- หนังสือเล่มนี้เหมาะจะวางไว้บนโต๊ะของครูทุกโรงเรียน โดยเฉพาะครูที่ทำงานกับนักเรียนยากจน ที่ถูกความโหดร้ายของสังคมดูดกลืน และถอดใจกับการพัฒนาตัวเองด้วยการศึกษา
- เคล้าด้วยชีวิตจริงของครู ศิษย์ สังคม ถึงวิธีการต่อสู้เพื่อพลิกชีวิตเด็กๆ ที่สังคมตราหน้าว่าเหลือขอ หรือ ‘สมองไม่ดี ทำอย่างไรก็ไม่ดี’ แต่เปลี่ยนได้ด้วยการทำงานระหว่างครูและศิษย์ ในการฝึกทักษะของลักษณะนิสัย
- ไม่ใช่แค่เล่าเรื่องดราม่าแสนกินใจ แต่ผู้เขียนพิสูจน์ด้วยทฤษฎีจากนักวิชาการระดับโลก แบบทดสอบในตำนาน จากการสัมภาษณ์เจาะลึกและติดตามชีวิตของพวกเขาในช่วงเวลาหนึ่ง เมื่ออ่านจบ คุณจะพบว่าหน้าหนังสือเปื้อนไปด้วยสีไฮไลท์ รอยพับที่มุมหนังสือ เพราะคุณจะอยากกลับมาอ่านซ้ำ หรือใช้อ้างอิงในการทำงานได้ไม่รู้จบ
- ไอคิวไม่ใช่ตัวชี้วัดระดับสติปัญญาที่แท้จริงและถาวร แต่ ‘ทักษะทางพฤติกรรม‘ บางอย่างเช่นความมุมานะและอดทนต่างหาก คือเครื่องทำนายความสำเร็จของเด็กทุกคน ไม่สิ… มนุษย์ทุกคนต่างหาก
หนังสือเล่มนี้พลิกความเชื่อว่า เด็กในครอบครัวร่ำรวย มีโอกาสทางสังคม มีเงินพอจะจ้างพี่เลี้ยงหรือครูพิเศษ กระทั่งมีงานอดิเรกที่รังแต่จะสนับสนุนพัฒนาการตั้งแต่เยาว์วัย ปัจจัยเหล่านี้เท่านั้น ที่จะมีแรงส่งให้ประสบความสำเร็จมากกว่าเพื่อนในวัยเดียวกันแต่ต่างสังคม
พลิกอย่างหน้ามือเป็นหลังเท้า เทียบเท่าความปรีดาจากฝนแรกในฤดูแล้ง หนังสือเล่มนี้ชวนให้มีความหวังเช่นนั้นจริงๆ เพราะ พอล ทัฟ (Paul Tough) เขียน How Children Succeed หรือในชื่อไทยว่า เลี้ยงให้รุ่ง: ปฏิวัติการเรียนรู้ ผ่านการสร้างลักษณะนิสัยสู่ความสำเร็จ จากงานวิจัยมากมาย ตั้งแต่…
- ทฤษฎีในตำนานอย่างแบบทดสอบความอดทนมาร์ชมัลโล (Marshmallow Test) เมื่อปลายทศวรรษ 1960
- การทดสอบเรื่องความอดทนอดกลั้นเช่นเดิมแต่ใช้ขนม M&M โดยตั้งข้อสังเกตว่าระดับไอคิวจะเป็นตัวชี้วัดสติปัญญาของมนุษย์ที่แท้จริงและถาวรหรือไม่ (แน่นอนว่าไม่จริง แต่ทั้งหักล้างและชวนตั้งคำถามต่อการเรียนการสอนอย่างไม่จบสิ้น)
- มาร์ติน เซลิกแมน (Martin Seligman) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย เพนซิลวาเนีย หนึ่งในนักจิตวิทยาคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังแนวคิดจิตวิทยาเชิงบวก ที่อธิบายว่าแนวคิดในแง่ดีเป็น ‘ทักษะ’ ที่เรียนรู้และพัฒนาได้
- กระทั่งแนวคิดด้านจิตวิทยาน้องใหม่ Growth Mindset หรือ กรอบคิดเติบโต Fixed Mindset กรอบคิดหยุดนิ่ง และ Grit แนวคิดเรื่องการควบคุมตัวเองและความมุมานะ
- พร้อมกับการเดินทางไปสัมภาษณ์ครู นักการศึกษา นักวิชาการ และนักเรียนมากมายโดยเฉพาะเด็กในสลัม เด็กในสถานกักกัน เด็กจากโรงเรียนรัฐในชุมชนเล็กๆ ที่ไม่มีใครเชื่อว่าจะประสบความสำเร็จในการเรียนได้ เด็กสมาธิสั้น เด็กที่ทุกข์ระทมด้วยเหตุผลต่างๆ เพราะถูกชีวิตกระทำ
ทั้งหมดนี้เพื่อทำลายความเชื่อว่า สติปัญญาไม่ใช่สิ่งถาวร มันเปลี่ยนได้ด้วยการ ‘ฝึก’ นิสัยใหม่
ความสนุกของหนังสือเล่มนี้ คือการที่ทัฟค่อยๆ พาเราไปยังสถานที่ที่ไร้ซึ่งความหวังในชีวิต ในทางการศึกษา เช่น โรงเรียนในเขตสลัม พูดคุยกับนักเรียนหัวโจกที่ครูใหญ่ออกปากว่า ‘หมดหวังแล้ว’ ทั้งหมดนี้เขาตัดสลับฉากไปสัมภาษณ์ครูใหญ่ในโรงเรียนนี้ และข้ามรัฐไปสัมภาษณ์ครูอีกคนหนึ่งที่เผชิญกับสถานการณ์คล้ายกัน สลับไปยังชีวิตของวัยรุ่นสาวคนหนึ่งที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนในครอบครัว
เมื่อพาผู้อ่านถอนใจเฮือกๆ หากเข้าอกเข้าใจ และเห็นมิติของสังคมว่าความจนส่งผลเลวร้ายต่อเด็กในย่านนั้นอย่างไรแล้ว (แน่นอนว่ามันทำให้ยิ่งเชื่อและค้านเสียงแข็งขึ้นกว่าเดิม ถ้าใครเผลอพูดว่า ‘อย่าใช้ความจนเป็นข้ออ้างในการใช้ชีวิต’ เพราะมันมีผลอย่างแน่นอน และไม่ใช่ทุกคนที่จะเดินไปสะดุดกับ ‘โอกาสเปลี่ยนชีวิต’ ได้บ่อยครั้งและเหมาะเจาะ การยอมรับความเหลื่อมล้ำทางสังคมเสียก่อนต่างหาก จึงจะแก้ปัญหาได้ตรงจุด โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา)
ทัฟยังฉุดกระชากให้เห็นความจริงเรื่องความซับซ้อนทางจิตวิทยาว่า มันเกี่ยวข้องกับร่างกายในทางชีววิทยา การหลั่งสารเคมีบางชนิดในสมองเพื่อป้องกันตัวเองจากความร้าวราน ความเจ็บปวดทางจิตใจ และมันสะท้อนออกทางพฤติกรรมอย่างไรบ้าง
ระหว่างนี้ ทฤษฎีทางจิตวิทยาจะทยอยออกมาแนะนำตัวกับผู้อ่าน รายนามนักวิจัยจะค่อยๆ เผยโฉม สลับกับครู คนทำงานเลือดใหม่ฝ่ายปฏิบัติการ ทำงานด้วยความเชื่อในเยาวชนด้วยวิธีที่แตกต่างกันไป ตั้งแต่เป็นคุณครูจอมโหดที่ไม่เคยกอดนักเรียน แต่มุ่งมั่นสอนและคอยอยู่เคียงข้างไม่หายไปไหนแม้แต่วันอาทิตย์! และครูใจดีสายประนีประนอม
เป็นหนังสือวิชาการแต่ก็ไม่เหมือนหนังสือวิชาการ ค่าที่เราต้องสูญเสียพลังงานให้กับการขึ้นลงของอารมณ์ในหนังสือเล่มนี้ทุกบรรทัดทุกบทตอน
มันไม่ใช่หนังสือวิชาการ แต่คือชีวิตคน
คือความดูเบาปัญหาเชิงโครงสร้างที่มีแต่คนที่อยู่ข้างล่างสุดเท่านั้นจะมองเห็น แต่ก็ไม่หดหู่ เพราะมันมีรังสีของความเหงาฉายออกมาระหว่างบรรทัดอย่างประหลาด
วิธีแก้ปัญหาก็ไม่ยาก เพียงเข้าใจและต้องยอมรับก่อนว่าปัญหาสังคมส่งผลต่อการศึกษาอย่างไร ความคิดฝังแน่นที่ว่า ‘โง่ จน เจ็บ’ ต้องถูกทำให้หาย เพราะความโง่ไม่ใช่สิ่งชี้วัดถาวร ถ้าเพียงแต่วัยรุ่นคนนั้นมีใครสักคนที่ให้เขาพิงหลัง รู้ว่าจะไม่หายไป และเชื่อมั่นว่าต่อให้เด็กที่โง่และบอบช้ำที่สุด ก็พัฒนาได้