- ปัจจุบันเรารู้กันแล้วว่า การหลงลืมและการจดจำได้ ไม่ใช่กระบวนการแบบแข็งๆ ตายตัว และปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ซึ่งค่อยๆ เสื่อมสลายหายไปตามเวลา แต่สมองจะมีการจัดระบบความจำ และดึงเอามาใช้งานให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา
- ‘ปรากฏการณ์บัลลาร์ด’ เกิดจากผลการทดลองที่พบว่า เด็กส่วนใหญ่จำได้ดีขึ้นในสองสามวันแรก โดยไม่ต้องมีการทบทวนใดๆ แต่หลังจากนั้นราววันที่ 4 โดยเฉลี่ย เด็กเริ่มจำได้น้อยลงเรื่อยๆ
- ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นอย่างจำเพาะ นักประสาทวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การทิ้งช่วงดังกล่าวเกิดจากสมองเริ่มลืม ‘เรื่องที่ไม่สำคัญ’ และเริ่มจัดระเบียบย้ำเตือนบันทึก ‘เรื่องสำคัญ’ ลงไปได้ดีขึ้น
มีกราฟรูปหนึ่งที่หลายคนคงเคยได้เห็นกันมาแล้วเรียกว่า “กราฟการลืม (The Forgetting Curve)” ซึ่งวาดขึ้นจากผลการทดลองของ เฮอร์มานน์ เอบบิงฮอส (Hermann Ebbinghaus) และคณะ หน้าตาดังรูปข้างล่างนี้ ซึ่งสรุปได้คร่าวๆ ว่า ความจำของเราจะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
โดยความจำในช่วงแรกจะลดลงอย่างรวดเร็วจนเหลือน้อยมากในที่สุด
กราฟการลืม. ที่มา: https://petramayerconsulting.com/the_forgetting_curve/
แต่กราฟนี้น่าจะติดท็อปกราฟที่ทำให้เกิดการเข้าใจผิดมากที่สุดในโลก เพราะมีการนำไปใช้อย่างผิดๆ โดยไม่รู้และไม่เข้าใจวิธีการทดลอง หรือไม่ก็เกิดความเข้าใจผิด จนมีการนำไปขยายผลนอกบริบท
เฮอร์มานน์ เอบบิงฮอส ทดลองในช่วงทศวรรษ 1880 เพราะต้องการรู้ว่า ความจดจำของคนเราจะย่ำแย่ลงเพียงใด เมื่อเวลาผ่านไปในระดับหลายวันหรือหลายเดือน ประเด็นก็คือวิธีการทดลองของเขานี่แหละครับ เขาเลือกใช้คำที่ประกอบด้วยสระที่วางอยู่กลางพยัญชนะ 2 ตัว เช่น RUR, HAL, MEK, BES, SOK, DUS
โดยทั้งหมดนั้นเลือกเอามาใช้แต่ ‘คำที่ไม่มีความหมาย’
คำเหล่านี้นำมาใช้ทดสอบโดยแต่คำละคำไม่มีความสัมพันธ์ใดๆ กับคำอื่นๆ เลย อีกทั้งไม่มีรูปแบบการเรียงลำดับของคำที่แน่นอน หรือไม่มีโครงสร้างที่เป็นระเบียบใดๆ ทั้งสิ้น เรียกว่าพยายามให้มีลักษณะสุ่มหรือไร้ความหมายและความเชื่อมโยงอย่างสิ้นเชิง
รูปแบบคำทำนองนี้ สมองของเราจัดการได้ไม่ดีนัก เพราะมันไม่มีความหมายและความเชื่อมโยงหรือสัมพันธ์ใดเป็นพิเศษให้จดจำ
ตัวเอบบิงฮอสเองก็ตั้งข้อสังเกตไว้ในผลงานตีกราฟการลืม. ที่มา: https://petramayerconsulting.com/the_forgetting_curve/
พิมพ์อย่างชัดเจนว่า กราฟอันโด่งดังของเขานี้อาจจะ “ไม่สามารถนำไปใช้ประยุกต์ใช้อะไรมากนัก นอกเหนือไปจากการทดลองที่สร้างขึ้นนี้” แต่ก็อย่างที่รู้กันว่าเมื่อเวลาผ่านไปคนปัจจุบันจำนวนมากจดจำมันในฐานะกราฟแสดงการลืมเลือนอันเป็นสากลของ ‘ความทรงจำทั่วไป’—ซึ่งไม่ใช่เช่นนั้นเลย!
ปัจจุบันเรารู้กันแล้วว่า การหลงลืมและการจดจำได้ ไม่ใช่กระบวนการแบบแข็งๆ ตายตัว และปรับเปลี่ยนอะไรไม่ได้ ซึ่งค่อยๆ เสื่อมสลายหายไปตามเวลา
แต่สมองจะมีการจัดระบบความจำ และดึงเอามาใช้งานให้เข้ากับสถานการณ์ที่ปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ข้อมูลที่ใช้งานบ่อยหรือท่องจำซ้ำบ่อยๆ เช่น สูตรคูณหรือเบอร์โทรศัพท์มือถือของตัวเอง จะจดจำได้แม่นยำ ขณะที่ข้อมูลที่ไม่ได้ใช้ จะมีการกรองออกไปเรื่อยๆ เช่น ข้อมูลหลายๆ อย่างในวัยเด็ก หรือเบอร์มือถือของคนที่นานๆ จะโทรหาก็จะเลิกจำ ย้ายไปพึ่งพาระบบความจำในมือถือแทน
แต่ไม่ใช่ว่าข้อมูลพวกนี้จะหายไปอย่างสิ้นเชิง แค่จะดึงออกมาใช้งานได้ยากขึ้น หากมีโอกาสจะเล่าเรื่องกระบวนการบันทึกและดึงเอาความจำออกมาแยกต่างหากอีกทีนะครับ
อีกราว 20 ปีให้หลัง ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 มีครูชาวอังกฤษและนักวิจัยชื่อ ฟิลิป บอสวูด บัลลาร์ด (Philip Boswood Ballard) ทำการทดลองกับลูกศิษย์ที่ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชนชั้นใช้แรงงานในชานเมืองด้านตะวันออกของลอนดอน และได้ผลลัพธ์ที่ทำให้คนในวงการศึกษางุนงงกันเป็นอย่างยิ่ง
เขาต้องการระบุให้ได้แน่ชัดว่า พวกลูกศิษย์ที่โดนตราหน้าว่าหัวทึบ เรียนไม่ได้เรื่องนั้น อันที่จริงน่าจะมีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่? มาจากหัวไม่ดี ไม่ตั้งใจเรียน หรือมีอะไรมารบกวนกระบวนการคิด และดึงเอาความทรงจำออกมาหรือเปล่า?
เขาออกแบบการทดลองหลายอย่าง หนึ่งในนั้นได้แก่การทดลองให้เด็กอ่านบทกวีชื่อ The Wreck of the Hesperus (การอัปปางของเฮสเพอรุส) ของกวีชื่อ เฮนรี แวดสเวิรธ ลองเฟลโลว์ (Henry Wadsworth Longfellow) ที่มีเนื้อหาดังนี้
At daybreak, on the bleak sea-beach,
A fisherman stood aghast,
To see the form of a maiden fair,
Lashed close to a drifting mast.
The salt sea was frozen on her breast,
The salt tears in her eyes;
And he saw her hair, like the brown sea-weed,
On the billows fall and rise.
Such was the wreck of the Hesperus,
In the midnight and the snow!
Christ save us all from a death like this,
On the reef of Norman’s Woe!
ผลลัพธ์ที่ได้ตรงกันข้ามกลับที่คนส่วนใหญ่คาดไว้ เพราะเด็กๆ ไม่ได้แสดงว่ามีปัญหาเรื่องการรับรู้เลย และกลับได้ผลที่ตรงกันข้ามเลยคือ พอทิ้งช่วงการสอบวัดความจำ เด็กๆ กลับจำได้มากขึ้น!!!
เล่าให้ละเอียดขึ้นอีกนิดคือ เขาให้เวลาเด็กๆ 5 นาที ในการพยายามจำกลอนบทนี้ให้ได้ หลังจากนั้นผ่านไป เขาทิ้งช่วงเวลาไว้ 5 นาที โดยไม่ได้ทำอะไรเป็นพิเศษก่อนจะวัดความทรงจำของเด็กๆ
ผลก็ตามคาด เด็กบางคนทำได้ดี บางคนก็ทำได้ไม่ดี ความแปลกไม่ได้อยู่ตรงนี้ แต่อยู่ตรงที่วิธีการทดลองต่อไป เพราะบัลลาร์ดต้องการรู้ว่าจะเป็นอย่างไร หากเวลาผ่านไปอีก เขาทดสอบเด็กๆ ในอีก 2 วันต่อมา โดยไม่บอกก่อนล่วงหน้า ด้วยวิธีนี้เขาก็คาดว่าไม่น่าจะมีเด็กคนไหนกลับไปท่องจำบทกลอนนี้เพิ่มเติมอีก
คราวนี้เขาต้องประหลาดใจ เพราะผลการทดสอบแสดงว่า เด็กๆ ทำได้มากขึ้นกว่าการทดสอบก่อนหน้า 10%!
เพื่อให้แน่ใจว่า “ไม่ฟลุก” เขาทดสอบเด็กกลุ่มเดิมในวันรุ่งขึ้นอีกครั้ง และพบว่ามีเด็กบางคนที่จำเพิ่มขึ้นจากตั้งต้น 15 วรรค เป็น 21 วรรค เมื่อทดสอบครบ 7 วัน อีกคนก็จำเพิ่มขึ้นจาก 3 วรรคเป็น 11 วรรค โดยเด็กคนนี้ตั้งข้อสังเกตว่า เขามองเห็นภาพตัวอักษรบนกระดานดำ (สมัยนั้นยังสอนโดยการเขียนบนกระดานดำอยู่)
มีอีกคนที่จำได้เพิ่มจาก 9 วรรคเป็น 13 วรรคในอีกหลายวันให้หลัง เด็กคนดังกล่าวบอกคล้ายกันว่า “เมื่อเริ่มเขียน ผมก็เห็นภาพตัวอักษรปรากฏขึ้นบนกระดาษที่อยู่ตรงหน้า”
บัลลาร์ดทดสอบกับเด็กๆ เพิ่มเติมอีกมากกว่า 10,000 คนในอีกหลายปีต่อมา ผลที่ได้ยังคงออกมาคล้ายคลึงกันคือ พวกเด็กส่วนใหญ่จำได้ดีขึ้นในสองสามวันแรก โดยไม่ต้องมีการทบทวนใดๆ ทั้งสิ้น แต่หลังจากนั้นราววันที่ 4 โดยเฉลี่ย เด็กๆ เริ่มจำได้น้อยลงเรื่อยๆ
เขาตีพิมพ์ผลการทดลองที่พบใน ค.ศ. 1913 ซึ่งก่อให้เกิดความตื่นเต้นและสับสนงุนงงในวงการเป็นอย่างมาก
เขาสรุปว่าเราไม่แค่มีแนวโน้มจะลืมสิ่งที่เคยจำได้เท่านั้น แต่เรายังมีแนวโน้มสามารถจดจำสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยลืมไปแล้วได้ด้วยเช่นกัน!
มีคนข้องใจผลการทดลองของเอบบิงฮอสและบัลลาร์ด เพราะดูเหมือนจะขัดกันรุนแรง จึงมีการทำการทดลองซ้ำขนานใหญ่ เช่น การทดลองหนึ่งใน ค.ศ. 1924 ที่ใช้คนจำนวนมาก ทดลองโดยให้จำคำต่างๆ แล้ววัดความจำที่ 8 นาที, 16 นาที, 3 วัน และ 7 วัน ก็พบว่าความจำแย่ลงตามเวลา
หลังจากนั้นก็มีการทดลองมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะยังคาใจกันไม่เลิก แม้ว่าจะมีคนเชื่อผลการทดลองของบัลลาร์ดน้อยลงเรื่อยๆ แต่ด้วยการทดสอบที่รัดกุมมากพอ ในที่สุดก็ค้นพบความลับว่า ‘ปรากฏการณ์บัลลาร์ด’ หรือการที่จู่ๆ แม้ไม่มีการทบทวน แต่หลังจากการทดลองไปแล้ว 2-3 วัน กลับจำได้มากชึ้น เป็นเรื่องเกิดขึ้นอย่างจำเพาะ และขึ้นเป็นอย่างมากกับสิ่งที่นำมาใช้ทดสอบ โดยใช้ไม่ได้กับคำไร้ความหมาย
แต่ในทางตรงกันข้าม หากใช้ภาพวาด ภาพถ่าย บทกวี หรือคำที่บรรยายให้เห็นภาพ จะเกิด ‘ฟองความจำ’ ผุดขึ้นมาหลังการทดสอบไปแล้ว 2-3 วันมากที่สุด ก่อนจะลดลงไปตามเวลาในที่สุด ดังนั้น การตรวจวัดที่ระดับนาทีหรือชั่วโมง สัปดาห์หรือเดือน จึงไม่ได้ผลอย่างสิ้นเชิงสำหรับความทรงจำในรูปแบบนี้
ระบบความจำต่อสิ่งต่างๆ ของเราจึงไม่ได้มีเพียงแบบเดียว การจำเรื่องราวทั่วๆ ไป การจำเรื่องหรือคำที่ไร้ความหมายจำเพาะ และการจำรูปภาพหรือคำที่ทำให้เกิดจินตนาการ จึงมีธรรมชาติที่แตกต่างกันออกไป
จะเอาความรู้นี้มาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร?
ไม่ว่าจะเป็นความจำรูปแบบใด การทบทวนสิ่งที่เรียนไปอย่างเหมาะสม เช่น นำมาทบทวนซ้ำในอีกสองสามวันถัดมา มีส่วนช่วยให้ความทรงจำที่เริ่มลดลงในบางกรณี และเริ่มกลับมาจำได้มากขึ้นในบางกรณี ได้กลายเป็น “ความทรงจำระยะยาว” มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ การแปลงคำที่ไร้ความหมาย (สำหรับผู้เรียน) หรือไม่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวผู้เรียนมากนักให้กลายเป็นภาพ จะช่วยยืดเวลาความทรงจำได้อีกหน่อย เพราะจะระลึกขึ้นได้มากขึ้นใน 2-3 วันแรก
นักประสาทวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การทิ้งช่วงดังกล่าวเกิดจากสมองเริ่มลืม ‘เรื่องที่ไม่สำคัญ’ และเริ่มจัดระเบียบย้ำเตือนบันทึก ‘เรื่องสำคัญ’ ลงไปได้ดีขึ้น
การลืมจึงกลายมาเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งของการส่งเสริมความจำระยะยาวได้!