- ‘หนี้’ คำต้องห้ามที่หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากจะพูดถึง แต่การหลีกเลี่ยงก็ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นจริงที่ว่าหนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา บางคนก็ต้องกู้เพื่อเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เรียนจบออกมาก็มีบัตรเครดิต ซื้อบ้านหลังแรกก็ต้องไปจำนองที่ธนาคาร อยากได้รถยนต์ก็ใช้วิธีผ่อนชำระ แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมตัวลูกให้พร้อมเจอกับ ‘หนี้’ ในวันข้างหน้า
- แม้ควรให้ลูกรู้จักหนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย แต่พ่อแม่ก็ควรให้ลูกใช้เงินสดจนกว่าจะจบมัธยมปลาย พร้อมทั้งทำความรู้จักการก่อหนี้ผ่านบัตรเครดิต ชวนกันมาดูรายงานสรุปรายเดือนที่จะมาส่งที่บ้าน พร้อมกับย้ำว่าถ้าจ่ายเงินช้า หรือจ่ายเพียงขั้นต่ำก็อาจทำให้ต้องเสียเงินมากกว่าค่าของที่รูดบัตรซื้อมาได้
- เมื่อลูกประสบปัญหาหนี้สิน การห้ามช่วยลูกแบบเด็ดขาดคงเป็นไปได้ยาก แต่อย่างน้อยพ่อแม่ก็ไม่ควรแก้ปัญหาหนี้ให้ลูกแบบไร้เงื่อนไข เพราะอาจทำให้ต้องกลับมาแก้ปัญหาเดิมซ้ำๆ ไม่จบไม่สิ้น เราต้องเตือนตัวเองเสมอว่าเราไม่มีปัญญาหาเงินมาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้ตลอดไป แทนที่จะควักกระเป๋าเอาเงินก้อนใหญ่ไปโปะหนี้ให้ลูก ลองช่วยเหลือทางอ้อมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ให้กับมากินอยู่ที่บ้าน หรือหากจะจ่ายหนี้บัตรเครดิตพะรุงพะรังให้ก็ควรมานั่งจับเข่าคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก
ไม่มีใครหรอกครับที่อยากจะคุยเรื่อง ‘หนี้’ กับลูก เพราะแม้แต่กับญาติสนิทมิตรสหาย คำว่าหนี้ก็ดูเหมือนเป็นคำต้องห้ามที่หากไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่มีใครอยากจะพูดถึง
แต่การหลีกเลี่ยงที่จะพูดถึงก็ไม่ได้เปลี่ยนความเป็นจริงที่ว่าหนี้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา ไม่ว่าจะเป็นการจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวัน บางคนก็ต้องกู้เพื่อเรียนในโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย เรียนจบออกมาก็มีบัตรเครดิต ซื้อบ้านหลังแรกก็ต้องไปจำนองที่ธนาคาร อยากได้รถยนต์ก็ใช้วิธีผ่อนชำระ แล้วจะดีกว่าไหมถ้าเราเตรียมตัวลูกให้พร้อมเจอกับ ‘หนี้’ ในวันข้างหน้า
ผมเข้าใจครับว่าเป็นเรื่องยากเพราะผมก็เติบโตมาในครอบครัวที่มีทัศนคติไม่ดีกับหนี้นักโดยจะไม่กู้ยืมหากไม่จำเป็น ตัวผมเองแม้จะจบด้านบัญชีและการเงินมา กว่าจะกล้ามีบัตรเครดิตใบแรกของตัวเองก็ตอนอายุ 26 ปีหลังจากที่เข้าไปทำงานธนาคารฝ่ายอนุมัติสินเชื่อจนชินชากับคำว่าหนี้
ทัศนคติต่อหนี้ของผมค่อยๆ เปลี่ยนไป จากสิ่งที่น่ากลัวห้ามพูดถึงกลายเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารจัดการชีวิตซึ่งการจะนำไปใช้ให้แคล่วคล่องต้องมีทักษะเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้อง คงจะดีกว่าหากเราจะให้เจ้าตัวเล็กที่บ้านคุ้นเคยกับ ‘หนี้’ ตั้งแต่เด็ก และเตรียมพร้อมก่อนที่วันหนึ่งเขาจะเติบโตและต้องตัดสินใจก่อหนี้ด้วยตัวเอง
1.ใช้เงินสดจนกว่าจะจบมัธยมปลาย
หลังจากอ่านบทนำจนจบ พ่อแม่หลายคนอาจคิดว่าผมแนะนำให้เจ้าตัวเล็กในบ้านหัดก่อหนี้ ซึ่งช่องทางที่ง่ายที่สุดก็คือการสมัครบัตรเครดิตให้
ช้าก่อน! อย่าเด็ดขาดเชียวนะครับ ก่อนที่ลูกจะได้สัมผัสกับบัตรพลาสติกควรโตพอที่จะรู้ว่า บัตรเครดิต คือ การก่อหนี้ที่เป็นการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง พร้อมทั้งควรมีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจพอประมาณ มิฉะนั้น บัตรที่อยู่ในมืออาจกลายเป็นหายนะขนาดย่อมๆ
แม้จะดูขัดกับยุคที่ทุกอย่างเป็นดิจิทัลอยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็อยากแนะนำให้เด็กๆ ใช้เงินสดจนกว่าจะจบมัธยมปลาย เพราะมีการศึกษาพบว่าคนเรามีความเต็มใจจะจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่าหากจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตแทนที่จะเป็นเงินสด นอกจากนี้ งานวิจัยชิ้นล่าสุดยังเปิดเผยว่า การจ่ายเงินโดยบัตรเครดิตจะทำให้เราไม่คิดถึงเรื่องต้นทุนจริงๆ แต่จะไปกระตุ้นสมองในส่วนที่สร้างความสุขในการได้ซื้อของทำให้ใช้จ่ายเกินตัวแบบไม่รู้ตัว
แม้ว่าบทความนี้จะตั้งใจสอนเด็กๆ เรื่องหนี้ แต่ตอนนี้ให้เด็กๆ เรียนรู้ภาคทฤษฎีไปก่อนโดยให้พ่อแม่ทำเป็นตัวอย่าง อย่าเพิ่งรีบให้เจ้าตัวเล็กก่อหนี้เลยครับเพราะยังมีเวลาที่เหลืออีกทั้งชีวิตในการฝึกภาคปฏิบัติ
2.รู้จักหนี้ผ่านบัตรเครดิต
การก่อหนี้ที่ใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันมากที่สุด และเด็กๆ น่าจะได้เจอบ่อยครั้งที่สุด ก็คือการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต แต่เชื่อไหมครับว่าเด็กน้อยคนจะเข้าใจว่าบัตรเครดิตนั้นทำงานอย่างไร บางคนอาจคิดไปเองว่านี่คือบัตรมหัศจรรย์ที่พ่อแม่รูดเท่าไหร่ก็ได้โดยไม่ต้องควักสตางค์จ่าย
พ่อแม่ควรจะบอกลูกเสมอว่า การจ่ายเงินโดยบัตรเครดิตนั้น คือ การก่อหนี้ที่เราจะต้องจ่ายตอนสิ้นเดือน หากมีโอกาสก็อาจจะลองชวนมานั่งดูใบสรุปรายการที่ธนาคารจะจัดส่งมาให้ แล้วชวนให้เด็กๆ นึกถึงว่าค่าใช้จ่ายก้อนนั้นก้อนนี้คืออะไร อาจจะเป็นอาหารมื้ออร่อยหรือผลไม้ที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อ แล้วย้ำว่าถ้าจ่ายล่าช้า ค่าผลไม้ 100 บาทในใบรายการก็อาจงอกเงยเป็น 105 ในเดือนถัดไป
คำเตือนสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทุกคน คือ อย่าให้เลขบัตรเครดิตลูกไปใช้ซื้อของตามอำเภอใจโดยเด็ดขาดและห้ามบันทึกข้อมูลบัตรไว้ในคอมพิวเตอร์ของลูก จำไว้เสมอว่าเด็กๆ มีความยับยั้งชั่งใจน้อยกว่าเรา การกระทำเช่นนั้นอาจให้ลูกสงสัยว่าทำไมพ่อแม่ไม่เชื่อใจพวกเขา ซึ่งเราสามารถอธิบายให้ฟังได้ว่า นี่คือนโยบายของบริษัทบัตรเครดิตที่จะกำหนดให้ใช้เฉพาะเจ้าของบัตรเท่านั้น
3.เมื่อซื้อของชิ้นใหญ่ให้ชวนลูกมาดูแผนผ่อนชำระ
การสอนลูกเรื่องหนี้ที่ดีที่สุดไม่ใช่การห้ามก่อหนี้แบบคอขาดบาดตาย แต่ควรชวนลูกๆ มาทำความเข้าใจว่าหากต้องการก่อหนี้เพื่อซื้อสิ่งที่เราอยากได้นั้นควรทำอย่างไรถึงจะเรียกได้ว่าถูกวิธี
ทุกครั้งที่ซื้อสินค้าราคาแพง อาจเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์มือถือ รถยนต์ หรือแม้แต่บ้านสักหลัง พ่อแม่ควรชวนลูกมาทำความเข้าใจกระบวนการก่อหนี้ อธิบายเหตุผลทุกขั้นตอนการตัดสินใจ ตั้งแต่การเลือกวิธีผ่อนชำระ อัตราดอกเบี้ย การวางเงินดาวน์ รวมถึงจำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละเดือน
เป้าหมายสำคัญของการให้เด็กๆ มารับรู้กระบวนการดังกล่าว คือ การให้พวกเขาสลัดภาพความคิดว่าการก่อหนี้เป็นเรื่องเล็กแค่รูดบัตรเครดิตแล้วจ่ายในตอนสิ้นเดือน เพราะความจริงแล้วการตัดสินใจก่อหนี้ควรเป็นเรื่องที่ต้องคิดอย่างถี่ถ้วน เป็นการตัดสินใจระยะยาวที่หากถอนตัวกลางคันจะมีต้นทุนราคาแพง และควรจะกระทำต่อเมื่อมีความจำเป็นจริงๆ เท่านั้น ไม่ใช่เพียงเพราะความอยากได้แบบชั่วครั้งชั่วคราว
4.เตือนลูกเรื่องให้เพื่อนยืมเงิน
เรื่องเพื่อน คือ เรื่องใหญ่สำหรับเด็กๆ หลายครั้งที่เจ้าตัวเล็กอาจให้เพื่อนหยิบยืมเงินแบบไม่คิดมาก แต่น้อยครั้งที่จะได้รับเงินกลับคืน เหลือไว้เพียงความรู้สึกไม่ดีต่อกัน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียเพื่อนคนหนึ่งไป
กฎจำง่ายในการให้เพื่อนยืมเงินซึ่งใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก คือ หนี้ระหว่างเพื่อนสนิทนั้นไม่มีอยู่จริง หากคุณต้องการจะช่วยเพื่อนที่ตกที่นั่งลำบากให้คิดเสมอว่าเงินที่ให้ไปนั้นไม่ได้หวังจะได้รับกลับคืน (แต่ถ้าได้คืนก็ถือเป็นโบนัส) เงินก้อนไหนที่คุณจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็อย่าให้ยืมเด็ดขาด เพราะการคอยตามทวงถามเรื่องเงินแทนคำทักทายแสดงความห่วงใยคงไม่ช่วยให้มิตรภาพยืนยาวนัก
5.ทำความรู้จักรายงานเครดิต
เด็กๆ อาจสงสัยว่าธนาคารมีหลักการอย่างไรในการตรวจสอบประวัติว่าคนหนึ่งคนมีความน่าเชื่อถือขนาดไหน
คำตอบง่ายๆ คือ การสืบค้นข้อมูลเครดิตบูโรซึ่งถือเป็นหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลการก่อหนี้และการชำระหนี้ของคนไทยเอาไว้ที่เดียว รายงานดังกล่าวจะระบุว่าเรายังมีหนี้คงค้างเท่าไหร่ เคยผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ และเคยมีประวัติการปรับโครงสร้างหนี้หรือเปล่า ทำให้ธนาคารตัดสินใจปล่อยสินเชื่อได้ง่ายขึ้นสำหรับคนที่มีเครดิต
พ่อแม่อาจชวนเด็กๆ ไปตรวจสอบขอรายงานเครดิตบูโรของตัวเอง ซึ่งปัจจุบันมีให้บริการทั้งออฟไลน์และออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ต่อให้ยังไม่เคยก่อหนี้ก็สามารถตรวจสอบได้และควรสอนลูกๆ ให้ตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีใครแอบอ้างชื่อของเราไปก่อนหนี้ที่เราไม่เคยรู้
ประเด็นสำคัญที่พ่อแม่ต้องย้ำลูกๆ คือ การไม่จ่ายชำระหนี้หรือการจ่ายล่าช้าจะส่งผลเสียต่อประวัติเครดิตติดตัวเราไปทำให้โอกาสในการขออนุมัติบัตรเครดิตและสินเชื่อต่างๆ ทำได้ยากขึ้น หรือได้ในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าที่ควรจะเป็น นี่คือเหตุผลที่เราควรก่อหนี้เฉพาะที่จ่ายไหวเพื่อไม่ให้เราต้องตกที่นั่งลำบากเมื่อต้องหยิบยืมเงินมาใช้จากอนาคต
6.อย่าแก้ปัญหาหนี้ให้ลูกแบบไร้เงื่อนไข
การห้ามช่วยลูกแบบเด็ดขาดคงเป็นไปได้ยาก ผมเลยขอแนะนำกลางๆ ว่าพ่อแม่ไม่ควรแก้ปัญหาหนี้ให้ลูกแบบไร้เงื่อนไข เพราะการตามแก้ปัญหาหนี้สินให้ลูกเพียงหนึ่งครั้งก็อาจทำให้เราต้องกลับมาแก้ปัญหาเดิมซ้ำๆ ไม่จบไม่สิ้นเพราะลูกรู้แล้วว่ายังไงพ่อแม่ก็ต้องเข้ามาช่วย
เตือนตัวเองเสมอว่าเราไม่ได้อยู่ค้ำฟ้าและคงไม่มีปัญญาหาเงินมาช่วยแก้ปัญหาให้ลูกได้ตลอดไป แทนที่จะควักกระเป๋าเอาเงินก้อนใหญ่ไปโปะหนี้ให้ลูก ลองช่วยเหลือทางอ้อมเพื่อลดค่าใช้จ่าย เช่น ให้กับมากินอยู่ที่บ้าน หรือหากจะจ่ายหนี้สินบัตรเครดิตพะรุงพะรังให้ก็ควรมานั่งจับเข่าคุยกันว่าจะทำอย่างไรไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นอีก
ส่วนใครที่คิดจะเซ็นสัญญาให้ลูกกู้ยืมเงินผมแนะนำให้ย้อนกลับไปอ่านข้อ 4. นะครับ จงทำใจล่วงหน้าว่าอาจจะไม่ได้เงินคืน ดังนั้น อย่าขายเงินก้อนเพื่อการเกษียณของตัวเองมาช่วยเหลือลูก เพราะเราต้องเกษียณก่อนลูกอย่างน้อยๆ ก็ 20 ปี ปล่อยให้เขาลิ้มรสความกระเสือกกระสนกับปัญหาที่ก่อขึ้นเองบ้าง เพื่อให้มั่นใจว่ามันจะไม่เกิดขึ้นซ้ำสอง
7.จัดการหนี้ก่อนเริ่มลงทุน
จ่ายหนี้ก่อนหรือลงทุนก่อนคือคำถามยอดนิยมสำหรับหลายคนที่มีภาระต้องผ่อนชำระทุกเดือน แต่ขณะเดียวกันก็มองเห็นโอกาสให้เงินทำงานผ่านการลงทุน
ผู้เขียนไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่แนะนำให้พิจารณาจาก ‘อัตราดอกเบี้ย’ เงินกู้เป็นหลัก
หากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ค่อนข้างสูง เช่น มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ผมแนะนำให้เร่งใช้หนี้ให้หมดก่อนการลงทุน เพราะถึงแม้เงินลงทุนในหลักทรัพย์ เช่น หุ้น อาจมีผลตอบแทนล่อตาล่อใจเฉลี่ยที่ 8 ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ แต่อย่าลืมว่าผลตอบแทนดังกล่าวมาพร้อมกับความเสี่ยงที่สูงเป็นเงาตามตัว ต่างจากการนำเงินไปจ่ายหนี้ที่อัตราดอกเบี้ย 5 เปอร์เซ็นต์ซึ่งเปรียบเสมือนการลงทุนที่ได้ผลตอบแทน 5 เปอร์เซ็นต์แบบไร้ความเสี่ยง ดังนั้นการใช้หนี้ให้หมดก่อนหรือการเพิ่มเงินดาวน์เมื่อซื้อบ้านหรือรถแทนที่จะเอาไปลงทุนนั้นอาจเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลมากกว่า
เมื่อพูดถึงเรื่องการเงิน เรามักจะเน้นความสำคัญที่การลงทุนให้เงินงอกเงยและมักมองข้าม ‘การก่อหนี้’ ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์เท่าไหร่นัก แต่การงดเว้นไม่พูดถึงก็ไม่ได้ลดทอนความสำคัญของหนี้ต่อชีวิตของคนหนึ่งคน แทนที่จะมองด้วยอคติ เราควรปลูกฝังเด็กๆ ในบ้านให้มองการก่อหนี้ไม่ต่างจากเครื่องมือทางการเงินที่จะช่วยให้ชีวิตเราดีขึ้นหากใช้อย่างถูกวิธี