- เด็กจำนวนหนึ่งมีอาการคล้ายกันคือ มักพูดเสียงดังเหมือนตะโกนแม้อยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติ, มีลักษณะการสื่อสารทิศทางเดียว คือ พูดฝ่ายเดียวด้วยเสียงดัง และ ไม่ฟังกันและกัน ข้อสังเกตนี้คล้ายกับบุคลิกบางอย่างที่เกิดจากการถูกเพิกเฉย ละเลย และไม่สนใจ และนี่อาจเป็นจุดตั้งต้นของบาดแผลในตัวเด็ก พัฒนาสู่ภาวะซึมเศร้าหรือมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมอื่นในที่สุด
- ชวนนักศิลปะบำบัด พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง พูดถึงข้อสังเกตดังกล่าว พร้อมเล่าถึงหน้าที่ของนักศิลปะบำบัด และกระบวนการศิลปะจะเยียวยาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายของตัวเองได้อย่างไร
- “การที่ไม่มีใครได้ยินเรามันกระทบแรงมากเลยนะ การรู้สึกแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก บางครั้งเหมือนเราไม่มีตัวตน ซึ่งมันสั่นคลอนการมีอยู่ของเรามากๆ ซึ่งนั่นกระทบกระเทือนต่อการเติบโตของ self เราด้วยว่าจะโตหรือไม่โต พอ self เราโตไม่ได้เพราะการมีหรือไม่มีอยู่ของเรามันไม่ชัดเจน เราไม่สามารถเอาศักยภาพของเราออกมาใช้ได้เต็มที่”
หนึ่งในผู้ร่วมเสวนา ‘ทำไมเด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้า ป.1’ ท่านหนึ่ง – พญ.พัชรินทร์ สุคนธาภิรมย์ ณ พัทลุง ในฐานะนักศิลปะบำบัด มูลนิธิศิลปะบำบัด (Art Therapy Foundation) ตั้งข้อสังเกตหนึ่งจากประสบการณ์การทำงานของตัวเองว่า…
ปัจจุบันมีเด็กเข้ามารับการรักษาที่มูลนิธิศิลปะบำบัดจำนวนมากขึ้นและอายุน้อยลงเรื่อยๆ จำนวนหนึ่งมีอาการคล้ายกันคือ มักพูดเสียงดังเหมือนตะโกนแม้ว่าจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติ, มีลักษณะการสื่อสารทิศทางเดียว คือ พูดออกมาฝ่ายเดียวด้วยเสียงดัง และ การตอบสนองจากภายนอกไม่มีช่องทางกลับเข้าไป เรียกง่ายๆ ว่าไม่ฟังกันและกัน ข้อสังเกตนี้ดูคล้ายกับบุคลิกบางอย่างที่เกิดจากการถูกเพิกเฉย ละเลย และไม่สนใจ และนี่อาจเป็นจุดตั้งต้นของบาดแผลในตัวเด็ก พัฒนาสู่ภาวะซึมเศร้าหรือมีปัญหาด้านอารมณ์และพฤติกรรมอื่นในที่สุด
เพราะอยากรู้ต่อว่า ลำพัง ‘อาการพูดเสียงดัง’ และ ‘พูดอย่างไม่มีใครฟังใคร’ – อาการเล็กน้อยที่เราคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งของพฤติกรรมนี้ ในมุมของนักจิตวิทยา มีคำอธิบายอย่างไร
The Potential ชวนคุณหมอพัชรินทร์คุยต่อในเรื่องนี้ ทั้งประเด็นภาวะซึมเศร้าในเด็กจากข่าว ได้ฟังเรื่องของคนใกล้ตัวว่าเป็นภาวะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ และในอายุที่น้อยลงเรื่อยๆ
มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ เพราะอะไร และการแก้ปัญหาควรเริ่มต้นจากไหน อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ ‘นักศิลปะบำบัด’ คือใคร มีหน้าที่อะไร และกระบวนการศิลปะจะเยียวยาประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ที่เลวร้ายของตัวเองได้อย่างไร
ไฮไลต์ของบทความชิ้นนี้ คือ ความเพิกเฉยของพ่อแม่ในรูปแบบหลากหลาย ทั้งละทิ้ง เพิกเฉยความต้องการของลูก กระทั่งชี้สั่งให้ลูกทำในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ทั้งหมดทั้งมวลนั้น มันกระทำลึกลงไปในระดับตัวตนอย่างไร
ปัญหาซึมเศร้าอาจเป็นแค่ปลายเหตุ ต้นเหตุคือ การไม่มี ‘self’ หรือ ‘ราก’ แห่งตัวตนต่างหาก ที่กำลังเน่าเฟะ
สถานการณ์ซึมเศร้าในเด็ก
เราเห็นเด็กมีภาวะซึมเศร้าอายุน้อยลงเรื่อยๆ และพบเห็นได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในวงการแพทย์ มันเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
เราเห็นเด็กอายุน้อยลงเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพฤติกรรมหรืออารมณ์ เด็กเริ่มมีปัญหาและไปหาจิตแพทย์เด็กที่โรงพยาบาลมากขึ้นเรื่อยๆ ปริมาณคนไข้เยอะขึ้นทุกโรงพยาบาล ตอนนี้ถ้าจะอยากพบจิตแพทย์เด็กที่จุฬาฯ ต้องรอคิว 6 เดือน หมายถึง ถ้านัดเจอหมอครั้งแรก กว่าจะได้เจอคืออีก 6 เดือนนะ ต้องทำใจเลย
ที่จำนวนคนไข้เด็กไปพบจิตแพทย์มากขึ้น เป็นเพราะเด็กมีอาการเพิ่มปริมาณขึ้น หรือ ผู้ใหญ่มีความรู้มากขึ้น เลยพาเด็กไปพบจิตแพทย์
เป็นได้หลายอย่างนะคะ สังคมมีความรู้มากขึ้น คนรับข้อมูลข่าวสารมากขึ้นว่า “อ๋อ นี่คือปัญหานะ แก้ได้นะถ้าพบจิตแพทย์” ส่วนหนึ่งก็จะไปหาหมอ อีกส่วนหนึ่งก็จะแบบ “ไม่หรอก ไม่ได้เป็นอะไรหรอก” ซึ่งเราเรียกพฤติกรรมแบบนี้ว่า denial หรือใจไม่ยอมรับสิ่งที่เกิด กระทั่งวันหนึ่งที่รับมือไม่ไหวแล้ว เช่น ลูกอยากฆ่าตัวตาย จึงจำใจต้องพาไปพบแพทย์ ต้องไปหาความช่วยเหลือไม่งั้นจะบานปลายไปมากกว่านี้ อีกประการคือ คนสมัยนี้เปิดใจกับการไปพบจิตแพทย์มากขึ้นด้วย ถึงแม้จะยังไม่เยอะ แต่ก็เปิดใจและยอมไปมากขึ้น
คุณหมอเคยพูดในเสวนา ‘ทำไมเด็กอนุบาลจึงไม่ควรสอบเข้า ป.1’ มีผู้ปกครองพาเด็กช่วงปฐมวัยเข้ามาทำศิลปะบำบัดเพิ่มขึ้น ข้อสังเกตหนึ่งคือ เด็กมีอาการร่วมคล้ายกันคือ ‘พูดเสียงดัง’ และ ‘ไม่มีใครฟังใคร’ เรื่องนี้เป็นปัญหาอย่างไร เกี่ยวอะไรกับอาการซึมเศร้าในเด็ก
เรื่องนี้ไม่ใช่แค่เด็กที่ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล แต่รวมถึงเด็กที่อยู่รอบตัวเราด้วย เช่น ตอนที่ลูกสาวหมออายุ 3-4 ขวบ เวลาหมอไปรอรับเขาที่สนามหญ้าในโรงเรียน เด็กๆ จะกรูกันเข้ามาเล่นด้วย พอเรานั่งลงปุ๊บ เด็กแวดล้อมเราเต็มไปหมด ทุกคนแย่งกันมาเล่าเรื่องของตัวเองให้หมอฟัง เด็กๆ ไม่ได้รู้ว่าหมอเป็นใคร รู้แค่ว่านี่คือแม่ของมะลิ ชอบมาเล่นกับแม่ของมะลิ แม่ของมะลิชอบมานั่งรอและนั่งฟังเด็กๆ คุยกันไม่รีบไปไหน แรกๆ รู้สึกดีจัง ได้รับความสนใจมากมายจากเด็กๆ
แต่พอถึงจุดหนึ่งสังเกตได้ว่า เด็กที่วิ่งเข้ามาหา แต่ละคนอยากเล่าเรื่องของตัวเองแต่ไม่มีใครฟังใคร ทุกคนอยากเป็นเสียงที่ดังที่สุดเพื่อให้เราได้ยิน จึงเริ่มมีคำถามในใจว่า “อะไรกันเนี่ย เด็กๆ เป็นอะไร?” “ทำไมไม่เล่าเรื่องแบบนี้ให้พ่อแม่ของตัวเองที่บ้านฟัง?” สถานการณ์ของเด็กๆ เดี๋ยวนี้คือ ไม่มีใครฟังกัน และแต่ละคนก็จะเสียงดังขึ้นๆ
ลองนึกดู สถานการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับเราตอนไหนได้บ้าง? เวลาเรากำลังง่วนอยู่กับอะไรสักอย่างแล้วมีคนเข้ามาถามอะไร เราอาจไม่ได้ยินเสียง คนคนนั้นจึงยังคงทำงานต่อไป หลังจากนั้นเราจะพบว่าคนที่เข้ามาหาเราคนนั้นจะเปล่งเสียงให้ดังขึ้นเพื่อให้เราได้ยิน และถ้าตอนนั้นเราใส่หูฟังอยู่ เราก็จะยังไม่ได้ยินเสียงของเขา ระดับเสียงของเขาก็จะดังขึ้นๆ อีก และเมื่อเหตุการณ์ลักษณะนี้เกิดเป็นประจำเหมือนที่เราสันนิษฐานว่าเกิดกับเด็กๆ ที่เราพบเจอ
ในที่สุดเด็กๆ เหล่านี้ก็จะพูดด้วยระดับเสียงประมาณนี้เป็นปกติ คือตะโกนให้ผู้ใหญ่ฟัง ให้ครูฟัง เป็นมาตรฐาน เป็นนิสัย และมันยากมากที่จะเอา (ระดับเสียง) ลง เพราะในสถานการณ์ปกติ มันไม่มีใครฟังเขา หมอเคยเจอลูกของญาติที่เป็นแบบนี้ เราบอกเขาว่า “ลูก เรานั่งใกล้ๆ กัน พูดเบาๆ นิดนึง” เขาก็พูดเบาๆ ได้สองประโยคแล้วก็กลับไปพูดเสียงดังใหม่ นี่คืออาการนะ นี่คืออาการ (ย้ำ) อาการของการที่ไม่มีคนได้ยินเขา
การพูดเสียงดัง เป็นปัญหาที่ตรงไหน?
การที่ไม่มีใครได้ยินเรามันกระทบแรงมากเลยนะ การรู้สึกแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก บางครั้งเหมือนเราไม่มีตัวตนอยู่ มันสั่นคลอนการมีอยู่ของเรามากๆ เลย ซึ่งนั่นกระทบกระเทือนต่อการเติบโตของ self เราด้วยว่าจะโตหรือไม่โต พอ self เราโตไม่ได้เพราะการมีหรือไม่มีอยู่ของเรามันไม่ชัดเจน เราไม่สามารถเอาศักยภาพของเราออกมาใช้ได้เต็มที่
มันเป็นเรื่องร้ายแรง เทียบกับเด็กที่สูญเสียคนในครอบครัวหรือคนที่รัก แม้มี trauma แต่ self เขาไม่ถูกกระทบนะ เขาจะยังมี self ชัดเจน แต่มีแผล นึกออกไหม? มันไม่เหมือนกันนะ การไม่มี self กับการมี self ที่มีแผล
self ที่มีแผล ยังมีตัวตนอยู่ ฉันรู้ฉันยังมีอยู่ ฉันยังมีคุณค่า เพียงแต่ฉันสูญเสียบางอย่างที่รักมากไป มันเป็นรอยแหว่งในใจ แต่ฉันรู้ว่าฉันต้องเดินต่อไป แต่นี่คุณค่าในตัวเองไม่มี เพราะหา self ไม่เจอ ไม่มีกำลัง ไม่มีความสามารถไปทำอะไรกับใครได้ เพราะตัวฉันไม่มีอยู่ เรียกว่าเป็นปัญหาทางปรัชญาที่ใหญ่มาก
ระยะยาว เด็กที่ไม่มี self เขาจะเป็นอย่างไร
ก็ลอยๆ เขาจะไม่มีจุดหมายของชีวิต ไม่รู้ว่าวันๆ หนึ่งจะอยู่ไปทำไม สิ่งที่ง่ายที่สุดเมื่อตื่นขึ้นมาคือทำนี่ (หยิบมือถือ)
พฤติกรรมแบบไหนที่ทำลาย self เด็ก
การทอดทิ้ง การเพิกเฉย นี่คือสิ่งที่ร้ายแรงที่สุด ร้ายแรงกว่าการทุบตีอีกนะ ถ้าการทุบตี คุณต้องมี self อยู่ให้ทุบ แน่นอนว่า self เจ็บปวดเพราะถูกทุบ แต่ในการถูกทุบ self รู้และชัดถึงการมีอยู่ของตัวเองเพราะตัวเราเจ็บปวด แต่การถูกทอดทิ้ง การเพิกเฉย ไม่มี self เหลือให้รู้สึกเลย
ทอดทิ้งแบบไหน? ไม่สนใจ ไม่รับฟัง ไม่ไยดี แบบนี้คือการทอดทิ้งไหม
มีได้หลายดีกรี ถ้าทอดทิ้งแบบ ทิ้งไปเลย แม่คลอดลูกออกมาแล้วโยนทิ้งถังขยะ นี่คือทอดทิ้ง เป็นกรณีที่เลวร้ายมากของเด็กที่เติบโตมาในสถานสงเคราะห์ เขาจะรู้สึกอยู่ตลอดเวลาว่าตัวเองไม่มีค่า เพราะแม้แต่แม่ตัวเอง แม่แท้ๆ ก็เอาไปทิ้ง ไม่มีใครรัก ไม่มีคุณค่าใดๆ การมีอยู่หรือไม่ ไม่รู้สึกต่างกัน คนเหล่านี้จำนวนหนึ่งจะอยู่ไปแบบวันต่อวัน แต่ละวันไม่มีความหมาย นี่คือแบบ extreme
แต่แบบที่เราอยากพูดถึงคือลูกของเรานี่แหละ เราไม่ฟังความคิดเห็นของลูก ไม่ฟังความต้องการของลูก ลูกอยากจะทำแบบนี้ก็ไม่ให้ทำ หมอเห็นเด็กหลายคนในโรงพยาบาล พ่อแม่ไม่ยอมให้ลูกใช้กรรไกร เดี๋ยวจะบาดเจ็บ เป็นห่วง แม้ลูกจะโตจนรู้เรื่องแล้ว เรียนรู้ที่จะป้องกันตัวเองได้แล้ว แต่ในความหวาดหวั่นของพ่อแม่ ไม่สามารถปล่อยให้ลูกทำตามที่อยากทำ พ่อแม่จึงเข้ามาตีกรอบและกำหนดให้อยู่ในแนวทางที่พ่อแม่เชื่อว่าดี เชื่อว่าสบาย เชื่อว่าปลอดภัย
แต่ธรรมชาติของคนโดยเฉพาะในช่วง 2 ขวบแรก เด็กจะสัมผัสรับรู้ความต้องการของตัวเองมากขึ้น เด็กจะเริ่มพูดว่า “ไม่” ถ้ามีลูกมีหลานจะเริ่มเห็นเขาพูด “ไม่” “ไม่เอา” ไม่นั่น ไม่นี่ เพื่อแสดงความรู้สึกของตัวเอง คำว่า “ไม่” หมายความว่าอะไร? ไม่ได้หมายความว่าของที่เราหยิบยื่นให้นั้นไม่ดี แต่ในมุมของเด็กคือ “ฉันอยู่ตรงนี้นะ” “ฉันมีตัวตนของฉัน และฉันกำลังพูดในสิ่งที่แตกต่างจากเธอ” คือการบอกว่า ฉันอยู่ตรงนี้ ฉันมีอยู่ นี่คือจุดเริ่มต้นของการมี self และมันก็จะพัฒนาต่อในปีถัดๆ ไป
ถ้าเราเป็นผู้ใหญ่สมัยก่อน เราก็จะห่วงนู่นห่วงนี่ ไม่ให้เด็กทำนู่นทำนี่ เด็กก็ถูกจำกัดไว้แค่นี้ แสดง self ของตัวเองได้แค่นี้นะ แม่ทำข้าวไข่เจียวให้กินก็ต้องกินข้าวไข่เจียวห้ามร้องกินอย่างอื่น ห้ามมีความคิดเห็น
ทีนี้เด็กก็จะเรียนรู้และเข้าใจสถานการณ์ที่จำกัดผ่านผู้ใหญ่ที่อยู่รอบตัวเขา ผู้ใหญ่ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับเด็กคือคนที่มีอิทธิพลมาก เพราะอะไร? เช่น เด็กเล็กๆ ยังยืนด้วยตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ยังต้องหาอาหารมาให้ ปกป้องคุ้มครองให้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เหล่านี้คือสิ่งที่เด็กยังต้องพึ่งพ่อแม่เพื่อความอยู่รอด ฉะนั้นเขาจำเป็นต้องเรียนรู้ภาษาของพ่อแม่ตั้งแต่เล็กๆ ว่า พ่อแม่อยากได้แบบนี้นะ พ่อแม่คาดหวังแบบนี้นะ ถ้าอยู่กับพ่อแม่ต้องกินข้าวไข่เจียวไป
แต่เมื่อไรที่โตพอ เมื่อไรที่ออกนอกบ้านได้ เขาจะไม่ยอมถูกจำกัดแบบเดิม เขาจะเป็นอีกคนเพราะเขาไม่สามารถเก็บกัก self ของตัวเองให้จมอยู่ใต้ข้อจำกัดเดิมได้ นี่คือความต้องการตามธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคนที่ต้องรู้สึก ที่ต้องการสัมผัสตัวตนของตัวเองรวมทั้งความต้องการของตัวตนของตัวเองให้ได้ เพราะฉะนั้นเวลาออกนอกบ้านไปเด็กจะมีพฤติกรรมอีกแบบ เช่น เราอาจเคยได้ยินครูบ่นว่าตอนเด็กอยู่ที่โรงเรียนดื้อมาก แต่พ่อแม่ก็ไม่เชื่อ “มันดื้อตรงไหน อยู่บ้านออกจะน่ารักเรียบร้อย ว่าง่าย พูดอะไรก็ทำตาม” เพราะว่าเด็กพัฒนาตัวตนแบบสองมาตรฐานหรือสองภาษาขึ้นมา ภาษาหนึ่งเขาใช้พูดกับพ่อแม่ เพื่อที่เขาจะยังคงปลอดภัยอยู่ในการดูแลของพ่อแม่อยู่ อีกภาษาเอาไว้แสดงตัวตนเมื่อออกมาสู่โลกภายนอก
แต่ปกติแล้วคนเรามีได้หลายบุคลิก แต่การแสดง self ของตัวเองที่บ้านไม่ได้จนต้องไปหาและแสดง self ตัวเองที่อื่น แบบนี้เป็นปัญหาและส่งผลอย่างไร
เด็กแว้นหรือสก๊อยคือตัวอย่างหนึ่ง เวลาที่เขาเป็นตัวของตัวเองไม่ได้ พ่อแม่ไม่อนุญาต พ่อแม่ไม่ฟังความเห็น สั่งอย่างเดียว self มันก็ทนไม่ไหว ต้องไปมีตัวตนที่อื่น พอไปแว้น เพื่อนๆ ตบมือกันใหญ่ บอกว่าเจ๋ง ว่าดี ว่ากล้า แบบนี้ self ฟูขึ้นมาเลย ความเป็นตัวตนมันชัด แม้กระทั่งนักเรียนที่ไปตีกับคู่อริทั้งที่ไม่รู้จักกัน พอหนังสือพิมพ์ประกาศว่า โรงเรียนนี้ นักเรียนคนนี้ ชื่อนี้ๆ self ชัดมากใช่ไหมคะ? ทั้งชื่อทั้งภาพมันอยู่ตรงนั้น การปรากฏตัวของเขามันชัดมาก นี่คือสิ่งที่ตอบความรู้สึกข้างใน ทำไมเขาต้องทำขนาดนั้น? เพราะเขาไม่ได้จากที่บ้าน และไม่ได้รับมากี่ปีแล้ว?
การที่พ่อแม่จัดการให้ลูกเรียนอย่างนั้นอย่างนี้ ถือเป็นการเพิกเฉยอย่างหนึ่งไหม
ใช่ มันคือการเพิกเฉย มันคือการ abuse กัน การที่พ่อแม่ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่มีอำนาจเหนือเด็กอยู่แล้วไม่ว่าจะด้านใด เป็นผู้ที่กำหนดความเป็นความตาย ความปลอดภัย เป็นผู้มอบสิ่งของจำเป็นสำหรับการเติบโตของเด็ก พ่อแม่อยู่ในฐานะที่ยิ่งใหญ่มาก
ถ้าเป้าหมายการเลี้ยงลูกคือให้ลูกเติบโตเบ่งบานขึ้นมา แต่มีพ่อแม่ครอบอยู่อย่างนี้ (ทำมือเป็นต้นไม้ – มือข้างหนึ่งตั้งศอก กางฝ่ามือออกเป็นใบไม้ใหญ่ อีกข้างกำหลวมๆ เป็นต้นไม้เล็ก ลักษณะคล้ายต้นไม้ใหญ่แผ่ใบครอบต้นไม้ต้นเล็ก) สมมุตินี่เป็นต้นไม้ ถ้าเราให้ระยะ ให้พื้นที่กัน ต้นไม้ต้นนี้ (ต้นไม้ต้นเล็ก) ก็จะได้แสง ได้ปุ๋ย
แต่ถ้าพ่อแม่เข้ามาครอบมาก ต้นไม้ต้นเล็กจะไม่ได้น้ำ ไม่ได้ปุ๋ย ไม่ได้แดด ฝนตกลงมาก็ได้ฝนไม่เต็มที่ ปุ๋ยที่อยู่ในดินก็โดนรากของต้นใหญ่ดูดไปหมด ต้นนี้ก็แคระแกร็น โตไม่ได้เพราะถูกครอบอยู่ ไม่สามารถเป็นต้นไม้ใหญ่ เป็นได้แค่ต้นไม้เตี้ยๆ ต้นหนึ่ง และเป็นได้แค่ติ่งของต้นไม้ต้นนี้ (ต้นใหญ่)
การไม่ฟัง ก็อยู่ในคำว่าเพิกเฉย?
พ่อแม่คนหนึ่งอาจทำพฤติกรรมได้หลายแบบที่เป็นการเพิกเฉยต่อความต้องการหรือต่อความสนใจของลูก
ลูกอยากเรียนอันนี้/ไม่ได้ ลูกต้องเรียนอันนั้น ขณะเดียวกันก็สร้างเงื่อนไขว่าถ้าลูกเรียนวิชาที่แม่ต้องการ แม่จะซื้อขนม ซื้อของให้ นี่อาจเป็นกลไกที่แม่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ได้ในสิ่งที่แม่ต้องการ แต่เสร็จแล้วมันไปมีผลกระทบกับลูก แม้ลูกจะยังไม่ได้เลือกทำสิ่งที่อยากทำ แต่ลูกได้เรียนรู้ว่าถ้าอยากได้อะไรหรืออยากจะอยู่อย่างสงบก็ต้องเอาใจใครบ้าง เด็กจะมีทักษะบางอย่างของตัวเองขึ้นมาเพื่อให้ตัวเองอยู่ได้
ในที่สุดเมื่อแม่ได้สิ่งที่ต้องการ แม่จะหันมาดูและแสดงความพอใจ ซึ่งความใส่ใจที่แม่มีให้ในจังหวะนี้เด็กจะสัมผัสและให้ค่าสูงมาก ถึงแม้จะต้องได้มาด้วยกระบวนการแบบนี้แต่มันก็เป็นความรู้สึกที่มีค่า… มีค่ามากสำหรับเด็กที่ตัวตนอยู่ไหนก็ไม่รู้
พูดแบบนี้ได้ไหมว่า ทำแบบนี้ได้ความสนใจจากแม่ แต่ self ของลูกไม่ถูกตอบสนอง?
มันก็เป็นการแสดงให้ self รู้อีกทางว่า self มีอยู่นะ แต่ภายใต้เงื่อนไขนี้ คือ คุณไม่อาจเป็นตัวเองได้อย่างแท้จริง คุณมีตัวตนอยู่ได้เฉพาะภายใต้เงื่อนไขของฉัน (แม่)
ในวงการจิตแพทย์เด็ก พูดถึงปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ของเด็กด้านอื่นๆ ในประเด็นใดอีกบ้าง
จริงๆ มีปัญหาหลายอย่างเลย มีปัญหาอื่นที่ซ่อนอยู่และยังไม่มีกลไกไปจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การทารุณกรรมเด็กในบ้าน หรือปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับเด็กแล้วไม่มีหน่วยงานตรงเข้าไปดูแล เช่น คนในครอบครัวเด็กเสียชีวิต โรงเรียนไม่มีกลไกอะไรรองรับ แค่รับรู้ แสดงความเสียใจกับพ่อแม่ แต่ไม่มีใครพูดหรือถามอะไรกับเด็ก ให้เด็กลาเรียนไปทำพิธีกรรมทางศาสนา แต่ไม่มีนักจิตวิทยาหรือกลไกอะไรเข้าไปดูแล
การสูญเสียนี้ทำให้เด็กเกิดบาดแผล (trauma) มากน้อยแค่ไหน? เด็กรับมือได้ไหม ไหวไหม ปรับตัวได้ไหม? ไม่มีใครเข้าไปดูแล มีเด็กจำนวนหนึ่งที่อยู่ในสถานการณ์การสูญเสียแบบนี้แล้วซึมเศร้า เรียนหนังสือไม่ได้ ไม่มีสมาธิ จน 6 เดือนไปแล้วแม่รู้สึกว่าเริ่มไม่ไหว ลูกเริ่มไม่โอเค พูดน้อยลง ถามอะไรก็ไม่ตอบ ข้าวไม่กิน ต้องพาไปหาหมอ ไปหาหมอเด็กก่อน หมอเด็กค่อยบอกว่าให้ไปหาจิตแพทย์ มีเรื่องแบบนี้อยู่เยอะ
ไม่แน่ใจว่าเป็นข้อสังเกตที่จริงหรือไม่ แต่พบว่าอาการซึมเศร้า พบในเด็กที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ
ใช่ เด็กลงเรื่อยๆ และเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ลดลง มีงานวิจัยในไทย ทำในเด็ก ม. 4-6 วิธีทำคือ ไปดูว่ากลุ่มตัวอย่างที่สุ่มมา 382 คน จากสองโรงเรียน ในจำนวนนี้มีคนเป็นโรคซึมเศร้ากี่คน ตัวเลขออกมาประมาณ 17 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งใน 17 เปอร์เซ็นต์มาจากครอบครัวที่มีการเลี้ยงดูแบบครอบงำอยู่เยอะมากเป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาเป็นอันดับสองคือครอบครัวที่เพิกเฉย ไม่สนใจ ทอดทิ้ง อยากทำอะไรก็ทำ ไปไหนก็ไป อันดับสามคือ ครอบครัวที่ตามใจ ตามใจเหมือนจะดี แต่ไม่มีขอบ สมมุติว่า อยากเล่นน่ะ ไม่อยากกลับบ้าน โอเคแม่ให้ 5 นาทีนะ พอผ่านไป 5 นาทีแล้วยังอยากเล่นอยู่ เถลไถลในสนามเด็กเล่น แม่บอก โอเคๆ เล่นไปๆ ให้อีกๆ ต่อเวลาไปได้เรื่อยๆ แบบนี้ไม่มีขอบเขต การตามใจแบบนี้ไม่เป็นผลดี เพราะเด็กไม่เรียนรู้ว่าขอบอยู่ตรงไหน แล้วมันจะเกิดปัญหากับเรื่องอื่นๆ ที่มันต้องการการรับรู้เรื่องขอบเขต
ศิลปะบำบัด
นักศิลปะบำบัดคือใคร ทำหน้าที่อะไรบ้าง
ในกรณีที่เราคุยกันคือปัญหาเรื่อง self นี้ นักศิลปะบำบัดจะให้พื้นที่ ให้ self ของเขาได้มีที่อยู่ ทั้งที่อยู่ในห้องบำบัดและที่อยู่บนงานศิลปะ การที่เขาวาดอะไรลงไป ปาดพู่กันลงไป มันคือหลักฐานการมีอยู่ของเขาทั้งนั้นเลย
เรารับฟังเขาว่ามันคืออะไร งานศิลปะที่เขาสร้างขึ้นมาเรื่องราวมันเป็นยังไง เราจะไม่ correct เขา ไม่บอกว่า “ทำไมต้นไม้เป็นสีฟ้าไม่เป็นสีเขียว” ก็ต้นไม้ของฉันอยากเป็นสีฟ้าน่ะ นักศิลปะบำบัดจะไม่ตั้งคำถามเรื่องเหล่านั้น แต่จะยอมให้เขาเป็นอย่างที่เขาเป็น
นักศิลปะบำบัดจะให้พื้นที่สร้างศิลปะและรับฟัง?
เราอยู่ตรงนั้นเพื่อรับรู้การมีอยู่ของคนข้างหน้า รับรู้ได้ด้วยอะไรบ้าง? ด้วยการฟังและถามคำถามที่แสดงให้เห็นว่าเราฟังอยู่นะ เราพยายามทำความเข้าใจอยู่ เรากำลังติดตามเรื่องราวนี้อยู่ การกระทำแบบนั้นทำให้เจ้าตัวสัมผัสถึงการมีอยู่ของตัวเองได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ การมีอยู่ตรงนี้ กำลังหายใจแบบนี้ ตาชื้นๆ คู่นี้มีความรู้สึกอะไรอยากเล่าให้เราฟังไหม? ไม่ได้ฟังเฉพาะแค่สิ่งที่เขาบอก แต่ฟังและสัมผัสถึงสิ่งที่มีอยู่แม้ยังไม่ได้บอกด้วย
นักศิลปะบำบัดคือนักจิตวิทยาที่ใช้ศิลปะเป็นจุดเชื่อมระหว่างคนไข้กับคุณหมอ?
จะพูดแบบนั้นก็ได้เพราะมันคือการทำจิตบำบัดแบบหนึ่งผ่านศิลปะ
จริงๆ ศิลปะเป็นมากกว่าเครื่องมือ โอเคว่ามันเป็นเครื่องมือที่เราใช้ทำความรู้จักกัน แล้วต่อจากนั้นศิลปะจะให้พื้นที่ให้ self ได้ออกมาข้างนอก ได้แสดงตัวตน และมันจะเป็นหลักฐานการมีอยู่ด้วย อันนี้เป็นมากกว่าเครื่องมือเชื่อมความสัมพันธ์หมอกับคนไข้แล้วนะ เพราะอันนี้เลยไปถึงการเยียวยาซ่อมแซมความรู้สึก
และนอกจากนี้ยังเอาไปใช้เป็นฐานข้อมูล เป็นวัตถุพยาน เช่น กรณีที่เด็กถูก abuse มา เราไปทำศิลปะบำบัดแล้วเด็กเล่าว่า คนที่ทำร้ายเขาคือใคร อยู่ที่ไหน บันทึกของนักศิลปะบำบัด รวมทั้งชิ้นงานศิลปะที่เกิดขึ้น สามารถใช้เป็นวัตถุพยานและศาลก็รับฟังด้วย
มันออกมาได้อย่างไร เราอาจจะเสแสร้งวาดหรือมีเทคนิคบิดเบือนไม่ให้ใครอ่านออก ทำไมศิลปะจึงสะท้อนใจเราได้ขนาดนั้น
ถ้าเราเป็นศิลปิน เรามีเทคนิคเยอะแยะมากมายที่จะกลบเกลื่อนไม่ให้ใครเห็นว่าเรากำลังรู้สึกอะไรได้ แต่คนทั่วๆ ไปไม่ได้มีทักษะแบบนั้น สิ่งที่บริสุทธิ์ที่สุดที่ออกมาโดยปราศจากความสามารถหรือทักษะ คือสิ่งที่จริงที่สุด มันจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ที่เราไว้วางใจกัน เราเชื่อในกันและกันและรู้สึกถึงความปลอดภัยที่อยู่ในห้อง อย่างเช่นห้องนี้มีผนังเป็นแบบ double wall จะไม่มีคนข้างนอกได้ยินเราคุยกัน เป็นจุดตั้งต้นของความรู้สึกปลอดภัยที่เรามอบให้ แล้วต่อจากนั้นเราก็สร้างความไว้วางใจผ่านศิลปะกันอีก
ถามว่ากระบวนการเกิดขึ้นได้อย่างไร นี่ถ้าเล่าออกมาเป็นคำพูดมันไม่เหมือนสัมผัสเอง กระทั่งอัดวิดีโอแล้วเปิดให้ดู หลายคนก็ยังไม่รู้ว่ามันเกิดอะไรในห้องบำบัดหรือในบรรยากาศตอนนั้น มันไม่ใช่กระบวนการที่ทำครั้งเดียวจบ เป็นกระบวนการระยะยาว จะบอกว่าเป็นอะไรดี? (นิ่งคิด)
เป็นการที่คนสองคนเข้ามาอยู่ในห้องเดียวกัน สูดอากาศเดียวกัน แลกเปลี่ยนอากาศกัน ในบรรยากาศที่ผ่อนคลายและปลอดภัย การรับรู้ระหว่างคนสองคนมีอยู่เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ มันคือจุดเริ่มต้นที่คนหนึ่งรู้ว่าตัวเองมีอยู่ พร้อมกันนั้นก็รับรู้การมีอยู่ของอีกคนที่อยู่ตรงหน้าไปด้วย เมื่อได้แลกเปลี่ยนปฏิสัมพันธ์กัน คนหนึ่งรู้ว่าอีกคนหนึ่งอยู่ตรงนี้เพื่ออำนวยความสะดวกให้เขาได้เป็นตัวเอง ในท่าทีที่ง่ายและสงบของนักบำบัด คนคนนั้นเรียนรู้ที่จะไว้ใจ คนคนนั้นไม่มีเหตุผลอะไรที่จะปิดบังคนคนนี้ เพราะนี่คือพื้นที่ที่เขาได้เป็นตัวเองอย่างแท้จริง เป็นพื้นที่ที่ไม่มีใครตัดสินใคร และเป็นพื้นที่ที่เขาจะรับการดูแล ไม่ว่าเรื่องอะไร
เมื่อมันเป็นแบบนั้นแล้ว คนคนนั้นก็ไม่รออีกต่อไปที่จะเปิดเผยเรื่องราวไม่ว่าจะเป็นปัญหาอะไรที่มันรบกวนเขาอยู่ มันจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ต้องแสแสร้งหรือทำเทคนิคอะไรเพิ่มเติมเพื่อให้ therapist หลงทางหรือตีความผิดๆ เพราะมันไม่มีประโยชน์และเป็นการเสียโอกาส
ถ้า walk in เข้ามาที่สำนักงาน กระบวนการหรือขั้นตอนการบำบัดเป็นอย่างไรบ้าง
กระบวนการมาตรฐานคือ ขั้นแรกจะเป็นการสกรีนก่อน เริ่มจากทำความรู้จักกัน ดูว่าเคมีตรงกันไหม ถ้าเคมีไม่ตรงกันเราอาจแนะนำให้ไปหา therapist คนอื่น หรืออาจดูเรื่องความเสี่ยงบางอย่าง เช่น ที่นี่จะไม่รับทำงานกับคนที่มีความคิดฆ่าตัวตาย เพราะสำนักงานเราตั้งอยู่ที่ชั้น 5 นี่คือข้อจำกัดหนึ่ง หรือ ถ้ามีคนไข้คนหนึ่งเข้ามาพบหมอ ปรากฏว่าคนไข้หน้าเหมือนแฟนเก่าหมอมากเลย สมมุติว่าเรื่องเก่าข้างในของหมอยังไม่จบ หมอก็ไม่อยากรับนะ (หัวเราะ) เพราะความรู้สึกเก่าๆ ที่มีมันจะกวนเรา ทำให้เราเอียง ทำให้เราทำงานบำบัดได้ไม่ดีเท่าที่ควร พอผ่านขั้นตอนการสกรีนแล้ว กระบวนการจะเป็นแบบ tailor made เลย เป็นการออกแบบโปรแกรมเฉพาะเพื่อทำงานกับคนคนนั้น โดยเฉพาะออกแบบบนฐานทฤษฎีจิตบำบัดและศิลปะบำบัด เลือกวัสดุให้สอดคล้องกับบุคลิกของคนไข้ และใช้เป้าหมายที่ตกลงร่วมกันมากำหนดเป็นปลายทาง ความที่เป็นแบบ tailor made จึงไม่มีกระบวนการกำหนดตายตัวว่าทำอันนี้ก่อนค่อยทำอันนั้น
คนที่มาทำศิลปะบำบัดมักเป็นกรณีไหนบ้าง อายุเท่าไร หรือยังไม่ป่วยแต่มาทำศิลปะบำบัดได้ไหม
ยังไม่ป่วยก็มี ไม่มีความสุขในชีวิตก็มา สงสัยว่าทำไมตัวเองไม่สบายตัวไม่สบายใจ ทั้งที่ไม่มีภาระอะไรแล้ว เพิ่งเกษียณอายุ ลูกโตแล้ว มีบ้าน มีครอบครัว ลูกหลานก็ดี ทำไมฉันถึงไม่มีความสุข? แบบนี้มาทำศิลปะบำบัดก็มี
กรณีที่เราสามารถเชื่อมโยงสาเหตุความทุกข์ได้ง่ายๆ มันก็ชัดอยู่แล้ว เช่น คนไข้โรคมะเร็ง เด็กที่ถูกกระทำทารุณกรรมมา คนที่อยู่ในคุก แน่นอนว่าไม่มีความสุข แต่เหล่านี้เป็นแค่ปลายทาง นักศิลปะบำบัดจะทำไปถึงต้นทางว่าที่มาคืออะไรบ้าง รากของเรื่องนี้คืออะไร และประเมินว่ามันแก้ไขได้ไหม ถ้าแก้ไขได้ ตรงไหนที่ทำได้บ้าง ตรงไหนแก้แล้วจะช่วยให้ตรงอื่นคลี่คลายด้วยเราจะทำตรงนั้นก่อน
หลายคนพาเด็กๆ มาทำศิลปะบำบัด เพราะคิดว่าเป็นการทำศิลปะ เป็นวิธีการที่ยอมรับได้มากกว่าการพาลูกไปพบจิตแพทย์?
เป็นอคติในใจคน แม้ว่าปัจจุบันคนจะเปิดใจมากขึ้นแต่ก็ยังไม่มากพอ มีคนอีกจำนวนมากปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นอะไร ไม่มีอะไรร้ายแรง เดี๋ยวลูกโตก็หาย เลยปล่อยให้เรื้อรัง
มีคนส่วนหนึ่งที่รู้สึกว่าปล่อยไม่ได้แต่ยังไม่อยากไปหาจิตแพทย์ เลือกมาหานักศิลปะบำบัดด้วยความเข้าใจของตัวเองว่า “เออ มาทำศิลปะให้ผ่อนคลาย พอหายเครียดแล้วก็ดี” แต่นี่ไม่ใช่ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าศิลปะบำบัดคืออะไร แต่เขาเลือกทางนี้เพราะเขาเชื่อแบบนี้
แต่การทำศิลปะบำบัดไม่ใช่การทำงานเพื่อความผ่อนคลาย?
ซีเรียสค่ะ เพราะเราเข้าไปถึงรากของปัญหา รากที่เน่าๆ มันไม่สวยงามนะ สมมุติว่าทำงานไปสักพักแล้วค้นพบว่า ตอนนั้นคนไข้เราสองขวบ ไม่มีใครอยู่บ้านแล้วมีใครสักคนมาทำอนาจารเขา เรื่องใหญ่นะ เรื่องหนัก เรื่องที่ต้องทำงานต่อไป ไม่ใช่เรื่องผ่อนคลาย
ในกรณีที่พ่อแม่พาลูกมาทำศิลปะบำบัด แล้วพ่อแม่ต้องทำศิลปะกับลูกด้วยไหม
แล้วแต่ว่าเรากำลังเยียวยาอะไรอยู่ ถ้าเราเยียวยาความสัมพันธ์ ก็จำเป็นต้องให้แม่หรือพ่อเข้ามาเพื่อมีความสัมพันธ์ (interaction) กันในลักษณะที่เฮลตี้ (healthy) เรากำลังทำโมเดลหรือต้นแบบใหม่เพื่อให้เขาเอากลับไปใช้ที่บ้าน เพราะตอนที่เขา (พ่อแม่ลูก) อยู่บ้าน เขามีความสัมพันธ์ลักษณะหนึ่งที่มันไม่เฮลตี้ มันทำร้ายกันและกัน การที่เขามาอยู่ห้องบำบัดด้วยกัน เริ่มมีวิธีคิด มีวิธีการมองแบบใหม่ มองเห็นลูกในมุมอื่นซึ่งตัวเองไม่เคยเห็น อะไรแบบนี้
การทำงานเยียวยาเด็กคนหนึ่ง จะไปจบที่ตรงไหน
เกี่ยวข้องกับพ่อแม่ด้วย ขึ้นกับว่านักบำบัดสามารถโน้มน้าวหรือทำให้พ่อแม่เปลี่ยนได้มากน้อยแค่ไหน เพราะอะไร? เพราะเด็กมาหานักบำบัดแค่อาทิตย์ละหนึ่งชั่วโมง แต่เขาอยู่กับพ่อแม่เยอะกว่านั้น อิทธิพลของพ่อแม่ยังเยอะอยู่มาก ถ้านักศิลปะบำบัดโน้มน้าวให้พ่อแม่ถอยออกมาได้ (ทำมือรูปต้นไม้) หุบใบของตัวเอง ไปกางตรงอื่น อย่ามาครอบ อย่ามาบัง ถ้านักบำบัดทำตรงนี้สำเร็จ ต้นนี้ก็โตได้ นี่คือภาพที่อยากให้เห็นว่าเราไม่ได้ทำงานกับเด็กฝ่ายเดียว
ทุกวันนี้พ่อแม่เข้าบำบัดไหม
ยาก ส่วนมากพ่อแม่พาลูกมาแล้วบอกว่าลูกมีปัญหาอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ไม่เคยยอมรับว่าตัวเองต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงอะไรด้วย
เหมือนเอาลูกมาหาหมอ คิดว่าเดี๋ยวหมอจะรักษาลูก?
ใช่ ให้ลูกมารักษา ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง ทุกคนไม่อยากรู้สึกว่าตัวเราเองเป็นปัญหา ว่าเราบกพร่องหรืออะไรสักอย่าง รักษาลูกไปก่อน แล้วบางทีเราก็มีวิธีมองว่าที่ลูกมีปัญหาแบบนี้เพราะพ่อมันน่ะสิ เพราะปู่ย่า หรืออะไรอย่างอื่น ผลักไปให้คนอื่น
ระดับพ่อแม่ อ่านเด็กผ่านศิลปะได้หรือเปล่า
คุณไม่ต้องเรียนศิลปะเพื่ออ่านเขาจากงาน คุณอ่านเขาได้โดยตรง ลูกคุณอยู่ตรงนั้นให้คุณอ่าน เขาเดินมาหา เขาต้องมีอะไรอยากบอก ดูตาเขาสิ ตาเขาเศร้าหรือเบิกโตแบบดีใจ เท่านี้คุณก็รู้แล้วว่าเรื่องนั้นมันเป็นเรื่องสนุกหรือน่ากลัวน่าเบื่อหน่าย
ฟังลูกแล้วมองเข้าไปในตาของเขา สัมผัสความรู้สึกที่เคล้าอยู่ในน้ำเสียงของเขา ลองสมมุติตัวเองว่าเป็นเด็กอายุเท่าเขา แล้วเราก็จะเข้าใจ
ใส่ใจและสร้างพื้นที่ปลอดภัยแบบนักบำบัดทำ?
ใช่ พอเด็กคนหนึ่งเข้ามาก็ต้องทำตัว available ไม่ใช่ไปนู่นก่อน เดี๋ยวแม่ทำนี่ก่อน เดี๋ยวครูทำนู่นก่อนแล้วค่อยว่ากัน ส่วนมากเด็กแต่ละคนรู้กาลเทศะ ถ้าเขาไม่ได้มีเรื่องอะไรจะเกี่ยวข้องกับเรา เขาไม่มากวนเราหรอก เป็นเรื่องธรรมชาติที่เด็กๆ จะอยากมีปฏิสัมพันธ์กับใครสักคน เพราะเป็นการหาโอกาสให้ตัวเองได้เรียนรู้โลกเรียนรู้ความสัมพันธ์ ถ้าเราไม่ทำตัวให้ว่างสำหรับเขา เดี๋ยวเขาก็ไปหาคนอื่น ก็เลือกเอาว่าจะให้เขาเรียนรู้จากเราหรือให้เขาไปหาเอาเองข้างหน้าแล้วแต่โชคชะตาจะพาไป