- เด็กรุ่นนี้จะเป็นเด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีสื่อโซเชียลมีเดีย ทำให้เขาเรียนรู้และใช้เทคโนโลยีได้อย่างคล่องแคล่ว แต่หากไม่มีการเตรียมพร้อมที่ดี การใช้เทคโนโลยีอาจกลายเป็นดาบสองคมที่ทำให้เด็กสูญเสียทักษะบางอย่าง
- ในเด็กปฐมวัยพวกเขาควรเข้าถึงเทคโนโลยีให้ช้าที่สุด และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ควรอยู่หน้าจอ เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง และการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
- พ่อแม่ไม่ควรใช้หน้าจอเป็นสิ่งกระตุ้นให้ลูกทำอะไร โดยเฉพาะการให้ลูกดูหน้าจอเพื่อรับประทานอาหาร เพราะในเด็กปฐมวัยการทำอะไรหลายอย่างพร้อมกันอาจทำให้สมองเกิดอาการสับสน และเด็กอาจเลือกดูหน้าจอมากกว่ากินข้าว พ่อแม่ต้องป้อนอาหารแทน ทำให้ขาดโอกาสพัฒนากล้ามเนื้อหยิบจับอาหาร
ในปัจจุบันนี้คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘เทคโนโลยี’ เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรามากขึ้น แค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส เราทุกคนก็สามารถดูภาพยนตร์ ซีรีส์ และการ์ตูน, เล่นเกม, ซื้อ-ขายของ ทำธุรกรรมในธนาคาร ได้อย่างง่ายดายและรวดเร็ว โลกเปลี่ยนแปลงไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว สังคมก็เช่นกัน เราพยายามเดินให้เร็วขึ้นเพียงเพื่อหวังว่าเราจะก้าวทันคนอื่นๆ และสามารถควบคุมชีวิตของเราได้ดีขึ้น สำหรับพ่อแม่หลายท่าน พวกเรายังต้องพยายามก้าวไปข้างหน้าไปพร้อมๆ กับลูกของเราอีกด้วย
สำหรับเด็กๆ ที่เกิดยุคนี้ คือ เด็กเจนเนอเรชั่นอัลฟ่า (Generation Alpha) เด็กที่เกิดหลังปี พ.ศ.2553 / ค.ศ.2010 เป็นต้นมา เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีสื่อโซเชียลมีเดียแปลกใหม่มากมาย ทำให้พวกเขาเรียนรู้เร็ว คิดเร็ว ทำเร็ว และเป็นตัวของตัวเองสูง ด้วยเหตุนี้พ่อแม่ของลูกๆ ที่เกิดในยุคนี้จะต้องปรับตัวและเตรียมความพร้อม เพื่อที่จะรับมือกับลูกๆ ได้อย่างเหมาะสม
เทคโนโลยีไม่ใช่ผู้ร้ายที่แท้จริง: เหรียญสองด้านของเทคโนโลยี
แม้เทคโนโลยีจะได้มอบความรวดเร็วและความสะดวกสบายให้กับชีวิต แต่ก็ทำให้เราต้องสูญเสียบางอย่างไปเช่นกัน เช่น ความสามารถในการอดทนรอคอย, ความปราณีตละเมียดละไมในการมองเห็นคุณค่าของสิ่งรอบตัว, ความเห็นอกเห็นใจ และความสามารถในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนในชีวิตจริง
ดังนั้น ก่อนที่เราจะมอบเทคโนโลยีให้แก่เด็กๆ ผู้ใหญ่ควรพิจารณาความสำคัญของพัฒนาการเด็กในแต่ละวัย และการสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับเด็กก่อนที่จะมอบสิ่งนี้ให้กับเขา เพราะปัจจุบันพบว่า มีปัญหามากมายที่เกิดจากการที่เด็กได้รับและใช้เทคโนโลยีอย่างไม่เหมาะสม เช่น พัฒนาการล่าช้าในด้านต่างๆ โรคสมาธิสั้น (ADHD / ADD) โรคติดเกม (Gaming Disorder) โรคขาดธรรมชาติ (Nature Deficit Disorder: NDD) โรคซึมเศร้า(Depression) โรคหลงตัวเอง (Narcissistic Personality Disorder) และการกลั่นแกล้งในสังคมออนไลน์ (Cyber Bullying) เป็นต้น ปัญหาเหล่านี้หากทิ้งเอาไว้ นานวันจะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ยากเกินจะแก้ไข ชีวิตหนึ่งชีวิตอาจจะสูญเสียโอกาสที่เติบโตอย่างมีความสุข
เทคโนโลยีไม่ได้ทำร้ายเด็กโดยตรง แต่คือการส่งมอบเทคโนโลยีเหล่านั้นให้กับเด็กก่อนวัยอันควร และไม่สอนให้เขาใช้เทคโนโลยีอย่างถูกวิธีต่างหากที่ทำร้ายเขาโดยตรง สิ่งที่ผู้ใหญ่ควรทำ คือ การชะลอเวลาในการให้เด็กปฐมวัย (0 – 6 ปี) เข้าถึงเทคโนโลยีให้ช้าที่สุด ด้วยการส่งเสริมให้เขาทำกิจกรรมที่เหมาะสมตามวัย ไม่ว่าจะเป็นการเล่นกับเขา การอ่านหนังสือนิทานให้เขาฟัง การชวนเขาทำงานบ้าน และการสอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย
เพราะการเรียนรู้ที่ดีที่สุดของเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง ซึ่งเขาควรจะได้เรียนรู้จากของจริง และการลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
คำแนะนำในการใช้เทคโนโลยีสำหรับเด็กปฐมวัย
ถ้าหากเด็กปฐมวัยมีความจำเป็น (ย้ำว่าจำเป็นจริงๆ) ต้องใช้เทคโนโลยีเหล่านี้จริงๆ (ดูหน้าจอ) อ้างอิงจาก the American Academy of Pediatrics (AAP) แนะนำว่า
ข้อที่ 1 เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 เดือนไม่ควรดูหน้าจอใดๆ เลย มากที่สุดที่เด็กวัยนี้สามารถเข้าถึงหน้าจอ คือ อาจจะแค่เป็นวีดีโอคอลเพื่อให้คนไกลได้เห็นลูกหลานของตัวเองเท่านั้น ในกรณีอื่นควรหลีกเลี่ยงโดยเด็ดขาด
ข้อที่ 2 เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 18 เดือน ถึง 2 ปี ถ้าหากมีความจำเป็น (จำเป็นมากๆ ไม่ใช่ดูเพื่อเป็นการผ่อนคลายหรือเล่นสำหรับเด็ก) เป็นต้องดูหน้าจอจริงๆ ไฟล์นั้น (วิดีโอนั้น) ต้องมีคุณภาพความละเอียดสูง และมีผู้ใหญ่คอยควบคุมกำกับดูแลตลอดเวลา ระยะเวลาในการดูแต่ละครั้งไม่ควรเกิน 5 นาที ในหนึ่งวันไม่ควรเกิน 1 ครั้ง
ข้อที่ 3 เด็กที่มีอายุ 2 – 5 ปี ถ้าหากจำเป็นจริงๆ ที่ต้องดูหน้าจอ ผู้ใหญ่ควรให้การกำกับดูแลตลอดเวลา และระยะเวลาในการดูไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมงต่อ 1 วัน และรายการ หรือ application นั่นควรมีเนื้อหาเหมาะสมกับวัยของเด็ก
ข้อที่ 4 เด็กที่มีอายุ 6 ปีขึ้นไปควรได้รับการจำกัดเวลา ตามตารางกิจกรรมต่อวันที่เหมาะสมของเด็ก (เด็กๆ ควรทำกิจวัตรประจำวันที่สำคัญต่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเขาก่อนการมาดูหน้าจอ เช่น การกินข้าว อาบน้ำ แปรงฟัน เก็บที่นอน ทำงานบ้าน ทำการบ้าน หน้าจอควรมีไว้สำหรับเวลาว่าง ไม่ใช่เวลาหลักในชีวิตของเขา) และควรอยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่อย่างใกล้ชิดเช่นกัน (เราสามารถดูไปพร้อมกับเขา หากมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เราสามารถสอนสอดแทรกเข้าไปได้ในทันที เพราะบางครั้งเราไม่สามารถห้ามเขาไม่ให้ดูได้ ถึงห้ามเขาก็ไปดูได้จากที่อื่นอยู่ดี เช่น ไปดูกับเพื่อน หรือฟังเพื่อนเล่ามา สู้เราดูไปพร้อมเขาเลยเสียดีกว่า)
เทคโนโลยีไม่สามารถทดแทน ‘เวลาคุณภาพระหว่างพ่อแม่ลูก’ ได้
เด็กทุกคนต้องการเวลาคุณภาพจากพ่อแม่ ไม่ใช่่พี่เลี้ยงหน้าจอ พวกเขาต้องการสัมผัสรักจากพ่อแม่ของตัวเอง ทั้งสายตาจากพ่อแม่ที่มองมา มือของพ่อแม่ที่พร้อมจะกอดพวกเขาด้วยรัก และการใช้เวลาร่วมกัน โดยไม่มีหน้าจอหรือสิ่งใดมาแย่งความสนใจของพ่อแม่จากพวกเขาไป
โต๊ะอาหาร: เขตปลอดหน้าจอ
ปัญหาสุดคลาสสิคของพ่อแม่ยุคเทคโนโลยี ‘ในวันที่พ่อแม่ให้หน้าจอเป็นพี่เลี้ยงของลูก’
“ลูกไม่ยอมกินข้าวเอง”
“ลูกไม่กินข้าว ถ้าไม่เปิดการ์ตูนให้ดู”
“ลูกอมข้าว”
“ลูกกินข้าวช้า”
“เราไม่มีปฏิสัมพันธ์กันในครอบครัว”
ฯลฯ
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ เป็นผลลัพธ์ปลายเหตุของการดูหน้าจอระหว่างมื้ออาหาร ‘หน้าจอ’ ในที่นี้หมายรวมตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ, โทรทัศน์, แท็บเล็ต, ไอแพดต่างๆ ผู้ใหญ่มักใช้หน้าจอเป็นเงื่อนไขในการให้ลูกอยู่นิ่งๆ หรือ ใช้หน้าจอเป็นตัวช่วยระหว่างมื้ออาหาร
เหตุผลที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ไม่ควรดูหน้าจอระหว่างมื้ออาหาร
- เราอาจพลาดโอกาสสำคัญในการปฏิสัมพันธ์กับคนในโต๊ะอาหารของเรา การใช้เวลาร่วมกันบนโต๊ะอาหารถือเป็นโอกาสดีที่เราจะใช้ เวลาคุณภาพ กับลูกและคนในครอบครัว โอกาสที่เราจะได้พูดคุย แลกเปลี่ยนเรื่องราวในแต่ละวันที่เกิดขึ้น หากเรามัวแต่ก้มหน้าดูหน้าจอ เราคงไม่มีโอกาสได้สบตาอีกฝ่าย ได้มองเห็นการเติบโต และเรื่องราว ความรู้สึกที่อีกฝ่ายอยากจะเล่าให้เราฟัง อีกทั้งเราไม่มีโอกาสจะได้เล่าเรื่องราวของเราเองให้อีกฝ่ายฟังด้วย
นานวันกำแพงที่มองไม่เห็นด้วยตาจะค่อยก่อตัวขึ้นช้าๆ เมื่อรู้ตัวอีกที แม้จะนั่งใกล้กัน แต่เหมือนกลับห่างไกลกันเหลือเกิน ดังนั้น หากเรารู้ตัวแล้ว ลองเป็นคนแรกที่เริ่มวางหน้าจอลง และหันกลับมามองคนในครอบครัวของเรา
- เราอาจกลายเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีให้กับลูก หากเราอยากสอนให้ลูก ‘ทำทีละอย่าง’ ‘กินข้าวด้วยตัวเอง’ และ ‘ปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น’ พ่อแม่ก็ควรเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับลูก ถ้าพ่อแม่ยังดูหน้าจอระหว่างมื้ออาหาร คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกให้ลูกไม่ดูหน้าจอและกินข้าว ดังนั้น เราควรเก็บหน้าจอไปก่อน และกินข้าวกับลูกด้วยรอยยิ้มดีกว่า
- เราอาจพลาดโอกาสที่ได้เติมเต็มและมองเห็นการเติบโตของลูกไม่ใช่แค่เพียงการใช้หน้าจอระหว่างมื้ออาหาร แต่การใช้หน้าจอระหว่างที่ใช้เวลาอยู่กับลูกของเรา เด็กๆ โตเร็วกว่าที่เราคิดนัก แค่ผ่านไปจากวันนี้ เป็นพรุ่งนี้ พวกเขาก็มีอะไรให้เราประหลาดใจเสมอ หากเราใช้สายตาของเรากับหน้าจอ มากกว่าลูกของเรา เราอาจจะพลาดโอกาสที่จะได้เห็นพวกเขาเติบโต เด็กๆ ต้องการความสนใจจากพ่อแม่มาก พวกเขาต้องการสายของเราที่มองดูเขาอยู่ไม่ห่าง ต้องการการตอบสนองของเรา หากพวกเขาได้รับอย่างเหมาะสม พื้นฐานทางจิตใจของพวกเขาจะได้รับการเติมเต็ม ทำให้มีความมั่นคง และพร้อมที่จะเติบโตไปขั้นต่อไป
ทำไมเราไม่ควรให้เด็กๆ ดูหน้าจอระหว่างมืออาหาร (หรือไม่ควรให้เด็กเล็กดูหน้าจอเลย)
- เด็กๆ จะพลาดโอกาสที่ได้ฝึกฝนทักษะการช่วยเหลือตัวเอง (Self help) และพัฒนากล้ามเนื้อมัดเล็ก-ใหญ่ ทักษะการช่วยเหลือตัวเองแรกในชีวิตของเด็กๆ คือ การกินข้าวด้วยตัวเอง แม้จะยังใช้อุปกรณ์ไม่เป็น แต่เด็กๆ สามารถใช้สายตามองอาหาร และใช้มือของเขาจับอาหารป้อนเข้าปากตัวเองได้ตั้งแต่วัยประมาณ 9 เดือน และเมื่อพวกเขาเคยชินกับการหยิบจับอาหาร และมือของเขาทำงานประสานกับตาแล้ว (Eye-hand coordination) เด็กๆ จะสามารถมองอาหารที่ต้องการ แล้วใช้ช้อน – ส้อม ตัก – จิ้มอาหารเข้าปากตัวเองได้
แต่ถ้าเด็กๆ ใช้ “สายตา” ของพวกเขาไปกับการดูหน้าจอ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ พวกเขาไม่สามารถใช้สายตาประสานกับมือของเขาเพื่อตักอาหารเข้าปากได้ สิ่งที่ตามมา คือ เด็กๆ จะรอให้ผู้อื่นป้อนพวกเขา เพราะถ้าให้เด็กเล็กๆ เลือกว่า ระหว่างกินข้าวกับดูหน้าจอ พวกเขาส่วนใหญ่ย่อมเลือกดูหน้าจอมากกว่า เมื่อเด็กๆ เข้าโรงเรียน หรือไปกินข้าวในที่สาธารณะ ปัญหาที่จะเกิดขึ้น คือ ถ้าหากไม่มีคนป้อนเขา เขาจะช่วยเหลือตัวเองได้ยากลำบากกว่าเด็กวัยเดียวกับเขา หรือเมื่อทำได้ไม่ดี ความมั่นใจในตัวเองอาจจะถูกบั่นทอนโดยที่ไม่รู้ตัว เมื่อกลับมาบ้าน ความรู้สึกที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้เขากลายเป็นที่เอาแต่ในที่บ้านมากขึ้น เพราะเมื่ออยู่นอกบ้าน เขาทำอะไรไม่ได้ดั่งใจเขานั่นเอง
ดังนั้น เราไม่ควรให้หน้าจอ (และของเล่นอื่น) อยู่บนโต๊ะอาหาร เพื่อให้เด็กๆ ได้กินข้าวของพวกเขาด้วยตัวเอง สำหรับเด็กที่มีร่างกายปกติ ไม่มีโรคประจำตัว หรือโรคแทรกซ้อนที่เกี่ยวกับการกิน ผู้ใหญ่สามารถกำหนดเวลาอาหารแต่ละมื้อไว้ที่ 30 นาที ทุกคนนั่งที่เก้าอี้ของตัวเองและกินข้าวร่วมกัน
ที่สำคัญผู้ใหญ่ไม่ควรพูดบ่น หรือตำหนิหากเด็กกินได้น้อย หรือไม่ยอมกินบางสิ่ง เรามีหน้าที่เชิญชวน พูดคุย และจัดเตรียมอาหารให้ครบห้าหมู่ ถ้าพวกเขาไม่ยอมกิน หรือกินไม่หมด ไม่เป็นไร หมดเวลาก็เก็บอาหาร ไม่มีของว่าง และนมระหว่างมื้อถัดไป เพื่อให้เด็กๆ เรียนรู้ที่จะกินอาหารหลักเป็นสำคัญ เพราะโต๊ะอาหารไม่ควรเป็นสมรภูมิรบระหว่างเรากับลูก ช่วงเวลากินข้าวร่วมกันควรเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่มีความหมาย และการดูหน้าจอไม่ควรเป็นเงื่อนไขหรือข้อต่อรองให้ลูกต้องกินข้าว เพราะการกินข้าวเป็นสิ่งจำเป็น เป็นหน้าที่ที่เด็กๆ ต้องทำอยู่แล้ว
- เด็กๆ ควรเรียนรู้ที่จะทำทีละอย่างอย่างเต็มที่ในช่วงเวลาหนึ่ง เพื่อที่เขาจะสามารถเรียงลำดับความสำคัญก่อน – หลังได้ การให้เด็กๆ ดูหน้าจอไปด้วย กินข้าวไปด้วย จะเป็นการทำให้สมองของพวกเขาต้องทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน (Multi – Tasking)
สำหรับเด็กๆ แล้ว พวกเขาเพิ่งจะเริ่มต้นฝึกใช้กล้ามเนื้อมัดเล็ก – ใหญ่ และทักษะการช่วยเหลือตัวเอง ทำให้ระยะเวลาในการจดจ่อของพวกเขายังไม่ได้มีมากเท่ากับผู้ใหญ่ การที่เขาต้องทำหลายสิ่งพร้อมกัน ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการพัฒนาด้านร่างกาย และความคิดของเขา เมื่อทำหลายอย่างพร้อมกันสิ่งที่เกิดขึ้นในสมองของเด็กๆ คือ สมองจะสับสนว่า ‘สิ่งใดสำคัญกว่ากัน’ ส่งผลให้เด็กๆ อาจจะเรียงลำดับความสำคัญก่อน – หลังไม่ได้ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้ เมื่อทำหลายอย่างพร้อมกัน ย่อมไม่สามารถให้การจดจ่ออย่างเต็มที่กับงานแต่ละงานได้ ส่งผลให้เด็กๆ อาจจะทำแต่ละอย่างได้ไม่ดีสักอย่าง ที่สำคัญทำงานแต่ละอย่างให้เสร็จภายในเวลา ก่อนจะไปทำอย่างอื่นที่อยากทำ เป็นหนึ่งในการฝึกฝนที่จะทำให้เด็กๆ เกิดทักษะการยับยั้งชั่งใจ เรียงลำดับความสำคัญก่อน – หลัง พวกเขาจะเรียนรู้ว่า สิ่งจำเป็น (Need) ต้องมาก่อนสิ่งที่ต้องการ (Want) เสมอ
เมื่อฟังแบบนี้พ่อแม่อาจกังวลว่า ในอนาคต หากเด็กๆ ต้องรับมือกับงานหลายๆ อย่างพร้อมกัน เขาจะสามารถทำได้ไหม เมื่อร่างกายและจิตใจของเขาได้รับการพัฒนาตามวัย ความคิดของพวกเขาจะเติบโตได้อย่างเหมาะสม เด็กๆ จะคิดวางแผน และจัดการเวลาได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น
- เวลาอาหาร ควรเป็นอีกหนึ่งเวลาคุณภาพที่พ่อแม่และผู้ใหญ่มีให้กับเด็กๆ โอกาสทองที่เด็กๆ จะได้ปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่และคนในครอบครัว ได้มองหน้าสบตา พูดคุย แลกเปลี่ยน เรียนรู้ที่จะรับฟังซึ่งกันและกัน ในวัยรุ่นเวลากินข้าวอาจจะเป็นเวลาเดียวที่ลูกนั่งลง พ่อแม่นั่งลง และได้มองเห็นซึ่งกันและกัน
แม้เวลาอาหารจะเป็นเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่หากพ่อแม่และผู้ใหญ่ทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงเวลาที่อบอุ่นและมีความหมาย เมื่อเด็กๆ เติบโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ พวกเขาจะจดจำช่วงเวลาดีๆ เหล่านี้ติดตัวเขา และส่งต่อไปให้กับเด็กๆ หรือลูกๆ ของพวกเขาในอนาคต
