนอิสระที่อยากเข้าใจวิถีชีวิตผู้คน เลยพาตัวเองไปใช้ชีวิตในลอนดอน ปักกิ่ง เซินเจิ้นและอเมริกา กินมังสวิรัติ อินกับโภชนาการ กำลังเรียนเป็นนักปรับพฤติกรรมสุนัขและชอบกินกาแฟใส่ฟองนม

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • what-about-me-effect-nologo
    How to enjoy lifeSocial Issues
    ‘What About Me Effect’ แค่ถามหรือเรียกร้องความสนใจ ปรากฎการณ์ปัจเจกนิยมเกินเหตุในโซเชียลมีเดีย

    เรื่อง ศุภณัฐ เติมชัยอนันต์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Character building
    ทุกคน คือ ‘Active Citizen’: สร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ จากเรื่องใกล้ตัว

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    หมอโอ๋: พ่อแม่ที่ไม่สร้างบาดแผลให้ลูก คือพ่อแม่ที่ไม่ได้เลี้ยงลูก

    เรื่องและภาพ The Potential

  • Education trend
    เอาชนะหุ่นยนต์ได้ด้วยการ ‘เอาใจเขามาใส่ใจเรา’ และความฉลาดทางอารมณ์

    เรื่อง วิภาวี เธียรลีลา

  • Life classroom
    PERFECTIONISM อย่าหวดวัยรุ่นด้วยความสมบูรณ์แบบอีกเลย

    เรื่อง บุญชนก ธรรมวงศา

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel