- ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้เป็นแค่พรสวรรค์ แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายของใครหลายคน แต่อย่าเพิ่งถอดใจ เพราะกระบวนการคิดสร้างสรรค์ ฝึกได้ด้วยการใช้งานสมองให้ถูกวิธี
- 5 ขั้นตอนที่จะนำไปสู่ความคิดสร้างสรรค์ ได้แก่ การเตรียมข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆ การบ่มเพาะ การมองทะลุ การประเมินผล และการลงมือทำ
- เมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหา อย่าหนีแต่จงถอยมาตั้งหลักด้วยการพักและผ่อนคลายแทนที่จะจมอยู่กับวังวนแห่งการคิดไม่ออกนั้น
หลายครั้งที่เราพยายามคิดให้ออกอย่างสร้างสรรค์ แต่ก็มีจุดติดขัดอย่างหนึ่งที่เบรกเราไว้ได้เสมอ อย่างคำถามทำนองว่า “เอ๊ะ…แล้วจะเริ่มจากตรงไหน?” หรือบางครั้งคิดออกแล้ว แต่กลับเป็นไอเดียมากมายที่กระจัดกระจายจนจับต้นชนปลายไม่ถูก
แย่แล้ววววววว…ช่วยด้วยยยยยยย! เจอแบบนี้ทุกทีจะทำยังไงดีนะ?
การเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์อาจไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับบางคน แต่! ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องถอดใจเช่นกัน นักวิทยาศาสตร์บอกเราว่ากระบวนการคิดสร้างสรรค์ (creative process) ฝึกฝนได้ ด้วยการใช้งานสมองให้ถูกวิธี
ในบทความเรื่อง ‘For a More Creative Brain Follow These 5 Steps’ เจมส์ เคลียร์ (James Clear) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนิสัย เจ้าของหนังสือ ‘Atomic Habits’ ได้แนะนำกระบวนการคิดให้สมองทำงานได้อย่างสร้างสรรค์กว่าที่เป็นอยู่ เขานำเสนอตัวอย่างกระบวนการคิดค้นของนักประดิษฐ์ชาวอเมริกันที่ช่วยให้เห็นภาพ และเข้าใจขั้นตอนสำคัญของกระบวนการคิดสร้างสรรค์ได้ชัดเจนขึ้น
ช่วงปี ค.ศ. 1870 กิจการหนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น สมัยนั้นภาพถ่ายยังเป็นสื่อใหม่และน่าตื่นเต้น ผู้อ่านต้องการเห็นภาพปรากฏในสื่อสิ่งพิมพ์ประกอบกับตัวหนังสือ แต่ยังไม่มีใครคิดวิธีการลดต้นทุนการพิมพ์ตัวหนังสือพร้อมภาพ และพิมพ์ให้ได้เร็วขึ้นในราคาที่ถูกลงได้
ตอนนั้นหากอยากพิมพ์ภาพสักภาพลงในหนังสือพิมพ์ สิ่งที่ต้องทำคือให้ช่างแกะสลักภาพลงบนแผ่นเหล็กด้วยมือ เพื่อใช้เป็นแม่แบบในการพิมพ์ ย้ำอีกครั้ง แกะ…สลัก…ภาพ…บน…แผ่นเหล็ก….ด้วยมือ!! แต่แม่แบบนี้มักหักหรือชำรุดหลังผ่านการใช้ไม่กี่ครั้ง ขั้นตอนนี้จึงต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายมหาศาล
และแล้วก็มีผู้กล้าถือกำเนิดขึ้น ผู้คิดค้นวิธีแก้ปัญหานี้มีชื่อว่า เฟรเดอริค อี. ไอฟส์ (Frederic E. Ives) นักประดิษฐ์ชาวอเมริกัน เขากลายเป็นผู้บุกเบิกด้านการถ่ายภาพและได้รับสิทธิบัตรรวมกว่า 70 ฉบับเมื่อสิ้นสุดการทำงานในชีวิต
ไอฟส์เริ่มต้นงานของเขาจากการเป็นเด็กฝึกงานที่โรงพิมพ์แห่งหนึ่งในเมืองอิธาคา นิวยอร์ค (Ithaca, New York) สองปีหลังจากได้เรียนรู้ขั้นตอนการพิมพ์ เขาหันมาดูแลแล็บภาพถ่ายใกล้มหาวิทยาลัยคอร์เนล (Cornell University) ไอฟส์ใช้เวลาในห้องแล็บกว่า 10 ปี ทดลองเพิ่มเติม เพื่อหาเทคนิคการถ่ายภาพใหม่ๆ ศึกษาเรื่องกล้อง การพิมพ์ และการใช้เลนส์ เขาค้นพบหลักการพิมพ์แบบฮาล์ฟโทน (Halftone) แล้วพัฒนาจนสำเร็จออกมาเป็นเทคนิคการพิมพ์ที่ดีกว่าเดิมได้ ในปี ค.ศ. 1881 ลดทั้งต้นทุนและพิมพ์ได้เร็วขึ้น
“ขณะที่ง่วนอยู่กับกระบวนการทำแผ่นพิมพ์ภาพถ่ายที่อิธาคา ผมได้ศึกษาปัญหาที่เกิดขึ้นกับการพิมพ์แบบฮาล์ฟโทน” ไอฟส์ กล่าวต่อว่า “ผมเข้านอนทั้งๆ ที่ยังคิดถึงปัญหาเรื่องนี้อยู่ มันเหมือนเป็นหมอกจางๆ อยู่ในสมอง และทันทีที่ผมตื่นขึ้นมาในตอนเช้าวันหนึ่ง เหมือนคำตอบทุกอย่างฉายภาพชัดอยู่บนเพดาน ทั้งกระบวนการและอุปกรณ์ที่จะต้องใช้เพื่อแก้ปัญหานั้น ผมรู้แล้วว่าต้องทำยังไงต่อ”
ไอฟส์แปลงภาพที่เห็นในหัวให้กลายเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เขาจดสิทธิบัตรวิธีการพิมพ์ของเขาในปี ค.ศ. 1881 ยังไม่พอ…เขาใช้เวลาปรับปรุงและพัฒนาขั้นตอนต่างๆ ให้ดีขึ้น จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1885 ก็ได้คิดค้นวิธีการพิมพ์ที่เรียบง่ายแต่ได้ผลดีกว่าจนสำเร็จ เทคนิคการพิมพ์ของเขาเป็นที่รู้จักและนิยมอย่างแพร่หลาย เพราะช่วยลดต้นทุนการพิมพ์ได้ถึง 15 เท่า และเป็นเทคนิคการพิมพ์ที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องในช่วง 80 ปีถัดจากนั้น
เราเห็นอะไรบ้างในกระบวนการทำงานของไอฟส์?
ไอฟส์สั่งสมประสบการณ์ ข้อมูล และเทคนิควิธีการด้านภาพถ่ายและการพิมพ์มากมาย ทั้งจากการฝึกงานและการค้นคว้าทดลองในห้องแล็บ สิ่งเหล่านี้เป็นวัตถุดิบสำคัญในการคิดต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ
ไม่จบแค่นั้นเขาทดลองแล้วทดลองอีกด้วยวิธีการต่างๆ เรียกได้ว่าหมกมุ่นกับสิ่งที่ทำเพื่อคิดค้นและพัฒนาวิธีการที่ง่ายและดีที่สุด
แต่เมื่อเจออุปสรรคหรือปัญหา ไอฟส์ไม่หนีแต่ถอยมาตั้งหลักด้วยการพักและผ่อนคลายแทนที่จะจมอยู่กับปัญหานั้น
อย่างที่เขาบอก เขาหลับ แล้วความรู้สึกโล่งโปร่งสบายนั้นเองที่ทำให้เขาเจอกับทางออก
และสุดท้ายแม้ได้คำตอบที่ตามหามานาน เขายังคงทดสอบและปรับปรุง จนพัฒนากระบวนการที่ดีกว่าได้อีก เรื่องนี้เป็นอีกส่วนหนึ่งที่มักถูกมองข้าม เมื่อกระบวนการคิดสร้างสรรค์เติบโต อย่าหยุดหรือพอใจเพียงแค่คำตอบเดียว เราดีใจและภูมิใจกับสิ่งที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ได้ แต่ไอเดียที่ดีกว่าก็เกิดขึ้นได้จากรากฐานความคิดเดิมเช่นกัน เพราะกระบวนการคิดสร้างสรรค์เป็นการผสมผสานของความคิดหรือไอเดียที่มีอยู่เดิม เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการมองให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างข้อมูล ประสบการณ์และความคิดต่างๆ ที่มีอยู่ในสมอง
เจมส์ เทย์เลอร์ (James Taylor) อีกหนึ่งนักพูด นักเขียน และผู้ประกอบการ ที่มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อช่วยเหลือผู้คนและองค์กรต่างๆ ให้เติบโต สร้างตลาด และสร้างรายได้จากความคิดสร้างสรรค์ที่เขาเชื่อว่าทุกคนมีอยู่แล้วในตัวเอง สรุปกระบวนการคิดสร้างสรรค์ไว้ 5 ขั้นตอน ได้แก่
- การเตรียมข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆ (Preparation)
- การบ่มเพาะ (Incubation)
- การมองทะลุ (Insight)
- การประเมินผล (Evaluation)
- การลงมือทำ (Elaboration)
เห็นได้ว่าสิ่งที่ไอฟส์คิดและลงมือทำจนกลายเป็นนวัตกรรมแห่งยุคสมัย สอดคล้องกับกระบวนการคิดสร้างสรรค์ที่เทย์เลอร์พูดถึง
ขั้นตอนแรก การเตรียมข้อมูลและวัตถุดิบต่างๆ (Preparation)
ลองคิดถึงสิ่งที่อยากทำ ยิ่งมีข้อมูลและประสบการณ์จากการศึกษาและลองผิดลองถูกมากเท่าไหร่ ความท้าทายที่อยากพิชิตไอเดียใหม่ก็ยิ่งมีความเป็นไปได้ หากเป็นนักเขียนก็ต้องอ่านและเขียนเยอะๆ หากเป็นนักดนตรีก็ต้องฝึกฝนและฟังดนตรีหลากหลายประเภท หากเป็นผู้ประกอบการ การศึกษาโมเดลธุรกิจที่ดีของคนอื่นก็เป็นประโยชน์ หากเป็นศิลปินก็ต้องหาแรงบันดาลใจจากโลกกว้าง
ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่อาจใช้เวลาพอสมควรในการสั่งสมประสบการณ์ความรู้ เช่นเดียวกับไอฟส์ที่ใช้ประสบการณ์และความรู้ ทั้งจากการฝึกงานและการทดลองในแล็บ ตั้งแต่ช่วงต้นการทำงานของเขาร่วม 10 ปี
ขั้นที่สอง การบ่มเพาะ (Incubation)
หลังจากขลุกอยู่กับสิ่งที่สนใจ เป้าหมาย และความท้าทายมาพอสมควร ขั้นตอนนี้เป็นการปล่อยวางตัวเองจากข้อมูลและประสบการณ์ที่มี เพื่อเปิดพื้นที่ให้ความคิดใหม่ได้แตกยอด
เทย์เลอร์ ยกตัวอย่างนักเขียนที่ร่างต้นฉบับหรือวางโครงเรื่องงานเขียนสักชิ้นหนึ่งไว้ แล้วเก็บต้นฉบับนั้นใส่ลิ้นชักสักช่วงเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นถึงค่อยกลับมาดูร่างต้นฉบับนั้นอีกครั้งเพื่อปรับปรุงให้ดีขึ้น บางคนอาจขอแค่เวลาพัก ไปนอนแล้วกลับมาคิดต่อในวันรุ่งขึ้น ขั้นตอนบ่มเพาะนี้ไม่มีระยะเวลาแน่นอน อาจเป็นวัน เป็นสัปดาห์ เป็นเดือนหรือเป็นปีก็ได้
ขั้นที่สาม มองทะลุ (Insight)
เป็นโมเมนต์ที่จู่ๆ ไอเดีย ก็ผุดขึ้นมาเหมือนเปิดหลอดไฟ หรือ aha! โมเมนต์ ซึ่งมักเกิดขึ้นเมื่ออยู่ในสภาวะที่ไม่เร่งรีบ และทำกิจกรรมที่ใช้พลังงานต่ำ (low level activity) เป็นช่วงเวลาที่เกิดขึ้นต่อเนื่องมาจากขั้นตอนการบ่มเพาะ
จำได้ไหมว่าไอฟส์ใช้วิธีไปนอนพัก แล้วตื่นขึ้นมาพร้อมไอเดียที่ทำให้เกิดเทคนิคฮาล์ฟโทนสำหรับการพิมพ์ภาพเป็นครั้งแรก เขามองทะลุเมื่อหยุดหมกมุ่นครุ่นคิดแล้วไปนอน
หลายคนบอกว่า ความคิดสร้างสรรค์มักโผล่มาตอนกำลังอาบน้ำ ตอนเปลี่ยนบรรยากาศจากห้องทำงานออกไปเดินเล่นในสวน ดังนั้น เมื่อรู้สึกว่าความคิดเริ่มตันไปต่อไม่ถูก แทนที่จะฝืนตัวเองอยู่กับโต๊ะทำงาน ให้เปลี่ยนบรรยากาศออกไปเดินชมนกชมไม้ ไปออกกำลังกาย หรือนอนดีกว่า
ขั้นที่สี่ ประเมินผล (Evaluation)
เป็นขั้นตอนตรวจสอบเพื่อตัดสินใจว่าสิ่งที่คิดนั้นคู่ควรแก่การทุ่มเทแรงกาย แรงใจและเวลาทำต่อหรือไม่ นอกจากการเปิดพื้นที่ให้ตัวเองได้คิดไตร่ตรองแล้ว คนรอบข้างที่ไว้ใจได้และเข้าใจสามารถมีส่วนร่วมในขั้นตอนนี้ แต่ข้อควรระวังคือ ต้องเลือกที่ปรึกษาที่เชื่อถือได้ และมีความเข้าใจในสิ่งที่เราทำ แม้แต่ไอฟส์เอง เขาใช้เวลาลองผิดลองถูกดู ทดสอบ และปรับปรุง ไอเดียแรกที่เขาคิดขึ้นได้อยู่หลายครั้ง จนในที่สุดก็ค้นพบวิธีการใหม่ที่ดีและเรียบง่ายกว่าวิธีการแรกที่คิดออก
หากเขายึดติดกับความคิดแรกมากเกินไป ความคิดที่ดีกว่าอาจไม่มีโอกาสได้ผลิบานก็เป็นได้
ขั้นที่ห้า ลงมือทำ (Elaboration)
หลายคนได้แค่คิดแต่ไม่ทำ เมื่อไม่ทำก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น!
นี่เป็นที่มาของประโยคที่บอกว่า “1% มาจากแรงบันดาลใจ ส่วนอีก 99% มาจากการลงมือลงแรงทำ” ความคิดสร้างสรรค์ไม่ใช่สิ่งมหัศจรรย์ที่คิดแล้วเกิดขึ้นได้ทันที
กระบวนการคิดสร้างสรรค์มีแนวทางให้ฝึกฝน – คิด พัก ทดลอง วิเคราะห์ วิจารณ์ พิจารณา แล้วลงมือทำ
อย่างไรก็ตาม กระบวนการ 5 ขั้นตอนนี้ไม่จำเป็นต้องคิดแบบเรียงลำดับ หนึ่ง สอง สาม สี่ และห้า แบบตายตัว ปล่อยให้ความคิดเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ จะเริ่มลงมือทำก่อน เกิดประสบการณ์ จนผุดไอเดียขึ้นมาก็ได้ หรือจะ “อ๋อ!”…ก่อน แล้วไปทดลองทำดูว่าที่ “อ๋อ” นั้นได้ผลจริงหรือเปล่า แบบนั้นก็ไม่ผิด…
“Being creative isn’t about being the first (or only) person to think of an idea. More often, creativity is about connecting ideas.” James Clear
“การเป็นคนมีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้หมายถึงการเป็นคนแรกที่คิดได้เสมอไป ความคิดสร้างสรรค์ คือ การเชื่อมต่อกันระหว่างความคิด” เจมส์ เคลียร์ กล่าวไว้
หมายเหตุ – ฮาล์ฟโทน (Halftone) เป็นหลักการพิมพ์ภาพที่แปลงภาพต้นฉบับเดิมให้เป็นภาพที่เกิดขึ้นจากการประกอบกันของจุดสีดำเล็กๆ หากมองเข้าไปใกล้ๆ เราจะเห็นจุดสีดำเล็กๆ บนภาพ แต่เมื่อมองในระยะสายตา จุดสีดำจะกลืนกันมองเห็นเป็นภาพเฉดสีขาวดำที่ชัดเจนขึ้น – เจมส์ เคลียร์ (James Clear) ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างนิสัย เจ้าของหนังสือ ‘Atomic Habits’ ที่เปิดเผยกลยุทธ์การสร้างนิสัยที่ดี รวมทั้งการกำจัดจุดอ่อนซึ่งเป็นข้อบกพร่อง และนำเสนอแนวทางปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กๆ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์อันน่าทึ่ง นอกจากนี้เขายังเป็นผู้ประกอบการ และช่างภาพที่ตระเวนไปถ่ายภาพมาแล้วกว่า 30 ประเทศทั่วโลก |