- เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้สมุดบันทึกของนักเรียนมีความหมายไปมากกว่าหลักฐานการให้คะแนน เป็นไปได้ไหมที่บันทึกการสอนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การสอนของครูเติบโตขึ้นได้จริง และเป็นไปได้ไหมที่วิจัยในชั้นเรียนจะไม่มองเพียงแค่ในชั้นเรียน
- ในห้องเรียนมีนักเรียนจำนวนไม่น้อยกลัวที่จะตอบคำถาม กลัวที่ครูจะเห็นคำตอบ เราต้องสร้างห้องเรียนที่ทำให้เขาเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองขึ้นมา ‘สมุดบันทึก’ จึงเป็นความเป็นไปได้แบบหนึ่งที่ครูสามารถนำไปสู่การพูดคุยและให้กำลังใจนักเรียนได้โดยตรง
- ความสำคัญของบันทึกการสอนคือพาให้เราได้มองลึกไปในรายละเอียดของสิ่งที่เรารับรู้หรือมองข้ามไป เป็นเสมือนงานวิจัยในตัวมันเอง ที่ครูอย่างเราจะได้เรียนรู้จากเมื่อวาน เพื่อสร้างห้องเรียนของพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น
หลายงานภายใต้นิยามคำว่า ‘งานครู’ ถูกกำหนดและทำซ้ำต่อกันมาจนกลายเป็นสิ่งที่ ‘ต้องทำ’ ไปตามธรรมเนียมมากกว่าจะถูกตั้งตำถามอย่างตรงไปตรงมาว่า เราทำสิ่งนั้นเพื่ออะไร? อะไรคือคุณค่าของมัน? และที่สำคัญที่สุด มันสามารถเป็นอย่างอื่นได้หรือไม่?
เมื่อปราศจากการตั้งคำถาม งานเหล่านั้นกลายเป็นเพียงพิธีกรรมหรือธรรมเนียมที่วางไว้ให้ครูอย่างเราๆ เดินตาม ราวกับว่านั่นเป็นทางเดินที่ถูกต้องที่สุดแล้ว เป็นไปได้ไหมที่จะทำให้สมุดบันทึกของนักเรียนมีความหมายไปมากกว่าหลักฐานการให้คะแนน เป็นไปได้ไหมที่บันทึกการสอนจะเป็นสิ่งที่ช่วยให้การสอนของเราเติบโตขึ้นได้จริง และเป็นไปได้ไหมที่วิจัยในชั้นเรียนจะไม่มองเพียงแค่ในชั้นเรียน
ในข้อเขียนนี้จึงอยากชวนมาคิดใหม่ (Rethinking) เกี่ยวกับงานทั้งสามนี้ เพื่อขยายความเป็นไปได้ของงานครู จากประสบการณ์การเป็นครูของตัวผมเองที่ผ่านมา
สมุดบันทึกของนักเรียน
เมื่อห้องเรียนเต็มไปด้วยความกลัว นักเรียนจำนวนไม่น้อยจึงกลัวที่จะตอบคำถาม กลัวที่ครูจะเห็นคำตอบ กลัวว่าหากตอบไปแล้ว เขาจะถูกหักคะแนนหรือถูกครูต่อว่าเมื่อตอบผิด แน่นอนว่าผมก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนเป็นนักเรียนผมแทบจะใช้มือปิดสมุดทุกครั้งที่ครูเดินผ่าน ผมกลัวครูเห็นคำตอบที่อาจจะผิด ครั้งเมื่อผมเป็นครูและได้สอนนักเรียนของผมในวันแรกๆ อาการแบบนี้ก็เกิดขึ้นเช่นกัน นักเรียนเลือกที่จะหลบซ่อนความคิดของเขาจากผม บางครั้งเมื่อต้องตอบคำถามในห้องหรือตอบลงไปในสมุด พวกเขามักจะถามผมว่า “ครู คำตอบนี้อยู่ตรงหน้าไหน ครูช่วยบอกมาเลยได้ไหม” พวกเขากลัวว่าคำตอบของตัวเองจะผิดไปจากสิ่งที่หนังสือบอก
หากเราอยากเห็นนักเรียนของเราไม่กลัวที่จะตอบ อยากเห็นเขากล้าที่จะแสดงความคิดของเขาออกมา กล้าที่จะคิดต่างออกไปจากตำราเรียนหรือคำตอบสำเร็จรูปที่คุ้นชิน เราจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างห้องเรียนที่ทำให้เขาเชื่อมั่นในศักยภาพตัวเองขึ้นมา
‘สมุดบันทึก’ (หรือสมุดจด) จึงเป็นความเป็นไปได้แบบหนึ่งที่ครูสามารถนำไปสู่การพูดคุยและให้กำลังใจนักเรียนได้โดยตรง
ดังนั้น แทบทุกครั้งเมื่อจบหน่วยการเรียนรู้ ผมใช้เวลาในช่วงเย็นนั่งอ่านบันทึกทุกเล่มของนักเรียนแต่ละคน สำรวจความคิดหรือสิ่งที่เขาสะท้อนจากการเรียนรู้ พร้อมๆ กับให้กำลังใจและให้ข้อสังเกตถึงความเปลี่ยนแปลงในตัวพวกเขา “ครั้งนี้เราเขียนได้ยาวขึ้นกว่าเดิม ครูชื่นชมมากๆ” “เยี่ยม มีการยกตัวอย่างประกอบ” “ทำได้ดีเลย ถ้าเพิ่ม…งานจะสมบูรณ์ขึ้นได้อีกนะ” หรือ “ขอบคุณมากที่พยายาม ครูเชื่อว่าเราจะทำได้ดีกว่าเดิมในครั้งหน้า”
เมื่อสมุดถูกคืนไปในวันรุ่งขึ้น สิ่งที่ผมสังเกตเห็นคือนักเรียนหลายคนยิ้มด้วยความดีใจเมื่อเขาได้อ่านสิ่งที่ผมเขียนให้กับเขา บางคนเดินมาสัญญาว่าครั้งหน้าเขาจะเขียนให้ดีขึ้นไปอีก จากที่นักเรียนเคยเชื่อว่าสมุดบันทึกเป็นเพียงแค่งานที่ต้องทำส่งครู เขียนไปแบบไหน อย่างไร ครูก็ไม่อ่าน ครูเพียงเช็คว่าใครส่งไม่ส่ง กลายเป็นสิ่งที่เขารอคอยว่าครูจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวเขาอย่างไร ครูคิดอย่างไรกับคำตอบของเขา ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้ ยังแปรผันตรงกับบรรยากาศในห้องเรียน ที่ซึ่งกำแพงความกลัวเหล่านั้นได้พังลง และนักเรียนหลายคนกล้าที่จะยกมือตอบคำถามมากขึ้น พวกเขาเปลี่ยนจากการถามหาคำตอบในหนังสือ เป็นการโต้แย้งและแลกเปลี่ยนความคิดกับเพื่อนของเขาแทน
บันทึกการสอน
จะว่าเป็นธรรมเนียมก็ว่าได้ ที่ในทุกๆ ท้ายเทอม ครูทุกคนจะถูกขอให้ส่งบันทึกหลังการสอน และผมก็ยอมรับเลยว่า ผมเบื่อที่จะเขียนมันมาก ผมจึงเขียนประโยคเดิมคล้ายๆ กันลงไปในทุกแผนการสอนเพื่อความรวดเร็ว เหตุผลก็เพราะเขียนไปก็ไม่มีใครอ่าน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นเพียงเอกสารที่ต้องส่งตามระบบราชการเท่านั้น แต่หากถามผมว่าการเขียนบันทึกการสอนสำคัญไหม คำตอบก็คงต้องบอกว่า สำคัญมากๆ แต่ต้องไม่ใช่การบังคับทั้งรูปแบบและวิธีการเขียนอย่างที่เป็นอยู่ สิ่งสำคัญที่ต้องมีคือการสนทนา
การเขียนบันทึกเรื่องราวการสอนไม่ควรอยู่ในกรอบของการรายงานผลตามตัวชี้วัด แต่มันควรเป็นช่วงเวลาที่เราจะได้มองย้อนกลับไปถึงการสอนของตัวเองในแต่ละวันหรือแต่ละสัปดาห์ที่เกิดขึ้น เป็นการค่อยๆ ทบทวนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนและกระบวนการสอนของเรา เราสังเกตเห็นอะไรบ้าง มีเหตุการณ์อะไรสำคัญ เราหลงลืมอะไรไปหรือไม่ ความคิดและความรู้สึกที่เราเผชิญหน้าเป็นอย่างไร เมื่อเราเริ่มมองย้อนหรือนึกถึงมัน จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความสำคัญของบันทึกการสอนคือมันจะพาเราไปพบกับช่วงเวลาสำคัญที่อาจเป็นเรื่องน่ายินดี ความท้าทาย ความกลัว หรือความผิดหวังก็ได้ เราอาจมีความสุขที่นักเรียนกระตือรือร้นในบทเรียน หรือในวันนี้เราอาจกำลังสอนด้วยความกลัวเมื่อเราไม่มั่นใจในกระบวนการที่เราเตรียมมา มากไปกว่านั้น มันอาจพาให้เราได้มองลงลึกไปในรายละเอียดของสิ่งที่เรารับรู้หรือมองข้ามไป เช่น เราอาจพบว่า วันนี้เรามีอคติกับนักเรียนคนหนึ่งมากไป หรือเราเผลอเลือกปฏิบัติกับเขาโดยไม่รู้ตัว
บันทึกเรื่องราวการสอนจึงเป็นเสมือนงานวิจัยในตัวมันเอง ที่ครูอย่างเราจะได้เรียนรู้จากเมื่อวาน เพื่อสร้างห้องเรียนของพรุ่งนี้ที่ดีขึ้น
แน่นอนว่า มันอาจะดีขึ้นไปอีกหากมีพื้นที่หรือชุมชนที่เราได้บอกเล่าบันทึกเรื่องราวของเรา เพราะบทสนทนาเหล่านั้นจะทำให้เราได้เรียนรู้จากเรื่องราวของคนอื่น ขณะเดียวกันคนอื่นก็ได้เรียนรู้จากเราเช่นกัน การได้บอกเล่าจะทำให้เราแต่ละคนได้มองเห็นบางสิ่งที่อาจมองข้ามไปในห้องเรียนของเรา และได้ทบทวนคุณค่าและความเชื่อในการสอนของตัวเองไปพร้อมกัน
วิจัย (ที่ไม่ต้อง) ในชั้นเรียน
ผมอยากเล่าถึงช่วงที่ผมสอนในโรงเรียนย่านชานเมือง ในเย็นวันหนึ่งก่อนกลับบ้าน ผมได้พูดคุยกับนักเรียนคนหนึ่งถึงการเดินทางมาโรงเรียน เขาเล่าให้ฟังว่าเขาได้เงินมาโรงเรียนวันละ 100 บาท แต่ทว่า 70 บาทต้องใช้เป็นค่าเดินทางไปกลับ ส่วน 30 บาทที่เหลือนั้นเป็นค่าอาหารกลางวันที่เขาต้องจ่ายให้โรงเรียน ทำให้เขาต้องอดอาหารเช้า ซึ่งแน่นอนว่ามันส่งผลถึงสมาธิในการเรียนช่วงเช้าของเขาเป็นอย่างมาก นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มมองเห็นถึงต้นทุนที่นักเรียนคนหนึ่งต้องแบกรับในการมาโรงเรียนซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและความเหลื่อมล้ำของสังคมไทยอย่างชัดเจน และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมได้เห็นว่า จริงๆ แล้ว ชีวิตของนักเรียนในรั้วโรงเรียนไม่ได้แยกขาดไปจากบริบททางสังคมที่เขาเติบโตมา เขาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรม ในระบบคุณค่าบางอย่าง เขาอยู่ภายใต้เงื่อนไขของโครงสร้างสังคมแบบหนึ่ง สิ่งที่ครูสังเกตเห็นเมื่อเขาอยู่ในห้องเรียนจึงไม่ได้แยกขาดจากสิ่งที่อยู่นอกห้องเรียนหรือนอกรั้วโรงเรียนแต่อย่างใด
เมื่อตัดภาพมาที่วิจัยในชั้นเรียนที่เราคุ้นเคย แทบจะพูดได้ว่าเกือบทั้งหมดมุ่งเน้นไปที่เรื่องของเทคนิควิธีการตามสูตรสำเร็จ เช่น ใช้เทคนิค A เพื่อผลลัพธ์ B ราวกับมีสมมติฐานว่า เรื่องราว ปัญหา หรือปรากฏการณ์ทางการศึกษานั้นเป็นเพียงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในชั้นเรียน ที่เพียงครูอย่างเราๆ พยายามทดลองสรรหาเทคนิควิธีการที่ดีที่สุดมาได้ ปัญหาก็จะได้รับการแก้ไข
เราควรเปลี่ยนการวิจัยให้เดินออกไปจากกรอบของเทคนิควิธีการในชั้นเรียน ด้วยการตั้งคำถามที่ต่างออกไป อาศัยการมองสิ่งที่เกิดขึ้นในมิติที่ลึกและเชื่อมโยง ซึ่งอาจเริ่มจากความสงสัยเล็กๆ ในแต่ละวัน จากการสังเกตและพูดคุยกับนักเรียนถึงเรื่องราวต่างๆ จากจุดเล็กๆ (ที่อาจรวมถึงการไปเยี่ยมบ้าน)
ซึ่งจะช่วยให้ครูในฐานะผู้วิจัยได้มาซึ่งข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ ตีความ และสรุปเป็นข้อค้นพบที่ถึงจะดูเล็กน้อยแต่มีความหมายขึ้นมาได้
ตัวอย่างเช่น เราอาจทำวิจัยเกี่ยวกับ ‘ความกลัวของนักเรียน’ ที่อาจช่วยให้ครูพบความกลัวหลากหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นในครอบครัวและโรงเรียนผ่านเรื่องราวของนักเรียน ความกลัวนั้นอาจสัมพันธ์กับอำนาจนิยม เช่น กลัวการบูลลี่ กลัวการถูกลงโทษ กลัวการถูกประจาน เป็นต้น ที่ส่งผลต่อการเรียนรู้และการใช้ชีวิตของนักเรียน หรือ เราอาจตั้งคำถามว่าทำไมนักเรียนถึงมีผลลัพธ์ในการเรียนที่แตกต่างกัน? ดังในงานวิจัยแนวมานุษยวิทยาการศึกษาชิ้นหนึ่งที่ได้ลงไปศึกษาครอบครัวผู้อพยพ 4 ครอบครัวในแคนาดาและพบว่า พัฒนาการทางภาษาที่สองจะดีขึ้นหรือไม่ของนักเรียนนั้น เกี่ยวข้องกับทุนทางสังคมและทุนทางวัฒนธรรมของแต่ละครอบครัวอย่างมีนัยยะสำคัญ (อ่านต่อได้ที่ https://thepotential.org/knowledge/sociology-of-education/)
ทั้งหมดนี้อาจเป็นงานสำคัญที่ช่วยให้ครูทำความเข้าใจตัวนักเรียนไปมากกว่าแค่ผลลัพธ์ที่เห็น หรือเป็นแค่งานที่ทำเพื่อส่งๆ ไปเท่านั้น