- คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีแนวโน้มจำนวนตัวรับฮอร์โมนโดพามีน ในสมองส่วนไฮโปธาลามัสน้อยกว่าคนทั่วไป ทำให้สมองเปิดรับข้อมูลได้มากกว่า สร้างความเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์ประสาทมากขึ้น คนกลุ่มนี้จึงมักคิดเลยเถิดต่อยอดออกไปได้ แม้แต่ในแบบที่คนอื่นคิดไม่ถึง
- อุปนิสัยหนึ่งที่พบมากในคนมีความคิดสร้างสรรค์ มักเป็นคน “เปิดตัวเอง” ต่อสิ่งใหม่ๆ เป็นพวกชอบลองของ อยากรู้อยากเห็น ช่างคิดช่างฝัน และฉลาดเฉลียวอยู่เองตามธรรมชาติ รวมถึงคลั่งไคล้ในอะไรสักอย่างเป็นพิเศษ และจะใช้เวลากับมันมากกว่าคนอื่น
- เคล็ดลับคือ ต้องลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้
ความคิดสร้างสรรค์เป็นคุณลักษณะที่แปลกประหลาดที่สุดแบบหนึ่งของคนเรานะครับ เพราะดูเหมือนบางคนก็มีมากมายอย่างล้นเหลือ ขณะที่บางคนก็ช่างมีน้อยนิด เหมือนธรรมชาติสร้างให้ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ความเชื่อแบบนี้เป็นความจริงหรือไม่?
ในบทความพิเศษชุดเรื่อง “เราเรียนรู้อย่างไร (How We Learn)” ในนิตยสาร Discover ฉบับเดือนกรกฎมคม/สิงหาคม 2016 มีบทความย่อยเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ที่เขียนโดย เลซี่ ชเลย์ (Lacy Schley) ซึ่งมีเนื้อหาหลายจุดน่าสนใจอยู่ ก็เลยจะขอยกมาขยายความเพิ่มเติมดังนี้
เวลาเราพูดว่าความคิดแบบไหน “สร้างสรรค์ (creative)” เราดูจากอะไร?
น่าจะดูได้จาก (1) ความเป็นต้นฉบับ (original) คิดใหม่ขึ้นเองไม่ซ้ำแบบใคร ไม่ลอกใคร (2) สร้างความประหลาดใจได้ ถ้าไม่รู้สึกว่าน่าทึ่ง ก็น่าจะยังไม่สร้างสรรค์พอ ธอมัส ฮักซ์ลีย์ นักชีววิทยาผู้ได้รับฉายา “(หมา) บูลด็อกของดาร์วิน” เคยกล่าวด้วยความประหลาดใจอย่างสุดซึ้งหลังจากเข้าใจทฤษฎีวิวัฒนาการว่า น่าเจ็บใจเสียเหลือเกินที่ทฤษฎีที่ยิ่งใหญ่และงดงาม แถมเรียบง่ายเช่นนี้ ทำไมเขาจึงไม่เคยคิดถึงมาก่อน!
สุดท้าย หลายคนอาจจะบอกว่าเราดูว่ามันสร้างสรรค์จริงหรือเปล่าจากว่ามันมีประโยชน์หรือไม่ และมากน้อยเพียงใด แต่นี่เป็นแค่แนวคิดแบบหนึ่ง อาจมีคนคิดต่างออกไปได้–ไม่แปลกเลย
เราอาจจะศึกษาเรื่องความคิดสร้างสรรค์จาก “ลักษณะ” ของคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ได้หรือไม่?
นี่เป็นข้อสงสัยที่น่าสนใจนะครับ เป็นไปได้ไหมว่ามีบางคนที่เกิดมาพร้อมกับ “พรสวรรค์” ที่ทำให้เป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์มากกว่าคนอื่น?
มีงานวิจัยหลายชิ้นที่ยืนยันตรงกัน คนที่มีความคิดสร้างสรรค์มีแนวโน้มจะมีจำนวนตัวรับฮอร์โมนโดพามีน (dopamine receptor) ในสมองส่วนไฮโปธาลามัสน้อยกว่าคนทั่วไป การมี “ตัวรับ” น้อยทำให้สมอง “กรอง” ข้อมูลส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องน้อยลง
นี่อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สมองของคนพวกนี้เปิดรับข้อมูลได้มากกว่า ส่งผลต่อเนื่องทำให้มีข้อมูลที่นำไปสร้างความเชื่อมโยงในเครือข่ายเซลล์ประสาทมากขึ้น พวกคนกลุ่มนี้เลยอาจจะดูไม่โฟกัสกับงานตรงหน้าแค่นั้น แต่อาจดูว่าอยู่ไม่สุข คิดเลยเถิดต่อยอดออกไปได้ แม้แต่ในแบบที่คนอื่นคิดไม่ถึง
นั่นคือลักษณะความคิดสร้างสรรค์สูงส่วนหนึ่งอาจจะขึ้นกับกรรมพันธุ์
อุปนิสัยหนึ่งที่พบมากในคนมีความคิดสร้างสรรค์คือ มักเป็นคน “เปิดตัวเอง” ต่อสิ่งใหม่ๆ เป็นพวกชอบลองของ อยากรู้อยากเห็น ช่างคิดช่างฝัน และฉลาดเฉลียวอยู่เองตามธรรมชาติ
มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 2013 ในวารสาร The Journal of Creative Behavior ที่ชี้ว่า สำหรับเรื่องความคิดสร้างสรรค์แล้ว “ประสบการณ์สำคัญกว่าไอคิว” ซึ่งหากข้อสรุปนี้เป็นจริง ก็แสดงว่ามีโอกาสมากขึ้นสำหรับคุณทุกคนที่จะเกิดความคิดสร้างสรรค์ หากทำตัวเปิดรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายดายมากขึ้น
อีกอุปนิสัยหนึ่งที่พบบ่อยครั้งในคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ก็คือ คนพวกนี้มักลุ่มหลงคลั่งไคล้ในอะไรสักอย่างเป็นพิเศษ ผลจากแบบสำรวจความคิดสร้างสรรค์ชี้ว่า หากเป็นอย่างนี้ตั้งแต่เด็ก เมื่อโตขึ้นเรื่อยๆ ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า มีความคิดสร้างสรรค์สูงกว่าคนอื่นๆ ในรุ่นเดียวกัน
แต่แค่หลงใหลได้ปลื้มกับอะไรสักอย่างยังไม่พอนะครับ มักจะต้องขลุกอยู่กับมัน และลงมือทำอะไรบางอย่างเกี่ยวกับมันอย่างจริงจัง
นิสัยอีกอย่างทราบจากการสำรวจเป็นระยะๆ ยาวนานต่อเนื่องว่า ผู้นำที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมักทำตัวอย่างไรกันแน่ สิ่งที่พบก็คือคนเหล่านี้มักจะใช้เวลา “มากกว่าคนอื่น” ในการคิดและมองหาคำตอบสำหรับจัดการกับปัญหาตรงหน้าที่ “แตกต่าง” ออกไปจากที่คนอื่นคิด
โดยพบว่าคนที่ทำเช่นนี้เป็นประจำจนเป็นเรื่องปกติ มักประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
ข้อเท็จจริงอีกอย่างที่พบบ่อยคือ แม้แต่พวกที่ถือกันว่าเป็นอัจฉริยะนั้น ก็มีความคิดสร้างสรรค์ส่วนน้อยที่เกิดขึ้นแล้วนำไปสู่ความสำเร็จยิ่งใหญ่ ฉะนั้นคนพวกนี้จะลองไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับคิดเพิ่มเติมขึ้นไปเรื่อยๆ
เคล็ดลับข้อนี้จึงเป็นว่า ต้องลงมือทำและทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลดปล่อยพลังความคิดสร้างสรรค์ให้ออกมาอย่างต่อเนื่อง จึงจะประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ได้
ข้อสุดท้ายนี้จะคล้ายกับข้อที่แล้วและเชื่อมโยงกันอยู่ กล่าวคือพบว่าคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูง มักจะเป็นพวกที่มองโลกบวกและเป็นคนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ไม่ยอมแพ้หรือล้มเลิกง่ายๆ
จากทั้งหมดที่ว่ามา นอกจากข้อแรกที่เลือกไม่ได้แล้ว ข้อที่เหลือเรานำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้นะครับ ทั้งกับตัวเองหรือจะเอาไปปลูกฝังในตัวลูกหลานให้ทำจนเป็นนิสัยก็ได้นะครับ
นอกจากที่กล่าวไปแล้ว ยังมีอีกสองสามวิธีการที่จะว่าไปก็ไม่ยากนัก น่าจะทำกันได้แทบทุกคน นั่นก็คือมีการค้นพบว่า การเดิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่โล่งกว้างใหญ่หรือในป่า ช่วยให้สมองแล่นและแก้ปัญาได้ดี โดยการเดินทำให้ลดระดับความเครียดได้ ทำให้อารมณ์แจ่มใส และกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ผ่านทางการสร้างความเชื่อมโยงของเซลล์ประสาท จนทำให้เกิดความคิดใหม่ๆ
การนั่งสมาธิก็มีความสำคัญและมีประโยชน์มาก แต่ในบทความตีกรอบไว้ว่า ควรจะเป็นการนั่งสมาธิแบบที่ “ต้องไม่หยุดคิดอย่างสมบูรณ์” ยังคงคิดได้อยู่ แต่ตระหนักในการโจนไปมาของความคิดนั้น ก่อนจะดึงกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะ
มีรายงานวิจัยฉบับหนึ่งที่ลงในวารสาร Frontiers in Human Neuroscience ค.ศ. 2014 ระบุว่า การนั่งสมาธิมีส่วนกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนึกคิด ทำให้ดึงข้อมูลที่เก็บไว้มาใช้ได้ดีขึ้น (พูดง่ายๆ คือ ความจำดีขึ้น) และยังช่วยให้ควบคุมอารมณ์ความรู้สึกได้ดีขึ้นอีกด้วย
สุดท้ายที่จะแนะนำก็คือ การแก้โจทย์ปัญหาอาจต้องมีการแบ่งเวลาให้ตัวเองและกลุ่มอย่างเหมาะสม โดยพบว่าคำตอบที่ดูว่าสร้างสรรค์มักเกิดจากการแยกไปคิดแบบต่างคนต่างคิดก่อน เสมือนเป็นการติดกองไฟกองเล็กๆ ให้ได้ก่อน เมื่อได้ความคิดตั้งต้นที่แยกกันคิดแล้ว จึงนำมาคิดร่วมกันเป็นกลุ่ม อภิปรายถกเถียงกัน ก็จะทำให้ความคิดแตกยอดเกิดเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้นไปอีกได้ เหมือนเอากองไฟเล็กๆ มารวมกันแล้วช่วยกันโหมทำให้ไฟติดเป็นกองใหญ่
ตรงกันข้ามกับการรวมกลุ่มกันแต่แรกที่กลับจะทำให้ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการ ผมเคยอ่านงานวิจัยเรื่องการระดมสมอง (brainstorming) ที่ต้องทำกันอย่างถูกวิธี และส่วนใหญ่แล้วที่ทำกันอยู่มักจะผิดวิธีและล้มเหลว
สุดท้ายจะให้แบบฝึกหัดง่ายๆ เป็นตัวอย่างในการกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์นะครับ
แบบฝึกหัดแรกให้หาคำมาชุดหนึ่งรวม 3 คำ แล้วลองดูว่าจะสามารถคิดหรือสร้างความสัมพันธ์หรือความเชื่อมโยงของคำเหล่านี้ได้หรือไม่ เช่น ลิฟต์/แผ่นการ์ด/หน้ากาก หรือ พ่อ/ไม้เท้า/ต้นมะม่วง ฯลฯ
แบบฝึกหัดที่สอง ให้ลองตั้งต้นจากการลากเส้นง่ายๆ เช่น เครื่องหมายยกกำลัง (^) แล้วลองวาดต่อออกไปจากขีดเครื่องหมายดังกล่าวนี้ให้กลายเป็นรูปอื่นต่อไป
แบบฝึกหัดที่สาม ลองหาวิธีการแก้ปัญหาจากโจทย์แปลกๆ เช่น สมมุติว่าเรามีเทียนไขอยู่ 1 เล่ม มีหมุดติดกระดาษ (อันกลมๆ มีเข็มแหลมยื่นออกมา) อยู่ 1 กล่อง และไม้ขีดไฟอีก 1 กล่อง หากเราจำเป็นต้องตรึงเทียนไขไว้กับกำแพง โดยไม่ให้น้ำตาเทียนหยดใส่โต๊ะที่อยู่ข้างล่าง จะมีวิธีการอย่างไรได้บ้าง
อีกวิธีหนึ่งที่คุณเลซี่ไม่ได้กล่าวถึงไว้ แต่เป็นอันที่คนในวงการไซไฟ (นิยายวิทยาศาสตร์) คุ้นเคยกันดีก็คือ การตั้งคำถามว่า “อะไรจะเกิดขึ้นถ้า (what if)?” ก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดีเช่นกัน เช่น ถ้าเราต้องเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ เราต้องทำอะไรก่อนหลังหรือพร้อมๆ กันอย่างไรบ้าง
มาถึงตรงนี้คงพอสรุปได้นะครับว่า ความคิดสร้างสรรค์เป็น “พรสวรรค์” ด้วยส่วนหนึ่งเหมือนกัน แต่คนทั่วไปที่อยากมี ก็สามารถฝึกฝนและกระตุ้นให้เกิดขึ้นได้เช่นกัน