- ไม่ได้ดูหมิ่นคนที่เรียนเก่ง เปล่าดูเบาคนที่เอาตัวไม่รอด แต่ชวนคุยว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ทั้งเด็ก ทั้งที่สนใจวิชาการ และผู้ที่ชอบทำกิจกรรมหรือสนใจพัฒนาทักษะชีวิตด้านอื่น ต่างได้พัฒนาศักยภาพ เอาตัวเองให้รอดจาก ‘ขอบ’ ข้อจำกัดของตัวเอง
- การเอาตัวรอดจาก ‘ขอบ’ ข้อจำกัดตัวเอง พวกเขาต้องไม่เดียวดาย แต่มาจากการผลักดันอย่าง ‘เข้าใจ’ ของพ่อแม่ ครู โค้ช หรือใครสักคนที่เชื่อมั่นในตัวตนของพวกเขา
- Active Citizen โครงการที่สนับสนุน สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วยคีย์เวิร์ด Learning by Doing และ Learning Journey
ภาพ: พันธิชัย สร้อยสุวรรณ
ขณะที่โลกแห่งการเรียนเพื่อการสอบแข่งขัน สร้างความกดดันให้กับนักเรียน ครู และผู้ปกครองมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความฝันที่จะได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยหรือในคณะเด่นดังนั้นลดลงไปแม้แต่น้อย
ข้ามไปยังโลกแห่งความจริงอีกด้านหนึ่ง ผู้คนต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพสังคม การใช้ชีวิตด้วยความรู้อย่างเดียวไม่เพียงพออีกแล้ว ทักษะการทำงานและการค้นพบตัวเอง กลายเป็นอีก 2 สิ่ง ที่จะช่วยให้ใช้ชีวิตอยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้ได้
พูดง่ายๆ เรากำลังอยู่ในโลกที่หมุนเร็วไปด้วยการเปลี่ยนแปลงและแข่งขัน และเราต้องวิ่งตามจนเหนื่อย เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้เข้าตัว ขนใส่ให้ท่วมหัว…
และก็ยังต้องเอาตัวรอดให้ได้!
The Potential ชวนมาฟังฮาวทู ‘ฉบับความรู้ท่วมหัวแล้วยังเอาตัวรอด’ ที่ประกอบด้วยการเรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียน ผ่านการพิสูจน์และทดลองจริงมาแล้วของ โจ้ – กิตติรัตน์ ปลื้มจิตร ผู้จัดการโครงการ มูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
โจ้สะท้อนบทเรียนผ่านประสบการณ์ทำงานกับเยาวชนมากว่า 15 ปี ว่า การเรียนรู้ในห้องเรียน สร้างทักษะและความรู้พื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น ส่วนการเรียนรู้นอกห้องเรียน สร้างทักษะการทำงาน การจัดการตนเอง และที่สำคัญคือ ช่วยให้วัยรุ่นได้รู้จักตัวเอง ค้นพบตัวเอง ทั้งศักยภาพและความสนใจ ได้งัดศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ หากมีโอกาสออกไปเรียนรู้ในพื้นที่ทั้งสองแบบ เขาจะนำความรู้จากตำรามาใช้ให้เกิดประโยชน์ในชีวิตจริงได้ ผ่านการลงมือปฏิบัติ แต่การเรียนรู้ที่เกิดขึ้นจากการลงมือปฏิบัตินี้ (Learning by Doing) ไม่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จากการลงมือทำเพียงครั้งเดียว แต่ต้องเกิดขึ้นจากการ ‘ทำซ้ำๆ’ ในระยะเวลาที่ ‘นานพอ’ และ ‘ต่อเนื่อง’
แล้วต้องทำนานแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอ?
“ไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือถ้าจะให้เห็นเป็นรูปธรรมเลย ต้อง 3 ปีขึ้นไป” ประสบการณ์ให้คำตอบกับโจ้
หัวใจสำคัญ คือ เปิดโอกาสให้เยาวชนหรือวัยรุ่นได้ก้าวออกมาจากห้องเรียน มาเรียนรู้จากสถานการณ์จริงในสังคม มีประสบการณ์ตรง ตรงนี้คือจุดที่ทำให้เขาได้งัดศักยภาพของตัวเองออกมาใช้สูงสุด ซึ่งอาจทำได้หลายแบบ วิธีการที่ตัวเองทำอยู่คือให้ฝึกคิดและทำโครงการเพื่อช่วยแก้ไขหรือพัฒนาชุมชนท้องถิ่นร่วมกันเป็นทีม ซึ่งระหว่างทางมีภารกิจที่ต้องทำให้สำเร็จ รวมถึงปัญหาที่ต้องแก้สารพัด โครงการจึงเป็นเครื่องมือที่จะทำให้วัยรุ่นได้ทำความเข้าใจสถานการณ์สังคม วางแผนจัดการงาน วางแผนชีวิต ทำงานกับผู้คนหลากหลายแบบหลายวัย ทั้งเพื่อนและผู้ใหญ่ในชุมชน ทั้งหมดนี้ต้องใช้ทักษะและความสามารถหลายอย่าง
ก้าวย่ำ ทำความรู้จักตัวเอง
ในระยะเวลาอย่างน้อย 1 ปี เด็กๆ จะเริ่มที่การทำความรู้จักกับชุมชนที่ตัวเองอาศัย 2 ส่วน คือ ภูมิสังคม ได้แก่ ประวัติศาสตร์ ทรัพยากร วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต และบุคคล ซึ่งมีทั้งคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ อาศัยอยู่ร่วมกัน อันนี้เหมือนเป็น Check point แรก เป็นขั้นตอนที่ทำให้รู้จักว่ารากเหง้าตัวเองเป็นใคร และชุมชนตนเองเป็นอย่างไร
คนรุ่นเก่ามีวิถีชีวิตที่เชื่อมโยงอยู่กับฐานทรัพยากร วัฒนธรรม ประเพณี และภูมิปัญญาต่างๆ ในชุมชน โครงการทำให้เด็กเข้าไปสัมผัสสิ่งเหล่านั้น ได้รู้ในสิ่งที่ไม่รู้ ไม่รู้จัก เข้าใจผู้อื่นและสิ่งรอบตัวโดยไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
ทำให้คนรุ่นเก่าและใหม่กลับเข้ามาเห็นรากเหง้าของตัวเอง แล้วตอบได้เต็มปากเต็มคำว่าบ้านตัวเองมีของดีอะไร คนเราเมื่อมีจุดยืนและรู้ว่ารากของตัวเองคืออะไร เมื่อนั้นเราจะหนักแน่นกับชีวิตมากขึ้น
งัดศักยภาพออกมา จากการเรียนรู้นอกห้อง
จากนั้นมาสู่ขั้นลงมือทำ เด็กๆ จะได้ฝึกเลือกสถานการณ์ในชุมชนที่ศึกษามาพัฒนาเป็นโครงการ ตามความสนใจของตัวเอง กำหนดเป้าหมาย กิจกรรมที่จะทำให้บรรลุเป้าหมาย วางแผนการทำงาน และมาถึงขั้นลงมือทำร่วมกับเพื่อนและความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในชุมชน จนมาจบที่การสื่อสารความรู้และการทำงานต่อชุมชนเพื่อให้คนในชุมชนมาเรียนรู้และพัฒนาชุมชนร่วมกัน
นี่เป็นเส้นทางการเรียนรู้ (Learning Journey) ที่ทำให้วัยรุ่นได้งัดศักยภาพของตัวเองออกมาใช้ บางคนเจออุปสรรค ท้อแท้กับการทำโครงการ เช่น ทะเลาะกับเพื่อนในทีม พ่อแม่ไม่เห็นด้วย หรือกังวลที่ต้องทั้งเรียนและทำกิจกรรม ขั้นตอนนี้เด็กจะรู้จักจัดการกับอารมณ์ตนเอง ไม่ถอดใจทิ้งโครงการไปกลางคัน แต่กลับพยายามหาหนทางเพื่อเดินหน้าทำโครงการต่อด้วยความรับผิดชอบ บางคนไม่กล้าแสดงความคิด เพราะกลัวผิด ไม่มั่นใจ ในขณะที่บางคนเพิ่งรู้ว่าตัวเองทำสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยเหรอ เช่น เป็นผู้นำได้ พูดต่อหน้าคนจำนวนมากได้ ซึ่งมันต้องก้าวข้ามความกลัวและความไม่มั่นใจอย่างมาก
โครงการที่น้องๆ ทำ เป็นเหมือนการสร้างพื้นที่ให้ตัวเองได้ลงสนามไปเรียนรู้ ซึ่งโครงการแทบทั้งหมดมีที่มาจากปัญหาภายในชุมชน ก่อนลงมือทำโครงการเด็กจะมีความกลัวและไม่มั่นใจเพราะไม่เคยทำมาก่อน ไม่รู้ว่าจะเริ่มจากตรงไหน หรือเพราะมีตัวอย่างให้เห็นว่าปัญหาบางอย่างขนาดผู้ใหญ่เองยังแก้ไม่ได้ ความมั่นใจของเด็กจึงอาจสูญเสียหรือหล่นหายไปกับอุปสรรคระหว่างทาง โดยเฉพาะเมื่อถูกดูถูกหรือไม่ได้รับการยอมรับจากผู้ใหญ่ ความไม่เข้าใจกันภายในกลุ่มเพื่อนที่ทำงานด้วยกัน หรือปมบางอย่างในชีวิต สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กท้อแท้จนคิดว่าคงไม่มีทางเป็นไปได้ ไม่มีทางทำให้สำเร็จได้
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางอุปสรรคที่เผชิญหน้าอยู่ เหมือนเด็กเขากำลังยืนอยู่ตรงขอบเหว ตรงจุดนี้แหละที่เขาจะหยิบวิธีคิดบางอย่างขึ้นมาท้าทายตัวเอง แล้วดึงศักยภาพในตัวเองออกมา
ซึ่งเป็นได้ทั้งทักษะความรู้ ความชำนาญเชี่ยวชาญเฉพาะตัว หรือแม้แต่ความอดทนและความพยายาม หลายคนรู้จักตัวเองมากขึ้นในช่วงเวลานี้ บางคนถึงขนาดค้นพบความสามารถใหม่ๆ ในตัวเอง เช่น การตัดต่อสารคดี การออกแบบ การวางแผน บริหารจัดการ บางคนมีแรงฮึดอยากทำให้ได้เพราะไม่อยากให้ใครมาตำหนิ เป็นภาวะของการก้าวข้ามความสั่นไหวที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นและศรัทธาในตัวเองว่าจะสามารถประคับประคองตัวเองให้ข้ามพ้นไปได้
เพราะอะไรจึงออกแบบการเรียนรู้แบบนี้
มนุษย์ทุกคนเกิดมาเพื่อต้องการหาตัวตน ช่วงวัยรุ่นก็เป็นอีกช่วงวัยหนึ่งที่ต้องการหาตัวตนว่าเขาเป็นใคร จะอยู่บนโลกนี้ด้วยตัวตนไหน เช่น เป็นนักสร้างสรรค์ นักอ่าน นักกวี นักสิ่งแวดล้อม นักดนตรี ฯลฯ ซึ่งสภาพแวดล้อมมันก็จะหล่อหลอมจนกลายเป็นตัวเขาที่ชัดเจนขึ้นมา
ยกตัวอย่างเช่น ตอนเรียนมหาวิทยาลัยผมทำละครเวที ทำงานศิลปะ ผมทำการแสดงที่ต้องไปยืนอยู่บนเวทีต่อหน้าผู้คน สร้างวงกลมแห่งสมาธิล้อมรอบตัวเรา สร้างความเชื่อในการเป็นตัวละครที่เกิดจากการทำการบ้าน ทำความเข้าใจตัวละครตัวนั้น จนแสดงออกมาสู่ผู้ชม ความชอบตรงนี้มันเลยทำให้ผมชัดเจนว่าวันหนึ่งเราจะเป็นนักละครเพื่อการเปลี่ยนแปลง แล้วเราก็ฝึกฝนความถนัด ความชอบของเราเป็นสิบปี ผ่านการทำละครในมหาวิทยาลัยและทำกับกลุ่มละครมะขามป้อม ได้ใช้ทักษะและความสามารถที่เรามีแสดงต่อกลุ่มเป้าหมายต่างๆ และนั่นคือความสุขของเรา
นี่เป็นเรื่องราวการสร้างตัวตนของเราในวัยนั้นที่หล่อหลอมเป็นตัวเราทุกวันนี้ ธรรมชาติของวัยรุ่นคนอื่นๆ ก็เช่นกัน ช่วงวัยนี้ต้องการแสวงหาตัวตน และสร้างสตอรี่ที่มาจากประสบการณ์ หรือ Learning Journey ของแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไปเลย
ถ้าสภาพแวดล้อมเอื้อให้เขาได้ค้นหาศักยภาพของตัวเอง มีเรื่องเล่าจากประสบการณ์ที่ได้ทดลอง ได้ลงมือทำ ได้ใคร่ครวญ ได้ฝึกฝนเพื่อที่จะเป็นนักต่างๆ ตามความชอบของตัวเองอย่างอิสระ มันจะเอื้อให้เกิดการปลดปล่อยศักยภาพของเขาออกมา
ถ้าลองสรุป คิดว่าประสบการณ์ที่หล่อหลอมตัวตนของแต่ละคน ผ่านเส้นทางการเรียนรู้ ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญเชื่อมโยงกัน คือ
- หนึ่ง แรงขับ (Drive) ให้ลงมือทำ
- สอง เมื่อทำแล้วจึงเกิดทักษะ (Skills)
- สาม จุดยืนหรือท่าทีของตัวเองที่มีต่อชุมชนและสังคม (Position)
ท้ายที่สุด ทั้ง 3 ส่วนนี้จะหลอมรวมกันเป็นตัวตนของแต่ละคน สำหรับวัยรุ่นหรือเยาวชน หากการเรียนรู้เข้ามาในจังหวะที่เหมาะสม จะยิ่งช่วยส่งเสริมให้พวกเขามองเห็นศักยภาพในตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ปัญหาคือพื้นที่แห่งโอกาสหรือสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาได้หล่อหลอมความเป็นตัวตนในช่วงวัยนี้ได้หายไป เราจึงคิดว่าทำอย่างไรที่พื้นที่แห่งโอกาสตรงนี้มันได้มีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งหมดจึงเป็นที่มาที่ออกแบบการเรียนรู้ในทำนองนี้
ผู้ใหญ่รอบตัว สภาพแวดล้อมที่สำคัญ
ที่เล่ามาจะเห็นว่าหลายจังหวะที่เด็กๆ ถูกผลักไปอยู่ที่ขอบ คือการเผชิญหน้ากับปัญหา ซึ่งเขามีสองทางเลือก คือ ยอมแพ้ หรือก้าวข้ามสถานการณ์นั้นไปให้ได้ เด็กบางคนก้าวข้ามมันได้ด้วยตัวเอง แต่บางคนข้ามมาได้ด้วยการประคับประคองจากผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นครู พ่อแม่ หรือผู้ใหญ่ในชุมชน
เวลาที่ออกมาเรียนรู้นอกห้องเรียน น้องๆ ต้องเจอสถานการณ์ที่ควบคุมไม่ได้มากมาย ไม่เหมือนในห้องเรียน ดังนั้น ‘ผู้ใหญ่’ จึงเป็นสภาพแวดล้อมที่สำคัญ
ผู้ใหญ่ หรือโค้ช ไม่ได้เข้ามาบอกว่าน้องๆ จะต้องทำอะไร แต่เป็นคนมาชวนคิดและสะท้อนให้น้องๆ เห็นจุดอ่อนและจุดแข็งในตัวเอง เป็นคนทำให้กระบวนการเรียนรู้มีความเข้มข้น พอทำงานโครงการไปเรื่อยๆ เด็กจะรู้จักตัวเองมากขึ้น อาจจะค้นพบความสามารถของตัวเองระหว่างทาง เช่น รู้ว่าตัวเองถนัดหรือไม่ถนัดอะไร แล้วควรวางตัวเองอยู่ในจุดไหนในการทำงานแต่ละครั้ง
จากประสบการณ์ที่ทำโครงการมาพบว่า ‘ผู้ใหญ่’ ซึ่งเป็นพี่เลี้ยง ที่คอยจ้องมองภาวะ ‘ติดขอบ’ ของวัยรุ่น สามารถทำให้ไปไกลกว่าการโค้ชเพื่อให้เขาก้าวข้ามอุปสรรคในการจัดการงาน แต่สามารถโค้ชหรือช่วยให้เขาชัดในตัวตนที่เขาค้นหาอยู่ได้ด้วยเช่นกัน หากหมั่นสังเกต รับฟัง ตั้งคำถาม และเสริมพลัง สร้างกำลังใจให้เขา
เห็นได้ชัดว่า ประสบการณ์และทักษะที่เกิดขึ้นจากการเรียนรู้ในสถานการณ์จริง จะฝังชิปอยู่ในตัวของแต่ละคน เกิดการหล่อหลอมความเชื่อและอุดมการณ์ ซึ่งเหล่านี้เป็นสัมภาระสำคัญที่วัยรุ่นจะพกติดตัวไปเพื่อทำให้เขาพิชิตเป้าหมายที่เขาอยากเป็น และอยากทำได้ในอนาคต
การรู้จักตัวเองดีพอ ทำให้ผมเลือกอยู่ในจุดที่ยืนอยู่ตอนนี้ เลือกทำงานแบบที่ทำอยู่ เพราะตัวตนเราเป็นแบบนี้ ทั้งพฤติกรรม นิสัย และวิธีคิด เป็นคุณค่าแท้ที่เราหาเจอจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ในชีวิต เช่นเดียวกันหากน้องๆ ค้นพบศักยภาพตัวเอง แล้วเขารู้ว่าจุดยืนของเขามันมีความหมายยังไงกับชุมชนที่เขาอยู่จะทำให้เขาใช้ศักยภาพที่มีทำประโยชน์ให้ชุมชน สังคมได้