- กระบวนการเรียนรู้ของเด็กสำคัญมากกว่าคะแนน หรือ คะแนนสำคัญกว่า ยังคงเป็นข้อถกเถียง
- Project Based Learning หรือ PBL หรือหลักสูตรการเรียนรู้ผ่านโครงงาน สามารถกระตุ้นให้ครูผู้สอน ผู้ปกครองกับตัวเด็กเองทบทวนจุดประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษา เพราะให้ความสำคัญกับ ‘การพัฒนาทักษะ’ มากกว่าการเรียนเพื่อสอบ
- ผลลัพธ์ของเด็กนักเรียนที่ผ่านหลักสูตร PBL คือ มีอาชีพ มีชีวิตฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น และเป็นบุคลากรที่มีประโยชน์ต่อสังคมและขับเคลื่อนให้สังคมดีขึ้น
ปฏิเสธได้ยากว่ากระจกสะท้อน ‘ความเก่ง’ ของนักเรียน และ ‘คุณภาพ’ ของโรงเรียนคือคะแนนของพวกเขาในใบรายงานผลและเกรดเฉลี่ย ในเมื่อตัวชี้วัดที่สามารถประเมินประสิทธิภาพการสอนตามตำราได้อย่างชัดเจนคือผลคะแนน
แล้วโรงเรียนที่จัดการเรียนรู้แบบให้ความสำคัญกับ ‘การพัฒนาทักษะ’ ของนักเรียนมากกว่าการเรียนเพื่อสอบ โรงเรียนเหล่านั้นใช้อะไรเป็นตัวชี้วัดว่านักเรียนมีคุณภาพกัน?
ในบทความว่าด้วยเรื่องการจัดการเรียนรู้ให้เด็กพัฒนาทักษะต่างๆ ผ่านการทำโครงงานหรือที่เรียกว่า Project-Based Learning (PBL) เขียนโดย อามะดูว์ ดิเอลโล (Amadou Diallo) ซึ่งเผยแพร่ใน เดอะเฮคคินเจอร์ รีพอร์ต วารสารออนไลน์ที่นำเสนอแง่มุมต่างๆ ในแวดวงการศึกษาทั่วโลก ดิเอลโลเข้าไปเก็บข้อมูลที่โรงเรียนมัธยมซึ่งมีหลักสูตร PBL ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา หลายแห่งและพบว่า เมืองนี้กำลังขับเคลื่อนให้การจัดการเรียนรู้แบบนี้ถูกบรรจุในหลักสูตรสำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษา ด้วยเชื่อมั่นว่าเป็นแนวทางที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาเยาวชนในเมืองฟิลาเดลเฟียไปสู่ ‘ความสำเร็จ’ เพราะเด็กจะได้รับการเสริมสร้างทักษะจำเป็นซึ่งจะต่อยอดไปใช้ในระดับอุดมศึกษาและประกอบอาชีพเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่
ดิเอลโลตั้งคำถามสวนทางกับกระแสบวกของแนวทางนี้ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ด้วยหลักสูตรนี้โรงเรียนจะสามารถกระตุ้นให้ครูผู้สอน ผู้ปกครองกับตัวเด็กเองทบทวนจุดประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาชั้นมัธยมได้หรือไม่? เป้าหมายของ PBL คือให้เด็กทำคะแนนได้สูงขึ้นหรือเตรียมความพร้อมให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่?
การเรียนรู้แบบ PBL ที่น่าจะเป็นแนวทางพัฒนาแห่งความหวังให้นักเรียนเติบโตไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพ เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนสังคมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นนี้ กำลังได้รับความนิยมจากผู้สนับสนุนด้านการศึกษาและองค์กรให้ทุนต่างๆ อย่างแพร่หลายมากขึ้นในฟิลาเดลเฟีย
การเรียนรู้แบบนี้ นักเรียนเป็นผู้ค้นคว้าหัวข้อโครงงานที่เกี่ยวข้องกับชุมชนความเป็นอยู่ของตนเอง โดยมีครูเป็นเพียงผู้สนับสนุนและกระตุ้นให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และพัฒนาทักษะความสามัคคี การร่วมมือกัน การใช้ความคิดวิเคราะห์แก้ปัญหา และเรียนรู้ตนเองผ่านกระบวนการวิจัยและนำเสนองาน
PBL ให้ความสำคัญกับพัฒนาการทักษะมากกว่าคะแนนใช่ไหม?
ถ้าโรงเรียนที่มีหลักสูตร PBL มองว่าพัฒนาการทักษะของนักเรียนสำคัญกว่าคะแนน แล้วอะไรเป็นตัวชี้วัด ความสำเร็จของโรงเรียนที่ใช้แนวทางนี้? ดิเอลโลตั้งหัวข้อบทความของเขาด้วยคำถามที่ว่า “โรงเรียนสามารถใช้ผลงานของเด็กเป็นตัววัดความสำเร็จแทนคะแนนสอบได้ไหม?” และหาคำตอบจากบุคลากรของโรงเรียนที่เขาไปเก็บข้อมูลเหล่านั้น
ข้อมูลที่เขาได้จาก มายา บลูมฟิลด์ คุกเชียรา (Maia Bloomfield Cucchiara) รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเทมเพิลและผู้บริหารโรงเรียนมัธยมหลักสูตร PBL เหมือนจะตอบดิเอลโลอยู่กลายๆ ว่าสิ่งที่เขาคาดหวังอาจไม่สามารถทำได้ในความเป็นจริง
“ปัญหาใหญ่คือเรายังไม่ทราบว่าจะประเมินประสิทธิภาพของการเรียนรู้แบบนี้ได้อย่างไร” แม้จะเห็นได้ชัดว่าการสอบวัดระดับคะแนนไม่สามารถวัดทักษะของนักเรียนที่ได้รับจากโรงเรียนได้ทั้งหมด เช่นการมีส่วนร่วมในห้องเรียนหรือความคิดเชิงวิเคราะห์แง่ความสำคัญและการเชื่อมโยงขององค์ความรู้ แต่อย่างไรก็ตามคุกเชียราเห็นว่า “ข้อสอบวัดระดับก็ยังต้องมีอยู่”
โรงเรียนที่มีหลักสูตร PBL นักเรียนจะได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างจากโรงเรียนที่สอนรูปแบบเดิมอย่างมาก ดิเอลโลเล่าในบทความว่านักเรียนเกรด 9 ทุกคนที่โรงเรียนมัธยม Vaux Big Picture ในฟิลาเดลเฟียที่เขาไปหาข้อมูล มีคอร์สบังคับช่วงบ่ายให้ไปดูงานในธุรกิจต่างๆ หรือองค์กรที่อยู่ในชุมชนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อหาลู่ทางฝึกงานที่ตนชอบในปีสุดท้าย
ตัวอย่างเช่นนักเรียนต้องไปโรงเบียร์เพื่อเรียนรู้เรื่องความสามัคคี ความรับผิดชอบ งานบริการที่จับต้องได้ ไปจนถึงพูดคุยกับเจ้าของร้านเรื่องปัญหาจุกจิกรายวัน หรือนักเรียนมัธยมในโรงเรียน Workshop ที่ใช้เวลา 50 เปอร์เซ็นต์ต่อวันทำโครงงานออกแบบที่ชาร์จโทรศัพท์มือถือพลังแสงอาทิตย์ไปจนถึงการซ่อมอะไหล่ให้ลูกค้าในชุมชน
เดวิด บรอมลีย์ (David Bromley) ผู้ก่อตั้งโรงเรียน Vaux Big Picture อธิบายให้ดิเอลโลฟังว่า
“การฝึกงานคือการที่โรงเรียนเชื่อม ‘การเรียนรู้โลกจริง’ เข้ากับวิชาการ สำหรับเรา PBL เด็กจะได้พัฒนาโครงงานที่พวกเขาชอบกับองค์กรสักแห่งในชุมชน โครงงานที่มีพลังจะเปลี่ยนแปลงได้ เป้าหมายคือทุกอย่างที่เด็กๆ เรียนในห้องเรียนต้องได้เอาไปใช้ตอนฝึกงาน”
ไซมอน ฮาวเกอร์ (Simon Hauger) อาจารย์ใหญ่โรงเรียน Workshop ย้ำในเรื่องนี้ว่า กระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆ มีความสำคัญเท่ากับผลงานที่ทำออกมาจนสำเร็จ เพื่อเป็นประโยชน์กับตัวเด็กเอง สิ่งที่เด็กเรียนรู้ที่โรงเรียนควรสอดคล้องกับงานที่จะรองรับเขาเมื่อเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ แก่นหลักคือการที่โรงเรียนต้องสร้างจิตสำนึกแห่งชุมชนอย่างแท้จริงให้เกิดขึ้น ให้เด็กรู้สึกอุ่นใจพอที่จะกล้าเผชิญกับความลำบาก ได้ค้นหาความชอบของตนเองและประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองอย่างซื่อตรง โรงเรียนมัธยมควรเป็นที่ที่เด็ก
“สร้างสำนึกว่าตัวเองเป็นใครและมองเห็นอนาคตว่าตัวเองจะโตขึ้นไปเป็นอะไร”
ฟีดแบคคือ ครูไม่อยู่เกินเอื้อม เหมือนเป็นเพื่อนที่คุยกันได้
ดูเหมือนว่าโรงเรียนมัธยมที่สนับสนุน PBL กำลังคาดหวังไปถึงความสำเร็จในเชิงคุณภาพของประชากรที่เป็นผลิตผลของตนและการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นอันมาจากกระบวนการเสริมสร้างทักษะจำเป็นเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ แต่ก็ยังคงไม่อาจฟันธงได้ว่าคะแนนของเด็กในใบรายงานผลการเรียนไม่สำคัญเลย
เกเบรียล คูริลอฟ (Gabriel Kuriloff) อาจารย์ใหญ่โรงเรียน Vaux อธิบายว่าแม้โรงเรียนมีตัววัดและประเมินผลการฝึกงานในแง่พัฒนาการอย่างเคร่งครัด แต่ผลประเมินเหล่านั้นไม่ได้ใส่ลงไปในใบรายงานผลการสอบวัดผลประจำปีของนักเรียนที่เป็นตัวบ่งชี้ศักยภาพของโรงเรียน
“มันไม่มีตัวชี้วัดได้หรอกว่าเด็กมีหรือไม่มีทักษะในการสื่อสาร สบตาผู้ฟังและพูดจาฉะฉานแค่ไหน”
สิ่งที่มิราเคิล ทาวน์ส (Miracle Townes) นักเรียนเกรด 12 โรงเรียน Workshop เล่าให้ดิเอลโลฟัง สนับสนุนคำกล่าวของคุกเชียราเรื่องที่ข้อสอบวัดระดับไม่สามารถชี้วัดทักษะทั้งหมดที่เด็กได้รับจากโรงเรียนเป็นอย่างมาก
ทาวน์สเล่าว่าสิ่งที่เธอได้เรียนรู้ระหว่างทำโครงงานกับเพื่อนๆ คือทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่นและวิธีกระตุ้นให้เพื่อนในกลุ่มแสดงพลังออกมาโดยหัดเป็นผู้ฟังที่ดี
นอกเหนือจากอุปสรรคของโรงเรียนที่มีหลักสูตร PBL ยังไม่สามารถหาวิธีวัดผลการเรียนรู้ที่แท้จริงของเด็กได้ ดิเอลโลยังพบว่าอุปสรรคใหญ่อีกประการ คือ PBL ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานสากลว่า ในหลักสูตรนี้นักเรียนต้องพัฒนาทักษะด้านใดบ้าง แต่ละโรงเรียนที่มีหลักสูตรนี้ต่างก็มีรายละเอียดปลีกย่อยไม่เหมือนกัน
เช่นโรงเรียน Vaux ออกแบบหลักสูตรให้อิงกับการฝึกงานของเด็ก ในขณะที่บางโรงเรียนมีวิชาที่รองรับหลากหลายอาชีพและเฉพาะทางมากกว่า หรือบางแห่งออกแบบให้สอดคล้องกับความต้องการของสังคมแวดล้อมนั้นๆ ผู้สนับสนุนด้านการศึกษาบอกดิเอลโลว่าถ้าจะมองให้ไกลกว่าผลคะแนนที่เด็กทำข้อสอบได้ ตัววัดความสำเร็จที่แม่นยำกว่าคือ เราต้องตามไปดูเด็กๆ หลังจากเรียนจบไปแล้วว่าพวกเขามีคุณภาพชีวิตดีขึ้นหรือไม่ ทำงานที่เลี้ยงดูตนเองและสามารถยกฐานะตนเองได้ ไปเรียนต่อชั้นวิทยาลัยหรือโรงเรียนเฉพาะทาง
จากข้อมูลที่ได้พูดคุยกับบุคลากรของโรงเรียนมัธยมหลักสูตร PBL ดิเอลโลเห็นว่า ความสำนึกในชุมชน ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนร่วมชั้นและระหว่างนักเรียนกับครูนับเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้การจัดการเรียนรู้นี้ประสบความสำเร็จด้วย ถ้านักเรียนกับครูมีความสัมพันธ์ที่ดี โรงเรียนก็สามารถดูแลเอาใจใส่เด็กในด้านอื่นๆ นอกเหนือจากด้านวิชาการได้ทั่วถึงมากขึ้น
เช่นในโรงเรียนมัธยม LINC ในเขตที่มีอัตราการเกิดอาชญากรรมสูงสุดในฟิลาเดลเฟียซึ่งนักเรียนมีโครงงานออกแบบบ้านพักอาศัยและวิเคราะห์รูปแบบของคดีอาชญากรรมในชุมชนที่กำลังดำเนินอยู่
บริดเจ็ต บูแจ็ค (Bridget Bujak) อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนบอกว่า
“ถ้าจะให้ดีต้องสร้างวัฒนธรรมการเอาใจใส่ใจซึ่งกันและกัน ถ้านักเรียนหรือครูมีเรื่องอะไรกันก็ต้องมานั่งคุยกันเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ปล่อยผ่าน”
โรสบีริส โกเมซ (Rosbeiris Gomez) นักเรียนเกรด 11 ยืนยันในเรื่องนี้ว่าเมื่อตระหนักว่ามีคนห่วงใย เธอกล้าเล่าปัญหาส่วนตัวให้ครูที่โรงเรียนฟังเพื่อขอความช่วยเหลือ “ทุกคนในโรงเรียนรู้จักกันหมด” เธอบอก “คุณบูแจ็คมักจะคอยถามสารทุกข์สุกดิบหนู เธอรู้ปัญหาของหนูตั้งแต่ตอนเข้ามาปีแรก เธอคือคนที่หนูจะไปหาถ้าหนูจิตตกหรือไม่สบายใจ”
ทามิร์ ฮาร์เปอร์ (Tamir Harper) นักเรียนเกรด 12 ของสถาบัน Science Leadership Academy เล่าว่าเขาเปลี่ยนแปลงจากเด็กที่หมกมุ่นกับการทำเกรดเอ มาให้ความสำคัญกับกระบวนการเรียนรู้เพราะเขามีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนในโรงเรียนและมองว่าโรงเรียนคือพลังที่ขับเคลื่อนชุมชนไม่ใช่เรียนทำโครงงานไปวันๆ
ขณะที่เพื่อนร่วมชั้น เมดิสัน มิลิเทลโล (Madison Militello) เล่าว่าเธอมาจากโรงเรียนมัธยมต้นที่เข้มงวดมากจนไม่มีพื้นที่ให้เด็กๆ สานสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน
“ที่นี่ หนูไม่รู้สึกว่าครูอยู่เกินเอื้อม เหมือนเป็นเพื่อนที่คุยกันได้” เธอเล่าว่าสนิทกับครูบางคนทั้งที่ไม่ได้เรียนในชั้นเรียนของเขาเลยด้วยซ้ำ
ท้ายที่สุด ทักษะจาก PBL จะช่วยเพิ่มคะแนนและความเข้าใจ
สำหรับประเด็นความแตกต่างของโรงเรียนที่รับนักเรียนเข้าศึกษาโดยไม่ต้องสอบคัดเลือก (Non-Selective School) กับโรงเรียนที่ต้องสอบคัดเลือกเข้าไปเรียน (Selective School) ดิเอลโลพบว่ามีข้อได้เปรียบในโรงเรียนที่ใช้ระบบสอบคัดเลือกเด็ก ในแง่ที่เด็กที่สอบผ่านเข้ามาจะมีทักษะการอ่านเขียนได้ดีกว่าเป็นต้นทุน ยิ่งถ้าเป็นโรงเรียนแม่เหล็กที่มีแผนการสอนมุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งเพื่อเน้นให้นักเรียนมีความเป็นเลิศเฉพาะทางอย่าง Science Leadership Academy ด้วยแล้ว เด็กเกรด 12 มีแนวโน้มจบถึง 99 เปอร์เซ็นต์ และ 84 เปอร์เซ็นต์เข้าเรียนต่อระดับวิทยาลัย คะแนนวิชาพีชคณิต ชีววิทยาและวรรณคดีอังกฤษของเด็กในโรงเรียนมากกว่าค่าเฉลี่ยของโรงเรียนระดับเขตถึง 2 เท่า
คริส เลห์แมน (Chris Lehmann) อาจารย์ใหญ่โรงเรียน Science Leadership Academy ตระหนักถึงข้อได้เปรียบนี้ แม้เขาจะบอกว่าโรงเรียนไม่ได้สอนเพื่อสอบ แต่เขาบอกว่าโรงเรียนต้องสามารถพิสูจน์ว่าการเรียนการสอนสะท้อนออกมาเป็นผลคะแนนที่ดีด้วย โรงเรียนต้องแสดงให้เห็นว่ากระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนกับผลคะแนนสมดุลกัน
ส่วนความแตกต่างระหว่างโรงเรียนหลักสูตร PBL กับโรงเรียนที่มีการสอนแบบอื่นๆ นั้น คริสตินา แกรนท์ (Christina Grant) ผู้ช่วยผู้อำนวยการศึกษาธิการซึ่งดูแลกลุ่มโรงเรียนที่มีการสอนแบบ PBL ในเมืองฟิลาเดลเฟีย บอกว่า แม้โรงเรียนที่สอนแบบ PBL จะให้ความสำคัญกับตัวชี้วัดที่ทำการประเมินได้ยาก แต่อย่างไรโรงเรียนเหล่านั้นก็ยังต้องรับผิดชอบต่อผลคะแนนของเด็กเช่นเดียวกับโรงเรียนอื่นๆ อยู่ดี
ในท้ายที่สุดแล้ว คำตอบที่ดิเอลโลได้รับจากการพูดคุยกับบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ PBL เหล่านี้ก็ล้วนชี้ไปยังปลายทางที่ว่า ตัวชี้ประเมินความสามารถของนักเรียนและโรงเรียนที่ใช้หลักสูตรนี้ก็ยังคงเป็นคะแนนสอบอยู่ดี เพราะครูผู้สอนเหล่านี้ เชื่อมั่นว่าทักษะที่เด็กได้รับไม่ว่าจะเป็นความสามัคคีในการทำงาน การคิดวิเคราะห์และการแก้ปัญหาจะช่วยให้ผลคะแนนที่เป็นตัวชี้วัดแบบเก่าเช่นคะแนนวิชาคณิตศาสตร์และการอ่านของนักเรียนเพิ่มขึ้นในท้ายที่สุด และยิ่งไปกว่านั้นเด็กจะพร้อมสำหรับการก้าวไปสู่โลกการใช้ชีวิตที่แท้จริงหลังเรียนจบออกไปนั่นเอง
คงต้องยอมรับว่า โรงเรียนหลักสูตร PBL ไม่สามารถหยิบยกทักษะการเรียนรู้ของนักเรียนที่ผ่านหลักสูตรนี้มาวัดประสิทธิภาพได้เต็มปากเท่าผลคะแนนด้วยเพราะทักษะเหล่านั้นไม่สามารถใช้การวัดประเมินเชิงตัวเลขได้ แต่หากมองตามจริงแล้ว โรงเรียนที่มีหลักสูตรนี้มีประโยชน์โดยตรงต่อตัวเด็กซึ่งเป็นกองทัพบุคลากรที่เหมือนได้ผ่านการฝึกซ้อมเคี่ยวกรำจากโลกแห่งการทำงานเสมือนจริงก่อนลงสมรภูมิ เมื่อเด็กจากโรงเรียนเหล่านี้ได้รับภูมิคุ้มกันเตรียมความพร้อมแต่เนิ่นๆ พวกเขาอาจตระหนักอย่างถ่องแท้ได้เองว่าคะแนนสอบเป็นแค่ตัวเลขที่ไร้ความหมายในโลกแห่งความเป็นจริงข้างนอกนั้นก็เป็นได้