- งานวิจัยพบว่าเด็กเล็กจะตั้งคำถามราว 200 ข้อ/2 ชั่วโมง แต่เมื่อโตขึ้น พวกเขาตั้งคำถามไม่เกิน 10 ข้อ/2 ชั่วโมง คำถามคือพลังของความอยากรู้อยากเห็นที่เกิดมาพร้อมกับพวกเขา …หายไปไหน?
- สตาร์ทอัพและองค์กรธุรกิจทั่วโลกต่างมองหา ‘ความสงสัยใคร่รู้’ เป็นหนึ่งในคาแรคเตอร์ทีมงาน ไม่ใช่แค่ ‘ทำงาน’ แต่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงองค์กร
- การบ่มเพาะและใช้ประโยชน์จากความสงสัยใคร่รู้ไม่ใช่แค่เปิดให้ถาม แต่ห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ฝึกตนให้เด็กกล้าตั้งคำถาม ฝึกให้รู้ว่าควรจะหาคำตอบอย่างไรเพื่อมาตอบสิ่งที่ตัวเองตั้งไว้ และรู้ว่าควรตอบคำถามไหนก่อนเพื่อจะถามคำถามต่อไปได้
บางส่วนจากหนังสือ The Hungry Mind: The Origins of Curiosity in Childhood (ใจที่โหยกระหาย: จุดเริ่มต้นความสงสัยใคร่รู้ในวัยเด็ก) โดย ดร.ซูซาน เอนเกล (Susan Engel)* คณะจิตวิทยาแห่งวิทยาลัยวิลเลียมส์ (Williams College) ผู้ศึกษาเรื่อง ‘ความสนใจใคร่รู้’ ในเด็กกว่า 12 ปี เขียนถึงวันที่เธอทำความรู้จักกับสัญชาตญาณแห่ง ‘ความสงสัยใคร่รู้’ ที่มาจากสิ่งแวดล้อมและบทบาทของครู (แต่เนื้อหาในเล่มบอกเล่าถึงการพัฒนาเจ้า ‘ความสงสัยใคร่รู้’ จากบุคคลหลากหลายรอบตัว) ไว้ตอนหนึ่งว่า
หน้า 107-108:
“ตอนอายุ 7 ขวบ ฉันต้องย้ายจากห้องเรียนเล็กๆ ในฟาร์มที่บ้าน แล้วไปเข้าเรียนโรงเรียนเอกชนที่ค่อนข้างมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าแห่งหนึ่ง วันที่สองในโรงเรียนใหม่ จะเป็นครั้งแรกที่ฉันได้เรียนวิชาวิทยาศาสตร์อย่างจริงจังร่วมกับเพื่อนนักเรียนอายุราว 6-7 ปี ขณะที่ทุกคนนั่งประจำที่ บนโต๊ะข้างหน้ามีวัตถุทรงสี่เหลี่ยมสีขาว 6 ชิ้นตั้งเรียงกันเป็นแถว ทันใดนั้น ‘ครูโทนี’ ครูวิทยาศาสตร์ประจำคลาสถามขึ้นว่า ‘นี่คืออะไร?’
