- บทความนี้เป็นการเล่าสู่กันฟัง จากประสบการณ์เฉพาะครอบครัวของผู้เขียน ช่วยขยายความเข้าใจว่าเมื่อพ่อแม่ไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียนเรียน พวกเขามีการเรียนรู้อย่างไร เพราะการไม่ไปโรงเรียนไม่ได้แปลว่าไม่เรียนรู้
- การเล่นกับนิทานเป็นสองอย่างที่สำคัญกับวัยอนุบาล เพราะการได้เล่นอย่างเต็มที่คือการเตรียมพร้อม ของสมอง ของกล้ามเนื้อ ของอารมณ์ ของการเข้าสังคม เพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ในวัยประถม
- “12 ปีที่เลี้ยงลูกโดยไม่ส่งไปโรงเรียนทำให้แต่ละวันของทั้งเราและลูกหมดไปอย่างรวดเร็ว มีกิจกรรมทำมากมาย สำคัญที่สุดคือทุกกิจกรรมเป็นกิจกรรมที่ทำให้ลูกมีความสุข เป็นกิจกรรมที่ลูกสนใจ”
สารพัดคำถามจะประเดประดังเข้ามา เมื่อตัดสินใจเด็ดขาดว่า “จะไม่ส่งลูกเข้าโรงเรียน” หรือ ถ้าจะเรียกอีกอย่างคือ ให้ลูกเรียนแบบ Home School นั่นเอง นอกจากคำถามข้างบนแล้ว พ่อแม่ที่ไม่ส่งลูกไปโรงเรียนมักจะถูกตั้งคำถามบ่อยๆ คือ
ไม่ไปโรงเรียนแล้วจะไม่โง่เหรอ
ไม่ไปโรงเรียนแล้วจะมีสังคมได้อย่างไร
ไม่ไปโรงเรียนแล้ว วันวัน จะทำอะไร
ฯลฯ
ตลอด 12 ปีที่เลี้ยงลูกเอง นอกจากไม่เอาไปฝากย่ายายแล้ว ก็ยังไม่เอาไปฝากเนิร์สเซอรี ไม่เอาไปฝากอนุบาล และไม่เอาไปฝากครูที่โรงเรียนด้วย ซึ่งพบว่า “วันวันหนึ่ง เด็กมีอะไรทำมากมาย” มากจนเวลาทั้งวันก็แทบจะไม่พอ งั้นลองมาดูกันก่อนว่า เมื่อเด็กไม่ไปโรงเรียนแล้ว… วันวัน ทำอะไร?
สิ่งที่จะเล่าสู่กันฟังนี้ต้องบอกก่อนว่า เป็นประสบการณ์เฉพาะครอบครัวล้วนๆ สิ่งที่ครอบครัวเราทำไม่ได้แปลว่าจะดีที่สุด และไม่ได้หมายความว่าจะเหมาะกับอีกครอบครัวหนึ่ง และยังไม่ได้เท่ากับว่าถ้าเราทำได้แล้วคนอื่นต้องทำได้ด้วย ไม่ใช่และไม่จริง เพราะแต่ละครอบครัวมีปัจจัยและเงื่อนไขที่แตกต่างกัน
เรามีโอกาสได้พูดคุยกับพ่อแม่หลายคนที่ไม่อยากให้ลูกไปโรงเรียน แต่เงื่อนไขหลายอย่างก็ทำให้ทำ Home School ไม่ได้ เราเข้าใจเงื่อนไขเหล่านั้นดี ไม่ว่ากัน แต่การเรียนรู้แบ่งปันกันจะทำให้เรานำบางอย่างไปปรับ นำไปประยุกต์ให้เข้ากับเงื่อนไขของตัวเองได้ ถ้าคิดว่าสิ่งนี้มันดี
เราเป็นครอบครัวนักกิจกรรมและทำกิจกรรมสำหรับเด็กอยู่แล้ว งานของเราคือการคิด สร้างสรรค์กิจกรรมสารพัดแบบมาให้ลูกหลานของใครก็ได้ ได้มาสนุกด้วยกัน ได้เรียนรู้และมีพัฒนาการตามวัย เพราะฉะนั้นเมื่อตัดสินใจทำ Home School กับลูก สำหรับเราจึงไม่ใช่เรื่องยากที่จะหากิจกรรมให้ลูกทำ เพื่อให้เห็นภาพชัดขึ้น เราขอแยกช่วงวัยของลูกออกเป็น 3 ช่วง แบบนี้นะคะ เพราะแต่ละช่วงไม่เหมือนกัน คือ
- ช่วง 4-6 ขวบ คือช่วงที่ส่งไปเข้าอนุบาล
ช่วงแรกเกิดจนถึงช่วงอนุบาล เป็นช่วงที่พ่อแม่ทุกคนทราบดีว่าเป็นช่วงวัยทองของสมอง ช่วงนี้เป็นช่วงวางพื้นฐานสำคัญให้ลูก อยากให้ลูกเติบโตมาอย่างไรช่วงนี้ มีส่วนสำคัญมาก การเล่นกับลูก การใช้เวลาคุณภาพกับลูกจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
- ช่วง 7-9 ขวบ ช่วงประถมต้น
ช่วงวัยนี้เป็นวัยที่เริ่มต้องเรียนรู้การเข้าสังคม เริ่มต้องมีเพื่อนบ้างแล้ว การเล่น หรือกิจกรรมต่างๆ กับลูกก็สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่วิชาการต่างๆ ได้ ทั้ง บวก ลบ อ่าน เขียน เพื่อเป็นฐานทางวิชาการให้ลูก แต่จะมากน้อยขนาดไหนขึ้นอยู่กับแต่ละครอบครัว แต่ยังไงก็ยังต้องผ่านกิจกรรมที่ลูกสนใจ
- ช่วง 10-12 ขวบ ช่วงประถมปลายที่พวกเขาเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น
ช่วงวัยนี้ การจัดการเรียนรู้เริ่มมาจากลูกมากกว่าครึ่ง เพราะเขาจะมีความเป็นตัวเองชัดขึ้น เขาจะบอกเองว่าสนใจอะไร อยากเรียนรู้อะไร บางเรื่องก็สนใจแนวลึก ใช้เวลานาน บางเรื่องก็สนใจแป๊บๆ พ่อแม่ทำหน้าคอยกำกับทิศทาง อย่าให้หลุด อย่าให้หลงทางมากเกินไป
4-6 ขวบ ส่งไปเข้าเรียนอนุบาล
สำหรับช่วงวัยอนุบาล ในทางกฎหมายแล้วเป็นช่วงวัยที่ไม่ได้บังคับให้ต้องเข้าโรงเรียน ความจริงแล้วจะไม่ส่งเข้าอนุบาลก็ไม่ผิดกฎหมาย หากเป็นบ้านเรียนยังไม่ต้องจดทะเบียนก็ได้ ไม่เป็นไร แต่ที่ต้องมีห้องเรียนอนุบาลนั่นเพราะว่าเป็นเงื่อนไขของครอบครัวมากกว่า คือ หนึ่ง-ครอบครัวต้องทำมาหากิน ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก กับ สอง-ไม่รู้จะเล่นอะไรกับลูก ไม่รู้จะเลี้ยงดูอย่างไร
แต่ความจริงแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่เด็กต้องการพ่อแม่มากที่สุด การที่ได้อยู่กับคนที่รัก ลูกจะรู้สึกมั่นคง รู้สึกปลอดภัย การรู้สึกปลอดภัยจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการส่งผลต่อชีวิตในอนาคตข้างหน้า ต่างกับการต้องรีบปรับตัวเพื่อให้เข้ากับสภาพแวดล้อมแปลกหน้าในห้องเรียนอนุบาลทั้งที่ยังไม่พร้อม
สำหรับเราแล้ว ช่วงนี้เป็นช่วงที่พ่อแม่ควรใช้เวลากับลูก เล่นกับลูกให้มากที่สุด เล่น เล่น เล่น ให้เต็มที่ เพื่อให้พร้อมทั้งจิตใจ และร่างกาย
แล้ววันวัน เล่นอะไรบ้าง?
