- จากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่า การฝึกสมาธิเป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ทั้งกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
- การฝึกสมาธิช่วยพัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘การควบคุมตัวเอง’ (Self-control) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในพัฒนาการของวัยรุ่น เมื่อเราควบคุมตัวเองได้ก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ทำให้เกิดความเครียดน้อยลงและนำไปสู่การมีสุขภาพจิตที่ดี
- การฝึกสมาธิมีหลายรูปแบบ สามารถเลือกปฏิบัติได้ตามนิสัยความชอบ การฝึกสมาธิระยะสั้นก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่อยากนั่งสมาธินานๆ ที่ได้รับความสนใจคือ Integrative Body-Mind Training (IBMT)
คำว่า ‘สมาธิ’ เป็นสิ่งที่คนไทยเคยได้ยินมาโดยตลอด เพราะปรากฏในหลักธรรมพื้นฐานด้านการพัฒนามนุษย์อย่าง ‘ไตรสิกขา’ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
ทว่ามีน้อยคนนักที่จะได้ปฏิบัติหรือฝึกสมาธิเป็นประจำ โดยส่วนหนึ่งอาจมองว่าเป็นกิจกรรมที่น่าเบื่อ และมองไม่เห็นประโยชน์อื่นใดนอกจากความเชื่อมโยงกับศาสนา ทำให้ความสำคัญของสมาธิถูกละเลยไป อย่างไรก็ดี จากการศึกษาทางด้านวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันพบว่า การฝึกสมาธิเป็นกิจกรรมที่สร้างประโยชน์ทั้งกับร่างกายและจิตใจ ซึ่งทุกคนสามารถทำได้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดก็ตาม
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลในเชิงบวกต่อสมอง มีการศึกษาพบว่า ผู้ที่ฝึกสมาธิเป็นประจำจะมีการเปลี่ยนแปลงทางสมองที่ดีขึ้น เนื่องจากสมาธิช่วยให้ร่างกายผ่อนคลายและควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงการมีสุขภาพจิตที่ดีตามไปด้วย
ดังนั้น การฝึกสมาธิ (Meditation) จึงถือเป็นทางเลือกที่ดีในการพัฒนาสมองและเสริมสร้างสุขภาพจิต โดยเฉพาะกับวัยรุ่นซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ต้องเผชิญกับเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ ส่งผลให้มีความเปราะบางทางจิตใจ อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงในระบบของร่างกายก็ทำให้มีความหุนหันพลันแล่นและขาดการยับยั้งชั่งใจ ซึ่งการฝึกสมาธิจะช่วยพัฒนาความสามารถในการควบคุมตัวเองและอารมณ์ได้ดียิ่งขึ้น
การฝึก ‘สมาธิ’ คืออะไร?
กาญจนา หาญศรีวรพงศ์ และพระมหามิตร ฐิตปญฺโญ (2562) ได้สรุปความหมายของ ‘สมาธิ’ ไว้ว่า การฝึกจิตให้มีความเข้มแข็ง ตั้งมั่น และสงบ เมื่อมีสมาธิจะส่งผลให้จิตมีสภาวะเป็นหนึ่ง แน่วแน่ ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่หวั่นไหวต่อสิ่งต่างๆ ที่มากระทบความรู้สึกทางใจ
การฝึกสมาธิสามารถทำได้หลายรูปแบบขึ้นอยู่กับนิสัยความชอบ (จริต) ของเรา เช่น การเดินจงกรม การนั่งสมาธิ การสวดมนต์ เป็นต้น แต่ก่อนการฝึกสมาธินั้น ในเบื้องต้นผู้ปฏิบัติต้องตัดความกังวลใจต่างๆ (ปลิโพธ) ออกไปเสียก่อนจึงจะเข้าถึงสมาธิได้อย่างแท้จริง
การปฏิบัติสมาธิต้องทำสม่ำเสมอเป็นประจำ ทำอย่างสบายๆ ไม่เร่ง ไม่บังคับ ทำได้แค่ไหนให้พอใจแค่นั้น เพื่อไม่ให้เราตะบี้ตะบันทำมากเกินไปจนเกิดความไม่สบายหรือความเครียด
วัยรุ่นกับการเปลี่ยนแปลง
Dr. Roselinde Kaiser (2019) นักจิตวิทยาคลินิกและนักประสาทวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า ช่วงวัยรุ่นเป็นวัยแห่งการเปลี่ยนแปลงในหลายมิติ โดยมีเหตุปัจจัย 3 สิ่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันในช่วงวัยรุ่น คือ ‘การเปลี่ยนแปลงทางสมอง’ ‘การพัฒนาฟังก์ชันการรู้คิดขั้นสูง’ และ ‘การเปลี่ยนผ่านทางสังคม’ (อ่านเพิ่มใน เพราะสมองหรือเพราะใจ? ทำไมวัยรุ่นถึงเป็นซึมเศร้า ทำความเข้าใจผ่านปัจจัยสามเหลี่ยมเบอร์มิวดา)
กล่าวโดยย่อคือ ในช่วงวัยรุ่น สมองแต่ละส่วนมีการเชื่อมต่อกันมากขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาฟังก์ชันการรู้คิดขั้นสูงได้ เช่น ‘การกำกับควบคุมตัวเอง’ (Self-regulation) เมื่อพัฒนาการรู้คิดขั้นสูงได้ก็จะสามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านทางสังคมได้ เช่น เจอเพื่อนใหม่ เจอสังคมใหม่
จากคำอธิบายของ Dr. Kaiser สามารถนำไปสู่ข้อสรุปได้ว่า การพัฒนาสมองที่ดีจะช่วยให้วัยรุ่นสามารถรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นในช่วงวัยของตัวเองได้
การฝึกสมาธิกับการพัฒนาสมอง
จากบทความวิจัยในวารสารวิชาการ Nature Reviews Neuroscience ปี 2015 เผยว่า การฝึกสมาธิสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสมองได้ โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในบริเวณสมองหลายๆ ส่วน เพราะการฝึกสมาธิมีการใช้สมองหลายส่วน
การเปลี่ยนแปลงที่พบสามารถสรุปเป็นภาพรวมได้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงในบริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน ได้แก่ ‘การควบคุมความสนใจจดจ่อ’ (Attention Control), ‘การกำกับควบคุมอารมณ์’ (Emotion Regulation) และ ‘การตระหนักรู้ตนเอง’ (Self-Awareness)
สรุปคือ การฝึกสมาธิช่วยพัฒนาสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ‘การควบคุมตัวเอง’ (Self-control) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในพัฒนาการของวัยรุ่น เมื่อเราควบคุมตัวเองได้ก็จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี ทำให้เกิดความเครียดน้อยลงและนำไปสู่การมีสุขภาพจิตที่ดี
การฝึกสมาธิระยะสั้นก็สร้างความเปลี่ยนแปลงได้
เมื่อพูดถึงการฝึกสมาธิ เราอาจนึกถึงการนั่งสมาธิเป็นชั่วโมงๆ แต่การฝึกสมาธิก็มีหลายรูปแบบ สามารถเลือกปฏิบัติได้ตามนิสัยความชอบของเรา การฝึกสมาธิระยะสั้นก็เป็นหนึ่งในวิธีที่ตอบโจทย์สำหรับคนที่ไม่อยากนั่งสมาธินานๆ เพราะเป็นวิธีที่ใช้เวลาน้อยและสร้างความเปลี่ยนแปลงได้
การฝึกสมาธิระยะสั้นที่ได้รับความสนใจคือ Integrative Body-Mind Training (IBMT) โดย Dr. Yi-Yuan Tang (2016) ศาสตราจารย์พิเศษสาขาประสาทวิทยาศาสตร์ที่ Texas Tech University กล่าวว่า IBMT เป็นการฝึกสมาธิด้วยการทำงานผสานระหว่าง ‘ร่างกาย’ กับ ‘จิตใจ’
- สำหรับร่างกาย คือ การวางท่าทางหรือจัดสภาวะของร่างกายให้เหมาะสม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่หลายคนมองข้าม เพราะท่าทางหรือสภาวะของร่างกายส่งผลต่ออารมณ์และประสิทธิภาพในการรู้คิด ทำให้เข้าถึงสมาธิได้อย่างลึกซึ้ง
- สำหรับจิตใจ คือ การมีสติระลึกรู้ตัวอยู่เสมอ ตระหนักรู้ถึงความคิดและอารมณ์ของตน โดยการตระหนักรู้นี้คือการเฝ้าสังเกต โดยไม่ต้องพยายามควบคุมหรือปรับเปลี่ยนความคิดและอารมณ์เหล่านั้น ไม่ยินดียินร้ายในความคิดและอารมณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อปฏิบัติไปเรื่อยๆ จะเข้าใจว่าตัวเรากับอารมณ์เป็นสิ่งที่แยกจากกัน
จากบทความวิจัยในวารสารวิชาการ Journal of Child and Adolescent Behavior ปี 2014 พบว่า ผู้ที่ปฏิบัติ IBMT มีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในด้าน ‘ความสนใจจดจ่อ’ (Attention) และ ‘สมรรถนะทางวิชาการ’ (Academic Performance) โดยทดลองให้นักเรียนอายุ 13-18 ปี จำนวน 104 คน เข้าร่วมการฝึกสมาธิแบบ IBMT เป็นเวลา 6 สัปดาห์ โดยแต่ละวัน (เฉพาะวันจันทร์-ศุกร์) ใช้เวลาปฏิบัติแค่ 20 นาทีเท่านั้น
หลังจากการฝึกเสร็จสิ้นพบว่า นักเรียนมีความสนใจจดจ่อเชิงบริหารจัดการ (Executive Attention) และความสนใจจดจ่อเชิงตื่นตัว (Alerting Attention) ที่ดีขึ้น บ่งชี้ให้เห็นว่า IBMT ช่วยพัฒนาความสามารถในการควบคุมตัวเองและช่วยทำให้มีสมาธิคงอยู่ในกิจกรรมต่างๆ ได้
เมื่อนักเรียนมีความสนใจจดจ่อเชิงบริหารจัดการที่ดีขึ้น ก็จะสามารถจัดการกับอารมณ์ได้ดี เห็นได้จากผลชี้วัดที่แสดงให้เห็นว่านักเรียนมีอารมณ์เชิงบวกที่เพิ่มขึ้นและอารมณ์เชิงลบที่ลดลง อีกทั้งนักเรียนยังรายงานด้วยว่ารู้สึกมีความเครียดที่ลดลง
นอกจากนี้ สมรรถนะทางวิชาการ (Academic Performance) ของนักเรียนก็ดีขึ้นเช่นกัน โดยวัดผลจากเกรดในวิชาการรู้หนังสือ (Literacy), คณิตศาสตร์ และภาษาที่สอง (ภาษาอังกฤษ) เพราะความสนใจจดจ่อมีความสำคัญต่อการจัดเก็บและเรียกคืนความทรงจำ ซึ่งในวิชาดังกล่าวต้องมีการใช้ความจำและการหาความสัมพันธ์ด้วยเหตุผล
การมีความสนใจจดจ่อที่ดีจึงนำไปสู่ผลการเรียนที่ดี อีกทั้งการควบคุมอารมณ์ได้ดีก็มีส่วนช่วยในการเรียนด้วย เพราะจะทำให้ไม่เครียดและมีความมุ่งมั่นที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ
จากการทดลองนี้สรุปได้ว่า การฝึกสมาธิทำให้เรา ‘ควบคุมความสนใจจดจ่อ’ และ ‘ควบคุมอารมณ์’ ได้ดีขึ้น ซึ่งความสามารถเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญใน ‘การกำกับควบคุมตัวเอง’ (Self-regulation) และเมื่อเรากำกับควบคุมตัวเองได้ก็จะทำให้รับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดี
การฝึกสมาธิทำให้เรามีจิตใจที่เข้มแข็งไม่หวั่นไหว และยังช่วยพัฒนาสมองในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมตัวเอง ทำให้เรารับมือความเครียดได้อย่างมีสติรู้ตัว และนำไปสู่การมีสุขภาพจิตที่ดีต่อไป
อ้างอิง
กาญจนา หาญศรีวรพงศ์ และพระมหามิตร ฐิตปญฺโญ. (2562). สมาธิกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์. วารสารวิชาการธรรมทรรศน์, 9(1), 287-296.
Roselinde Kaiser. (2019). Teen Brains Are Not Broken | Roselinde Kaiser, Ph.D. | TEDxBoulder.
Tang, Y.Y. (2017). Mindfulness Meditation Impact on the Adolescent Brain. In Balvin, N., & Banati, P. (Eds.), The Adolescent Brain: A second window of opportunity (pp. 75-78). UNICEF Office of Research – Innocenti.
Tang, Y.Y., Hölzel, B.K., & Posner, M.I. (2015). The neuroscience of mindfulness meditation. Nature Reviews Neuroscience, 16, 213-225.
Tang, Y.Y., Tang, R., Jiang, C., & Posner, M.I. (2014). Short-Term Meditation Intervention Improves Self-Regulation and Academic Performance. Journal of Child and Adolescent Behavior, 2(4), 154.
Yi-Yuan Tang. (2016). Integrated Body & Mind Training.