“พวกเรามองไปที่อาจารย์ด้วยความงุนงง เพราะเอาจริงๆ เราต่างรู้กันว่าเวลาที่ครูถามอะไร พวกเขารู้คำตอบอยู่แล้วทั้งนั้น แต่ครูโทนีไม่ได้พูดอะไรต่อ นั่นทำให้เรามองไปที่ ‘วัตถุสีขาว’ นั้นอีกครั้ง พูดออกไปพร้อมกันอย่างง่ายๆ ว่า ‘กระปุกน้ำตาลไง’ ครูโทนีถามกลับ ‘ใช่จริงๆ เหรอ?’ พวกเรายิ่งงงกันไปใหญ่ ก็ครูรู้อยู่แล้วนี่นาว่า ใช่… มันคือกระปุกน้ำตาล แต่ในเมื่อครูถามค้างไว้เช่นนั้นและยังจะให้ยืนยันคำตอบ เราจึงจำเป็นต้องยืนยันว่าสิ่งที่พวกเราคิดนั้นใช่หรือไม่ ซึ่งบางทีเราอาจจะผิดก็ได้
“พวกเราเริ่มตรวจสอบเจ้ากระปุกสีขาว หยิบมันขึ้นมาดูใกล้ๆ ในห้องเริ่มได้ยินเสียง ‘ฟุดฟิด’ ของเพื่อนในห้องที่เอาหน้าเข้าไปสูดกลิ่นมัน บางคนจับวัตถุสี่เหลี่ยมพลิกคว่ำเพื่อสังเกตทุกด้านของตัวกระปุก บางคนเขย่ากระปุกเพื่อเช็คว่าเสียงของมันเป็นอย่างไร ส่วนฉัน ตัดสินใจทดสอบด้วยประสาทรับรสที่ดีที่สุด ลองเอาลิ้นไปแตะๆ เพื่อชิมรส – ฉันยอมเสี่ยง ก็ถ้ามันไม่ใช่กระปุกน้ำตาลอย่างที่คิดไว้ล่ะ? แต่โชคดีที่สัมผัสหวานๆ อันคุ้นเคยปรากฏขึ้นที่ปลายลิ้นเสียก่อน
“ ‘ใช่แล้วล่ะ นี่คือสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์ทำ’ ในที่สุดครูโทนีก็พูดขึ้นมา ‘นักวิทยาศาสตร์จะสังเกต และตอนนี้พวกคุณก็กำลังสังเกตด้วยประสาทสัมผัสครบทั้ง 5 เลยนะ’
“ฉันไม่เคยลืมเรื่องราวในคลาสนั้น ทำไมน่ะเหรอ? ไม่หรอก ไม่ใช่เพราะมันสนุกมากกว่ากิจกรรมอื่น มีเรื่องราวสนุกๆ อีกเยอะเกิดขึ้นกับฉันตอนเรียน และไม่ใช่ว่าบทเรียนในคลาสนั้นยากกว่าวิชาอื่นๆ อันที่จริงบทเรียนวันนั้นมันง่ายและออกจะตรงไปตรงมาด้วยซ้ำ แต่เพราะฉันทำมันด้วยความสงสัย ฉันอยากรู้ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป เราจะเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้นเวลาที่เริ่มต้นจากความกระหายอยากรู้
“แต่เอาเข้าจริง เด็กส่วนใหญ่ถูกคาดหวังว่าพวกเขาต้องเรียนรู้ อย่างน้อยๆ ก็ด้วยเหตุผล 3 อย่างนี้: พวกเขากลัวว่า ถ้าไม่เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ จะเกิดอะไรขึ้นตามมา เด็กๆ อยากได้รางวัลจากการยอมเรียนรู้ หรือไม่ก็… พวกเขาถูกสอนว่า การเรียนมันสำคัญสำหรับอนาคตนะ ชีวิตเราจะไม่ลำบากถ้าเราขวนขวายเล่าเรียน”
นานก่อนที่ทักษะในศตวรรษที่ 21 จะระบุให้คาแรคเตอร์อย่าง curiosity เป็น 1 ใน 16 ทักษะจำเป็นหมวด Character Qualities – กลุ่มทักษะด้านคุณสมบัติ คุณลักษณะ หรือ นิสัย ที่คนคนหนึ่งจะมีเพื่อแก้ปัญหาในโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ
ความกระหายใคร่รู้เกี่ยวข้องกับโลกอนาคตที่จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ อย่างไร
ในบทความเรื่อง Why Curious People are Destined for the C-Suite วาร์เรน เบอร์เกอร์ (Warren Berger) – ผู้เขียนบทความอ้างอิงคำตอบของ ไมเคิล เดลล์ (Michael Dell) ประธานบริหาร (ซีอีโอ) บริษัทเดลล์ (Dell Inc.) บริษัทผลิตฮาร์ดแวร์คอมพิวเตอร์จากรัฐเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ว่า “คุณสมบัติอะไรที่มองหาในตัวพนักงานเดลล์?” ซีอีโอเดลล์กล่าวว่า
“I would place my bet on curiosity.”
– ผมคงจะยอมเสี่ยงกับคาแรคเตอร์ ‘ความสงสัยใคร่รู้’
คำตอบของเดลล์มาจากงานสำรวจความเห็นของ PwC 2015 ถึงความเห็นของผู้บริหารในประเด็นธุรกิจ โดยทำการสำรวจกับซีอีโอหลากหลายวงการกว่า 3,200 คน และเดลล์คือหนึ่งในซีอีโอพันกว่าคนที่เลือกคาแรคเตอร์ ‘ความสงสัยใคร่รู้’ เป็นคาแรคเตอร์สำคัญที่คนในวงการธุรกิจมองหาในคนทำงาน
แม้นี่เป็นผลการสำรวจเมื่อปี 2015 แต่ก็ตีความได้อีกเช่นกันว่าประเด็นนี้คนในแวดวงธุรกิจได้ไฮไลต์ให้เป็นวาระเด่นไปล่วงหน้าหลายปีแล้ว – ย้อนกลับไปได้ไกลกว่านั้นอีกคือกว่ายี่สิบปีก่อน Walt Disney ก็ประกาศว่าบริษัทจะปรับโครงสร้างการทำงานที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม ด้วยเหตุผลว่า “เพราะพวกเราเป็นพวก ‘กระหายใคร่รู้’ และมันนำทางเราไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่” ไม่นับรวมบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Netfilx หรือ Airbnb ที่โอบรับความคิดว่าองค์กรพวกเขาขับเคลื่อนด้วย ‘ความสงสัยใคร่รู้’ เช่นกัน
และหากย้อนไปดูต้นกำเนิดของธุรกิจสตาร์ทอัพรุ่นใหม่หลายๆ องค์กร เราจะเห็นจิ๊กซอว์ตัวหนึ่งในคนทำงานเสมอนั่นคือ ‘ความสงสัยใคร่รู้’ ที่นำทางไปสู่ ‘นวัตกรรมใหม่ๆ’ ทั้งทางความคิดและเทคโนโลยี ขณะที่เจ้าพ่อด้านการศึกษาอย่าง โทนี วากเนอร์ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของ Harvard Innovation Lab มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ยังระบุในหนังสือของเขา Creating Innovators: คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก ไว้ด้วยว่าคุณสมบัติที่จำเป็นที่สุดในการเป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จ หนึ่งในนั้นคือ ‘ความสงสัยใคร่รู้’
ในปัจจุบันที่องค์กรทั้งเล็กและใหญ่ถูก ‘disrupted’ อยู่เสมอ ความสงสัยใคร่รู้ – คนที่มักตั้งคำถามและนำไปสู่โอกาสที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ – คือหนึ่งในคาแรคเตอร์ของ disrupter (ผู้กระทำการ disrupt) มากกว่าจะเป็น disruptee (ผู้ถูก disrupt) และต้องไม่ลืมข้อเท็จจริงอีกเช่นกันว่าปัจจุบัน เรามี disrupter อยู่ทั่วทุกมุมถนน!
ไม่ใช่แค่ ‘ถามไปงั้นๆ’ แต่ห้องเรียนต้องประคองและฝึกให้เด็กตั้งคำถามคมคายขึ้นเรื่อยๆ
กลับไปที่เอนเกล ในฐานะนักจิตวิทยาและนักวิจัย เธอใช้เวลากว่า 12 ปีเพื่อศึกษาคุณสมบัติ ‘ความสงสัยใคร่รู้’ ในเด็กโดยเฉพาะ เธอเล่าความสำคัญตั้งต้นจากงานวิจัย – อันที่จริงมันเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนทราบกันดี เพียงแต่เราอาจลืมมันไป และคิดว่ามันไม่สำคัญ ว่า…
เด็กเกิดมาพร้อมความกระหายใคร่รู้ที่จะเรียนรู้โลกรอบตัวตลอดเวลา ไม่มีทางเลยที่จะหยุดยั้งเด็กอายุ 2 ขวบไม่ให้อยากรู้ ไม่ให้ถามในสิ่งที่เขาสงสัย จากงานวิจัยของเธอพบว่า
เด็กเล็กจะตั้งคำถามราว 200 คำถามต่อ 2 ชั่วโมง แต่เมื่อโตขึ้น พวกเขาตั้งคำถามไม่เกิน 10 คำถามต่อ 2 ชั่วโมง คำถามคือ พลังของความสงสัยใคร่รู้ที่เกิดมาพร้อมกับพวกเขา (เรา) …หายไปไหน?
“มันชัดเจนเลยว่าเราไม่ได้ทำในสิ่งที่เราทำได้ เราไม่ได้ท้าทายเขา ไม่ได้ encourage ความอยากรู้อยากเห็นที่จะออกไปผจญภัย ซึ่งนี่ (ความสงสัยใคร่รู้) คือหัวใจแห่งการเรียนรู้นะ” เอนเกลอธิบาย
มันหายไปไหน? ใช่หรือไม่ว่า… พอถึงวัยหนึ่ง เราจะถมึงทึงบ่อยขึ้นเมื่อได้ยินคำถาม (ที่เรามองว่า) ซ้ำซากและถี่ถ้วนจากเขา หรือครูในห้องกำหนดเวลาถามตอบ เพื่อเอาเวลาที่มีค่าไป ‘อธิบาย’ และให้นักเรียน ‘เขียน/จด/ท่อง’ ความรู้
มันไม่ใช่แค่การ ‘ตั้งคำถามทั่วไป’ แต่การบ่มเพาะและใช้ประโยชน์จาก curiosity เธอมองว่าห้องเรียนต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสร้างคุณลักษณะนี้ ต้องเป็นพื้นที่ฝึกตนให้เด็กกล้าตั้งคำถาม ฝึกให้รู้ว่าควรจะหาคำตอบอย่างไรเพื่อมาตอบสิ่งที่ตัวเองตั้งไว้ และ รู้ว่าควรตอบคำถามไหนก่อนเพื่อจะถามคำถามต่อไปได้
และเมื่อรู้ว่าจะตั้งคำถามคมๆ ดีๆ ยังไง นี่คืออิฐก้อนแรกแห่งการศึกษา “คนช่างสงสัยคือหัวใจของการศึกษา” – เอนเกลว่าไว้
เพราะเมื่อคุณสงสัยในบางสิ่ง คุณจะลงลึกกับการค้นหาคำตอบ ใช้เวลากับมันอย่างไม่ลดละแม้หลายคนจะค้านว่ามันไม่จำเป็น อย่างจับต้องได้ที่สุด คุณจำรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในสิ่งที่คุณหลงใหลได้แม้ไม่พยายามจดจำ (ทั้งที่บางบทเรียนท่องแค่ไหนก็ยังไม่เข้าหัว หรือลืมได้ภายในสิบวินาทีหลังเดินออกจากห้องสอบ) มันเป็นความใคร่รู้จากภายในที่ให้ตายยังไงก็ไม่มีใครมาตั้งโปรแกรมความอยากรู้นี้ให้เกิด นอกจากความปรารถนาที่เกิดขึ้นภายในตัวคุณเอง อย่างมองไม่เห็น เรามักมองว่าคนที่หลงใหลและทำอะไรด้วยความใคร่รู้ คนนั้นมีเสน่ห์แบบอธิบายไม่ถูก!
อย่างไม่อาจแยกได้ ความสงสัยใคร่รู้ curiosity จุดประกายความหลงใหล passion และอยู่ในเนื้อตัวของคำว่า purpose
passion และ purpose สองคาแรคเตอร์สำคัญที่นักการศึกษาพูดกันว่า นี่คือจุดมุ่งหมายของการศึกษาในศตวรรษที่ 21!
สุดท้าย… นั่นสินะ เรากลายเป็นคนที่ไม่ตั้งคำถาม ไปตั้งแต่เมื่อไรกัน?