สร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้กับลูกปฐมวัย
เทคโนโลยีและสื่อออนไลน์ในปัจจุบันนั้นมีมากมาย บางครั้งก็มีอันตรายแฝงมาด้วย พอ่แม่อาจมีคำถามว่า ‘เราจะดูแล และปกป้องลูกจากสื่อเหล่านี้ ได้อย่างไร’ เราไม่สามารถปกป้องลูกโดยการกีดกันไม่ให้เขาใช้เทคโนยีหรือดูสื่อเหล่านั้นได้ตลอดชีวิตของเขา แต่เราสามารถสร้างภูมิคุ้มกันทางใจให้ติดตัวลูกเราไปจนโตได้
ขั้นที่ 1 สร้างสายสัมพันธ์กับลูก
สายสัมพันธ์ที่ดี เกิดจากการมีเวลาคุณภาพให้ลูก เล่นกับลูก อ่านหนังสือนิทานให้ลูกฟัง สอนสิ่งต่างๆ ที่สำคัญให้กับเขา สัมผัสรัก รับฟัง และเคียงข้าง
หากเราจำเป็นต้องทำงาน ขอให้ยึดความคิดคุณภาพสำคัญกว่าปริมาณ ดังนั้น เวลาอันน้อยนิดที่เรามีในแต่ละวันกับลูก ขอให้เราใช้อย่างมีคุณภาพที่สุด วางทุกอย่างลง มีสายตาทั้งสองมองไปที่ลูก กอดเขา เล่นกับเขา และรับฟังเขา
ในกรณีที่ยากที่สุด คือ เราไม่สามารถกลับบ้านไปหาลูกได้ในทุกๆ วัน ให้เราใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ ด้วยการโทรศัพท์ไปหาลูก หรือจะเป็นการวิดีโอคอลไปหาเขาทุกวัน เวลาเดิม สม่ำเสมอ เพื่อให้ลูกรับรู้ว่า พ่อแม่ยังรักและคิดถึงเขาอยู่ เมื่อใดที่มีโอกาสกลับไปหาลูก ให้ใช้ช่วงเวลานั้นกับเขาให้ดีที่สุด
เมื่อสายสัมพันธ์ระหว่างเรากับลูกแข็งแกร่ง เราเป็นพ่อแม่ที่มีอยู่จริงสำหรับลูก และลูกจะรับรู้ว่าเขาเองก็มีอยู่จริงสำหรับเราด้วยเช่นกัน
ขั้นที่ 2 สร้างโครงสร้างให้ลูกได้ยึดเหนี่ยว
เมื่อสายสัมพันธ์แข็งแกร่งแล้ว ขั้นนี้เด็กๆ ควรมีโครงสร้างให้เขายึดเป็นหลักอ้างอิงในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ในชีวิต นั่นคือ สอนให้เขาช่วยเหลือตัวเองตามวัย สอนวินัยที่สำคัญ และการมีกติการ่วมกันภายในครอบครัวที่ชัดเจนเช่น กฏ 3 ข้อ: ไม่ทำร้ายผู้อื่น ไม่ทำร้ายตัวเอง ไม่ทำลายข้าวของ, เวลากินข้าวร่วมกัน คือ เวลาที่คนทั้งบ้านงดใช้หน้าจอ เป็นต้น ก่อนจะถึงวันที่ลูกใช้เทคโนโลยีอย่างอิสระ เขาควรจะที่เรียนรู้การควบคุมตัวเอง และความสำคัญของการใช้ชีวิตก่อน เพื่อที่ลูกจะสามารถเรียงลำดับความสำคัญก่อน-หลังได้อย่างดี
ขั้นที่ 3 สร้างความมั่นใจให้กับลูก
สายสัมพันธ์ดี (เขามีที่พึ่งทางใจคือพ่อแม่ของเขา) วินัยมี (มีหลักในการดูแลชีวิตตัวเอง) ขั้นนี้พ่อแม่ควรให้โอกาสลูกในการทำสิ่งต่างๆ ด้วยตนเอง เพื่อให้เขาเรียนรู้ว่า ตนเองทำสิ่งใดได้บ้าง มีข้อจำกัดใดบ้าง เพื่อให้เขามีความมั่นใจในตนเอง ส่งเสริมความมั่นคงในใจเขา
สิ่งแรกๆ ที่เด็กๆ สามารถทำได้ด้วยตัวเอง คือ การช่วยเหลือตัวเองตามวัย เช่น กินข้าวเอง อาบน้ำเอง แปรงฟันเอง แม้ว่าพวกเขาอาจจะทำได้ไม่ดีเทียบเท่าผู้ใหญ่ แต่การได้ลงมือทำสิ่งต่างๆ ด้วยตัวเองนั้น ทำให้เด็กๆ รับรู้ความสามารถของตนเองได้อย่างดี ที่สำคัญเมื่อปล่อยให้พวกเขาลงมือทำเองแล้ว ผู้ใหญ่สามารถให้ความช่วยเหลือหรือทำซ้ำย้ำเตือนในภายหลังได้
ขั้นที่ 4 สอนให้ลูกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเสมอ
เมื่อเขาได้มีโอกาสตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ ดูแลชีวิตตนเอง เมื่อเกิดความผิดพลาด เราควรสอนให้เขาเผชิญกับมัน ไม่หนีปัญหา ไม่โทษคนอื่น และรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ด้วยตนเอง พ่อแม่จะช่วยหนุนหลังเขา แต่ไม่เป็นกองหน้าแน่นอน
ขั้นที่ 5 มอบความไว้วางใจ และเป็นผู้สนับสนุนเบื้องหลังของลูก
สุดท้ายเขาจะเรียนรู้การดูแลตนเองและคนรอบข้าง เขาจะไม่ทำให้ตนเองหรือใครเดือดร้อน ในวันที่เป็นผู้ใหญ่ ลูกเราอาจจะยังเล่นเกมเหมือนเดิม แต่เขาจะดูแลตัวเองให้ไปทำงานและไม่ทำให้ชีวิตตัวเองพังได้ หรือทุกวันนี้อาจจะมีวัยรุ่นมากมายใช้ facebook หรือดูซีรีส์ใน Netflix แต่เขาสามารถควบคุมตัวเองให้ทำวิทยานิพนธ์ส่งอาจารย์ตรงเวลา ไปสอบตรงวัน และรับผิดชอบตนเองได้ ณ จุดนี้พ่อแม่คงถึงคราที่ต้องปล่อยวางจากเขา เพราะเราไม่สามารถห้ามพวกเขาดูหน้าจอได้ แต่เราสามารถสอนเขาให้รับผิดชอบต่อหน้าที่และชีวิตของตนเองได้
ถ้าหากวันนี้ลูกของเราเป็นวัยรุ่นแล้ว อย่าคิดไปต่อกรฝืนบังคับหักดิบห้ามใช้เด็ดขาด เพราะวัยรุ่นอาจจะยอมหักแต่ไม่ยอมงอ เราควรเข้าใจโลกของเขาก่อน ถ้าเขาดูแลกำกับชีวิตตนเองได้ เราควรไว้ใจเขาให้มากขึ้น แต่ถ้าชีวิตลูกยุ่งเหยิง เราก็ไม่ควรเอากรรไกรไปตัดฉับอยู่ดี การแก้ปมนั้น เราควรเข้าไปหาเขาด้วยความเข้าใจ รับฟัง ไม่ใช่การโทษเขาหรือเทคโนโลยี (เพราะเราเองก็อาจจะเป็นหนึ่งในปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ลูกเราเป็นเช่นนั้นด้วย) การโทษกันไม่นำไปสู่หนทางการแก้ปัญหา แต่การหาทางออกร่วมกันต่างหากที่จะช่วยให้ปัญหาได้รับการคลี่คลาย
สุดท้าย สิ่งที่พ่อแม่และผู้ใหญ่ควรตระหนักอยู่เสมอ คือ สำหรับเด็กๆ แล้ว เทคโนโลยีไม่สามารถแทนที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่รักเขาได้ เด็กๆ ต้องการเวลาคุณภาพจากผู้เลี้ยงดู ไม่ใช่พี่เลี้ยงหน้าจอ ที่สำคัญการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ วัตถุจริง และคนจริงๆ มีความสำคัญต่อการพัฒนาร่างกายและจิตใจของเด็กๆ เป็นอย่างมาก ยิ่งไปกว่านั้นในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาแทรกแซงในทุกๆ ส่วนของสังคม ทำให้เด็กๆ ยุคนี้มีความจำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านอารมณ์ และการบริหารจัดการความคิด ซึ่งถือเป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน เพื่อให้เขาสามารถเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่เข้าใจตนเอง และพร้อมที่จะเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข