Skip to content
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
  • Creative Learning
    Everyone can be an EducatorUnique TeacherCreative learningLife Long LearningUnique School
  • Family
    Early childhoodHow to get along with teenagerอ่านความรู้จากบ้านอื่นFamily PsychologyDear Parents
  • Knowledge
    Growth & Fixed MindsetGritEF (executive function)Adolescent BrainTransformative learningCharacter building21st Century skillsEducation trendLearning Theory
  • Life
    Life classroomHealing the traumaRelationshipHow to enjoy lifeMyth/Life/Crisis
  • Voice of New Gen
  • Playground
    SpaceBookMovie
  • Social Issues
    Social Issues
  • Podcasts
eco literacyการศึกษากลุ่มประเทศนอร์ดิกเทคนิคการสอนแบบแผนทางความสัมพันธ์ปม(trauma)Adolescent Brainโฮมสคูลมายาคติการเป็นแม่ชีวิตการทำงานความรู้สึกส่วนหนึ่งของการเรียนรู้การฟังและตั้งคำถามพัฒนาการgeneration gappublic spaceการสื่อสารอย่างสันติ(Nonviolent Communication)ไวรัสโคโรนา(โควิด-19)ปฐมวัยวัยรุ่น
Early childhood
3 May 2021

นิทานเรื่องนี้(ไม่)สอนให้รู้ว่า ep4: เรียนเรื่องรักจากนิทาน ‘เงือกน้อยผจญภัย’

เรื่อง รัชดา ธราภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • หากเงือกน้อยแอเรียลไม่ดื้อรั้นฝืนคำสั่งราชาแห่งมหาสมุทร เธอย่อมขาดโอกาสที่จะเผชิญโลกกว้าง ได้พบความท้าทายใหม่ๆ ที่เรียกร้องการคิดและตัดสินใจ
  • แอเรียลยอมแลกเสียงอันไพเราะที่ประทับในความทรงจำของเจ้าชายและเป็นจุดดีเด่นของตัวเอง กับเรียวขาที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้เจ้าชายก็เลยจำเธอไม่ได้ แล้วไปตกลงปลงใจกับหญิงอื่น แอเรียลจึงต้องสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง ทั้งคนที่รักและตัวตน
  • สิ่งที่เด็กควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ คือการประเมินความเป็นไปได้ของข้อเสนอต่างๆ รู้จักการปฏิเสธถ้าเห็นว่าเป็นจริงได้ยาก มองหาทางเลือก หรือมีวิธีการต่อรองเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในฝ่ายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

“แอเรียล” เงือกวัยใส พ่อของเธอซึ่งเป็นเจ้าสมุทรสั่งนักหนาว่าเธอและพี่สาวห้ามไปเที่ยวไหนไกล โดยเฉพาะแถวๆ เมืองมนุษย์ แต่แอเรียลไม่เชื่อ แอบหนีเที่ยวจนไปเจอเรือสำราญของเจ้าชายที่พายุพัดเรือจม 

เงือกน้อยช่วยเจ้าชายให้ขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย เธอร้องเพลงระหว่างรอให้คนมาช่วยเจ้าชายซึ่งนอนสลบที่ชายหาด แต่ก่อนที่ใครจะมาเห็นเข้า เธอก็รีบว่ายน้ำหลบไป เมื่อเจ้าชายได้สติ เขาจำได้ถึงเสียงเพลงแสนไพเราะ

แอเรียลหลงรักเจ้าชาย แม่มดปลาหมึกเลยหลอกล่อให้เธอแลกเสียงหวานๆ กับการเป็นมนุษย์ โดยตั้งเงื่อนไขว่าจะต้องทำให้เจ้าชายตกหลุมรักได้เธอถึงจะกลายเป็นมนุษย์แบบถาวร  ในการ์ตูนดิสนีย์ แอเรียลได้ครองรักกับเจ้าชาย แต่เวอร์ชันดั้งเดิมของ ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน เจ้าชายไปแต่งงานกับเจ้าหญิงอื่น เงือกน้อยพลาดหวัง ร่างสลายกลายเป็นฟองอากาศ 

ว่ากันว่า ในปี ค.ศ. 1805 ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน นักเขียนชาวเดนมาร์ก สร้างเงือกน้อยขึ้นจากปมชีวิตส่วนตัวที่ต้องเผชิญข้อกีดกันของครอบครัวและสังคมในประเด็นความรักของคนเพศเดียวกัน เมื่อพล็อตเรื่องมาถึงมือดิสนีย์ ทีมงานปรับโทนเรื่องให้สดใสขึ้นเพื่อตอบโจทย์แอนิเมชันซีรีส์เงือกน้อยแสนซนผจญภัย พร้อมผองเพื่อนสัตว์ทะเลน่ารักๆ 

ในมุมมองของ ‘หมอโอ๋ เจ้าของเพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน’ ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี นิทานเรื่องนี้มีหลากหลายแง่มุมที่สามารถชวนเด็กๆ ในช่วงวัยต่างๆ คุยและคิดเพื่อสร้างการเรียนรู้

นอกวังบาดาล คือชีวิตจริง

เป็นธรรมดา พ่อแม่ย่อมต้องการให้ลูกเชื่อฟัง ตั้งกรอบ และหวังให้ลูกอยู่ในกรอบอันอบอุ่นและปลอดภัย แต่หากเงือกน้อยแอเรียลไม่ดื้อรั้นฝืนคำสั่งราชาแห่งมหาสมุทร เธอย่อมขาดโอกาสที่จะเผชิญโลกกว้าง ได้พบความท้าทายใหม่ๆ ที่เรียกร้องการคิดและตัดสินใจ ค้นเจอความเป็นไปได้ คือความสุขสันต์ตามแบบฉบับดิสนีย์ หรือมีเคราะห์กรรมเป็นของตัวเองอย่างในนิทานแอนเดอร์เซน

นิทานเรื่องนี้ถือเป็นโอกาสของพ่อแม่ที่จะสื่อสารกับเด็กๆ ว่าถ้ามีสิ่งใดที่ลูกไม่เห็นด้วยกับพ่อแม่ ขอให้บอกความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตัวเองแบบตรงไปตรงมา อย่าแอบทำโดยปิดบังพ่อแม่ เพราะอาจทำให้ลูกต้องพบกับความเสี่ยงหรือเป็นอันตราย 

แต่จะพูดกับลูกแบบนี้ได้ พ่อแม่ต้องยอมรับก่อนว่าความคิดและกติกาของเราอาจไม่ถูกต้อง หรือใช้การได้ดีมีประสิทธิภาพเสมอไป บางครั้งความหวังดีอาจกลายเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้และเส้นทางที่ใช่สำหรับลูก รวมทั้งต้องเปิดใจด้วยว่า การเรียนรู้จากความผิดพลาดถือเป็นโอกาสสำคัญสำหรับการเติบโตของลูกด้วยเช่นกัน

แลกการเป็นตัวเองกับความรัก คุ้มค่าแค่ไหน

เราแต่ละคนมีข้อดีและข้อด้อยในตัวเองแตกต่างกันไป การที่แอเรียลเปลี่ยนแปลงตัวเองจากเงือกน้อยให้กลายเป็นมนุษย์ โดยหวังให้เจ้าชายผู้เป็นที่รักพึงพอใจ กลับทำให้ความสัมพันธ์วุ่นวายสลับซับซ้อน ทั้งที่จริงแล้ว ชีวิตน่าจะดีกว่านี้ถ้าเธอได้พบกับคนที่รักในสิ่งที่เธอเป็น ซึ่งถ้ามองแบบนี้แล้ว เงือกน้อยของแอนเดอร์เซนดูเหมือนจะให้ข้อคิดที่น่าสนใจกว่าชีวิตในความฝันของเวอร์ชันการ์ตูนดิสนีย์ 

เงือกน้อยในนิทานโบราณยอมแลกเสียงอันไพเราะเพราะพริ้งที่ประทับในความทรงจำของเจ้าชายและเป็นจุดดีเด่นของตัวเอง กับเรียวขาที่บ่งบอกถึงความเป็นมนุษย์ ทำให้ผลสุดท้าย เจ้าชายก็เลยจำเธอไม่ได้ แล้วไปตกลงปลงใจกับหญิงอื่น แอเรียลจึงต้องสูญสิ้นทุกสิ่งอย่าง ทั้งคนที่รักและตัวตน กลายเป็นแค่ฟองอากาศไร้ความหมายในท้องทะเลกว้างใหญ่

เพื่อนแท้ อยู่ด้วยกันเสมอ

เพื่อนแท้ คือคนที่ยอมรับเราเสมอ ไม่ว่าเราจะพลั้งพลาด ตกระกำลำบาก เพื่อนก็จะยื่นมือมาช่วยเหลือ เข้าใจ และให้กำลังใจ แอเรียลมีเพื่อนมากมายเป็นปลาปูในท้องทะเลที่คอยสนับสนุนเธอทุกทาง ไม่ว่าเธอจะมีหางเป็นปลาหรือมีขาเป็นมนุษย์ 

กระนั้น เพื่อนแท้ไม่สนับสนุนให้เพื่อนทำสิ่งไม่ดี ตรงกันข้าม ถ้าเห็นว่าเพื่อนกำลังทำไม่ดี เพื่อนที่ดีจะบอกอย่างตรงไปตรงมา และยืนยันว่าสิ่งที่เพื่อนทำนั้นไม่ถูกต้อง เพื่อนไม่เห็นด้วย แต่ในวันหนึ่งหากเพื่อนพลั้งพลาด เพื่อนก็พร้อมจะเข้าใจความเป็นมนุษย์ธรรมดาๆ ที่ย่อมมีวันที่ผิดพลาด เพื่อนจะให้อภัย และอยู่ข้างๆ เสมอ 

ในทางกลับกัน เราต้องรู้ว่าใครที่ไม่ใช่เพื่อน แอเรียลหลงกลแม่มดร้ายที่ให้เธอแลกสิ่งมีค่าคือเสียงไพเราะกับความเป็นมนุษย์ นั่นย่อมไม่ใช่มิตรภาพ เพื่อนที่ดีจะไม่ทำให้เพื่อนต้องแลกสิ่งที่มีความหมายต่อชีวิตกับอะไรอย่างอื่น

สัญญาเสียเปรียบ ต้องระวัง

ในเวอร์ชันของแอนเดอร์เซน เงือกน้อยทำข้อตกลงกับแม่มด ว่าจะทำให้เจ้าชายตกหลุมรักเพื่อแลกกับการได้เป็นมนุษย์ตลอดไป เธอก็ยังหลงเชื่อยอมแลกเสียงของตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เจ้าชายจำได้ กับการเป็นมนุษย์ผู้หญิงธรรมดาที่เจ้าชายไม่เคยรู้จัก ไม่มีความทรงจำอะไรด้วย นับว่าเป็นเดิมพันที่สูงเกินไป และแอเรียลเสียเปรียบเต็มประตู แต่เธอกลับยอมเสี่ยง เพราะมองว่าเป็นทางเดียวที่จะได้พบและครองรักกับเจ้าชาย 

สิ่งที่เด็กควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ คือการประเมินความเป็นไปได้ของข้อเสนอต่างๆ รู้จักการปฏิเสธถ้าเห็นว่าเป็นจริงได้ยาก มองหาทางเลือก หรือมีวิธีการต่อรองเพื่อไม่ให้ตัวเองต้องตกอยู่ในฝ่ายที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ

การชวนคุยด้วยเรื่องราวจากนิทาน คือการฝึกให้เด็กได้คิดด้วยเหตุและผล  ในความเป็นจริง ความรักเป็นเรื่องของทั้งเหตุผลและอารมณ์ความรู้สึก โดยเฉพาะในวันที่พวกเขาเติบโตเป็นวัยรุ่น และอารมณ์เป็นใหญ่ กระนั้น การให้เด็กได้มีโอกาสทดลองความคิดและฝึกการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล วันหนึ่งข้างหน้า หากเขาต้องเผชิญกับสถานการณ์ท้าทายและอยู่ในจังหวะเวลาที่สูญเสียความเป็นตัวของตัวเอง อย่างน้อยก็มีเรื่องราวที่อาจย้ำเตือนความทรงจำ และเป็นตัวช่วยให้พ้นจากความสับสนอลม่านได้บ้างก็เป็นได้

แนวคำถามชวนลูกคิด

สำหรับเด็กเล็ก:

  • ถ้าลูกเป็นแอเรียลจะยอมแลกเสียงกับขาไหม ลูกว่ามันเป็นการแลกที่คุ้มค่าหรือไม่ เพราะอะไร? 

สำหรับเด็กโตขึ้นมาหน่อย: 

  • ถ้าลูกเป็นแอเรียล แล้วอยากทำอะไรที่พ่อแม่ไม่เห็นด้วย ลูกจะทำอย่างไร ความรักที่ต้องทำให้เราสูญเสียบางอย่างที่เป็นตัวเอง ลูกคิดว่ามันคุ้มค่าไหม เพราะอะไร 
  • ลูกว่าทำไมดิสนีย์ถึงปรับเนื้อเรื่องให้ต่างไปจากต้นฉบับเดิม ลูกชอบเงือกน้อยจบแบบไหนมากกว่ากัน เพราะอะไร 

Tags:

เลี้ยงลูกด้วยนิทานนิทานเรื่องนี้ (ไม่) สอนให้รู้ว่าLittle Mermaidพญ.จิราภรณ์ อรุณากูรความรัก

Author:

illustrator

รัชดา ธราภาค

อดีตนักเรียนรัฐศาสตร์ ฝ่าคลื่นลมในงานสื่อสารมวลชน ตั้งแต่ยุคแอนะล็อก จนถึงการสร้างงาน Interactive Story บนมือถือ ด้วยจุดยืนที่ย้ายได้ในทุกแพลตฟอร์มการสื่อสาร เพื่อส่งผ่านสาระประโยชน์สู่ผู้รับ

Illustrator:

illustrator

ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

Related Posts

  • How to enjoy lifeRelationship
    ความรักคืออะไร: รู้จัก เข้าใจ และรักใครสักคน

    เรื่อง ชัค ชัชพงศ์ ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Early childhood
    นิทานเรื่องนี้(ไม่)สอนให้รู้ว่า ep3 : เรียนรู้โลกสีเทาจากนิทานขาว-ดำ ‘ฮันเซลกับเกรเทล’

    เรื่อง รัชดา ธราภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Early childhood
    นิทานเรื่องนี้(ไม่)สอนให้รู้ว่า ep2 : ส่องความงาม-ความดีในนิทาน ‘สโนไวท์’

    เรื่อง รัชดา ธราภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Early childhood
    ข้อคิดสะกิดใจในนิทาน ‘ซินเดอเรลลา’ สาวน้อยผู้ไม่เคยหยุดฝันและไม่ลังเลที่จะยืนยันสิทธิของตัวเอง

    เรื่อง รัชดา ธราภาค ภาพ ภาณุพงศ์ สุวรรณจุฑามณี

  • Relationship
    เหมือนดูเย็นชา แต่ใช่ว่าไม่รัก

    เรื่อง พงศ์มนัส บุศยประทีป ภาพ ณัฐวัตร์ สุพรรณกูล

  • Creative Learning
  • Life
  • Family
  • Voice of New Gen
  • Knowledge
  • Playground
  • Social Issues
  • Podcasts

HOME

มูลนิธิสยามกัมมาจล

ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

เลขที่ 19 เเขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900

Cleantalk Pixel