- เราสามารถสร้างคุณลักษณะนิสัย (ที่ดี) ให้กลายเป็น ความสามารถหรือเป็นความเชี่ยวชาญได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกทั้งคู่ออกจากกัน
- ความขยัน การควบคุมตนเอง และการเอาใจใส่ผู้อื่น คือ 3 คุณลักษณะนิสัยที่ดี ที่สามารถพัฒนาจนกลายเป็นความเชี่ยวชาญได้
- ถ้าทำได้ ปลายทางคือ คุณภาพชีวิตที่ดี รายรับ และหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า สุขภาพกายใจที่แข็งแรง และความสามารถในการเข้าสังคมด้วย
ปกติแล้ว คุณลักษณะ (character) กับ ความสามารถหรือความเชี่ยวชาญ (capability) มักถูกนำมาเปรียบเทียบเสมอว่าสิ่งไหนสำคัญกว่าในบริบทที่แตกต่างกันไป Business Insider สื่อออนไลน์อังกฤษ เคยทำการสำรวจจนได้ข้อสรุปว่า สำหรับนักการเมืองแล้วคุณลักษณะหรือคุณสมบัติที่ดีมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างคะแนนนิยมมากกว่าความสามารถเสียอีก
แต่สำหรับ Jen Lexmond (เจน เลกซ์มอนด์) และ Richard Reeves (ริชาร์ด รีฟส์) ผู้เขียนหนังสือ Parents are the principal architects of a fairer society… หรือ พ่อแม่คือสถาปนิกคนสำคัญต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม (มากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน) เผยแพร่โดย DEMOS ประเทศอังกฤษ เชื่อว่า เราสามารถสร้างคุณลักษณะนิสัย (ที่ดี) ให้กลายเป็น ความสามารถหรือเป็นความเชี่ยวชาญได้โดยไม่จำเป็นต้องแยกทั้งสองสิ่งออกจากกัน
Character Capabilities คืออะไร?
“character” ที่เลกซ์มอนด์และรีฟส์ กล่าวถึง ไม่ใช่แค่เรื่องบุคลิกภาพที่สื่อสารให้เห็นภายนอก แต่เป็นคุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับความดีงามและคุณธรรมจริยธรรม เป็นทักษะการใช้ชีวิตที่เป็นความสามารถส่วนบุคคล (a set of personal capabilities) อย่างที่อริสโตเติล นักปรัชญากรีกโบราณ กล่าวว่า การดำรงอยู่ในความดีเป็นทักษะการใช้ชีวิตอย่างหนึ่ง (Being good was a skill.)
เมื่อเป็น “ทักษะ” นั่นหมายความว่าเป็นสิ่งที่สามารถฝึกฝนและพัฒนาได้
สำหรับ “Character Capabilities” หรือ “คุณลักษณะความสามารถ” (ที่สามารถพัฒนาได้) เลกซ์มอนด์และรีฟส์ ให้คำนิยามว่า คือ ส่วนผสมสำคัญที่ช่วยให้มนุษย์สามารถติดตามและดึงศักยภาพของตัวเองมาใช้ดำเนินชีวิตอย่างมีคุณภาพตามแบบฉบับที่ตัวเองต้องการได้
เราจะสร้างสังคมที่ทุกคนมองเห็นศักยภาพที่ตัวเองมีอยู่ได้อย่างไร?
ถึงตรงนี้ลืมเรื่องพรสวรรค์ไปก่อนได้เลย เพราะจากการศึกษาพบว่า คุณลักษณะที่ว่าเป็นทักษะที่สามารถพัฒนาและสร้างได้หากผู้ปกครองมีความรู้ความเข้าใจและให้ความร่วมมือตั้งแต่ต้น
เลกซ์มอนด์และรีฟส์ บอกว่า ผู้ปกครองสามารถเข้ามามีส่วนช่วยดูแลบุตรหลานได้ตั้งแต่แรกเกิด เมื่อโตขึ้นไม่ว่าพื้นฐานครอบครัวจะยากดีมีจนก็ไม่ใช่อุปสรรค
หากผู้ปกครองสามารถสร้างบรรยากาศภายในบ้านให้อบอวลไปด้วยความรักความอบอุ่น จากการดูแลเอาใจใส่ของคนในครอบครัว รวมทั้งการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีทั้งในบ้าน ที่โรงเรียน และเปิดพื้นที่ให้เด็กอยู่ท่ามกลางสังคมที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน ปัจจัยทั้งหมดมีส่วนหล่อหลอมคุณลักษณะของเด็ก และช่วยให้เด็กมองเห็นศักยภาพของตัวเอง
คุณลักษณะนิสัยดีที่สามารถพัฒนาได้มีความสำคัญอย่างไร? ทำไมต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็ก?
ความขยันหมั่นเพียร (application) การควบคุมตนเอง (self-regulation) และ การเอาใจใส่และเข้าใจผู้อื่น (empathy) เป็นคุณลักษณะความสามารถ 3 อย่างที่เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยความสำเร็จและทำให้เรามีความสุขกับการใช้ชีวิต ที่น่าประหลาดใจกว่านั้น คือ การศึกษาพบว่าคุณลักษณะความสามารถนี้มีผลต่อคุณภาพชีวิตที่ดี รายรับ และหน้าที่การงานที่ก้าวหน้า สุขภาพกายใจที่แข็งแรง และความสามารถในการเข้าสังคมด้วย
การศึกษานี้ใช้ฐานข้อมูลจาก Millennium Cohort Study (MCS) ที่ได้ทำการวิจัยคุณลักษณะความสามารถของเด็กอายุ 5 ปี โดยใช้แบบสำรวจพฤติกรรมเด็กชื่อว่า Strengths and Difficulties Questionnaire (SDQ) สร้างโดย โรเบิร์ต กู้ดแมน (Robert Goodman) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ ประกอบด้วยคำถาม 25 ข้อ เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณลักษณะความสามารถของเด็กครอบคลุมทั้ง 3 ส่วน ได้แก่
หนึ่ง ความขยันหมั่นเพียร (Application)
แอพพลิเคชั่นที่ว่านี้ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับแอพบนมือถือเลยสักนิดเดียว แต่เป็นคุณลักษณะเกี่ยวกับ “ความขยันหมั่นเพียร” ของบุคคลล้วน ๆ คำนี้ใช้อธิบายถึง ความสามารถในการจดจ่อ ความมีวินัย และความสามารถในการกระตุ้นตัวเองให้มีความมุ่งมั่นที่จะทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเรามีความสามารถในการควบคุมตัวเอง หรือที่นักจิตวิทยาเรียกว่า Locus of Control (LOC) – “ลักษณะควบคุมตน มุ่งอนาคต” เป็นทัศนคติที่บุคคลหนึ่งมีต่อความสามารถของตัวเองในการควบคุมหรือเปลี่ยนแปลงอนาคตของตัวเองและคนรอบข้าง สิ่งนี้จะเป็นตัวผลักดันหรือหักห้ามให้เราทำหรือไม่ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมทั่วไปในชีวิตประจำวัน งาน หรือโปรเจ็คท์ต่างๆ
เกณฑ์การวัด Locus of Control มีขอบเขตตั้งแต่ระดับ internal ถึง external คนที่มี LOC สูง (Internal LOC) มักคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ว่าจะดีหรือร้ายเกิดขึ้นจาก “การกระทำ” ของตัวเอง ส่วนคนที่มี LOC ต่ำ (External LOC) มักคิดว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตไม่ว่าจะดีหรือร้ายมี “โชคชะตา” เป็นตัวกำหนด ด้วยเหตุนี้ คนที่มี Internal LOC จะมีความพยายาม มีความขยันหมั่นเพียรมากกว่าคนที่มี External LOC แม้จะมีความสามารถไม่ต่างกันก็ตาม
สอง การควบคุมตนเอง (Self-regulation)
ในงานวิจัยชิ้นนี้ให้ความสำคัญกับ “ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ตนเอง” รวมถึง “ความยืดหยุ่นทางอารมณ์” (emotional resiliency) ที่สะท้อนจากการรับมือกับความผิดหวัง ความขัดแย้ง และความเศร้าหมองจากเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิต เด็กที่สามารถจัดการกับภาวะทางอารมณ์เหล่านี้ได้ มีแนวโน้มที่จะเอาชนะอุปสรรคในชีวิตด้วยวิธีเชิงบวกมากกว่าการตอบโต้ การแสดงความโกรธเคือง หรือการใช้ความรุนแรง ความสามารถในการควบคุมตัวเองนี้จะช่วยเราดึงด้านที่ดีที่สุดเข้ามารับมือกับสถานการณ์ย่ำแย่ หรือสถานการณ์ที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นได้
สาม การเอาใจใส่และเข้าใจผู้อื่น (Empathy)
“put yourself in another person’s shoes” เป็นสำนวนเปรียบเทียบถึงความสามารถในการเข้าอกเข้าใจผู้อื่นจากมุมมองของเขาโดยไม่ใช้มุมมองของเราตัดสิน เหมือนเราเป็นตัวเขา กำลังสวมใส่รองเท้าของเขาอยู่
การศึกษา พบว่า การเอาใจใส่และเข้าใจผู้อื่นมีความเชื่อมโยงกับการเลี้ยงดูเด็กในช่วงแรกเกิดถึง 3 ปีแรก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ระบบประสาทสมอง (synapse) พัฒนาได้อย่างรวดเร็วถึง 20 เท่า ประสบการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัวมีส่วนอย่างมากต่อการสร้างระบบประสาทสมองในช่วงขณะนี้ ยิ่งเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำซ้ำยิ่งเปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะฉะนั้นการได้รับความรักความอบอุ่นและการได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้ปกครองในช่วงเวลานี้ จะมีส่วนสำคัญต่อการสร้างคุณลักษณะให้เด็กมีความเอาใจใส่และเข้าใจผู้อื่น ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคม (pro-social behavior) ของเด็กเมื่อโตขึ้นต่อไป
คุณลักษณะนี้เป็นความสามารถด้านการจัดการความสัมพันธ์ เป็นทักษะการใช้ชีวิตในสังคมที่จะทำให้คนคนหนึ่งมีปฏิสัมพันธ์และสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในชีวิตประจำวันและที่ทำงาน
คุณลักษณะความสามารถทั้ง 3 ข้อสอดคล้องกับแนวคิดของอริสโตเติล ซึ่งนับว่าเป็นนักคิดคนแรกๆ ที่ให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับการแสวงหาความสุขในชีวิตหรือการพัฒนาชีวิตให้ดีขึ้นกว่าเดิม เขาบอกว่า สิ่งที่ทำให้เรามีความสุข มักเป็นสิ่งเดียวกับสิ่งที่ทำให้เรามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นและเป็นคนดีขึ้น ในบริบทนี้อริสโตเติลหมายถึง การฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีความห่วงใยผู้อื่น สร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบข้าง และพาตัวเองเข้าไปทำงาน ศึกษาเรียนรู้และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
นอกจากนี้ อริสโตเติล ยังกล่าวว่า การเป็นคนดีสร้างได้จากการมีทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ชีวิตโดยเห็นแก่ผู้อื่น เพราะความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการให้