- แม้ว่าการเรียนการสอนภาคบังคับในโรงเรียนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่กลับมีชั้นเรียนที่พวกเด็กๆ รู้สึกสนุกหรือจดจำได้ในฐานะประสบการณ์ชีวิตที่ดี และมีความกระตือรือร้นอยากเข้าเรียนอยู่น้อยมาก
- หากเรียนไม่ทันและไม่เข้าใจ นักเรียนอาจเกิดอาการสิ้นหวังทางการเรียนรู้ (learned helplessness) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเครียดสะสม เพราะรู้สึกว่าช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลย ปฏิกิริยาตอบสนองจึงมีแบบเดียวคือ การหนีจากความจริง ปิดสวิตช์การเรียนรู้ตัวเองอย่างไร้ความหวัง ไม่แม้แต่จะพยายามต่อสู้
- การมองหาจุดอ่อนของวิธีการ กระบวนการ และธรรมชาตินิสัย จึงสำคัญและอาจช่วยลดความน่าเบื่อของการเรียนในห้องเรียนและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้
ปัจจุบันการเรียนภาคบังคับในโรงเรียนถือเป็นเรื่องปกติสำหรับนักเรียนทั่วโลก หากนักเรียน-นักศึกษาคนใดสามารถเรียนได้ดีก็เข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษากันเป็นเรื่องธรรมดา แม้ว่าการเรียนการสอนจะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต ทำกันเป็นร้อยล้านครั้งต่อวัน แต่กลับมีชั้นเรียนที่พวกเด็กๆ รู้สึกสนุกหรือจดจำได้ในฐานะประสบการณ์ชีวิตที่ดี และมีความกระตือรือร้นอยากเข้าเรียนอยู่น้อยมาก
หากเราเข้าใจจิตวิทยาของนักเรียนและห้องเรียน และปรับวิธีการจัดชั้นเรียนให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้น น่าจะช่วยให้ทั้งนักเรียนและครูอาจารย์มีความสุขมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นเรื่องดีมากๆ
จะเริ่มต้นกันอย่างไรดี?
มาดูเหตุผลที่นักเรียนนักศึกษามองว่าทำไมการเรียนน่าเบื่อกัน ซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นการแก้ไขปัญหาที่ดีครับ
เรื่องแรกเลยคือ ต้องตระหนักเสมอว่าหลักสูตรที่ใช้ในโรงเรียนเป็นหลักสูตรที่ออกแบบสำหรับ ‘คนส่วนใหญ่’ ที่เรียนได้ดีระดับ ‘เฉลี่ย’ ดังนั้น จึงไม่น่าแปลกใจว่า สำหรับเด็กที่เรียนดีเป็นพิเศษหรือเรียนช้ากว่าคนอื่นอยู่สักหน่อย ห้องเรียนก็อาจจะเป็นสถานที่ที่น่าเบื่อมาก
แต่เรื่องแบบนี้พอแก้ไขได้นะครับ สำหรับเด็กที่ฉลาดเกินกว่าเฉลี่ยมากๆ คุณครูและโรงเรียนควรจะจัดสอบเทียบความรู้ให้และย้ายชั้นให้สูงขึ้นให้เหมาะสมกับระดับสติปัญญา ส่วนคนที่เรียนอ่อนก็อาจต้องมีการสอนเพิ่มเติมหรือมีตัวช่วยอื่นที่จำเป็น ซึ่งต่างหากจากคนอื่นๆ ที่เหลือในห้อง
เพื่อนในห้องที่เก่งๆ ก็สามารถช่วยปิดช่องว่างตรงนี้ได้เช่นกัน อาจจะดีกว่าด้วยเพราะสื่อสารด้วย ‘ภาษาเดียวกัน’ ได้มากกว่า
กรณีหลังนี่ ยิ่งรู้เร็วก็ยิ่งแก้ไขได้ดีมากยิ่งขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในสาขาวิชาแบบสะเต็มศึกษา ซึ่งพื้นฐานในระดับชั้นเรียนที่ต่ำกว่าจะนำมาใช้ซ้ำอีกในการเรียนการสอนระดับที่สูงขึ้น หากไม่เข้าใจแต่ต้นก็จะเกิดอาการเบื่อหน่ายในชั้นเรียนหลังๆ ได้ง่ายมาก เพราะตามไม่ทัน ไม่เข้าใจ กลายเป็นปัญหาแบบ ‘หิมะถล่ม’ ที่ตั้งต้นมันก้อนเล็กนิดเดียว แต่สะสมพลังงานจนถล่มได้แม้แต่ยอดเขาทั้งยอดในเวลาต่อมา
ในทางวิชาการเรียกอาการแบบข้างต้นนี้ว่า นักเรียนเกิดอาการสิ้นหวังทางการเรียนรู้ (learned helplessness) ซึ่งจะก่อให้เกิดความเครียดสะสม เพราะรู้สึกว่าช่วยเหลืออะไรตัวเองไม่ได้เลยในสถานการณ์ที่ชวนสิ้นหวังเช่นนั้น ปฏิกิริยาตอบสนองจึงมีแบบเดียวคือ การหนีจากความจริง ปิดสวิตช์การเรียนรู้ตัวเองอย่างไร้ความหวัง ไม่แม้แต่จะพยายามต่อสู้
สิ่งที่สังเกตเห็นได้ง่ายคือ คะแนนจะตกลงในวิชานั้น และเด็กแสดงอาการกังวลใจ ขาดความมั่นใจ หรือผิดหวังในตัวเองให้เห็น ‘เฉพาะ’ วิชานั้นๆ แต่พอเรียนวิชาอื่นก็กลับกระตือรือร้นได้เหมือนเดิม
สำหรับตัวนักเรียนเอง หากพบปัญหานี้ก็ควรปรึกษากับครูหรือนักจิตวิทยาเพื่อหาทางออกร่วมกัน
ปัญหาสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือ พวกนักเรียนอาจรู้สึกน่าเบื่อเพราะ ไม่สามารถเชื่อมโยงความรู้ในห้องเรียนที่มีลักษณะพื้นฐานมาก ให้เข้ากับการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน ในกรณีนี้เป็นหน้าที่ส่วนหนึ่งของผู้สอนที่จะต้องพยายามยกตัวอย่าง นำเอาความรู้จากในห้องเรียนมาแก้ปัญหากรณีศึกษาหรือตัวอย่างจากชีวิตจริง
หากทำได้ดี นักเรียนก็จะรู้สึกประทับใจและรู้สึกว่า การเรียนในห้องเรียนมีความน่าสนใจและน่าเบื่อน้อยลง
ประเด็นคล้ายๆ กันแต่แตกต่างกันเล็กน้อยคือ เด็กๆ อาจจะรู้สึกว่าเนื้อหาวิชาที่สอนในโรงเรียนไม่มี ‘ความหมาย’ สำหรับตัวพวกเขามากนัก
สำหรับเรื่องนี้คงต้องยอมรับความจริงเบื้องต้นกันก่อนว่า โรงเรียนจำนวนมากทั่วทั้งโลก ล้วนสอนโดยมี ‘ตัวชี้วัด’ ความรู้แบบที่ใช้ ‘ข้อสอบมาตรฐาน’ ตรวจวัดได้ โดยหวังว่าความรู้เหล่านั้นที่ทางผู้ร่างหลักสูตรเห็นว่า ‘สำคัญและจำเป็น’ จะซึมซับเข้าสู่สมองของเด็กๆ
การทดสอบส่วนใหญ่จึงเป็นการทดสอบ ‘ความจำ’ เกี่ยวกับข้อเท็จจริงต่างๆ จำนวนมาก แทนที่จะวัดความสามารถในการเรียนรู้หรือความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล
ครูจำนวนมากจึงแบกรับความกดดันที่ต้องเคี่ยวเข็ญลูกศิษย์ให้จดจำ ‘ข้อมูล’ จำนวนมากเข้าไปในช่วงเวลาที่มีอย่างจำกัด เพราะจะมีผลกับการประเมินความสามารถของครูหรือโรงเรียนเอง ซึ่งวัดจากข้อสอบมาตรฐานระดับประเทศหรือระดับนานาชาติอีกทอดหนึ่ง หรือแม้แต่วัดจากจำนวนนักเรียนที่สอบเข้าโรงเรียนอื่นหรือมหาวิทยาลัยชั้นนำได้มาก จึงเหลือเวลาเพียงน้อยนิดที่จะใช้สอนเกี่ยวกับ ‘ความหมายของชีวิต’ หรือสิ่งต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบกับพวกเด็กๆ นอกเหนือไปจากเนื้อหาที่จะใช้สอบ
นอกจากนี้ ความรู้ที่ทันสมัยกว่าและเด็กสนใจมากกว่า และอาจใช้เป็นอาชีพในโลกยุคใหม่ได้ อย่างการนำเสนอหรือขายของผ่านยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือติ๊กต่อกให้น่าสนใจ จึงยากที่จะเล็ดรอดผ่านเข้าไปอยู่ในหลักสูตรการศึกษาได้ เพราะแม้แต่คนกำหนดหลักสูตรและคนสอนหนังสือต่างก็ล้วนไม่รู้จัก ไม่เข้าใจ ไม่มีประสบการณ์ หรือไม่เห็นความสำคัญมากพอ
ประเด็นต่อมานี้น่าจะได้พูดคุยกันในสถานศึกษามากขึ้น คือไม่ใช่เด็กทุกคนจะเรียนได้ดีผ่านการอ่านหรือการดูเท่านั้น
ขยายความอีกนิดก็คือ สไตล์การเรียนรู้สำคัญมีอยู่ 4 แบบด้วยกัน คือ (1) การดู (2) การฟัง (3) การอ่านและการเขียน และสุดท้าย (4) การเคลื่อนไหวและสัมผัส (Kinesthetic) โดยสามแบบแรกนี่เข้าใจไม่ยาก คือบางคนได้ดูหรือเห็นเป็นภาพแล้วจะจำได้ไวมาก ส่วนบางคนได้ฟังแล้วจะจำขึ้นใจ และสำหรับบางคนต้องได้อ่านหรือเขียน ถึงจะจำได้ดีมาก สำหรับแบบสุดท้ายนี่ก็คือ พวกที่ชอบลงมือทำหรือได้ทดลองแล้วจะจำฝังใจนั่นเอง พวกนี้เหมาะมากจะได้มาเป็นนักวิทยาศาสตร์ นักทดลอง และนักวิจัย
แน่นอนว่าการแบ่งแบบนี้เป็นการแบ่งแบบคร่าวๆ เท่านั้น หมายความว่าบางคนอาจจะเรียนรู้ได้ดีในหลายสไตล์ แต่ประเด็นสำคัญกว่าก็คือ หากวิธีการสอนไม่เข้าคู่กับสไตล์ความถนัดในการเรียน นักเรียนคนนั้นก็อาจทำได้ย่ำแย่
ข้อที่น่าขบคิดสำหรับครูอาจารย์ก็คือ กลเม็ดต่างๆ ที่ตัวเองใช้อยู่ในห้องเรียนนั้น สนับสนุนการเรียนรู้ของนักเรียนที่ถนัดการเรียนรู้แบบต่างๆ มากน้อยแค่ไหน? การพูดและเขียนกระดานหรือฉายสไลด์อาจจะเป็นการทิ้งเด็กที่มีสไตล์การเรียนรู้แบบอื่นไว้ข้างหลังมากจนเกินไปหรือไม่?
ไม่แต่เพียงสไตล์การรับรู้ข้อมูลของนักเรียนเท่านั้น ความชอบของแต่ละคนที่แตกต่างกันก็สำคัญมากเช่นกัน แต่ละคนย่อมมีวิชาที่ชอบและวิชาที่ไม่ชอบ
แม้ว่าเด็กส่วนใหญ่จะทำพอให้ผ่านวิชาที่ไม่ชอบไปได้ แต่ก็คงมีเด็กไม่น้อยที่รู้สึกเสียเวลาและไม่อยากเข้าเรียนชั้นเรียนที่ตัวเองไม่มีความสนใจเลย
นักเรียนที่เก่งวิชาการก็อาจไม่ชอบวิชาหมวดพละศึกษาที่ตัวเองไม่ค่อยได้ทำ (แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นบ้าง อาจมีคนที่เก่งทั้งบุ๋นและบู๊บ้างเหมือนกัน) การพูดคุยเรื่องกีฬาอาจเป็นเรื่องสนุกสำหรับบางคน แต่ก็อาจเป็นเรื่องน่าเบื่อสำหรับหลายคนที่อยากคุยเรื่องความรู้แปลกๆ ด้านภาษา ประวัติศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลเบื้องต้นที่สรุปได้ว่า โรงเรียนควรสนับสนุนให้นักเรียนทำกิจกรรมด้านศิลปะบางอย่างด้วย เช่น การเล่นดนตรี
เพราะพบว่าเด็กนักเรียนที่สนใจและเล่นดนตรีได้ดี มักทำวิชาอื่นๆ ได้ดีกว่าเฉลี่ยไปด้วย [1]
โดยเฉพาะดนตรีที่ต้องใช้อุปกรณ์ดนตรีอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ใช่การร้องเพลงเฉยๆ เพราะเมื่อนำคะแนนสอบที่ทำได้มาดู พบว่าเด็กๆ ที่ร่ำเรียนดนตรีมานานหลายปีและยังเล่นอยู่ในวงโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายหรือเป็นสมาชิกวงออร์เคสตรา มักทำคะแนนได้ดีกว่าเพื่อนร่วมรุ่นในวิชาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์!
การเข้ากลุ่มของเด็กนักเรียนก็สำคัญ หากเด็กรู้สึกโดดเดี่ยว ไร้เพื่อน หรือโดนกลั่นแกล้ง ก็จะทำให้งานกลุ่มกลายเป็น ‘นรก’ สำหรับเด็กคนนั้นได้ ครูควรสอดส่อง สังเกตปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับเพื่อน และหาทางช่วยเหลือ
เรื่องสุดท้ายคือ ชั่วโมงการเรียนที่ยืดยาวเกินไปมักทำให้เด็กๆ อ่อนล้า จนยากจะโฟกัสเนื้อหาในวิชาท้ายๆ ได้ จึงอาจจะรู้สึกว่าเหนื่อยและเบื่อวิชาท้ายๆ ของวัน การกำหนดจำนวนชั่วโมงเรียนต่อวันจึงมีความสำคัญ วิชาที่ต้องใช้แรงกายมากกว่าจึงอาจเหมาะกับช่วงเวลาเย็นๆ ใกล้เลิกเรียนมากกว่า
การมองหาจุดอ่อนของวิธีการ กระบวนการ และธรรมชาตินิสัยทั้งหมดดังกล่าว จึงสำคัญและอาจช่วยลดความน่าเบื่อของการเรียนในห้องเรียนและเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ได้
อ้างอิง
1. A Population-Level Analysis of Associations Between School Music Participation and Academic Achievement,” by Martin Guhn, PhD, Scott D. Emerson, MSc, and Peter Gouzouasis, PhD, The University of British Columbia. Journal of Educational Psychology. Published online June 20, 2019.