- เด็กหนุ่มคนนี้คิดว่ากิจกรรมนอกบ้านสนุกกว่าเวลาที่ใช้ไปกับเกมและหน้าจอมือถือ
- กิจกรรมที่ว่ากลายมาเป็นวิชาชีวิตที่ทำให้เขาหลงใหล และเปลี่ยนไปจากเด็กวันๆ เอาแต่นอนอยู่บ้าน กลายเป็นเด็กช่างค้นคว้าวิจัย ทำอะไรอย่างมีระบบ และกลายเป็นผู้นำ
- เคล็ดลับมีอยู่คำเดียวคือ G R I T
นิก-ธเนศ สร้อยทอง ก็เป็นวัยรุ่นคนหนึ่งที่ใช้เวลาอยู่หน้าจอมือถือ มากกว่ากิจกรรมอื่นๆ ในชีวิต โลกส่วนตัวจึงสูงปรี๊ด วันๆ ไม่ค่อยอยากออกไปไหน
แต่เมื่อนิกได้ลองก้าวเท้าออกนอกบ้านผ่านการชักชวนของคนใกล้ตัว สิ่งนั้นเปลี่ยนแปลงนิกไปมากมาย และเปลี่ยนไปในทางดีเสียด้วย
จากเด็กอยู่บ้านสู่เด็กกิจกรรม
นิกเป็นหนึ่งในเยาวชนที่ทำโครงการ ‘พาน้องศึกษาและเรียนรู้ประโยชน์จากทรัพยากรในท้องถิ่นสู่การขยายผลกับคนในชุมชนสหกรณ์เคหสถานเจริญมั่งมีมั่นคง จำกัด’ กลุ่ม P.N.D. ภายใต้ โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก
จากการชักชวนของ พี่แอล-วีรวรรณ ดวงแข หนึ่งในแกนนำเยาวชน และน้าแมว-นิภา บัวจันทร์ นักวิจัยท้องถิ่นและพี่เลี้ยงโครงการ นิกจึงได้มาทำงานกับกลุ่มเยาวชน P.N.D มีโอกาสช่วยทำงานกิจกรรมในชุมชน แล้วเกิดชอบและสนุกขึ้นมา เพราะอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไรอยู่แล้ว
“เมื่อก่อนผมอยู่บ้านแม่ นอนอยู่บ้านก็ไม่ค่อยทำอะไร อาบน้ำล้างหน้าก็เดินเล่นอยู่ในบ้าน แรกๆ นอนอยู่บ้าน พี่แมวโทรมาเย็นนี้มาหาหน่อย แรกๆ ก็ออกมาเรื่อยๆ นานๆ ครั้ง แล้วก็เริ่มบ่อยขึ้นๆ ตอนแรกไม่คิดอะไร เขาให้มาก็มา แต่ไปเรื่อยๆ พอทำๆ ไป ไปกับเขาบ่อยๆ มันเริ่มชอบกระบวนการในการทำกิจกรรมฝึกอบรม เหมือนมันฝึกเราหลายๆ อย่าง ทั้งการคิดเป็นระบบ เป็นเหตุเป็นผล เจอผู้ใหญ่ต้องทำยังไง วางตัวยังไง
“พอเราออกไปข้างนอกเราก็จะได้เจอสังคมที่กว้างขึ้น ตั้งแต่เพื่อนรุ่นเดียวกัน รุ่นน้องรุ่นพี่ ผู้ใหญ่ทำงานแล้วนั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน จะรู้ว่าวัยนี้เป็นแบบนี้ ความคิดประมาณนี้ ทำให้เรามีเพื่อนหลายๆ วัยเป็นเรื่องสนุก
“พอเราอยู่คนเดียวเราก็รู้แค่โลกของเรา ไม่ออกไปดูสังคมว่าเป็นยังไง เขาทำอะไรกันบ้าง ถ้าอยู่กับบ้านเฉยๆ ก็เหมือนปิดกั้นตัวเอง มีโอกาสแต่ไม่รับโอกาส ปล่อยให้มันผ่านไป”
วิชาชีวิตจากกิจกรรม
ในการทำกิจกรรมต่างๆ นั้นต้องใช้เวลาและใช้พลังงานเยอะมาก บางครั้งจำเป็นต้องไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมกว่าจะผลิตงานได้สักชิ้น นิกเล่ากระบวนการทำงานให้ฟังว่าเมื่อได้รับโจทย์งานผลิตสื่อ เขาเริ่มจากการค้นคว้าเพิ่มเติมโดยการเสิร์ชหาจากอินเทอร์เน็ต ถามครู เจออะไรใหม่ๆ ก็นำมาคุยกัน สนุกกับการได้แลกเปลี่ยนเพิ่มเติม แล้วแบ่งงานกันทำ
“ผมใช้ After Effect (โปรแกรมตัดต่อวิดีโอ) พี่แอลวางโครงเรื่องเขียนบทวางภาพ ทำโปรแกรมอิลลัส (Illustrator) ตามโครงที่พี่วางไว้ ก็สนุกดี นอนดึกบ้างไม่ได้นอนบ้าง” เมื่อถามว่าไม่ได้นอนขนาดไหน นิกตอบว่า “ช่วงหนักที่สุดทำงานตั้งแต่ 5 โมงเช้า เสร็จอีกที 5 โมงเย็นอีกวันไม่นอน ยาวยันเช้า เช้าก็มีงานต่อ ไม่ได้นอน”
แม้ตัวขั้นตอนการทำงานอาจดูเหมือนยากเพราะต้องไปค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมมากมาย แต่นิกไม่ได้คิดว่ายาก แต่รู้สึกอยากทำและมองว่าเป็นความท้าทายมากกว่า นอกจากนี้ยังต้องทำให้เสร็จทันด้วยเพราะรับปากไว้แล้ว
“เวลาจะทำสื่อสักชิ้นเราต้องมาหาข้อมูลมาก่อน ต้องมีข้อมูลแล้วเราต้องอ่านรู้เรื่อง กลั่นกรอง ได้ฝึกคิดว่าอันนี้สำคัญ แล้วก็แปลข้อความเป็นภาพ จะสื่อมันออกมายังไง ฝึกคิดจินตนาการ ท้าทายด้วย เรามองแบบนี้คนอื่นจะมองแบบเราไหม เข้าใจแบบเราไหม มันยากด้วย คือเราทำไปก็ไม่รู้ว่าเข้าใจเหมือนเราไหม เขาอาจคิดตีความไปอีกแบบ”
“รู้สึกต้องทำให้เสร็จ งานมันต้องใช้ เป็นหน้าที่ของเราด้วย เขาให้เราทำแล้ว ก็ต้องทำให้เสร็จ และมันเป็นสิ่งที่ต้องใช้งาน”
หัวหน้าที่ชื่อนิก
จากเด็กเก็บตัวเงียบๆ นิกกลายเป็นคนที่กล้าคิดกล้าแสดงออกมากขึ้น กล้าพูดคุยกับคนอื่นมากขึ้น ครูเห็นศักยภาพในตัวนิกก็ไว้ใจให้ช่วยทำงานในโรงเรียน นอกจากนี้นิกยังผันตัวเองเป็นหัวหน้าห้องและเป็นประธานนักเรียนในโรงเรียนตอนมัธยมต้นอีกด้วย
และเมื่อก้าวเข้าสู่รั้ววิทยาลัย ปัจจุบันนิกกำลังศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยเทคนิคสมุทรสงคราม สาขาเทคนิคคอมพิวเตอร์
นิกก็ไม่พ้นหน้าที่เป็นหัวหน้าห้องอีกเช่นเคย โดยเริ่มต้นจากการช่วยสะสางงานในห้องเรียน
“เกือบตกกิจกรรมยกห้องเพราะ (หัวหน้าคนเก่า) ไม่ตามเอกสาร ผมก็ตามเองเลย เพราะถ้าไม่จัดการตกแน่ ก็ไปตามกับเพื่อนอีกคนสองคน วันนั้นเลิกเรียนเก้าโมงเช้า มีแต่โฮมรูม ได้กลับบ้านสี่โมงเย็น เพราะตามเอกสารที่หัวหน้าค้างไว้
การเป็นหัวหน้าห้องในช่วงแรกของนิกไม่ได้สะดวกสบายนัก เพราะต้องจัดการธุระต่างๆ มากมายเพียงลำพังจนเหนื่อย นิกจึงเริ่มเปลี่ยนกลยุทธ์ให้ตัวเองเหนื่อยน้อยลงด้วยการแบ่งงานให้เพื่อนทำบ้าง
“หลังๆ ก็ค่อยออกมาทีละนิด จากจัดการให้ทุกอย่างก็ขยับมาจัดการทีละนิด ก็ค่อยๆ ออก ว่ากูไม่ว่าง ให้ทำไปเดี๋ยวกูช่วย ค่อยๆ ถอยออกมาจากรับงานเต็มๆ ให้เพื่อนช่วยจัดการตัวเอง ให้มึงลองทำก่อนบอกว่าทำไม่ได้ มันก็นั่งทำกันมา”
การผ่านงานกิจกรรมมาแล้วทำให้นิกมีมุมมองที่แตกต่างจากเพื่อนในวัยเดียวกันอย่างเห็นได้ชัด เช่นการไม่ยอมโดดเรียนตามเพื่อน และช่วงหลังๆ ยังคอยช่วยดึงเพื่อนๆ ไม่ให้โดดเรียนอีกด้วย
“บางอย่างเรามองอย่างแต่เพื่อนมองอีกอย่าง อย่างในวิทยาลัย เพื่อนชวนโดดเรียน แล้วเป็นคาบเรียนสำคัญด้วยถ้ามีสอบก็หักคะแนนสองเด้ง ตอนแรกไปก็ไป แต่พอเห็นว่างานนี้สองคะแนน ไม่เอาก็ได้ แต่สองคะแนนยังไม่เอาเลย ถ้าอาจารย์ให้สองคะแนนไปเรื่อยๆ งานต่อไปไม่ทำก็ไม่มีคะแนน ก็ประกาศผลจากคะแนนเก็บเต็ม 60 ก็ 9 16 เห็นมั้ยกูบอกมึงแล้ว”
“ตอนแรกๆ ก็ช่างมันปล่อยมัน แต่หลังๆ คนไหนที่ผมพอจะชวนดึงไว้ได้ก็ดึง ไว้ผมทนไม่ไหวก็บอกให้ไปหา ผอ. ลาออกไปเลย เรียนก็เรียนกะเขา ไม่เรียนเงินเดือนเขาก็ไม่ได้ลด เขาก็ยิ่งสบายไม่ต้องปวดหัวกับเรา ก็พูดกับมันอย่างนั้น เพื่อนๆ เลยเรียกผมว่าไอ้พระ ชอบเทศน์”
“ที่ไม่โดดเรียนเพราะไม่อยากเสียเวลา ตกก็แค่ซ่อมแต่เสียเวลา ลำบากตอนนี้ดีกว่าไปลำบากตอนหน้า”
เคล็ดลับที่เรียกว่า Grit
ฟังเรื่องราวของนิกแล้ว สิ่งที่ทำให้นิกแตกต่างจากคนอื่นคือ ความมุมานะ (grit) ซึ่งหมายถึงความมุมานะต่อเนื่องเพื่อบรรลุเป้าหมายยิ่งใหญ่ในระยะยาวที่ประกอบด้วยพลังความชอบระดับหลงใหล (passion) กับความอดทนมานะพยายามไม่ท้อถอย (perseverance) โดยพลังของ grit นั้นการฝึกฝนเฉยๆ ไม่เพียงพอ แต่ต้องเป็นคุณภาพการฝึกฝนที่ถูกต้อง ได้แก่
- มีเป้าหมายที่ยากแต่ชัดเจน
- ฝึกอย่างมีสมาธิและพยายามเต็มที่
- มี feedback ทันทีอย่างมีข้อมูลหลักฐาน
- ฝึกซ้ำโดยมีการไตร่ตรองสะท้อนคิดและหาทางปรับปรุง
การมีพื้นที่ให้ grit ออกกำลังคือการส่งเสริมให้ฝึกฝนเรียนรู้สิ่งที่ยาก ต้องพยายามและมานะอดทน อย่างเช่นการทำกิจกรรมโครงการที่เป็นการเรียนรู้แบบ Project-based Learning เหมือนกับนิกที่เรียนรู้วิธีต่างๆ ในการผลิตสื่อ และทำชิ้นงานออกมาจนสำเร็จลุล่วง รวมไปถึงการติดต่อสื่อสารพูดคุยกับคนอื่นๆ เพื่อหาประสบการณ์และฟีดแบ็ค
ที่สำคัญ นิกค้นพบความชอบของตนเองจากการทำกิจกรรม และผลจากการทำกิจกรรมนี้ก็ชัดเจนยิ่งขึ้นเมื่อนิกเข้าสู่การเรียนในชั้นปีที่สูงขึ้นคือรู้จักคิดและไตร่ตรองในระยะยาว ยอมอดทนไม่โดดเรียนและทำงานหนักเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ใหญ่กว่านั้น อนาคตนิกบอกว่าอยากทำงานด้านสื่อ และตั้งใจว่าจะต้องเรียนจบชั้น ปวช.3 ให้ได้