จากงานศึกษาพบว่า ‘วิธีการลงโทษโดยการตีของพ่อแม่’ จะใช้ได้ผลในระยะสั้นเท่านั้น แต่ระยะยาวกลับส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมและสภาพจิตใจของเด็ก ผลเสียคือเพิ่มความขัดแย้ง ขุ่นเคืองใจ และปิดกั้นการเรียนรู้
ซึ่งการลงโทษแบบนี้ ไม่ต่างจากผลที่เกิดกับเด็กที่ถูกทำร้ายร่างกายซ้ำๆ จะกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านและตอบโต้ เชื่อมโยงไปสู่กลไกการป้องกันตัว ยังไม่รวมความรู้สึกอับอาย ความโกรธ อาจนำไปสู่การหาวิธีการไม่ให้ถูกจับได้ ดังนั้นหากพ่อแม่ใช้ความรุนแรงลงโทษลูก จะส่งผลให้ลูกมีความก้าวร้าวและขาดความยับยั้งชั่งใจ
อย่างไรก็ตาม พ่อแม่บางคนอาจหลีกเลี่ยงวิธีลงโทษโดยการตีมาเป็น ‘การนิ่งเงียบ เฉยชา ไม่พูดไม่จา ไม่แสดงอารมณ์’ เมื่อลูกกระทำความผิด ซึ่งจะยิ่งผลให้ลูกยิ่งไม่ร่าเริง เก็บกด และขาดความอบอุ่น เนื่องจากภาวะดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดการสื่อสารระหว่างกัน
ท้ายที่สุดย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ในครอบครัว ทำให้ลูกไม่กล้าพูดคุยอย่างเปิดเผยกับพ่อแม่ นอกจากนี้ยังกระทบต่อพัฒนาการและการแสดงออกทางอารมณ์ของลูกด้วย
แล้วถ้าไม่ตี-ไม่เงียบ จะมีวิธีเข้าใจลูก ได้อย่างไร ?
พ่อแม่ทำได้ง่ายๆ โดย 4 วิธี ดังนี้
1. มองให้ลึกถึงสาเหตุที่แท้จริง
2. กระตุ้นแทนให้รางวัล เพราะแรงจูงใจเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องสร้างแรงจูงใจอย่างถูกต้อง
3. ‘ช่วย’ แทนที่จะ ‘ลงโทษ’ เพราะพ่อแม่สามารถวางข้อตกลงและแนะนำลูกได้ โดยไม่จำเป็นต้องลงโทษ
4. เป็นทีมเดียวกันกับลูก