- เพราะอาชีพทอผ้าไหมโซดละเวเริ่มหายไปจากชุมชนชาวกวย จ.ศรีสะเกษ เมื่อสบโอกาสผู้ใหญ่ในชุมชนชวนให้ทำโครงการ เต๋า-อภิชาต วันอุบล แม้จะยังทอไม่ได้ แต่เขาก็ใช้โอกาสนี้เรียนรู้เรื่องราวผ้าไหมโซดละเวอย่างจริงจัง
- ลายผ้าทอ’ แต่ละผืนได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ และชีวิตของชาติพันธุ์ชาวกวยผูกพันกับลำน้ำ ป่า เขา และมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย จึงถ่ายทอดลวดลายลงบนผืนผ้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชนบท
- ความยากของโครงการไม่ใช่แค่การฝึกทอผ้า แต่คือการเข้าไป รื้อ ศึกษา และถ่ายทอดภูมิปัญญาให้คงอยู่ และนั่นเรียกร้องความเพียรพยายามในปริมาณสูงทีเดียว
เต๋า-อภิชาต วันอุบล เด็กหนุ่มจากจังหวัดศรีสะเกษที่หลงใหลลวดลายผ้าทอโซดละเว ผ้าไหมมัดหมี่ขึ้นชื่อของบ้านแตพัฒนา ตำบลโพธิ์กระสังข์ อำเภอขุนหาญ จังหวัดศรีสะเกษ เพราะชื่นชอบผ้าทอโซดละเวเป็นชีวิตจิตใจ แม้จะยังทอไม่ได้ ลวดลายมีชื่อเรียกอย่างไรก็ไม่รู้จัก แต่เมื่อสบโอกาสที่ผู้ใหญ่ในชุมชนชักชวนให้ทำโครงการ เต๋าจึงใช้โอกาสนี้เรียนรู้เรื่องราวผ้าไหมโซดละเวอย่างจริงจัง
เต๋าเล่าว่า ผ้าไหมโซดละเวเป็นผ้าไหมที่อยู่คู่ชุมชนบ้านแต้พัฒนามาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เมื่อว่างเว้นจากการเกษตร คนในชุมชนก็จะปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทอผ้าไหม เพื่อเป็นอาชีพเสริมอีกช่องทางหนึ่ง แต่ด้วยปัจจุบันค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำลง คนในชุมชนจึงหันไปทำงานต่างจังหวัดมากขึ้น
อาชีพเสริมอย่างการทอผ้าไหมจึงเริ่มหายไปจากชุมชน เหลือเพียงไม่กี่หลังคาเรือนที่ยังคงสานต่ออาชีพนี้ เพราะเห็นว่านี่คือสิ่งที่ถูกส่งต่อจากบรรพบุรุษ รวมถึงความศรัทธาและความเชื่อทางศาสนาของชาวกวยที่มีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาพุทธและการนับถือผียังคงมีอยู่
เต๋าและทีมงานจึงเริ่มศึกษาและเก็บรวบรวมเรื่องราวของผืนผ้า โดยพบว่ามีการใช้ผ้าไหมโซดละเวในพิธีกรรมต่างๆ ในรอบปี โดยทีมงานจัดทำเป็นปฏิทินการใช้ผ้า เช่น ใช้ประกอบเครื่องบูชาพระแม่โพสพในงานบุญข้าวเปลือก เดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ใช้ผ้าไหมห่อใบลานและพิธีกรรมนางอ้อ ในงานบุญผะเหวด หรือพิธีกรรมนางอ้อ
ส่วนเดือนเมษายน ใช้เป็นสิ่งของเพื่อนำไปเยี่ยมญาติช่วงสารทเดือนสิบ รวมทั้งใช้เป็นองค์ประกอบในเครื่องกฐิน เป็นต้น นอกจากนี้ ในกระบวนการศึกษายังพบว่า ‘ลายผ้าทอ’ แต่ละผืน ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ เนื่องจากพื้นฐานของชาติพันธุ์ชาวกวยผูกพันกับลำน้ำ ป่า เขา และมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย จึงถ่ายทอดลวดลายลงบนผืนผ้าเพื่อบอกเล่าเรื่องราวในชนบท
เก็บ แกะ เกิด
นอกจากนี้ การศึกษาเพิ่มเติมจากผู้รู้ดังกล่าว ทำให้เต๋าและทีมงานค้นพบกระบวนการเรียนรู้หลัก 3 ก. หรือ กระบวนการเก็บ แกะ เกิด ที่หมายถึงการ ‘เก็บ’ รวบรวมข้อมูลจากผู้รู้เรื่องผ้าลายโบราณ เพราะผ้าไหมที่สมบูรณ์ในแบบฉบับโซดละเวนั้น ต้องมีองค์ประกอบครบ 3 อย่าง คือ หัวซิ่น ตัวซิ่น และตีนซิ่น จากข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาส่งต่อสู่กระบวนการ ‘แกะ’ ที่เยาวชนต้องแกะลายผ้าโบราณไว้เป็นสูตรสำหรับใช้ทอต่อไปในอนาคต เนื่องจากสมัยก่อนผู้เฒ่าผู้แก่จะใช้วิธีจำเอาเท่านั้น
หลังจากเก็บข้อมูลและแกะลายแล้ว เต๋าและทีมงานต่างฝึกฝนฝีมือการทอผ้าจน ‘เกิด’ ผ้าผืนใหม่ที่เป็นลายโบราณ ได้แก่ ลายตองเผาะจ์ ลายกากะญัย ลายกาซันผืด ลายโคม เป็นต้น
“ฝึกทอ ทำซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่สวยก็รื้อทำใหม่ ถามว่าท้อไหม…ท้อ แต่ไม่ยอมถอย”
ส่วนหนึ่งของความรู้สึกที่เต๋าถ่ายทอดออกมา เพราะไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะฟื้น ‘ภูมิปัญญา’ ให้กลับมามี ‘มูลค่า’ สำหรับคนรุ่นใหม่ แต่ด้วยความหลงใหลในลวดลายของผ้าทอ ทำให้เต๋ามุ่งมั่นตั้งใจ พยายามฝึกทอซ้ำแล้วซ้ำเล่า เมื่อทอเป็นก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การทอเท่านั้น แต่เต๋ายังมีแรงบันดาลใจคิดค้นต่อยอดลายใหม่ๆ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมโซดละเวให้เป็นที่รู้จักยิ่งขึ้น
จากความหลงใหลในผืนผ้า นอกจากจะทำให้เต๋ามุมานะเรียนรู้และฝึกฝนจนรู้แจ้งเห็นจริงในเรื่องราวความเป็นมาของผ้าไหมโซดละเวแล้ว ความรู้และความรักยังทำให้เต๋าเกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์และวัฒนธรรมของตัวเอง จนลุกขึ้นมาสานต่อวัฒนธรรมการนุ่งโสร่งโดยไม่เขินอาย เพื่อสื่อให้คนภายนอกรับรู้ถึงอัตลักษณ์ของคนกวยที่ยังคงอยู่สืบไป ดังคำพูดที่เต๋าทิ้งท้ายว่า “ทอเอง ใส่เอง ขายเอง และภูมิใจในอัตลักษณ์ของตนเอง”
แล้ววันนี้คุณมองหา passion ของลูกเจอหรือยัง…
อนเจลา ดัคเวิร์ธ (Angela Duckworth) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย เชื่อว่า กุญแจแห่งความสำเร็จคือ ‘Grit’ หรือ ความเพียร ที่อยู่ภายใต้องค์ประกอบ 2 อย่าง นั่นคือ passion ความหลงใหลหรือความชื่นชอบ และ perseverance ความมานะอดทน ขณะเดียวกัน แอนเจลายังคิดทฤษฎีที่แสดงถึงพลัง Grit ต่อความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ (Achievement) เป็นสมการที่ว่า Talent x Effort = Skill Skill x Effort = Achievement นั่นหมายความว่า ความพยายามที่มาจาก Grit จะเป็นตัวคูณถึงสองครั้งในสมการนี้ จะเห็นได้ว่า แม้เด็กหรือเยาวชนจะเก่งหรือมีความสามารถในหลายๆ เรื่อง หากไม่มี passion ในสิ่งที่ทำ โอกาสที่จะประสบความสำเร็จในเรื่องนั้นๆ ก็จะมีน้อยเช่นกัน |