- การทำงานป็นกุศโลบายเพื่อการเรียนรู้หลากหลายมิติของเด็ก รวมทั้งเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองดี มีการเรียนรู้เป็นเป้าหมายหลัก ผลงานเป็นเป้าหมายรอง
- เอ็ม-กิตติศักดิ์ นรดี เยาวชนจากบ้านแสนแก้ว เมื่อได้ทำโครงการ ลงมือทำจริง ทำให้เอ็มเปลี่ยนแปลงตัวเองในทางที่ดีขึ้น ได้พัฒนาทักษะ เปลี่ยนแปลงนิสัย และเกิดจิตสำนึกอยากทำเพื่อคนอื่นๆ ในบ้านเกิด
- หลังจากทำโครงการเพาะพันธุ์ปลา เอ็มกลายเป็นคนที่รอบคอบ คำนึงถึงเหตุผลมากขึ้นก่อนจะลงมือทำ พร้อมกับบริหารจัดการทีมในฐานะผู้นำ มีความรับผิดชอบต่อทุกๆ หน้าที่ ทั้งการเรียน และการเป็นเยาวชนในโครงการ
เรื่อง: สุวิภา ตรีสุนทรรัตน์
สร้างการเรียนรู้ที่แท้จริงด้วยการ ‘ลงมือทำ’
คำพูดนี้พิสูจน์ผลได้จากเรื่องราวของ เอ็ม-กิตติศักดิ์ นรดี เด็กหนุ่มจากบ้านแสนแก้ว ตำบลสวาย อำเภอปรางค์กู่ จังหวัดศรีสะเกษ
เพราะฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัวทำให้เอ็มต้องตกขบวนของการศึกษาในระบบ หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย เอ็มต้องออกมาช่วยพ่อแม่ทำเกษตรกรรมที่บ้าน และไปรับจ้างทำงานที่โรงงาน แต่ยังแอบหวังในใจว่าเมื่อเก็บเงินได้มากพอ เขาจะกลับไปเรียนต่ออีกครั้ง เพื่อให้ครอบครัวอยู่ดีกินดีขึ้น
แต่ระหว่างที่ชีวิตของเอ็มกำลังเริ่มก้าวเข้าสู่โลกของการทำงาน เขาก็ได้รับโอกาส ‘การเรียนรู้’ ซึ่งทำให้เด็กนอกระบบอย่างเขาได้ฝึกฝนทักษะชีวิตและเปลี่ยนแปลงตนเองไปสู่การเป็นคนรุ่นใหม่ที่กลายเป็นความหวังหนึ่งของชุมชน
2 ปีที่แล้ว ขณะที่เอ็มเพิ่งยุติชีวิตการศึกษา เขาและน้องๆ ในชุมชนได้รับการแนะนำให้รู้จักกับ ‘โครงการพัฒนาเยาวชนพลเมืองดีศรีสะเกษ’ ที่เปิดโอกาสให้เด็กเยาวชนในจังหวัดศรีสะเกษได้ทำโครงการ เพื่อฟื้นฟู พัฒนาต่อยอด หรือแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชนนั้น
สำหรับเอ็มและทีม พวกเขาเลือกทำโครงการเด็กแสนร่วมใจ สร้างรายได้ เสริมชีวิต ที่มีเป้าหมายคือการฝึกฝนอาชีพการเลี้ยงปลาดุกและการทำขนมพื้นบ้าน เพื่อพัฒนาเป็นอาชีพให้สมาชิกในทีมและขยายผลสู่เพื่อนๆ ในชุมชน เพราะนอกจากเอ็มแล้วในชุมชนยังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาด้วยเหตุผลจากฐานะครอบครัว และบางคนไม่ได้โชคดีเหมือนเอ็มที่มีเป้าหมายอยากทำงาน เก็บเงิน แล้วกลับไปเรียนต่อ
เด็กๆ หลายคนกลายเป็น ‘ผู้ก่อความรำคาญ’ ประจำหมู่บ้าน ทั้งแว้นเสียงดัง ดื่มสุรา ทะเลาะวิวาท เอ็มจึงมองว่า หากเพื่อนๆ มีอาชีพ มีรายได้ ก็จะใช้เวลากับการสร้างเนื้อสร้างตัวมากกว่ามาก่อความเดือดร้อนให้คนอื่น
ระหว่างทำโครงการ การต้องลงไปสืบค้นต้นทุนที่มีในชุมชน ทำให้เอ็มมีโอกาสพูดคุยกับผู้ใหญ่ในชุมชนมากขึ้น และรู้จักชุมชนของตัวเองดีขึ้นอย่างที่ไม่รู้มาก่อน แม้เขาจะเกิดที่นี่ อยู่ที่นี่ แต่เมื่อก่อนชีวิตก็วนเวียนอยู่ระหว่างโรงเรียนกับบ้านเท่านั้น ยิ่งเมื่อได้รับการสนับสนุนและได้ความร่วมมือจากผู้นำชุมชนและผู้รู้ในชุมชนทั้งเรื่องความรู้ สถานที่ และคำปรึกษาเรื่องต่างๆ ยิ่งทำให้เอ็มมีความมุ่งมั่นที่จะทำโครงการจนสำเร็จ
จากการทำโครงการในปีแรกได้สร้างความเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายอย่างให้เอ็ม เช่น กล้าคิด กล้าทำ กล้าแสดงออก มีความรับผิดชอบ กลายเป็นคนใจเย็นมากขึ้น และที่สำคัญที่สุดคือทำให้ ‘เห็นตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน’ ไม่ว่าชุมชนมีกิจกรรมอะไรเอ็มอาสาเข้าไปมีส่วนร่วมทันที เพราะอยากแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชุมชน ด้วยมองว่าเขาคือกำลังคนคนหนึ่งในบ้านเกิด
ปลาดุกหาย ทำไงดี
ขณะที่ปลาดุกที่เอ็มและทีมเลี้ยงไว้กำลังเติบโตและใกล้จะจับจำหน่ายได้ ปลาจำนวนมากกลับถูกขโมยหายไปจากบ่ออย่างไร้ร่องรอย ทำให้เอ็มและเพื่อนๆ เสียใจ พร้อมๆ กันนั้นโครงการก็กำลังจะก้าวขึ้นสู่การทำงานต่อเนื่องในปีที่ 2 พวกเขาจึงต้องตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรต่อไป เอ็มเล่าความสับสนที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้นว่า
“ตอนปลาหาย ผมรู้สึกท้อมาก อุตส่าห์ตั้งใจเลี้ยงมาอย่างดี กลับหายวับไปในคืนเดียว ตอนแรกคิดว่าคงไม่ทำโครงการต่อแล้ว น้องๆ ก็เหนื่อย เพราะเขาเรียนสูงขึ้น งานที่โรงเรียนก็เยอะขึ้นด้วย”
แต่พอเห็นความเดือดร้อนของคนในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากลุ่มเยาวชนที่ไม่จบการศึกษาภาคบังคับ ไม่มีงานทำ ทำให้เอ็มมีแรงฮึดมาทำโครงการอีกครั้ง เพราะอยากมีส่วนในการรับผิดชอบต่อปัญหาที่เกิดขึ้นจากวัยรุ่นอย่างพวกเขา
เอ็มจึงโน้มน้าวน้องๆ ในทีมให้กลับมาช่วยกันทำงาน ชวนกันคุยให้เห็นว่าปัญหาที่ปลาหายมีสาเหตุจากสมาชิกในทีมเองที่เลือกสถานที่เลี้ยงปลาไม่รอบคอบ ไกลชุมชนเกินไป จึงน่าจะลองแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการทำโครงการต่อ เพื่อให้โครงการเดินไปถึงเป้าหมายที่เคยตั้งใจกันไว้ ซึ่งน้องๆ ทุกคนก็ตัดสินใจทำต่อ
เมื่อตัดสินใจว่าจะทำโครงการต่อ เอ็มและสมาชิกในทีมมองว่าน่าจะต่อยอดความรู้เดิมเรื่องการเลี้ยงปลาดุกมาสู่การเพาะพันธุ์ปลาดุกด้วย เพราะคิดว่าหากเลี้ยงเป็นและเพาะพันธุ์ได้จะสร้างเป็นอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ พวกเขาเริ่มต้นแก้ปัญหาปลาหาย โดยเปลี่ยนสถานที่เลี้ยงมาเป็นบ่อน้ำบริเวณหน้าบ้านที่ปรึกษาโครงการ แล้วเริ่มประชุมกับผู้ใหญ่ในชุมชนเพื่อสร้างความเข้าใจเบื้องต้นว่า พวกเขากำลังจะทำอะไร
ต่อมาคือไปเรียนรู้การเพาะพันธุ์ปลาจากผู้รู้ จากนั้นเชิญผู้รู้ไปให้ความรู้แก่คนในหมู่บ้าน ชาวบ้านจากหมู่บ้านข้างเคียง และเพื่อนกลุ่มอื่นๆ ในโครงการพัฒนาเยาวชนฯ ที่อยู่ในโซนเดียวกัน แล้วจึงลงมือเพาะพันธุ์ปลา ซึ่งระหว่างที่กิจกรรมกำลังดำเนินไปด้วยดี เอ็มก็พบปัญหาที่ทำให้การทำงานต้องสะดุดอีกครั้ง เมื่อน้องๆ ภายในทีมต่าง ‘ถอดใจ’
“การทำกิจกรรมในโครงการจะมีทั้งการประชุมวางแผน เตรียมการ ประสานงานชาวบ้าน และวันลงมือทำ น้องๆ ต้องมาทำกิจกรรมจนเขาเริ่มรู้สึกว่าเยอะเกินไป ไหนจะต้องจัดการงานที่บ้าน งานที่โรงเรียนอีก พอเกิดปัญหา ผมก็ชวนน้องมาคุยทบทวนความตั้งใจกันว่า เราต่างมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาชุมชน ที่ต้องชวนมาทำกิจกรรมด้วยกันบ่อยๆ เพราะอยากไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ เราทำโครงการมาเกินครึ่งทางแล้ว จะทิ้งไปหรือ ผมตั้งคำถามกลับไปให้เขาคิด และบอกให้พี่ที่สนิทกับน้องไปช่วยคุยด้วย จนสุดท้ายเขาก็กลับมาทำกิจกรรมเหมือนเดิม”
นอกจากเจออาการถอดใจจากน้องๆ แล้ว เอ็มเองก็เจอปัญหาจากทางครอบครัวที่พยายามห้ามปรามไม่ให้มาทำโครงการด้วยความเป็นห่วง เพราะปีนี้เอ็มกลับเข้ามาเรียนต่อในระดับอาชีวศึกษาที่วิทยาลัยเทคนิคอุบลราชธานี ซึ่งอยู่คนละจังหวัดกับบ้านเกิด เอ็มจึงต้องเดินทางไปมาระหว่าง 2 จังหวัดในทุกวันหยุด เพื่อทำกิจกรรมและติดตามความคืบหน้าของโครงการ
“หลายครั้งเวลามีประชุม ผมต้องมาจากอุบลฯ เพื่อประชุม แล้วกลับอุบลฯ ในเช้าวันรุ่งขึ้น พ่อแม่จึงไม่ค่อยอยากให้มาทำ เขากลัวเราเหนื่อย แต่ผมก็ยืนยันว่าทำได้ ทำไหว ผมพยายามแบ่งเวลาให้ดี เพราะการทำโครงการทำให้ผมเห็นหลายอย่างดีขึ้น ทั้งในชุมชน และตัวเราเอง”
New เอ็ม
ณ วันนี้ เอ็มเป็นคนที่รอบคอบ คำนึงถึงเหตุผลมากขึ้นก่อนจะลงมือทำ รู้จักบริหารจัดการเวลาว่าจะทำอะไรก่อน-หลัง พร้อมกับบริหารจัดการทีมในฐานะผู้นำของน้องๆ เพื่อให้โครงการเดินไปตลอดรอดฝั่ง ทั้งยังมีความรับผิดชอบต่อทุกๆ หน้าที่ทั้งการเรียน และการเป็นเยาวชนในโครงการ โดยไม่ทิ้งเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เพราะเอ็มตั้งใจว่าการเรียนต่อเป็นอนาคตของเขา ขณะเดียวกันการทำโครงการก็เป็นอนาคตของเพื่อน ของน้องในชุมชนที่ไม่มีโอกาสได้เรียนเช่นกัน หากเขาเหล่านั้นสามารถเพาะพันธุ์ปลาดุกและส่งขายได้ก็จะดูแลตัวเองได้ ไม่สร้างความเดือดร้อนและไม่เป็นภาระของชุมชน
หลังทำโครงการเสร็จสิ้น เอ็มและทีมมีความรู้เรื่องการเพาะพันธุ์ปลาอย่างที่ตั้งใจ ได้ปลาไปจำหน่ายในชุมชน จนเริ่มมีรายได้ก้อนเล็กๆ เก็บเข้าเป็นกองทุนของเยาวชนประจำหมู่บ้าน แม้ยังไม่มีเยาวชนที่ลุกขึ้นมาปลุกปั้นบ่อปลาเป็นจริงเป็นจัง แต่เด็กๆ บางคนก็บอกว่าเขารู้แล้วว่าการเลี้ยงและเพาะพันธุ์ปลาดุกต้องทำอย่างไร ที่เหลือจากนี้คงต้องรอเวลาให้พวกเขาได้ตั้งหลัก พร้อมคาดหวังว่า การมีโอกาสได้ ‘ลงมือทำกิจกรรมสร้างสรรค์’ จะช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงแก่พวกเขาเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับเอ็มมาแล้ว
จากหนังสือ เลี้ยงลูกยิ่งใหญ่ โดย ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ในหัวข้อชวนเด็กทำงานสร้างสรรค์และงานรับใช้ผู้อื่น กล่าวว่า การเรียนรู้ที่ดีที่สุดได้จากการทำกิจกรรมหรือเรียนโดยการทำงาน โดยแบ่งหน้าที่ให้เด็กทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้การเรียนรู้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่แท้จริง (Authentic Learning)
เด็กจะได้รับประสบการณ์ตรง ได้ฝึกรับผิดชอบ ฝึกทำงานร่วมกับผู้อื่น ได้ฝึกความอดทน มานะบากบั่น มีประสบการณ์กับความล้มเหลว หรือการเผชิญความยากลำบาก รู้จักปรับปรุง เปลี่ยนแปลงวิธีทำงาน
การทำงานจึงเป็นกุศโลบายเพื่อการเรียนรู้หลากหลายมิติของเด็ก รวมทั้งเพื่อพัฒนาความเป็นพลเมืองดี มีการเรียนรู้เป็นเป้าหมายหลัก ผลงานเป็นเป้าหมายรอง เช่นเดียวกับเอ็มที่ได้พัฒนาทักษะ เปลี่ยนแปลงนิสัย และเกิดจิตสำนึกอยากทำเพื่อคนอื่นๆ ในบ้านเกิดของเขา