- จากเด็กที่ว่างเป็นเล่นเกม กลายเป็นเด็กช่างสงสัยและลงไปทำงานช่วยแม่ช่วยชุมชน
- ไม่ต้องเสียเงินให้กับคอร์สเรียนไหนๆ ‘ทักษะชีวิต’ ของเด็กก็สร้างได้ ขอแค่มีใจและลงมือทำ
- สำคัญคือพ่อแม่ – แค่ทำหน้าที่กองหลังชั้นดี
สำหรับบางคน ‘โอกาส’ คือสิ่งที่ได้มาฟรีๆ แต่อีกหลายคนต้องทุ่มไม่รู้กี่หน้าตักกว่าจะได้มาสัก 1 ครั้ง
โดยเฉพาะคนเป็นพ่อเป็นแม่ อะไรก็ตามที่สร้างโอกาสให้ลูก แม้เพียงน้อยนิด ถ้าพอมีกำลังก็ไม่เสียเวลาคิดนาน ขอแค่ให้ลูกมีความสามารถและทักษะสองสามอย่างติดตัวก็ยังดี
หากทักษะอย่างหนึ่งซึ่งรวย-จนไม่อาจซื้อได้ แต่แลกได้โดยใช้ตัวและประสบการณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘ทักษะชีวิต’ ที่จะทำให้เด็กๆ สามารถรับมือกับปัญหา อุปสรรคที่จะผ่านเข้ามา ปรับตัวอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างเป็นสุข และทำตัวเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม
คุณแม่ลูก 4 คนหนึ่งพิสูจน์มาแล้ว
แม่ผู้คิดต่าง
วันเพ็ญ ยากำจัด เกษตรกรในตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี และเป็นแม่ของลูก 4 คน เธอไม่ต่างจากแม่ทั่วไปที่ห่วงและกังวล เวลาเห็นลูกใช้เวลาว่างหมดไปกับการเล่นเกม และเก็บตัวอยู่แต่ในบ้านหลังกลับจากโรงเรียนและในวันหยุด ทั้งที่ตัวเธอเองทุ่มเททำงานเพื่อชุมชนในการแก้ปัญหาการบริหารจัดการน้ำอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย
“เมื่อก่อนเราไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรกับงานชุมชน แต่พอพ่อของเราตั้งคำถามว่า เขาทำอะไรกันรู้ไหม เราก็เลยลองไปดู ไปช่วย จนเรามีความรู้เพราะลงมือทำมานาน เวลาชาวบ้านคนอื่นมาถามว่าทำไมวันนี้น้ำไม่ไหล น้ำไม่พอ เราตอบได้ทันที และทำให้รู้สึกว่า ชาวบ้านคนอื่นเขาให้การยอมรับว่าเราเป็นคนหนึ่งที่ทำงานช่วยชุมชน มีความรู้เรื่องชุมชน อีกอย่างที่นี่เป็นบ้านของเราด้วย ทำแล้วสุดท้ายประโยชน์ก็ตกกับครอบครัว ชุมชนของเรา ตัวเราเองก็มีความสุขที่ได้ทำเพื่อบ้านของเรา”
แน่นอน เธอเรียนรู้แล้วว่าการเรียนรู้จากการลงมือทำ ได้สัมผัสสถานการณ์จริงนั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เธอได้ แต่ความภูมิใจของวันเพ็ญกลับได้รับการตั้งคำถามจากลูกว่า “ทำไปทำไม ทำแล้วก็ไม่ได้เงิน”
คำพูดจากคนใกล้ตัวประโยคนี้ทำให้วันเพ็ญเจ็บปวดมาก แม้จะพยายามอธิบาย ลูกก็ไม่รับฟัง ทว่าด้วยความเชื่อมั่นในการเรียนรู้จากการลงมือทำ วันเพ็ญจึงเดินหน้างานของเธอต่อ พร้อมกับพยายามมองหา “โอกาส” ที่นอกเหนือจากวิชาความรู้ที่ได้จากการเรียนในห้องเรียน ซึ่งจะสร้างการเรียนรู้ให้ลูกเกิดทักษะการทำงาน การอยู่ร่วมกับผู้อื่น และมีความเสียสละ
กระทั่งวันเพ็ญได้รับฟังเพื่อนที่ทำงานเพื่อชุมชนด้วยกันเล่าถึง โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก โครงการที่เปิดพื้นที่ให้เด็กทำโครงการพัฒนาหรือแก้ปัญหาในชุมชนบ้านเกิด โดยเน้นให้เด็กเป็นคนคิด แล้วลงมือทำจริงด้วยตัวเองทั้งหมด วันเพ็ญจึงเห็นว่านี่อาจเป็นโอกาสพัฒนาลูกที่เธอกำลังมองหา แต่การผลักดันลูกครั้งนี้ไม่ง่าย เพราะแรงต้านที่มีอยู่แล้วของเด็กๆ วันเพ็ญจึงตัดสินใจจ้างลูกคนเล็ก 2 คน คือ กบ-วนิตา ยากำจัด และกุ้ง-อภิสิทธ์ ยากำจัด ตามรายได้ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ให้ลองไปเข้าร่วมประชุมด้วยความหวังว่าอย่างน้อยลูกจะได้เห็นว่าเขาทำอะไรกัน
หลังกลับจากการประชุม สิ่งที่วันเพ็ญได้รับฟังจากลูกกลับเกินคาดกว่าที่เธอคิด “พอเขากลับจากประชุม เขาก็บอกว่า แม่ไม่ต้องจ้างแล้ว ไม่เอาเงินแล้ว เพราะความรู้ที่ได้มีค่ามากกว่าเงินที่แม่ให้อีก” วันเพ็ญบอกว่านั่นเป็นคำพูดแรกจากลูกที่ทำให้รู้สึกตื้นตันใจและมีกำลังใจที่จะส่งเสริมลูกต่อ
กบ ผู้เป็นลูกสาวเล่าว่า กิจกรรมที่เธอได้เข้าร่วมเป็นเวทีที่พี่เลี้ยงชุมชนมาทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการและให้ลองลงมือเก็บข้อมูลทุนที่มีในชุมชน จากตอนแรกที่กบคิดว่าเรื่องที่จะไปฟังคงเป็นเรื่องของแม่ เรื่องของชุมชนเท่านั้น แต่เธอกลับได้รู้จักชุมชนมากขึ้น ได้เรียนรู้การพูดคุยชาวบ้านและคิดวิเคราะห์คำตอบ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อตัวเธอเอง
บทเรียนที่ลูกได้
หลังจากเห็นประโยชน์ของการทำกิจกรรมในโครงการ กบและกุ้งจึงเต็มใจที่จะไปทำกิจกรรมครั้งต่อมา กระทั่งเกิดเป็น “โครงการน้ำต่อชีวิต” ที่เด็กๆ ตั้งเป้าหมายว่าอยากเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการน้ำร่วมกับทีมผู้ใหญ่ แล้วนำข้อมูลที่ได้ไปเผยแพร่แก่คนในชุมชน เพื่อตอกย้ำให้ชาวบ้านเข้าใจสถานการณ์การใช้น้ำของชุมชนจากอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย
เงื่อนไขสำคัญหนึ่งในกระบวนการทำงานของโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ คือการลงพื้นที่เก็บข้อมูลชุมชนจากคนในชุมชน เพื่อให้เด็กรู้จักชุมชนตัวเองมากขึ้นทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นและสิ่งดีๆ ที่มีอยู่ในชุมชน แล้วนำมาเป็นโจทย์หรือปัจจัยสนับสนุนการทำโครงการ โดยการลงพื้นที่ของกบ กุ้งและเพื่อนๆ จะเป็นการเก็บข้อมูลประวัติความเป็นมาของชุมชน วิถีชีวิต อาชีพ รวมถึงสภาพภูมิศาสตร์ของพื้นที่ทั้ง 14 หมู่บ้าน ซึ่งเด็กๆ ได้รับความร่วมมือค่อนข้างดีจากคนส่วนใหญ่ในชุมชน กบเล่าว่า
“การลงพื้นที่เก็บข้อมูลทำให้เราได้รู้ที่มาที่ไปของชุมชน อาชีพของคนในชุมชน และสภาพภูมิประเทศ เส้นทางน้ำของตำบลด้วย แต่สิ่งที่หนูคิดว่าได้กับตัวหนูมาก คือทำให้เราได้คุยกับคนในชุมชนมากขึ้น ได้รู้จักคนในชุมชนว่าใครเป็นใคร ทั้งที่บ้านเราอยู่ห่างกันไม่มาก แต่เมื่อก่อนกลับไม่ได้พูดคุยกันเลย”
นอกจากได้เรียนรู้ผ่านการทำงานในชุมชนแล้ว เด็กๆ ยังได้เรียนรู้ร่วมกับเพื่อนทีมอื่นในโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ในเวทีเวิร์คช็อปที่ช่วยเติมศักยภาพและทักษะเรื่องต่างๆ เช่น การปลูกฝังสำนึกพลเมือง การฝึกทักษะการบริหารจัดการโครงการ ทักษะการพูดและการนำเสนอ มนุษยสัมพันธ์และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม ผ่านการทำกิจกรรมสันทนาการ การเล่นเกม การคิดวิเคราะห์ตามโจทย์ในแต่ละครั้ง แล้วนำเสนอให้เพื่อนๆ และพี่เลี้ยงฟังเด็กๆ ทำให้กบและกุ้งได้พัฒนาตัวเองไปทีละขั้น
“เวทีเวิร์คช็อปช่วยพัฒนาศักยภาพของหนูขึ้นทีละนิด จากไม่เคยกล้าพูดเลย ก็กล้ากลับมาพูดที่บ้าน เล่าให้พ่อแม่ฟังว่าได้ไปทำอะไรบ้าง จากนั้นก็เริ่มกล้าจับไมค์พูดในเวทีคืนข้อมูลที่เราจัดในชุมชน เหมือนกับว่าเราไปเก็บเกี่ยวความรู้และฝึกฝนตัวเองจากเวทีเวิร์คช็อป แล้วนำสิ่งที่ได้กลับมาลองใช้จริงที่ชุมชน”
ครอบครัวหัวใจเดียวกัน
ผลสำเร็จของโครงการน้ำต่อชีวิตเผยชัดเจนใน “เวทีคืนข้อมูลให้ชุมชน” ที่เด็กๆ ได้นำข้อมูลจากการลงพื้นที่ในชุมชนมาถ่ายทอดกิจกรรมให้ชาวบ้านด้วยความมั่นใจ เพราะผ่านการฝึกฝนทักษะการพูด การนำเสนอ และมีความรู้ที่เข้าใจจากการลงมือทำจริง โดยเด็กๆ ได้สร้างสรรค์เกมชื่อ “เติมให้เต็ม” ผู้ใหญ่เล่นได้เด็กก็สนุก
เนื้อหาของเกมสื่อถึงพฤติกรรมการใช้น้ำของคนในชุมชน จากนั้นพวกเขาชวนสรุปสิ่งที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนได้เรียนรู้ และร่วมกันหาแนวทางการรักษาทรัพยากรน้ำ ซึ่งช่วยให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่า ทุกคนต้องใช้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค หากไม่ร่วมมือร่วมใจกันรักษา น้ำคงหมดไปในที่สุด
นอกจากผลสำเร็จของโครงการจะเป็นไปตามเป้าหมายแล้ว ผลลัพธ์ที่งดงามยิ่งกว่าคือ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่เกิดขึ้นกับลูกทั้งสองคนของวันเพ็ญ ทำให้เธอถึงกับออกปากว่าช่าง “คุ้มค่า” ที่ทั้งลุ้น ทั้งดันให้มีโอกาสได้ทำโครงการนี้
“เขากล้าพูด กล้าแสดงออกกับกับคนที่ไม่รู้จัก สามารถเข้าไปคุย เข้าหาผู้ใหญ่เป็น ทั้งคนแถวบ้าน พ่อแม่ปู่ย่าตายายครูก็มาเล่าให้ฟังว่ากล้าแสดงออกหน้าชั้นที่โรงเรียน แล้วเขาจะมีคำพูดที่บางทีเราต้องคิดตาม เช่น สมมุติเราจะไปกู้เงิน เขาก็บอกว่าแม่ห้ามกู้นะ ถ้าไม่จำเป็น เดี๋ยวเป็นหนี้ แม่จะเป็นทุกข์”
อีกหนึ่งการเปลี่ยนแปลงของลูกที่วันเพ็ญเห็น คือ การรู้จัก “แบ่งเวลา” สามารถทำหน้าที่ทุกอย่างที่รับผิดชอบได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ไม่ว่าจะเป็นการเรียน การทำโครงการ หรือกระทั่งการช่วยงานเกษตรในไร่
อย่างหลังนี้ วันเพ็ญชอบใจเป็นพิเศษ
“เมื่อก่อนเขาบอกว่า ถ้าเรียนจบแล้วจะไม่อยู่ทำไร่กับเรา จะย้ายไปอยู่ที่อื่น เราก็เสียใจว่าลูกอยากไปไกลจากบ้าน ไม่ยอมรับว่าพ่อแม่เป็นชาวไร่ เราเคยพูดเล่นๆ กับเขาว่า สุดท้ายพ่อแม่ก็นอนตายอยู่บ้านไม่มีใครมาเหลียวแล แต่ตอนนี้พอทำการบ้านเสร็จก็มาช่วยงานในไร่ เราก็ดีใจว่าลูกเต็มใจช่วยทำงาน ไม่ปฏิเสธที่มีพ่อแม่เป็นชาวไร่ชาวนา”
ส่วนกบบอกถึงความเปลี่ยนแปลงของตัวเองว่า การทำโครงการทำให้เธอมีการวางแผน การเตรียมความพร้อมก่อนทำอย่างอื่น โดยเฉพาะเรื่องการพูดนำเสนอที่ไม่ค่อยถนัด เพราะนิสัยพื้นฐานไม่ใช่คนช่างพูดอยู่แล้ว แต่โครงการทำให้เธอกล้าพูดขึ้นมาระดับหนึ่ง และรู้จักคิดทบทวนทุกครั้งก่อนทำ ก่อนพูด
“หลังจากทำโครงการมาแล้วทำให้เราฉุกคิดเสมอว่าสิ่งที่กำลังทำ ทำเพื่อใคร ก่อให้เกิดประโยชน์กับใครบ้าง หรือส่งผลเสีย ผลกระทบต่อใครไหม”
วันเพ็ญกล่าวทิ้งท้ายว่า การที่ลูกของเธอได้คิดเอง ทำโครงการด้วยตัวเอง ช่วยปลี่ยนเวลาว่าง-เล่นเกม ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ผ่านการเรียนรู้ชุมชน จนลูกของเธอได้รู้ว่าคนห้วยสงสัยอยู่กันอย่างไร ประกอบอาชีพอะไร และสิ่งที่แม่พยายามทำมาตลอดมีความสำคัญกับคนในชุมชนขนาดไหน
“ตอนนี้เวลาเราไปช่วยงานชุมชน เขาไม่มีห้ามเลย แถมเล่าให้คนอื่นฟังอีกว่าแม่ไปทำอะไร” วันเพ็ญอมยิ้ม