Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
How to get along with teenager
30 July 2021

เงินทองต้องคิดส์ (5) : สอนลูกชั่งใจก่อนใช้เงิน (ฉบับวัยรุ่น)

เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • กลุ่มวัยรุ่นเป็นผู้บริโภคที่นักการตลาดโปรดปราน อย่างไรก็ดี พ่อแม่ไม่ควรสร้างความตึงเครียดด้วยการบอกห้ามใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง แต่ควรสอนให้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการใช้เงินโดยไม่ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลยุทธ์การโฆษณา และสุดท้ายคือการแสวงหาความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยอย่างเหมาะสม
  • ในช่วงวัยมัธยม หากลูกเห็นของในห้างสรรพสินค้าแล้วต้องการซื้อแบบทันควัน พ่อแม่อาจใช้กฎ 24 ชั่วโมงเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกคิดอย่างถี่ถ้วนก่อนควักเงินซื้อให้ โดยเฉพาะสินค้าราคาสูง เด็กๆ ควรจะต้องศึกษาหาข้อมูลและอ่านรีวิวสินค้าเพื่อประกอบการตัดสินใจ
  • เมื่อเข้าสู่วัยมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงาน สิ่งสำคัญ คือ การสอนให้มีความเข้าอกเข้าใจคนอื่นๆ ที่มีสถานะทางสังคมและเงื่อนไขในชีวิตต่างจากเรา พ่อแม่ควรแนะนำเรื่องการใช้เงินอยู่อย่างห่างๆ ในวันที่ลูกผิดพลาดกลับมาขอความช่วยเหลือก็อย่าซ้ำเติม แต่ควรใช้เป็นโอกาสในการสอนบทเรียนทางการเงิน

วัยรุ่นคือช่วงเวลาที่ลูกเริ่มมองหาตัวตน เป็นอิสระจากพ่อแม่ และที่สำคัญคือกำลังซื้อในกระเป๋าค่อนข้างสูงแถมส่วนใหญ่ยังไม่ต้องมีภาระรับผิดชอบในการหาเงินเองและไม่ต้องกังวลเรื่องอนาคต เพราะความมั่นคงทางการเงินถูกฝากฝังไว้อยู่บนบ่าของพ่อแม่ผู้ปกครอง จึงไม่น่าแปลกใจหากนักการตลาดจำนวนไม่น้อยจะจ้อง ‘หากิน’ กับคนในช่วงวัยนี้ที่ซื้อง่ายจ่ายคล่องรวมทั้งยังไม่มีวุฒิภาวะในการจับจ่ายใช้สอยมากนัก

นี่คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางอารมณ์และสังคม พ่อแม่ไม่ควรสร้างความตึงเครียดด้วยการบอกห้ามใช้จ่ายไปเสียทุกอย่าง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือการสอนให้เรียนรู้ผลลัพธ์ของการใช้เงินโดยไม่ระมัดระวัง รู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาด และสุดท้ายคือการแสวงหาความสุขจากการจับจ่ายใช้สอยอย่างเหมาะสม

วัยมัธยม ใช้จ่ายเงินอย่างรู้เท่าทัน

1. อยากได้ก็ให้จ่ายเงินเอง

ความอยากเป็นสิ่งที่ห้ามกันยาก หลายครั้งที่เราเดินเล่นในห้างสรรพสินค้าแล้วสายตาไปเจอกับ ‘ของมันต้องมี’ ที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาซื้อ อาจจะเป็นเสื้อยืดลายโดนใจ กระเป๋าที่เห็นแล้วอยากใช้ หรือชานมไข่มุกรสใหม่ที่อยากลิ้มลอง เมื่อถูกรบเร้า พ่อแม่อย่าเพิ่งรีบปฏิเสธนะครับ แต่แทนที่จะควักกระเป๋าให้แบบไม่มีเงื่อนไข เราก็บอกว่าลูกต้องใช้คืนเมื่อถึงบ้านด้วยเงินที่เก็บหอมรอมริบด้วยตัวเอง (ถ้าบุตรหลานของคุณยังไม่มีเงินเก็บ ลองย้อนกลับไปอ่านบทความนี้ครับ)

เชื่อไหมครับว่าถ้าต้องควักกระเป๋าจ่ายเอง เหล่าสินค้า ‘ของมันต้องมี’ ก็อาจไม่ได้จำเป็นขนาดที่จะต้องซื้อมาใช้ เพราะสิ่งของเหล่านี้มันก็แค่ความอยากชั่วครั้งชั่วคราวที่ผ่านมาก็ผ่านไป

บางบ้านอาจมีกฎช่วยชะลอการใช้จ่ายเงินซื้อแบบหุนหันพลันแล่น คือ กฎ 24 ชั่วโมง รอให้เวลาผ่านไปหนึ่งวันเต็มเสียก่อนแล้วให้ลูกตอบตัวเองอีกครั้งว่ายังอยากได้ของชิ้นนั้นอยู่หรือเปล่า ถ้ายังอยากได้ก็ให้พากลับไปซื้อใหม่ แต่เชื่อไหมครับว่าส่วนใหญ่ความอยากจะมอดดับลงไปเอง 

นอกจากนี้ในระหว่างที่รอ เจ้าตัวแสบก็จะมีเวลาเทียบเคียงราคาและศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมบนอินเทอร์เน็ตในระหว่างที่ต้องรอตามกฎซึ่งอาจเป็นการช่วยพ่อแม่ประหยัดเงินได้อีกนิดเพราะบางทีผลิตภัณฑ์ที่อยากได้อาจจำหน่ายลดราคาอยู่ที่อื่น และเป็นพื้นฐานของการใช้เงินอย่างชาญฉลาด

2. ศึกษาก่อนซื้อ

แน่นอนครับว่าลูกๆ คงไม่ต้องเสียเวลาศึกษาทุกอย่างก่อนที่จะควักสตางค์จ่ายซื้อ แต่วันไหนที่เจ้าตัวเล็กกำลังชั่งใจจะซื้อของชิ้นใหญ่ที่ราคาหลักพันบาทขึ้นไป เช่น กล้องถ่ายรูป เครื่องดนตรี หรือเครื่องเสียงระบบไร้สาย พ่อแม่ควรพูดคุยจนแน่ใจว่าลูกใช้เวลาศึกษาอย่างดีเพียงพอ

นี่คือช่วงเวลาที่ผู้ปกครองสามารถสอนให้ลูกแยกแยะระหว่างสรรพคุณที่บอกเล่าผ่านโฆษณากับการแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นอิสระจากลูกค้าทั่วไป เราอาจยกตัวอย่างเว็บไซต์ต่างๆ ที่หยิบสินค้ามารีวิวโดยผู้เชี่ยวชาญ สอนวิธีสังเกตว่าบทความชิ้นที่กำลังอ่านเป็นโฆษณาที่ถูกจ้างให้ทำหรือเป็นความเห็นที่ไม่มีอคติ พร้อมทั้งบอกวิธีเลือกร้านค้าตามแพลตฟอร์มออนไลน์ การสังเกตรีวิวโดยผู้ซื้อทั้งเนื้อหาและคะแนนที่ให้ว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ 

หากรู้เทคนิคเหล่านี้ รับรองว่าลูกของคุณจะเก่งกว่าคุณในเวลาไม่นาน แถมบางคนอาจย้อนกลับมาให้คำแนะนำในการเลือกซื้อสินค้าบางอย่างให้พ่อแม่ด้วยซ้ำ!

3. โปรดระวังโฆษณาแฝง

ในยุคที่โฆษณาถูกนำเสนอแบบเนียนๆ เป็นเนื้อเดียวกับรายการตามสื่อต่างๆ หรือโพสต์ของดาราบนโซเชียลมีเดีย อย่าว่าแต่เด็กเลยครับเพราะผู้ใหญ่บางคนก็ตกเป็นเหยื่อการตลาดจากการที่มีคนดังหรือนักกีฬาที่ชื่นชอบออกมาสาธยายสรรพคุณความดีงามของสินค้าหรือบริการที่เขาหรือเธอเลือกใช้ จนเรารู้สึกอยากได้อยากมีจนต้องยอมควักเงินจ่ายเพราะ ‘เชื่อ’ ในสิ่งที่บอกเล่า

สิ่งสำคัญที่เราต้องย้ำให้เด็กๆ ในบ้านรับทราบ คือ ดาราคนดังเหล่านี้สร้างรายได้ปีละเป็นล้านๆ จากการโพสต์ภาพสินค้าบนอินสตาแกรมแบบชิลล์ๆ หรือบอกเล่าประสบการณ์การใช้บริการแบบดีเกินจริง วัยรุ่นส่วนใหญ่จะรู้เท่าทันการกลเม็ดการโฆษณาเช่นนี้ แต่หลายคนก็ยอมประกาศตัวเป็นสาวกของเหล่าสินค้าแบรนด์เนมราวกับว่าเป็นตัวแทนผลิตภัณฑ์แบบไม่เป็นทางการ แน่นอนว่าเรื่องเหล่านี้ห้ามยาก แต่เราในฐานะพ่อแม่ก็ควรพูดคุยกับลูกเพื่อสร้างความรู้เท่าทัน ส่วนเด็กๆ จะตัดสินใจอย่างไรก็ควรเคารพการซึ่งกันและกัน

4. ตอบให้ได้ว่า ‘จ่ายแพง’ เพราะอะไร

การซื้อของแพงไม่ใช่เรื่องผิด แต่ที่สำคัญกว่าคือเราจ่ายแพงด้วยเหตุผลอะไร

มีการวิจัยชิ้นหนึ่งที่ทำการทดลองในผู้ใหญ่โดยให้ชิมไวน์ที่ติดป้ายราคา 10 ดอลลาร์สหรัฐและ 90 ดอลลาร์สหรัฐแล้วสอบถามว่าไวน์ขวดไหนรสชาติดีกว่า ผู้อ่านคงเดาได้นะครับว่าผู้ร่วมการทดลองให้คำตอบว่าไวน์ที่ติดราคา 90 ดอลลาร์สหรัฐอร่อยกว่า แต่เชื่อไหมครับว่าไวน์ทั้งสองขวดคือไวน์แดงชนิดเดียวกันที่ต่างกันแค่ราคาหน้าขวด นี่คือผลทางจิตวิทยาที่สินค้าราคาแพงจะสร้างความรู้สึก ‘ดีกว่า’ แบบปลอมๆ ขึ้นมา

พ่อแม่ผู้ปกครองอาจออกแบบการทดลองลักษณะนี้กับลูกๆ โดยเลือกสินค้า เช่น แชมพู คุกกี้ หรือขนมอะไรก็ได้สองชนิดที่ราคาใกล้เคียงกันแต่นำมาแปะป้ายราคาที่แตกต่างกัน แล้วให้ลูกเปรียบเทียบว่าชอบอันไหนมากกว่า พร้อมกับชี้ให้เห็นว่าป้ายราคาส่งผลให้เรามีอคติในการตัดสินใจอย่างไร

การซื้อของที่ราคาแพงว่าท้องตลาดจึงต้องมีเหตุผลสนับสนุนทุกครั้ง เราย่อมจ่ายแพงเพื่อซื้อไข่อินทรีย์เพราะดีต่อสิ่งแวดล้อม รสชาติดี และไม่มีสารเคมีปนเปื้อน หรือซื้อชุดมีดที่ราคาจะสูงลิ่วแต่สามารถใช้ได้อย่างน้อยๆ ก็ 10 ปีซึ่งจะคุ้มค่ากว่าในระยะยาว 

เราจึงควรชวนลูกๆ ให้มาฟังวิธีการชั่งใจของพ่อแม่ที่จะเปรียบเทียบระหว่างต้นทุนที่ต้องจ่ายกับประโยชน์ที่ได้ก่อนตัดสินใจจ่ายเงินซื้อ

วัยมหาวิทยาลัย-เริ่มทำงาน เงินกับความสุขในชีวิต

1. หลากวิธีใช้เงินซื้อความสุข

ในฐานะนักการเงินผมขอเถียงหัวชนฝาถ้ามีใครมาบอกว่าเงินซื้อความสุขไม่ได้ เพราะเราต่างอยู่ในระบอบทุนนิยมซึ่งการมีเงินย่อมดีกว่าไม่มี แต่ที่สำคัญคือการมีเงินและต้องใช้เพื่อหาความสุขอย่างชาญฉลาด

อลิซาเบธ ดันน์ (Elizabeth Dunn) และไมเคิล นอร์ตัน (Michael Norton) สองนักวิชาการผู้หลงใหลกับคำถามที่ว่าเงินจะซื้อหาความสุขได้อย่างไร ทั้งสองนำเสนอหลักการเพื่อใช้เงินสร้างสุขในชีวิตซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ และนับเป็นข้อสังเกตสำคัญที่เราทุกคนควรทราบเพื่อนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน

จากการศึกษาพบว่า การใช้เงินซื้อประสบการณ์จะสร้างความสุขได้มากกว่าจ่ายเงินซื้อสิ่งของ นอกจากนี้เงินที่มีในกระเป๋าก็ควรหยิบมาใช้เพื่อซื้อเวลาว่าง อย่าเห็นแก่ส่วนลดเล็กน้อยแล้วยอมเสียเวลาเพื่อจะได้ซื้อสินค้าในราคาประหยัดโดยไม่คิดว่ากำลังสูญเสียเวลาสบายๆ ที่ควรจะได้ใช้ทำงานอดิเรกหรืออยู่กับครอบครัว

ที่สำคัญ เราไม่ควรใช้เงินมากเกินไปแม้ว่าจะมีเงินในบัญชีอยู่เหลือเฟือก็ตาม เพราะการใช้เงินปรนเปรอตัวเองจนล้นเกินจะทำให้เราหาความสุขไม่เจอ เพราะมีทุกอย่างที่ต้องการจนรู้สึกว่าใช้เงินอีกมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้สึก ‘อิ่มเอม’ สักที 

สำหรับคนที่มีเงินเหลือแล้วไม่รู้จะเอาไปใช้ทำอะไร งานวิจัยพบว่า ‘การให้’ โดยเฉพาะการลงทุนสร้างอนาคตแก่ญาติมิตรแม้จะเป็นจำนวนไม่มากแต่ก็จะนำพามาซึ่งความอิ่มเอมใจแก่ผู้ให้

2. การเรียนรู้มีราคาที่ต้องจ่าย

ไม่ว่าลูกจะยังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยหรือเริ่มทำงาน พ่อแม่ก็ควรให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ พร้อมแสดงความคิดเห็นในการตัดสินใจใช้เงินของลูกเท่าที่จำเป็น โดยเฉพาะเมื่อเขาหาเงินเองได้และต้องการทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ในอุดมคติทำกัน ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขุดสูทราคาแพง บ้านหลังใหญ่ หรือรถยนต์ยุโรป

วันดีคืนดี ถ้าลูกตัดสินใจจะเริ่มผ่อนคอนโดสามห้องนอนสองห้องน้ำใจกลางเมืองโดยใช้เงินก้อนที่เก็บมาทั้งชีวิต เราอาจถามในบางประเด็นที่ลูกอาจคิดไม่รอบคอบ เช่น แน่ใจหรือว่าจะทำงานอยู่ที่นี่จนกว่าจะผ่อนคอนโดหมด? การงานมั่นคงขนาดไหน? หลังจากหักเงินผ่อนแล้วมีเงินใช้จ่ายพอหรือเปล่า? เราจะลงหลักปักฐานที่นี่จริงๆ ใช่ไหม? ฯลฯ

หลังจากถามพอประมาณและลูกยังยืนกรานว่าจะซื้อให้ได้ เราก็ไม่ควรขัดขวางโดยปล่อยให้เขาลิ้มรสการตัดสินใจของตัวเอง วันหนึ่งหากเขาดูแลค่าใช้จ่ายไม่ไหวพ่อแม่ก็ไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรใช้โอกาสบอกกล่าวว่านี่คือ ‘ราคา’ ที่ต้องจ่ายเพื่อเรียนรู้เรื่องการใช้เงินอย่างรอบคอบ

3. เตรียมพร้อมรับมือโลกเหลื่อมล้ำ

ในรั้วมหาวิทยาลัยและวัยทำงาน คือ สถานที่ที่เราจะได้พบปะและใกล้ชิดกับเพื่อนที่อาจมีสถานะทางการเงินที่แตกต่างจากเราอย่างมาก บางคนอาจร่ำรวยล้นฟ้าขับรถป้ายแดงมามหาวิทยาลัย ในขณะที่บางคนอาจต้องทำงานพิเศษเพื่อหาเงินมาจ่ายค่าเทอม เราจึงควรเตรียมความพร้อมให้ลูกก่อนไปเจอความเหลื่อมล้ำในโลกแห่งความเป็นจริง

พ่อแม่ควรแนะนำลูกๆ ว่ามันไม่ใช่เรื่องผิดที่ลูกหรือเพื่อนสนิทจะไม่มีเงินออกไปสังสรรค์เฮฮาราคาแพงทุกคืนเพราะจ่ายไม่ไหว และเราสามารถหาความสุขได้จากทางเลือกอื่นที่ราคาประหยัดกว่า เช่น การทำอาหารกินกันเองกับเพื่อนๆ ในทางกลับกันก็อย่าคิดว่าพ่อแม่ฐานะดีแล้วทำตัวหน้าใหญ่จ่ายเงินเลี้ยงเพื่อนทุกเมื่อเชื่อวัน เพราะนั่นอาจทำให้เพื่อนมองลูกไม่ต่างจากตู้เอทีเอ็ม

ลูกๆ ที่เริ่มก้าวเข้าสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัวควรจะทำความเข้าใจว่าแต่ละคนมีเงื่อนไขชีวิตและอำนาจในการใช้จ่ายไม่เท่ากัน โดยสิ่งสำคัญที่ต้องมีคือความเข้าอกเข้าใจและอย่าดูถูกคนอื่นเพียงเพราะเขาเกิดมาในครอบครัวที่ฐานะทางการเงินไม่มั่นคง

Tags:

วัยรุ่นการเงินเงินทองต้องคิดส์

Author:

illustrator

รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

คุณพ่อลูกอ่อน นักการเงินทาสหมา ที่ใช้เวลาว่างหลังลูกนอน (ซึ่งไม่ค่อยจะมี) ในการอ่าน เขียน และเรียนคอร์สออนไลน์

Illustrator:

illustrator

ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

นักวาดภาพที่ใช้ชื่อเล่นว่า ววววิน facebook, ig : wawawawin

Related Posts

  • How to get along with teenager
    เงินทองต้องคิดส์ (7) : เรียนเรื่องลงทุนแบบไม่ยุ่งยาก (ฉบับวัยรุ่น)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    เงินทองต้องคิดส์ (6) : เรียนเรื่องลงทุนแบบไม่ยุ่งยาก (ฉบับเด็กเล็ก)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    เงินทองต้องคิดส์ (4): สอนลูกชั่งใจก่อนใช้เงิน (ฉบับเด็กเล็ก)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • How to get along with teenager
    เงินทองต้องคิดส์ (3) : ออมเงินเรื่องง่าย (ฉบับเด็กโต)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Early childhood
    เงินทองต้องคิดส์ (2) : ออมเงินเรื่องง่าย (ฉบับเด็กเล็ก)

    เรื่อง รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์ ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel