- เพราะคำถามดีๆ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าคำตอบดีๆ เราจึงควรเรียนรู้ที่จะตั้งคำถามอย่างเหมาะสม
- คำถามที่ดีจะทำให้เราได้คำตอบที่มีประโยชน์ ทำให้เราเข้าใจโลกรอบๆ ตัวเรา และอาจนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์บางอย่าง หรือใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราได้ในทางใดทางหนึ่ง
- เรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักไว้ควบคู่กับการตั้งคำถามดีๆ คือ การตั้งใจฟังก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดตั้งคำถามที่ดีเช่นกัน
เดิมในยุคที่ข้อมูลหายาก การหาข้อมูลมาใช้งานจึงต้องอาศัยหนังสือชั้นดีที่มีการตรวจสอบข้อมูลอย่างละเอียดถี่ถ้วน หนังสือชุดความรู้หรือสารานุกรมจึงมีประโยชน์และสร้างความแตกต่างได้มาก แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ข้อมูลท่วมท้นและหาง่ายมาก การสอนเด็กอาจจะมีความแตกต่างจากอดีตนะครับ
นอกเหนือจากการต้องรู้วิธีหาข้อมูลที่เชื่อถือได้แบบออนไลน์ รู้วิธีตรวจสอบความถูกต้องด้วยตัวเองแล้ว เรื่องที่มีประโยชน์มากเรื่องหนึ่งน่าจะได้แก่ การรู้จักตั้งคำถามอย่างเหมาะสม เพราะคำถามดีๆ มีความสำคัญไม่น้อยกว่าคำตอบดีๆ
ในวงการวิทยาศาสตร์ถึงกับมีหลายคนกล่าวว่า บ่อยครั้งทีเดียวที่ ‘คำถาม’ ที่ดีมีประโยชน์กว่า ‘คำตอบ’ ที่ดีด้วยซ้ำไป เพราะทำให้เกิดโลกทัศน์ กรอบแนวคิด และฉากทัศน์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน
เว็บไซต์ The University of People [1] ได้รวบรวมคำถามสำคัญทางวิทยาศาสตร์ 20 คำถาม ตัวอย่างคำถามสำคัญหรือที่ฝรั่งใช้ว่า Big questions ได้แก่ เอกภพประกอบไปด้วยอะไรบ้าง? ชีวิตเกิดขึ้นครั้งแรกได้อย่างไร? จิตสำนึกคืออะไร? จะมีวันที่เรารักษามะเร็งได้ไหม? ฯลฯ
แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือเว็บไซต์ดังกล่าวยังได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการตั้งคำถามที่มีประโยชน์ไว้ด้วย โดยอ้างอิงจากการตั้งคำถามสำหรับงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ต้องพึ่งพาการสังเกตและหลักฐานต่างๆ เพื่อหาข้อสรุปที่มีประโยชน์ จึงต้องรู้วิธีการตั้งคำถามที่นำไปสู่การตรวจสอบด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์
คำแนะนำในการตั้งคำถามที่ใช้งานได้จริงและเป็นประโยชน์ มีลำดับขั้นตอนดังนี้ครับ
เริ่มต้นจากการถามคำถามหลายๆ คำถามขึ้นมาก่อน ในจำนวนนี้ก็จะมีบางคำถามที่คุณรู้สึกสนใจ เช่น สำหรับการทำอาหารอร่อย ความจริงแล้วต้องอาศัยปัจจัยอะไรบ้าง? วัตถุดิบสดๆ สำคัญแค่ไหนต่อผลลัพธ์ที่ได้? วิธีการปรุง จำนวนและชนิดของเครื่องปรุงสำคัญเพียงใด? ความร้อนหรือความเย็นของอาหารขณะปรุงและขณะกินส่งผลแค่ไหน? ความเคยชินหรือรสชาติที่กินกันเป็นประจำมีผลต่อการตัดสินรสชาติมากน้อยแค่ไหน เช่น กรณีคนไทยกินอาหารรสจัดเป็นเรื่องปกติ เราจะตัดสินอาหารรสอ่อนกว่าหรือรสไม่จัดว่าไม่อร่อยไปตามความเคยชินหรือไม่? ฯลฯ
เมื่อได้คำถามมาจำนวนหนึ่งแล้ว ขั้นตอนต่อไปได้แก่ การพิจารณาคำถามต่างๆ ที่ได้มาว่า สามารถใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (scientific method) ในการตรวจสอบได้หรือไม่ ดูว่าสามารถทดสอบหรือทดลองทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติได้หรือไม่ เมื่อทำเช่นนี้แล้วก็จะเห็นได้ว่าคำถามบางคำถาม อาจจะนำไปสู่การพิสูจน์ได้ยาก เพราะหนักไปทางเป็นความเห็น ความเชื่อ หรือค่านิยมบางอย่างมากกว่าจะเป็นคำถามจริงๆ ก็ตัดทิ้งไปเสีย
ยกตัวอย่าง วิทยาศาสตร์จะไม่เสียเวลากับการทดสอบว่า มีพระเจ้าจริงหรือไม่ เพราะการทดสอบอย่างรัดกุมจนได้คำตอบที่แน่ชัด เป็นเรื่องที่ทำแทบไม่ได้ เพราะใช้กรอบความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ถึงทดลองไป สรุปผลออกมา ก็ไม่สามารถโน้มน้าวใจคนที่เชื่อว่ามีพระเจ้าให้เปลี่ยนใจได้อยู่ดี
ขั้นตอนนี้จะตัดคำถามออกไปได้จำนวนหนึ่ง จากนั้นก็ให้นำคำถามที่ผ่านการคัดเลือกมาจัดกลุ่มและแยกตามความจำเพาะดูว่า คำถามใดสามารถจัดให้อยู่ด้วยกันได้ แล้วเลือกคำถามที่เหมาะสมจะนำไปทดลองเพื่อหาคำตอบต่อไป
ตัวอย่างรูปแบบคำถามที่ได้ เช่น คำถามจำพวก ‘มีความสัมพันธ์ระหว่าง ก กับ ข หรือไม่?’ หรือ ‘ก ส่งผลกระทบกับ ข ในเรื่อง … หรือไม่?’ ฯลฯ
เท่านี้ก็จะได้คำถามที่ดี และสามารถตรวจสอบหรือตรวจวัดหาคำตอบได้อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คำถามที่ดีจะทำให้เราได้คำตอบที่มีประโยชน์ ทำให้เราเข้าใจโลกรอบๆ ตัวเรา และอาจนำความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์บางอย่าง หรือใช้ปรับปรุงคุณภาพชีวิตของเราได้ในทางใดทางหนึ่ง
อลิสัน วู้ด บรู้กส์ (Alison Wood Brooks) และเลสลี เค. จอห์น (Leslie K. John) จากคณะธุรกิจ มหาวิทยาลัยฮาร์วาด (Harvard Business School) แจกแจงประโยชน์ของการตั้งคำถามกับองค์กรธุรกิจไว้มากมายหลายข้อ [2] ซึ่งแน่นอนว่า หากนักเรียนนักศึกษาได้ฝึกตัวเองให้มีความสามารถในการตั้งคำถามที่มีประโยชน์ ก็ย่อมเป็นที่ต้องการตัวของบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ แน่
ตัวอย่างประโยชน์ของการตั้งคำถามเก่งคือ มันช่วยกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดต่างๆ ซึ่งกันและกันของฝ่ายคนถามและคนตอบ
นอกจากนี้ คำถามที่ดียังเป็นเชื้อให้เกิดการปะทุขึ้นของนวัตกรรมและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการทำงานให้ดีขึ้น แถมยังทำให้เกิดความเชื่อใจและเป็นมิตรต่อกันในกลุ่มคนทำงาน และยังลดหรือต้านทานความเสี่ยงทางธุรกิจ เพราะทำให้เห็นกับดักและอันตรายต่างๆ ล่วงหน้าได้
ข่าวดีอีกเรื่องหนึ่งก็คือ การตั้งคำถามต่อกันช่วยเพิ่มระดับความฉลาดทางอารมณ์ (emotional intelligence) หรือ ‘อีคิว (EQ)’ ได้ด้วย แถมยังจะไปกระตุ้นให้เกิดการอยากตั้งคำถามวนเวียนเป็นวงจรอันดีงามต่อไปอีกด้วย
สิ่งที่อลิสันเรียนรู้จากการทำวิจัยนานหลายปีของเธอก็คือ ผู้คนถามคำถามน้อยเกินไป!
เรื่องบ่นที่พบบ่อยที่สุดภายหลังการสนทนารูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์ การออกเดทครั้งแรก การประชุมในที่ทำงาน ฯลฯ ก็คือ เขาหรือเธออีกฝ่ายถามคำถามน้อยเกินไป ไปจนถึงไม่ถามเลยแม้แต่คำถามเดียว!
เหตุผลเบื้องหลังปรากฏการณ์ดังกล่าวก็คือ อาจจะได้แก่ (1) การถือเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล (egocentric) จึงพยายามแสดงความคิดความเห็นและอยากเล่าแนวคิดต่างๆ โดยไม่สนใจว่าฝ่ายตรงข้ามจะสนใจหรือไม่
(2) การไม่ใส่ใจก็เป็นเหตุผลสำคัญอีกข้อหนึ่งที่พบได้บ่อย (3) การมั่นใจในตัวเองก็มีส่วนเช่นกัน เพราะทำให้รู้สึกตัวว่ารู้คำตอบอยู่แล้ว เลยไม่รู้จะถามอีกทำไม แม้แต่ (4) ความกังวลก็อาจมีส่วน การถามคำถามผิดหรือไม่เหมาะสม อาจถูกมองว่าหยาบคายหรือไม่มีวุฒิภาวะ ก็เป็นกำแพงสำคัญ
แต่นักวิจัยเชื่อว่าปัจจัยใหญ่ที่สุดน่าจะเป็นเรื่อง (5) การมองไม่เห็นประโยชน์จากการตั้งคำถามนี่เอง
หากไม่รู้จะถามอะไร แนวไหน นักวิจัยเสนอว่าให้ทำได้โดยตั้งเป้าหมายไว้ 2 แบบคือ (1) ถามเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลที่สำคัญและจำเป็น การถามแบบนี้ช่วยให้เราได้เรียนรู้เรื่องใหม่ๆ ของอีกฝ่าย ส่วนอีกแบบคือ (2) การถามเพื่อให้เห็นวิธีคิดและแนวทางการจัดการเรื่องต่างๆ การถามแบบนี้เป็นการสร้างความประทับใจแบบหนึ่งได้ เพราะแสดงให้เห็นการเอาใจใส่อีกฝ่าย
เมื่อสอบถามกับคนที่เข้าร่วมกิจกรรม ‘สปีดเดท’ ที่มีโอกาสพูดคุยกับคนโสดสักคนเป็นเวลาสั้นๆ ก่อนต้องเวียนไปคุยอีกคนหนึ่งและคนอื่นต่อไปเรื่อยๆ จนครบทุกคน ทำให้รู้ว่าหากให้เลือกคู่เดทไปออกเดทกันได้จริงๆ ในภายหลัง โดยพิจารณาจากการพูดคุยกันเป็นเวลาสั้นๆ ในสปีดเดทนั้น คนส่วนใหญ่มักเลือกคู่เดทที่ถามคำถามมากกว่า!
การถามคำถามจึงเป็นการสร้างสัมพันธ์รูปแบบหนึ่งที่มีประสิทธิภาพดี
เคล็ดลับการถามที่ดีอาจจะใช้คำแนะนำหนังสือชื่อ ‘วิธีชนะมิตรและจูงใจคน (How to Win Friends and Influence People)’ ของเดล คาร์เนกี ที่เขียนไว้ตั้งแต่ ค.ศ. 1936 แต่ยังเป็นจริงอยู่ก็คือ ‘ให้ถามคำถามที่อีกฝ่ายสนุกที่จะตอบ’
นักสัมภาษณ์กล่าวตรงกันหมดว่า คำถามที่ดีจะปลดปล่อยเรื่องราวจากผู้ให้สัมภาษณ์ราวกับทำนบแตก หากไปสะกิดเอาส่วนที่เขาหรือเธอสนใจ มั่นใจ ภูมิใจ หรือมีความสุขกับมัน จนอยากจะเล่าให้คนอื่นฟัง
เคล็ดลับอีกข้อที่น่าจะเป็นประโยชน์ก็คือ พยายามถามแบบ ‘ปลายเปิด’ เพราะคำถาม ‘ปลายปิด’ มักทำให้การสนทนาจบอย่างรวดเร็ว เช่น การถามว่า “ชอบหรือไม่” แต่คำถามปลายเปิด เช่น “ชอบเพราะอะไร” กลับต่อบทสนทนาให้ยืดยาวออกไปได้เรื่อยๆ
ก่อนจบคงต้องย้ำเรื่องสำคัญที่ต้องตระหนักไว้ควบคู่กับการตั้งคำถามดีๆ คือ การตั้งใจฟังก็เป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง การเป็นผู้ฟังที่ดีก็เป็นส่วนสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดตั้งคำถามที่ดีเช่นกัน ในมุมหนึ่งการถามและตอบจึงคล้ายกับการเต้นรำที่จังหวะการเต้นที่เข้าคู่กัน ย่อมทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
เมื่อเห็นความสำคัญของการตั้งคำถามเช่นนี้แล้ว ก็มาฝึกฝนลูกหลานหรือแม้แต่ตัวของคุณเอง ให้เป็นคนช่างคิดช่างถาม เพื่อประโยชน์ต่างๆ ดังที่ได้กล่าวไปแล้ว
เอกสารอ้างอิง
[1] https://www.uopeople.edu/blog/the-big-scientific-questions/
[2] https://hbr.org/2018/05/the-surprising-power-of-questions