- คุยกับ ต้อง – กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร Head of Venture Builder แห่ง SCB10X, ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสอนวิชานวัตกรรม Design Thinking for Business Innovation ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง และอีกหลายบทบาทเกี่ยวกับงานนวัตกรรม
- ว่าในฐานะคนที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ในฐานะหัวหน้าทีมนวัตกรรมแห่งธนาคารไทยพาณิชย์ เขาเห็นว่าอะไรคือศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มองหา อะไรคือจุดปิดกั้นศักยภาพนั้น และทำไมการมีทักษะนวัตกร จึงจำเป็นสำหรับคนยุคนี้
ภาพ: วัชรพล สายสงเคราะห์
คงไม่ต้องพูดกันอีกแล้วว่าทักษะของคนรุ่นใหม่ ในโลกการทำงานแบบใหม่ เราต้องการคนที่คิดนอกกรอบ สงสัยใคร่รู้ ตั้งคำถาม ยืดหยุ่น กล้า พร้อมทดลอง และไม่หวั่นไหวกับฟีดแบกที่อาจได้ก้อนหินแทนดอกไม้ (โดยเฉพาะก้อนหินในโลกไซเบอร์) — ทั้งหมดนี้เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่านี่คือทักษะในศตวรรษที่ 21
แต่ถ้าถอดสมการออกมาดีๆ นี่คือขั้นตอนการทำงานหรือระบบคิดที่เรียกว่า Design Thinking วิธีการทำงานในการสร้างนวัตกรรมโดยมีต้นกำเนิดที่ซิลิคอนวัลเลย์ (Silicon Valley สำนักงานใหญ่ของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดของโลก ส่วนใต้ของพื้นที่อ่าวซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา) ที่ซึ่งผลิตองค์กรอย่างกูเกิล แอปเปิ้ล — แปลว่ามีมานานแล้วไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ด้วยวิธีการได้ทำให้เกิดของใหม่ได้ไม่รู้จบ
เริ่มต้นธีมใหม่อย่าง Generation of Innovator ที่เชื่อ (และมีหลักฐานชัดเจน) ว่า ทักษะของคนรุ่นใหม่คือการมีความคิดแบบนวัตกร หรือผู้ที่ใช้ความสงสัยใคร่รู้ของตัวเองมาแก้ปัญหาในสังคม มาสร้างเครื่องมือ องค์กร ธุรกิจ แบบใหม่ที่ตอบโจทย์กับชีวิตและความเป็นอยู่ของผู้คน
โดยบทความแรกๆ เราชวนคุณต้อง – กวีวุฒิ เต็มภูวภัทร ผู้เชี่ยวชาญด้าน Design Thinking และจบการศึกษา d.School, Stanford University สถาบันที่ให้กำเนิดหลักการ Design Thinking เป็นแห่งแรกของโลก, Head of Venture Builder แห่ง SCB10X, ผู้เชี่ยวชาญพิเศษสอนวิชานวัตกรรม Design Thinking for Business Innovation ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, เจ้าของเพจ 8 บรรทัดครึ่ง และอีกหลายบทบาทเกี่ยวกับงานนวัตกรรม
ที่อยากชวนคุยไม่ใช่ว่า Design Thinking คืออะไร (เพราะมีผู้อธิบายให้เข้าใจง่ายไว้มากแล้ว) แต่อยากชวนคุยว่า ในฐานะคนที่ทำงานกับคนรุ่นใหม่ ในฐานะหัวหน้าทีมนวัตกรรมแห่งธนาคารไทยพาณิชย์ เขาเห็นว่าอะไรคือศักยภาพของคนรุ่นใหม่ที่มองหา อะไรคือจุดปิดกั้นศักยภาพนั้น และทำไมการมีทักษะนวัตกร จึงจำเป็นสำหรับคนยุคนี้
ก่อนเข้าเรื่องคาแรกเตอร์คนทำงานที่ SCB10X มองหา อยากชวนถามย้อนว่า ทำไมธนาคารไทยพาณิชย์ ถึงต้องทำทีมนวัตกรรม
จริงๆ เรื่องนวัตกรรม (innovation) องค์กรหลายที่คิดจะทำมานานแล้ว ระบบนวัตกรรมหรือการทำอะไรใหม่ๆ ก็ต้องดูว่าธุรกิจเราต้องการทำอะไรใหม่ๆ หรือเปล่า ถ้าเป็นธุรกิจธนาคาร เราจะพอทราบว่ามันจะอยู่ในมุมของคนที่ชอบพูดเรื่อง disruption ว่าธนาคารจะโดน disrupted หรือเปล่า ธนาคารจะทำแบบเดิมได้มั้ย ซึ่งมุมมองธนาคารไทยพาณิชย์ชัดเจนว่า (เว้นวรรค) ไม่ได้ จริงๆ ต้องบอกว่าทำแบบเดิมได้ แต่ทำแบบเดิมอย่างเดียวไม่ได้ แต่ก่อนจะยืนยันแบบนี้ ธนาคารทดลองทำนวัตกรรมภายในองค์กรกันมาสักพักและทำมาหลายอย่างมาก แต่เพื่อจะเคลื่อนไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น มันก็จะมีโมเดลหนึ่งคือการ spin off บริษัทออกไปทำข้างนอก ไม่ได้อยู่ข้างในองค์กรใหญ่ ซึ่ง SCB10X ก็เป็นการ initiative หนึ่งที่ตั้งขึ้นมา โดยพยายามเซ็ตคน เซ็ตวิธีการทำงานใหม่ เพื่อเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้เร็วขึ้น
ในมุมมองของคุณ นวัตกรรม คืออะไร
ต้องมีประโยชน์ และประโยชน์นั้นไม่ได้เกิดจากคนทำแต่มาจากคนใช้ อันนี้มีประโยชน์ อันนี้ก็เป็นนวัตกรรม อันนี้ดีกว่าอันนั้น อันนี้ก็เป็นนวัตกรรม ย้ำว่าถ้ามันมีประโยชน์กับคนใช้ ก็เรียกสิ่งนั้นว่านวัตกรรม ถึงแม้คุณเอาเทคโนโลยีมาจับ ล้ำมากเลยนะ แต่มันกลับเป็นของขึ้นหิ้ง ไม่มีใครใช้ ก็เสียเวลา เสียแรง
นวัตกรรม จำเป็นต้องเป็นของใหม่มั้ย
ถ้ามันเป็นของใหม่ที่ไม่มีใครใช้ มันก็ไม่เรียกนวัตกรรม วันนี้ถ้าคุณจะทำของใหม่และเป็นนวัตกรรม มันก็ต้องใหม่กว่าสิ่งปัจจุบันถูกมั้ย แต่คีย์ของมันคือต้องมีประโยชน์
กลับมาที่ตอนทำทีมนวัตกรรมแรกๆ ตอนนั้นคุณต้องการคนทำงานแบบไหน ที่ว่า spin off ออกจากบริษัทเดิม แปลว่าต้องโละคนทำงานเก่าแล้วหาคนใหม่มาเข้าทีมหรือเปล่า
ไม่ได้โละคนเดิม อย่าโละๆ จริงๆ แบบเดิมมันก็ทำเงินได้นะ มันโอเคในเชิงธุรกิจ แต่ทำแบบเดิมจะได้แบบเดิม ซึ่งพอเราอยากได้ของใหม่ เราก็ลองหาวิธีคิดแบบใหม่ๆ เข้ามาในองค์กร
ถามว่ามองหาคนแบบไหน? จริงๆ มองหาคนที่มีทักษะอยากเรียนรู้ของใหม่ ถ้าเราเชื่อและอันที่จริงต้องบอกว่าโลกอนาคตเป็นโลกดิจิทัล ถ้าเราเชื่อแบบนั้น คนที่มีทักษะในการพัฒนาโพรดักท์ที่อยู่ในรูปแบบของดิจิทัล (product digital) ก็จะมีวิธีของมัน ซึ่งแบบเดิมหรือโลกเดิมมันทำไม่ได้ พอทำไม่ได้ปุ๊บก็ต้องคิดกันเยอะๆ
ในโลกดิจิทัล ต้นทุนของการล้มเหลวมันต่ำ เราจึงต้องมูฟให้เร็วขึ้น เลยต้องใช้วิธีการทำงานแบบใหม่ เราอาจจะเคยได้ยินคำว่า Lean หรือ Agile ซึ่งด้วยเทคโนโลยีมันสามารถทำโพรดักท์ให้เร็วได้ คนที่เรามองหาในช่วงนั้นก็คือคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ และก็มีทักษะเชิง hard skills ที่เหมาะสม เช่น ทักษะการออกแบบ (design) โค้ดดิ้ง (coding) คนที่คุยกับลูกค้าเป็น
คุณมักให้สัมภาษณ์บ่อยๆ ว่าคุณให้ความสำคัญกับ ‘คน’ และ ‘อิสระทางความคิด’
สองอย่าง หนึ่ง – คนต้องใช่ คือคนที่อยากเรียนรู้ของใหม่ และ สอง – มีทักษะที่ถูกต้อง และถ้าได้คนที่ใช่แล้ว อย่าไปบอกให้เขาทำอะไร แต่ให้อิสระเขา วิธีคิดแบบเดิมๆ คือเอาใครก็ได้เข้ามาก่อนแล้วเดี๋ยวเทรนให้ เดี๋ยวมีไกด์ไลน์ให้ อันนั้นคือองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ได้ผิดอะไร แต่กับองค์กรขนาดเล็ก เราเชื่อในพลังของคน เราไม่รู้หรอกว่าคนๆ นี้เขาจะคิดอะไรหรือทำอะไรได้ในอนาคต แต่เราเชื่อว่าถ้าเขาเรียนรู้ของใหม่อยู่ตลอดเวลา เขาอยู่ใน ecosystem (ระบบนิเวศ) ที่เหมาะสม เขามีทัศนคติที่ดีต่อการลงมือทำ ถ้าเขามีทักษะเหล่านี้ เราจะให้พื้นที่เขาได้ทดลอง
ถามว่าเขาจะทดลองอะไร? เราก็มีกรอบให้เขาว่าเราสนใจเรื่องนี้ด้วยสโคปประมาณนี้นะ แต่เรื่องอื่นๆ ลองไปหามาแล้วกัน ฉะนั้น คนที่ใช่กับอิสระ มันเลยลิงก์กัน คนบางคนให้อิสระไปไม่ได้นะ ให้อิสระแล้วกลับบ้านเลย ไม่ทำงานก็มี เราเลยต้องชัดเจนว่าการให้อิสระมันสำคัญ แต่ไม่ได้ให้ได้กับทุกคน แต่สำหรับคนที่ใช่ แล้วเขาจะสร้างของใหม่ได้
‘ใช่’ ที่ว่า ต้องเป็นยังไง
มีสองสามส่วน อย่างแรก คือมีทัศนคติที่ถูกต้อง คือเชื่อว่ายังมีเรื่องที่ตัวเองไม่รู้อะไรอีกเยอะมาก เพราะเวลาคนจะทำของใหม่ต้องคิดว่าตัวเองไม่รู้ คนที่รู้คือลูกค้าเรา คือ user (ผู้ใช้งาน) ซึ่งคนที่ว่าเหล่านี้อาจไม่ใช่ลูกค้าเราในปัจจุบันก็ได้ เค้ามีปัญหาอะไร ไปค้นหาปัญหาของลูกค้า อย่าคิดเองเยอะ ในภาพใหญ่มันก็คือ customer centric (การรู้จักและเข้าใจความรู้สึกของลูกค้า ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง) คือคุณสมบัติของคนที่เชื่อว่าตัวเองไม่รู้ คนประเภทนี้ก็จะไม่ชอบประชุมอะไรนานๆ เพราะว่าประชุมไปก็ไม่รู้อยู่ดี แต่ไปเรียนรู้กับ user หรือออกไปหาอะไรอ่านเพิ่มเติมอีกเยอะแยะเลย คือเป็นคนไม่เต็มแก้วอะ ซึ่งเรื่องนี้สำคัญมาก
ถัดไปเป็นเรื่องทักษะ ถ้าพูดเรื่องทักษะก็จะมีหลายอย่าง มีคนหลายประเภท เช่น คนที่คุยกับลูกค้า อาจเป็นแก๊งที่จบจิตวิทยาก็ได้เพราะต้องไปคุยกับคนจริงๆ คือคนสายธุรกิจหรือสายวิศวะ คุยกับคนก็จะได้ประมาณนึง เวลาคุยจะได้นำสิ่งที่อยู่ในหัวมาคอนเฟิร์ม แต่การคุยแบบนี้คือการคุยเพื่อหาความต้องการหรือ pain ของลูกค้าเพราะนี่คือทรัพยากรของนวัตกรรม ก็ต้องการคนที่มีทักษะแบบนี้มาอยู่ในทีม แล้วก็ต้องมีคนที่โค้ดดิ้งได้ คนที่สร้างของได้อย่างรวดเร็ว ส่วนนี้ก็จะเป็นสาย software engineer (วิศวกรรมซอฟแวร์ คนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบเว็บไซต์) แล้วก็ต้องการคนที่ทำให้โพรดักท์นั้นใช้ง่ายใช้สะดวก ที่เราอาจเรียกว่า UX designer (User Experience Designer ผู้ออกแบบประสบการณ์ผู้ใช้งานในสินค้าได้ง่าย สะดวก สวยงาม สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้ใช้งาน) รวมทั้งต้องการคนที่ทำการตลาดเป็น
เหล่านี้จะเป็นทักษะในการทำงาน ซึ่งจะเห็นว่ามันแยกกัน ทัศนคติที่พูดไปคือ ชอบลงมือทำ คิดว่าตัวเองไม่รู้ ชอบทดลอง เหล่านี้จะเป็นตัวคลุม แต่ทักษะก็จะเป็นอีกเรื่องนึง ซึ่งถ้ามีครบมันก็จะสามารถสร้างโพรดักท์ สร้างบริการได้
การหาคนที่มีทักษะการทำงานแบบ hard skills น่าจะหาได้ง่ายเพราะมีตัวชี้วัดก่อนเข้างานชัดเจน เช่น ดูจากพอร์ตหรืองานที่เคยทำมา แต่เรื่อง ‘ทัศนคติ’ น่าจะยากกว่า แบบนี้วัดหรือดูยังไงดี
วัดยากมาก มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์เลยต้องลองผิดลองถูก มีเครื่องมือหลายอย่าง การสัมภาษณ์ก็เป็นอย่างหนึ่ง เวลาคุยก็คงถามว่าทำอะไรมาบ้างแล้วก็ค่อยถามเจาะลึก คนที่เคยทำจริงๆ เค้าจะตอบได้ คนที่ตอบกว้างๆ โม้ๆ หน่อย เราก็จะรู้ว่า อ่า… เค้าไม่เคยทำ สิ่งที่ทำในอดีตจะบอกว่าอันนี้ทำได้หรือไม่ได้ หรือบอกได้ว่าอนาคตอยากทำอะไร ซึ่งส่วนใหญ่จะพบว่าเด็กกิจกรรมจะมีอะไรแบบนี้เยอะ เค้าจะเคยทำงานเป็นทีมมาก่อน เค้าจะรู้ว่าทำงานกับมนุษย์มันไม่ใช่เทคโนโลยี
แต่จริงๆ แล้วเครื่องมือที่ดีที่สุดคือ referral (การยืนยันจากบุคคลที่เคยทำงานด้วย หรือจากงานที่เคยทำมา) คนเราไม่ได้อยากทำงานกับคนเก่งอย่างเดียวแต่ต้องนิสัยดีด้วย ซึ่งถ้าต้องเลือก การใช้ referral จะเป็นวิธีที่ดีที่สุด ไม่ต้องเสียแรงเยอะ
อีกวิธีหนึ่งก็คือ probation (ช่วงเวลาทดลองงาน) ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรับมาแล้วอยู่ตลอดไป ยุคนี้ต้องทำงานให้ดู ก่อนรับทำงานมาก็อาจต้องให้ assignment ทำให้ดูด้วยซ้ำ บางคนบอกว่า “นี่แค่สมัครงานต้องทำ assignment เหรอ” ใช่ดิ (พยักหน้า) คอนเซปต์ของการทดสอบว่าเค้าทำอะไรได้บ้างมีความสำคัญมาก
คุณเคยให้สัมภาษณ์เรื่องการประชุมของทีมนวัตกรรมว่า “ประชุมให้น้อย” มันเป็นยังไงคะ
จริงๆ การประชุมยาวๆ ไม่ได้ผิด อยู่ที่ว่าเราประชุมด้วย context ไหน ถ้าเราทำของเดิมก็ต้องเชื่อประสบการณ์ถูกปะ การเชื่อประสบการณ์ก็คือเชื่อคนในห้องประชุม อันนี้ก็ควรประชุมกันนานๆ ทำอะไรผิดไม่ได้ มันมีงานแบบนั้นอยู่เยอะมากในโลกใบนี้นะ คนชอบงงว่า โอ ฉันต้องสร้างสรรค์กันอยู่ตลอดเวลา จริงๆ ไม่ใช่ มันมีงานที่ต้องทำแบบเดิม เหมาะกับคนแบบเดิม อันนั้นปล่อยให้เขาทำไป
พอเป็นเรื่องนวัตกรรม สิ่งสำคัญคือเราไม่รู้ พอเราไม่รู้ปุ๊บ คนในห้องนี้ก็ไม่ควรจะรู้ พอเราไม่รู้ก็ต้องเดินออกไปข้างนอกไปคุยกับ user เรา เพราะงั้นการประชุมมันควรสั้น เพราะว่าเราก็รู้ประมาณนี้แหละ เราไม่มีประสบการณ์มาก่อนนี่นา เราก็ต้องมีวิธีการออกไปเทสต์กับลูกค้าบ่อยๆ นี่คือสาเหตุว่าทำไมประชุมกันสั้น มันมีเหตุผลของมัน ถ้าทำของใหม่ คุยกับคนในห้องนี้แล้วจะได้สิ่งที่ถูกต้องมั้ย? ถ้าคิดว่าไม่ใช่ จะคุยกันนานไปทำไม ก็เอาสิ่งที่ไม่รู้ว่าใช่หรือไม่ใช่ออกไปทดสอบ และลูกค้าไม่ได้อยู่ในห้องประชุมกับเรา แค่นั้นแหละ
ส่วนตัวชอบอะไร
ไม่จำเป็นเลย ทำมาทั้งสองแบบก็คิดว่ามันก็มีทั้งข้อดีข้อเสีย สำหรับพี่แล้ว คนที่ทำงานได้ดีควรจะยืดหยุ่น เข้าใจวัตถุประสงค์งาน ไม่ใช่ติดว่าเราต้องทำแบบไหนแบบเดียว
ขั้นตอนของกระบวนการ Design Thinking Empathy การทำความเข้าใจต่อกลุ่มเป้าหมายให้มากที่สุด Define การสังเคราะห์ข้อมูลซึ่งเริ่มต้นด้วยการตั้งคำถามโดยยังไม่ต้องคิดถึงกรอบการแก้ปัญหา การวิเคราะห์ข้อมูลสำคัญมาก เพราะจะเป็นตัวกำหนดว่าปัญหาคืออะไร เรากำลังจะแก้อะไร แนวทางที่ควรจัดการเป็นแบบไหน Ideate การระดมความคิดว่าจะแก้ปัญหาดังกล่าวอย่างไร และเพื่อตอบขั้น Define Prototype การสร้างแบบจำลองหรือการสร้างต้นแบบเพื่อให้เกิดการทำลองเพื่อวิพากษ์กัน Test การทดลอง เพื่อให้เกิดการปรับปรุง รับความเห็นจากผู้ใช้ เพื่อพัฒนาผลิตภัณธ์ต่อไป |
ตัวอย่าง project ที่ประทับใจของ SCB10X
ตัวหนึ่งที่ประกาศ launch ไปแล้ว ได้ผลค่อนข้างโอเคแต่ยังไม่ประสบความสำเร็จมาก เคยขึ้นไปอยู่อันดับสองของ google playstore คือแอปพลิเคชัน ชื่อ Partyhaan (ปาร์ตี้หาร) มันเป็น promotion sharing app เช่น คุณไปเจอโปรโมชันซื้อ 1 แถม 1 แต่อยากได้อันเดียวทำยังไงดี ก็คือการหาคนหาร ซึ่งโพรดักท์นี้เกิดจากน้องฝึกงานในทีม อายุ 20 ต้นๆ เรียกว่าเป็นโพรดักท์คนรุ่นใหม่ที่ตัวเราก็ไม่รู้ว่ามันมีแบบนี้อยู่รึเปล่า แต่มันมีคนแบบนี้จริงๆ จะเห็นจากกรุ๊ปในเฟซบุ๊กที่แชร์อะไรแบบนี้กันเต็มไปหมดเลย แต่เฟซบุ๊กไม่ใช่แพลตฟอร์มที่ทำเรื่องพวกนี้ได้ดี เนี่ย… มันก็เริ่มจากการมี pain แบบนี้
โชคดีที่คนของเรามีความหลากหลายในทีม มีคนอายุน้อยอายุเยอะ กรณีนี้คือเรามีคนอายุน้อยที่เขาก็ไปเห็น pain ในคนอายุน้อย ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่เราไม่มีทางจะเห็นเลย นี่คือ empathy หรือหลักสำคัญการทำของใหม่ คุณต้องอยู่ตรงนั้นกับลูกค้า เห็นและรู้สึกได้ว่ามันเป็นปัญหา เป็นกระบวนการของ design thinking อันแรก การเห็นปัญหาที่อยู่ในที่ของเขา
จากนั้นเรามาทดลอง คิด ทดสอบ และเอาไปประกวดงาน LINE_HACK ปีที่แล้ว (2019) งาน hackathon ปีที่แล้วและได้แชมป์มา การแข่งขันมันเป็นการ validate idea (พิสูจน์ไอเดีย) แต่ยังไม่ได้สร้างอะไรจริงจัง เราก็ เฮ้ย… ไอเดียนี้มีคนสนใจ ก็ทำในไลน์ ถามว่าจะทำแอปฯ ของตัวเองเลยดีมั้ย เราบอกอย่าเพิ่ง เพราะแอปฯ ใช้เวลาทำนาน ก็เลยทำเป็นแอปพลิเคชันในไลน์ก่อนและไม่ได้ใช้เวลาเยอะ เพราะคนก็อยู่ในนั้นเยอะ ก็เริ่ม launch เล็กๆ ว่ามันเป็นยังไง เทสต์กันว่าคนชอบ/ไม่ชอบ เริ่มคุยกับลูกค้าเยอะๆ ปรับไปเรื่อยๆ จนคนเริ่มใช้เยอะจนเกิน capacity ของไลน์แอปฯ หมายถึงว่ามันเริ่มมีฟีเจอร์บางอย่างซึ่งคนต้องการมากขึ้นแต่ไลน์แอปฯ ต่อไม่ได้แล้ว เช่น คนโกงกัน โอนเงินไปแล้วไม่ส่งของมา ก็เลยคิดว่าถึงเวลาเริ่มทำแอปฯ ตัวเอง ค่อยๆ ปรับไป ฟังลูกค้าว่าเขาอยากได้อะไรแล้วก็ค่อยๆ ปรับ วนไปเรื่อยๆ จนแอปฯ มันติดเทรนด์ในทวิตเตอร์ คนเริ่มใช้เยอะ
ทีนี้ก็เริ่มเห็นว่าอยู่ในจุดที่ทำเงินได้ คนเห็นคุณค่า ก็เลยเริ่มคิดไอเดียใหม่ๆ ว่าเราจะเริ่มขายของแล้ว เริ่มหาพ่อค้าแม่ค้าเอาของมาขาย แล้วมาดูกันซิว่าคนจะมาแชร์กันยังไง ค่อยๆ คุยกับลูกค้าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นว่ามันไม่ได้มีแพลนนิ่งว่าต้องเป็นอย่างนี้อย่างนั้นเป๊ะๆ เราไม่แพลนกันเองแต่แพลนจากลูกค้า เสร็จปุ๊บเรา launch ออกไป ถ้ามันไม่ใช่เราก็เปลี่ยน
ทัศนคติที่สำคัญ คือการเรียนรู้กับลูกค้าตลอดเวลา ถัดไปคือเราเลือกแพลตฟอร์มที่ปรับอะไรได้เร็ว ซึ่งก็เป็นคีย์หลักของการทำ start up เปลี่ยนได้เร็ว ทำ MVP (Minimum Viable Product: การทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาโดยมี Feature ให้น้อยที่สุด) แล้ว launch ได้บ่อยๆ launch ทุกอาทิตย์ เรียนรู้ไปไม่มีวันจบ
กระบวนการแบบนี้ใช้เวลาเท่าไร
น่าจะ 6 เดือน จริงๆ เราเริ่ม LINE_HACK และ launch ผลิตภัณฑ์ประมาณต้นปี เพิ่งมาเริ่ม launch แอปฯ เมื่อเมษายนนี่เอง และก็เติบโตได้ดีฮะ แต่เรายังไม่ได้ทำการตลาดนะ อยากให้มันนิ่งกว่านี้นิดนึงแล้วค่อยเริ่ม ก็มีพาร์ทเนอร์เข้ามาเยอะแล้ว ร้านค้าใหญ่ๆ อยากเข้ามาทำโปรโมชันในนี้ เราก็เริ่มเห็นว่ามันมีศักยภาพจะโต ซึ่งแรกๆ เราไม่ได้เห็น ก็พยายามฟังคนให้เยอะๆ
ตอนฟังไอเดีย “ปาร์ตี้หาร” ครั้งแรก ตอนนั้นคิดยังไง
คิดว่าน่าสนใจดี แต่ส่วนใหญ่จะไม่ค่อยใส่ความคิดตัวเองลงไปเพราะกลัวผิด หมายถึงว่า เราได้ทำแล้วผิดดีกว่านั่งคิดเอง อย่างที่เรียกว่า fault positive คือทำแล้วผิดดีกว่ามานั่งคิดว่าอยากทำอะไรให้มันถูกเป๊ะๆ คนเรามันไม่มีทาง balance สิ่งนั้นได้ เลยพยายามให้ Benefit of the Doubt กับทีมว่าเราอาจจะไม่รู้อะไรก็ได้ และถ้าไม่ได้เทสต์ ไม่ได้สร้างอะไรนานมาก… Why not?
ให้โอกาสทำผิดได้ ไม่มีวัฒนธรรมหาคนผิดในทีม?
โอ๊ย… ห่างไกลจากวัฒนธรรมแบบนั้นมาก ข้ามมานานมาก
ที่ถามแบบนี้เพราะว่า เวลาทำงานในทีมที่มีความหลากหลายสูง อย่างน้อยก็เรื่องอายุที่ห่าง มันอาจมี generation gap เวลาผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มาก่อนฟังเด็ก หลายครั้งเราได้รับการปฏิเสธเพราะคิดว่า มันไม่น่าจะทำได้ เลยอยากรู้ว่าเวลาได้ยินไอเดียแบบนี้ คุณจะทำยังไง
ก็ถามว่าทำไมไม่ทำ? ส่วนใหญ่คนที่ไม่ทำ เพราะกลัวผิด แต่ถ้ากลัวผิดแล้วไม่เข้าใจโลกว่ามันมีวิธีการเทสต์ที่ไม่ต้องลงทุนเยอะ ไม่ต้องใช้เวลานาน รู้มั้ยว่ามันมีแพลตฟอร์มที่ทำให้ทำงานได้เร็วๆ คำถามคือคุณรู้รึเปล่าว่ามันมี เด็กๆ อะรู้นะ ผู้ใหญ่ไม่ค่อยรู้
ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน ทำไปก็ล้มเหลว เธอไม่ต้องทำหรอก
ทุกอย่าง อย่ามองขาวกับดำ นี่คือประเด็น ที่เราชอบเห็นต่างกันเพราะเห็นว่าโลกนี้มีศูนย์กับร้อย เราไม่เคยหาตรงกลาง ทุกอย่างต้องหาตรงกลางให้เจอ เรากลับไปที่โจทย์ ถ้าเป็นเรื่องใหม่-ประสบการณ์ใช้ได้มั้ย หรือ เรื่องใหม่-ประสบการณ์เก่าๆ ใช้ได้มั้ย ถ้าบอกว่าได้ คุณก็สร้างองค์กรแบบที่เชื่อประสบการณ์เก่าๆ คนก็จะเลือกองค์กรว่าเค้าอยากอยู่องค์กรแบบนี้รึเปล่า นี่กำลังพูดถึงองค์กร ประเทศ ทุกอย่าง เหมือนกันหมด คุณสร้างวัฒนธรรมนั้นขึ้นมา คนจะเลือกว่าอยากอยู่ในวัฒนธรรมนั้นมั้ย ถ้าไม่ได้ เขาก็จะโวยวาย
ถ้าเป็นเรื่องงาน พี่ว่าเรามี option (ทางเลือก) เสมอที่จะเลือก ก็ควรเลือกว่าเราอยากทำที่ไหน บางทีการเปลี่ยนคนมันไม่ง่าย เราต้องรู้สึกว่ามี power ที่จะเปลี่ยน ถ้าเขาไม่เปลี่ยน เราก็ลองดูว่าเราทำอะไรได้บ้าง อันนี้คือสิ่งที่สำคัญ
ถ้าเอาคอนเซปต์นวัตกรไปไว้ในทุกอย่าง คงดีเนอะ
อาจจะเป็นแบบนั้น แต่อาจจะล้มเหลวก็ได้ ใครจะรู้ (ยิ้ม)
จุดที่ยาก / ง่าย ของแอปฯ ปาร์ตี้หาร
จริงๆ เรียกว่าความท้าทายของโพรดักต์ใหม่ทุกอย่าง คือการทำยังไงให้ user ใช้และชอบมัน
หาจุดกึ่งกลางความชอบของ mass ยังไง
มันไม่มีกึ่งกลาง ถ้าเค้าชอบ เค้าต้องชอบให้สุดไปเลย เค้าอยากได้อะไร เราควรใส่สิ่งนั้นให้เค้า เอา user มาตั้ง คำถามคือหา customer segment หรือวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้าให้เจอว่า segment ไหนเหมาะกับแผนธุรกิจของเรา
พื้นฐานการทำโพรดักท์คือ Building products that people want. นวัตกรรมที่เฟลเยอะที่สุดคือนวัตกรรมที่ Building products that nobody want. ทำเพราะคิดเองเออเอง
นโยบายก็คิดเองเออเอง โพรดักต์ก็คิดเองเออเอง สไตล์คนรวย หลายๆ ครั้งไม่ใช่ตังค์เรายิ่งชอบเลย เรื่องที่เบสิคมากๆ คือทัศนคติของ entrepreneurship (ผู้ประกอบการ) คนที่มีทัศนคติผู้ประกอบการ ถ้าเขาคิดว่านี่คือตังค์เราเขาจะคิดอีกแบบ ฉะนั้น สิ่งที่เรากลัวมากคือทำของที่ไม่มีคนต้องการ แล้วก็ไปพยายามโน้มน้าวว่าทำไมคุณไม่ต้องการ? …คนเขาไม่ต้องการ ก็คือเขาไม่ต้องการ แต่ถ้ามันแตะ pain คนเมื่อไร เดี๋ยวเค้าต้องการเอง แปลว่าคุณต้องเริ่มจาก pain point ไม่ได้เริ่มจากอยากทำอะไร
ฟังดูแล้ว การเป็นทีมนวัตกรรมไม่ใช่แค่การทำงานระหว่างคนต่างรุ่นหรือระหว่างเพื่อนร่วมงาน แต่เป็นการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้ทำงานอย่างไม่กลัวผิด การทำโพรดักท์ให้ user ชอบ พร้อมสร้างทัศนคติการเป็นเจ้าของ นี่คือเงินของฉัน แปลว่าในฐานะผู้บริหารต้องทำวัฒนธรรมองค์กรแบบนี้ด้วย ยากมั้ย
ไม่ยากเลยถ้ามีคนที่ถูกต้อง Culture is people behavior. คือคนชอบพูดให้มันซับซ้อน พี่อาจจะผิดนะ แต่ วัฒนธรรมคือ collective behavior ของผู้คน แค่นั้น วัฒนธรรมเป็นเหมือน background music อะ ทำยังไงให้เปิดขึ้นมาแล้วคนจะมีพฤติกรรมแบบนั้น แต่ถ้าเรามีคนแบบนั้นอยู่แล้ว ไม่ต้องเปิดเพลงก็เป็นแบบนั้น ฉะนั้น กลับไปที่การเลือกคน สำคัญสุด ไม่มีวัฒนธรรมไหนที่ทำขึ้นมาแล้วเปลี่ยน behavior (พฤติกรรม) คนได้
สมมติมีน้องคนนึงเข้ามาในองค์กร เป็นคนเก่งมากเลย ทักษะ hard skills ดีมาก แต่เขาขี้กลัว ไม่กล้าทำผิด คุณจะทำยังไง
อันนี้หมายถึงเข้ามาแล้วใช่มั้ย? แต่ปกติจะไม่รับ
แต่ทักษะเค้าดีนะ
ทัศนคติสำคัญกว่า ถ้าเค้ากลัวผิด ก็เหมือนเด็กเก่งทั่วไปในสังคมไทย อยู่ใน tract ที่ก็เก่งไป คนที่ไม่กล้าทำผิดก็คือคนที่ไม่เคยทำอะไรใหม่
หมายถึงว่าถ้าอยู่ในบทบาทของอาจารย์ คุณจะโค้ช แต่ถ้าเป็นคนที่รับเข้าทำงาน จะเลือกคนที่มั่นใจกว่า
แน่นอน เพราะพี่รับคนได้ไม่เยอะ ซึ่งนี่คือสิ่งที่น้องๆ ไม่ค่อยเข้าใจ ชีวิตตอนเรียนกับทำงานมันคนละแบบกัน ถึงชอบไปสอนเด็กในมหาวิทยาลัย เพราะหลายๆ ครั้ง ก้าวออกจากมหาวิทยาลัยมันสายไปแล้ว
อาจเป็นคนส่วนใหญ่ในสังคม เรามีทักษะ แต่เรากลัวผิด
