- จัดบรรยากาศห้องเรียนให้น่าเรียนและมีผลลัพธ์สูง (high-performing classroom) ด้วยการใส่พลังการมีส่วนร่วม ความยอมรับนับถือ การฟัง การแลกเปลี่ยน ฯลฯ นอกจากจะดีต่อใจนักเรียนแล้ว ยังดีต่อใจครูอีกด้วย เพราะจะช่วยให้ชีวิตครูง่ายขึ้น มีปัญหาจากความประพฤติของนักเรียนน้อยลง
- ปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียนมีอยู่ 4 ปัจจัยด้วยกัน ได้แก่ ร่ำรวยการยอมรับ (affirmation) ร่ำรวยสภาพที่ตรงตามความต้องการของนักเรียน (relevancy) ร่ำรวยการผูกพัน (engagement) ตัวนักเรียนและร่ำรวยปฏิสัมพันธ์ (relationship) ห้องเรียนไหนที่มีปัจจัยดังกล่าวจะช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกปลอดภัย กล้าเรียนรู้แบบกล้าเสี่ยง ทั้งเสี่ยงเชิงวิชาการและเชิงพฤติกรรม รวมทั้งช่วยให้นักเรียนกล้าฝันในลักษณะของ ‘ฝันใหญ่’
- ชุดความคิดนี้เริ่มจากการทำให้นักเรียนแต่ละคนรับรู้ว่า ครูและคนอื่นๆ ในชั้นเรียนรับรู้ตัวตนของนักเรียน รับรู้สิ่งที่นักเรียนมุ่งหวัง และรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน โดยเครื่องมือทำให้เกิดการรับรู้นี้มี 3 ชิ้น คือ หนึ่ง – ความหมาย (relevance) ต่อนักเรียน สอง – เสียง (voice) ของนักเรียน และสาม – วิสัยทัศน์ (vision) ของนักเรียน
สาระหลักในบันทึกนี้ คือ นักเรียนจากครอบครัวขาดแคลนมาโรงเรียนพร้อมกับผลลบจากความเครียดเรื้อรัง ทำให้สมองไม่เปิดและขาดแคลนทักษะหลายด้านที่สำคัญต่อการเรียนรู้ มี ‘ยาวิเศษ’ แก้ข้อด้อยของนักเรียนเหล่านี้คือ ความรู้สึกว่าตนได้รับการยอมรับนับถือจากครูและเพื่อนๆ หรือศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของนักเรียนได้รับการยอมรับ หรือ เอกลักษณ์ (identity) ของนักเรียนแต่ละคนได้รับการยอมรับ รายละเอียดในบันทึกนี้ในส่วนต้นเป็นเรื่องทฤษฎีที่ได้จากการวิจัย และส่วนหลังเป็นภาคปฏิบัติซึ่งก็มีหลักฐานจากงานวิจัยเช่นเดียวกัน
ทฤษฎี
ชื่อของตอนที่ 4 ในหนังสือภาคภาษาอังกฤษใช้คำว่า rich (ร่ำรวย) ซึ่งพุ่งเป้าไปที่สภาพห้องเรียนที่มีบรรยากาศที่ร่ำรวย ปัจจัยที่สำคัญยิ่งต่อการเรียนรู้ของนักเรียน 4 ปัจจัย ได้แก่ ร่ำรวยการยอมรับ (affirmation) ร่ำรวยสภาพที่ตรงตามความต้องการของนักเรียน (relevancy) ร่ำรวยการผูกพัน (engagement) ตัวนักเรียนและร่ำรวยปฏิสัมพันธ์ (relationship) ระหว่างมนุษย์
บรรยากาศห้องเรียนเช่นนี้ ช่วยให้นักเรียนรู้สึกผ่อนคลายและรู้สึกปลอดภัยที่จะกล้าเรียนรู้แบบกล้าเสี่ยง ทั้งเสี่ยงเชิงวิชาการและเชิงพฤติกรรม รวมทั้งช่วยให้นักเรียนกล้าฝันในลักษณะของ ‘ฝันใหญ่’
คำว่า บรรยากาศ (climate) ในที่นี่มีองค์ประกอบ คือ พลังการมีส่วนร่วม สปิริต ความยอมรับนับถือ การเรียนรู้ การเคลื่อนไหว การฟัง การแลกเปลี่ยน การใคร่ครวญสะท้อนความคิด และเป้าใหญ่ ทั้งหมดนี้นำไปสู่สภาพห้องเรียนที่มีผลลัพธ์สูง (high-performing classroom) และมีความเท่าเทียมสูง
ห้องเรียนที่มีบรรยากาศเช่นนี้ ไม่ใช่ดีต่อนักเรียนเท่านั้นแต่ยังดีต่อครูด้วย เพราะจะช่วยให้ชีวิตครูง่ายขึ้น มีปัญหาจากความประพฤติของนักเรียนน้อยลง
ครูที่จัดให้ห้องเรียนมีบรรยากาศดังกล่าว ต้องมีชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม (rich classroom climate mindset) ซึ่งตรงกันข้ามกับชุดความคิดห้องเรียนแบบเดิมๆ (traditional classroom climate mindset)
ในชุดความคิดห้องเรียนแบบเดิมกำหนดว่า นักเรียนต้องมาโรงเรียนพร้อมกับความตั้งใจเรียน รู้ว่าจะต้องประพฤติตัวอย่างไร รู้ว่าจะทำงานเป็นทีมอย่างไร รู้ว่าจะถามคำถามที่เหมาะสมอย่างไร และรู้ว่าจะต้องเรียนรู้หลักการยากๆ ด้วยตนเองโดยไม่มีคนช่วย วาทกรรมของครูที่มีชุดความคิดนี้ คือ ‘ฉันมีหน้าที่สอนเนื้อหาวิชาความรู้ หากคุณต้องการให้นักเรียนเรียนได้ดี จงบอกให้เขาตื่นและตั้งใจเรียน ห้องเรียนไม่ใช่สถานบันเทิง’
ในขณะที่ครูที่มีชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้มยึดถือวาทกรรมที่ตรงกันข้าม ได้แก่ ‘ฉันโฟกัสที่ผลลัพธ์การเรียนรู้ของนักเรียน และเชื่อมโยงสู่กระบวนการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ทางสังคมของทุกวัน’ รวมทั้งวาทกรรม ‘นักเรียนรู้ว่าชั้นเรียนของฉันมีไว้เพื่อการเจริญเติบโตของนักเรียน นักเรียนสามารถเป็นตัวของตัวเอง ปฏิบัติงานผิดพลาด รวมทั้งกล้าเสี่ยงต่อความผิดพลาดในการเรียน โดยมั่นใจว่าจะมีครูอยู่เคียงข้าง’
วัฒนธรรมของชั้นเรียนกับบรรยากาศของชั้นเรียน
หนังสือบอกว่า ‘วัฒนธรรมของชั้นเรียน’ กับ ‘บรรยากาศของชั้นเรียน’ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่เรา ปฏิบัติ (พฤติกรรมและลักษณะนิสัย) ส่วนบรรยากาศเป็นสภาพความรู้สึกของเรา
วัฒนธรรมเป็นตัวกำหนดและทำนายพฤติกรรม แต่บรรยากาศเป็นผลของพฤติกรรมและอารมณ์ร่วมของคนส่วนใหญ่ ซึ่งในกรณีของโรงเรียนบรรยากาศขึ้นอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกของนักเรียนทั้งหมดในขณะใดขณะหนึ่ง
บรรยากาศเป็นเรื่องชั่วคราวหรือชั่วขณะใดชั่วขณะหนึ่ง ส่วนวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ค่อนข้างถาวรและมาจากการสั่งสมระยะยาว การเปลี่ยนวัฒนธรรมต้องการการดำเนินการที่มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ และต้องดำเนินการต่อเนื่องระยะยาว แต่บรรยากาศเปลี่ยนได้ในบัดดล
ในบันทึกตอนที่ 12 – 14 นี้เราเน้นที่บรรยากาศ โดยการสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่มีการเรียนเข้ม มีพื้นฐาน จากวัฒนธรรมของโรงเรียนและชั้นเรียน เขาจึงแนะนำว่า ต้องสร้างวัฒนธรรมต้อนรับนักเรียนทุกคนให้มาโรงเรียน ไม่ใช่ต้อนรับเฉพาะนักเรียนที่ครูรัก หรือนักเรียนที่มีความประพฤติดีเท่านั้น
สร้างวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการใคร่ครวญสะท้อนคิดว่า พฤติกรรมของสมาชิกของแต่ละคนในโรงเรียนมีผลต่อสมาชิกทั้งหมดและต่อโรงเรียนอย่างไร เพื่อร่วมกันสร้างโรงเรียนให้เป็นชุมชนที่ยิ่งใหญ่
สร้างวัฒนธรรมที่ส่งเสริมวาทกรรมที่เอื้อให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีเกียรติ มีเป้าหมายยิ่งใหญ่ และมีพลัง โดยการพูดวาทกรรมเชิงบวกซ้ำๆ รวมทั้งสร้างสภาพที่เอื้อให้เกิดการเรียนรู้สูงสุด
บรรยากาศห้องเรียนเป็นผลรวมของสารพัดสิ่ง รวมทั้งการสร้างปฏิสัมพันธ์ การสอน การเรียนแบบร่วมมือกัน กลยุทธสร้างวินัย หลักสูตร ความคาดหวัง และความเอาใจใส่ (engagement) มีผลงานวิจัยว่า การสร้างบรรยากาศห้องเรียนที่ดีของครู มี effect size เท่ากับ 0.80 หรือเท่ากับการเพิ่มการเรียนรู้ถึง 2 ปี
บรรยากาศห้องเรียนที่มีบรรยากาศเชิงบวกสูงกับห้องเรียนที่มีบรรยากาศเชิงบวกต่ำเปรียบเทียบกันได้ตาม ตารางนี้
บรรยากาศเชิงบวกสูง | บรรยากาศเชิงบวกต่ำ |
ความริเริ่มสร้างสรรค์ | ความโกรธ |
รู้สึกมีความหวัง | สมองตื้อ |
ความอดทนมานะพยายาม | รู้สึกสิ้นหวัง |
ปัญญาญาณ | อยากออกจากโรงเรียน |
ความสนใจกว้าง | พฤติกรรมไม่ดี |
ความยืดหยุ่นต่อการรับรู้ | คิดวกวน |
มีทางเลือกในการแสดงพฤติกรรมเพิ่มขึ้น | มีทางเลือกในการแสดงพฤติกรรมจำกัด |
ผลลัพธ์ของชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม ห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม มีกระบวนการที่ซับซ้อนทางด้านสังคม อารมณ์ และวิชาการ ไม่ใช่ชั้นเรียนที่ครูแสดงความเข้มงวด ดุด่าว่ากล่าวนักเรียนที่ไม่ตั้งใจเรียน มีผลงานวิจัยระบุว่า ในสหรัฐอเมริกาโรงเรียนที่เด็กส่วนใหญ่ยากจนจำนวน 10 โรงเรียน พบว่า การจัดชั้นเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้มตามที่จะกล่าวถึงในบันทึกที่ 12 – 13 ทำให้ครึ่งหนึ่งของนักเรียนกลายเป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดี มีผลการเรียนอยู่ในร้อยละ 25 แรกของรัฐ
ผลงานวิจัยบอกอีกว่า ประสิทธิผลของครู (teacher effectiveness) เป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อความก้าวหน้าในการเรียนของศิษย์ (effect size 0.98) หากมีบรรยากาศชั้นเรียนแบบเรียนเข้มเสริมเข้าไป ผลดีที่เกิดต่อศิษย์จะยิ่งเพิ่มขึ้นได้อีกมากมาย
การพัฒนาชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้มได้สำเร็จ จะช่วยให้ห้องเรียนเป็นทั้งสวรรค์ของนักเรียน และของครู
ชุดความคิดนี้เริ่มจากการทำให้นักเรียนแต่ละคนรับรู้ว่า ครูและคนอื่นๆ ในชั้นเรียนรับรู้ตัวตนของนักเรียน รับรู้สิ่งที่นักเรียนมุ่งหวัง และรับรู้ความรู้สึกนึกคิดของนักเรียน โดยเครื่องมือทำให้เกิดการรับรู้นี้มี 3 ชิ้น คือ หนึ่ง – ความหมาย (relevance) ต่อนักเรียน สอง – เสียง (voice) ของนักเรียน และสาม – วิสัยทัศน์ (vision) ของนักเรียน
มีความหมายต่อนักเรียน
เรื่องที่มีความหมายต่อตัวนักเรียนมีความละเอียดอ่อนและซับซ้อน และมีความแตกต่างหลากหลายในนักเรียนในชั้น หากเน้นที่บทเรียนคำถามที่ใช้ในการหาความเหมาะสมหรือความจำเป็น คือ ‘ทำไมฉันต้องเรียนสิ่งนี้’ นั่นคือ บทเรียนต้องมีความหมายในความคิดของนักเรียนด้วย ไม่ใช่แค่มีความหมายในความคิดของครู
มองอีกมุมหนึ่งครูต้องช่วยให้นักเรียนเชื่อมโยงบทเรียนเข้ากับชีวิตในอนาคตของตนได้ ยิ่งในชั้นเรียนที่นักเรียน ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวขาดแคลน ซึ่งมักมาจากครอบครัวที่มีวัฒนธรรมย่อยหรือเป็นชนกลุ่มน้อย ครูต้องช่วยให้นักเรียนมองเห็นหรือเข้าใจว่า บทเรียนนั้นมีความหมายตามนัยวัฒนธรรมของตนอย่างไร หนังสือเรียกครูที่เอาใจใส่เรื่องนี้ว่า culturally responsive teacher (ครูที่เอาใจใส่วัฒนธรรมของนักเรียน) โดยครูพึงตอบคำถาม 4 ข้อ ต่อไปนี้
- ครูช่วยเสริมความมั่นใจ (affirming) หรือไม่ ครูที่ตระหนักในปัจจัยด้านวัฒนธรรมต่อการเรียนรู้จะหมั่นทำความเข้าใจ (validate) และเสริมความมั่นใจให้แก่ศิษย์ โดยต้องหาทางให้นักเรียนได้เล่าประสบการณ์ของตนที่บ้านให้เพื่อนๆ และครูรับรู้ เพื่อครูหาทางช่วยเหลือส่งเสริมให้นักเรียนจัดการโลกที่บ้าน (หรือชุมชน) กับโลกที่โรงเรียน และเชื่อมโยงสู่การเรียนรู้ของตนได้ เมื่อนักเรียนแชร์ประสบการในชุมชนของตนจบ ครูกล่าวว่า ‘ขอบคุณสมศรีมาก ครูดีใจที่เธอแชร์เรื่องนี้ต่อเพื่อนๆ การที่เราเรียนรู้เรื่องราวของกันและกันมีความสำคัญมาก’
- การสอนของครูมีความแตกต่างหลากหลายหรือไม่ การสอนนักเรียนที่มาจากครอบครัวขาดแคลน ต้องมีลักษณะที่ ‘สอดคล้องกับวัฒนธรรม (culturally relevant)’ โดยต้องใช้สื่อการสอนที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมของนักเรียนเพื่อสร้างการเรียนรู้ ความรู้ ทักษะ คุณค่า และเจตคติ ผ่านบรรยากาศในห้องเรียน วิธีการสอน และวิธีประเมิน หากจะมีการฉายภาพคน ต้องพยายามหาคนที่มีหน้าตาบ่งบอกว่าเป็นคนในวัฒนธรรมเดียวกันกับนักเรียน และเน้นใช้ reciprocal teaching (ครูกับนักเรียนผลัดกันทำหน้าที่นำกระบวนการเรียนรู้ในหน่วยย่อยของคาบเรียน) และ cooperative learning (นักเรียนผลัดกันแสดงบทบาทหลากหลายบทบาทในชั้นเรียน)
- ครูช่วยเอื้ออำนาจ (empower) แก่นักเรียนหรือไม่ ทำโดยเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ผลัดกันแสดงบทบาทผู้นำในชั้น การเชิญบุคคลที่มีเชื้อชาติเดียวกันกับนักเรียนมาเป็นแขกหรือวิทยากรเฉพาะเรื่องก็เป็นการเอื้ออำนาจแก่นักเรียน การที่นักเรียนได้รับการเอื้ออำนาจ มีผลต่อสมรรถนะทางวิชาการ ความมั่นใจตนเอง ความกล้า และการแสดงบทบาทในชั้นเรียน
- ครูช่วยเปลี่ยนชีวิตให้แก่นักเรียนหรือไม่ นี่คือการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (transformative learning) ครูต้องร่วมกับนักเรียนทำความเข้าใจด้านลบของการศึกษาที่ไม่ดี ครูต้องช่วยให้นักเรียนเติบโตทางวิชาการ มีเป้าหมายชีวิต เตรียมตัวเข้าสู่การมีงานทำ รวมทั้งช่วยติวพิเศษเพื่อไปสอบเข้าโรงเรียนชั้นมัธยม เป้าหมายคือ ช่วยให้นักเรียนหลุดพ้นจากสภาพยากจนในอนาคต
ครูที่เอาใจใส่วัฒนธรรมของนักเรียน จะทำความรู้จัก ให้ความยอมรับ และเอาใจใส่ นักเรียนทุกคน โดยกำหนดความคาดหวังสูง จัดหลักสูตรเข้ม และจัดการสนับสนุนที่ต้องการ เพื่อให้นักเรียนบรรลุเป้าหมายตามความคาดหวังที่กำหนด และต้องหมั่นทบทวนไตร่ตรองพฤติกรรมของตนเองว่า เผลอแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างไรบ้าง และดำเนินการแก้ไขตนเอง
เสียงของนักเรียน
เมื่อนักเรียนได้มีโอกาสพูดหรือแสดงออก นักเรียนจะรู้สึกว่าได้รับฟัง และได้รับความเข้าใจ ช่วยสร้างความมั่นใจตนเอง และความรู้สึกว่าสามารถกำกับการเรียนรู้ของตนเองได้ ครูต้องรับฟัง เสริมความมั่นใจ และค่อยๆ ทำให้นักเรียนเข้าใจความแตกต่างระหว่างความเห็น (opinion) กับความจริง (fact) โดยครูอาจใช้คำพูดในทำนอง ‘ครูชอบมากที่เธอแชร์ความเห็นต่อชั้นเรียน และหวังว่าพรุ่งนี้เธอจะแสดงความเห็นอีก’
การได้แสดงความคิดเห็นและได้รับการรับฟัง ถือเป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ ช่วยให้รู้สึกว่าตนมีความสำคัญ ได้รับความชื่นชม ได้รับเกียรติ ได้รับความยอมรับนับถือ ยิ่งนักเรียนจากครอบครัวด้อยโอกาส ยิ่งต้องการสิ่งนี้มากเป็นพิเศษ เพราะจะช่วยลดความเครียดและช่วยพัฒนาทักษะยืนหยัดในสถานการณ์เลวร้าย ให้ไม่เกิดความเครียด มีผลงานวิจัยบอกว่า นักเรียนที่รู้สึกว่าได้รับการยอมรับในชั้นเรียนตั้งแต่สองสามสัปดาห์แรกของเทอมจะเพิ่มความเอาใจใส่ในการเรียน และพฤติกรรมนี้จะดำรงต่อเนื่องไปตลอดรายวิชานั้น
ในสหรัฐอเมริกามีขบวนการสร้างความรู้สึกมีตัวตนของเด็กด้อยโอกาส เพื่อแก้ปัญหาการเรียนและปัญหาสังคม ดังตัวอย่างโปรแกรม We All Have a Voice
หนังสือแนะนำวิธีส่งเสริมให้นักเรียนแสดงออก ดังต่อไปนี้
- เชื้อเชิญให้นักเรียนแชร์ความต้องการของตน โดยเปิดช่องทางเสนอความต้องการหลากหลายแบบ
- ทำความเข้าใจนักเรียน และใช้เป็นฐานของปฏิสัมพันธ์ ครูทำความเข้าใจความรู้ปฏิบัติ (tacit knowledge) ทักษะด้านสังคมและด้านจิตใจ และแวดวงสังคมของนักเรียน
- เชิญชวนให้นักเรียนระบายปัญหาส่วนตัวกับผู้ใหญ่ที่ยินดีรับฟัง มีผู้ใหญ่ที่นักเรียนไว้วางใจ และรับฟังนักเรียนเป็น เช่น ครูประจำวิชา ครูแนะแนว ผู้ปกครองนักเรียนบางคน โดยที่คนเหล่านี้ต้องมีทักษะรับฟังและรักษาความลับได้
- ส่งเสริมให้นักเรียนกล้าเสี่ยง กล้าเสี่ยงในที่นี้หมายถึงเสี่ยงในการก่อการดี เช่น สร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียน สมัครเป็นกรรมการนักเรียน รวมทั้งทำกิจกรรมในชุมชน
- เชื้อเชิญให้นักเรียนมีหุ้นส่วน โดยที่หุ้นส่วนอาจเป็นผู้ใหญ่ที่หวังดีที่จะช่วยให้คำแนะนำเรื่องวิธีสื่อสารกับพ่อแม่
- สร้างแรงบันดาลใจให้นักเรียนเขียนและพูดต่อสาธารณะ เพื่อสร้างความมั่นใจและสร้างทักษะทางสังคม
มีผลงานวิจัยบอกว่าในช่วงวัยรุ่นมนุษย์เราแต่ละคนจะแสวงหาอัตลักษณ์ หรือความมีตัวตนของตนเอง การช่วยให้เกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ของตนเองจะส่งผลต่อการปรับตัวและพัฒนาการ
การที่ครูช่วยให้นักเรียนมีความยอมรับอัตลักษณ์ของตนเอง โดยการกล้าแสดงความคิดเห็นเป็นการเอื้ออำนาจให้แก่นักเรียน
วิสัยทัศน์ของนักเรียน
ในที่นี่วิสัยทัศน์ของนักเรียนหมายถึง ความคาดหวังต่ออนาคตของตนเอง หากความคาดหวังหรือเป้าหมายนี้เชื่อมเป็นเนื้อเดียวกันกับการเรียน การเรียนหรือชีวิตในโรงเรียนก็จะมีพลัง นักเรียนจะเป็นเจ้าของการเรียนรู้เพื่ออนาคตของตนเอง
ครูพึงเชื่อมโยงวิสัยทัศน์ของนักเรียนนี้เข้ากับสาระในบันทึกที่ 5 ตั้งเป้าหมายสูง เพื่อให้วิธีการในบันทึกที่ 5 ช่วยส่งเสริมความสำเร็จในการบรรลุเป้าหมายในอนาคตระยะยาวของนักเรียน โดยพึงตระหนักว่าเป้าหมายตามในบันทึกที่ 5 เป็นเป้าหมายจำเพาะ เฉพาะเรื่องการเรียนและเป็นเป้าหมายระยะไม่ยาวมาก คือ 1 ปี หรือ 1 เทอม แต่เป้าหมายที่เรียกว่าวิสัยทัศน์เป็นเป้าหมายชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องระยะยาวมาก เป็นหน้าที่ของครูที่จะช่วยส่งเสริมให้ ‘ฝันใหญ่’ ของนักเรียนโผล่ออกมา หรือพูดในอีกนัยหนึ่งว่าหนุนให้นักเรียนกล้าฝันและต้องไม่ใช่แค่ช่วยให้ฝัน ครูต้องช่วยฝึกทักษะในการทำให้ฝันเป็นจริงด้วย โดยเขาแนะนำ 3 วิธี
- ถาม ครูตั้งคำถามให้นักเรียนบอกความฝันในชีวิตว่า ในอนาคตเมื่อโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ต้องการมีชีวิตอย่างไร อยากประสบความสำเร็จในชีวิตในลักษณะไหน นักเรียนจำนวนหนึ่งจะตั้งเป้าไม่เป็นหรือไม่กล้าฝันใหญ่ เขาแนะนำให้ฟังหรืออ่านความฝันในชีวิตของคนอื่น เช่น ค้นด้วย Google ด้วยคำค้นว่า “teens or students who have changed the world” เขาแนะนำว่า เมื่อครูตั้งคำถามและนักเรียนตอบเรื่องความฝันในชีวิตของตนให้รับฟัง และทำความเข้าใจ อย่าตัดสิน แต่บอกนักเรียนให้เขียนแล้วแชร์กับเพื่อนสนิท ทำความชัดเจน และระบุขั้นตอนเพื่อการบรรลุเป้าหมาย
- ช่วย ครูช่วยให้นักเรียนทำความชัดเจนของเป้าหมาย โดยใช้เกณฑ์ SMART (strategic & specific, measurable, amazing, relevant และ time bound) ให้นักเรียนบอกว่า ผลลัพธ์สุดท้ายมีภาพเป็นอย่างไร อธิบายเป็นถ้อยคำได้อย่างไร และก่อความรู้สึกอะไร
- ฝึกตั้งเป้าหมาย โดยเขียนในคอมพิวเตอร์หรือเท็บเล็ต หรือกระดาษฟลิปชาร์ต ทำเป็นเส้นทางตามช่วงเวลา จากจุดเริ่มต้นถึงเป้าหมายสุดท้าย และระบุเป้าหมายรายทางเป็นช่วงๆ ดีที่สุดหากร่วมกันทำกับเพื่อนคู่หู ให้นักเรียนระบุเป้าหมายรายทางที่จะบรรลุให้ได้ เช่น ได้เกรดสูงขึ้น แล้วคิดย้อนทาง (คิดจากผลไปหาเหตุ) ว่าตนเองจะทำอย่างไรบ้าง จะปรับปรุงตนเองเพื่อบรรลุเป้าหมายรายทางนั้นอย่างไร ครูทำหน้าที่ช่วยให้นักเรียนมีจิตจดจ่อมุ่งมั่นอยู่กับเป้าหมายปลายทางและเป้าหมายรายทางอย่างไม่ละลด โดยจัด
กิจกรรมให้นักเรียนแสดงผลลัพธ์ของเป้าหมายปลายทางด้วยท่าทางประกอบเพลง ที่เป็นเพลงเฉลิมฉลองความสาเร็จ เช่น ท่าทางตอนเรียนจบปริญญาตรี มีผลงานวิจัยบอกว่ากิจกรรมเช่นนี้มีผลเปลี่ยนสารเคมีในสมอง ทาให้เทสโทสเทอโรน(ฮอร์โมนที่สาคัญที่สุดของเพศชาย) เพิ่มขึ้น คอร์ติซอล (ฮอร์โมนก่อความเครียด) ลดลง ช่วยเพิ่มความรู้สึกมั่นใจว่าตนจะบรรลุความสาเร็จได้ และช่วยเพิ่มความกล้าเสี่ยง เกิดแรงบันดาลใจต่อการเรียน นอกจากนั้นเมื่อนักเรียนบรรลุความสาเร็จตามเป้าหมายรายทาง ครูต้องจัดกิจกรรมเล็กๆ เป็นการเฉลิมฉลองเพื่อสร้างแรงบันดาลใจต่อเนื่อง
เรื่องเล่าจากห้องเรียน
การเดินทางที่ท้าทายของคุณครูเกมส์ สาธิตา รามแก้ว ในปีการศึกษา 2562 ได้เริ่มต้นขึ้น เมื่อครูเกมส์ผันตัวเองจากครูผู้สอนหน่วยวิชาภูมิปัญญาภาษาไทยในระดับชั้น 5 มาสู่การสอนในระดับชั้น 6 เพราะต้องการสร้างการเติบโตให้กับตัวเอง ครูเกมส์บันทึกความคิดและการทางานในช่วงนี้เอาไว้ว่า
ด้วยความเชื่อที่มีอยู่ในใจการรับฟังกันอย่างลึกซึ้งจะก่อให้เกิดการเรียนรู้ที่สำคัญ และผู้เรียนจะได้สัมผัสกับการเรียนรู้เช่นนี้ได้ ก็ต่อเมื่อเรื่องราวที่นำมาเรียนรู้กันในห้องเรียนในแต่ละคราว เอื้อให้เขาได้มีส่วนในการเปิดเผยตัวตนของแต่ละคนออกมาเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มเพื่อนและเติบโตไปด้วยกัน การเรียนรู้ชนิดนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อสมาชิกในห้องทุกคนมีความรู้สึกว่า ได้เป็นเจ้าของการเรียนรู้นั้นด้วยตัวของเขาเอง
ถ้าการทำให้ผู้เรียนที่กำลังอยู่ในช่วงวัยรุ่นอยากก้าวเข้ามาเป็นเจ้าของการเรียนรู้ คือ โจทย์ปัญหาข้อใหญ่ของครู เค้าเงื่อนที่จะนำไปสู่วิธีการตอบโจทย์ท้าทายนี้ก็คือ การสร้างแผนการเรียนรู้ที่เอื้อให้พวกเขาได้แสวงหาอัตลักษณ์ และค้นพบที่มาของตัวตนนั่นเอง
แผนการเรียนรู้ในภาคเรียนฉันทะของนักเรียนระดับชั้น 6 จึงตั้งต้นจากการสร้างปฏิสัมพันธ์ให้ครูได้มีโอกาสทำความรู้จักและสร้างความคุ้นเคยกับผู้เรียนผ่านกิจกรรม “ค้นหานักอ่าน” ด้วยการไปรวบรวมข้อมูลการอ่านของนักเรียนทุกคนจากสถิติที่มีอยู่ในห้องสมุด แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในชั้นเรียนซึ่งข้อมูลชุดนี้จะประกอบไปชื่อผู้ยืม ชื่อหนังสือ ชื่อผู้แต่ง และประเภทของหนังสือ ที่ฉันใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการถักทอความชอบและความสนใจของแต่ละคนเข้ามาหากัน
กิจกรรมนี้ทำให้เราต่างได้เรียนรู้เหตุผลของแต่ละคนที่อยู่เบื้องหลังการเลือกอ่านหนังสือแต่ละเล่ม รับรู้ความสนใจที่หลากหลายของเพื่อนร่วมชั้นผ่านหนังสือที่พวกเขาเลือกหยิบมาอ่าน… แล้วทุกคนก็ต้องพบกับความแปลกใจเมื่อได้รู้ว่าเพื่อนแต่ละคนนั้นเป็นอย่างหนังสือที่เขาอ่านจริงๆ
กิจกรรม “นักเขียนในดวงใจ” เป็นกิจกรรมลำดับถัดมาที่นักเรียนแต่ละคนต้องไปสืบเสาะมาว่าคนในครอบครัวของตนชอบอ่านหนังสือของนักเขียนคนไหน แล้วบันทึกบทสัมภาษณ์มาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนในห้อง นักเรียนบางคนมาสะท้อนผ่านทั้งการพูดคุยและบันทึกการเขียนประเมินท้ายคาบว่า กิจกรรมนี้ทำให้ได้รู้จักตัวตน ความชอบ และรสนิยมในการอ่านของคนในครอบครัวมากขึ้น เพื่อนๆ และครูได้เห็นว่าพ่อแม่ของใครเป็นต้นแบบในการใช้ชีวิต และเป็นแบบอย่างในเรื่องการอ่านบ้าง
นอกจากนี้นักเรียนยังได้สืบค้นต่อไปอีกว่านักเขียนที่พ่อแม่ชื่นชอบนั้น เป็นใคร อยู่ในยุคสมัยไหน หน้าตาเป็นอย่างไร มีผลงานอะไรที่น่าสนใจบ้าง ฯลฯ ในขณะที่นักเรียนได้ผลัดกันมานำเสนอนิทรรศการเล่าเรื่อง “นักเขียนในดวงใจ” ของคนในบ้านให้เพื่อนและครูฟังนั้น หลายคนได้นำหนังสือรุ่นเก๋า ที่หน้าปกและรูปเล่มชี้ชัดถึงความเก่าติดมือมาเพื่อใช้ประกอบการแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ด้วยความภาคภูมิใจในเรื่องเล่าของตนเองด้วย
บทบาทของผู้ฟังคือ การชื่นชมงานเขียนของเพื่อนว่ามีเสน่ห์ในการใช้ภาษาอย่างไรบ้าง เพื่อนทำอะไรได้ดี มีเรื่องใดน่าประทับใจ ซึ่งช่วงเวลานี้คือนาทีทองที่ทุกคนมีโอกาสได้แสดงความรู้สึกของตนเองออกสื่อ ฉันสัมผัสได้ว่าพลังของการเรียนรู้ในห้วงเวลานั้นแผ่กระจายไปทั่วทุกมุมห้องเลยทีเดียว
กิจกรรมนี้ทำให้ฉันได้เรียนรู้ว่า การที่นักเรียนมีโอกาสได้พูดหรือได้แสดงออกโดยมีคนรับฟังอย่างตั้งใจ จดจ่อ ไม่ด่วนตัดสิน แต่ร่วมกันค้นหาข้อโดดเด่นที่เพื่อนทำได้ดีนั้น ทำให้ได้รับคำชื่นชม ได้รับการยอมรับนับถือจากกลุ่ม และนับเป็นการเปิดให้ผู้เรียนเห็นการเรียนรู้ของตนเองได้อย่างดียิ่ง ยิ่งนักเรียนเติมการเรียนรู้ของตนเองซึ่งกันและกันได้มากเท่าไหร่ โลกทัศน์ของเขาก็จะแหลมคมขึ้นเพียงนั้น ซึ่งมีผลทำให้การมองเห็นคุณค่าภายในตนเองแจ่มชัดขึ้นด้วย
ฉันนำพานักเรียนเดินทางย้อนกลับไปยังอดีต ผ่านหลักฐานชิ้นสำคัญของเริ่มด้วยศิลาจารึกหลักที่ 1 ในยุคสมัยสุโขทัย ด้วยการซึมซับเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์นับเริ่มตั้งแต่การกำเนิดอักษร ไปสู่สภาพความเป็นอยู่ของผู้คนที่ผูกโยงเอาเรื่องราวของวัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ความศรัทธาในพุทธศาสนาที่สืบสานมาช้านานเข้าไว้ด้วยกัน ผ่านการศึกษาศิลปกรรมของบ้านเมืองในยุคนั้น
บรรยากาศการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในห้องเรียนวันนั้น มีพลังดึงดูดให้การเรียนรู้ของพวกเขาดำดิ่งอยู่กับเรื่องราวของยุคสุโขทัยได้อย่างจดจ่อ ในขณะเดียวกันก็มีความลื่นไหล มีสติ และสมาธิที่แนบแน่นอยู่กับการสร้างสรรค์ชิ้นงาน “จินตภาพแห่งสุโขทัย” ได้อย่างต่อเนื่อง
มาถึงตอนนี้ฉันได้เรียนรู้และตระหนักว่า เมื่อครูปรับปรุงแผนการเรียนรู้ให้ใหม่ สุข และสดอยู่เสมอ ผู้เรียนก็พร้อมมอบความสุข สดใหม่ให้แก่ครูเช่นกัน เพราะทันทีที่ครูเปิดกว้างทางความคิด ไม่ปิดกั้นการแสดงออกของการเรียนรู้ และมีความลึกซึ้ง แม่นยำในเรื่องที่สอน ชัดเจนในเป้าหมายการเรียนรู้ ครูก็จะสามารถปรับกระบวนการเรียนรู้หรือออกแบบโจทย์การทำงานที่ตอบสนองผู้เรียนได้อย่างหลากหลาย และสามารถนำพาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายหลักได้ตามที่คาดหวัง
การนำพานักเรียนเข้าถึงภูมิปัญญาที่เป็นรากเหง้าของวัฒนธรรมไทยในยุคสมัยต่อมาจึงไม่ใช่เรื่องยากนัก เพราะถึงตอนนี้นักเรียนพร้อมเปิดใจ มีใจให้กับการเรียนรู้ และเกิดความเป็นเจ้าของการเรียนรู้ด้วยตนเองแล้ว การซึมซับเรื่องราวในสมัยอยุธยาและสมัยรัตนโกสินทร์จึงเป็นไปอย่างลื่นไหล เพราะพวกเขามีสายตามองเห็นถึงเสน่ห์ของลีลาภาษา ที่สืบเนื่องไปจนถึงเส้นสายลวดลาย ซึ่งสะท้อนถึงความงามอันเปี่ยมไปด้วยคุณค่าความเป็นไทยที่บรรพบุรุษของเราได้มอบไว้เป็นมรดกให้เราได้เรียนรู้ สืบสาน และสร้างสรรค์ต่อ
ตลอดทั้ง 10 สัปดาห์ในภาคเรียนฉันทะ พวกเขาได้ฝึกการใช้ใจไปทำความรู้จักเพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจในอัตลักษณ์และเสน่ห์ความเป็นไทย ที่เป็นบ่อเกิดเป็นความภาคภูมิใจ ความมั่นคงทางจิตใจ และสติปัญญาของการหยั่งรากลึกลงไปในตัวเอง ด้วยความผูกพันกับแผ่นดินแม่อย่างลึกซึ้ง ในบรรยากาศของห้องเรียนที่อัตลักษณ์และความเป็นมาของนักเรียนได้รับการยอมรับ ห้องเรียนนี้จึงร่ำรวยด้วยสภาพที่ตรงความต้องการของนักเรียน ด้วยความผูกพัน และด้วยปฏิสัมพันธ์ที่ทุกคนมีให้แก่กันอย่างเท่าเทียม
บทความนี้มาจากหนังสือสอนเข้มเพื่อศิษย์ขาดแคลน ซึ่งได้รับความกรุณาจากผู้เขียนทั้งสองท่านให้นำมาเผยแพร่ เป็นบทความที่ตีความจากหนังสือ ‘Poor Students, Rich Teaching: Seven High-Impact Mindsets for Students from Poverty’ (Revised Edition, 2019) เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) โดยผู้เขียนตีความให้เหมาะกับบริบทประเทศไทย พร้อมทั้งเรื่องเล่าจากห้องเรียนในประเทศไทยที่นำสาระของบทความนี้ไปใช้ บันทึกนี้เป็นบันทึกที่ 1 ใน 3 บันทึกภายใต้ชุดความคิดห้องเรียนที่มีบรรยากาศเรียนเข้ม (rich classroom climate mindset) ตีความจาก Part Four : Why the Rich Classroom Climate Mindset และ Chapter 10 : Engage Voice and Vision เขียนโดย อีริค เจนเซน (Eric Jensen) ผู้ที่ในวัยเด็กมีประสบการณ์การเป็นเด็กขาดแคลนอย่างรุนแรง และมีปัญหาการเรียนและเคยเป็นครูมาก่อน เวลานี้เป็นวิทยากรพัฒนาครู |