- ระวัง, อย่า, ไม่ / เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ / อย่าไปทำแบบนั้น เดี๋ยวตำรวจมาจับ / (ลูกล้มแล้วตีพื้น) นี่แหนะ พ่อ/แม่จัดการให้แล้ว / ทำไมไม่ทำเหมือนคนอื่นเขา อายเขาไหมเนี่ย / นิสัยเหมือนพ่อ/แม่ไม่มีผิด
- ถ้อยคำเหล่านี้ไม่ดีอย่างไร และถ้าไม่พูดคำแบบนี้ พูดอะไรแทนได้บ้าง?
บทความนี้ถอดความมาจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ตอนที่ 2 ถ้อยคำทำร้ายลูก ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
โรคพ่อแม่ทำ ถ้อยคำทำร้ายลูก ตอนที่ 1 คลิก
ตอนที่แล้วเราคุยกับครูณาไปแล้วเรื่อง ‘ถ้อยคำทำร้ายลูก’ ตอนที่ 1 ซึ่งคุยกันไม่จบเลยต้องแบ่งมาเป็น 2 ตอน ตอนที่แล้วเราคุยเรื่อง ‘คำด่า’ ถ้อยคำที่รุนแรง ด่า ตำหนิ คือมองโลกในแง่ร้าย ทำลายลูก และหลายๆ ครั้งมันก็เป็นผลจนทุกวันนี้ แต่ยังไม่จบยังมีดีกรีที่กระเถิบมาอีก นั่นคือ “การขู่” จริงๆ จะพูดว่าขู่ก็ไม่เชิง คือเป็นห่วงมากจนใช้คำที่เลยขอบของการอยากให้เขาความระมัดระวังขึ้นไปอีก เลยอยากชวนครูณาคุย แล้วก็ปรึกษาว่าเราจะใช้คำอะไรแทนคำพวกนั้นดี และที่สำคัญคำพวกนั้นที่เผลอพูดไปมันไปเกิดอะไรในใจลูก
โดยวันนี้เราจะคุยกันถึงคำเหล่านี้ฮะ
ระวัง, อย่า, ไม่ / เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ / อย่าไปทำแบบนั้น เดี๋ยวตำรวจมาจับ / (ลูกล้มแล้วตีพื้น) นี่แนะ พ่อ/แม่จัดการให้แล้ว / ทำไมไม่ทำเหมือนคนอื่นเขา อายเขาไหมเนี่ย / นิสัยเหมือนพ่อ/แม่ไม่มีผิด
รับฟังในรูปแบบ Podcast คลิก
“ระวัง”, “อย่านะ”, “ไม่”
คำที่ผมติดปากที่สุดก็คือ ‘ระวัง, อย่า, ไม่’ ระวังลูก เดี๋ยวหล่นนะ ยืนดีๆ นะลูก คำเหล่านี้มันไม่ดียังไงครับ เพราะจริงๆ มันก็เป็นความห่วงของเรา
ที่เม้งถามพี่ถึงคำว่า ‘ระวัง’ เนี่ย มันยังอยู่ในดีกรีที่พอเข้าใจได้ รับได้ แต่คำที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่มักจะพูดกับเด็กโดยทั่วไปคือคำว่า ‘อย่านะ’ ‘ไม่’ ซึ่งเวลาที่เราพูดคำว่า ‘อย่า’ หรือ ‘ไม่’ มันมีผล 2 อย่างที่เราควรทำความเข้าใจว่าทำไมถึงไม่ควรทำ
คำแรก คำว่า ‘อย่า’ หรือคำว่า ‘ไม่’ แบบนี้สมองจะประมวลผลไม่ได้ เพราะสมองไม่มีเซลล์ที่สร้างคำว่า ‘ไม่’ หรือ ‘อย่า’ ในตรรกะการคิด เราถูกสร้างตอนที่เป็นผู้ใหญ่ว่าคำว่า ‘อย่า’ หรือคำว่า ‘ไม่’ มันเกิดภาพอะไรแล้วเราไปสร้างวงจรที่เป็นภาพตรงข้าม ซึ่งมันซับซ้อนนะ แต่เด็กเขาทำไม่ได้ พี่จะลองทำให้เม้งดู แล้วผู้ฟังก็ลองทำไปด้วยกันนะ
ลองจินตนาการนะ หลับตาสบายๆ รู้สึกว่าเราเห็นท้องฟ้าที่สดใส มีก้อนเมฆ หลังจากนั้นมีนกบินมาตัวหนึ่ง นกไม่ใช่สีแดงนะคะ อย่าคิดนะว่านกสีแดง แล้วหลังจากนั้นมีนกบินมาเป็นฝูงเลย ไม่มีสีแดงสักตัว ห้ามคิดว่าสีแดงนะคะ เม้งลืมตาค่ะ นกสีอะไรคะ
แดงครับครู แดงทั้งฝูงเลยครับ (หัวเราะ)
ใช่ เพราะในการทำงานของสมองที่ไม่ซับซ้อนจะคิดตามสิ่งที่ได้ยินแล้วไปกระตุ้นวงจรให้เกิดขึ้น คราวนี้ในการคิดอย่างแท้จริงมันไม่มีคำว่า ‘ไม่’ หรือ ‘อย่า’ เพราะคำว่า ‘ไม่’ หรือ ‘อย่า’ มันคืออะไรอะ?
ต่อมาคือ เวลาบอกว่า ‘อย่า’ ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง มันมีทางเลือกอื่นๆ อีกมหาศาลเลยซึ่งไม่รู้ว่าควรจะทำอย่างไหน เด็กยังคิดซับซ้อนขนาดนั้นไม่ได้ เช่น ‘อย่าทำเสียงดัง!’ เขายังคิดไม่เก่งว่าถ้าไม่ทำเสียงดังแล้วทำอะไรเหรอ นึกออกไหมคะ เขายังไม่ถูกฝึกให้คิด
แล้วการพูดว่า ‘อย่า’ ในเด็กเล็กมากๆ มันอันตรายเหมือนกันนะ สมมติว่าเขากำลังจะจับปลั๊กไฟ แล้วเราก็บอกว่า “อย่าจับ!” ณ ตอนนั้นเด็กจะถูกกระตุกด้วยภาพว่า “จงจับ!” เด็กหลายคนพอบอกอย่าจับปุ๊บ จับทันที “อย่าแหย่!” เอานิ้วแหย่พัดลมทันที “อย่าวิ่ง!” เขาวิ่งค่ะ “อย่าคุยเสียงดัง!” “จงคุยเสียงดัง” ดังนั้น ในเรื่องที่อันตรายแล้วเราบอกว่า “อย่าจับ!” มันทำให้เด็กมีความรู้สึกเหมือนกับว่า ทำไมอะ แล้วยังไงหรอ ต้องทำยังไง เพราะเขายังประมวลผลไม่ทัน สมองเขายังทำงานซับซ้อนไม่ได้ พอบอกว่าอย่าทำอะไรหรือไม่ให้ทำอะไร ให้เรานึกเลยว่าเด็กจะคิดถึงการตัดคำเหล่านั้น แล้วเปลี่ยนเป็นว่าให้ทำแบบนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เด็กอยากรู้ เด็กยังไม่เข้าใจ เด็กก็จะประมวลผลเองไม่ได้แล้วก็ทำ แล้วเราจะเรียกเด็กเหล่านี้ว่า “เด็กดื้อ” แต่ไม่ใช่ เด็กไม่ได้ดื้อ แต่ผู้ใหญ่ใช้คำพูดไม่ถูก หรือคิดไม่เป็น
ถ้าเราอยากให้เขาทำอะไร ให้บอกไปอย่างนั้น เช่น “เดินเบาๆ ลูก” พอพี่พูดคำว่า “เดินเบาๆ” เม้งเห็นภาพคนกำลังย่องเลยไหม? การพูดแบบนี้สมองจะเห็นภาพจริงๆ นั่นน่ะคือวิธีการฝึกเด็ก แต่ไม่ใช่บอกว่า “อย่าเดินเสียงดัง!” แล้วเขาก็งงว่าแล้วต้องทำอะไร เด็กต้องเห็นภาพปลายทางก่อน
เช่น มีเด็กคนหนึ่งเดาะบอลในห้อง เดาะที่พื้น แล้วพ่อแม่ก็บอกว่า “อย่าทำเสียงดัง! ไม่ให้เดาะบอลกับพื้น” แล้วเด็กก็คิดว่าเดาะบอลกับผนังได้ ก็ไปเดาะบอลกับผนัง เพราะเขาไม่รู้ว่าทำไมไม่ให้เดาะบอลกับพื้น หมายถึงแม่ให้เดาะบอลกับผนังได้ใช่ไหม พอเดาะบอลกับผนังก็ไม่ได้อีก “บอกว่าอย่าเดาะบอล!” เอ้า..เมื่อกี้บอกว่าอย่าเดาะบอลกับพื้น เขาก็อุตส่าห์เลือกเดาะบอลกับผนัง แล้วสุดท้ายไม่ให้เขาเดาะบอล เขาก็ไปเอาของเล่นมาเท แต่จริงๆ แล้วพ่อแม่อาจจะบอกว่า “พ่อแม่กำลังคุยกันลูก ถ้าลูกจะทำเสียงดังลูกไปข้างนอกแป๊ปนึงนะ” เขาก็จะมีทางออกว่า อ๋อ…ตรงนี้กำลังต้องการใช้ความเงียบ เขาควรจะไปทำอย่างงี้
โดยเฉพาะเด็กเล็กที่เขายังคิดซับซ้อนไม่ได้ เราควรที่จะฝึกให้เขาเห็นปลายทางว่าอะไรคือทางออกที่ดี ไม่ใช่การบ่น หรือการทำให้เขารู้สึกว่าเขาเป็นคนที่ดื้อ เขาเป็นคนที่ไม่ฟังผู้ใหญ่
หมายถึงว่า การใช้คำว่า “อย่า” อย่าทำนั่นนี่นู่น อาจตามมาด้วยการกระทำที่พ่อแม่ก็ไม่ถูกใจอีก แล้วเขาทำก็ถูกว่าว่าดื้อ กลายเป็นว่า การเปลี่ยนพฤติกรรมไปทำอย่างอื่นเป็นผลพลอยได้ที่กลับสร้างให้เขากลายเป็นเด็กดื้ออีกทีนึง
เหมือนกลับไปที่ EP.แรก ที่เราพูดถึงคำตำหนิ คือพ่อแม่ต้องฝึกว่าเราจะสื่อสารยังไงให้ได้ผล หากอยากให้เด็กเล็กทำอะไร ลองหาประโยคบอกเล่าที่ให้เห็นการกระทำอย่างชัดเลยว่าทำแบบนี้แล้วโอเคนะ ถ้าเกิดเขานั่งอยู่ที่ระเบียงแล้วเราบอก “ลูกนั่งระวังๆ นะลูก” ใช้คำว่า “ระวัง” ได้นะ “ระวังตกนะลูก” ซึ่งมันก็จะเหมือนที่เราพูดคราวที่แล้วเรื่อง ‘พลังงาน’ ที่เราใส่ไปว่ามันเป็นพลังงานความกลัว และมันก็ทำให้เขามีภาพตกอยู่ในหัว แต่ถ้าบอกว่า “นั่งระวังๆ นะลูก” เขาก็จะรู้สึกถึงท่าทีที่ระวัง
แล้วถ้าเขาตกไปแบบนั้นนะ ให้รู้เลยว่า เด็กเนี่ย…การที่เขาต้องผจญภัยทางร่างกายของเขา ร่างกายของเขาถูกออกแบบมาเพื่อให้เกิดอุบัติเหตุเล็กๆ ได้ ล้มแบบนั้นแล้วก็หายเลยได้ ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาแบบนั้นมันทำให้เขาเรียนรู้ว่า เขาจะนั่งดีๆ นะ แต่พอเราไปห้ามเขาต่อ มันกลายเป็นว่าเขาไม่ได้ฝึกที่จะนั่งให้ดี แต่กลายเป็นว่าในเมื่อเธอนั่งดีๆ ไม่ได้ เธอจงไม่ได้นั่งอีกต่อไป
ลูกพี่เคยขี่จักรยานแล้วล้ม แล้วบ้านพี่อนุญาตให้ลูกออกถนนเลยนะ ทีนี้เขาขี่ๆ อยู่แล้วโดนรถเฉี่ยว มีการกระแทกแล้วเลือดกำเดาไหล พี่ก็ยังไม่ห้ามเขานะ แต่นั่งดูเขาคุย ให้เขาทบทวนเรื่องราว แล้วเราก็มีกระบวนการที่ทำให้เขาเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น พี่กอดเขาโดยที่ไม่ได้พูดอะไรเลย หลังจากนั้นผ่านไปสัก 6-7 วัน เขาก็ขี่จักรยานใหม่ หลังจากนั้นเขามาบอกว่าการขี่จักรยานอย่างมีความสุข…มันคุ้มค่ามากกว่าการเกิดอุบัติเหตุนี่ 1 ครั้ง มีความสุขมากกว่าการบาดเจ็บครั้งนี้ ดังนั้น สิ่งที่เขาต้องเรียนรู้ก็คือ เขาจะขี่จักรยานให้ไม่เกิดแบบนี้อีก แบบนี้ต่างหากที่เด็กจะพัฒนาขึ้น ถูกป้ะ?
วันหนึ่งเราก็อยากได้ลูกที่อยู่ตรงไหนก็เล่นได้ ผจญภัยได้ สามารถทำอะไรได้เยอะแยะ ขี่จักรยานได้ ว่ายน้ำได้ ถูกไหม เราอยากได้ลูกแบบนี้ แต่ถ้าเขาเกิดอุบัติเหตุ 1 ครั้ง แล้วเราบอกว่า งั้นจงไม่เล่น นั่นแสดงว่าเราฆ่าความสุขของเขาที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปทั้งชีวิต พระไพศาล วิสาโล ท่านก็เคยพูดว่าชีวิตที่หลีกเลี่ยงความเสี่ยง เป็นชีวิตที่เสี่ยงอย่างยิ่ง เพราะนั่นหมายถึงว่า ถ้าคุณไม่ได้เผชิญความเสี่ยงเลยคุณจะไม่ได้ฝึกทักษะที่จะผ่านสิ่งเหล่านี้ด้วยความระมัดระวัง
แต่ถ้าเป็นเรื่องที่เสี่ยงถึงชีวิตล่ะ เพราะบางทีความรักมากๆ ของเราก็กลายเป็นห่วงมาก อย่างที่ผมบอกว่าตัวผมเองอาจจะเพราะมีแฟ้มภาพความกลัวอย่างนั้นเยอะมั้ง เขาเดินขึ้นบันไดแรกๆ เราจะเห็นภาพสะดุด เห็นภาพเขาตกระเบียงซ้ำๆ หรือวิ่งออกถนน “อย่า! อย่าเพิ่งวิ่งออกไป” หรือแบบปลั๊กไฟอย่างนี้ แล้วเราจะไม่ห้ามเขาเหรอ เช่นแบบ เขากำลังจะจิ้มปลั๊กไฟอยู่แล้ว ถ้ามันเกิดเหตุการณ์ตรงหน้าอย่างนั้น เราจะจัดการยังไง
เมื่อตอนที่แล้วที่เราพูดว่า เราอยากเป็นพ่อแม่ที่สับสนวุ่นวาย หรือ เป็นพ่อแม่ที่สงบ? เราอยากให้เขาเป็นเด็กที่สงบหรือเด็กที่สับสนวุ่นวาย ถ้าเราได้คำตอบว่าเราอยากเป็นคนสงบและอยากได้ลูกที่สงบ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ดีมากเพราะว่าความสงบนี่แหละ สร้างการเรียนรู้ในระดับเชิงลึกได้ดีกว่าความวุ่นวายหรือการบอกว่า ‘ห้าม ‘อย่า’
สำหรับพี่ ถ้าลูกพี่เล็กๆ แล้วคลานไปที่ปลั๊ก แล้วเราเป็นคนสงบ แล้วลูกเราก็สงบ เราก็จะแบบว่า “แอะ!” เขาก็จะรู้แล้ว เชื่อไหมว่าเด็กที่สงบ เข้าสู่บางสิ่งที่เป็นอันตรายแบบนี้ เขาจะรับรู้ได้ด้วยสัญชาตญาณ
ถ้าเกิดเขาเดินไปแล้วจะไปจิ้มปลั๊ก แล้วพี่ก็ “อะแฮ่ม” (ทำเสียงกระแอมในลำคอดังๆ) แล้วเขาก็หันมามอง เราก็สื่อสารอย่างชัดเจน ‘ผ่านสายตา’ ของเราแล้วว่าไม่ได้ เจ็บ เขาก็จะเริ่มเข้าใจ หรือจะไปจิ้มพัดลม เราแค่เอากระดาษแหย่ให้เขาดูแล้วมันดัง แป้กก! เขาก็ตกใจนะ เราก็จะบอกเขาว่า “เจ็บมากๆ ไม่ได้ลูก”
เห็นภาพครับ
ใช่ไหม? แค่นี้เขาก็เห็นภาพ พอมันได้ยินเสียง แป้กกก! เราก็บอกว่า “เนี่ย เจ็บมากๆ ไม่ได้หรอก” พี่ชอบเทียบกับเรื่องของสิงโต เวลาที่สิงโตเขาคลอดลูกออกมา ตัวเมียก็จะอนุญาตให้ลูกวิ่งเล่น ลูกก็วิ่งไป แต่พอมันเกินอาณาจักรที่พ่อแม่ไม่ให้ สิงโตก็จะหันมา แล้วถ้าพ่อแม่คำรามขู่ “แฮ่” (ทำเสียงประกอบ) ลูกก็จะรู้ได้ว่า อ๋อ…ไม่ควรไปเกินขอบเขตนี้ นี่คือสิ่งที่มันกลับไปสู่คำว่าสัญชาตญาณ ความจริงเด็กเขามีนะ
หรือว่าปลั๊กนี่นะ บางทีด้วยความที่เราใส่ความรู้สึกสงสัยให้กับเขา เด็กบางคนก็ยังอยากจะจิ้ม แต่เขาจะจิ้มด้วยท่าทีที่พร้อม คือเด็กบางคนก็โดนไฟช็อตนะ แล้วก็กระตุกออกมาทันที เพราะว่าเขาพร้อม แต่ถ้าเด็กที่ใช้วิธีการห้ามและตี และเขาอยากรู้มากๆ โดยที่ไม่รับรู้ถึงอันตรายในชีวิต เขาทำมันนะ เวลาที่เราห้ามเด็กโดยที่เด็กไม่ได้เรียนรู้ น่ากลัวกว่ามาก เพราะเขาจะแอบทำ แล้วตอนที่เขาแอบทำ เขาไม่มีสติเลยนะ เด็กเล็กๆ เธอจะใช้การขู่ อย่างที่บอกว่ามันไม่ได้เห็นทางออก มันไม่ได้ให้ข้อมูล
ฟังแล้วเห็นภาพ แต่จริงๆ เราควรจะมีทางเลือกหรือทำให้ลูกเห็นภาพ และที่สำคัญมันกลับไปเหมือนอีพีที่แล้วเลย คือ สงบปากสงบคำ ผมรู้สึกว่ามันกลายเป็นคำเตือนใจเราที่ศักดิ์สิทธิ์ คือไม่ต้องเตือนไปซะทุกอย่าง และจริงๆ ผมคิดไปถึงลูกน้องเรา เพื่อนร่วมงานเราด้วยนะ บางทีชอบสั่งว่า ‘อย่า’ ‘ห้ามทำ’ น้องก็คงงงว่าจะให้ทำอะไรก็บอกมา เหมือนเราเองก็บรีฟไม่เคลียร์
ใช่ อยากให้ทำอะไรก็บอกมา คือบางทีเราก็ไม่รู้ตัวเองนะว่าเราอยากได้อะไร การที่เราทบทวนว่าเราอยากได้อะไร เราก็จะชัดเจนกับตัวเอง แล้วการสื่อสารของเรากับลูกหรือลูกน้องก็จะชัดเจน และอีกคำถามถามคือ เราอยากได้ลูกที่ ‘เชื่อง’ กับเราขนาดนั้นเลยเหรอ ถึงพูดครั้งเดียวแล้วเขาฟัง ทำตามเลย
“เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ”
คำต่อไป ต่อเนื่องจากคำข้างบนเลย พอพลาดมา เราจะบอกว่า “เห็นไหม บอกแล้วไม่เชื่อ”
ตรงนี้ต้องระวัง ไอ้คำว่า ‘แม่บอกแล้ว’ ‘ครูบอกแล้ว’ ‘ฉันบอกเธอแล้ว’ คำนี้ขอให้สงบและก็เงียบไปเลย
หนักกว่าเมื่อกี้เลยใช่มั้ยฮะ ผมเกือบจะข้ามคำนี้ไปแล้วนะ
จริงๆ เด็กเรียนรู้ด้วยตัวเองได้เยอะมากนะ อย่างไรก็ตาม ถ้าเราสอนเขาแล้ว เราสร้างประสบการณ์ให้เขาแล้ว แต่สุดท้ายเขาทำพลาด สิ่งที่เราควรทำคือ ต้องเชื่อใจและวางใจเลยว่าเขาเรียนกับมันแล้ว แล้วเราก็กอดเขา บอกเขาว่า “รู้สึกแย่จังเลยเนอะ” แล้วจบ เราต้องวางใจว่ามนุษย์เรียนรู้แล้ว เชื่อไหมว่าถ้าเราทำ Process นี้ได้ สงบปากสงบคำกับคำนี้ได้ หลังจากนั้นเขาจะทำมันจริงๆ เขาจะตั้งใจกับมันจริงๆ
แต่ลองฟังสิ “แม่บอกแล้วใช่ไหม! ว่าไม่ให้ทำ” มันเป็นอะไรบางอย่างที่ทำให้รู้สึกเหมือนว่า ‘ครั้งหน้าต้องแอบทำ’ แล้วถ้าเป็นวัยรุ่นแล้วเราบอกว่า ‘ก็ครูบอกแล้ว’ ‘ก็แม่บอกแล้ว’ ‘เสียดายใช่ไหมล่ะ ก็บอกแล้ว’ มันกระทำกับเขาให้รู้สึกว่า…ก็แล้วไงอะ? กระบวนการที่จะรู้สึกผิดหรือรู้สึกสำนึกกับมันสิ้นสุดเลยนะ เนื่องจากมันเกิดอัตตาใหม่ที่จะรับว่า…ก็จะทำอะ ต่อไปจะทำให้เนียนขึ้น
พี่เคยทำแก๊งขี่จักรยานกับเด็ก ขี่กันมาเป็นร้อยกิโลฯ เลยนะ ขี่อยู่ 5-6 วัน แล้วการขี่นี่มันจบแล้วนะ แต่จะมีพาร์ทเสริมคือต้องอีก 10 กิโลฯ เพื่อกลับเข้าเมือง แต่ก็มีบางกลุ่มที่เอาจักรยานขึ้นรถบรรทุกแล้วนั่งกลับไป เราก็ให้เด็กเลือกเองว่าใครจะไปยังไง ทีนี้ก็จะมีเด็ก 10 คนที่เลือกขี่จักรยานไปกับครูต่อ อีก 10 กว่าคนที่เลือกว่าพอละ จบแล้ว เพราะเราบอกกับเขาว่าถ้าขี่จักรยานเข้าเมืองต้องระมัดระวังมากขึ้นนะและต้องขี่ให้เป็นระเบียบ ปรากฏว่ารถบรรทุกก็เอาจักรยานกับเด็กไปรอที่ตึก แล้วพวกที่ขี่จักรยานกับเราก็ขี่ไปเรื่อยๆ พอไปถึงตึก บรรดาเด็กที่ขี่จักรยานไปก็ชูสองแขนเข้าตึกเหมือนกับว่า Yes! เราเจ๋ง! เราเห็นสีหน้าของเด็กที่นั่งรถมาเลยว่า เหมือนเขารู้สึกว่าแบบ…โหย! อีกนิดนึงเราก็เจ๋งแบบนี้แล้ว
สิ่งที่พี่พูดกับครูเลย คือ “อย่าพูดกับเด็กนะว่า ‘เสียดาย’ ระมัดระวังนะ” เพราะไม่อย่างนั้นกระบวนการที่เขากำลัง ‘เสียดาย’ อยู่จะจบลง ถ้าเธอพูดแบบนั้นแปลว่าเธอไปกระตุ้นกลไกป้องกันตัว แล้วมันไปปิดสวิตช์ของการเสียดาย ทันทีที่เขารู้สึกข้างในแล้วบอกว่า ‘เราไม่น่าเลย’ นั่นแหละ ทั้งหมดนั้นเขาจะคิดกับตัวเองแล้วก็จัดการกับตัวเอง แต่ถ้าเธอไปพูดกับเขาด้วยพลังงานที่ไม่ระมัดระวัง มันมีอัตตาที่ค่อยๆ เกิดขึ้น “ไม่ ผมไม่เสียดายหรอก” มันเกิดขึ้นมาแทน
คล้ายๆ ว่า รู้แล้วน่าว่าเจ็บ ไม่ต้องซ้ำ พอไปซ้ำ เขาก็แปรเปลี่ยนความทุกข์นี้เป็นอย่างอื่นอีก
คือถ้าเราเห็น ถ้าเราสงบพอ เราจะเห็นพลังงานทั้งหมดว่ากระบวนการมันจบแล้ว เขารู้สึกแล้ว เราก็ตบไหล่หรือเรากอด แล้วมันก็สมบูรณ์ในตัวของมันเองแล้ว
“อย่าไปทางนั้น เดี๋ยวตำรวจมาจับ”
มันมีการขู่แบบคลาสสิกอีกอันคือ ‘อย่าไปทางนั้นเลย เดี๋ยวตำรวจมาจับ’ ‘อย่าทำๆ เดี๋ยวตุ๊กแกกินตับ’ ทุกวันนี้กลัวตำรวจเพราะไม่รู้ว่าตอนเด็กๆ แม่ชอบพูดคำนี้รึเปล่า โตมาเลยเป็นคนขี้ระมัดระวัง ขี้กลัว
‘ระมัดระวัง’ กับ ‘ขี้กลัว’ คนละแบบกันนะ เด็กที่ขี้กลัว กลัวกับเรื่องไม่เข้าเรื่อง ทำไมต้องอยากให้เด็กกลัวตำรวจล่ะ ในเมื่อตำรวจเป็นคนที่ช่วยชีวิตเรา ช่วยสิ่งที่ดี แล้วทำไมเวลาที่บอก ‘อย่าไปทำงั้นนะ เดี๋ยวตำรวจจับ’ คือมันคล้ายกับว่าคุณค่าของมนุษย์ที่ตำรวจจะจับเนี่ยมันต่ำต้อยมากเลย แค่ทำแค่นี้ตำรวจก็จะมาจับแล้ว
เด็กเขาไม่ได้คิดซับซ้อนแบบนั้น แต่เราเอาลำดับการคิดวิเคราะห์ของเด็กไปเทียบกับสิ่งที่…มันแค่ทำแบบนี้ตำรวจก็จับ แล้วมันทำให้เขากลัวตำรวจโดยไม่เข้าเรื่อง บางทีเราไปสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เขารู้สึกกลัวกับสิ่งที่ไม่ได้มีเหตุผลที่ดี ถ้าเราไม่อยากให้เขาทำอะไร เราก็สื่อสารให้ชัดเจนว่า ทำไมควรไม่ทำ
พี่ยังเคยอายเลย ด้วยความที่เรากลัวตุ๊กแก ก็เหมือนเธอที่กลัวตำรวจ แล้วเราไปกับอีกคนหนึ่งที่เขาไม่กลัวตำรวจเลย แล้วเขาก็คุยกับตำรวจสนุก แล้วเราก็มีจิตใจที่เรารู้สึกว่า ไม่อยากคุย ตำรวจน่ากลัว หรือเราไปปฏิบัติธรรม เพื่อนเราอยู่ห้องที่มีตุ๊กแกได้ แต่เราอยู่ไม่ได้ แล้วทำไมเราต้องสร้างเด็กที่มามีเงื่อนไขกับความกลัวพวกนี้ล่ะ
คือเหมือนเวลาไปพูดอะไร ทำอะไร แล้วก็ไปสร้าง ไป Register สิ่งนั้นให้กับเขา ทำไมเราไม่บอกความจริงไปเลย ‘อย่าไปทางนู้น เดี๋ยวแม่มองไม่เห็น เดี๋ยวพ่อตามไม่ทันนะ’ แค่พูดความจริงก็พอ
ใช่ มันนึกไม่ออกว่า ฉันทำอะไรเหรอฉันถึงต้องโดนจับ แล้วมันก็เป็นเงื่อนไขที่ไร้สาระ พี่คิดว่านะ บอกไปเลย “อย่าไปทางนั้นนะลูก เดี๋ยวแม่มองไม่เห็นแล้วแม่จะเป็นห่วง”
ทำผิดแล้วตีพื้น
อีกอันที่ผู้ปกครองชอบทำ ลูกล้มแล้วตีพื้น พื้นผิด! อากงอาม่าผมก็ตีประจำ “นี่แหนะ จัดการให้แล้ว”
พอเป็นอากงอาม่าเราเลยไม่กล้าพูด (หัวเราะดัง) อันนี้มันฝึกอะไรรู้ปะ? โทษอย่างอื่น ไม่โทษตัวเอง ไม่เรียนรู้ที่จะจัดการตัวเอง เพราะฉะนั้นก็จะบ่มเพาะบางอย่างว่าพอมีอะไรปุ๊บ เขาจะชี้ออกนอกตัวทันทีว่าเขาจะไปจัดการกับอะไรดี
ทั้งที่จริงแล้วเราเหมือนจะพยายามจัดการให้ลูก เราอยากปลอบเขา
เราอยากปลอบประโลมเขา อยากทำให้เขาหายเร็วๆ ล้มก็ดูแลจิตใจ ดูแลอารมณ์ ลูกล้มเขาเจ็บ ให้สะท้อนอารมณ์เลย “เจ็บใช่ไหมลูก มากอดที” แล้วเขาก็จะเรียนรู้ของเขาเลย ไม่ต้องฝึกเขาเรื่องโทษคนอื่น
แต่นี่ชัดฮะ เพราะเราโตมาในสังคมที่โทษคนอื่นเยอะ
เหมือนเมื่อกี้เธอพูดถึงหัวหน้ากับลูกน้อง พอเวลาทำงานอะไรผิดพลาด ลูกน้องก็จะโทษว่าหัวหน้าสั่งยังไง หัวหน้าก็จะบอกว่าลูกน้องอะฟังยังไง แต่ถ้าเราย้อนกลับมาที่ตัวเราเองว่า เฮ้ย…เราสั่งยังไงนะมันถึงได้ผลลัพธ์อย่างงี้ หรือว่า เอ๊ะ…เราฟังหัวหน้าบอกยังไงนะเราถึงทำผิด พอเรากลับมาที่ตัวเองเราจะเรียนรู้ที่จะแก้ไข ถ้าเด็กหกล้มแล้วเราไม่โทษอย่างอื่น แล้วเขาจะรู้ว่าเขาควรที่จะเดินอย่างระมัดระวัง
การสร้างเด็กเล็กๆ นี่มันเหมือนสร้างสังคมนะ แล้วยิ่งเราต้องรออีกหลายปีกว่าสังคมมันจะค่อยๆ Transform
อย่าง ‘โรคพ่อแม่ทำ’ มันถูกส่งต่อ อย่างที่พูดว่ามันหลายรุ่น แล้วเราก็สร้างกลไกความเป็นอัตโนมัติ สมมติว่าเราสร้างการโทษคนอื่นโดยการตีพื้น แล้วพอรุ่นถัดไปก็ตีต่อแล้วก็โทษอย่างอื่นต่อ ดีกรีมันก็จะสูงขึ้น พี่เรียนรู้กับบางอย่างแล้วพบว่า ‘โรคพ่อแม่ทำ’ มันทำความเจ็บปวด บางคนทำให้เกิดความเจ็บป่วยทางกาย แต่บางคนมันเป็นความเจ็บป่วยทางใจ แล้วมันสร้างพฤติกรรมบางอย่างที่กลายเป็นส่งต่อลูกถัดไป พี่คิดว่าถ้าผู้ฟัง คุณพ่อคุณแม่ หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กทำความเข้าใจอย่างแท้จริง แล้วคิดว่าเราจะตั้งใจทำสิ่งนี้ เพราะถ้าจะตัดวงจรที่รุ่นเรา เราไม่เอาแล้วที่จะส่งต่อความผิดปกติที่เป็นความปกติอย่างนี้ เรียนรู้ว่าเราไม่เอาความผิดปกติของชีวิตแบบนี้ไปส่งต่อความเป็นปกติของมนุษย์ ทันทีที่เราฝึก เราแก้ไขเยียวยาตัวเองไง สิ่งที่ได้คือผลลัพธ์ที่มีค่ามากเลยต่อลูกของเรา แล้วลูกของเราก็จะไม่ใช่เด็กที่เกิดจาก ‘โรคพ่อแม่ทำ’
“ทำไมไม่ทำเหมือนคนอื่นเขา อายเขาไหมเนี่ย”
คำสุดท้ายครับ “ทำไมทำไม่เหมือนคนอื่นเขา อายเขาไหมเนี่ย” แล้วไปเปรียบเทียบกับคนอื่นด้วย
ณาเชื่อว่ามีหลายคนที่โดนแบบนี้ เช่น พ่อแม่เปรียบเทียบเรากับพี่น้องหรือคนข้างบ้าน คำพูดเหล่านี้แหละที่ทำให้เด็กรู้สึกว่าฉันไม่มีค่า สงสัยในคุณค่าของตัวเขา สิ่งที่พ่อแม่ควรเรียนรู้คือเด็กไม่เหมือนกัน คุณเปรียบเทียบกันไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปรียบเทียบคือ การไม่เห็นคุณค่าและความหมายในตัวของเราเอง รู้สึกว่าพี่น้องหรือคนข้างบ้านมีคุณค่ามากกว่าฉัน ฉันไม่มีคุณค่า ฉันไม่มีตรงไหนเลยที่ทำได้ดีใช่ไหม ซึ่งการพูดแบบนี้กับลูก ลูกเจ็บปวดมากนะ ลองกลับไปนึกถึงตอนเราเด็กๆ เราได้ยินเราก็เจ็บปวด
แต่ถ้าประโยคนี้ไม่ถูกพูดขึ้น แต่เรายกมาว่า ลูกแม่คนนี้น่ารักยังไง เช่น ลูกพี่คนโตเป็นนักเปียโน คนเล็กเป็นนักปั้น ซึ่งเขาสองคนไม่มีทางเหมือนกันเลย ศักยภาพก็ไม่เหมือนกัน นิสัยก็ไม่เหมือนกัน ถ้าเราพูดโดยเปรียบเทียบ ไม่คนเล็กหรือคนโตต้องแย่เลย “โห..ลูกปั้นดิน ไม่เห็นเหมือนเฮียเขาเล่นเปียโนเลย” หรือพอคนพี่จะปั้นก็บอก “โหย…ปั้นสู้น้องก็ไม่ได้”แล้วเขาจะยังไงอะ แล้วเราจะให้เขาเชื่อในตัวเองตรงไหน เขาก็เลิกปั้นดิน เลิกเล่นเปียโนเท่านั้น แต่การที่เรายอมรับแล้วก็ให้เขาพัฒนาตัวเองในความเป็นเขา แบบนี้มันทำให้เกิดคุณค่าความหมายมากกว่าที่จะเปรียบเทียบกัน
สุดท้ายกลับไปเหมือนเดิม ไม่พูดดีกว่า สงบปากสงบคำดีกว่า
พี่ชอบใช้คอนเซ็ปต์นี้นะ คือถ้าจะด่าหรือพูดไม่ดี เอาไว้พรุ่งนี้ไม่สาย เจ็บพอกัน เจ็บเท่าเดิม โน้ตไว้ก่อนก็ได้ ไปคิดก่อนว่าควรด่าไหม พอทำแบบนี้ ใคร่ครวญไปสักพักแล้วลองพูดแบบนี้ใส่ตัวเรา เราจะรู้เลยว่ามันเจ็บปวดมากอะ ทำไปทำไมนะ แล้วเราก็จะหยุด
คือเราไม่มีชุดความคิดดีๆ หรือชุดคำพูดดีๆ เงียบดีกว่า ตอนนี้ผู้ฟังเงียบกันหมดแล้วนะฮะ
(หัวเราะ) แต่ก็ยังดีกว่า เพราะทันทีที่เราพูดไม่ดี เรากำลังเพิ่มพลังของสมอง ใส่คำพูดแบบนั้นให้เรายิ่งพูดไม่ดีมากขึ้นได้ง่าย ตัวเราจะกลายเป็นคนที่ถนัดที่จะพูดประโยคแบบนี้ บางทีเราก็พูดประโยคแบบนี้จนกลายเป็นวงจรถาวร แต่ถ้าเราเงียบ สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ เราค่อยๆ สลายพลังงานของวงจรการพูดแบบนี้ แล้วก็ค่อยๆ ไปสร้างการพูดดีๆ สิ่งเหล่านี้มันต้องฝึก แต่ถ้าเรารู้สึกว่ายากหรือไม่มีประโยชน์ ก็แสดงว่าเรานี่แหละเป็นคนอนุญาตให้วงจรนี้ทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องรับผลลัพธ์ของเราในอนาคตที่เราพูดไปกับลูกนี่แหละ
แต่เงียบไม่ใช่เก็บกดนะ เงียบแปลว่า ‘เดี๋ยวขอคิดก่อน’ ปล่อยวางกับเพิกเฉยนี่ต่างกัน ฉะนั้นเงียบเพื่อที่จะคิด เงียบเพื่อพรุ่งนี้ค่อยว่ากัน ไม่ใช่ว่าเงียบไม่พูดๆๆ
Solution ของครูณาคือ จะด่าก็ได้แต่ขอช้าสักวันหนึ่ง ช้าสักชั่วโมงสองชั่วโมง ลองทำแค่นี้ก่อน
ใช่ เพราะว่าเจ็บพอกัน ไม่ต้องกลัวว่าด่าช้าแล้วจะสายหรอก แต่สิ่งที่ต้องระวังคือ ถ้าเขาไม่ผิด หรือคำพูดของเราไม่ถูก แล้วเราด่า ความเสียหายมันมาทันที แต่ถ้าเราไปคิดนิดนึง เราอาจจะพบว่าไม่ด่าดีกว่า เราก็อาจจะได้การเติบโตที่ดีกว่า ความเสียหายจะน้อยลง
“เนี่ย ทำนิสัยเหมือนแม่เลย”
สุดท้ายละฮะ คำนี้ใกล้เคียงเมื่อกี้ เแต่ทีนี้จะกระทบคราดนิดหนึ่ง ‘เนี่ย ทำนิสัยเหมือนแม่เลย’ ผมเผลอใช้ไปสองทีฮะ หรืออีกทีก็ “ทำนิสัยเหมือนพ่อเลยนะ” (หัวเราะ) อันนี้ผมพลาดบ่อย แต่ดูเหมือนลูกไม่ค่อยเสียใจเท่าไหร่
สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ คนที่ถูกเปรียบไปแบบนี้ เช่น เหมือนแม่ ภรรยาเราก็จะรู้สึกแย่มากเลย
นี่เฮิร์ตนะฮะ เลยผมพลาดไปสองที
แล้วนี่มันเป็นประโยคคลาสสิกนะ แม้แต่พี่กับสามี เมื่อก่อนนะ ถ้าอะไรที่ไม่ดี เราจะบอก ‘ทำไมเหมือนพ่อเลย’ แต่ถ้าเขาทำอะไรดีเราจะบอกว่า ‘ลูกแม่’ ซึ่งมันเป็นอัตโนมัติมากเลย
เหมือนเราไป Register พ่อที่ไม่ดี กลายเป็นมีอคติกับพ่อไป ทั้งที่จริงๆ พ่ออาจจะยังไม่ได้ ‘ไม่ดี’ ขี้ในสายตาลูกก็ได้
ใช่ๆ แล้วเขาก็จะคิดว่าทำไมฉันต้องได้พันธุกรรมแบบนี้มา แล้วพอลูกไปคิดว่า อ๋อ..”นี่ฉันได้พันธุกรรมมาจากพ่อที่ขี้เกียจ ฉันขยันไม่ได้ก็เพราะพ่อ แล้วมันกลายเป็นว่าพ่อรู้สึกแย่ไปเลย
พอหอมปากหอมคอแล้วกันนะฮะ จริงๆ ผมคิดว่าผมไม่ต้องสรุปอะไรละ เพราะในแต่ละประโยค แต่ละคำ เหมือนสรุปแล้วสรุปอีกๆ ก็มีหลายๆ อย่างที่เราน่าจะได้ไปเรียนรู้กันนะครับ แต่มีอีกชุดคำพูดหนึ่งครับที่อยากจะชวนครูณามาคุยในตอนต่อไป มันมาแบบแนบเนียน มาในรูปแบบของคำที่หวังดี หรือเราคิดว่ามันน่าจะดีนี่ เช่น “อย่าร้องนะ” “เป็นพี่ต้องเสียสละให้น้องสิ” อ้าว เป็นพี่ดีทีก็ดีแล้วนี่ แต่ว่ามันไม่ดียังไง เลยอยากจะชวนคุณผู้ฟังมาฟังกันในตอนต่อไปว่า “ถ้อยคำทำร้ายลูก” ที่แอบซ่อนมาในคำที่ดีๆ ที่จริงมันอาจจะไม่ดีอย่างที่คิด มันเป็นยังไง ก็ขอฝากไว้ชวนกันมาฟังในตอนหน้าด้วยนะครับ สวัสดีครับ
Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ รายการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ โรคพ่อแม่ทำ เขียนโดย ศ.นพ. ชิเงโมริ คิวโกกุ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านโรคภูมิแพ้และโรคทางกายที่เกิดจากสภาพจิตใจไม่ปกติ (Psychosomatic Disorder) ได้บันทึกและทำวิจัยเกี่ยวกับโรคที่รักษาว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะการเป็นผู้ปกครองหลังยุคอุตสาหกรรมที่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนเคร่งเครียดขึ้นและส่งผลทางจิตวิทยาและทางกายต่อลูกๆ หลายโรคดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง แต่เมื่อคุณหมอคิวโกกุแนะนำให้รักษาด้วยการ ‘ห่าง’ จากพ่อแม่ อาการนั้นกลับหายราวไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ ภูมิแพ้ เป็นต้น โรคบางอย่างที่เกิดกับลูกนั้น หลายอย่างมาจากความรักและหวังดีของพ่อแม่(ที่อาจมากเกินไป) คือคีย์เวิร์ดจากหนังสือที่รายการนี้อยากหยิบยกมาพูดถึงต่อ เจาะจงไปที่พ่อแม่มือใหม่ ทำความเข้าใจเพื่อไม่สร้างโรคให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน ก็ชวนคนเป็นลูกทุกช่วงวัยเปิดฟังเพื่อกลับไปสำรวจบาดแผลวัยเด็ก ทำความเข้าใจพ่อแม่ในมุมมองใหม่ และฟังเพื่อถอนพิษให้กับตัวเอง ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์ |