ต้องเทรนด์ การเทรนด์ที่ดีคือเทรนด์ที่มหาวิทยาลัย พี่สอน design thinking ที่จุฬาฯ ตอนสอนก็ต้องมีการปรับความคิดอะไรหลายอย่าง ย้อนกลับมาว่าถ้าต้องโค้ชจริงๆ ถ้าเขาจำเป็นต้องอยู่กับเราไปอีกนาน …ใช้เวลาครับ คงไม่ไปบอกอะไรว่า “ทำได้อยู่แล้ว” เด็กไม่เชื่ออยู่แล้วสมัยนี้ ก็ให้เค้าลองทำดู Face the Truth ให้เค้าทำในสิ่งที่เค้าไม่ได้ทำ
จากการเป็นอาจารย์ในคลาส design thinking มีข้อสังเกตว่านักศึกษาเป็นแบบไหน
กลัวผิดแหละ ไม่กล้าทำอะไรถ้าไม่ชัวร์ มองสายตาคนรอบข้างว่าคิดยังไงกับฉันตลอดเวลา แปลว่ากลัวผิดอยู่ดี จริงๆ มันไม่ได้ผิดอะไรแต่เป็นยุคสมัยของโซเชียลมีเดียที่เราเห็นตัวอย่างการประสบความสำเร็จเยอะ เราก็อยากประสบความสำเร็จ แต่แค่ไม่ได้กลับมาจุดเริ่มต้นว่า ฉันต้องการอะไร แล้วฉันจะออกไปเจอสิ่งนั้นได้ยังไง พอกลัวผิดก็จะมัวแต่คิดและไม่กล้าทำ ซึ่งนี่ก็คือ innovation ของตัวเอง ถ้ามองแต่ตัวเองก็จะไม่เกิด
สิ่งที่ดีที่สุด บอกได้อย่างเดียว คือฝึกงาน ไม่ใช่เรียนในห้องเรียน ชัวร์ เรารู้อยู่แล้ว วันนี้ห้องเรียนไม่ได้ช่วยคุณ ถ้าคุณอยากมีงานมีอนาคตที่ดี คุณต้องออกไปหาตัวเอง การหาตัวเองที่ดีที่สุดคือต้องฝึกงานหลายๆ อย่างที่คุณสนใจ ยิ่งเจองานที่ไม่ชอบยิ่งดี คุณจะได้รู้ว่ามันไม่ใช่
ทักษะการใช้เครื่องมือ design thinking จำเป็นยังไงกับคนรุ่นใหม่
ทัศนคติที่สำคัญคือ ชอบลองผิดลองถูก แล้วก็อยากจะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ อย่างหนึ่งที่พี่จะบอกน้องๆ เสมอคือ เราชอบโฟกัสว่าคนจะมองฉันยังไง ซึ่งมันทำให้ฉันรู้สึกว่าเราตัวเล็กลงเรื่อยๆ ฉันจะต้อง success มีแต่ฉันกับฉัน ซึ่งตอนอยู่มหาวิทยาลัยมันเป็นอย่างนั้น มีแต่ฉันคนเดียวนี่แหละ ฉันก็คิดแต่ตัวเอง แต่พอเรียนจบแล้ว คุณต้องคิดว่าสังคมมันมีปัญหาอะไรบ้าง คุณอยากจะแก้อะไร นี่คือแรงบันดาลใจ เรียนจบมาแล้วอยากทำอะไร ต้องคิดออกไปนอกตัวเองได้แล้ว
และถ้ามันสร้างแรงบันดาลใจให้กับคุณ คุณจึงจะหาทางมีพลังผลักดันตัวเองไปทำสิ่งนั้นได้สำเร็จ เพราะมันไม่ใช่เรื่องของตัวเองแล้วแต่เป็นเรื่องของตัวเองที่อยากจะแก้ปัญหาให้เค้า ทีนี้ค่อยมาเรียน design thinking ค่อยมาเริ่มนู่นนี่นั่น มันก็จะมีวิถีของมันในการทำโพรดักท์ มีการเทสต์ แต่ถ้าคุณไม่มีแรงบันดาลใจ (get inspire) จากเรื่องรอบข้างเลยว่าคุณอยากจะแก้อะไรแล้ว คุณบ้าตามกันไปเพราะเห็นความสำเร็จ มันก็เฟล เพราะ drive (แรงขับ) คุณไม่พอ drive คุณมีแต่เรื่องของตัวเอง
ทัศนคติ ลองผิดลองถูก กระหายใคร่รู้ คือ drive สำคัญในการเป็นนวัตกร
ถูกต้อง เค้าเรียกว่า angle (มุมมอง) กับสิ่งที่คุณอยากเปลี่ยนมากพอ เพราะว่าของใหม่มันยาก คนเริ่มทำพร้อมกัน คนหนึ่งอดทนมากกว่าก็ชนะแล้วไม่ใช่ว่าเก่งหรือไม่เก่ง เพราะยังไงของใหม่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลาอยู่แล้ว ยิ่งเก่งมากไม่รับของใหม่ยิ่งไม่ดี เรื่องของความอดทนมากกว่าไม่ใช่การบังคับให้ต้องอดทนนะ แต่เพราะเขาอยากแก้ปัญหานั้นมากกว่า เขาก็จะอดทนและผ่านอุปสรรคไปได้