- วินัยเชิงบวกจะเป็นการรักษาตัวตนของลูกเอาไว้ ตีความพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทนแล้วจบด้วยประโยคคลาสสิคที่ว่า “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตของเขาเอง
- วิธีการปลอบมีกุญแจสำคัญมากๆ อย่างหนึ่งเลยก็คือ ‘อารมณ์ของลูก’ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงอารมณ์ของลูกเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเมื่อเขาอารมณ์ค่อยๆ เย็นลงจนอยู่ในระดับปกติแล้ว จึงค่อยตามด้วยการสอน
- เมื่อลูกทำดีก็ชมให้ถึงคุณค่า เช่น ลูกถือน้ำมาให้ คุณค่าที่เกิดขึ้นคืออะไร นอกจากความน่ารักแล้วลูกยังเป็นคนมีน้ำใจ
เมื่อลูกแสดงพฤติกรรมที่ไม่น่ารัก เช่น โกรธจนถึงขั้นขว้างปาข้าวของ ตีน้องหรือตีเพื่อนโดยอาจไม่ได้ตั้งใจแต่ทำไปเพราะอารมณ์โกรธ หรือในช่วงวัยหนึ่งที่เขาอยากรู้อยากลองทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ย่อมเป็นธรรมดาที่คนเป็นพ่อเป็นแม่จะห่วงจนเผลอห้ามหรือแสดงความรู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันเป็นเรื่องไร้สาระ
พ่อแม่ไม่ใช่ ‘ผู้ปกครอง’ แต่ควรเป็น ‘ผู้ประคอง’ ให้ทั้งลูกและตัวเองด้วย คำว่าประคองในที่นี้หมายถึง เมื่อเจอสถานการณ์ดังกล่าวสิ่งที่พ่อแม่ควรทำเป็นอันดับแรกคือการประคองอารมณ์ตัวเอง ประคองอารมณ์ลูก นี่เป็นหนึ่งในหน้าที่สำคัญ
“ปลอบก่อน สอนที่หลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกให้กับลูกที่ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร หรือครูหม่อม อาจารย์ประจำสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้เชี่ยวชาญด้านสมอง จิตใจ และความสัมพันธ์ในเด็ก วัยรุ่น พ่อแม่ อยากชวนให้ทำความเข้าใจและไขรหัสการสื่อสารที่สำคัญในครอบครัว เพื่อจะได้นำไปใช้ในการเลี้ยงลูก ผ่านคำถามชวนคิดที่เชื่อว่าหลายครอบครัวน่าจะต้องเคยเผชิญกันมาบ้าง ในเวทีวิชาการ ‘โครงการครอบครัวไทยไร้ความรุนแรง ครั้งที่ 3’ โดยศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน)
อย่ามองข้ามอารมณ์ของลูก
หากเราเห็นว่าลูกกำลังโกรธอยู่ แล้วตีเพื่อน เราจะเข้าไปพูดกับลูกว่าอย่างไร?
นี่คือโจทย์คำถามข้อแรกที่ครูหม่อมชวนคิด คุณพ่อคุณแม่ลองทบทวนดูว่าเมื่อครั้งที่เจอสถานการณ์เช่นนี้ หรือลองจินตนาการว่าถ้ากำลังเจอสถานการณ์นี้อยู่ ปฏิกิริยาแรกที่เราเองจะตอบสนองต่อลูกเป็นแบบไหน โดยครูหม่อมมีตัวเลือกให้ 4 ข้อ ดังนี้
1. ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ
2. ตีเพื่อนทำไม
3. เกิดอะไรขึ้น เราทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะ
4. อื่นๆ
ซึ่งครูหม่อมกำลังพาคุณพ่อคุณแม่มาไขรหัสจุดตัดระหว่างวินัยเชิงบวกกับวินัยเชิงลบไปพร้อมๆ กัน เริ่มที่ตัวเลือกข้อแรก “ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ”
“ถ้าเราเป็นลูก เราโกรธแล้วเราก็ตีเพื่อน พ่อแม่ก็เดินมาบอกว่า ตีเพื่อนไม่ได้นะลูก เพื่อนเจ็บ เรา(พ่อแม่) เป็นพวกของเพื่อนลูก แม่บอกว่าเพื่อนเจ็บ…แล้วความโกรธของหนูละ กลายเป็นว่าพ่อแม่มองข้ามความรู้สึก มองข้ามตัวตนของลูกไป ลูกก็จะรู้สึกว่าพ่อแม่พึ่งไม่ได้ เพราะพ่อแม่ไม่ได้สร้างความปลอดภัยทางจิตใจให้ลูกเลย”
ตัวเลือกต่อมา “ตีเพื่อนทำไม” คำตอบนี้พ่อแม่เข้ายังคงเป็นพวกของเพื่อนลูกอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งคำถามหลังจากที่ลูกมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมทั้งสองข้อนี้ เป็นคำถามที่ไม่ได้ต้องการคำตอบ แต่เป็นคำถามเชิงตำหนิมากกว่า
ส่วนข้อที่สาม “เกิดอะไรขึ้น เราไม่ทำร้ายผู้อื่นนะ” ฟังดูเหมือนว่าเป็นการถามถึงเหตุการณ์และสอนไปในตัว แต่พ่อกับแม่ก็ยังคงเป็นพวกของเพื่อนอยู่ดี เพราะฉะนั้นคำตอบทั้งสามข้อนี้เป็นวินัยเชิงลบ เนื่องจากทำร้ายทั้งความรู้สึกลูก และทำร้ายตัวตนของลูก ด้วยมองข้ามอารมณ์ลูกไปโดยอาจตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แล้วควรจะทำอย่างไรดี? เทคนิค ‘ปลอบก่อน สอนทีหลัง’ ที่ครูหม่อมพูดถึงนั้นทำอย่างไร
“ในทุกๆ สถานการณ์เราจะมีสองเหตุการณ์เกิดขึ้นเสมอ นั่นคือ อารมณ์ของลูก และพฤติกรรมของลูก ซึ่งพฤติกรรมอาจเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมก็ได้ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอนว่าเราจะต้องสอน อย่างในกรณีนี้ ลูกโกรธคืออารมณ์ของลูก แล้วลูกตีเพื่อน แน่นอนว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่สมควร แต่วินัยเชิงบวกบอกว่า ขอให้ปลอบก่อน แล้วค่อยไปสอนทีหลัง วิธีการปลอบให้ปลอบไปที่อารมณ์ของลูก เราสามารถบอกได้เลยว่า พ่อเข้าใจ/แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน”
กุญแจสำคัญที่จะทำให้เทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกประสบความสำเร็จในข้อนี้ก็คือ (.) จุดฟูลสต็อป (full stop) หรือมหัพภาค หรือเครื่องหมายจุด หมายถึงการจบประโยค เช่นในกรณีนี้
“แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน. อึบแล้วจุดฟูลสต็อปเอาไว้ บางครั้งเรานำไปใช้เราอาจจะเผลอ แล้วก็ติดชินวิธีการเดิม เช่น แม่เข้าใจว่าหนูโกรธ หนูเลยตีเพื่อน แต่! หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ด้วยน้ำเสียงที่แฝงไปด้วยอารมณ์คล้ายจะตำหนิลูกโดยไม่รู้ตัวนี้ ทำให้พ่อแม่เผลอทำร้ายความรู้สึกลูก ดังนั้นตั้งแต่คำว่า แต่หนูจะไปทำร้ายคนอื่นไม่ได้นะลูก ขอให้กลืนมันลงไปก่อน เพราะว่าเดี๋ยวเราไปปลอบทีหลัง”
โดยวิธีการปลอบมีกุญแจสำคัญมากๆ อย่างหนึ่งเลยก็คือ ‘อารมณ์ของลูก’ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องนึกถึงอารมณ์ของลูกเป็นอันดับแรก หลังจากนั้นเมื่อเขาอารมณ์ค่อยๆ เย็นลงจนอยู่ในระดับปกติแล้ว จึงค่อยตามด้วยการสอน ซึ่งกุญแจสำคัญของการสอนก็คืออารมณ์อีกเช่นเดียวกัน
“ไม่ใช่แค่อารมณ์ของลูกอย่างเดียวที่ค่อยๆ ลง แล้วค่อยๆ สอน แต่เป็นอารมรณ์ของพ่อแม่ด้วย ก่อนสอนลูก เทคอารมณ์ลูก เทคอารมณ์ตัวเอง หากว่าเราพร้อมที่จะสอนไปที่หลักการสอนเลย เมื่อเย็นทั้งคู่แล้วค่อยสอน”
สำหรับวิธีการสอนที่ครูหม่อมแนะนำก็คือ ‘การตั้งเป้าหมายในการสอน’ และ ‘การตั้งคำถาม’ ทั้ง 2 ตั้งนี้คือทริคเล็กๆ ที่ใช้ได้จริง โดยการตั้งเป้าหมายในการสอน อย่างกรณีที่ลูกโกรธแล้วตีเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ต้องตั้งเป้าหมายว่า อยากจะสอนลูกเรื่องอะไร ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องของการควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตัวเอง เมื่อโกรธแล้วเราจะจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร และเมื่อตั้งเป้าหมายได้แล้ว จึงนำไปสู่การตั้งคำถามกับลูก เช่น คราวหน้าถ้าหนูโกรธ แทนที่จะตีเพื่อนหนูว่าหนูจะทำอย่างไรได้บ้าง? หากถามเช่นนี้เขาจะได้คิดทบทวนถึงการกระทำนั้นด้วยตัวเอง
“คำถามเหล่านี้นอกจากลูกจะได้เรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหา ได้เรียนรู้ว่าความผิดพลาดของตัวเองเป็นอย่างไร และจะนำไปสู่ทางออกอย่างไรแล้ว ลูกยังเรียนรู้ด้วยว่าเขาเป็นคนที่พ่อแม่ยังเชื่อมั่น เชื่อใจ และก็ยังเห็นความสามารถของเราอยู่ พ่อแม่ก็เลยถามเรา นี่ก็คือไขรหัสว่าทำไมเราต้องปลอบก่อน สอนทีหลัง”
ฟังแล้วตีความ แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทน
คำถามข้อต่อไปเป็นคำถามของลูกๆ วัยรุ่น ถามว่า… หากลูกวัยรุ่นเดินเข้ามาบอกว่า “อยากมีแฟน” จะพูดกับลูกว่าอย่างไร?
1.ยังไม่ถึงเวลา
2.เรียนก่อน
3.อย่า! แก่แดด
4.อื่นๆ
“ต้องบอกว่าคำตอบข้อที่ 1-3 เป็นคำตอบอันดับแแรกๆ เลยที่คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่มักจะใช้ตอบลูกกัน ข้อที่หนึ่ง ยังไม่ถึงเวลา ถามว่าใครเป็นคนตัดสิน ก็คือเราที่เป็นพ่อแม่ ข้อที่สองเรียนก่อน เราก็เป็นคนตัดสินอีก ข้อที่สามอย่า! แก่แดด เราตัดสินทั้งนั้นเลย ข้อสามนี่ร้ายแรงมากนะคะ นอกจากเราไปตัดสินแล้วเรายังไปตีตราเขาอีก อันนี้เป็นความรุนแรงทางจิตใจมากๆ เลย ต้องบอกว่าทั้งสามข้อนี้ก็เป็นวินัยเชิงลบ”
หากเป็นวินัยเชิงบวกจะเป็นการรักษาตัวตนของลูกเอาไว้ ตีความพฤติกรรมที่เขาแสดงออกมา แต่ไม่ตีตรา ไม่ตัดสิน และไม่คิดแทน แล้วจบด้วยประโยคคลาสสิกที่ว่า “แม่อาบน้ำร้อนมาก่อน” แต่จะให้ลูกเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการชีวิตของเขาเอง
“ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าพฤติกรรมของลูกที่แสดงออกมา ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือว่าพฤติกรรม เราจะต้องตีความหมายให้ได้ว่าเขารู้สึกอย่างไร แต่เราไม่ตีตรา เราจะอนุญาตลูกให้ได้มีความรู้สึกทุกความรู้สึก ไม่ว่าความรู้สึกนั้นจะเป็นความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดี เราอนุญาตให้ลูกชอบได้เราก็อนุญาตให้ลูกไม่ชอบได้ เราอนุญาตให้ลูกดีใจได้เราก็อนุญาตให้ลูกเสียใจได้ อนุญาตให้ลูกอิจฉาได้ อนุญาตให้ลูกเกลียดได้ อนุญาตให้ลูกโกรธได้ เพราะความรู้สึกของลูกมันไม่มีถูกไม่มีผิด มันเป็น feeling มันเป็นความรู้สึก หน้าที่เราอนุญาตให้ลูกรู้สึกได้ทุกความรู้สึก แต่เราจะสอนเขาให้จัดการกับความรู้สึกและแสดงออกอย่างเหมาะสม”
ดังนั้นพ่อแม่จึงควรฟังลูกให้มาก เพราะหากยิ่งฟังลูกก็จะยิ่งรู้จักลูกมากขึ้น ในทางตรงกันข้ามหากพ่อแม่พูดออกไปว่า “แก่แดด” ครั้งหน้าหากลูกมีอะไรคงไม่อยากบอก ไม่อยากคุยกับพ่อแม่ เพราะเหมือนกับว่าพ่อแม่ได้ตีตราไปแล้วว่าลูกนั้นแก่แดดแม้อาจจะไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
เพราะฉะนั้น “การที่เราจะรู้จักลูก คือ การเริ่มต้นที่การฟัง และจบที่การยอมรับ”
ชมให้ถึงคุณค่า เพื่อสร้างตัวตนที่มีคุณค่า
และคำถามข้อสุดท้ายถามว่า… เมื่อลูกถือน้ำมาให้เรา จะบอกลูกว่าอย่างไร
1.ขอบคุณมากลูก
2.เอาใจพ่อแม่แบบนี้ อยากได้อะไร
3.น่ารักจังเลย
4.อื่นๆ
แน่นอนว่าคำตอบคือข้อสุดท้าย แต่ถามว่าข้อที่ 1-3 นั้น จะเป็นวินัยเชิงลบได้อย่างไร ครูหม่อมอธิบายว่า
“ไม่เชิงเป็นวินัยเชิงลบแต่ครูหม่อมคิดว่าการลูกถือน้ำมาให้เรา แล้วเราชมว่าน่ารักมาก หรือบอกว่าขอบคุณ คำขอบคุณถือว่าเราเป็นตัวอย่างที่ดี แต่ทำให้เสียโอกาส”
“คำชมที่ว่าน่ารักมาก ไหนๆ จะชมแล้วให้ลูกรู้ตัวว่าน่ารักอย่างเดียวไหม ก็จะเสียโอกาส ครูหม่อมอยากให้ชมสุดซอยไปเลย ชมสุดซอยหมายถึงชมให้ถึงคุณค่า หากว่าลูกถือน้ำมาให้เรา คุณค่าที่เกิดขึ้นคืออะไร นอกจากความน่ารักแล้วลูกเราเป็นคนอย่างไร เป็นคนมีน้ำใจนั่นเอง หรือจะเรียกว่ากตัญญูเลยก็ได้ เราสามารถบอกได้เลยว่า ขอบคุณมากถือน้ำมาให้แม่ หนูเป็นเด็กกตัญญูมาก แทนการตีตราเราใส่คุณค่าลงไป”
คุณค่าเหล่านี้เป็นสิ่งที่พ่อแม่ควรหยอดลงไปให้ลูก ไม่ว่าจะเป็นความกตัญญู ความรับผิดชอบ การรู้จักหน้าที่รู้จักเอื้อเฟื้อ หรือเห็นอกเห็นใจคนอื่น เหล่านี้เป็นคุณค่าที่เกี่ยวข้องกับคุณธรรมทั้งสิ้น เมื่อเขาฟังบ่อยเข้าสะสมไปเรื่อยๆ เขาจะกลายเป็นเด็กที่เติบโตมาอย่างคนที่มีคุณค่าเช่นเดียวกัน
“ชมให้ถึงคุณค่า เพื่อสร้างตัวตนที่มีคุณค่า ลูกโตขึ้นนอกจากเขาจะรู้ว่าเขามีคุณค่าต่อตนเอง มีคุณค่าต่อผู้อื่นแล้ว เขายังรู้อีกว่าคุณธรรมทำง่าย เป็นรูปธรรมเกิดได้ทันที และเกิดได้ทุกวัน กตัญญูถือน้ำมาให้พ่อแม่เรียกกตัญญูลูก ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านแบ่งเบาภาระเรียกกตัญญูลูก หนูไม่ต้องรอโตแล้วค่อยไปดูแลพ่อแม่ยามแก่เฒ่า สามารถเกิดขึ้นได้ทุกวัน”
ท้ายที่สุดแล้วเทคนิคการสร้างวินัยเชิงบวกจะสำเร็จได้คือการปรับเปลี่ยนมุมมองของพ่อแม่ที่ว่า “พวกเรา(พ่อแม่)ไม่ใช่ ผู้ปกครอง แต่เป็น ผู้ประคอง” เมื่อลูกตัดสินใจผิดพ่อแม่มีหน้าที่ประคองอารมณ์ตัวเอง และประคองอารมณ์ลูก แต่ถ้าเมื่อลูกตัดสินใจถูกให้ถึงคุณค่า หน้าที่ของพ่อแม่ก็มีเท่านี้ และนี่ก็คือ 4 เทคนิค “ปลอบก่อน สอนทีหลัง ฟังให้มาก ชื่นชมให้บ่อย” ที่ใช้ในการดูแลเด็กๆ โดยครูหม่อม-ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร