- เพราะไม่เชื่อในคำว่า ‘ทำไม่ได้’ อ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก จึงไม่สนใจความ ‘ไม่พูด เพราะกลัวจะตอบผิด’ ของน้องๆ มุ่งหน้าทำความรู้จักและทำให้มั่นใจว่า ความคิดของพวกเขาไม่ไร้สาระ และไม่มีถูกผิดเลย
- การทำงานในโครงการ Road Safety สร้างความเข้าใจใหม่ว่า ความฉลาดไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่คือมุมมองต่อการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง เปลี่ยนจาก fixed mindset มาสู่ growth mindset
หลายคนคงเคยรู้สึกท้อถอยกับการทำอะไรบางอย่าง จนถึงขั้นถอดใจ ล้มเลิกสิ่งที่ทำลงกลางคัน เพราะมองว่าถึงทำต่อก็ไม่มีทางสำเร็จ…
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสามารถของเราอาจไปไม่ถึงบางอย่าง ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายอย่างที่เราสามารถไปถึงเป้าหมายได้ เพียงแค่ใส่ความพยายามลงไปอีกนิด และไม่ตัดสินตัวเองไปเสียก่อนว่า ‘ทำไม่ได้’
ผู้คนสมัยก่อนเคยเชื่อกันว่า ‘สมองดี’ เป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด คนเราจะโง่หรือฉลาดจึงไม่อาจเปลี่ยนแปลง แต่ปัจจุบันงานวิจัยต่างๆ ยืนยันแน่ชัดแล้วว่า สมองของคนเราพัฒนาได้
นั่นหมายความว่า แท้จริงแล้วโลกใบนี้ไม่มีคนโง่หรือคนฉลาด ทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาสมองให้มีศักยภาพมากขึ้น แต่ยังมีคนส่วนหนึ่งติดกรอบความคิดที่ว่า ‘เป็นไปไม่ได้’ เพราะ ‘ความเชื่อ’ ของตัวเอง
ศาสตราจารย์แครอลเคยขยายความไว้บนเวที TEDxNorrköping เมื่อเดือนกันยายน 2014 ในหัวข้อ ‘The Power of Believing That You Can Improve’ ว่า ปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยให้เด็กมี growth mindset คือ ‘power of yet’ หรือการใช้คำว่า ‘ยัง’ เพื่อสร้างแรงส่งให้เด็กมั่นใจว่าไม่ใช่เขาทำไม่ได้เลย แต่แค่ ‘ยังทำไม่ได้’ จะทำให้เขาพยายามพัฒนาตัวเองและหาทางออกเวลาเจอปัญหา
เพราะเมื่อเด็กได้ลองทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย เซลล์ประสาทในสมองของเขาจะสร้างการเชื่อมโยงใหม่ที่แข็งแรงกว่าเดิม และหากเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจะทำให้เด็กมีสมองที่ดีขึ้น ซึ่งผู้มีส่วนสำคัญในการช่วยเด็กให้เกิด growth mindset ที่แข็งแรง จึงไม่ใช่ใครที่ไหน แต่คือ ‘ผู้ใหญ่รอบตัวเด็ก’ นั่นเอง
คล้ายกันกับเยาวชนจากวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีราชบุรี ที่มองว่าตัวเองไม่เก่ง จึงไม่กล้าแสดงออก ไม่กล้าบอกความคิดเห็น และถูกสังคมตีตราว่าเป็นเด็กท้ายแถวในระบบการศึกษา ซึ่งอาจเป็นตัวแทนของกลุ่มเด็กหลังห้อง หรือม้านอกสายตาที่ถูกครูและสังคมมองข้ามอยู่เสมอ
เขาคือกลุ่มที่เคยเชื่อว่า ‘ตัวเองทำไม่ได้’ กระทั่งพวกเขามีโอกาสเข้าร่วม ‘โครงการพลังเด็กและเยาวชนเพื่อการเรียนรู้ภูมิสังคมภาคตะวันตก’ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของชีวิตน้องๆ กลุ่มนี้ก็ว่าได้ เมื่ออ้วน-คำรณ นิ่มอนงค์ พี่เลี้ยงโครงการพลังเด็กและเยาวชนฯ ที่มาชวนคุย ชวนคิด เพื่อเขียนแผนการทำงาน แต่ในช่วงแรกพวกเขาก็นิ่งเฉย ไม่ตอบ เพราะกลัวว่าจะตอบผิด
พี่อ้วนเปลี่ยนวิธีใหม่ ด้วยการให้กลุ่มเยาวชนลองไปถามนักศึกษาคนอื่นในวิทยาลัยว่า บริเวณรอบวิทยาลัยมีปัญหาอะไรบ้าง แล้วกลับมาระดมสมองว่า คนส่วนใหญ่พูดถึงปัญหาไหน ในที่สุดจึงได้ข้อสรุปออกว่า คนส่วนใหญ่มีความกังวลใจเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน หรือโครงการ Road Safety เพราะบริเวณรอบวิทยาลัยมีไร่อ้อยเยอะ ทำให้มีรถขนอ้อยสัญจรผ่านตลอดเวลา ทว่านักศึกษาและชาวบ้านกลับไม่ค่อยสวมใส่หมวกกันน็อคเวลาขับขี่รถจักรยานยนต์ จนเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง
การที่ได้โอกาสลงมือเก็บข้อมูลเอง ได้พูดคุยกับเพื่อนนักศึกษา ครูอาจารย์ และคนในชุมชนรอบสถานศึกษาของตนเอง ทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง และได้ทำให้ความมั่นใจในตนเองค่อยๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว
แม้จะได้โจทย์การทำโครงการแล้ว แต่น้องๆ ก็ยังติดปัญหาเรื่องการวางแผนโครงการ ทุกครั้งที่พี่อ้วนเริ่มชวนคุยเรื่องงาน น้องจะนิ่งเงียบ ไม่พูด ไม่ตอบ พี่อ้วนตัดสินใจเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่จากการตั้งวงคุยอย่างค่อนข้างจริงจัง เปลี่ยนมาเป็นการนัดน้องๆ ในทีมกินข้าวและพูดคุยในบรรยากาศผ่อนคลาย ทีมงานแต่ละคนจึงค่อยๆ เปิดใจ เล่าเรื่อง และแสดงความเห็นของตนเองออกมา ความมั่นใจและการเรียนรู้จากประสบการณ์ภาคสนามกลับมาแสดงผลของมันแล้ว
หลังจากมีแผนการทำงานแล้ว ช่วงเย็นของทุกวัน น้องๆ จะนั่งล้อมวงคุยเพื่อวางแผนการทำงานและติดตามความคืบหน้าในการทำงาน ซึ่งเกิดจาก ครูเร-เรณุกา หนูวัฒนา ครูผู้สอนและที่ปรึกษาของทีมที่เป็นผู้ ‘เปิดพื้นที่’ แก่เหล่าลูกศิษย์
ความเปลี่ยนแปลงของเด็กที่หวั่นเกรงการทำงานวิชาการ ไม่กล้าแสดงออก กลัวทำผิด ตอบผิด เริ่มเปลี่ยนไป ความมั่นใจจากการได้ลงมือทำและแก้ปัญหาร่วมกันค่อยๆ เข้ามาแทนที่ เห็นได้จากกระบวนการทำงานที่น้องๆ เลือกลงพื้นที่เก็บข้อมูลวิชาการ ทั้งบริบทชุมชน วิถีชีวิต การประกอบอาชีพที่สัมพันธ์กับการขับขี่ พฤติกรรมการขับขี่ยานพาหนะ และจุดเสี่ยงต่างๆ โดยใช้แบบสอบถามและการจดบันทึกข้อมูล
“โครงการนี้ทำให้เห็นพฤติกรรมเสี่ยงที่เกิดขึ้นทุกวันชัดขึ้น เมื่อก่อนก็มีอุบัติเหตุอยู่ตลอด เพียงแต่เราไม่เคยใส่ใจ แต่พอมาเก็บข้อมูลจึงเห็นว่ามันเสี่ยงและอยู่ใกล้ตัวเรามาก” น้องๆ ทีม Road Safety กล่าว
ความเชื่อที่พี่อ้วนและครูที่ปรึกษามีต่อทีม Road Safety ว่าเด็กทุกคนสามารถพัฒนาได้ กลายเป็นชนวนสำคัญที่จุดประกายความคิดให้พวกเขาปรับเปลี่ยนมุมมองที่เคยมีต่อตัวเองว่า ทำไม่ได้ ให้กล้าลุกขึ้นมาลงมือทำ
ทำให้เห็นว่าเด็กสมองดี ไม่ใช่เด็กที่เกิดมาฉลาด แต่เป็นเด็กที่มีมุมมองต่อการพัฒนาตัวเองอย่างไม่หยุดนิ่ง ก้าวขึ้นมาสู่ความสำเร็จได้
นอกจากทีม Road Safety จะสมองดีจากการก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองแล้ว การลงมือทำโครงการเพื่อสร้างประโยชน์ต่อส่วนรวมยังกระตุ้นจิตใจที่ดีงามให้งอกเงยขึ้น ซึ่งนี่อาจเป็นนิยามของสมองดีที่ผู้ใหญ่หลายคนกำลังค้นหาวิธีการสร้างให้เกิดขึ้นในใจของเด็กและเยาวชนรุ่นใหม่
“การทำงานเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนเกี่ยวข้องกับชีวิตพวกเรา เพื่อนของเรา และคนในชุมชนโดยตรง แต่ก่อนที่เราจะไปสร้างจิตสำนึกให้เขาเห็นความสำคัญของการใส่หมวกกันน็อค ต้องเริ่มจากตัวเราก่อน ตอนนี้เวลาขับมอเตอร์ไซค์จึงใส่หมวกกันน็อคทุกครั้ง”
ปัจจุบันข้อมูลจากการศึกษาวิจัยต่างๆ เห็นตรงกันว่า การสอนให้เด็กมี growth mindset ที่มุ่งเน้นกระบวนการพัฒนาตัวเองระหว่างทำงานมากกว่าผลสำเร็จตอนจบ ส่งผลต่อการประสบความสำเร็จของเด็กทั้งที่โรงเรียนและการทำงาน ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นพื้นฐานให้เด็กก้าวผ่านทุกอุปสรรคในชีวิตได้
ลองถามตัวเองอีกครั้งว่า สิ่งที่เราคิดว่าทำไม่ได้ คือข้อจำกัดที่ขีดขึ้นให้ตัวเองหรือเปล่า หากเพียงเราเติมความมุ่งมั่นอีกนิด ใส่ความตั้งใจอีกหน่อย ยอมผิดพลาดบ้างแล้วเรียนรู้ แต่ไม่ใช่ยอมรับความพ่ายแพ้ สิ่งที่ ‘ยัง’ ทำไม่ได้วันนี้ อาจกลายเป็นผลสำเร็จที่งดงามชนิดคาดไม่ถึงก็เป็นได้
หนังสือ Mindset: The New Psychology of Success จากงานวิจัยของ ศาสตราจารย์แครอล ดเวค (Prof.Carol S. Dweck) ผู้เชี่ยวชาญแห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ได้เรียกมุมมองของคนที่มีต่อตัวเองด้วยคำว่า ‘mindset’ ซึ่งก่อให้เกิดพฤติกรรมการพัฒนาตนเองที่แตกต่างกันของคนสองกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นคนที่ให้ค่ากับ ‘พรสวรรค์’ ที่ติดตัวมาตั้งแต่กำเนิด และตัดสินตัวเองว่าสามารถทำได้แค่นี้ ไปไกลกว่านี้ไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีพรสวรรรค์ เรียกว่าเป็นพวกมี ‘fixed mindset’ ส่วนคนอีกกลุ่มหนึ่งเชื่อตรงข้ามกับกลุ่มแรกว่า ตัวเองสามารถเก่งขึ้นได้ด้วยความมานะพยายาม มองความท้าทายหรือความล้มเหลวเป็นโอกาสในการพัฒนาตนเองไปสู่ความสำเร็จ ความคิดนี้เรียกว่า ‘growth mindset’ หรือ ‘พรแสวง’ ปัจจุบัน นิยามของคำว่าสมองดี จึงไม่ใช่แค่เกิดมาพร้อมความฉลาด แต่สมองดีมาจากการพัฒนาตัวเอง รู้จักเคี่ยวกรำฝึกฝน อดทนต่ออุปสรรค มองปัญหาเป็นสิ่งท้าทาย ไม่ท้อถอย ซึ่งการสร้างความคิดแบบ Growth Mindset ดังกล่าว ต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก เพราะธรรมชาติของสมองเด็กมีความยืดหยุ่นสูง (Brain Plasticity) เหมาะสมต่อการเรียนรู้และเป็นรากฐานให้ชีวิตในวันข้างหน้า |