- เรื่องของเน-ธัญญา ทองขำ ที่เปลี่ยนผ่านจากวัยรุ่นขี้กลัว มาเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ ผ่านโครงการไรน้ำนางฟ้าของเธอและเพื่อน
- การพิสูจน์ตัวเองของวัยรุ่น ไม่ใช่แค่การได้รับความยอมรับจากผู้อื่น แต่คือการยอมรับตัวเอง ในแบบที่ตัวเองเป็นด้วย ซึ่งนี่คือบททดสอบแรกที่วัยรุ่นต้องเผชิญและต่อสู้กับมันอย่างหนัก เนเองก็เช่นกัน
เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย!?!
คำบ่นยอดฮิตของวัยรุ่นไทยหลายคนบนโลกออนไลน์ ไหนจะเรื่องเรียน เรื่องรัก เพื่อน ครอบครัว และเรื่องตัวเอง ล้วนมีเหตุที่ทำให้วัยรุ่นรู้สึกเหนื่อย แต่ความเหนื่อยที่วัยรุ่นรู้สึกว่าใหญ่นั้น ใหญ่จริงหรือ?
ถ้ามองในเชิงวิทยาศาสตร์ ช่วงวัยรุ่นเป็นช่วงที่ร่างกายภายนอกกำลังเปลี่ยนแปลงจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่ เห็นได้จากรูปร่างและน้ำเสียง หากลงลึกเข้าไปในร่างกายจะพบความพลุ่งพล่านของสมองที่กำลังพัฒนา โดยผลการศึกษาสมองวัยรุ่นด้วยเครื่อง MRI (Magnetic resonance imaging)
ทำให้เห็นว่าสมองของวัยรุ่น ‘ไม่ใช่เด็กและไม่ใช่ผู้ใหญ่’ เพราะระบบลิมบิค (Limbic system) ซึ่งทำงานเกี่ยวกับอารมณ์ความรู้สึกพัฒนาเต็มที่ ขณะที่สมองส่วนหน้าที่ทำงานเรื่องการตัดสินใจ การวางแผน การกำกับอารมณ์ยังพัฒนาไม่เต็มที่
ความไม่มั่นคงในอารมณ์นี้เองนำไปสู่การแสวงหาอัตลักษณ์และการยอมรับจากสังคมแวดล้อม ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้น ของอีริค อีริคสัน (Erik Homburger Erikson) จึงไม่แปลกที่วัยรุ่นจะดูแลการแต่งกายของตัวเองตั้งแต่หัวจรดเท้าและระมัดระวังการวางตัวกับคนอื่น เพราะรู้สึกวิตกกังวลว่า ‘คนอื่นคิดอย่างไรกับเรา’
ความยากลำบากของวัยรุ่นจึงเป็นการสลัดความเป็นเด็ก พัฒนาบุคลิก ความรู้สึกนึกคิด อารมณ์ จิตใจ และสมรรถนะในการทำงาน การเข้าสังคม ที่เป็นผู้ใหญ่มากขึ้น ภาวะก้ำกึ่งนี้ทำให้วัยรุ่นหลายคนรู้สึกว่าเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากและเหนื่อย!
วัยรุ่นส่วนใหญ่ลงมือค้นหาตัวเองด้วยการ ‘หาอะไรทำ’ เช่น ออกไปทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีในโรงเรียน หรือสังคมร่วมกับคนอื่น แต่ความน่าเป็นห่วงคือ ทางที่เขาเลือกนั้นอาจจะถูกต้องหรือผิดพลาดก็ได้ เพราะมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกทั้งพื้นฐานเดิมของเด็ก การรับสื่อ สิ่งแวดล้อม และที่มีอิทธิพลต่อเด็กเป็นพิเศษคือ ‘กลุ่มเพื่อน’
จะดีกว่าไหมถ้าสังคมมีช่องทางให้วัยรุ่นก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความสับสน ค้นพบศักยภาพและความต้องการของตัวเอง ให้เขารู้จักสังคมรอบตัวอย่างแท้จริง และได้เลือกทำโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เป็นการเปิดโอกาสให้วัยรุ่นได้ทดลองก้าวออกจากการประคับประคองจากครอบครัวสู่การผจญภัยในบทบาทใหม่ที่โตขึ้น มีความรับผิดชอบมากขึ้น
เน-ธัญญา ทองขำ นักศึกษาแผนกวิชาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ วิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ คือวัยรุ่นที่ได้รับโอกาสจากผู้ใหญ่ในนามสงขลาฟอรั่ม ภายใต้โครงการพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ที่เปิดโอกาสให้เธอและเพื่อนร่วมวิทยาลัยทำโครงการไรน้ำนางฟ้า เนสนใจการเลี้ยงปลาสวยงามอยู่เป็นทุนเดิม จึงเห็นเป็นช่องทางที่จะได้ทดลองการเพาะเลี้ยงไรน้ำนางฟ้า ซึ่งเป็นอาหารมีชีวิตสำหรับปลาสวยงาม
จากความชอบส่วนตัวของเน พี่เลี้ยงจากสงขลาฟอรั่มได้ชวนคิดชวนคุยให้เนและเพื่อนๆ มองหาว่า โครงการนี้จะสร้างประโยชน์ให้ส่วนรวมได้อย่างไร ซึ่งเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของโครงการพลังพลเมืองฯ กระทั่งพบว่าน่าจะช่วยลดต้นทุนอาหารปลาแก่ผู้จำหน่ายปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา และสร้างแหล่งเรียนรู้เรื่องไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยได้
แต่ก่อนจะได้ทำโครงการ เธอกับเพื่อนต้องผ่านการทดสอบด่านแรกนั่นคือ “การนำเสนอ” ต่อหน้าคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อขออนุมัติโครงการ ทว่าพื้นฐานของเนไม่ต่างจากวัยรุ่นคนอื่นที่มีความกังวลต่อการเข้าสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเธอมีปานแดงบริเวณใบหน้า ยิ่งทำให้เธอเป็นคนเก็บตัวมาตลอด เพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่ยอมรับสิ่งที่เธอเป็น
“เมื่อก่อนเราเป็นคนเก็บตัว ไม่ชอบเข้าสังคม ไม่ชอบพบปะผู้คน แต่ตอนนั้นเพื่อนที่นำเสนองานเก่งที่สุดไม่อยู่ เราต้องนำเสนอเอง จำได้ว่ากังวลจนร้องไห้ ตอนนั่งรถไปงานประชุมก็กังวลมากร้องไห้ไปตลอดทาง คิดอยากจะกลับท่าเดียว กลัวไปหมด แต่พอคิดได้ว่าถ้าเราไม่ไปแล้วงานที่คิดมากับเพื่อนต้องล้มเลิกไป เพื่อนคงเสียใจ เลยตัดสินใจเดินหน้าต่อ
“ยิ่งตอนคณะกรรมการซักถาม มือเราสั่นมาก พยายามตอบตามขั้นตอนที่ได้ทำ ปรากฏว่า “ตอบได้” ซึ่งทำให้เรารู้สึกว่ามั่นใจมากขึ้นที่จะตอบคำถามอื่นๆ ของกรรมการในวันนั้น มันเลยกลายเป็น “จุดเปลี่ยน” ให้เรากล้าเข้าสังคม กล้าแสดงออก และกล้าพบปะผู้คนมากขึ้น เพราะรู้แล้วว่าถ้าเราลงมือทำจริง เราก็จะรู้จริง ตอบได้ และคนอื่นๆ ก็ไม่ได้สนใจว่าเราหน้าตาเป็นอย่างไรเท่ากับว่าเราทำอะไร เรารู้อะไรหรอก”
การก้าวข้ามความวิตกกังวลด้วยการเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่รู้สึกกลัว แทนที่จะหลบเลี่ยงหรือหลีกหนี ช่วยสร้างความมั่นใจ และค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิดของเนใหม่ว่า คนอื่นๆ ไม่ได้สนใจว่าร่างกายเธอจะเป็นแบบไหน มีคนมากมายที่พร้อมจะสร้างมิตรภาพกับเธอ และเธอก็ทำสิ่งที่คนอื่นทำได้ไม่ต่างกัน
ซึ่งการรับรู้ถึงความสามารถของตัวเองในครั้งนั้น จะเป็นพื้นฐานให้เนเติบโตต่อไปในสังคมได้อย่างแข็งแรง เพราะการตระหนักถึงคุณค่าภายในของตัวเองอย่างแท้จริงจะคงอยู่อย่างยั่งยืนกว่าคุณค่าภายนอกที่โรยราตามกาลเวลา
ผลจากการลงมือทำ เพื่อค้นหาคำตอบได้ช่วยคลี่คลายความหนักใจของผู้จำหน่ายปลาสวยงามในจังหวัดสงขลา กระทั่งเกิดเป็นแหล่งเรียนรู้ไรน้ำนางฟ้าในวิทยาลัยประมงติณสูลานนท์ที่เปิดกว้างพร้อมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจทุกคนแล้ว ขณะเดียวกันก็ช่วยให้เนเห็นทางเลือกในการเลี้ยงชีพหลังเรียนจบด้วยการเลี้ยงปลาสวยงาม นอกจากนั้นเนและเพื่อนๆ ยังส่งต่อกระบวนการเรียนรู้ให้รุ่นน้องในวิทยาลัย เพื่อให้น้องได้มีองค์ความรู้ที่สามารถนำไปใช้ต่อยอดในการประกอบอาชีพ และมีโอกาสพัฒนาตัวเองจากการลงมือทำ
คงมีวัยรุ่นอีกหลายคนที่กำลังเหนื่อยจากฮอร์โมนที่พลุ่งพล่าน และความวิตกกังวลต่อการค้นหาที่ทางของตัวเอง และเสี่ยงต่อการเดินทางผิด จะดีกว่าไหม หากผู้ใหญ่ช่วยกันเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีโอกาสเรียนรู้และพัฒนาตนเองด้วยประสบการณ์ในเส้นทางที่มีผู้ใหญ่คอยประคับประคอง จนพวกเขามีความมั่นใจ และมีความมั่นคงในอารมณ์เพียงพอต่อการเผชิญปัญหาที่เป็นด่านต่อไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์
ทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม (Psychosocial development) ของ Erik H. Erikson อธิบายถึงลักษณะของการศึกษาไปข้างหน้า โดยเน้นถึงสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อการพัฒนาบุคลิกภาพของคน ซึ่งในแต่ละขั้นของพัฒนาการนั้นจะมีวิกฤติการณ์ทางสังคม (social crisis) เกิดขึ้น การที่ไม่สามารถเอาชนะหรือผ่านวิกฤติการณ์ทางสังคมในขั้นหนึ่ง ๆ จะเป็นปัญหาในการเอาชนะวิกฤติการณ์ทางสังคมในขั้นต่อมา ทำให้เกิดความบกพร่องทางสังคม (social inadequacy) และเป็นปัญหาทางจิตใจตามมาภายหลัง แนวคิดของ Erikson ได้แบ่งพัฒนาการด้านจิตสังคมของบุคคลเป็น 8 ขั้น ดังนี้ ขั้นที่ 1 ระยะทารก (Infancy period) อายุ 0-2 ปี :ขั้นไว้วางใจและไม่ไว้วางใจผู้อื่น (Trust VS Mistrust) ขั้นที่ 2 วัยเริ่มต้น (Toddler period) อายุ 2-3 ปี : ขั้นที่มีความเป็นอิสระกับความละอายและสงสัย (Autonomy VS Shame and doubt) ขั้นที่ 3 ระยะก่อนไปโรงเรียน (Preschool period) อายุ 3-6 ปี : ขั้นมีความคิดริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative VS Guilt) ขั้นที่ 4 ระยะเข้าโรงเรียน (School period) อายุ 6-12 ปี : ขั้นเอาการเอางานกับความมีปมด้อย (Industry VS Inferiority) ขั้นที่ 5 ระยะวัยรุ่น (Adolescent period) อายุ 12-20 ปี : ขั้นการเข้าใจอัตลักษณ์ของตนเองกับไม่เข้าใจตนเอง (Identity VS role confusion) ขั้นที่ 6 ระยะต้นของวัยผู้ใหญ่ (Early adult period) อายุ 20-40 ปี : ขั้นความใกล้ชิดสนิทสนมกับความรู้สึกเปล่าเปลี่ยว (Intimacy VS Isolation) ขั้นที่ 7 ระยะผู้ใหญ่ (Adult period) อายุ 40-60 ปี : ขั้นการอนุเคราะห์เกื้อกูลกับการพะว้าพะวงแต่ตัวเอง (Generativist VS Self-Absorption) ขั้นที่ 8 ระยะวัยสูงอายุ (Aging period) อายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป : ขั้นความมั่นคงทางจิตใจกับความสิ้นหวัง (Integrity VS Despair) |