- “ไม่ต้องร้องลูกๆ” “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เรียนหนังสือเก่งๆ นะ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ” และอีกสารพัดประโยคที่ผู้ปกครองอาจพูดด้วยความหวังดี แต่จริงๆ แล้วคำพูดเหล่านี้อาจทำร้ายลูกทางอ้อม ครูณา – อังคณา มาศรังสรรค์ และเม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ จะมาขยายกันต่อกับประเด็น รวมถ้อยคำทำร้ายลูก 3 หมวดความหวังดี
- “พี่คิดว่าเราไม่ได้เลี้ยงลูก แต่ลูกน่ะเลี้ยงเรา ลูกเลี้ยงให้พี่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ลูกเลี้ยงให้พี่สงบลง ลูกเลี้ยงให้พี่มีชีวิตที่มีชีวา ลูกเลี้ยงให้พี่มีความสุข มีความรักที่ไม่มีเงื่อนไข พี่ไม่ได้เลี้ยงเขา พี่แค่ส่งความรักความมั่นคงจากข้างใน ส่งความรู้สึกปลอดภัยทางกาย ทางใจ ที่เหลือจากนั้น ลูกส่งบทเรียนกลับมาเพื่อให้พี่เรียน เพื่อที่จะเข้าใจตัวเองมากที่สุด พี่คิดว่าเขาเลี้ยงเรา เขาหล่อเลี้ยงเราทางด้านจิตใจที่ทำให้เราเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดมันเป็นของขวัญของเรามากเลยว่า วันนี้ฉันรู้จักตัวเองที่สุดเลย”
“ไม่ต้องร้องลูกๆ” “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่” “ต้องทำได้ดิ ง่ายนิดเดียว” “เรียนหนังสือเก่งๆ นะ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ” “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” “ที่ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ”
ทั้งหมดนี้คือลิสต์ถ้อยคำดีๆ ที่อาจไม่ดีอย่างที่คิด และเป็น ‘ถ้อยคำทำร้ายลูก’ ที่เหลืออยู่ เราเริ่มที่คำแรกกันเลยนะครับ… “ไม่ต้องร้องลูก”
บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 3 รวมถ้อยคำทำร้ายลูก 3 คำดีๆ อาจไม่ดีอย่างที่คิด ดำเนินรายการโดย เม้ง – ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา – อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
รับฟังในรูปแบบพอดแคสได้ที่นี่
“ไม่ต้องร้องลูกๆ”
อย่างนี้ครับ ลูกผมเกิดมาวันแรกก็ร้องไห้เลย จนทุกวันนี้อายุจะ 2 ขวบก็ยังร้องไห้ครับ ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรก็ร้องไห้ทุกวัน แล้วสิ่งที่ผมเข้าไปหาเขาก็คือคำว่า “ไม่ต้องร้องลูกๆ” คำนี้มันไม่ดียังไงครับ
คือเวลาที่เราพูดกับเด็กว่า “ไม่ต้องร้อง” มันเหมือนเราสอนให้เขาฝึกที่จะกดอารมณ์ แต่ความจริงมนุษย์ควรจะเท่าทันอารมณ์ รู้จักอารมณ์ที่แท้จริงของตัวเอง การพูดกับลูกว่า “ไม่ต้องร้อง” “อย่าร้องนะ” “เป็นลูกผู้ชายอย่าร้องไห้” มันทำให้เขารู้สึกว่าการร้องไห้คือความอ่อนแอ แล้วมันก็ทำให้เขากดมันไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเขาไม่รู้จักกับอารมณ์ ความจริงอารมณ์หรือความรู้สึกเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เราควรจะทำความเข้าใจ จนกระทั่งวันหนึ่งเราเข้าใจแล้วก็เท่าทันว่า เราจะดูแลอารมณ์เหล่านี้ได้อย่างไร มันคือความเป็นจริง แต่เวลาที่เราบอก “อย่าร้องๆ” มันกดอารมณ์เขาเยอะมาก
วันก่อนนั่งดูซีรีส์ มีคำพูดหนึ่งบอกว่า “เวลากายเราเจ็บ เราก็ร้องไห้ แต่หัวใจน่ะสิ เวลาเจ็บแล้วทำเป็นเงียบ” เนี่ย…จริงๆ แล้วร่างกายของเรามันรับรู้บางสิ่งบางอย่างที่เป็นความรู้สึก แล้วเราก็ควรที่จะแสดงความรู้สึกอย่างตรงไปตรงมา เจ็บก็ร้องไห้ เสียใจก็ร้องไห้ได้ แต่พอถึงวันหนึ่งเมื่อเราเป็นผู้ใหญ่ เราก็อาจจะร้องไห้ในระดับที่เป็นความรู้สึกอย่างที่เราดูแลและควบคุมได้ และมันเป็นความรู้สึกจริงๆ ของเรา แต่พอบอกว่า “อย่าร้องๆ” “ไม่ร้องๆ” นั่นน่ะ… คือการปฏิเสธอารมณ์ พอปฏิเสธอารมณ์ไปเรื่อยๆ ก็มองว่าการแสดงออกทางอารมณ์เป็นสิ่งที่ผิด จะทำให้เด็กเลือกที่จะไม่แสดงออกทางอารมณ์ เลือกที่จะไม่ทำความเข้าใจกับอารมณ์ วันหนึ่งเขาก็ไม่รู้เลยว่าเขาเป็นอะไร
เหมือนผู้ใหญ่ในรุ่นพวกเรา เต็มไปหมดเลยนะ วันนี้ไม่รู้ว่าเป็นอะไร คือหงุดหงิด แต่ไม่รู้ว่าเป็นอะไร
อ๋อ… นี่คือผลพวงของการเก็บอารมณ์เอาไว้ หรือแบบ พอลูกจะร้องไห้เขาก็ถูก Disrupted จากเราทันที คือวิ่งเข้าไป “อึ๊บ! ไม่ต้องร้องนะลูก แค่นี้เอง”
ใช่ แบบนี้มันคือการปฏิเสธ แล้วก็มองว่าคนที่ร้องไห้คือคนอ่อนแอ และท้ายที่สุดเขาไม่ได้อยู่กับมัน หรือบางทีเด็กไม่เข้าใจว่าสิ่งที่พ่อแม่พูดหมายถึงอะไร เช่น เขาล้มครั้งแรกของชีวิต เลือดไหล เกิดมาไม่เคยมีประสบการณ์นี้ แล้วแม่บอกว่า “ไม่เป็นไรๆ ไม่เจ็บ” แต่เขางงว่า แล้วไอที่เขาผิดปกติอยู่ตอนนี้เรียกว่าอะไร? เราพูดมาทุกตอนว่าสมองเหมือนเป็นกล่องเปล่าที่เราค่อยๆ ใส่ข้อมูล เขายังไม่มีพจนานุกรมของความรู้สึกเกิดขึ้นมาเลย แล้ววันหนึ่งที่เขามีความรู้สึกแปลกๆ เกิดขึ้น แล้วแม่บอกไม่เป็นไร แล้วไอที่รู้สึกอยู่เนี่ย มันต้องเป็นอะไรสักอย่าง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กก็ไม่เข้าใจ แล้วพ่อแม่เองก็ไม่เข้าใจตัวเองว่าพูดไปทำไม เพราะอันนี้มันไม่ใช่ความรู้สึกจริงๆ พี่ก็มักจะยกตัวอย่างต่อนะว่า พอบอกว่าไม่เจ็บ ถามว่าจริงๆ เธอเห็นลูกล้มเธอรู้สึกสั่นไหวไหม?
แน่นอน
อ้าว แต่ปากของเราจะพูดว่า “ไม่เป็นไรๆ” แล้วหลังจากนั้นเราก็เดินไปเอายา พี่ได้บอกไปแล้วเนอะว่าโลกของเรามันเป็นโลกของพลังงาน แม่ถือยามามือสั่นๆ รู้สึกตกใจแต่ปากก็พูดว่า “ไม่เป็นไรลูก ไม่เป็นไร” มันย้อนแย้งมากเลยอะ แม่บอก “ไม่เป็นไร” แต่พลังงานของแม่มันดูจะ “เป็นอะไร” แล้วพอแม่บอกจะใส่ยา แม่ก็บอกว่า “นิดเดียวๆ ไม่เป็นไร” แต่พอใส่มาปุ๊บ มันแสบมันผ่าวไปทั้งตัว แล้วเขาก็ร้องไห้ พอจิตของเขามันอยู่ข้างนอก ไม่ได้สังเกตความรู้สึกของตัวเอง เขาก็ร้องไห้ไปเรื่อยๆ แล้วเขาก็สรุปว่า ไอ้นี่มันไม่ได้เป็นจริงกับสิ่งที่แม่พูด ผลลัพธ์คืออะไร? ครั้งหน้าเป็นอีกที แม่ถือขวดยามา เธอว่าเขาจะอนุญาตให้แม่ใส่ไหม
ไม่เอาดิครับ
ก็ไม่ เพราะแม่จะบอกอีกว่า “ไม่เป็นไร” ซึ่งไม่ใช่ เพราะครั้งที่แล้วฉันรู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น แต่ฉันไม่รู้หรอกว่ามันเรียกว่าอะไร เพราะฉันไม่มีพจนานุกรม แล้วเขาก็จะปฏิเสธแล้วทะเลาะกัน บางทีเตะขวดยากระเด็น คือสุดท้ายเราเป็นตัวที่สร้างสภาวะอารมณ์ให้หมุนใหญ่ขึ้น ยาวขึ้น
ที่ถูกควรทำยังไง?
พี่ก็จะบอกกับทุกคนว่า ให้เราฝึกที่จะสะท้อนอารมณ์ที่แท้จริง ตรงไปตรงมา อยู่กับความเป็นจริง เช่น พอเขาล้มแล้วเราเดินเข้าไป “เจ็บใช่ไหมลูก เลือดไหลเลยเนาะ อย่างงี้เจ็บเนาะ อะ…มา แม่กอดที” เชื่อไหม ให้ท่านผู้ฟังลองทำกับเด็กเลย จะเห็นการสงบนิ่งลงดิ่งเลยนะ เพราะมันคือการพาจิตกลับมาอยู่ในตัวเองแล้วก็รู้สึกได้ว่า อันนี้เขาเรียกว่าความเจ็บ แล้วความรู้สึกมันเป็นอย่างที่ธรรมะสอนนะ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป พอเขาดูปุ๊บ เขารู้ว่ามันเป็นยังไง แล้วเดี๋ยวมันจะค่อยๆ ดับ
พอเด็กเป็นแบบนี้ ตอนที่พี่จะใส่ยาเด็กก็จะบอกว่า “ครั้งที่แล้วมันแสบใช่ไหม” เด็กเขาจะงงเลยนะ อ๋อ…อันนี้เรียกว่าแสบใช่ไหม เขาก็จะพยักหน้า เราก็จะบอกว่า “ครูเข้าใจว่าหนูแสบ แต่ถ้าหนูไม่ใส่มันจะเจ็บมากขึ้นมากๆ เลย จะเน่าและอาจเป็นแผลใหญ่ขึ้นๆ ครูขอใส่ยาเนอะ ลูกจับมือครูไว้นะ ถ้าลูกแสบ ลูกบีบมือครูแรงๆ นะ ครูจะได้รู้ว่าหนูเจ็บ แล้วครูจะเป่า ลองดูนะครูจะเป่าอย่างงี้นะ” แล้วเราก็เป่าไปที่แผลเด็ก “เป่าอย่างงี้แล้วมันดีขึ้นใช่ไหม” เขาก็บอก “ใช่” เราก็บอก “ถ้าบีบมือครู ครูจะได้รู้ว่าหนูแสบ ครูจะเป่าแรงๆ แรงๆ เลย แล้วถ้าหายก็ปล่อยมือครู ครูจะได้รู้ว่าหายแล้ว โอเคไหม”
พอเราทำให้เขาเห็นภาพแบบนี้ มันทำให้เด็กรู้สึกว่าเรื่องราวเหล่านี้จัดการได้ ดังนั้นพอเด็กจับมือตอนเราใส่ยา พอเขาแสบปุ๊บเขาจะบีบมือเรา เราก็เป่าๆๆ พอสักพักเขาหาย เขาก็จะปล่อยมือเรา แล้วบอก “หายแล้วค่ะ” นั่นแสดงว่าเขาดูจิต เขาค่อยๆ เห็นตัวเองแล้วก็รู้ว่าความรู้สึกเหล่านี้มันดับไปแล้ว นี่คือการที่เขาได้ฝึกว่า ความรู้สึกเหล่านี้มันคือของจริงของชีวิตเขา มันเรียกว่าอะไร แล้วเขาจะจัดการกับมันได้ยังไงบ้าง มันเป็นการฝึกเขา เราปฏิเสธอารมณ์กันจนกระทั่งวันหนึ่งที่เราอายุเยอะ แก่แล้ว พลุ่งพล่านจัดการตัวเองไม่ได้ แล้วค่อยเข้าวัดไปฝึกเท่าทันอารมณ์
เราเป็นกับทุกคนอะฮะ ผลพวงจากการที่ปากไม่ตรงกับใจหรืออาจไม่สามารถเล่ามันออกได้ สุดท้ายหงุดหงิดงุ่นงาน นี่คือการที่เราแสดงออกตรงข้ามกับอารมณ์มาเสมอตั้งแต่เด็ก
ใช่ เราปฏิเสธอารมณ์ซึ่งมันมีความผิดปกติ จนเป็นปกติ แล้วเราก็ไม่รู้ว่าความผิดปกตินี้คืออะไร และมันสร้างปัญหายาวนานนะ เหมือนเราสร้างวงจรใหม่ หมุนไปเรื่อยๆ หรืออย่างการเดินทางแล้วลูกจะถามว่า “ถึงยังๆ” พอเราบอกว่า “ยังลูก จะถึงเวลาเท่านี้ซึ่งมันนานเหมือนกัน ลูกนอนไปเลย” หรือจะให้เขาเล่นอะไรก็บอกเขา ไม่ใช่ว่าพูดแค่ว่า “จะถึงแล้วๆ” แต่ไอ ‘จะ’ ของแม่นี่มันหมายความว่าไง สุดท้ายพอเขาโตมาแล้วเราไปถามเขาว่า “เมื่อไหร่จะเลิกเล่น” เขาก็จะตอบเรากลับว่า “จะแล้วแม่ แปปแม่” เพราะเขาไม่รู้ว่า ‘แปป’ มันคืออะไร
แต่มันก็เป็นความกลัวลึกๆ นะฮะ คือกลัวว่าเขาจะตำหนิเราก็เลยไม่กล้าพูดความจริง ทุกอย่างจะต้องถูก ‘กระเถิบ’ ปกป้องลูกไว้ก่อนด้วยการไม่พูดความจริง โอเคฮะ แต่เมื่อกี๊ เท่าที่ฟังครูณา ผมจับได้ว่าอย่างแรกเลยต้องใจเย็นก่อน แล้วคำพูดคำจาก็ต้องคำนึงถึงพลังงาน (Energy) ที่ส่งถึงกันได้ คือใจเย็นๆ ก่อนแล้วพูดความจริง ตรงไปตรงมา ด้วย Energy ที่ดี อันนี้ดีที่สุด เหมือนต้องฝึกอย่างที่เล่าไปในอีพีที่1 ด้วยเนอะว่าเราต้องคิดบรีฟที่ดี ไม่ใช่พูด “อย่าทำอย่างงั้น” พูดลอยๆ แล้วก็ไปกันไม่ถูก
ใช่ค่ะ พอพูดแบบนี้เหมือนกับเวลาที่เราจะเถียงกัน บางทีพี่ก็พูดกับสามีนะว่า เอ๊ย…ตอนนี้ที่เราจะเถียงกัน ณาเถียงเพราะณาต้องการอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขแล้วเข้าใจกันมากขึ้นนะ เราไม่ได้เถียงสะเปะสะปะแล้วทำให้ชีวิตคู่มันพังไปเลยนะ เราต้องยืนยันเลยว่า การสนทนาครั้งนี้ การทะเลาะกันครั้งนี้ เพื่อเราจะเข้าใจกัน
โห…งี้คุณผู้ฟังต้องกลับไปฟังตั้งแต่อีพีที่ 1 มันชัดมากๆ จริงๆ พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู ไม่รู้ว่าปัญหาตัวเราเองต้องการอะไรด้วยซ้ำ แล้วถ้าจะแก้ เราต้องการอะไร ความชัดเจนจะเกิดขึ้นรวมไปถึงเจ้านาย ลูกน้องเลยนะ แต่ความยากก็เกิดขึ้นเพราะเราถูกสั่งสอนมาอย่างงี้
นึกถึงตอนที่เราคุยกันข้างหลัง เป็นพ่อแม่นี่มันยากเนอะ โห…ไอนั่นก็ต้องทำ ไอนี่ก็ต้องทำ แต่ให้เรานึกถึงสัจจะของชีวิต คือ Truth ความจริงของชีวิต อะไรที่เธออยากได้ แล้วจับตรงนี้ให้ได้ แล้วที่เหลือมันไม่ต้องเรียนเยอะ จะเข้าใจเอง
เหมือนว่าการสอนลูก ก็คือการกลับมาเรียนรู้ตัวเองมากๆ
แน่นอน ลูกคือครูที่ดีที่สุด เพราะว่าเรามีความรักเขามาก เราจึงเอาความรักนั้นมาฝึกตน ฝึกตัวเรา
ขอแวะนิดนึงนะครับ ครูณากำลังบอกว่าถ้าเขาร้องไห้ เข้าไปปลอบเขา “ร้องสิลูก ร้องออกมา เจ็บใช่ไหม” เดี๋ยวมีคนพิมพ์ใต้คอมเมนต์นี้ว่า อ้าว…แล้วจะไม่ทำให้เขาเป็นเด็กขี้แงเหรอ แบบ…เราควรปล่อยเขา ถ้าเขาร้องไห้ก็ให้ร้องจนจบกระบวนการที่เขาพอใจเหรอ นี่คือสิ่งเราควรจะทำให้ลูกหรอฮะ
คือเราก็ไม่ต้องบิลท์เขาขนาดนั้นก็ได้ เหมือนกับว่า “เจ็บใช่ไหมลูก มาแม่กอด ร้องไห้ได้นะ” เปิดโอกาสให้เขารู้สึกว่าการร้องไห้เป็นเรื่องปกติ เพราะอะไร เราผ่านชีวิตวัยรุ่นกันมาแล้วเนอะ นึกถึงตอนที่เราอกหัก เราก็ร้องไห้อยู่นั่นแหละ ร้องอยู่เป็นปีแล้วก็กลายเป็นว่าเราไปมีแฟนใหม่ไม่ได้ สำหรับพี่พี่รู้สึกว่า ร้องให้เสร็จ ร้องให้จบ พอจบแล้วเธอจะเข้าใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วเราร้องไห้ ก็คือการที่เราได้อยู่กับตัวเอง เราเห็นกระบวนการข้างในของตัวเราจนเราคิดเสร็จ เด็กก็ควรที่จะฝึกแบบนี้ว่า ทุกอย่างเธอเสียใจได้ เสียใจแล้วคิดให้เสร็จ ไม่งั้นเด็กก็ไม่รู้ กลายเป็นรู้สึกว่า “ก็เขาไม่ให้ฉันเสียใจอะ เขาบอกว่าถ้าฉันร้องไห้แล้วฉันจะเป็นคนแบบนี้ๆๆ” แล้วเขาก็สร้างตัวเองว่า ฉันเป็นคนเก่ง เจ๋ง สนุกทุกวัน มีความสุขทุกวัน แต่ข้างในเน่าเฟะ ท้ายที่สุดวันหนึ่งเขื่อนก็แตก แล้วมันก็กลายเป็นโรคที่เกี่ยวกับอารมณ์
“เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่”
ต้องโน้ตไว้เลยฮะว่าถ้าคุยเรื่องอกหักนี่ต้องคุยกันอีกยาวเลย เพราะผมเองนี่ก็ร้องไห้เป็นปีๆ แต่ต้องไปต่อละฮะ คำต่อไปคือ คำพูดพี่น้องที่ว่า “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องนะ” “เป็นน้องต้องเชื่อฟังพี่” โอ้โห…ผมเห็นคนเจ็บปวดจากคำนี้เยอะเหมือนกัน มันเป็นคำพูดที่ถูกต้องใช่ไหมฮะ เป็นพี่ เป็นคนเรียนรู้คนแรก ก็ต้องเสียสละ มันก็ดีนี่ฮะ สร้างพี่ที่ถูกต้อง สร้างน้องที่เชื่อฟังพี่ แล้วมันทำร้ายอะไร
คงไม่ได้บอกว่าความเป็นพี่ต้องเสียสละอะไรขนาดนั้น สิ่งที่ซ่อนอยู่ในประโยคนี้คงเป็น เราอยากได้ลูกที่เสียสละให้กันและกันมากกว่า กับอย่างที่สองคือ ความรักระหว่างพี่น้อง เรามองว่าพี่ที่เสียสละให้น้อง น้องก็จะรักเขา แล้วก็จะรู้สึกดีถึงคุณค่าของพี่ เราอยากได้ภาพนี้ถูกไหมคะ
แต่ความเสียสละหรือว่าความรักต้องถูกสร้างจากจิตใจเด็กข้างใน ถ้าเราไปบังคับให้เขาเสียสละ ให้มีน้ำใจแบ่งปัน ให้ยอมรับผิดหรือขอโทษ หากเราบังคับเขาให้ทำ… มันไม่มีประโยชน์เลยนะ เพราะมันไม่ได้เกิดคุณค่าจากข้างใน
เด็กสองคนแย่งของกัน แล้วเราก็บอกว่า “แบ่งน้อง” “ให้น้อง” “เป็นพี่ต้องเสียสละ” ถามหน่อย วิธีการแบบนี้คนที่เป็นพี่จะรู้สึกว่า “ได้ครับ ผมรักน้อง” มันจะมีไหม?
ไม่เนอะ ก็ผมเล่นอยู่ก่อนแล้วน้องมาแย่งทำไมอะ
ใช่มั้ย? นี่มันของฉันนี่หว่า ทำไมฉันต้องแบ่ง เพราะเขายังไม่ได้เรียนรู้ความสัมพันธ์ในชีวิต ประโยคเหล่านี้ มันคือการที่เรากำลังบังคับให้เขามีความรัก กำลังบังคับให้เขาเสียสละ ซึ่งทำไม่ได้ สิ่งเหล่านี้ต้องออกมาจากจิตใจ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราจะทำก็คือ การที่เราสะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้เด็กได้เห็น แล้วเราก็ทำให้เขาเลือกได้ว่า ลูกทำได้นะ ลูกทำด้วยวิธีใหม่ได้ที่จะได้ทางออกที่ดี
พี่ยกตัวอย่างเรื่องของลูกพี่แล้วกัน มีวันหนึ่ง ลูกพี่สองคนเล่นต่อสู้กัน แล้วคนเล็กวิ่งไปเอาการ์ดยูกิมาสัก 3 ใบแล้วก็บอกว่า “ปุ๊นมีการ์ดยูกิ ปุ๊นมีพลัง เฮียปันแพ้ปุ๊นแน่ๆ” โหว…มันก็เตรียมจะต่อสู้โดยใช้พลังเนอะ ไอตัวโตก็บอกว่า “รอก่อน” แล้ววิ่งไปหามาอีก 6 ใบ คือตัวมันก็ใหญ่กว่า การ์ดมันก็เยอะกว่า มันก็บอกว่า “เฮอะ! เฮียมี 6 ใบ ปุ๊นแพ้เฮียแน่ๆ” เท่านั้นแหละ ปุ๊นก็ร้องไห้ พี่นั่งอยู่ พี่ก็รู้สึกว่า เอาล่ะ…โจทย์มาละ ต้องฝึกใช้วิชา แล้วเสร็จปุ๊บพี่หมู (สามี) …ซึ่งตอนนี้เขาเปลี่ยนไปแล้วนะ แต่เหตุการณ์วันนั้นคือ พี่หมูเดินเข้ามาแล้วก็บอกว่า “ปัน! แบ่งน้อง เสียสละ อย่าเห็นแก่ตัว” โอ้โห…พอพูดแบบนี้นะ เราก็รู้เลยว่าประโยคนี้ไม่เวิร์คแล้วเราก็เห็นผลลัพธ์ทันตา ไอเจ้าตัวโตเขวี้ยงการ์ดแล้วก็บอกว่า “เอาไป! เอาไปให้หมดเลย! เกลียดมัน!”
วิธีการแบบนี้มันไม่เคยได้ผล คุณบังคับความเสียสละและบังคับแม้แต่ความยุติธรรม พอเขาเขวี้ยงการ์ดปุ๊บเรารู้แล้วว่า ถ้าให้พ่อพูดต่อไม่ได้ผล เราก็สะกิดพี่หมูว่า “พ่อ ขอจัดการ” เขาก็จะรู้เลยว่า… ตำราอีกแล้ว (หัวเราะ) คือวันนี้ต้องบอกท่านผู้ฟังเลยนะว่า การเรียนเพื่อที่จะสื่อสารให้พูดจาได้ถูกต้อง จำเป็นต้องเรียนและฝึก เพราะไม่งั้นเราก็จะทำโดยอัตโนมัติอย่างที่เราถูกสร้างมา
โอเค จากนั้นเราก็สะกิดเขาว่า “ขอๆ” พี่หมูก็ออกไป วิธีการที่เราทำก็คือ Reflection สะท้อนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้เด็กฟังอย่างตรงไปตรงมา เหมือนเราถอยวิดีโอไปให้เขาเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วให้เขาเป็นคนเลือกทางเลือกเอง นี่คือวิธีการ วันนั้นพี่ก็เอาลูกสองคนนั่งแล้วก็บอกว่า “ปัน ลูกมีการ์ด 6 ใบ ลูกไม่อยากแบ่งน้องเนอะ” ปันตอบว่า “ใช่! อะไรๆ ก็ต้องแบ่งมัน! เกลียดมัน!” เราก็กอดเขาแล้วบอกว่า “แม่รู้ๆ แม่อยากให้ฟังเฉยๆ ลูกมีการ์ด 6 ใบ แต่ลูกไม่อยากแบ่งน้องเนอะ” พี่ก็บอกไอตัวเล็กว่า “ปุ๊นมีการ์ด 3 ใบ ปุ๊นอยากได้ของอาเฮียใช่ไหม” ปุ๊นบอกว่า “ใช่ เฮียใจดำ” อะ… นี่เอาคำพูดพ่อมาพูดอีกนะ โอเค… เราก็บอกต่อ “ปุ๊น แม่อยากบอกแค่ว่าลูกมีการ์ด 3 ใบ ลูกอยากได้ของเฮียใช่ไหม” ปุ๊บบอก “ใช่ครับ” เราก็เลยสะท้อนกลับไปว่า “ก่อนหน้านี้ลูกเล่นกันดีเนอะ แม่เชื่อว่า ลูกจะมีวิธีการที่จะหาว่าจะเล่นกันยังไงได้ดีและสนุก เพราะทะเลาะกันก็ไม่สนุก แม่อยากให้ลูกเล่นกันสนุกและมีความสุขนะ คุยกันดีๆ นะลูก แม่ไปละ”
ทำแค่นี้เองนะ แล้วเราก็ออกไปแอบดู เพราะเราอยากรู้ว่ากระบวนการมันจะเป็นยังไงต่อ เราก็ไปนั่งแอบดูเขาตรงรูประตู ปรากฏว่าเขาก็ดึงกันไปสักพักหนึ่ง แล้วเฮียปันก็บอกว่า “หยุด เอามานี่” แล้วเขาก็เอาการ์ดน้องมารวมเป็น 9 ใบ แล้วเขาก็สับการ์ดแบ่งกันคนละ 4 ใบ อีกใบหนึ่งเขาก็วางไว้ แล้วไอตัวเล็กก็หยิบการ์ดขึ้นมายิ้ม พอเราเห็นสงบศึกเราก็เปิดประตูเข้าไป “เป็นไงลูก” ปุ๊นบอก “เฮียปันเขาแบ่งปุ๊นด้วย” แล้วเราก็มองที่ลูกคนโต เขาก็ยิ้มๆ แล้วบอก “ยังเหลือใบนึง แม่เอาไปด้วย” ก็คือเอาใบที่เกินให้แม่ เราก็ “หืม… แม่ได้ด้วย โอ้โห ใจดีจัง ขอบคุณนะลูก มีน้ำใจมากๆ เลย เสียสละมากๆ เลย” อันนี้เราต้องสร้างกระบวนการเพื่อให้มันเกิดขึ้นข้างใน แล้วพอเราพูดแบบนี้ ลูกก็เหมือนกับภูมิใจในตัวเอง แล้วสิ่งเหล่านี้คือกระบวนการที่เขาต้องทำมันจากข้างใน
หรือความยุติธรรม มันต้องเกิดจากเขาสองคนดีลกันเพื่อเจอความยุติธรรม ลองนึกภาพสิ จะมีพ่อแม่หลายคนมากที่เข้ามาจัดการว่า “เอามานี่ แม่แบ่งให้เท่าๆ กันเอง” อย่างงี้ลูกคนโตเขาจะยอมไหม เพราะมันไม่ได้เกิดจากกระบวนการข้างในของเขา เขาก็จะรู้สึกเหมือนกับว่า “ก็มันของปัน” แต่การที่เราให้ลูกหาทางออกของเขา ให้เขาเห็นว่าเขาคิดกับมันได้นะ แล้วทำให้เขาแสดงมันออกมาด้วยตัวเอง นี่คือความยุติธรรม นี่คือความเสียสละ นี่คือความรัก เราได้ทุกอย่างเลย ปรากฏว่าพ่อเดินขึ้นมา อ้าว… เล่นกันแล้ว หายแล้วหรอ เราก็ยืดเลยนะว่า “ฉันใช้วิชาของฉันถูกแล้ววันนี้ เพราะมันสัมฤทธิ์ผล”
พี่จะไม่ชอบเลยที่เวลาใครทำผิดแล้วเราไปบอก “ขอโทษ! ขอโทษเขา!” “ขอโทษเดี๋ยวนี้!” แล้วไงล่ะ? ปากพูดว่าขอโทษ แต่ข้างในจิตใจไม่ได้รู้สึก แล้วเราให้เขาทำเพื่ออะไร?
“ต้องทำได้ดิ”, “ง่ายนิดเดียว”
อีพีแรกๆ ที่เราคุยกันจะเป็นคำตำหนิลูกเนอะ เช่นคำว่า “ทำไม่ได้หรอก” “ทำได้แค่นี้” แต่เที่ยวนี้เรามาอยู่ที่คำให้กำลังใจ คือ “ทำได้” “ต้องทำได้” แต่ถ้าเขาทำไม่ได้อะครับ หรือบางเหตุการณ์เขาทำได้ไม่ดี “ทำได้ ทำได้ดีกว่านี้ ง่ายนิดเดียว คนอื่นยังทำได้เลย” ไอคำพูดอย่างงี้ ความตั้งใจจริงของเราก็คืออยากให้เขาทำได้ดีหรือทำได้สำเร็จ หนังฝรั่งเขาก็พูดกันเยอะ “You can do it!”
ผู้ฟังต้องลองฟังแล้วเห็นภาพ เช่น สิ่งที่เด็กกำลังทำอยู่นี่มันยากนะ อย่างการเรียนคณิตศาสตร์หรือเรียนภาษาอังกฤษ ให้ท่านนึกว่าตอนที่เป็นเด็ก ท่านว่ามันยากหรือมันง่าย มันยากใช่มั้ย? แล้วผู้ใหญ่ก็มักจะพูดว่า “ง่ายนิดเดียว”
พี่ยกตัวอย่าง ตอนนั้นลูกพี่จะปีนหน้าผา แล้วตรงนั้นก็เต็มไปด้วยพ่อแม่ที่มากับเด็กแล้วก็บอกว่า “ง่ายนิดเดียว ใครๆ เขาก็ปีนกัน ปีนเลยลูก” ลูกก็บอก “ไม่เอา ยาก” พ่อแม่ตอบ “ไม่ยากหรอก ใครๆ เขาก็ปีนกัน” ให้พ่อแม่ลองทบทวนนะ สมมติว่าสิ่งที่ลูกกำลังทำอยู่ตรงหน้ามันยากมากๆ สำหรับเขา เช่น ปีนหน้าผา แล้วเราพูดว่า ‘ง่ายนิดเดียว’ ถ้าเขาทำได้ เขาจะภูมิใจไหมกับสิ่งที่ง่ายนิดเดียว? แล้วเขาก็คงงงอะว่า มันง่ายตรงไหนวะ ทำไมฉันทำแล้วมันยากจังวะ เพราะฉะนั้นคำว่า “ง่ายนิดเดียว” เด็กทำได้ก็จะไม่ค่อยภูมิใจ เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่นิดเดียว คนอื่นเขาก็ทำกัน หรือไม่ก็สงสัยว่า ทำไมกูทำแทบตายแต่คนบอกว่าง่ายนิดเดียวนะ
หมายถึงว่า มันกลายเป็นว่าเราทำให้เขารู้สึกติดลบด้วยซ้ำใช่มั้ยฮะ ไอของที่เขาทำได้กลายเป็นธรรมดาอีก นี่ไม่มีอะไรดีเลยนะเนี่ย แล้วถ้าเขาทำไม่ได้ก็กลายเป็น… ไปกันใหญ่เลยทีนี้
ใช่ เหมือนกับว่าของที่ง่ายนิดเดียวฉันยังทำไม่ได้ วันนั้นที่ปีนหน้าผา ข้างๆ พี่มีแม่กับลูกทะเลาะกัน แม่บอก “ปีนไปเลยง่ายนิดเดียว” ลูกบอก “ถ้าง่ายแม่ก็ปีนเองสิ” ทีนี้เรื่องใหญ่เลย หยิกกันนะ โอ้โห… เราก็ว่าไม่ใช่แล้ว คำพูด “ง่ายนิดเดียว” เนี่ย ไม่ใช่แล้ว
ขอเล่าต่อ ลูกพี่อยากปีน ซึ่งตอนนั้นพี่ก็กำลังเรียนเรื่องภายในเรื่องความสัมพันธ์อะไรแบบนี้เนอะ เราก็ไปยืนอยู่ คนอื่นๆ เขาก็ทะเลาะกับลูกเรื่อง “ง่ายนิดเดียว” นี่แหละ เราก็คิดในใจว่า ไอแบบนี้ต้องไม่ได้แน่เลยว่ะ แต่ตอนนั้นพี่ก็ยังคิดไม่ออก เพราะว่าเราก็ยังคิดไม่เก่ง แต่ตอนนั้นลูกพี่ก็เดินมาบอกเลยว่า “แม่ เปลี่ยนใจละ สงสัยจะยาก”
เชื่อไหมว่า ความอัตโนมัติของพี่ก็จะพูดไปเลยว่า “ไม่ยากหรอก” แต่พอพี่กำลังจะพูด ก็ฉุกคิดได้ว่าเมื่อกี้ฉันตั้งใจจะทำอะไรอยู่นะ เพราะฉะนั้นก็เลยไม่พูด แต่ถามว่า “อ้าวทำไมอะ” ลูกบอก “โหแม่ ไปยืนดูละ ท่าทางจะยาก” ข้างในของเราก็จะบอกไม่ยากหรอก แต่รู้ว่าคำนี้มันไม่เวิร์คอะ เราก็เลยเดินจูงมือลูกแล้วบอกว่า “ลูกเอางั้นหรอ” แต่พี่ก็คิดว่ายังไงเราต้องอยู่กันที่นี่อีกสองคืน เดี๋ยวฉันขอกลับไปคิดก่อน แต่ตอนเดินกลับก็อึ้งไปเลยนะ คิดว่าถ้าลูกพูดแบบนี้แล้วฉันจะพูดยังไงดีนะ เพราะมันยังไม่เคยฝึกไง คืนนั้นนอนคิด แต่คิดเท่าไหร่ก็ไม่ออก
ในเมื่อฉันคิดไม่ออก ฉันจะต้องหาประสบการณ์ให้ได้ เช้าวันถัดมาพี่ก็ไปลงชื่อ บอกลูกว่าเดี๋ยวไปด้วยกัน ไปถึงพี่ก็ลงชื่อคนแรกเลย เขาก็ถามว่าทำไม เราก็บอกว่า “แม่อยากรู้ไงว่ามันเป็นยังไง เพราะว่าแม่อยากลองทำ” แต่ขอโทษเหอะ ปีนไปได้แค่สองก้อนเท่านั้นแหละ เราเหมือนกับเกือบจะตายเลย แล้วเราก็รู้ว่ามันยากมาก ท้ายที่สุดเราก็เลิกแล้วก็ลงมา แล้วบอกลูกว่า “ไปเหอะลูก ยากมากเลย”
เราเข้าใจลูกละ ยอมแพ้
ใช่ เราเข้าใจจิตใจเขาละ ทีนี้ลูกสะบัดมือพี่แล้วบอกว่า “ปันจะลอง” ซึ่งตอนที่พี่ปีน พี่คิดอันนี้ไว้แล้วว่าจะบอกลูกว่า “มันยาก” เพราะมันยากจริงๆ การที่เราจะดึงน้ำหนักของเรามันยาก แล้วถ้าเราบอกลูกว่ามันยาก แล้วถ้าลูกไม่ทำก็ไม่เป็นไรนะ เพราะแม่ก็ยังทำไม่ได้ แล้วถ้าเขาตัดสินใจที่จะทำ เขาก็จะได้พบประสบการณ์ด้วยตัวเอง แล้วอะไรที่มันยาก แม่ทำไม่ได้ แล้วเขาทำได้ เป็นไง?
เขายิ่งภูมิใจ แต่ถ้าเขาทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะแม่ยังทำไม่ได้เลย
ใช่ เขาก็บอกว่าเขาจะปีน แต่เราก็มียื้อๆ หน่อยนะ “อย่าเลย มันยาก” เขาบอก “ไม่ ปันจะลอง” เออไปลองเลยลูก (หัวเราะ) เราก็ให้เขาไปเซ็นชื่อเพื่อปีนหน้าผม เชื่อไหมว่าพอเขาขึ้นไปถึงข้างบน เขาตีระฆัง ถึงยอดแล้วโรยตัวลงมา เขาลงมาเป็นเด็กอีกคนหนึ่ง เป็นเด็กที่ผ่านด้วยตัวเอง แล้วเขาผ่านสิ่งที่ยาก
เพราะฉะนั้น อะไรก็ตาม เราต้องกลับมาที่ความรู้สึกที่เป็นจริงของเราก่อนที่เราจะคุยกับเด็ก เด็กทำเลขไม่ได้ พ่อนั่งข้างๆ “พ่อจำได้ ตอนที่พ่อเล็กๆ เลขแม่งก็โคตรยากเลย เดี๋ยวครั้งนี้เราลองดูด้วยกันว่าพ่อจะทำไหวไหม” เขาจะรู้สึกว่า อ๋อ… นี่ฉันปกติใช่ไหมที่ทำไม่ได้ พ่อก็ยังทำไม่ได้ แล้วพ่อก็บอกว่าเราจะมาช่วยกัน แสดงว่าเขาเริ่มเห็นทางออกว่า ถ้าทำไม่ได้ ค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เรียนรู้ พอเขาหาทางออกเสร็จ… สุดท้ายเด็กเรียนรู้ได้ดีมากเลยนะเวลาที่พบว่าพ่อแม่ก็ทำสิ่งนี้ไม่ได้ เพราะมันคือความจริงของมนุษย์ สิ่งที่ควรจะสอนคือ พาเขาไปดูเลยว่าอันนี้พ่อทำไม่ได้นะ แต่เราไปหาคนที่ทำได้กัน เขาก็จะรู้ว่าถ้าทำไม่ได้ต้องปรึกษาคนอื่น เราไม่ทำให้เด็กมี Ego หรืออัตตาเกินไป ไปถามคนที่เชี่ยวชาญ ไปหาความรู้ข้างนอก นี่คือสิ่งที่พ่อแม่ควรที่จะฝึกเด็กแบบนี้
“เรียนหนังสือเก่งๆ นะคร้าบ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะคร้าบ”
ขออีก 2 ชุดคำครับ คำที่เราบอกลูก คำนี้ได้ยินบ่อย ผมได้ยินตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ก็ยังได้ยิน “เรียนหนังสือเก่งๆ นะคร้าบ” “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะคร้าบ” มันก็ดีปะฮะและเราก็ได้ยินเสมอๆ แต่มันแฝงมาด้วยอะไรครับ แล้วมันแอบทำร้ายเขายังไง
พี่ก็ต้องถามเม้งว่าเวลาได้ยินผู้ใหญ่พูดว่า “เรียนหนังสือเก่งๆ นะลูก” รู้สึกยังไง
กดดันนิดนึงฮะ คือเราก็อยากเรียนเก่งแต่เรา.. (หัวเราะแห้ง)
คือมีเด็กหลายคนบนโลกใบนี้ที่เรียนหนังสือไม่เก่ง แต่ทำงานเก่ง คำว่า “เรียนหนังสือเก่งๆ” มันเหมือนกับการที่บอกว่า คนที่เก่งคือคนที่เรียนหนังสือเก่ง แต่ไม่มีความเก่งด้านอื่นเลย เพราะฉะนั้นเวลาที่เราบอกเด็กแบบนี้ มันทำให้เด็กรู้สึกว่าฉันไม่มีวันที่จะเก่งในสายตาของคนอื่นเลย ทั้งที่จริงๆ เขาอาจจะทำอย่างอื่นเก่ง
พี่พูดจริงๆ นะ ถ้าเราไม่รู้จะอวยพรอะไร กอดคืออะไรที่เราอยากจะส่งความรู้สึกดีๆ ให้กับเขา เราลูบหัวเขา แล้วบอกว่า “ดูแลตัวเองดีๆ นะลูก” มันเป็นพรที่มีพลังมหาศาลเลย คือเราจะเห็นว่าคำพูดเหล่านี้มันจะเป็นคำพูดอัตโนมัติเหมือนเราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พร เราแค่พูดให้เสร็จอะ
หรือคำว่า “เป็นเด็กดีเชื่อฟังพ่อแม่นะ” ไม่รู้นะ พี่กับลูก เราฝึกว่าเราจะเท่ากัน เขาไม่จำเป็นจะต้องเชื่อว่าพี่เป็นคนที่ถูกทุกอย่าง เวลาบอกว่า “ต้องเชื่อฟังพ่อแม่นะ” สู้เราพูดว่า “ลูก มีอะไรก็คุยกับพ่อแม่นะ” อย่างงี้ยังรู้สึกว่าเราสามารถที่จะคุยอะไรได้
แต่พอบอกว่าเชื่อฟัง มันเหมือนพ่อกับแม่มีคำตอบอยู่อีกอย่างหนึ่งที่อาจไม่ตรงกับเราแล้วมันทำให้เรารู้สึกว่าเราต้องเชื่อฟัง การไม่เชื่อฟังพ่อแม่เป็นสิ่งที่ผิด ความจริงเราไม่ต้องเชื่อฟัง เราเห็นต่างได้ เราคุยกันได้ แต่สื่อสารกันดีๆ ในบ้าน
หรือการให้พรโดยการบอกว่า “ตั้งใจกับชีวิตนะลูก ขอให้ทำงานอย่างมีความสุข ขอให้เรียนรู้อย่างมีความสุข” มันยังเป็นพรที่ทำให้เปิดกว้างและรู้สึกได้ว่า เขามีคุณค่าในด้านอื่นๆ ได้ ไม่ใช่ Fix ไปเลยว่า การไม่เชื่อฟังหรือการเห็นต่างจากพ่อแม่เป็นเรื่องที่ผิด พี่รู้สึกว่ามันเป็นพรที่แคบเกินไป เด็กอาจจะ Roller Blade เก่ง ตีแบดฯ เก่ง แต่เรียนหนังสือไม่เก่ง กลายเป็นว่า เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ไม่เก่งเลยใช่ไหม คือการพูดแบบนี้พี่ว่ามันแคบไปนิดนึง
ทั้งสองคำมันเหมือนการอวยพรอย่างเป็นคำอัตโนมัติ ซึ่งเราจะเห็นว่าคำพูดเหล่านี้มันเป็นคำพูดอัตโนมัติ เหมือนเราไม่ได้ตั้งใจที่จะให้พร เราแค่พูดให้เสร็จอะ แต่พี่พูดจริงๆ นะถ้าเราไม่รู้จะอวยพรอะไร… กอด แล้วส่งความรู้สึกดีๆ ให้กับเขา ลูบหัวเขา บอกแค่ว่า “ดูแลตัวเองดีๆ นะลูก” แค่นี้มันเป็นพรที่มีพลังมหาศาลแล้วนะ
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร”
“โตขึ้นอยากเป็นอะไร” อันนี้ผมโดนถามตั้งแต่เด็ก ทุกวันนี้ผมก็ยังได้ยินอันนี้อยู่เลย ซึ่งตอนได้ยินตอนเด็กๆ มันไม่มีอะ เราไม่มีความฝัน แต่คนอื่นเขามี แล้วเราก็รู้สึกว่า… ต้องมีด้วยหรอ? สุดท้ายก็ตอบไปว่า เป็นวิศวกร เป็นตำรวจ หรืออาชีพเท่าที่คิดออก กลุ้มใจอะ ตอนเด็กๆ ก็อยากเป็นเด็กไง
จริงๆ คำถามมันก็เป็นเหมือนอย่างเมื่อกี้เนอะ คือเป็นชุดคำถามอัตโนมัติ เราต้องรู้ว่าเด็กมีประสบการณ์น้อยจะตาย การไปคิดถึงเรื่องอาชีพของเขามันยังคับแคบมากเลย ขนาดชุดอารมณ์ยังไม่มีพจนานุกรมเลย แล้วจะให้เขามีพจนานุกรมเรื่องอาชีพ เวลาถามอย่างงี้ สุดท้ายเด็กก็จะเรียนรู้ที่จะตอบในสิ่งที่ผู้ใหญ่ชอบ บางคนบอกว่า อยากเป็นคนกวาดถนน แล้วผู้ใหญ่ก็หัวเราะ เราก็คิดว่าอย่างงี้มันผิด ซึ่งมันไม่ผิดไง ทุกอย่างเป็นสิ่งที่โอเคหมด แต่ว่าเวลาที่เด็กตอบมาแล้วผู้ใหญ่กลับไปพูดล้อเล่น มันเลยฝึกให้เด็กไปให้คุณค่าหรือไปดูถูกบางอย่าง
แล้วที่สำคัญ อาชีพบางอาชีพซับซ้อนมากเลย ไม่รู้จะเรียกว่าอาชีพอะไร หรือเขาก็ยังคิดไม่เสร็จ เด็กที่จะเริ่มคิดถึงเรื่องอาชีพตัวเองได้ มันต้อง 15 ปีขึ้นไป ถึงจะเริ่มคิดแล้วว่าจะเป็นอะไรดีวะ แต่คุณเล่นไปถามเขาตั้งแต่เด็ก มันสะสมความสงสัยในตัวเอง แล้วขณะที่เด็กตอบ เขาตอบโดยการที่เขาไม่ได้รู้ความจริงหรอก
โอเค เด็กบางคนอาจจะมีความฝัน อยากเป็นนักบินด้วยความรู้สึกอะไรบางอย่างซึ่งเขาก็ยังมีของเขาเนอะ เพียงแต่ว่าเวลาที่เราถามไปเรื่อยๆ อย่างล่องลอย ไม่มีความหมาย บางทีเด็กบางคนก็รู้สึกยากนะ เหมือนอย่างที่เม้งเล่าแหละ เออ… ทำไมเราเป็นคนที่ไม่มีความฝันเลยวะ บางคนตอบว่าเป็นวิศวะทั้งที่ยังไม่รู้เลยว่าวิศวะคืออะไร
“ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ”
ประโยคสุดท้ายครับ อันนี้ดูปราถนาดีจริงๆ “ทำไปทั้งหมดก็เพื่อลูกนะ” อย่างงี้มันดีหรือไม่ดีครับ
เป็นสิ่งที่พ่อหรือแม่มักคิดเสมอแหละ แต่ประเด็นคือ เรากำลังเอาความดีของเราทั้งหมดไปให้ลูกแบก เหมือนกับว่าฉันทำมาทั้งหมดก็เพื่อเธอ เธอทำผิดพลาดไม่ได้นะ เธอหลุดจากความดีหรือความรักที่ฉันนิยามไว้ไม่ได้นะ เพราะฉันอุทิศทั้งหมดให้แก่เธอ แล้วมันทำให้เขาแบกมากเลย แล้วเวลาที่เขารู้สึกว่าเขากำลังทำบางอย่างที่ไม่ได้สอดคล้องกับความรักและความดีในนิยามของแม่เนี่ย เขารู้สึกว่าเขากำลังผิด เขากำลังทำบาป
ฉะนั้นในความรัก พี่กลับมองว่าคนที่พูดแบบนี้เขาเห็นแก่ตัวกับลูกนะ เพราะเขาให้และทำทุกอย่างโดยที่หวังว่าลูกจะเห็นคุณค่าตรงนี้ ซึ่งสุดท้ายความรักที่เขาทำมาตั้งเยอะ มันกลายเป็นไม่มีคุณค่าหรือมันกลายเป็นไม่บริสุทธิ์ แล้วมันทำให้ลูกสงสัย พี่รู้สึกว่าคำพูดนี้มันหนักไปสำหรับคนที่เป็นเด็ก
อย่างนี้รึเปล่าครับ เวลาที่พ่อแม่พูดคำนี้ออกไป อาจพูดด้วยความน้อยใจรึเปล่าครับ เหมือนเราพยายามทำเต็มที่แต่ลูกอาจจะไม่เชื่อฟัง หรือลูกอาจจะไม่ได้ตอบสนอง เราน้อยใจเลยพูด
เม้งพูดถูก พ่อแม่ส่วนใหญ่น้อยใจ แต่พ่อแม่กับเด็กใครโตกว่ากัน?
พ่อแม่ดิครับ
เพราะฉะนั้นใครคือคนที่ควรจะหาหนทางแก้ไขความน้อยใจ พ่อแม่ถูกปะ? ถ้าเราน้อยใจ น้อยใจเรื่องอะไรก็ไปหาให้ถูก ไปหาสิ่งที่จะสื่อสารให้เฉพาะเจาะจงกับลูกให้ได้ว่าเราน้อยใจเรื่องอะไร เช่น “โห… ลูก คำพูดของลูกเมื่อกี้ แม่ฟังแล้วแม่เสียใจ” แค่นี้จบ ไม่ใช่เราโยนไปว่า “ที่ทำมาทั้งหมดก็เพื่อเธอคนเดียว” อ้าว… แล้วลูกจะหาทางออกยังไงต่อล่ะ
เพราะฉะนั้น คำพูดของพ่อแม่เป็นสิ่งที่ต้องถามตัวเองเยอะมากเลยว่า ใครควรจะแก้ไขความรู้สึกนี้ แล้วแก้ไขด้วยวิธีใด เพราะว่าเด็กเขามีประสบการณ์น้อยกว่าเรา แต่เรากลับเอาโลกทั้งใบของเราโยนไปให้เด็ก หาทางออกให้ได้นะว่าเธอจะแก้ไขความน้อยใจของฉันได้ยังไง
โห หลังแอ่นเลยฮะ ตัวเล็กนิดเดียว
แล้วเขาจะรู้สึกว่า แล้วเขาต้องทำยังไงวะ คือเขาต้องเชื่อทุกอย่างใช่ไหม แต่ท้ายที่สุดมันทำให้ความรู้สึกของเขาแคบลงๆ
เฮ้ออออ (ถอนหายใจยาว) แหม่ จบตอนนี้ด้วยความกลุ้มอกกลุ่มใจ จริงๆ แล้วก็กลับไปประเด็นที่ว่า พ่อแม่แก้ที่ตัวเอง สงบปากสงบคำ ถ้ายังไม่มีคำพูดดีๆ ก็อย่าพึ่งพูด แสดงออกโดยการสัมผัส แล้วก็ใจเย็นลงหน่อย ผมว่ารู้สึกให้ปราณีตขึ้น และอาจต้องเริ่มที่ความใจเย็น ต้องเงียบก่อน แล้วความช้า ความปราณีตมันอาจจะมา
คือถ้าผู้ฟังฟังอย่างเข้าใจจริงๆ มันคือการที่เราเอาอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงลูกกลับเข้ามาเพื่อหาแก่นของชีวิตของเราคนเดียวเลยนะ จริงๆ ถ้าเราเข้าใจความเป็นพ่อแม่หรือความเป็นชีวิตของเรา การที่เราจะสื่อสารกับลูกหรือเลี้ยงลูก มันจะง่ายขึ้นเลย
พี่คิดว่าเราไม่ได้เลี้ยงลูก แต่ลูกน่ะเลี้ยงเรา ลูกเลี้ยงให้พี่เป็นผู้ใหญ่ขึ้น ลูกเลี้ยงให้พี่ช้าลง สงบลง ลูกเลี้ยงให้พี่มีชีวิตที่มีชีวา ลูกเลี้ยงให้พี่มีความสุข มีความรักที่ไม่มีเงื่อนไข พี่ว่าพี่ไม่ได้เลี้ยงเขา พี่แค่ส่งความรักความมั่นคงจากข้างใน ส่งความรู้สึกปลอดภัยทางกาย ทางใจ ที่เหลือจากนั้น ลูกส่งบทเรียนกลับมาเพื่อให้พี่เรียน เพื่อที่จะเข้าใจตัวเองมากที่สุด พี่คิดว่าเขาเลี้ยงเรา เขาหล่อเลี้ยงเราทางด้านจิตใจที่ทำให้เราเรียนมากขึ้น และท้ายที่สุดมันเป็นของขวัญของเรามากเลยว่า วันนี้ฉันรู้จักตัวเองที่สุดเลย
ครับ ไม่ต้องสรุปอะไรแล้วนะ เรากลับมาให้ ‘ลูกเลี้ยงเรา’ ดีๆ กันครับ ทุกวันนี้พ่อแม่ไม่ค่อยให้ลูกได้เลี้ยงเราเท่าไหร่ ไปตัดโอกาสซะเยอะ และตอนนี้เราก็คุยกันเรื่องคำพูดคำจามา 3 ตอนแล้วเนอะ คิดว่าเพียงพอแล้ว ยังมีเรื่องอีกมากมายที่ความรักความปราถนาดีของเราอาจจะไปบั่นทอนคนที่เลี้ยงเราซะเยอะเลย
ตอนต่อๆ ไปก็จะมาคุยเรื่องโรงเรียน การเรียน ให้กว้างขวางกว่านั้นว่า มันมีโรงเรียนอะไรที่ส่งไปแล้วลูกไม่มีความสุข เพราะโรงเรียนนี่ลูกอยู่พอๆ กับบ้านเลยนะ อยู่จนมหา’ลัย เราส่งลูกไปที่ที่ทำให้เขามีความทุกข์แค่ไหน แล้วก็โรงเรียนแบบไหนที่เหมาะสมกับลูกจริงๆ ที่เราจะไม่เผลอไปส่งเขาไปในที่ที่ทำให้เขาและเราลำบากในอนาคต แล้วก็รวมถึงมีหลายๆ ตอนเกี่ยวกับการเล่นมือถือ ต้องติดตามฟังนะครับ งั้นตอนที่ 3 ก็เพียงพอแค่นี้ดีกว่านะครับ ขอบคุณครูณาครับ สวัสดีครับ
Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ รายการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ โรคพ่อแม่ทำ เขียนโดย ศ.นพ. ชิเงโมริ คิวโกกุ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านโรคภูมิแพ้และโรคทางกายที่เกิดจากสภาพจิตใจไม่ปกติ (Psychosomatic Disorder) ได้บันทึกและทำวิจัยเกี่ยวกับโรคที่รักษาว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะการเป็นผู้ปกครองหลังยุคอุตสาหกรรมที่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนเคร่งเครียดขึ้นและส่งผลทางจิตวิทยาและทางกายต่อลูกๆ หลายโรคดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง แต่เมื่อคุณหมอคิวโกกุแนะนำให้รักษาด้วยการ ‘ห่าง’ จากพ่อแม่ อาการนั้นกลับหายราวไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ ภูมิแพ้ เป็นต้น โรคบางอย่างที่เกิดกับลูกนั้น หลายอย่างมาจากความรักและหวังดีของพ่อแม่(ที่อาจมากเกินไป) คือคีย์เวิร์ดจากหนังสือที่รายการนี้อยากหยิบยกมาพูดถึงต่อ เจาะจงไปที่พ่อแม่มือใหม่ ทำความเข้าใจเพื่อไม่สร้างโรคให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน ก็ชวนคนเป็นลูกทุกช่วงวัยเปิดฟังเพื่อกลับไปสำรวจบาดแผลวัยเด็ก ทำความเข้าใจพ่อแม่ในมุมมองใหม่ และฟังเพื่อถอนพิษให้กับตัวเอง ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์ |