- บทความที่ถอดจาก Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
- ตอนแรกว่ากันเรื่อง คำบางคำ คำพูดติดปากพ่อแม่หรือผู้ปกครอง ที่อาจสร้างบาดแผล สร้างโรคบางอย่าง สร้างโลกบางใบให้กับลูกโดยที่เราไม่รู้ตัว
- เริ่มกันที่โหมดดุด่า ตำหนิ (อาจมาจากความเป็นห่วง) คำว่า ทำไมโง่อย่างนี้, แกไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย, ทำได้แค่นี้แหละ , เมื่อไหร่จะเลิกเล่น , โกหก
สามารถรับฟังในรูปแบบ Podcast ได้ทาง โรคพ่อแม่ทำ EP.1 ที่มารายการ และ รวมถ้อยคำทำร้ายลูก 1
ทำไมโง่อย่างนี้, แกไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย, ทำได้แค่นี้แหละ , เมื่อไหร่จะเลิกเล่น , โกหก
Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ รายการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือโรคพ่อแม่ทำ เขียนโดย ศ.นพ.ชิเงโมริ คิวโกกุ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านโรคภูมิแพ้และโรคทางกายที่เกิดจากสภาพจิตใจไม่ปกติ (Psychosomatic Disorder) ได้บันทึกและทำวิจัยเกี่ยวกับโรคที่รักษาว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะการเป็นผู้ปกครองหลังยุคอุตสาหกรรมที่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนเคร่งเครียดขึ้นและส่งผลทางจิตวิทยาและทางกายต่อลูกๆ หลายโรคดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง แต่เมื่อคุณหมอคิวโกกุแนะนำให้รักษาด้วยการ ‘ห่าง’ จากพ่อแม่ อาการนั้นกลับหายราวไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ประจำเดือนไม่มา หรือมาไม่ปกติ ภูมิแพ้ เป็นต้น
โรคบางอย่างที่เกิดกับลูกนั้น หลายอย่างมาจากความรักและหวังดีของพ่อแม่ (ที่อาจมากเกินไป) คือคีย์เวิร์ดจากหนังสือที่รายการนี้อยากหยิบยกมาพูดถึงต่อ เจาะจงไปที่พ่อแม่มือใหม่ ทำความเข้าใจเพื่อไม่สร้างโรคให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน ก็ชวนคนเป็นลูกทุกช่วงวัยเปิดฟังเพื่อกลับไปสำรวจบาดแผลวัยเด็ก ทำความเข้าใจพ่อแม่ในมุมมองใหม่ และฟังเพื่อถอนพิษให้กับตัวเอง
ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์
ในตอนที่ 1 อยากจะเริ่มต้นกันด้วยเรื่อง ‘ถ้อยคำ’ ครับ โดยเฉพาะ ‘ถ้อยคำทำร้ายลูก’ เพราะมีหลายถ้อยคำที่เราเคยพูด ไม่แน่ใจว่าคำนี้มันไปสร้างโรคและโลกอะไรให้ลูก ชีวิตเขาจะเป็นยังไงส่วนหนึ่งก็มาจากคำติดปากที่เราใช้กับเขา ตัวอย่างเช่น “ทำไมแกโง่อย่างนี้เนี่ย” “แกทำได้แค่นี้แหละ”, “เห้อ..เมื่อไหร่จะเลิกเล่นสักที” หรือ “นี่เธอไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย”
รับฟังในรูปแบบ Podcast คลิก
ทำไมโง่อย่างนี้!
ผมลองลิสต์คำฮิตมาคุยกับครูณาครับ เริ่มกันที่คำแรก “ทำไมโง่แบบนี้” เป็นคำที่เราเผลอกันตลอดเลย และไม่ต้องพ่อแม่พูดกับลูกนะ ผมเป็นพี่ชายก็ยังพูดกับน้องสาวสมัยเด็กๆ แบบนี้เพราะคิดว่าเราคงพูดได้ “ทำไมโง่อย่างนี้” ประโยคนี้มันรุนแรงแค่ไหนครับ
ถ้าเกิดว่าพูดในลักษณะเล่นๆ ไม่ซีเรียส บางคนบอกว่า ที่พูดว่า “ทำไมโง่อย่างนี้” ก็เพื่อปรับเปลี่ยนตัวเขาเองให้ฉลาดขึ้น อย่างนั้นมันใช้ได้ถ้าเด็กคนนั้นมีพื้นฐานที่ดีแล้วเขาก็จะเอาคำเหล่านั้นไปเพื่อแก้ไขตัวเอง
แต่ลองคิดดูนะ เด็กคนหนึ่ง ตอนที่เขาเกิดมาใหม่ เขาเป็นชีวิตใหม่ เพิ่งเกิดมาใหม่บนโลกใบนี้ ยังไม่รู้ว่า “ฉันคือใคร” ฉันเป็นใครบนโลกใบนี้นะ ฉันมีศักยภาพยังไง ฉันเป็นคนแบบไหน แล้วคำพูดของพ่อแม่ ครู หรือผู้ใหญ่ที่ไปใส่ว่า “ทำไมโง่อย่างนี้” สุดท้ายสิ่งที่เขาได้มาก็เหมือนเป็นคำสาปว่า ฉันคือคนโง่ๆๆ
โอเค อาจจะมีเด็กบางคนที่พอรู้สึกว่าตัวเองโง่ วันหนึ่งที่เขาอาจมีแรงฮึด (ลุกขึ้นมาต่อสู้ปรับเปลี่ยนตัวเอง) แต่ไอแรงฮึดแบบนี้ เราต้องรู้ว่ามันมาจากไหน มันก็มาจากฐานเดิมที่เขามีด้านอื่นเข้ามาในชีวิต ทำให้เขารู้สึกรักตัวเอง รู้สึกอยากจะพัฒนาตัวเอง ซึ่งอันนี้แปลว่าเขาไปรับฐานด้านอื่นมาแล้ว แต่มีเด็กจำนวนเยอะมาก เป็นเปอร์เซ็นต์ที่สูงมาก ที่เขาเจอคำเหล่านี้แต่ไม่มีฐานอื่นมารองรับเพื่อซัพพอร์ตเขาเลย สุดท้ายเขาก็กลายเป็นคนโง่จริงๆ ดังนั้น เราจะเห็นว่า เวลาชาวบ้านที่สอนลูกในทำนองที่เหมือนกับว่าลูกโง่ หรือโรงเรียนทำให้เด็กรู้สึกโง่ เราจะเห็นคนที่รู้สึกเหมือนตัวเองไม่สามารถพัฒนาอะไรได้จนตลอดชีวิตเยอะมาก
ยิ่งเป็นเด็กเล็กเขายังไม่มีภาพของตัวเองข้างในจิตใจว่าฉันคือใคร ฉันจะแก้ปัญหาชีวิตของฉันได้ไหม ดังนั้นเวลาที่เราพูดแบบนี้ คือบทสรุปของเด็กหลายคนว่า อ้าว เพราะฉันโง่ใช่มั้ย?
เพราะฉะนั้นคำพูดในทำนองว่า งี่เง่า โง่ ไม่ฉลาดเลย ไร้สาระ ทำไมขี้แงอย่างนี้ เหมือนเราไปสรุปให้เลยว่าเขาเป็นแบบนี้ เขาขี้แง
ใช่ อย่างพี่เนี่ย ตอนเด็กๆ ก็จะถูกเรียกว่าเป็นคนที่ขี้แงคนนึงนะ คือร้องไห้มากเลย ฉะนั้นเรารู้สึกถึงจิตใจเราเลย เราเลยจะมีคำต่อตัวเราเอง เป็นภาพที่เราเห็นตัวเราเองเป็นเด็กขี้แง
สมมติว่าเรามีแฟ้มอันหนึ่งที่เราเลือกจดจำว่าตอนนี้ “ฉันคือใคร” แต่ปรากฏว่าเด็กที่ถูกใส่แฟ้มไปมีแต่คำที่บอกกับตัวเองห่วยๆ ทั้งนั้น พอเวลาที่เขาเจอสถานการณ์บางอย่าง ในสมองของเขาจะต้องเลือกว่าเขาเป็นใคร เขาก็ไม่มีต้นทุนด้านอื่น เพราะเขาเพิ่งเกิดมาใหม่ เขาก็เลือกได้แค่ Categories หรือหมวดหมู่ที่โดนผู้ใหญ่พูดมาแบบนี้
ถ้าหมวดหมู่ของคำที่พูดมาแบบนี้ มันกลายเป็น ‘แฟ้มคำสาปแช่ง’ ที่ทำให้เขารู้สึกว่าเขาจะถือมันไปทั้งชีวิตเลย แล้วพอมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นที่ต้องประมวลว่า “ฉันจะใช้คนไหนของฉันดีนะ” เขาก็เลือกโดยที่ไม่รู้ตัวว่า “ก็ฉันเป็นคนขี้แงอะ นิดนึงฉันก็ร้องไห้”
เคยเจอเคสผู้ใหญ่ที่มาเยียวยากัน เขาเป็นคนที่ร้องไห้ง่ายแล้วก็หยุดไม่ได้ เพราะตั้งแต่เล็กจนโตเขารู้สึกว่า ผู้ใหญ่รู้สึกว่าเขาขี้แง
ไปค้นแฟ้มก็มีคำนี้อยู่ และมีแฟ้มไม่กี่อันด้วย
ใช่ ไม่มีแฟ้มที่เข้มแข็ง หรือแฟ้มที่วาดรูปเก่ง แฟ้มที่อยู่ในมือมันมีแต่ที่บอกว่า ไร้สาระ ขี้แง โง่เหลือเกิน เรียนสู้คนอื่นไม่ได้
ประเด็นแรกก็คือ เราควรจะชมเชยเขาให้มีแฟ้มอื่นบ้างในวัย ให้เขาสะสมแฟ้มนี้ไว้ว่าเขามีเหลี่ยมมุมด้านอื่นด้วย คล้ายๆ ว่าเขาเกิดมายังไม่ทันจะโง่เลย ยังไม่ทันจะขี้แงเลย แต่เราไปฝังแฟ้มนั้นไว้เสียแล้ว แต่ก็มีอีกกรณี คือผมคิดถึงตัวเองนะว่าเวลาที่ผมพูดกับคนอื่นว่า “เธอมันขี้แง” ก็เพราะเขาขี้แงจริงๆ เขาร้องไห้เก่งจริงๆ นี่ครับ แบบนี้พูดไม่ได้เหรอ
ก็ใช่ คือในตามความเป็นจริงเวลาที่เราเห็นเด็กสองคน คนนี้ร้องไห้บ่อย คนนี้ร้องไห้ไม่บ่อย แต่แก่นของเราเวลาไปบอกเขาอย่างนั้น คือเราอยากให้เด็กที่ร้องไห้บ่อยเขาหายร้องใช่มั้ย? เราไม่อยากให้เขาเป็นเด็กขี้แงใช่มั้ย แต่เรากลับไม่รู้ตัวว่าการพูดแบบนี้เป็นการตอกย้ำแฟ้มของเขา
ไปทำให้แฟ้มเขาหนาเลย
ใช่ แฟ้มของเขาก็จะเป็นตัวหนาอะ ใครๆ ก็พูดว่าฉันเป็นๆๆ เพราะฉะนั้นเราไม่ควรพูดตอกย้ำตรงนั้น เพราะยิ่งไปสร้างวงจรในสมองของเขา จากวงจรที่อาจจะ… สมมติต้องเสียใจระดับสิบถึงจะร้องไห้ แต่พอไปพูดเยอะๆ มันก็เหมือนเราไปบัดกรีอยู่ในนี้ เราไปช่วยขยายให้ความเสียใจจากระดับสิบอาจไปสิบห้า และไปช่วยทำให้กลายเป็นวงจร (ร้องไห้ง่าย) นั้นถาวร
ที่พูดกัน เราเชื่อว่า “เราเผลอ” นะ บางทีพ่อแม่หรือครูก็ทำตามสัญชาตญาณเดิมที่เราถูกเลี้ยงดูหรือเคยได้รับมา เห็นภาพแรกเราก็พูด หรือบางทีที่พูดก็เพราะว่าเหนื่อยใจนะ มันก็เหนื่อยอะ “สอนเท่าไหร่ก็ไม่จำ ทำไมโง่อย่างนี้เนี่ย” และในบางทีเราก็หวังดีด้วย เราอยากให้เขาเปลี่ยนแปลง แต่ทีนี้ถ้าเราจะเปลี่ยนคำพูด เราทำยังไงดี
สิ่งที่อยากจะบอกคุณผู้ปกครองให้เห็นภาพเลยนะคะว่า เวลาที่เราเห็นพฤติกรรมของลูกเราแล้วเรารู้สึกว่า “ไม่ดีเลย” สิ่งที่ต้องตอกย้ำตัวเองให้ตระหนักเสมอคือ…
“ถ้าเราพูดประโยคเดิม แต่ยิ่งพูดแล้วเขายิ่งเป็น” อย่างแรกเลยต้องหยุดพูด จริงไหมล่ะ?
เพราะคำพูดของเรามันไม่ได้สร้างผลลัพธ์ที่ทำให้เขาหาย กลายเป็นว่ายิ่งพูดแล้วเขายิ่งเป็น แล้วคนโดยส่วนใหญ่ไม่ตื่นว่า ถ้าฉันพูดตั้งหลายครั้งแล้วแต่ยิ่งพูดยิ่งเป็น ฉันควรจะหยุดนะ อันนี้ที่ต้องตระหนักเลยว่า ไม่ว่าจะชุดคำพูดแบบไหนก็ตาม ถ้าเราพูดกับลูกบ่อยๆ แล้วกลายเป็นว่ายิ่งพูดยิ่งเป็น ให้หยุดก่อน แล้วค่อยมาตามหาว่า เราอยากได้อะไรที่เป็นผลลัพธ์กับเขา แล้วค่อยๆ คิดว่าเอาไงดี
อย่างคำว่า “ลูกโง่” เนี่ย พูดเพราะเราอยากให้เขาฉลาด เพราะฉะนั้นเราต้องเติมแฟ้มฉลาด ถูกปะ? ให้เขาเห็นแล้วก็หยิบตัวตนเขามาใช้ได้ง่าย ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เราก็ต้องมองเขาในวาระอื่น เช่น ตอนที่เขาทำอะไรไม่ได้ ให้เราเงียบไว้ก่อน แล้วก็บอกกับตัวเองว่าฉันจะเติมแฟ้มฉลาด พอเวลาที่เขาทำอะไรที่ฉลาดนิดหน่อย เราก็บอก “โห เวลาที่ลูกทำแบบนี้ แก้ไขปัญหาแบบนี้ได้นะ โอ้ เธอคิดได้ไงเนี่ย” แบบนี้มันมีพลังใจขึ้นมาแล้ว “เออนะ เราก็ทำได้นี่นา” แล้วพอเวลาที่เราตอกย้ำเขาเรื่อยๆ จนกระทั่งแฟ้มฉลาดของเขามันหนากว่าแฟ้มโง่ มันเด่นกว่า เวลาที่เขาจะทำอะไร เด็กที่เชื่อว่าตัวเองฉลาดและแก้ปัญหาได้ เขาถึงจะมีพื้นฐานที่จะเริ่มสู้กับปัญหา เราก็ต้องไปทำตรงนี้
เช่น ลูกพี่คนเล็กที่เป็นนักปั้น แน่นอนว่างานปั้นของเด็กไม่เก่งเหมือนงานผู้ใหญ่ เราต้องเข้าใจนะ ตอนเขาปั้นแรกๆ ก็ดูเหมือนไม่ค่อยเป็นตัวอะไร แต่ถ้าเราไปพูดว่า “ทำไมปั้นอย่างนี้ ไม่เห็นเหมือนของจริงเลย” แบบนี้เขาจะอยากทำไหม? สุดท้ายเขาก็จะสะสมความล้มเหลว แต่พี่ก็จะดูงานลูก ค่อยๆ ดู พอเราดูไปเรื่อยๆ เราจะเห็นลักษณะของเขาที่เชื่อมโยงกับสิ่งที่เขาปั้น แล้วเราก็บอก “โห… นี่ลูกจับโครงสร้างเก่งนะนี่ ไอ้ตรงนี้เป็นดาบแบบนี้ด้วย” พอเราพูดไปแบบนี้ เขาก็รู้สึกว่าเขาเป็นเด็กที่จับโครงสร้างเก่ง พอเขาปั้นอย่างอื่นก็จะเริ่มมีพลัง แล้วเราก็ค่อยพูดว่า “โห… ตรงนี้ลูกปั้นได้ละเอียดมากเลย” “ตรงนี้สีลูกเหมือนเนอะ” แบบนี้เขาสะสมความสำเร็จไง สุดท้ายเขาก็จะปั้นด้วยความเชื่อว่า เขาคือนักปั้น
ในมุมคุณพ่อคุณแม่ อาจจะอยากติให้เขาพัฒนา ถ้ามันไม่สวย เขาควรรู้ว่ามันไม่สวย ในมุมแบบนี้ ครูณาคิดว่าไงครับ
ใช่ คุณจะติเพื่อพัฒนาได้ แต่ตอนนั้นลูกคุณต้องแข็งแรงแล้ว ลูกคูณต้องมีพื้นฐานที่แข็งแรงว่า “ฉันมีศักยภาพ” “ฉันมีความฉลาดที่จะแก้ปัญหาได้” ถูกปะ แต่ถ้าเขาไม่มีพื้นฐานตรงนี้ แล้วเขาก็สะสมว่า “คนโง่ๆๆ” เขาจะเอาตรงไหนมาบอกกับตัวเองว่าเขาแก้ปัญหาได้ คุณติเด็กได้ แต่ต้องรู้ว่าวัยไหนที่ติได้ การที่คุณจะติเด็กได้มันเป็นวัยที่เกือบจะวัยรุ่นไปแล้ว แต่ท้ายที่สุด มนุษย์ทุกคนอยากได้ยินว่า เราเจ๋งอะไร แล้วเราจึงจะมีพื้นฐานไปแก้ปัญหาได้
ลองนึกถึงเด็กที่เป็นขวดเปล่าๆ ยังไม่รู้ว่าฉันคือใคร แล้วเราก็ใส่บางอย่างเข้าไปในตัวเขาเพื่อระบุว่าเขาคือใคร แต่สิ่งที่เราใส่ไปก็คือ “เธอคือคนโง่” “เธอทำสิ่งนี้ไม่สวย” เวลาที่เขามองมาที่ตัวเอง ที่ขวดเปล่านี้มันสำคัญมากนะว่า ฉันจะเป็นใครวะเนี่ย ฉันก็เป็นได้ตามที่ผู้ใหญ่บอกมา เพราะว่าฉันไม่มีความรู้ เขาไม่มีประสบการณ์ว่าเขาคือใคร ฉะนั้นในวัยเล็กๆ สิ่งที่เราต้องใส่ให้กับขวดเปล่าขวดนี้คือ ฉันคือคนฉลาด ฉันคือคนที่อดทน ฉันคือคนที่มีความรัก ใส่สิ่งที่สวยงามก่อน เพราะว่าความสวยงามจะเป็นพลังงานที่ทำให้เขาขับเคลื่อนตัวเองได้
ผมในฐานะที่เป็นพ่อ จริงๆ ก็ต้องหัดสงบปากสงบคำ โดยเฉพาะช่วงที่ลูกเล็กๆ จุดตัดที่ผมชอบคือ พูดแล้วก็ไม่มีประโยชน์จะพูดทำไม แต่ประเด็นคือมันอดใจไม่ได้ แต่เราก็รู้อยู่แล้วว่ามันพูดไปไม่มีประโยชน์ สมมติเขาทำอันนี้ไม่ได้สักที เราก็สู้เงียบไว้ก่อนแล้วค่อยหาแง่มุมอื่น ถูกไหมครับ ค่อยๆ เติม สร้างฐานให้แข็งแรงก่อน เหมือนครูณาเน้นย้ำก็คือ โดยเฉพาะวัยเด็กๆ ต้องระวังนิดนึง
ใช่ พี่ชอบที่เม้งพูดถึง “สงบปากสงบคำ” เพราะว่ามันเห็นภาพจริงๆ คือทุกวันนี้เราต้องเข้าใจว่าสื่อโซเชียลเยอะมาก เหมือนเด็กถูกเติบโตมาในภาวะที่มีคนตะโกนใส่ พูดใส่ตลอดเวลา ดังนั้นจริงๆ เราต้องถามตัวเราเองว่า ชีวิตเรา เราอยากได้ความสับสนวุ่นวายหรือความสงบ? แล้วเด็กที่เกิดมาใหม่ อะไรที่ทำให้เขาแข็งแรงข้างใน มันคล้ายๆ กับเรากำลังจะปั้นดินเหนียวที่จะเป็นลูกเรา เราจะรู้ว่าแป้นหมุนมันต้องบาลานซ์มากๆ แล้วเราก็ต้องมือนิ่งมากๆ คนที่จะปั้นต้องสงบมากๆ อยู่กับมือแล้วค่อยๆ ไล่ดินขึ้นมา แต่ถ้าเด็กที่เรากำลังจะค่อยๆ ช่วยพยุงเขาให้เกิดเป็นรูปร่าง แต่ถ้าเราเป็นคนที่ chaos หรือ เป็นคนที่สับสนวุ่นวาย เขย่าอยู่ตลอด นึกออกไหม? เราจะได้เด็กที่เละเทะ ดังนั้นเวลาที่เรา “สงบปากสงบคำ” มันเป็นคำที่ดีมากเลย เราควรที่จะเรียนรู้ฝึกความสงบในบ้าน แล้วก็ฝึกที่จะใส่เด็กให้สงบ ถ้าพูดแล้วรู้สึกไม่ดี สงบปากสงบคำนั่นแหละยอดเยี่ยม แล้วค่อยไปคิดว่าพูดยังไงแล้วถึงจะดี
แต่ในบางกรณีที่เราต้องพูดความจริง ต้องซื่อสัตย์ เราทำอะไรได้บ้าง
พี่ก็จะบอกว่าในวัยเด็ก สิ่งที่เขาทำมันต้องมีแง่มุมที่สวยงาม สมมติว่าลูกพี่วาดรูปมาน่าเกลียดมาก แล้วมาถามว่าสวยไหม วิธีการที่จะปลูกฝังเขาก็คือ ให้เราพูดอย่างซื่อสัตย์โดยการมองแง่มุมที่ดี ที่เจ๋งจริงๆ แล้วก็บอกว่า ตรงนี้ลูกทำได้ดีมาก แม่ชอบตรงนี้เพราะอะไร แล้วลูกเขาก็จะรู้ว่าตรงนี้ดี
ถ้าให้เม้งเห็นภาพง่ายๆ คือ ตอนเด็กๆ เวลาลูกเล่นเปียโนทั้งเพลง ถ้าฟังทั้งเพลงเราก็รู้สึกว่า โอ้แม่เจ้า! ถูกปะ? แต่ถ้าเราตั้งใจฟังทั้งเพลง จะมีบางท่อนที่เขาเล่นได้ดี เพราะว่าเอาจริงๆ นะ
คนที่เล่นเพลงทั้งเพลง แม้โดยรวมไม่ดีแต่ก็จะมีบางท่อนที่เขาเล่นได้ดี เพราะฉะนั้นพี่ก็จะนั่งฟังลูกเล่นทั้งเพลงเลย เวลาที่เขาเล่นท่อนไหนดีเราก็จะบอกว่า “โห..แม่ชอบท่อนนี้อะ ท่อนนี้เธอเล่นได้แบบนี้” ลูกเราก็จะเอามือเข้าไปเล่นเปียโนแล้วบอกว่า “อย่างนี้หรอแม่”/ “ใช่ ลูกเล่นท่อนนี้ได้จังหวะดี” แบบนี้เขาก็จะจดจำว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่ดีของเขา แล้วเขาก็เอาสิ่งที่ดีของเขาไปแก้ด้านที่ไม่ดีได้
แต่ถ้าเราซัดตูมว่า “โอ๊ย! เธอเล่นเพลงนี้ยังไงเนี่ย ห่วยจัง ทำไมเป็นอย่างนี้!” แล้วไงต่ออะ? เขาไม่มีเครื่องมือไปแก้ไข
พอนึกภาพออกฮะ คือพอพูดแต่สิ่งที่ไม่ดี มันก็เหมือนชีวิตไม่มีทางออกเลยเนอะ
ใช่ “ทำไมโง่อย่างนี้วะ!” แล้วไงต่ออะ? แล้วเธอจะสอนอะไรเขา หรือเธอต้องการให้เขาเห็นตัวเองว่าผมคนนี้เป็นคนโง่ เพราะฉะนั้นการพูดมันสำคัญมากๆ โดยเฉพาะเด็กเล็ก เขาไม่มีความทรงจำ เขาเรียกว่า Self-actualization คือ การตระหนักรู้ว่าฉันมีศักยภาพอะไร เป็นใคร
“แกไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย”
และ “เก็บมาเลี้ยง”
ประโยคที่สองครับ เวลาเหนื่อยสุดๆ โกรธสุดๆ “แกไม่น่าเกิดเป็นลูกฉันเลย” ซึ่งเป็นประโยคที่ผมอ่านเจอในหนังสือของครูณาด้วยว่าเคยพูดกับลูกแบบนั้น และลูกก็พูดกลับด้วยว่า “ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกแม่เลย” เข้าใจว่าบางทีประโยคนี้ก็อาจจะหลุดพรวดออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งอาจเป็นเพราะความคาดหวังหรืออะไรก็แล้วแต่ ซึ่งผมเชื่อว่าไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากจะพูดอย่างนี้หรอก แต่ ณ วันนั้นสิ่งที่พอมันพูดออกไป มันทลายหรือทำลายอะไรไปบ้าง เอาจากประสบการณ์ครูณา
ที่เม้งยกตัวอย่างว่าลูกพูดกับพี่ว่า “ไม่น่าเกิดมาเป็นลูกแม่เลย” เนี่ย เป็นลูกพูดกับพี่ซึ่งมีพื้นฐานที่แข็งแรงพอสมควรในการที่จะพัฒนาตัวเอง เพราะฉะนั้นสิ่งที่พี่ได้กับตัวเองคือ พี่ไปหาความรู้ว่า ฉันจะเป็นแม่ที่ลูกอยากจะเกิดมาเป็นลูกฉันได้ยังไง แต่อันนี้มันเป็นคำพูดที่เป็นทางกลับกันกับคนที่ไม่มีฐานเลยนะ เด็กเขาต้องการความรู้สึกว่าเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีค่า
อันนี้ณาอยากให้พ่อแม่ได้เข้าใจจริงๆ นะ ผู้ฟังคนที่เป็นพ่อแม่หรือคนที่เลี้ยงดูเด็กต้องเข้าใจจริงๆ ว่า เมื่อเขาเป็นวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่แล้วเขาทำอะไรได้สวยงามเนี่ย เพราะเขารู้สึกว่าเขาเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีค่า เป็นมนุษย์ที่มีค่า เพราะฉะนั้นเขาก็จะสร้างความมีค่าให้กับสังคม แต่ตอนที่เขาเล็กๆ ถ้าเราไม่ได้ทำให้เขามีค่า เขาก็จะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่สร้างการกระทำที่ไม่มีค่า ที่ไร้ค่า เพราะว่าเราไปใส่แฟ้มให้เขาแบบนั้น
เชื่อไหม คำพูดว่า “ไม่น่าเป็นลูกเลย” “แกไม่น่าเกิดมาเลย” มันรุนแรงมาก ในคำพูดเป็นหมื่นเป็นแสนประโยค พูดคำนี้ไปครั้งเดียวแต่ลูกอาจจำประโยคนี้ไปทั้งชีวิต แล้วมันทำให้เขาเกิดความสงสัยเสมอเลยว่า “รักฉันไหม ฉันเป็นลูกที่เธอรักไหม” มีเด็กที่ได้ยินประโยคนี้แล้วเขาเจ็บปวดไปทั้งชีวิต
คำแบบนี้พี่ก็นึกออกอีกคำนึงนะ “เก็บมาเลี้ยง” อย่างนี้ดูไม่รุนแรงเนอะ
ขำๆ เป็นคำที่พูดบ่อย ชอบหยอกกัน ขำๆ อย่างมีคนหนึ่งหน้าไม่เหมือนพี่น้องคนอื่น ก็จะถูกอำเล่นว่า “เก็บมาเลี้ยง”
พี่ไง คนในครอบครัวพูดบ่อย พอพูดบ่อยมันก็เริ่มเกิดความสงสัย เพราะว่าเด็กเขายังไม่รู้อะไร แล้วเราดันหน้าไม่เหมือนพี่น้อง พี่น้องเราทั้งสวยทั้งหล่อ แล้วเราก็เป็นยัยหน้าจมูกแบน หัวแบน (หัวเราะ) แล้วก็อ้วนเตี้ยอย่างนี้ แล้วพอพูดกับเราบ่อยๆ มันเป็นความสงสัยไง เฮ้ย… จริงไหมวะ แล้วพอเวลาที่เราทุกข์หรืออะไรก็ตาม มีเหตุการณ์ที่มันพ้องกัน ซึ่งสุดท้ายเราจะไปดึงเหตุผลมาประกอบ เช่น ซื้อทุกอย่างให้กับคนอื่น แต่ไม่ซื้อให้เรา เราจะหยิบไฟล์นี้ขึ้นมาเฉยเลย เอ๊ะ..หรือว่าเราไม่ใช่ลูก แล้วพอเมื่อไหร่ก็ตามที่มันถูกเชื่อมโยงเป็นวงจรว่า “หรือเราไม่ใช่ลูก?” คราวนี้วงจรมันจะเริ่มแตกขยาย เหตุการณ์นั้นก็ “หรือว่าไม่รักเรา” “หรือว่าเราไม่ใช่ลูกจริงๆ”
เชื่อไหมว่ามีผู้ใหญ่หรือคุณแม่บางท่านที่ยังเจ็บปวดกับการที่ แม้กระทั่งพี่เลี้ยงก็คอยพูดกับเขาว่า “โอ๊ย! แม่เขารักคนนั้นมากกว่า” ฟังไปฟังมา สุดท้ายก็คิดว่าเป็นเรื่องจริง พอโตมาก็ยังคิดว่าจริง คือคำพูดเหล่านี้เราต้องถามตัวเองว่าเราพูดทำไม เราทำไปทำไม
ความตั้งใจของคำพูดว่า “ทำไมโง่อย่างนี้” “ทำไมขี้แงอย่างนี้” ความตั้งใจคงอยากให้เขาดีขึ้น แต่อันนี้ผมคิดเองนะว่า ประโยคอย่าง “แกมันไม่น่าเกิดมาเป็นลูกฉันเลย” นอกจากการอำกัน คนพูดน่าจะอยู่ในจุดที่มีความโกรธประมาณนึง แล้วผมคิดว่าประโยคแบบนี้พ่อหรือแม่ก็น่าจะเสียใจที่พูดออกไป แต่ทีนี้ทำยังไงที่ประโยคนี้มันจะไม่หลุดออกมาจากเรา
คนส่วนใหญ่ก็ชอบถามพี่เหมือนกันว่าเวลาที่มันโมโหขึ้นมา มันก็ต้องหลุดไป มันไม่ทัน ดังนั้น ตอนที่เราโมโหมันไม่ใช่เวลาฝึกสติ เธอจะฝึกสติตอนที่โมโหมันทำไม่ได้ แต่ตอนที่ผู้ฟังฟังอยู่นี่ล่ะค่ะ ตอนที่เราปกติดีอยู่ จงฝึกสติ ถ้าจะพูดอะไร คิด อย่าพูดพล่อยๆ อย่าสักแต่ว่าพูด ให้คิดก่อนพูด หรือเวลาที่ทำอะไรให้ฝึกรู้ตัว บางทีเราก็ต้องฝึกสมาธิภาวนานั่นแหละ เพราะอะไร? เพราะเอาไว้ใช้ในตอนที่ไม่แข็งแรง ตอนปกติเราก็ต้องฝึกจิตให้แข็งแรง แล้วพอตอนที่เราไม่ปกติ เราโมโห จิตของเราแข็งแรงเราจะฉุกคิดได้เร็ว
ครูณา เดี๋ยวมีคนเขาไม่สนใจภาวนาเขาก็จะไม่ค่อยเข้าใจมั้ยฮะ (หัวเราะ) หรือเราจะทำยังไงให้ง่ายกว่านั้นฮะ ฝึกพูดน้อยๆ อย่างนี้ได้ไหม
ใช่ อย่างน้อยถ้าอะไรที่ไม่สำคัญหรือไร้สาระ หรือพูดแล้วมันอาจจะทำให้คนอื่นบาดเจ็บก็ไม่ต้องพูด ก็คล้ายๆกับสงบปากสงบคำนั่นแหละ
“เมื่อไหร่จะเลิกเล่น”
ต่อกันที่คำว่า “เมื่อไรจะเลิกเล่น” หรือคำว่า “เล่นอยู่นั่น” ซึ่งความหมายของมันก็เหมือนเราพูดแล้วเด็กไม่ฟังใช่ไหมฮะ ซึ่งคำนี้เป็นคำที่ครูณายกขึ้นมาเองด้วย แต่สงสัยว่าคำนี้ก็ห้ามพูดเหรอครับ มันเป็นยังไง
คือต้องเข้าใจว่าเด็กยังไม่มีกระบวนการคิดนะ แล้วพอเราไปถามเขา “จะเล่นถึงเมื่อไหร่” เด็กเขาก็จะตอบว่า “แป๊บนึง” แล้วผู้ใหญ่ก็ไปมโนว่า “แป๊บนึง” ของผู้ใหญ่คือเท่านี้ แต่แป๊บนึงของเขามันยังไม่ถึงที่สุด หรือถ้าสิ่งที่เราจะพาให้เด็กออกจากคำว่า “แป๊บนึง” ได้ อาจเป็นคำว่า “เล่นถึงเท่านี้นะลูก” แล้วพอถึงตอนที่เขาได้เวลาจะเลิกเล่น เราต้องหาสิ่งอื่นให้เขาทำหรือสนใจ ไม่ใช่พูดว่า “เมื่อไหร่จะพอ” แต่ไม่มีอย่างอื่นให้เขา
คือเด็กเขาก็ต้องการมีประสบการณ์หรือต้องการจะทำอะไรสักอย่าง แต่มันไม่มีทางเลือกอื่น พอพูดว่า “เมื่อไหร่จะเลิกเล่น” แล้วอะไรต่อล่ะ? ถ้าอย่างพี่จะบอกกับลูก “ถึงเวลากินข้าวแล้วนะลูก ปะ กินข้าวกัน” “เฮ้ย… ถึงเวลาทำอันนี้แล้ว มา” แล้วพอเขางอแงเราก็บอก “โห… ยังสนุกอยู่เลยใช่มั้ย อีก 1 นาทีแล้วกันนะ/อีก 2 นาทีบอกแม่นะ” คือเหมือนทำให้เขาได้รู้จักวิธีที่จะชะลอตัวเอง แล้วก็บอกว่า “อีก 2 นาทีนะลูกแล้วเดี๋ยวเราไปกินข้าวกัน” “อีก 2 นาทีนะลูกเดี๋ยวเราจะทำอันนี้”
ถ้าเราเป็นคนที่ยืดหยุ่นกับเขา ยืดหยุ่นไม่ใช่หละหลวมชนิดที่ว่าเขาไม่รู้เลยว่าเขาจะทำอะไรได้ เหมือนกับเราเตือนเขาก่อน เราบอกจังหวะที่จะไปสเต็ปถัดไปก่อน มันก็จะทำให้เขาเตรียมใจ แล้วเราก็ต้องเตรียมแพลนของเรานะว่าจะทำอะไร เพราะว่าเด็กเขาไม่มีแพลนไม่มีแผน เราจะมาบอกว่าเขาต้องแพลนเป็น ต้องบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ยังแพลนไม่ได้เลย ถูกปะ? ถ้าคุณพ่อคุณแม่แพลนได้ คุณพ่อคุณแม่แพลนก่อนสิว่าต่อไปนี้สเต็ปถัดไปเขาต้องทำยังไง แล้วถ้าคุณพ่อคุณแม่แพลนเป็นเดี๋ยวเขาก็เรียนรู้วิธีแพลน แต่อันนี้เรียกว่าคุณพ่อคุณแม่บ่นไปเรื่อยๆ “เมื่อไหร่จะพอ วันๆ เอาแต่เล่น” แล้วไงต่อละ? ต้องการให้ทำอะไรหรอ “ก็ไปหาอะไรทำ” แล้วอะไรล่ะ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้คำพูดแบบนี้บ่อยๆ แสดงว่าเราเองก็ไม่ได้แพลนอะไรให้กับลูก
เอาจริงๆ ตรงนี้ก็เคลียร์นะฮะ ที่ว่าทำอะไรต้องมีแผนสำรองให้เขา แต่ฟังเรื่องนี้แล้วขอข้ามไปตรงเรื่อง “การต่อรอง” นิดนึง เพราะผมเองก็ต่อรองกับลูกบ่อย เช่น ผมพูดกับลูกว่า “พอได้แล้วลูก เราต้องกินข้าว” แต่เขาก็อาจจะเล่นไปเรื่อย เริ่มมีการต่อรอง เช่น ทำอย่างนี้นะเดี๋ยวจะได้สิ่งนี้ตามมา กินข้าวนะแล้วจะให้ทำ จุดจุดจุด เริ่มคุยกันแบบมีข้อแม้บ้างและอาจไหลไปในเลเวลที่เยอะขึ้น แบบนี้มันดีรึเปล่า เขาจะไม่หยุดหรือเปล่า
เรื่องนี้มันเป็นเรื่องที่พี่ไม่ทำเลยนะ พี่ก็ไม่รู้ว่าทำได้ไม่ได้นะ แต่พี่ไม่ต่อรองกับลูก และพี่ไม่ตั้งเงื่อนไข พี่เป็นคนที่ไม่เอาเลยว่า “ถ้าลูกเรียนเปียโนแล้วจะให้อันนี้ๆ” พี่จะไม่ใช้แบบนี้ สมมติว่าแกนของเรา คือ การที่เด็กได้ทำอะไรด้วยความรู้สึกจากข้างในของเขาจริงๆ แล้วได้สรรค์สร้างบางสิ่งบางอย่างจากความเป็นเขาจริงๆ แต่เวลาที่เราเอาอย่างอื่นมาหลอกล่อ
เช่น ไปเรียนเปียโนแล้วจะได้ของเล่น สอบได้ที่ 1 แล้วจะได้อันนี้เป็นรางวัล เขาไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง เขาทำเพื่อรางวัล แล้วให้สังเกตนะ เด็กที่ได้รางวัลไปเยอะๆ พอจนถึงวันหนึ่ง เขาไม่สนใจรางวัล เพราะในระดับจิตใจข้างใน รางวัลมันไม่ได้สำคัญเท่ากับการเจอความหมายของตัวเขาเอง แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเขาจะเจอความหมายยังไงไง เพราะว่าเราไม่เคยฝึกเขา
ดังนั้นพี่เชื่อว่า การเรียนเปียโน การที่เขาปั้นงาน มันเป็นคนละเรื่องกับรางวัล พี่ไม่ให้รางวัล พี่จะให้ของขวัญก็คือ วันนี้แม่มีของขวัญมาฝาก แต่พี่ไม่สร้างเงื่อนไขว่า ทำอันนี้ได้ สอบเข้า ม.1 ได้ แม่มีรางวัล พี่ไม่ทำเลย เพราะอันนี้คือสินบน อันนี้เราสร้างวัฒนธรรมแบบที่เข้าไปในรากของจิตใจเลยว่า ถ้าเขาทำอะไร เขาควรที่จะหวังผลที่ได้
นี่เห็นภาพสังคมทุกวันนี้
ใช่ เราไม่ควรทำสิ่งนี้ ถ้าเขาทำได้ ความสำเร็จที่ได้ ความสุขที่ได้ คือรางวัลของชีวิตเขาแล้ว เรามีหน้าที่จัดสรรแล้วทำให้เขารู้สึกอยากทำได้ อย่างลูกพี่พี่ก็ไม่เน้นการไปแข่ง เพราะมันก็คือรางวัล พี่ต้องการให้เขาเจอวิธีการเล่นเปียโนแล้วเล่นจากความสุขข้างใน แล้วความสุขที่เขาได้คือรางวัลที่มีค่าที่สุดสำหรับจิตใจของมนุษย์เลยนะ ไม่ใช่รางวัลที่สังคมมาให้เขา
เขาแข่งบ้างไม่ได้เหรอครับครูณา หรือแข่งแต่ไม่ได้คาดหวังว่าต้องชนะ หรือยังไงฮะ
ของพี่นี่นานน้าน (เสียงสูง) แข่งที แล้วพี่ไม่เคยพาไป เอาเป็นว่าตั้งแต่ลูกพี่เล่นเปียโนมา พี่ไม่เคยพาแข่งจนกระทั่งเขาเพิ่งมาแข่งตอนอยู่ปี 1 ที่อังกฤษ พอปิดเทอมเขาก็มาแข่งที่สิงคโปร์ ตอนนั้นคนในสนามงงมากว่าคนนี้คือใคร เพราะว่าไม่เคยเห็นในสนาม แต่ปรากฏว่าพอเล่นทีเดียว แค่คอนเซ็ปต์เขาที่จับว่า เขาเล่นให้มีความสุข เขาได้รางวัลระดับใหญ่มาก
แต่โรงเรียนก็จัดให้เราแข่งขันอยู่ตลอด
โอ้โห พี่นี่แอนตี้มากเลยนะพวกไวนิลที่อยู่หน้าโรงเรียน หรือเด็กที่อยู่ชั้นเดียวกันแล้วมันมีเด็กคนหนึ่งที่ได้รางวัลที่ 1 แล้วก็ขึ้นอย่างนี้ แสดงว่าเรามีเด็กอีก 200 คนที่ต้องเห็นแล้วก็เปรียบเทียบตัวเองกับคนนี้ทุกวันเลย
อันนี้ผมโยงนะฮะ ปัญหาความเคว้งคว้างในวัยรุ่นมันเกิดจากสิ่งนี้หรือเปล่า ถ้าเรามีหลักยึดมันโอเค แต่วันที่ไม่รู้จะเกาะอะไร รางวัลก็ไม่ได้ เป้าหมายก็ไม่มี มันก็เลยเคว้งคว้างนะ
หรือบางคนมีรางวัลวางไว้ แต่เริ่มรู้สึกว่ามันไม่ใช่ตัวฉัน แล้วเขาไม่อยากได้แล้ว เพราะจริงๆ สิ่งที่มนุษย์ควรจะพบคือคุณค่าความหมายและศักยภาพที่แท้จริงของเขา แต่สมมติว่าเรามีเด็กอยู่คนหนึ่งที่บังเอิญไปแข่งตอน ป.1 ได้รางวัลวาดรูปภาพ แล้วทีนี้พอแม่ก็เอาชีวิตของเขาไปอยู่กับการเก็บเกี่ยวรางวัล แต่บังเอิญว่าวาดรูปมันเป็นแค่ติ่งหนึ่งในชีวิต แต่มีอย่างอื่นที่เป็นแกนหลักของชีวิตเขา แต่เวลาของเขาทั้งหมดพุ่งไปเพื่อที่จะทำการวาดรูปซึ่งเป็นของเทียมเพื่อให้ได้รางวัล กว่าจะมารู้ตัวอีกที ม.3 เวลาทั้งหมด 9 ปี สูญเสียไปกับของปลอม นี่คือโทษของรางวัลที่มันทำร้ายในระดับของจิตวิญญาณเลยนะ
“โกหก”
ขออีกคำนึงครับ “โกหก” “นี่จริงหรือเปล่าเนี่ย ทำไมชอบพูดโกหก” อันนี้รวมถึงเวลาที่เราก็เห็นว่าสิ่งที่เขาพูดอาจไม่จริงด้วยนะฮะ แต่เวลาเราพูดกับเด็กอย่างนี้มันทำอะไรลูกเรา
คือตัวพี่จะไม่ใช้คำพูดแบบนี้กับเด็กว่า “ไม่โกหกนะ” หรือแม้กระทั่งวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ บางทีสิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือ เราไปใส่แฟ้มว่า ฉันเป็นคนโกหก แล้วถ้าเกิดเราใช้คำพูดแบบนี้ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กที่โกหกจริงๆ มันไม่เห็นคุณค่าในจิตใจ แล้วก็กลายเป็นว่า เขาจะกลายเป็นคนที่โกหกให้เนียนขึ้น
แล้วต้องบอกเขายังไงฮะ พอทันทีที่รู้ว่าเขาเริ่ม Tricky ละ อาจจะมีเล่ห์เหลี่ยมเกิดขึ้น
ถ้าเป็นพี่ก็จะกอดเขาแล้วก็บอกว่า “แม่เข้าใจนะ แม่รัก แล้วครั้งนี้แม่ก็จะเชื่อ แต่ลูกต้องเข้าใจนะว่า ความเชื่อหรือศรัทธามันหายไปได้ ถ้าไม่แน่ใจหรือว่าลูกมีอะไรที่อยากจะพูดมากกว่านี้ก็มาบอกแม่ได้นะ” พี่ก็จะพูดกับเขาโดยที่ให้เขารู้ว่าเขามีทางเลือกนะว่า เขามาพูดความจริงกับพี่ได้ หรือการพูดโกหกเนี่ย พี่รู้นะ แต่พี่จะไม่ใช้คำพูดว่า “เธอเป็นคนพูดโกหก” แต่พี่จะทำให้เขารู้ว่า เขาควรจะเป็นคนที่ทำตัวเองให้มีความวางใจ แต่ชุดคำพูดแบบนี้มันเป็นสำหรับเด็กโตเนอะ
แต่ถ้าสำหรับเด็กเล็กให้เราลองปล่อยไปก่อน เพราะว่าเด็กเล็กๆ เขาไม่ได้โกหกในระดับที่รุนแรงหรอก แต่ว่าสิ่งที่เราควรจะฝึกเขาก็คือ การทำให้เขาพูดความจริง อย่างเวลาที่เขาบอกความจริงกับเรา เราก็จะกอดแล้วบอก “ขอบคุณนะที่ลูกบอกความจริงกับแม่ แม่จะได้รู้” เพื่อให้เขาได้มีแฟ้มที่ควรจะซื่อสัตย์และพูดความจริง
เด็กเล็กๆ สิ่งที่เขาโกหกบางทีเขาไม่ได้รู้สึก มันไม่ใช่กลไกลของสมองที่พยายามจะพูดให้โกหกนะ แต่แค่เขาไม่อยากโดนดุ ไม่อยากโดนตำหนิ
พูดจริงๆ นะ เด็กที่พูดโกหกกับพ่อแม่ เพราะพ่อแม่ใช้วิธีลงโทษแล้วเด็กไม่กล้าพูดความจริง เด็กถึงต้องหลีกเลี่ยงการพูดความจริงด้วยการโกหก ดังนั้นคนที่โกหกเพราะเขากลัวถูกลงโทษ พ่อแม่ต้องกลับมาที่ตัวเองว่า อะไรในตัวเราที่ทำให้เด็กไม่กล้าพูดความจริง เราต้องหยุดกระบวนการที่บอกว่า “ทำไมลูกเป็นเด็กที่โกหก” เพราะถ้าพูดแบบนี้เขาจะทำให้มันเนียนขึ้น เขาจะรู้สึกถึงความสูญเสียบางอย่างในจิตใจเขา แล้วเขาก็ไม่อยากกระทบจากคำพูดรุนแรง เขาก็จะทำให้มันเนียนขึ้น หรือหาทางที่จะทำให้จับไม่ได้
จริงๆ นี่ไม่กี่หมวดคำเองนะครับ ถ้อยคำที่เราเผลอทำร้ายลูกไป เดี๋ยวตอนหน้าเราจะมาคุยกันต่อว่า เราจะมีคำที่แนบเนียนที่เราอาจไม่รู้ว่านี่เป็นคำที่ดี คำที่สวยงาม แต่ทำร้ายเขาไปจนโตก็มี ผมยังมีลิสต์อีกเยอะที่อยากจะคุยกับครูณาครับ ก็เป็นคำที่ผมเผลอพูดบ่อยด้วย ยังมีคำไม่ดีๆ อีกเยอะ รวมถึงคำขู่ที่เราเป็นห่วงลูกมากเกินไป ที่ยังอยากจะคุยกับครูณาอีก ก็อาจจะต้องมาต่อกันตอนหน้า ตอนนี้ก็ขอจบเพียงเท่านี้ สวัสดีครับ
Podcast รายการ ‘โรคพ่อแม่ทำ’ รายการที่ได้แรงบันดาลใจมาจากหนังสือ โรคพ่อแม่ทำ เขียนโดย ศ.นพ. ชิเงโมริ คิวโกกุ ศาสตราจารย์ด้านกุมารเวชศาสตร์ที่มีชื่อเสียงที่สุดคนหนึ่งในญี่ปุ่น โดยเฉพาะด้านโรคภูมิแพ้และโรคทางกายที่เกิดจากสภาพจิตใจไม่ปกติ (Psychosomatic Disorder) ได้บันทึกและทำวิจัยเกี่ยวกับโรคที่รักษาว่าส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย โดยเฉพาะการเป็นผู้ปกครองหลังยุคอุตสาหกรรมที่ได้ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนเคร่งเครียดขึ้นและส่งผลทางจิตวิทยาและทางกายต่อลูกๆ หลายโรคดูเหมือนไม่เกี่ยวกับการเลี้ยงดูโดยผู้ปกครอง แต่เมื่อคุณหมอคิวโกกุแนะนำให้รักษาด้วยการ ‘ห่าง’ จากพ่อแม่ อาการนั้นกลับหายราวไม่เคยเกิดมาก่อน เช่น ประจำเดือนไม่มาหรือมาไม่ปกติ ภูมิแพ้ เป็นต้น โรคบางอย่างที่เกิดกับลูกนั้น หลายอย่างมาจากความรักและหวังดีของพ่อแม่(ที่อาจมากเกินไป) คือคีย์เวิร์ดจากหนังสือที่รายการนี้อยากหยิบยกมาพูดถึงต่อ เจาะจงไปที่พ่อแม่มือใหม่ ทำความเข้าใจเพื่อไม่สร้างโรคให้กับลูกโดยไม่รู้ตัว ขณะเดียวกัน ก็ชวนคนเป็นลูกทุกช่วงวัยเปิดฟังเพื่อกลับไปสำรวจบาดแผลวัยเด็ก ทำความเข้าใจพ่อแม่ในมุมมองใหม่ และฟังเพื่อถอนพิษให้กับตัวเอง ดำเนินรายการโดย เม้ง-ประสิทธิ์ วิทยสัมฤทธิ์ คุณพ่อลูกหนึ่งและครีเอทีฟจากบริษัท ชูใจ กะ กัลยาณมิตร และ ครูณา-อังคณา มาศรังสรรค์ กระบวนกรและนักเยียวยาความสัมพันธ์ |