Skip to content
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Learning TheoryGrowth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trend
  • Life
    Healing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/CrisisLife classroom
  • Voice of New Gen
  • Playground
    BookMovieSpace
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
วัยรุ่นeco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัย
041-Novels & Poems-nologo
Character building
4 September 2024

อ่านนิยาย ร่ายบทกวี ไม่มีเสียเปล่า

เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์

  • การอ่านนิยาย กระตุ้นสมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย และทำให้สมองตื่นตัวเลียนแบบการทำงานของสมองของตัวละครที่กำลังอ่านอยู่ รวมถึงอาจจะทำให้เข้าสังคมได้ดีขึ้น
  • การอ่านบทกวี อาจจะช่วยปลอบใจ ทำให้เพลิดเพลิน ให้มุมมองแบบใหม่ๆ หรือกระตุ้นประสบการณ์เก่าๆ ในชีวิตขึ้นมาได้ ในต่างประเทศมีการบำบัดอาการป่วยด้วยการอ่านและเขียนบทกวีด้วย

ยุคนี้คนไทยฮิตอ่านหนังสือ ‘ฮาวทู’ หรือที่ฝรั่งเรียกว่า Self-help books กันมาก แม้ว่าหลายคนจะเชื่อว่าหนังสือกลุ่มนี้มีประโยชน์และนำไปใช้งานได้ทันที แต่ก็ยังมีคนตั้งข้อสงสัยอยู่บ้าง 

งานวิจัยเท่าที่มีพอสรุปได้คร่าวๆ ว่า หนังสือบางเล่มก็อาจช่วยแก้ปัญหาชีวิตได้จริง แต่บางเล่มก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนัก [1]  นักอ่านจึงมีหน้าที่ต้องคัดสรรและเลือกนำไปลองปฏิบัติดูว่า เล่มใดช่วยแก้ปัญหาและช่วยชุบชูใจให้ก้าวผ่านปัญหาชีวิตได้จริง 

น่าสนใจว่าปัจจัยอะไรกันแน่ในหนังสือเหล่านี้ที่มีส่วนช่วยจริงๆ 

หากการอ่านหนังสือแนวสารคดี (non-fiction) ให้ผลเช่นนี้แล้วก็น่าสงสัยต่อไปว่า การอ่านพวกนิยายหรือเรื่องแต่ง (fiction) กับการอ่านพวกบทกลอนหรือบทกวีจะมีประโยชน์อะไรบ้างหรือไม่?   

งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2013 ของคณะนักวิจัยในประเทศเนเธอร์แลนด์ชี้ชัดว่า กลุ่มอาสาสมัครที่อ่านนิยายแล้ว ‘อิน’ ไปกับตัวละครและเนื้อเรื่อง จะแสดงความรู้สึกร่วมและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น (empathy) นานถึง 1 สัปดาห์หลังอ่านเรื่องราวนั้นไป หากเทียบกับอาสาสมัครกลุ่มควบคุมที่อ่านหนังสือแนวสารคดีที่ไม่เกิดผลกระทบดังกล่าว 

นอกจากนี้ยังพบอีกด้วยว่า ยิ่งอาสาสมัครอินกับเนื้อเรื่องมากเท่าไหร่ก็ยิ่งแสดงออกถึงความรู้สึกร่วมมากขึ้นเท่านั้นอีกด้วย [2]

งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในสหรัฐอเมริกาก็ยืนยันผลการทดลองนี้ โดยพบเพิ่มเติมอีกด้วยว่า อาสาสมัครที่อ่านแม้แต่เรื่องสั้นไปเพียงเรื่องเดียวก็แสดงพฤติกรรมเอื้อสังคม (prosocial behavior) แล้ว โดยแสดงออกถึงความต้องการสละแรงกายหรือทรัพย์สินสิ่งของเพื่อช่วยเหลือผู้อื่น ไปจนถึงการพูดจาให้กำลังใจและให้อภัยผู้อื่น [3]

ที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือ พบว่าอาสาสมัครจะไวต่อการกระตุ้นด้วยใบหน้าหรือการแสดงออกถึงความกลัวมากขึ้นเป็นพิเศษอีกด้วย จึงเห็นได้ว่าการอ่านนิยายส่งผลกระทบกับจิตใจเป็นอย่างมาก

อาจมีคนสงสัยว่านักวิทยาศาสตร์รู้ไหมว่า เกิดอะไรขึ้นในสมองหรือร่างกายของเราบ้างเมื่อเราอ่านนิยายและมันส่งผลกระทบดังที่กล่าวมาแล้วได้อย่างไร?