วัยนี้เป็นวัยที่เล่นด้วยง่ายมาก อะไรก็ได้ขอแค่มีเวลาเล่นกับเขา การเล่นของเด็กวัยนี้คือการเล่นเพื่อให้เกิดจินตนาการ เด็กต่างมีวิธีเล่นของตัวเอง ยังไม่ปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมากนัก เราจึงมักเห็นเด็กวัยนี้เล่นบนกองทรายเดียวกัน แต่เล่นกันคนละเรื่องไม่เกี่ยวกัน
พ่อแม่จึงทำหน้าที่แค่เป็นผู้อำนวยการเล่นให้มีพื้นที่เล่นที่ปลอดภัย อยู่ข้างๆ เขา บางครั้งก็ร่วมเล่น บางครั้งก็ถอยห่าง
สำหรับครอบครัวเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก เราจึงสรรหาของเล่นกันสารพัด และโดยส่วนใหญ่การเล่นเหล่านั้นก็อยู่ในงานของเราอยู่แล้ว จึงไม่ใช่เรื่องยาก
เล่น และ เล่านิทาน
เล่น กับ นิทาน เป็น 2 อย่างที่สำคัญกับวัยนี้มาก เราอ่านนิทานกันทุกวัน (จริงๆ อ่านตั้งแต่ 4 เดือนในท้อง) อ่านอะไร อ่านอย่างไร ค่อยว่ากันอีกตอน แต่อ่านทุกวันและถือเป็นกิจกรรมหนึ่งในการส่งเสริมพัฒนาการของลูกในวัยนี้ จะอ่านก่อนนอน อ่านตอนเช้า ตอนบ่ายแล้วแต่สะดวก ของเราอ่านเรื่อยๆ แต่ที่เป็นประจำคือ ก่อนนอนทั้งตอนหัวค่ำและตอนกลางวัน ให้ลูกนั่งตักเปิดทีละหน้าอ่านให้ฟัง หรือจะนอนด้วยกัน เปิดทีละหน้าและอ่านเสียงดังฟังชัด แต่แฝงความรักอยู่ในนั้น รับรองคุ้มค่า
แต่เวลาที่สำคัญสำหรับวัยนี้คือ ช่วงเช้าที่เราจะได้เล่นด้วยกัน เล่นในชีวิตประจำวัน เช่น ทำกับข้าวง่ายๆ ด้วยกัน ด้วยการช่วยหยิบจับส่งของให้ เล่นกับหน้าที่การงานของพ่อแม่ เราทำอะไรลูกก็อยู่ด้วย เรากวาดบ้านก็ต้องมีไม้กวาดอันเล็กให้ลูกด้วย ระบายสีด้วยกัน หากระดาษแผ่นใหญ่ๆ สีแท่งใหญ่ๆ ละเลงสีกันโดยไม่ต้องตีกรอบ ทำไมต้องใหญ่? เพราะกล้ามเนื้อมือยังไม่แข็งแรงพอที่จะจับสีแท่งปกติ และยังไม่สามารถบังคับให้อยู่ในกรอบได้ จึงต้องให้เขาละเลงอย่างอิสระเพื่อฝึกกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้งานของเราสามารถเลี้ยงลูกไปด้วยได้ ไปทำกิจกรรมกับเด็ก ลูกก็เป็นเด็กคนหนึ่งที่ร่วมกิจกรรม เล่นกับของรอบตัว เล่นน้ำ เล่นฟอง เล่นดิน เล่นทราย บ้านใครทำสวนก็เอาลูกเข้าสวนไปด้วยได้ นั่นคือโลกใหม่ของลูกทั้งหมด หรือจะซื้อของเล่นส่งเสริมพัฒนาการมาเล่นกับลูกก็ไม่ผิด นี่เป็นเพียงแค่ครึ่งวัน พอตกบ่ายก็นอน เราต้องสร้างนิสัยการนอนให้ลูกให้ได้ด้วยนะ เพราะนั่นคือช่วงเวลาที่ดีของสมองลูก (และของเราด้วย ฮ่าๆ)
สิ่งที่เราจะเห็นได้ชัดเจนมากเมื่อเราให้เวลาในการอ่านนิทานกับลูก เล่นกับลูก และทำโน่นนี่กับลูกในช่วงวัยนี้มากพอ อย่างแรกคือ การปรับตัวเข้ากับสังคมได้อย่างไม่เป็นปัญหา ลูกสามารถเล่นสนุกได้กับคนทุกวัย ไม่มีอาการตื่นคน เมื่อเล่นกับน้องก็ดูแลได้ พอเล่นกับพี่ก็มีอาการอ้อนพี่ เพราะรู้ว่าทำได้ เมื่อไปร่วมกิจกรรมต่างๆ ลูกไม่เคยที่จะไม่เข้าร่วม ไปร่วมกิจกรรมกับพี่ๆ ได้สบายๆ โดยไม่งอแงติดพ่อแม่ โดยไม่ต้องดันหลัง เพราะเขารู้ว่าเมื่อเขาเลิกเล่นกลับมาเขาก็เจอเราเสมอ
การอ่านนิทานช่วยปลูกฝังนิสัยรักการอ่านได้เป็นอย่างดี อันนี้เห็นผลชัดเจนจนวัยรุ่นเลย และน่าจะตลอดชีวิต นอกจากนี้การอ่านยังช่วยเพิ่มทักษะการอ่านออกได้อย่างเป็นธรรมชาติ ลูกสามารถอ่านหนังสือออกตั้งแต่ 7 ขวบกว่า โดยไม่เคยฝึกสะกดคำแบบในโรงเรียน แต่อ่านออกจากการจดจำ จนวันหนึ่งความอยากอ่านที่เพิ่มมากขึ้นทำให้เขาขอให้เราฝึกเขาสะกดคำให้มากขึ้น เพื่อจะได้อ่านหนังสือเล่มที่ยากขึ้นได้ด้วยตัวเอง เขาอ่านออกเร็วเพราะความอยากอ่าน ไม่ใช่ถูกบังคับให้อ่านออกเร็ว อันนี้เป็นสิ่งที่เห็นชัดเจน อีกอย่างคือพัฒนาการทางร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อมือที่พร้อมจะจับดินสอเขียนหนังสือโดยไม่ต้องบังคับให้ฝึกเขียนทั้งที่กล้ามเนื้อยังไม่พร้อม
การได้เล่นอย่างเต็มที่ในช่วงวัยนี้ คือภาระหน้าที่สำคัญของเด็ก การได้เล่นอย่างเต็มที่ในวัยนี้คือการเตรียมพร้อม ของสมอง ของกล้ามเนื้อ ของอารมณ์ ของการเข้าสังคม เพื่อเข้าสู่การเรียนรู้ในวัยประถม
ถ้าลูกต้องเข้าโรงเรียนเขาก็จะเข้าเรียนประถมอย่างคนที่มีความพร้อม และสำหรับเด็กที่ไม่ไปโรงเรียน ก็เป็นช่วงวัยที่เขาก็พร้อมที่จะเรียนรู้มากขึ้นกว่าเดิมแล้ว วัยนี้จึงไม่ใช่วัยที่จะเอาเขาไปจับดินสอเขียนตามเส้นประ เพราะกล้ามเนื้อมือเขายังไม่แข็งแรง ยังไม่ถึงเวลา ฉะนั้นการสนับสนุนให้เด็กได้เล่น ได้ทำหน้าที่ของเขา ก็คือภาระของผู้ใหญ่ด้วย
วัยประถมต้น 7-9 ขวบ
วัยประถมต้น 7-9 ขวบ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยประถม จริงๆ กิจกรรมที่เราทำกับลูกแต่ละวันก็ยังเหมือนเดิม คืออ่านนิทาน หาของเล่นมาเล่นกัน แต่การเล่นของเด็กวัยนี้เริ่มต่างจากเดิม เริ่มสนใจที่จะเล่นกับเพื่อน รอเพื่อนกลับมา เล่นสร้างบ้าน เล่นบทบาทสมมุติ เราสามารถสอนคณิตศาสตร์กับลูกผ่านการเล่นได้ เช่น การเอาจิ๊กซอว์ (อย่างอื่นก็ได้ที่เป็นของเล่น) มานับ นับเป็นกองเท่ากัน เอามารวมกัน แยกออกจากกอง อะไรแบบนี้ก็ช่วยให้ลูกเข้าใจความหมายของการบวก ลบ คูณ หารได้ไม่ยากเลย เล่นเทถั่ว เททราย เข้าใจเรื่องน้ำหนัก เล่นแบบทำจริง เช่นการทำอาหารด้วยกัน คำนวณปริมาณวัตถุดิบง่ายๆ ก็ได้คณิตศาสตร์แล้ว
เราให้ลูกเรียนภาษาไทยผ่านการอ่านนิทาน เรียนคณิตศาสตร์ผ่านการเล่น เรียนศิลปะในงานของพ่อแม่ และเริ่มไปเรียนกับครูในสิ่งที่เขาสนใจเพิ่มขึ้น ซึ่งการไปเรียนกับครูก็แค่สัปดาห์ละ 3-4 ชั่วโมงเท่านั้นและมักเป็นช่วงบ่าย เพราะช่วงเช้าเป็นเวลาที่เขาต้องทำกิจรรมกับครอบครัวเหมือนเดิม สำหรับครอบครัวเราเรียนแค่ 3 อย่างคือ เปียโน ศิลปะ และภาษาอังกฤษ แต่หากบ้านไหนพ่อแม่เก่งภาษาอังกฤษอยู่แล้วก็คุยภาษาอังกฤษกับลูกไปได้เลย ไม่ต้องไปเรียนก็ได้ แต่ถ้าเราไม่เก่งพอก็ให้ครูช่วยได้
เมื่อลูกเริ่มอ่านคล่อง เขียนได้ (สำหรับลูกเรานั้นอ่านคล่องตั้งแต่ 7 ขวบกว่าๆ แต่เป็นความคล่องที่มาจากการอ่านเยอะ ไม่ได้มาจากการผสมสระแต่อย่างใด เพราะฉะนั้นเขาจะยังเขียนไม่คล่อง) วิถีชีวิตของลูกก็จะขลุกอยู่กับการอ่านมากขึ้น ขยับจากการอ่านนิทานมาเป็นวรรณกรรม ช่วงนี้แหละที่ลูกจะเริ่มขอให้สอนผสมสระ เพราะอยากอ่านคำยากๆ ในวรรณกรรมได้ด้วยตัวเอง ช่วงนี้สิ่งที่เราทำคือการกำหนดให้เขามีกิจวัตรประจำ
เช่น เมื่อจัดการชีวิตประจำวันเสร็จแล้วต้องเขียนบันทึกทุกวัน ทำแบบฝึกหัด ซึ่งก็เป็นแบบฝึกหัดที่หาซื้อจากร้านหนังสือทั่วไป เพียงแต่เลือกความยากง่ายให้เหมาะกับลูกของเรา ไม่ง่ายเกินไปจนลูกรู้สึกไม่ท้าทาย หรือยากเกินไปจนท้อ แบบฝึกหัดพวกนี้จะช่วยเสริมวิชาการบางอย่างที่กระทรวงต้องการ แต่อาจไม่ได้จำเป็นในชีวิตมากนัก ซ้อมดนตรี หรือจะวาดภาพก็ได้ กิจกรรมเหล่านี้ทำในช่วงเช้า
ช่วงบ่ายเป็นช่วงไปเรียนกับครูหรือไปว่ายน้ำ แต่ถ้าวันไหนไม่เรียนกับครูก็เป็นช่วง free time ซึ่งเขาจะเล่นกับเพื่อน (ตอนเย็นเพื่อนๆ กลับจากโรงเรียน) หรือจะดูหนังก็ได้ ช่วงนี้เริ่มทำตารางกิจวัตรประจำวันให้เขาทำได้แล้ว แม้จะเป็นเด็กไม่ไปโรงเรียนแต่ก็ต้องมีหน้าที่รับผิดชอบที่ต้องทำประจำด้วยเช่นกัน อ๋อ… หากแบ่งงานบ้านง่ายๆ ให้เขาทำเป็นกิจวัตรด้วยจะดีมาก เช่น กวาดระเบียงบ้านทุกเช้า เก็บห้องเล่นของตัวเอง ให้อาหารแมว เป็นต้น แค่นี้ก็หมดวันแล้ว บางวันเวลาไม่พอด้วยซ้ำ มีอะไรให้ทำอีกมาก
ช่วงนี้จะเริ่มเห็นตัวตนบางอย่างของลูกชัดเจนขึ้น เช่น เป็นคนประนีประนอม หรือเป็นคนชน ยอมหัก ไม่ยอมงอ เป็นต้น ลูกจะเรียนรู้ว่าถ้าเจอเพื่อนแบบนี้ต้องมีปฏิสัมพันธ์แบบไหนถึงจะเล่นกันได้โดยไม่ทะเลาะกัน วิเคราะห์ประเมินเพื่อนที่เล่นด้วยให้ฟังบ่อยๆ เราก็แค่ฟังและถามต่อเพื่อให้เห็นวิธีคิดของลูก สนุกดี
ส่วนเรื่องทักษะการอ่านจะยิ่งชัดเจนขึ้น เปลี่ยนจากการฟังหรืออ่านนิทานมาเป็นวรรณกรรมเด็ก ไม่ติดรูปภาพแล้ว แต่สนใจเนื้อเรื่อง ฟังได้ยาวๆ ช่วงที่อ่านเองได้ก็อ่านวรรณกรรมไทยเรื่องยาวๆได้ อยู่กับหนังสือได้ทีละหลายชั่วโมง จนต้องให้พักมาทำอย่างอื่นบ้าง การอ่านทำให้มีสมาธิ ส่งผลให้เวลาเรียนศิลปะ หรือดนตรี ซึ่งต้องใช้สมาธิเช่นกันจึงไม่ใช่ปัญหาสำหรับเขา
ส่วนผลจากการเล่นจากการทำกิจกรรมด้วยกันก็จะเห็นชัดขึ้น เมื่อลูกขอไปเรียนคณิตศาสตร์กับครู
“คุณแม่ทำยังไงลูกถึงเข้าใจคอนเซ็ปต์คณิตศาสตร์ครับ ผมสอนเด็กๆ สิ่งที่ยากคือ เด็กไม่เข้าใจคอนเซ็ปต์ แต่น้องเข้าใจ ที่เหลือคือทักษะ แค่ทำแบบฝึกหัดบ่อยๆ ก็เพียงพอแล้วครับ” สิ่งที่ครูสะท้อน ย้ำภาพการเล่นเทถั่ว การเล่นแบ่งจิ๊กซอว์เป็นกอง กองละเท่าๆ กัน เหล่านี้เป็นการทำความเข้าใจคอนเซ็ปต์คณิตศาตร์แบบไม่รู้ตัว
วัยประถมปลาย 10-12 ขวบ
ช่วงนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก
วัยประถมปลาย 10-12 ขวบ ช่วงนี้จะว่าง่ายก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เพราะเป็นช่วงที่ตารางเวลาต่างๆ ต้องมาจากความสนใจของเขาเป็นหลัก เราอยากให้ทำก็ไม่ได้หมายความเขาจะสนใจ จึงเป็นช่วงที่เราต้องพูดคุยกันเยอะ เพราะเขาก็มีความเป็นตัวเองชัดเจนขึ้น กิจวัตรในแต่ละวันสำหรับเด็กที่ไม่ไปโรงเรียนก็ยังคงไว้ที่ช่วงเช้าเหมือนเดิม คือดูแลตัวเอง ทำงานบ้าน แล้วทำงานตัวเอง ทำแบบฝึกหัดมากขึ้น แบบฝึกหัดก็ต้องยากขึ้นตามช่วงวัย บันทึกสิ่งที่เรียนรู้มา หรือกำหนดหัวข้อในการเรียนรู้ หากมีการบ้าน เช่น ซ้อมดนตรี วาดภาพ หรือภาษาอังกฤษ ก็ทำในช่วงนี้
ช่วงบ่ายไปเรียนกับครู กลับมาเล่นกับเพื่อนตอนเย็น ช่วงค่ำต้องอ่านหนังสือ อ่านภาษาอังกฤษกันก่อนนอน หรือบางวันเด็กก็จะมีเรื่องที่ตัวเองสนใจอยากทำก็ใช้เวลาทั้งวันในการหาข้อมูลลงมือทำสิ่งเหล่านั้นได้ ใช้อินเทอร์เน็ตได้ เพราะช่วงนี้เขาก็เริ่มใช้เทคโนโลยีเพื่อความบันเทิงเป็นแล้ว นี่ก็เป็นอีกเงื่อนไขหนึ่งที่เราต้องเหน็ดเหนื่อยกับการให้เขาจัดการเวลาให้ลงตัว ลงตัวบ้าง ไม่ลงตัวบ้าง แต่ละครอบครัวก็หาสารพัดวิธีเพื่อสิ่งนี้
ช่วงวัยนี้เขาก็เริ่มไปทำงานกับพ่อแม่แบบรับผิดชอบงานเต็มตัวได้แล้ว เพราะฉะนั้นบางช่วงที่เขาไปทำงานด้วยได้ก็ใช้โอกาสแบบนี้ให้ลูกเรียนรู้และฝึกความรับผิดชอบฝึกความอดทนได้เลย วัยนี้พ่อแม่จึงไม่ใช่ผู้ออกแบบกิจกรรมแล้ว ลูกจะเป็นคนกำหนดกิจกรรม แต่พ่อแม่ทำหน้าที่ช่วยดู เติมและเตือนให้ทำตามกิจกรรมที่วางไว้ ที่ว่าง่ายก็ตรงนี้ และยากก็ตรงนี้อีกเช่นกัน
เมื่อถึงช่วงวัยนี้ เราจะเห็นชัดแล้วว่าลูกเป็นคนแบบไหน ชอบอะไร สำหรับลูก เราเห็นชัดว่าถ้าเป็นเรื่องที่ชอบจะสู้ไม่ถอย มีทักษะในการหาข้อมูลที่หลากหลาย และมีความกล้ามาก เช่น กล้าเดินทางด้วยรถไฟฟ้าคนเดียวตอนอายุ 12 กล้าที่จะไปใช้ชีวิตที่ต่างประเทศระยะสั้นๆ กับเพื่อน โดยผ่านความคิดถึงบ้านได้ สิ่งเหล่านี้น่าจะมีผลจากที่เราทำให้เขามั่นใจมาตลอดว่าเราอยู่กับเขาเสมอ ไม่เคยผลักดันให้ทำในสิ่งที่ไม่ชอบหรืออึดอัดใจ
ไม่ไปโรงเรียนไม่ได้แปลว่า ไม่เรียนรู้
ส่วนคำถามอื่นๆ “ไม่ไปโรงเรียนจะโง่ไหม” เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้คงได้คำตอบแล้วว่า โง่ หรือ ไม่โง่ การไม่เข้าไปนั่งเรียนในห้องสี่เหลี่ยมวันละ 8 ชั่วโมงไม่ได้แปลว่าไม่ได้เรียนรู้อะไร ไม่ได้แปลว่าอยู่เฉยๆ ในทางกลับกันการไปนั่งอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมทุกวันจันทร์ถึงศุกร์ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดความรู้หรือไม่รู้ โง่หรือฉลาดของเด็ก
เด็กบางคนฝึกอ่านฝึกเขียนตั้งแต่ 4 ขวบ อ่านคล่องตั้งแต่ไม่เข้าประถม 1 แต่ไม่มีทักษะสนใจใฝ่รู้ที่จะอ่าน ที่จะเขียน แล้วจะอ่านออกเร็วไปเพื่ออะไร เด็กบางคนอ่านออกช้ามากแต่พออ่านได้กลายเป็นหนอนหนังสือ สนใจใคร่รู้ อยากอ่าน อยากลงมือทำ เพราะเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกันเลย เราจะเอาความเก่งของอีกคนมาเปรียบเทียบกับอีกคนไม่ได้เลย การเรียนรู้แบบ Home School จึงเป็นการจัดการเรียนรู้เฉพาะบุคคล เฉพาะครอบครัวจริงๆ
โง่ หรือ ฉลาด ใครกันแน่เป็นคนถือมาตรวัด?
คำถามสุดท้าย “ไม่ไปโรงเรียนแล้วจะมีสังคมได้อย่างไร” อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับครอบครัวว่าจัดการเรียนรู้อย่างไร ถ้าเก็บลูกไม่ให้สุงสิงกับใครก็ไม่มีสังคมไม่ว่าจะไปโรงเรียนหรือไม่ก็ตาม แต่ถ้าฝึกให้เขาเข้าสังคมเป็น เด็กทุกคนก็สามารถสร้างเพื่อนได้ ถ้าเพื่อนหรือสังคมที่ไม่ใช่แค่คนวัยเดียวกัน เพื่อนของเด็กไม่ไปโรงเรียนจึงมีหลากหลายวัยมาก และในชีวิตจริงในสังคมเราก็ไม่สามารถคบแต่คนวัยเดียวกันเท่านั้น เราต้องอยู่ร่วมกับคนหลายวัย และนั่นคือความจริง
12 ปีที่เลี้ยงลูกโดยไม่ส่งไปโรงเรียนทำให้แต่ละวันของทั้งเราและลูกหมดไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีกิจกรรมทำมากมาย สำคัญที่สุดคือทุกกิจกรรมเป็นกิจกรรมที่ทำให้ลูกมีความสุข เป็นกิจกรรมที่ลูกสนใจ
เขาอ่านหนังสือเพราะอยากอ่าน เขาฝึกเขียนเพราะอยากบันทึก เขาเล่นดนตรีเพราะอยากเล่น เขาเล่นกับเพื่อนก็เพราะเขาอยากเล่นเช่นกัน ความอยากจึงเป็นแรงผลักให้เขาพร้อมกระโจนเข้าหาสิ่งที่เขาอยากเรียนรู้อย่างเต็มกำลัง
เหมือนที่นักการศึกษาชาวเยอรมันเคยกล่าวไว้ว่า ลูกธนูที่ถูกเหนี่ยวอย่างเต็มแรงก่อนปล่อยออกจากคันธนู ย่อมจะไปได้ไกลกว่าและแรงกว่าลูกธนูที่มีแรงเหนี่ยวไม่มากพอ
สุมณฑา ปลื้มสูงเนิน คุณแม่นักกิจกรรม ที่ทำงานกับเด็กมาตลอด นำวิชาความรู้ทั้งหมดที่ทำมาใช้ในการเลี้ยงลูกแบบ Home School เพราะเชื่อมั่นว่าเด็กทุกคนมีศักยภาพต่างกันและห้องเรียนของเด็กคือโลกทั้งใบไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยม |