- สองงานวิจัยที่ว่าด้วยผลของการเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยการทำโครงการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาในชุมชน หรือ Project Based Learning (PBL) ในโครงการ active citizen สร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียนอย่างไร ด้วยวิธีการแบบไหน และมีผลจริงแง่เปลี่ยนแปลงสมอง (EF) ของเด็กในโครงการอย่างไร
- งานวิจัยโดยทีมวิจัยจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. และ รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ: เฉลิมพล ปัณณานวาสกุล
หุนหันพลันแล่น กำกับตัวเองไม่ได้ ขี้เบื่อ ไม่จดจ่อ มักทำตามใจตัวเอง และไวต่อสิ่งเร้าที่ท้าทาย
พฤติกรรมของวัยรุ่นเหล่านี้มักถูกอธิบายว่าเป็นภาวะต่อต้านโลก แต่หากมองเข้าไปให้ลึกเพื่อถอดสมการทางอารมณ์และพฤติกรรมที่เกิดขึ้น คำตอบทั้งหมดอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์เรื่อง ‘พัฒนาการสมอง’ โดยเฉพาะสมองส่วนหน้า ที่ตั้งของกล้ามเนื้อทำงานเรื่องการคิดวิเคราะห์และการกำกับตัวเอง
ทักษะการคิดวิเคราะห์ กำกับตัวเอง คิดเป็นเหตุเป็นผลเกิดขึ้นจากสมองส่วนหน้า จะเริ่มพัฒนาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วง 0-8 ปี และจะพัฒนาอย่างเต็มพร้อมในช่วงวัย 25 ปี ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่สมองส่วนหน้ายังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ทว่าสมองส่วนอารมณ์ทำงานอย่างเต็มที่ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมวัยรุ่นจึงเป็นวัยแห่งความแก่นเซี้ยวเปรี้ยวซ่า ชอบความท้าทาย และดูจะใช้เหตุผลน้อยกว่าอารมณ์ การพัฒนา (ด้วยความเข้าใจ) วัยรุ่นจึงต้องอาศัยกระบวนการการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับพัฒนาการ เพื่อช่วยให้วัยรุ่นได้ลับเหลี่ยมคมหรือประลองสมองมากไปกว่าการท่องจำตำราเรียน หนึ่งในนั้นคือการได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ออกมาทำโครงการเพื่อร่วมแก้ไขปัญหาหรือสถานการณ์ในชุมชนเป็น Project Based Learning (PBL)
เพราะในศตวรรษที่ 21ความรู้ ไม่ได้ถูกขังไว้ในห้องสี่เหลี่ยมหรือสร้างได้จากการอ่านตำราเรียนอีกต่อไป การสร้างความรู้เป็นสิ่งที่ผู้เรียนทำเองได้ โดยอาจเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ตเพื่อให้รู้โลก หรือกลับมาเรียนรู้เรื่องใกล้ตัวจากชุมชนที่อาศัย จากครอบครัว ก็เป็นสิ่งที่สามารถทำได้
‘การเรียนรู้ผ่านการทำโครงการในชุมชน ส่งผลต่อการพัฒนาทักษะ สำนึกพลเมือง และการเปลี่ยนแปลงทางสมอง’ ถูกนำเสนอในงาน LSEd Symposium 2019 & TSS Open-house โอกาสครบรอบ 5 ปีของคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยรูปแบบเป็นการนำเสนองานวิจัย 2 เรื่อง ที่เข้าไปศึกษาการจัดการเรียนรู้ใน โครงการพัฒนาเยาวชน Active Citizen โดยมูลนิธิสยามกัมมาจลและสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
- ชิ้นแรกว่าด้วยเรื่องกระบวนการบทบาทและผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการโค้ชที่มีต่อเยาวชน โดย อดิศร จันทรสุข ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ และรองคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และทีมวิจัย
- ชิ้นที่สอง ว่าด้วยเรื่อง การศึกษาผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงของทางสมองเยาวชนก่อนและหลังเข้าร่วมโครงการ โดย รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล มหาวิทยาลัยมหิดล
โครงการในพื้นที่ Alternative Space ที่ช่วยพัฒนา (สมอง) วัยรุ่น
เพราะโครงการ Active Citizen เชื่อว่าเยาวชนเป็นวัยที่มีศักยภาพ จึงต้องการพัฒนาบุคลากรที่เป็นเยาวชนให้มีคุณภาพเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมที่ดี จึงเปิดโอกาสให้เรียนรู้จากประสบการณ์ เรียนรู้จากสถานการณ์จริงในชุมชน ลงมือทำงานในฐานะเจ้าของชุมชนเอง (community/project based) ได้เผชิญปัญหาและฝึกแก้ปัญหา นอกจากชุมชนจะได้ประโยชน์แล้ว เด็กก็จะได้เติบโตไปพร้อมกับงานที่เขาทำด้วย โดยเฉพาะทักษะในศตวรรษที่ 21 และการรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
แต่เพื่อตอบคำถามว่าโครงการพัฒนาเด็กได้จริงหรือไม่ และ โครงการทำให้เยาวชนอยากลุกขึ้นมาทำงานและพัฒนาชุมชนที่เป็นถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยตัวเองได้จริงหรือเปล่า และจะยืนระยะนานแค่ไหน?
จึงเป็นเหตุผลที่ทีมวิจัยจากคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงไปศึกษาการทำงานโครงการพัฒนาเยาวชนและการทำงานของโค้ชโครงการ Active Citizen ใน 4 พื้นที่ ได้แก่ จังหวัดสงขลา น่าน ศรีสะเกษ และกลุ่มจังหวัดภูมิภาคตะวันตก (ราชบุรี กาญจนบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาทักษะและสร้างสำนึกพลเมืองของเยาวชนผ่านการลงมือทำงานในชุมชน ระบบนิเวศในการพัฒนาเยาวชน (Bio-ecological system) และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ พร้อมเสนอแนวทางการนำกระบวนการพัฒนาเยาวชนดังกล่าวไปใช้กับการศึกษาในระบบต่อไป
“สิ่งที่มูลนิธิสยามกัมจลพยายามทำคือการเรียนรู้นอกห้องเรียน แล้วในฐานะมหาวิทยาลัย โจทย์คือเราจะพัฒนาหน้าตาหลักสูตรออกมาอย่างไร เราเอาโจทย์การเรียนรู้ไปใช้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 2 เราจัดกระบวนการให้เขาได้ลงไปทำงานกับชุมชนจริงๆ ไปอยู่กับชาวบ้าน และหาประเด็นที่เขาสนใจแล้วลงมือทำ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา” อดิศร จันทรสุข ย้ำ
ผลการวิจัยในครั้งนี้แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และจังหวะการทำงานระหว่างเด็กกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องรอบตัวเด็ก ทั้งหมดต่างมีความเกี่ยวพันอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ สามารถแบ่งออกได้ 5 ระดับ ซึ่งการแยกย่อยระดับเช่นนี้จะช่วยคลี่ภาพให้เห็นผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งวงจรที่มีอิทธิพลต่อการพัฒนาของเยาวชนได้ชัดเจน
- Chrono System บริบทเชิงเวลา
- Marco System ระดับสังคมใหญ่ เช่น วัฒนธรรม ความเชื่อ มุมมอง
- Exo System ระดับที่ไม่ได้เกี่ยวกับเยาวชนโดยตรงแต่มีผลทางอ้อม เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ผู้ปกครอง นโยบายโรงเรียน
- Meso System ระดับที่ขยับเข้าใกล้เด็กมากขึ้น เช่น มูลนิธิสยามกัมมาจล
- Micro System คนใกล้ตัวมีอิทธิพลในการทำงานเชิงพัฒนาเด็กมาก เช่น เพื่อน ผู้ปกครอง พี่เลี้ยง ชาวบ้านในชุมชน
- NANO ระดับข้างในลึกสุด เช่น ความคิด ความอดกลั้น ทัศนคติ ซึ่งเป็นระดับที่ทำงานกับโลกภายในจิตใจของเยาวชน โดยความสัมพันธ์ในระดับนี้จะส่งผลให้เกิดสำนึกพลเมืองมากที่สุด
อดิศร อธิบายว่า สิ่งที่มักถูกมองข้ามไปในงานพัฒนาเยาวชน คือ ‘การมองเห็นว่าเด็กแตกต่างกัน’ เพราะเด็กทุกคนมีตัวตน มีต้นทุนความรู้ความสามารถ ทักษะเดิมติดตัว บุคลิกภาพที่เป็นปัจเจก ฉะนั้นการที่เยาวชนจะลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรบางอย่าง ต้องเริ่มต้นจาก ‘ตัวเอง’ ที่สนใจและเห็นความสำคัญกับเรื่องนั้น
ไม่ต่างจากกระบวนการที่นำไปใช้พัฒนาเยาวชนให้เป็น Active Citizen
เราจำเป็นจะต้องอาศัยองค์ประกอบ 3 ด้าน
หนึ่ง – Cognitive เด็กจะต้องมีความรู้ เข้าใจประเด็นในชุมชนที่ตัวเองทำ
สอง – Skill ทักษะต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงาน เช่น การเข้าหาแหล่งข่าวในชุมชน การสัมภาษณ์ วิธีจัดการต่างๆ ที่ทำให้งานของพวกเขาขับเคลื่อนไปถึงธงความสำเร็จให้ได้
สาม – Affective อารมณ์และความรู้สึก โดยเรามักหลงลืมความสำคัญของเรื่องนี้มากที่สุด แต่การทำให้เด็กรู้สึกมีส่วนร่วม รู้สึกอินกับเรื่องราวในชุมชนที่เขาทำงานด้วย จะทำให้ช่วยเขาไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
“ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดเมื่อต้องการสร้างการเรียนรู้ที่พัฒนาไปถึงขั้นสร้างจิตสำนึก เราต้องผลักดันให้เยาวชนได้เรียนในสิ่งที่เขาอยากเรียน และสิ่งนั้นควรเข้าไปทำงานในระดับ NANO เพื่อให้เด็กเชื่อมตัวเองเข้ากับสิ่งนั้นให้ได้ สุดท้ายทักษะที่ติดตัวเด็กออกไปคือการอยู่กับปัญหาให้เป็น ไม่หนี และความอดทนอดกลั้นต่อภาวะท้อแท้ (GRIT)”
เมื่อระเบิดพลังระดับ NANO แล้ว ขั้นตอนต่อไปในการทำโครงการเพื่อชุมชนคือ ฝึกวิเคราะห์สถานการณ์ชุมชนคิดวิเคราะห์โจทย์เพื่อแก้ปัญหา คิดวางแผน การแก้ปัญหา เรียนรู้การทํางานเป็นทีม ศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาของชุมชน โดยลงมือทําด้วยตัวเอง
รศ.ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล กล่าวถึง เบื้องหลังพฤติกรรมที่เป็นผลจากการเรียนรู้ของเยาวชนในโครงการ Active Citizen ว่าสามารถเชื่อมโยงกับความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ได้ โดยอธิบายผ่านมุมมองของการทำงานของสมองส่วนหน้า หรือ EF (Executive Function) ที่ทำหน้าที่กํากับ ทั้งด้านความคิด อารมณ์และการกระทํา นำไปสู่การจัดการชีวิต เพื่อให้เกิดพฤติกรรมที่มุ่งสู่เป้าหมาย มีผลทำให้ไม่ว่าจะทำสิ่งใดก็เสร็จลุล่วงทั้งกระบวนการ
ฉายภาพให้เข้าใจชัดๆ อ.นวลจันทร์ อธิบายว่า สมองส่วนหน้า (EF) สามารถเชื่อมโยงการทำงานของเยาวชนในโครงการ Active Citizen ได้อย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะส่วน working memory ดูแลเรื่องความจําขณะทํางาน, inhibit การหยุด การยับยั้ง, shift/cognitive flexibility การยืดหยุ่นความคิด, emotional control การควบคุมอารมณ์, plan/organize การวางแผนจัดการต่างๆ, initiate การเริ่มลงมือทํา, self-monitoring การเฝ้าติดตามดูและสะท้อนผลจากการกระทําของตนเอง, organize of material การจัดการข้าวของเครื่องใช้ และ task completion การทํางานให้เสร็จ
ซึ่งเด็กแต่ละคนมีพัฒนาการด้านสมองส่วนหน้า (EF) มากน้อยต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับสิ่งแวดล้อมและการเลี้ยงดูที่เปิดโอกาสให้เด็กได้คิด ตัดสินใจ ลงมือทำ ได้เผชิญปัญหา ได้คิดวิธีแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ผลจากการกระทำมากกว่า
ผลการประเมินพัฒนาการทางสมอง เมื่อเยาวชนได้เข้าร่วมโครงการ Active Citizen ผ่านเครื่องมือการวัดคลื่น P300 (คลื่นไฟฟ้าที่แสดงถึงการจดจ่อต่อตัวกระตุ้น) พบว่า เยาวชนในโครงการมีปัญหาความบกพร่องของ EF ลดลง มีความคิดยืดหยุ่นมากขึ้น มีการจดจ่อ ตอบสนองดีขึ้นทั้งในระยะยาวและสั้น เยาวชนสามารถกำกับตัวเอง มีความเพียร ไม่ย่อท้อ ให้ทำงานสำเร็จตามเป้าหมายได้ดีขึ้น ซึ่งผลการเปลี่ยนแปลงในคลื่นสมองแสดงให้เห็นว่า เมื่อเยาวชนต้องจดจ่อ ตัวกระตุ้นในการแยกแยะข้อมูลใหม่ๆ และความจำขณะทำงานจะดีขึ้น หรือมี working memory มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการจดจำข้อมูลจำนวนมากไว้ในใจและอัปเดตข้อมูลเก่ากับใหม่ได้ดีขึ้น
ฉะนั้นการทำโครงการเพื่อชุมชนจึงมีผลต่อพัฒนาการด้านสมองอย่างมีนัยยะสำคัญและอธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์
อ.นวลจันทร์ ทิ้งท้ายไว้ว่า การที่เด็กจะทำงานสำเร็จตามเป้าหมายสักชิ้น ควรต้องเริ่มที่ข้างในตัวเด็ก หมายถึง เด็กควรจะได้ทำในสิ่งที่เข้าสนใจเสียก่อน จากนั้นการที่เด็กจะกำกับตัวเองให้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำมาก่อนให้สำเร็จหรือการทำงานร่วมกับคนอื่น เด็กต้องใช้ทักษะการคิดบริหารจัดการ (EF) เกือบทุกด้าน เพื่อทำให้เขาจดจ่อและควบคุมตัวเองได้ หากเจอปัญหาหรือความท้อแท้ ครู โค้ช หรือพ่อแม่ คอยเป็นผู้เคียงข้าง ผลักดันให้เขามีกรอบคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) และสุดท้ายจะนำไปสู่การมี GRIT หรือความอดทน ไม่ย่อท้อในตัวเด็ก
เมื่อเข้าใจแล้วว่า วัยรุ่นขี้เบื่อ ท้อแล้วไม่อยากไปต่อ ทำงานไม่สำเร็จ คือพฤติกรรมตามธรรมชาติที่เกิดจากพัฒนาการทางสมองของพวกเขา คำถามคือเราจะมีวิธีหยิบฉวยโอกาสนี้ จับเอาพลังนั้นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม โดยเพิ่มพื้นที่ให้วัยรุ่นได้มีโอกาสเรียนในสิ่งที่เขาสนใจจริงๆ ผลักดันให้เขาหยิบธงของตัวเองขึ้นมาโบกเอง เพราะเชื่อว่าถ้าวัยรุ่นไปในทางที่เขาชอบ เขาจะไปได้ดี เขาจะคิดและวางแผน ไปถึงเป้าหมาย โดยไม่เบื่อ ไม่ท้อ และล้มเลิกไปเสียก่อน
แม้วัยรุ่นเป็นวัยที่ท้าทายต่อการรับมือ แต่หากมีการออกแบบการเรียนรู้ที่เหมาะกับพัฒนาการของเขา ท้าทายเพียงพอ และให้เขาได้เลือกเอง เป็นเจ้าของการเรียนรู้ โอกาสที่จะพลิกวัยรุ่นเป็นพลังศักยภาพมีมากมาย และทำได้ง่ายเพียงเปิดพื้นที่เรียนรู้ให้เขาได้คิด ได้ทำ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ทั้งในชุมชน หรือโรงเรียน เพียงแค่นี้เราก็จะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของวัยรุ่นได้