ความก้าวหน้าของเครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ทำให้เรารู้อย่างละเอียดว่า เกิดอะไรกับร่างกายของอาสาสมัครที่อ่านนิยายบ้าง มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ว่าในตอนที่เราอ่านนิยายนั้น นอกจากจะกระตุ้นสมองส่วนเทมพอรัลโลบ (temporal lobe) ที่เป็นศูนย์กลางการประมวลด้านภาษาในสมองของเราแล้ว ยังไปเพิ่มกระแสการไหลเวียนของเลือดในสมองโดยรวมให้มากขึ้นอีกด้วย [4] 

ยิ่งไปกว่านั้น การอ่านนิยายยังไปกระตุ้นสมองส่วนมอร์เตอร์คอร์เท็กซ์ (motor cortex) ที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย โดยส่วนนี้จะอยู่ค่อนข้างมาทางกลางศีรษะ และยังกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสและรับกลิ่นอีกด้วย [4] 

สรุปง่ายๆ ว่าการอ่านนิยายทำให้สมองตื่นตัวเลียนแบบการทำงานของสมองของตัวละครที่กำลังอ่านอยู่นั่นเอง เช่น ในเนื้อเรื่องตัวละครกำลังเดินอยู่ในป่า สมองเราก็จะทำตัวเหมือนกับเราเองกำลังเดินอยู่ในป่าจริงๆ หากตัวละครกินน้ำส้ม น้ำมะนาว สมองส่วนที่รับรสชาติหวานหรือเปรี้ยวก็ทำงาน จนบางครั้งเราก็น้ำลายหก เช่นเดียวกับตอนที่อ่านคำอธิบายเรื่องการทำอาหารหรือเสิร์ฟอาหารบางอย่างมา

นี่เองอาจเป็นกุญแจไขความลับที่เราอยากรู้

อย่างไรก็ตาม การอ่านไม่อาจทำให้เรารู้สึกถึงขั้นเปลี่ยนแปลงตัวเองกลายเป็นคนอื่นได้ง่ายๆ ต่างกับการที่นักแสดงที่บางคนอาจเกิดอาการ ‘อิน’ และดำดิ่งลึกลงไปในตัวตนของตัวละครที่ตัวเองแสดง หากแสดงต่อเนื่องยาวนานก็อาจสับสนจนแยกแยะโลกการแสดงและโลกความจริงไม่ออก ต้องให้นักจิตวิทยามาช่วยแก้ไข 

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า อาสาสมัครที่อ่านนิยายจะสามารถทำคะแนนการทดสอบที่เรียกว่า Reading the Mind in the Eyes (MIE) ได้ดีกว่าอาสาสมัครในกลุ่มควบคุมอีกด้วย [5] ในการทดสอบแบบนี้จะอาศัยการประเมินอารมณ์ความรู้สึกจากการดูสีหน้าเท่านั้น นักวิจัยตั้งสมมุติฐานว่าการอ่านนิยายอาจทำให้อาสาสมัครได้ฝึกการคิดในมุมมองของคนอื่นและด้วยเหตุนี้เองจึงช่วยสร้างความตระหนักทางสังคมให้เพิ่มมากขึ้นได้

ถ้าสมมุติฐานนี้เป็นจริง การอ่านนิยายก็อาจจะช่วยเรื่องการปรับความคิดหรือทัศนคติรวมไปถึงการเพิ่มอีคิวได้ ทำให้ผู้อ่านนิยายมีความสังเกตสังกาในการเข้าสังคมที่ดีมากขึ้น และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีขึ้นตามไปด้วย 

ทั้งหมดนี้จึงสนับสนุนเรื่องการอ่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอ่านนิยายว่ามีประโยชน์หลายอย่างด้วยกัน ควรทำจนเป็นกิจวัตร 

แล้วการอ่านพวกโคลงฉันท์กาพย์กลอนหรือบทกวีต่างๆ มีผลดีอะไรทำนองนี้บ้างหรือไม่?

การอ่านบทกวีอาจจะช่วยปลอบใจ ทำให้เพลิดเพลิน ให้มุมมองแบบใหม่ๆ หรือแม้กระทั่งกระตุ้นหรือรื้อฟื้นประสบการณ์เก่าๆ ในชีวิตขึ้นมาได้ ในต่างประเทศนั้นไปไกลถึงขนาดมีการบำบัดอาการป่วยด้วยการอ่านและเขียนบทกวีด้วยซ้ำไป [6]

การบำบัดที่ว่าแบ่งออกเป็น 2 แบบคร่าวๆ คือ การบำบัดทางคลินิกด้วยการการอ่านหนังสือ-บทกวี  (clinical biblio-poetry therapy) และการบำบัดเพื่อการพัฒนาด้วยการการอ่านหนังสือ-บทกวี  (developmental biblio-poetry therapy)  

แบบแรกมักทำแบบตัวต่อตัวกับผู้บำบัด แต่ก็อาจทำแบบกลุ่มได้ด้วย ปรากฏว่าเมื่อใช้ร่วมกับการให้ยาก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเลิกแอลกอฮอล์หรือยาเสพติดได้ ส่วนแบบหลังมักทำเป็นกลุ่ม เพื่อให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจในตัวเองมากขึ้น พบว่ามีประโยชน์ในการสร้างความภาคภูมิใจในตัวเอง สร้างอัตลักษณ์ และทำให้เห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น 

แบบหลังนี้ประสบความสำเร็จในวัยรุ่นไม่น้อย 

ในสหรัฐอเมริกาถึงกับมีการตั้งเป็นคล้ายๆ สมาคมเรียกว่า The International Federation of Biblio-Poetry Therapy (IFBPT) ขึ้นมาทีเดียว 

ลีห์ ลาร์วูด (Leah Larwood) ผู้เขียนบทความ [6] แนะนำวิธีบำบัดด้วยบทกวีแบบง่ายๆ ที่ทำเองได้ที่บ้านไว้ดังนี้ครับ เริ่มจาการมองหาสมุดจดที่ตัวเองชอบมาสักเล่ม จากนั้นก็ทดลองทำดังต่อไปนี้

เริ่มจากการอ่านบทกวี อ่านบทความ ฟังเพลง อ่านโปสเตอร์ หรือทำอย่างอื่นใดก็ได้ที่จะทำให้ตัวเองได้เจอคำศัพท์ใหม่ เพื่อเป็นการสร้าง ‘คลังคำ’ ขึ้นในตัวเอง จากนั้นก็ลองเลือกเอาคำหรือวลีพวกนี้มาใช้เขียนบทกวีเป็นระยะๆ สังเกตว่าคำหรือวลีพวกนี้ส่งผลกระทบกับคุณอย่างไร มากน้อยแค่ไหน 

อาจจะลองแต่งบทกวีสัก 10 นาทีแบบเรื่อยเปื่อย ไม่ต้องตั้งเป้าหมายใดๆ ก็ได้ จากนั้น คราวต่อไปก็สลับด้วยการอ่านบทกวี พยายามมองด้วยมุมมองด้านการบำบัดรักษาว่า มันช่วยอะไรคุณได้บ้างหรือไม่ ถามคำถามเกี่ยวกับบทกวีนั้น แล้วเขียนบันทึกลงในสมุดจดดังกล่าว

ลองทำกันดูนะครับ เผื่อจะได้ประสบการณ์แปลกใหม่ดีๆ ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการเรียนรู้และเข้าใจโลกและตัวเองมากขึ้น 

เอกสารอ้างอิง

[1] https://www.the101.world/self-help-books/

[2] Bal PM and Veltkamp M. PLoS One. 2013;8(1): e55341. doi: 10.1371/journal.pone.0055341 

[3] Johnson DR. (2012) Personality and Individual Differences 52, 150-155. doi: 10.1016/j.paid.2011.10.005

[4] https://bigthink.com/neuropsych/reading-fiction-empathy-better-person/

[5] Communications 34 (2009), 407-428. DOI 10.1515/COMM.2009.025

[6] Larwood L. (2023) Psychology Now, vol. 7, 100-103 

Tags:

วิทยาศาสตร์สมองภาษาการอ่านนิยายการเข้าสังคมบทกวีการบำบัด

Author:

illustrator

นำชัย ชีววิวรรธน์

นักอณูชีววิทยา นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ นักเขียน นักแปล และนักอ่าน ผู้มีความสนใจอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาขับเคลื่อนสังคม

Related Posts

  • ‘ผลสอบ PISA’ กับความจริงที่ว่า ระบบการศึกษาไทยอ่อนแอ ความสามารถเด็กไทยลดลง

    เรื่อง The Potential

  • How to enjoy life
    อ่านอะไร อ่านเท่าไร อ่านอย่างไร: วิธีสะสมต้นทุนชีวิตด้วยหนังสือ

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • BookMyth/Life/Crisis
    ไม่ต้องแตกสลายเพื่อจะพบแสงสว่าง

    เรื่อง ภัทรารัตน์ สุวรรณวัฒนา ภาพ กรองพร ทององอาจ

  • Adolescent Brain
    ความรู้และทักษะแบบไหนที่เด็กยุคดิสรัปชันควรเติมก่อนโต พร้อมวิธีฝึกผ่านการทำกิจกรรมในครอบครัว

    เรื่อง นำชัย ชีววิวรรธน์ ภาพ อัคคเดช ดลสุข

  • EF (executive function)
    อ่าน เล่น ทำงาน: อ่านวรรณคดีไทย ลูกจะเผชิญด้านมืดได้ดีกว่าคำพ่อแม่สั่งสอน

    เรื่อง ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ภาพ antizeptic

  • Social Issues
  • Podcasts
  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel