- ระหว่างคำว่า ‘สอบตก’ กับคำว่า ‘ยังไม่ผ่าน’ คำไหนทำร้ายความรู้สึกเด็กๆ มากกว่ากัน
- ดูเผินๆ อาจจะมีความหมายเหมือนกัน แต่สำหรับคนฟัง มันช่างต่างกันราวขาว-ดำ เพราะสำหรับเด็กๆ คำว่าสอบตก หมายถึง ตกแล้วตกเลย ส่วนคำว่า ยังไม่ผ่าน นั่นหมายความว่า โอกาสสอบผ่านยังรอพวกเขาอยู่ ถ้ามีความพยายามและสู้พอ
- ความคิดเช่นนี้คือส่วนหนึ่งของ กรอบความคิดแบบเติบโต หรือ Growth Mindset
Growth Mindset คืออะไร
“Growth Mindset หรือ กรอบความคิดแบบเติบโต หมายถึงความเชื่อว่าทุกคนพัฒนาความสามารถของสมองในการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ โดยเฉพาะเมื่อ Growth Mindset ถูกปลูกฝังตั้งแต่ยังเด็ก”
เป็นคำอธิบายของ แครอล ดเว็ค (Carol Dweck) ศาตราจารย์ด้านจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด นักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญด้าน Growth Mindset และเจ้าของงานวิจัย หัวข้อ ‘การพัฒนาของกรอบความคิด’
แครอลชี้ว่า กุญแจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่คำว่า ‘ยัง’ หรือ Power of Yet ทำหน้าที่เสมือนแรงส่งให้เกิดความพยายามที่จะพัฒนาและเรียนรู้ให้ดีขึ้น
อานุภาพของคำว่า ‘ยัง’
แครอล ยกกรณีศึกษาจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในชิคาโก สหรัฐอเมริกา มาช่วยอธิบาย อานุภาพของคำว่า ’ยัง’…ให้ชัดเจนขึ้น
โรงเรียนทั่วไป ต้องผ่านการสอบบางวิชาถึงจะจบการศึกษาได้ แตกต่างจากโรงเรียนแห่งนี้ที่คนสอบไม่ผ่าน จะไม่ถูกเรียกว่า ‘สอบตก’ แต่จะถูกเรียกว่า ‘ยังไม่ผ่าน’ ซึ่งคำว่ายังไม่ผ่าน คนที่ได้รับจะเข้าใจว่า เขากำลังอยู่ในช่วงเรียนรู้ (learning curve) และยังสามารถพัฒนามันให้ดีกว่านี้ต่อไปได้ ส่งผลให้คำว่า ‘ยัง’ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในจุดเปลี่ยนของชีวิต
ในทางปฏิบัติ แครอลลงมือทดสอบกับเด็กๆ วัย 10 ขวบ ว่าพวกเขาจะสามารถใช้คำว่า ‘ยัง’ รับมือกับความยากลำบากและความท้าทายในชีวิตได้อย่างไร
การลองให้ทำโจทย์ที่ยากเกินตัวคือวิธีนั้น ผลปรากฏว่า…
“บางคนช็อกไปเลย แต่บางคนก็มีปฏิกิริยาด้านบวกกลับมา เช่น บอกว่าหนูชอบความท้าทาย และบอกว่าโจทย์ยากๆ แบบนี้จะทำให้หนูมีความรู้มากยิ่งขึ้น ทั้งหมดนี้เพราะพวกเขาเชื่อว่าตัวเองจะพัฒนาต่อได้ เพราะพวกเขามีสิ่งที่เรียกว่า Growth Mindset หรือความคิดที่เปิดกว้าง”
ส่วนเด็กบางคนที่ล้มเหลว แครอลชี้ว่า สาเหตุหนึ่งน่าจะมาจากกรอบความคิดที่ตายตัว หรือ Fixed Mindset แทนที่สติปัญญาจะถูกกระตุ้นด้วยคำว่า ‘ยัง’ แต่พวกเขากลับโดนคำว่า ‘ล้มเหลว’ ยัดเยียดมาให้ จึงไปได้ไม่ไกลเท่าที่ควร
แล้วเด็กๆ ที่ล้มเหลวจะทำยังไงต่อไป
จากงานวิจัยบางชิ้น ชี้ว่า เด็กที่ล้มเหลวบางคนบอกว่า คราวหน้าพวกเขาจะลองโกงข้อสอบดูแทนการเตรียมตัวให้หนักมากขึ้น หรืองานวิจัยอีกชิ้น เผยว่า หลังจากที่พวกเขาสอบตก สิ่งที่ทำหลังจากนั้นคือ มองหาคนที่ได้คะแนนต่ำกว่าเขา เพื่อให้รู้สึกดีกับตัวเอง
“แล้วหลังจากนั้น พวกเขาพยายามหนีจากความยากลำบาก ความผิดพลาด”
นักวิทยาศาสตร์ เคยทดลองวัดคลื่นไฟฟ้าในสมองของเด็กที่มีกรอบคิดแบบ Fixed Mindset หลังเผชิญความผิดพลาด พบว่า เด็กกลุ่มนี้แทบจะไม่มีกิจกรรมใดๆ เกิดขึ้นเลย
นั่นเพราะพวกเขาวิ่งหนีจากความผิดพลาด และไม่ยอมมีส่วนร่วมกับมัน ต่างจากสมองของเด็กกลุ่ม Growth Mindset ที่เชื่อว่าพวกเขามีส่วนร่วมหรือเป็นส่วนหนึ่งในความผิดพลาด จะช่วยพัฒนาความสามารถได้ เพราะพวกเขาได้วิเคราะห์ความผิดพลาด นำไปเรียนรู้และแก้ไขให้ถูกต้อง แครอล อธิบาย
แล้วเราจะเลี้ยงลูกอย่างไรดี
หลังจากยกตัวอย่างในโรงเรียน พร้อมถ่ายทอดงานวิจัย ก็มาถึงคำถามสำคัญที่ว่า “แล้วเราจะนำมาปรับใช้กับการเลี้ยงลูกอย่างไรดี”
“ต้องถามกลับว่า แล้วเราจะเลี้ยงลูกเพื่อคำว่า ‘ตอนนี้’ หรือ คำว่า ‘ตอนนี้ยัง’ เราเลี้ยงเพื่อให้ลูกผิดหวังเมื่อไม่ได้ A หรือเรากำลังเลี้ยงลูกให้ไม่รู้วิธีการตามหาความฝันอันยิ่งใหญ่ อยู่หรือเปล่า”
แล้วเราทำอะไรได้บ้างในการสร้างคำว่ายัง
ด้วยวิธีง่ายๆ อันดับแรก แครอลแนะนำว่า เรา (พ่อแม่) สามารถชมลูกอย่างสร้างสรรค์ได้
ชมอย่างสร้างสรรค์ ชมอย่างไร
“ต้องไม่ใช่การชมในความฉลาดหรือพรสวรรค์ของเด็กๆ ชมอย่างนั้นมันคือความล้มเหลว”
“แต่จงชมเชยกระบวนการการมีส่วนร่วมของเขา ทั้งความพยายาม การวางแผน การมีสมาธิ ความมุ่งมั่น และการปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้น การชมแบบนี้จะสร้างเด็กที่อดทนและยอมรับในความผิดพลาดของตัวเอง”
อันดับต่อมา คือ ให้เขาเล่นเกม โดยเน้นเกมที่ให้คะแนนระหว่างทาง คือ ความพยายาม การวางแผน และความก้าวหน้า ไม่ใช่ให้จากผลลัพธ์ที่ได้ท้ายเกม
“เราได้สร้างสรรค์ทำงานร่วมกับนักวิทยาศสาตร์ด้านเกม จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ในการสร้างเกมคณิตศาสตร์ออนไลน์ โดยทั่วไปเกมคณิตศาสตร์จะให้คะแนนกับคำตอบที่ถูก ณ ตอนนั้น เท่านั้น แต่เกมนี้จะให้คะแนนที่กระบวนการ และเราต้องการความพยายามที่มากขึ้น การวางแผนที่มากขึ้น และการมีส่วนร่วมในเกมที่กินเวลานาน รวมถึงความมานะมุ่งมั่นที่มากกว่าเมื่อเจอโจทย์ยากๆ”
จากการให้เล่นเกม แครอลพบว่า เด็กๆ จะมีความมั่นใจมากขึ้นจากคำว่า ยัง และ ยังไม่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญนำไปสู่อนาคตที่จะเป็นคนอดทนและพากเพียรได้มากกว่านี้
“เราสมารถสอนพวกเขาให้ก้าวออกจาก comfort zone เพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่ยากกว่า เซลล์ประสาทในสมองของเขาจะสร้างการเชื่อมต่อใหม่ที่แข็งแรง และพวกเขาจะเก่งและฉลาดขึ้นเรื่อยๆ”
คำว่ายัง นำมาซึ่งความเท่าเทียม
นอกจากผลต่อการพัฒนาสมองแล้ว คำว่า ‘ยัง’ ยังนำมาซึ่งความเท่าเทียม
วิชา Growth Mindset ถูกนำไปบรรจุอยู่ในหลักสูตรของโรงเรียนในนิวยอร์ค หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนเมืองฮาร์เล็ม และ เขตเซาธ์บรองซ์ ที่อยู่ในเขตอนุรักษ์ชนพื้นเมืองอเมริกัน ที่เด็กๆ มีผลการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์อย่างต่อเนื่อง
“ภายใน 1 ปี ชั้นเรียนอนุบาลในเมืองฮาร์เล็ม นิวยอร์ค ทำคะแนนสอบของแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์แห่งชาติ (National Achieve Test )ได้ถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเด็กหลายคนในโรงเรียนนี้ ไม่สามารถจับดินสอได้ เช่นเดียวกัน เด็กเกรด 4 ในเซาธ์บรองซ์ กลายเป็นห้องเรียนเกรด 4 อันดับ 1 ของนิวยอร์ค ในการแข่งขันคณิตศาสตร์ของรัฐ ขยับจากอันดับล่างสุดไปสู่สูงสุดของเขตได้”
แครอลสรุปว่า ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นจาก การที่เด็กเข้าใจคำว่าพยายามและยากลำบากในความหมายที่เปลี่ยนไป
“ก่อนหน้านั้น สองคำนี้ทำให้เด็กๆ รู้สึกโง่และยอมแพ้ แต่ตอนนี้ มันหมายถึง สิ่งที่ทำให้เซลล์ประสาทเชื่อมโยงได้แข็งแรงขึ้น ทำให้พวกเขาเก่งขึ้น ฉลาดขึ้น
“ฉะนั้นเราอย่าเสียเวลากันอีกเลย ถ้าเรารู้ว่า ความสามารถ มันพัฒนาขึ้นได้ นี่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของเด็กทุกคน ที่จะมีสิทธิอยู่ในสถานที่ที่มีบรรยากาศในการพัฒนา และ สถานที่ที่เต็มไปด้วยคำว่า ยัง” แครอลทิ้งท้าย