- แม้ว่าสังคมไทยจะดูเป็นมิตรกับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่จากผลสำรวจของ UNDP ปี 2019 พบว่า คนไทยมักยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง
- การที่คนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันได้แสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นจะทำให้เขามีความสุขและพอใจกับชีวิตมากขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากครอบครัวที่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง
- ผู้เขียนในฐานะทรานส์แมน (ผู้ชายข้ามเพศ) จะมาแชร์ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครองในวันที่ลูกเดินมาบอกว่าตัวเองเป็นเพศหลากหลาย LGBTIQAN+
คุณเคยสังเกตหรือแอบสงสัยบ้างไหมครับ เวลาที่เห็นลูกน้อยเลือกของเล่น ลูกบอล รถแข่ง ตัวต่อ ทหาร ตุ๊กตา บาร์บี้ หรือเล่าถึงตัวการ์ตูนที่ชอบ แล้วคุณกังวลใจ กลัวว่าลูกจะโตมาผิดเพศแล้วไม่มีใครยอมรับ กลัวว่าลูกจะถูกมองว่าเป็นตุ๊ด ไม่แมน หรือเป็นทอม จนกังวลว่าลูกอาจจะต้องใช้ชีวิตที่ลำบากมากกว่าเดิม
ผู้เขียนนั้นเกิดในร่างกายของผู้หญิงและรู้ตัวว่าอยากเติบโตเป็นผู้ชายตั้งแต่ 2 – 3 ขวบแล้ว แต่กว่าจะยอมรับกับตัวเองได้ว่าชอบผู้หญิงก็ปาไปจนอายุ 16 ปี กว่าจะเริ่มรู้ว่ายุคนี้การแพทย์สามารถเปลี่ยนแปลงร่างกายให้เป็นผู้ชายและเริ่มกระบวนการแปลงเพศก็อายุ 21 ปีเข้าแล้ว เนื่องจากข้อมูลของทรานส์แมน หรือผู้ชายข้ามเพศมีน้อยกว่าข้อมูลของผู้หญิงข้ามเพศอย่างมาก
ผู้เขียนในฐานะที่เป็นคนข้ามเพศวัยรุ่นขอยืนยันนะครับว่า ยุคสมัยได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว บุคคลที่ประกาศตัวว่าเป็นเพศหลากหลายหรือ LGBTQ+ ไม่ได้ถูกกีดกันจากสังคม หรือจะต้องมีวิถีชีวิตที่ลำบากเช่นเดียวกับคนรุ่น Gen X หรือ Baby Boomer อีกแล้ว
การที่คนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันได้แสดงออกถึงสิ่งที่ตัวเองเป็นจะทำให้เขามีความสุขและพอใจกับชีวิตมากขึ้น เพราะได้รับการสนับสนุนและยอมรับจากครอบครัวที่มีความเข้าใจที่ถูกต้องนั่นเองครับ
ผลการศึกษาจาก JAMA Surgery พบว่า การยืนยันเพศสภาพที่แท้จริง ‘ทุกรูปแบบ’ สามารถช่วยกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศให้มีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นได้มากกว่าคนที่สามารถแสดงออกได้
ข้อมูลจากผลการสำรวจเพื่อสอบถามประสบการณ์การถูกตีตราและเลือกปฏิบัติของผู้มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทย UNDP (โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ) 2019 พบว่า ร้อยละ 69 ของผู้ทำแบบสอบถามที่ไม่ได้เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ มีทัศนคติที่ดีต่อคนที่มีความหลากหลายทางเพศ แต่ข้อมูลก็ยังบ่งชี้ว่าคนไทยมักยอมรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศที่อยู่นอกครอบครัวมากกว่าที่จะยอมรับคนในครอบครัวตัวเอง
อาจเพราะไม่เคยมีใครบอกว่าคุณพ่อคุณแม่ควรโต้ตอบหรือวางตัวอย่างไรหากวันหนึ่งลูกน้อยเดินมาถามว่า ”หนูชอบเพื่อนเพศเดียวกันเป็นเรื่องปกติไหม” หรือถามคุณว่า “หนูไม่ใช่ลูกสาว/ลูกชายอย่างที่คุณพ่อแม่คิด หนูขอเปลี่ยนเพศได้ไหม”
ไม่ว่าคุณจะเคยตอบลูกในวัยเด็กว่าอย่างไร มันก็ไม่สามารถเปลี่ยนความจริงที่ว่า ลูกจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และจะมีชีวิตวัยผู้ใหญ่ของตัวเองสักวันหนึ่ง แต่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างวัยรุ่นนี่แหละที่เป็นจุดเปลี่ยน LGBTQ+ หลายคนค้นพบตัวเองและอยากบอกความต้องการให้กับคนที่เขาไว้วางใจในช่วงวัยรุ่น ต้องการแสดงความเป็นตัวเอง ทั้งยังหวั่นไหวและต้องการการยอมรับและมีเอกลักษณ์ในขณะเดียวกัน
การที่ผมไม่สามารถบอกพ่อแม่ได้ทำร้ายสุขภาพจิตทั้งตัวเองและคนที่เรารักมากเลยครับ ผมไม่สามารถพูดคุยความต้องการของผมกับครอบครัวได้ ต้องแสวงหาที่พึ่งภายนอกครอบครัว แต่หากย้อนเวลากลับไปได้ผมอยากบอกพ่อแม่ตั้งแต่ประถมและอยากให้ท่านสนับสนุนและรับฟังผมมากกว่านี้
เด็กข้ามเพศจำนวนมากที่รู้ตัวว่าตัวเองเกิดมาผิดร่างตั้งแต่เด็กแล้ว แต่เนื่องจากเขาไม่ค่อยพบเห็นผู้ใหญ่ที่เป็นคนข้ามเพศเหมือนกันกับเขาในสื่อ โทรทัศน์ ข่าวสาร มากเท่ากับชาย-หญิงทั่วไป เด็กข้ามเพศจึงมีแนวโน้มที่อาจรู้สึกแปลกประหลาด โดดเดี่ยว ไร้ที่พึ่ง จนกระทั่งได้รับข่าวสารยุคใหม่ทางอินเทอร์เน็ต เกม นิยาย ซีรีส์ที่เริ่มมีตัวละคร LGBTQ+ และธงสีรุ้งโบกสะพัดทั่วเดือนมิถุนายน ทำให้เด็กวัยรุ่นได้รับข้อมูลที่นำไปสู่การค้นพบตัวเองมากขึ้น เร็วขึ้น
ถ้าหากคุณยังไม่รู้จักว่า LGBTQ+ หมายถึงอะไร ผมขออธิบายเพื่อให้ผู้อ่านได้ทำความเข้าใจสักเล็กน้อยครับ
เพศหลากหลาย หรือ LGBTQ+ นั้นหมายถึง คนที่ค้นพบตัวเองว่ามีอัตลักษณ์หรือรสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงกับสิ่งที่คนรุ่นก่อนที่เรียนรู้ว่าโลกนี้มีแค่สองเพศเท่านั้น คือ ชายและหญิง ขอยกตัวตัวอย่างบางส่วนตามความหมายของตัวอักษร LGBTQIAN+ อย่างเช่น
- Lesbian เลสเบี้ยน คือ คนที่นิยามว่าตัวเองเป็นผู้หญิงและรักชอบผู้หญิงเหมือนกัน คำศัพท์ที่คุ้นเคยอย่างเช่น ทอม ดี้ ยูริ หญิงรักหญิง
- Gay เกย์ คือ คนที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ชาย รักชอบกับผู้ชายเช่นเดียวกัน คำศัพท์ที่อาจได้ยินเช่น ชายรักชาย ยาโออิ
- Bisexual ไบเซ็กชวล คือ คนที่รักชอบได้ทั้งเพศหญิงเพศชาย ไม่ว่าจะนิยามตัวเองเป็นเพศอะไรก็ตาม
- Transgender คนข้ามเพศ คือ คนที่เพศกำเนิดไม่ตรงกับความคิดจิตใจที่รับรู้ตัวเอง และอาจเลือกรับฮอร์โมนหรือศัลยกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงร่างกายตัวเองหรือไม่ก็ได้ อย่างเช่น ผู้หญิงข้ามเพศ (Male to Female Transgender) ผู้ชายข้ามเพศ (Female to Male Transgender) หรือ เลือกแสดงทั้งลักษณะชายและหญิงในตัวเอง (Androgynous Transgender)
- Queer คือ คนที่ไม่ได้นิยามตัวเองและไม่ได้ปฏิบัติตามกรอบชายหญิงตามขนบ
- Intersex คือ คนที่เกิดมามีเครื่องเพศทั้งชายและหญิงในตัวเองตั้งแต่เกิด
- Asexual คือ คนไม่ได้มีแรงดึงดูดทางเพศกับใคร ไม่ได้ต้องการมีเพศสัมพันธ์กับใคร ไม่ใช่ความเชื่อเรื่องการรักษาพรหมจรรย์
- Non-Binary คือ คนที่มีอัตลักษณ์ สำนึกทางเพศที่พ้นความเป็นชายและหญิง
ข้อแนะนำสำหรับผู้ปกครอง ในวันที่ลูกเดินมาบอกว่าตัวเองเป็นเพศหลากหลาย LGBTIQAN+
- ตั้งสติ ใจเย็น ไม่บอกปัด หรือเมินเฉยปฏิเสธ
คุณอาจจะตกใจเมื่อรู้ว่า กว่าที่ลูกจะกล้าบอกกับคุณได้นั้น เขาผ่านการคิดใคร่ครวญ ค้นหาตัวเอง สำรวจตัวเองมาระยะหนึ่งแล้ว รู้ตัวเองมานานแล้ว เขาอาจหาข้อมูลจากอินเตอร์เน็ต เพื่อน รุ่นพี่ที่เชื่อใจ รวมไปถึงค้นหาเทคนิควิธีที่จะบอกพ่อแม่เรียบร้อยแล้ว ประเมินนิสัยและความเปิดใจยอมรับของคุณ เขาถึงได้มาบอกกับคุณ เพราะเขาคิดว่าคุณเปิดใจมากพอ สิ่งที่เขาต้องการก็คือผู้ใหญ่ที่จะไม่บังคับเขา แต่เป็นเพื่อนร่วมเดินบนเส้นทางค้นหาตัวเองในครั้งนี้
คุณอาจจับสัญญาณได้ว่าลูกเป็นเพศหลากหลาย หรืออาจทำเมิน ปฏิเสธตัวเองมากก่อนหน้านี้ แต่เมื่อลูกแสดงความเป็นตัวเองและส่งเสียงที่ต้องใช้ความกล้าหาญสูงมากมาบอกคุณ
วิธีที่ดีสุดที่ควรทำ คือ การตั้งสติ ใจเย็น ค่อยๆ ฟังและถามทีละคำถาม ยังไม่ต้องด่วนสรุปอะไร โลกไม่ได้กำลังถล่มถลาย เขายังเป็นลูกน้อยที่น่ารักคนเดิมของคุณ จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป นอกจากความสุขของลูกที่จะเพิ่มมากขึ้น
- แสดงความรัก ขอบคุณลูกที่บอก ความเคารพการตัดสินใจและยอมรับลูก
หากลูกคุณกล้าที่จะบอกความในใจกับคุณได้ตรงๆ แสดงว่าคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเป็นพื้นฐาน แต่ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ลูกไม่สามารถสื่อสารกับพ่อแม่โดยตรงได้ จากการประเมินนิสัยและความสัมพันธ์ ลูกอาจเลือกบอกเพื่อนสนิทหรือรุ่นพี่ที่ไว้วางใจได้มากกว่า ดังนั้น คุณควรขอบคุณเพราะว่านี่เป็นความไว้วางใจที่ลูกมีต่อคุณ
สำหรับการสื่อสารแสดงความรัก นี่เป็นเทคนิคที่ช่วยแสดงการยอมรับลูกได้ สามารถเลือกใช้ได้ตามความถนัดของคุณหรือของลูก อ้างอิงมาจากทฤษฎี 5 ภาษารัก (5 Love Language) โดย ดร.แกรี แชปแมน (Gary Chapman)
- ภาษารักทางคำพูด คือ คำพูดที่แสดงความชื่นชม ขอบคุณ เชื่อใจ ไว้วางใจ เช่น แม่ยอมรับลูกนะ
- ภาษารักทางการสัมผัส คือ การโอบกอด จับมือ ลูบหัว ลูบหลังอย่างอ่อนโยนเพื่อแสดงความรัก
- ภาษารักผ่านการใช้เวลาร่วมกัน คือ การทำกิจกรรมที่มีเวลาคุณภาพด้วยกัน เช่น ทำอาหารด้วยกัน
- ภาษารักผ่านการดูแลเอาใจใส่ คือ การดูแล ช่วยเหลือบริการ เป็นภาษารักสำหรับคนพูดน้อยที่มักจะแสดงออกความรักผ่านการกระทำ เช่น ทำความสะอาดห้อง หรือขับรถไปส่ง
- ภาษารักทางการของขวัญ คือ การใส่ใจเลือกซื้อหรือทำของขวัญเพื่อแสดงว่าเขามีความสำคัญกับคุณ เช่น ซื้อเกมที่ลูกชอบ หรือเย็บเสื้อผ้าให้ลูก
- พูดคุยกับลูก รับฟังลูก สร้างพื้นที่ปลอดภัยโดยใช้การฟังอย่างลึกซึ้ง Deep Listening
เนื่องจากโลกที่คุณเติบโตมากกับโลกที่ลูกเติบโตมามีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ดังนั้น ข้อมูลที่ลูกมีย่อมมาจากผู้ใหญ่หลากหลายที่เขารับรู้ผ่านสื่อ ละคร อินเตอร์เน็ตได้ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีอยู่จริงทั่วโลก ขอให้รับฟังสิ่งที่ลูกต้องการจะพูด เพราะหากไม่ฟังแล้ว เขาจะไร้ที่พึ่งพิงและคุณคงไม่อยากให้ลูกทนอยู่ในความอึดอัดความทุกข์ไปตลอดชีวิตหรอก
หากคุณไม่รักเขาไม่ยอบรับในตัวลูก เรื่องน่าเศร้าก็คือลูกก็ยังคงรักคุณเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่เขาจะเกลียดตัวเองแทน จากการที่คุณไม่ยอมรับเขา เขาจะโทษตัวเองมากกว่าที่จะไม่รักคุณ
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ คุณอาจจะคิดว่ามันไม่ใช่ความจริง เคยเห็นเค้าลางเดาออกมาก่อนแล้ว หรือลึกๆ แล้วรับไม่ได้ กลัว โทษตัวเองว่าลูกเป็นแบบนี้เพราะคุณ หรือยอมรับแต่ไม่อยากป่าวประกาศในคนอื่นรับรู้ ไม่ว่าคุณจะคิดหรือรู้สึกอย่างไร ขอให้เก็บความคิด ความเชื่อ สังเกตเสียงในหัวของคุณ วางการตัดสินใจลงก่อนจะทำอะไร ขอให้รับฟังข้อมูล ใช้ความรักที่คุณมีเป็นตัวนำทาง ฟังความหวัง ความต้องการของลูกขึ้นมาก่อน มันไม่ได้มีอะไรน่ากลัวไปกว่าความกลัวที่เกิดขึ้นในความคิดคุณ ขอให้ใช้การรับฟังอย่างลึกซึ้ง คือการพูดทีละคน ฟังทีละเสียง ไม่พูดแทรกหรือถามแทรกในขณะที่ลูกยังพูดไม่เสร็จ ตั้งใจฟังเสียงของลูกให้มากที่สุดและไม่ละเลยเสียงในหัวของคุณ เมื่อถึงตาคุณพูดก็สามารถเล่าความกลัวกังวล หรือถามลูกเพื่อให้ลูกเล่าเพิ่มเติมได้อีกด้วย
- ศึกษาหาความรู้ และทำในสิ่งที่จะช่วยสนับสนุนลูกได้
ไม่ว่าลูกจะบอกว่าชอบเพศเดียวคน หรือสองเพศ หรือบอกว่าอยากเปลี่ยนแปลงเพศ ขอให้คุณพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจในอัตลักษณ์และความรักของลูก เพราะความสัมพันธ์กับผู้ปกครองจะเป็นตัวกำหนดความสัมพันธ์ที่เขาจะปฏิบัติต่อชีวิตคู่ในวัยผู้ใหญ่ด้วย คุณยังสามารถค้นหาข้อมูลความรู้จากเว็บไซต์ต่างๆ หรือดูช่อง YouTube ที่ลูกคุณแนะนำให้ศึกษาเรียนรู้ได้ คุณอาจปรึกษาพ่อแม่ท่านอื่นๆ ที่ภูมิใจที่มีลูกเป็นเพศหลากหลายที่คุณรู้จักเพื่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ หากไม่มี ให้สอบถามทางหน่วยงานที่ให้ความรู้เรื่อง LGBT ได้ เช่น เพจเฟซบุ๊ค พ่อแม่หลากหลายเพศ Thai LGBTI Parents
หากจำเป็นต้องปรึกษาจิตแพทย์ในกรณีที่ลูกคุณต้องการรับฮอร์โมนการเปลี่ยนแปลงร่างกายให้ตรงกับจิตใจ ให้หาข้อมูลโรงพยาบาลที่ให้บริการใกล้บ้าน สื่อสารกับคนในครอบครัวเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและทำการนัดหมายแพทย์ในจังหวะเวลาที่เหมาะสม หากต้องการหากข้อมูลทางการแพทย์ประกอบสามารถติดต่อเพื่อนัดหมายกับแพทย์จิตเวชเฉพาะทางให้คำปรึกษาเรื่องเด็กเพศหลากหลายได้ที่ แพทย์ Gen V Clinic คลินิกเพศหลากหลาย
สิ่งที่ไม่ควรพูดโดดเด็ดขาด
- บอกว่า “รู้อยู่แล้ว เห็นมานานแล้ว” เพราะถึงแม้ว่าคุณจะเห็น แต่นั่นไม่ได้หมายความเป็นสิ่งที่เห็นจะเป็นสิ่งที่ลูกเป็นและรู้สึกจริงๆ หากลูกได้ยินจะยิ่งรู้สึกน้อยใจและคิดว่าคุณไม่ได้เข้าใจเขาเลย หากเป็นไปได้ขอให้ฟังคำนิยามเพศ อัตลักษณ์ ฟังเขาเล่าถึงคนที่ชอบ กระทั่งความสับสนในน้ำเสียงของลูก เพราะเป็นการเคารพการเติบโตและค้นพบตัวเองของลูก
- บอกว่า “เสียดาย” หรือ “ไม่น่าเลย” ทำหน้าตาผิดหวังเสียดาย บอกว่าผิด บาป หากเป็นไปได้ ขอให้วางความเชื่อที่ตัดสินถูกผิด เพื่อเปิดใจฟังความจริง ความทุกข์ใจ ความอึดอัดของคนที่อยู่ตรงหน้าคุณ เมื่อผ่านไปแล้วคุณจะพบว่าความสุขมากมาย มาจาการเห็นลูกรักมีความสุข
- “อย่าไปบอก [ชื่อญาติ] ให้รู้เชียวนะ” เพราะแสดงถึงความกลัวการปฏิเสธ ซึ่งจะทำให้ลูกอึดอัดและกังวล ถ้าหากเป็นไปได้ให้ค่อยๆ หาวิธีการสื่อสารที่เหมาะสมหากจะต้องบอกกับญาติคนั้น
- พยายามซ่อม แก้ไข หรือรักษา เพราะสิ่งที่เดียวที่คุณสามารถควบคุมจัดการได้คือจิตใจและการกระทำของคุณเอง เราไม่สามารถไปแก้ไขสิ่งภายนอกได้เพราะนั่นเป็นปัจจัยนอกตัวและ การเป็น LGBTQ+ ไม่ได้เป็นโรคที่ต้องรักษาหรือ องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ถอดถอนการรักชอบเพศเดียวกับออกจากบัญชีอาการป่วยทางจิตตั้งแต่ ปี 1990 แล้ว
สุดท้ายนี้ ผมเชื่อว่าความรักเป็นสิ่งสำคัญที่ครอบครัวจะมีให้แก่กันได้ เป็นพื้นฐานชีวิตที่ดีเพื่อลูกเติบโตอย่างแข็งกายทางร่างกายและจิตใจ ที่ผ่านมาเยาวชนที่เป็น LGBTQ+ ถูกทำร้ายทางจิตใจโดยที่ผู้ใหญ่ในครอบครัวแบบไม่รู้ตัวจำนวนมาก
รายงานผลการสำรวจของ UNDP ปี 2019 ยังพบอีกว่า เกือบ 1 ใน 6 ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยพยายามฆ่าตัวตาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุระหว่าง 18-24 ปีที่ไม่ได้รับการยอมรับและถูกเลือกปฏิบัติจากคนในครอบครัว เป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตายสูงสุด และ ร้อยละ 47.5 ของผู้มีความหลากหลายทางเพศเคยถูกเลือกปฏิบัติรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งจากคนในครอบครัว โดยรูปแบบที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือการถูกบอกกล่าวให้ “ระมัดระวังเรื่องรูปลักษณ์ภายนอก หรือวิธีการพูดและการวางตัว”
ผมเชื่อว่าเราทุกคนสามารถสร้างสังคมใหม่ร่วมกันที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และไม่มองว่าเป็นเรื่องที่ผิดปกติ แต่เป็นเรื่องความธรรมดา เป็นความหลากหลายที่งดงาม ขอชวนเชิญให้พ่อแม่ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเป็น LGBTQ+ ได้ทำความเข้าใจ เปิดใจเรียนรู้และรับรู้ข้อมูลใหม่ เพราะโลกทุกวันนี้เคลื่อนไปเร็วมาก คุณอาจประหลาดใจที่ได้เห็นว่าชีวิตที่ได้เป็นตัวเองและมีความสุขจะสามารถช่วยให้ลูกหลานสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้กับโลกนี้ได้อีกมากมาย ทุกอย่างสามารถเริ่มต้นได้ที่ความรัก ความเอาใจใส่จากคนในครอบครัว ที่จะเป็นบ้านอบอุ่นปลอดภัยสำหรับลูกเสมอ
เมื่อรากฐานทางใจมั่นคง เขาจะเติบโตสวยงามเป็นเอกลักษณ์เหมือนกับธงสีรุ้งที่โบกสะบัดอย่างเสรีในทุกวัน ไม่ใช่แค่เดือนแห่งความภาคภูมิใจ Pride Month ผมไม่อยากให้รุ่นน้องๆ ต้องรอนานอย่างผม ที่กว่าจะมีความสุขเมื่อได้ใช้ชีวิตในร่างกายที่ตรงกับจิตใจของผมหลังจากรอมานานกว่ายี่สิบปีนะครับ