- Builiding a Better Teacher หนังสือที่เชื่อว่า การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ให้กับครูน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
- ไม่ใช่เฉพาะครูเท่านั้นที่ควรอ่าน แต่หนังสือความหนา 447 หน้านี้ เหมาะกับทุกคนที่ปรารถนาจะเห็นอนาคตของนักเรียนไทย ไปได้ไกลกว่าที่เป็น
- หนังสือเล่มนี้จะช่วยจัดวางที่ทางอนาคตเด็กได้อย่างชัดเจน กระทั่งช่วยให้คุณทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ครู ที่ไม่ใช่และไม่ควรเป็นเพียงแม่พิมพ์/ พ่อพิมพ์ใดๆ ทั้งสิ้น
ในขณะเดียวกัน ความท้าทายไม่ได้อยู่ที่การทำให้นักเรียนพูด แต่อยู่ที่การทำให้นักเรียนเข้าใจสิ่งที่พวกเขาต้องการพูด – หน้า 76
นับตั้งแต่ที่มีการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง หรือ child centered ในพระราชบัญญัติปฏิรูปการศึกษา 2542 กระแสการปรับเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนก่อให้เกิดกระแสทั้งต่อต้านและสนับสนุน
จวบจนปัจจุบัน ผลคะแนนด้านการศึกษาไทยยังคงไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด โครงการผู้นำแห่งอนาคต โดยการสนับสนุนของสสส.และมูลนิธิสยามกัมมาจล จึงจัดพิมพ์หนังสือโดยการจัดทำของสนพ.โอเพ่นเวิลด์ส พับลิชชิ่ง เพื่อตอบคำถามที่สำคัญที่ว่า เหตุใดและทำไมคุณภาพการศึกษาไทยจึงยังอยู่ในระดับน่าเป็นห่วง แม้ว่าจะมีการขึ้นเงินเดือนครู การพัฒนามาตรฐานการประเมินคุณภาพการศึกษา?
Builiding a Better Teacher หรือ ครูคุณภาพสร้างได้ ของเอลิซาเบธ กรีน คือหนังสือที่พยายามตอบคำถามนั้นด้วยการนำประสบการณ์ต่างๆ ของครูหลากหลายวิชา ไม่ว่าจะเป็นเดโบราห์ บอลล์ ครูที่ไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ แต่ต้องกลับไปเรียนใหม่เพื่อหาวิธีมาสอนนักเรียนให้ได้ประสิทธิภาพจนเกิดเป็นงานวิจัยให้กับการวางรากฐานด้านการสอนคณิตศาสตร์ที่เรียกว่า TKOT (This Kind of Teaching) หรือ การสอนเพื่อความเข้าใจ ไปจนถึงครูที่เคยเชื่อว่าการลงโทษเท่านั้นจึงจะเปลี่ยนแปลงเด็กได้ โดยทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้การนำเสนอของเอลิซาเบธผู้เชื่อว่า ‘การพัฒนาทักษะการจัดการเรียนรู้ให้กับครูน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา’
ในฐานะที่เคยเป็นนักเรียนหัวช้า ครูคุณภาพสร้างได้ ไม่ใช่หนังสือในลักษณะ ‘คู่มือ’ ที่ใช้ผลจากการทำงานวิจัยมาสรุปเป็นแบบฝึกหัดจากลักษณะการสอน
แต่เป็นหนังสือที่อาจจะให้นิยามได้อย่างที่เอลิซาเบธได้เขียนไว้ในบทหนึ่งว่า ในมุมมองแบบนี้ การสอนเริ่มต้นด้วยการฟัง – หน้า 333
ไม่เพียงการฟัง เอลิซาเบธ ยังยกตัวอย่างการสอนที่ญี่ปุ่นที่เรียกว่า คิคัง-ชิโดะ และ คิคัง-จุงชิ โดยทั้งสองวิธี ครูจะสังเกตพฤติกรรมของนักเรียนเหมือนกัน ต่างแค่เพียงคิคัง-ชิโดะ ครูจะเข้าไปแทรกแซงเพื่อแก้ไขความสับสนและออกคำสั่ง ขณะที่วิธี คิคัง-จุงชิ ครูจะเพียงแค่จดบันทึก พยักหน้า แล้วเดินต่อไปยังโต๊ะนักเรียนต่อไป ซึ่งวิธีคิคัง-จุงชิจะให้ผลการเรียนที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ คิคัง-ชิโดะ
กระนั้น เอลิซาเบธไม่ได้ต้องการบอกว่าการสอนด้วยการสังเกตและแทรกแซงนั้นเป็นวิธีที่ผิด เธอยกตัวอย่างกรณีของดั๊ก เลมอฟ ผู้เสนอทฤษฎีที่นำมาสู่การสร้างคำศัพท์ร่วมกันระหว่างครูและนักเรียนที่เรียกว่า ‘การจัดกลุ่มคำ’
การจัดกลุ่มคำของเลมอฟเป็นเรื่องของการกำหนดคำ รูปประโยค เพื่อกำหนดพฤติกรรมของนักเรียน ยกตัวอย่าง SLANT มาจากคำว่า Sit up, Listen, Ask questions, Nod และ Track โดยการจัดกลุ่มคำเหล่านี้จะเป็นการกำหนดพฤติกรรมการเรียนรู้ระหว่างครูและนักเรียนไปด้วย
เช่น การชี้สองนิ้วไปที่ตาหมายถึง ตามผู้พูดให้ทัน เป็นรหัสให้นักเรียนสนใจครูผู้สอน ไม่เพียงเท่านี้ ดั๊กยังจัดกลุ่มตัวเลือกการแทรกแซงไว้ 6 ข้อ แบ่งไปตามระดับของความไม่สนใจของนักเรียน โดยเริ่มจาก การแทรกแซงโดยไม่ใช้คำพูด การแก้ไขอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นวิธีที่เรามักเห็นครูบางประเทศทำอยู่บ่อยๆ เมื่อนักเรียนคนหนึ่งไม่สนใจการสอน อย่างเบา คือ โดนเรียกชื่อ อย่างหนัก คือ แปรงลบกระดานดำจะร่อนมากระแทกหัวอย่างแรง ไปจนวิธีสุดท้าย คือ ผลลัพธ์ (รายละเอียดส่วนที่เหลือ อยากแนะนำให้หาอ่านเอาเอง)
การพูดว่า ‘เรามาทำใหม่กันอีกทีและพิสูจน์ว่าทำไมเราเป็นกลุ่มนักอ่านที่เก่งที่สุดในโรงเรียน’ ดั๊กเขียนไว้ในหลักการจัดกลุ่มคำ ‘มักจะดีกว่าการพูดว่า นักเรียน นั่นแย่มาก เราต้องทำใหม่จนกว่าจะถูกต้อง’ แม้ว่าวัตถุประสงค์ คือการทำซ้ำอีก – หน้า 235
คงเป็นการนิยามที่คับแคบไปสักหน่อยหากจะบอกว่าหนังสือความหนา 447 หน้า เหมาะแค่เฉพาะกับผู้เป็นครูเท่านั้น แต่ก็อาจจะดูโรแมนติกเกินไป หากจะบอกว่า ครูคุณภาพสร้างได้ เหมาะกับทุกคนไม่ว่าจะเป็นครูหรือไม่ หากคุณคือคนที่ปรารถนาเห็นอนาคตการศึกษาของนักเรียนไทยไปได้ไกลกว่าที่เป็น
ซึ่งแน่นอนว่าเป็นเรื่องยาก แต่ตัวอย่างมี และอย่างที่เดโบราห์กล่าวไว้
“ทุกคนทนรอไม่ไหว แต่สิบปีนับจากนี้ ถ้าเรามีระบบที่แตกต่างไป มันจะเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ” – หน้า 379
หากคุณเป็นทั้งหมดที่กล่าวมา หรือเพียงข้อใดข้อหนึ่ง กระทั่งข้อที่สำคัญที่สุด เป็น พ่อแม่ หนังสือเล่มนี้จะช่วยจัดวางที่ทางของอนาคตในเด็กได้อย่างชัดเจน และกระทั่งช่วยให้คุณทำความเข้าใจความหมายของคำว่า ครู ที่ไม่ใช่และไม่ควรเป็นเพียงแม่พิมพ์/พ่อพิมพ์ใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงอาจจำเป็นต้องเข้าใจว่าครูในฐานะอาชีพหนึ่งไม่ใช่ผู้รองรับทุกความมุ่งมาดปรารถนาของคนเป็นพ่อแม่ เพื่อให้คุณภาพของครูที่สร้างขึ้นได้นั้นมาพร้อมความเข้าใจร่วมกันของสังคม
นักสังคมวิทยานามว่า แดน ลอร์ตี กล่าวถึงอาชีพครูโดยใช้ศัพท์ที่ใช้บรรยายเรื่องเซ็กส์ในยุควิกตอเรียน เขาบอกว่าการสอนหนังสือคือ ความทรมาน ส่วนตัวของแต่บุคคล ลอร์ตีสืบย้อนเรื่องความเปล่าเปลี่ยวนี้ไปในยุคที่โรงเรียนมีเพียงหนึ่งห้อง ในสมัยนั้นครูต้องทำงานตามลำพังเพราะผู้ใหญ่คนอื่นๆ (และเด็กบางคน) ออกไปทำงานในฟาร์ม ทุกวันนี้ แต่ละชั้นเรียนมีบุคลากรและนักเรียนเข้ามาเกี่ยวข้องเพิ่มขึ้น แต่ครูก็ยังต้องเผชิญกับห้องเรียนซึ่งเต็มไปด้วยเด็กๆ ตามลำพังอยู่ดี แล้วครูจะทำะไรล่ะ พวกเขาก็จะทำทุกอย่างที่เราทุกคนจะทำ พวกเขาจะสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมา -หน้า 34
จากบทเปิดของ Building a Batter Teacher หรือ ครูคุณภาพสร้างได้ ของ Elizabeth Green โดยสำนวนแปลของ วิสาลินี ฤกษ์ปฏิมา เดอเบส